Pages

การดำเนินคดีอย่างอนาถา

มาตรา ๑๕๖ ผู้ใดมีความจำนงจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดี ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่จะฟ้องหรือได้ฟ้องคดีไว้นั้นพร้อมกับคำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา คำร้องสอด หรือคำให้การ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าบุคคลนั้นตกเป็นผู้ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลในภายหลัง จะยื่นคำร้องในเวลาใด ๆ ก็ได้
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้ร้องอาจเสนอพยานหลักฐานไปพร้อมคำร้องและหากศาลเห็นสมควรไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้งดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราวจนกว่าการพิจารณาสั่งคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะถึงที่สุดก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

มาตรา ๑๕๖/๑ เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเสร็จแล้วให้ศาลมีคำสั่งโดยเร็ว โดยศาลจะมีคำสั่งอนุญาตทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วน หรือยกคำร้องนั้นเสียก็ได้
ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำร้องเช่นว่านั้น เว้นแต่จะเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือหากผู้ร้องไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรเมื่อพิจารณาถึงสถานะของผู้ร้อง และในกรณีผู้ร้องเป็นโจทก์หรือผู้อุทธรณ์หรือฎีกา การฟ้องร้องหรืออุทธรณ์หรือฎีกานั้นมีเหตุผลอันสมควรด้วย
เมื่อคู่ความคนใดได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นแล้วยื่นคำร้องเช่นว่านั้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แล้วแต่กรณี อีก ให้ถือว่าคู่ความนั้นยังคงไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้วจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรอยู่ เว้นแต่จะปรากฏต่อศาลเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลได้ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันมีคำสั่ง คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๑๕๗ เมื่อศาลอนุญาตให้บุคคลใดได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลใด บุคคลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น ค่าธรรมเนียมเช่นว่านี้ให้รวมถึงเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา ถ้าเป็นกรณีที่ศาลอนุญาตในระหว่างการพิจารณา การยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลนั้นให้ใช้บังคับแต่เฉพาะค่าธรรมเนียมศาลและเงินวางศาลที่จะต้องเสีย หรือวางภายหลังคำสั่งอนุญาตเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมศาลหรือเงินวางศาลที่เสียหรือวางไว้ก่อนคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอันไม่ต้องคืน

มาตรา ๑๕๘ ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร

มาตรา ๑๕๙ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลนั้นสามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ตั้งแต่เวลาที่ยื่นคำร้องตามมาตรา ๑๕๖ หรือในภายหลังก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าธรรมเนียมศาลที่ได้รับยกเว้นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไว้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลเห็นว่า
(๑) ค่าฤชาธรรมเนียมจะเป็นพับแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลมีคำสั่งให้เอาชำระค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้น จากทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดดังที่กล่าวไว้ในวรรคหนึ่งตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
(๒) คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ให้ศาลมีคำสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ศาลเอาชำระค่าธรรมเนียมศาลนั้นจากทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดดังที่กล่าวไว้ในวรรคหนึ่งตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร หรือ
(๓) ผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลมีคำสั่งให้เอาชำระค่าฤชาธรรมเนียมนั้นจากทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดดังที่กล่าวไว้ในวรรคหนึ่ง ส่วนค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้น ให้เอาชำระจากทรัพย์สินที่เหลือ ถ้าหากมี ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร

มาตรา ๑๖๐ ถ้าผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลประพฤติตนไม่เรียบร้อย เช่น ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญถึงขนาด หรือกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือจงใจประวิงความเรื่องนั้น ศาลจะถอนการอนุญาตเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ และบุคคลเช่นว่านั้นจำต้องรับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับกระบวนพิจารณาภายหลังที่ศาลได้ถอนการอนุญาตนั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062 - 6063/2551
โจทก์ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 68 บัญญัติให้ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เป็นภูมิลำเนาของบริษัท โจทก์มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 162/18 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 2540 แต่โจทก์ก็อ้างมาในฎีกาว่า โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัท จึงถือว่าโจทก์ยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นการส่งที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) แล้ว ศาลชั้นต้นหาจำต้องส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้แก่กรรมการผู้จัดการของโจทก์และทนายโจทก์ด้วยไม่
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมให้โจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลในชั้น อุทธรณ์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นค่าขึ้นศาลสำหรับทุนทรัพย์ 4,000,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในทุนทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้รับ อนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ในทุนทรัพย์ 4,000,000 บาทนั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5504/2550
ตาม บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในวัน เดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ตามข้อความในคำร้องที่ว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นได้ประทับข้อความไว้ในด้านหน้าคำร้องว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วและให้ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงชื่อไว้นั้น ย่อมหมายความถึง การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์
2549 จึงเกินกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาล ฎีกา
การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคน อนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่า ธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยทั้งห้าเสียค่าคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ค่าคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยาน หลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งกรณีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าไต่สวนพยานเพิ่มเติม ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มา จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งห้าทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2550
การ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกโจทก์ให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มตามจำนวน ทุนทรัพย์ที่พิพาทให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง และศาลชั้นต้นส่งหมายนัดแจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว โดยวิธีรับหมายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 แต่โจทก์มิได้ดำเนินการชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในกำหนด ระยะเวลาดังกล่าวจึงถือว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. 132 (1) นั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเท่ากับเป็นคำสั่งไม่รับ อุทธรณ์นั่นเอง ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับอุทธรณ์แล้วโจทก์จะร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยขอให้ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2550
อุทธรณ์ ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้อง ที่ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยอ้างว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิได้สั่งในเนื้อหาของคำร้องดังกล่าวของผู้ร้อง แต่ประการใด จึงมิได้เป็นคำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาซึ่งผู้ร้องจะต้อง อุทธรณ์ภายใน 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย แต่คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ผู้ร้องมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้าน ได้ภายในกำหนด 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 229 ข้อเท็จจริงได้ความตามท้องสำนวนว่าผู้ร้องทราบคำสั่งยกคำร้องของศาลชั้นต้น ดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 1 เดือน ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2550
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ผู้ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถามีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ พิจารณาคำขออนาถาของตนใหม่ได้ก็เฉพาะเพื่ออนุญาตให้ผู้ขอนำพยานหลักฐานมา แสดงเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าผู้ขอเป็นคนยากจนเท่านั้น หาได้ให้สิทธิแก่ผู้ขอที่จะขอให้ศาลพิจารณาใหม่ในประเด็นว่าคดีของผู้ขอมี เหตุอันสมควรจะอุทธรณ์ด้วยไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของ จำเลยทั้งสองด้วยเหตุผลที่ว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 7 วัน ย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย ประเด็นที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุสมควรที่จะ อุทธรณ์ย่อมยุติ จำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ในประเด็นดังกล่าว อีกไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขอใหม่ก็ได้แต่เฉพาะประเด็น เรื่องจำเลยทั้งสองเป็นคนยากจนเท่านั้น ส่วนการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์นั้นนอกจากผู้ขอจะเป็นคนยากจน แล้ว คดีของผู้ขอต้องมีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมก็ตาม คดีก็ต้องฟังตามข้อยุติว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์
การที่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองนำค่าธรรมเนียมมาชำระภายหลัง จากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองฟัง ทั้งกำหนดเวลาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสองนำค่าฤชาธรรมเนียมมาชำระได้ ล่วงพ้นไปแล้วเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาชอบที่จะกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองนำค่าธรรมเนียมมาชำระภายหลังจากที่ ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนอนาถาไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1877/2550
จำเลย ที่ 4 ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา โดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์มาด้วย เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคหนึ่ง จึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณาศาลชั้นต้นสามารถสั่งยกคำร้องได้ทันทีโดยไม่ ต้องไต่สวน และไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 4 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระเพราะจำเลยที่ 4 มิได้ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และมีคำสั่งต่อไปว่าหากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังติดใจอุทธรณ์ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระต่อศาลชั้นต้นภาย ใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ไปฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามนัด ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำสั่งให้ฝ่ายโจทก์ฟังฝ่ายเดียวและถือว่าได้อ่านคำสั่งดัง กล่าวให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังโดยชอบแล้ว ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ทราบคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่กำหนดให้นำค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระต่อศาลชั้นต้นด้วย เพราะเป็นคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคน อนาถาใหม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2550
โจทก์ ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ยังพอมีฐานะ มิได้ยากจนจริง ยกคำร้องโจทก์มิได้อุทธรณ์ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ว่าเป็นคนยากจนโดยอ้างว่าโจทก์มีฐานะยากจนลงกว่าเดิมเนื่องจากไม่อาจขอความ ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมศาลจากบุตรคนโตได้ และโจทก์มีภาระเพิ่มมากขึ้นจากการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งพยานหลักฐานที่จะนำมาแสดงเพิ่มเติมเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่ได้นำมา สืบและข้อเท็จจริงบางส่วนเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างข้อเท็จจริงที่ โจทก์นำสืบไว้เดิม ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดและเป็นยุติแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ ไม่ได้บังคับว่าเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตให้ผู้ร้องนำพยานหลักฐานมา แสดงเพิ่มเติมว่าเป็นคนยากจนศาลจะต้องอนุญาตและทำการไต่สวน จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้แล้วแต่พฤติการณ์ แห่งคดี ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีตามคำร้องของโจทก์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผล แห่งคำวินิจฉัยของศาลได้ก็ชอบที่จะยกคำร้องของโจทก์เสียได้โดยไม่จำต้องมีคำ สั่งรับคำร้องของโจทก์ไว้ดำเนินการไต่สวนก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2550
ศาล ชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ของ จำเลยโดยเห็นว่าจำเลยมิใช่คนยากจนไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่า ธรรมเนียมศาลและไม่อนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070 - 1071/2550
บริษัท จำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 12,585.10 บาท ทั้งยังมีสินทรัพย์เป็นสินค้าคงเหลือจำนวน 38,124,414.13 บาท จำเลยที่ 1 ยังมีเครดิตขอกู้ยืมเงินได้อีกและมีทรัพย์จำนองในคดีนี้เป็นหลักประกันจึง ไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สิน การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่อ้างว่าสินทรัพย์ ที่เป็นสินค้าคงเหลือ เป็นมูลค่าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ติดจำนองไว้กับโจทก์ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลภายนอกจึงไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินมาวาง ศาลเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้ และทรัพย์จำนองมีมูลค่าต่ำกว่าหนี้เงินกู้ จำเลยที่ 1 พยายามติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ เป็นการคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยโดยคำสั่งหลังเสร็จการ ไต่สวนแล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะคัดค้านโดยการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น มิใช่โดยการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของตนได้ คือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระเสียภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดกรณีหนึ่ง หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา156 วรรคสี่ อีกกรณีหนึ่ง แม้กฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะในการยื่นคำร้องขอไว้ แต่เมื่อการใช้สิทธิดำเนินการในกรณีแรกคือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต้องนำมา ชำระภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 การใช้สิทธิดำเนินการในกรณีหลัง ก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการใช้สิทธิเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เหมือนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2550
จำเลย อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาล ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่จำเลยไม่วางเงินภายในกำหนด หลังจากนั้นจำเลยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องพร้อมกับมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แต่มิได้ดำเนินการทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 234 เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยไม่อาจขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้แล้ว จำเลยก็ไม่อาจขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2550
ศาล ชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลย หากจำเลยไม่พอใจย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ หรือวรรคห้าโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้นำ พยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจน หรืออุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งแม้มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่เมื่อจำเลยได้เลือกอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา 156 วรรคห้าแล้ว จำเลยจะกลับมาขอให้ศาลพิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐาน มาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนตามมาตรา 156 วรรคสี่ อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2550
ศาล ชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 หากจำเลยที่ 3 ประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งก็ต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหา ประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง แม้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จะเป็นเรื่องที่ขอให้ศาลรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เกี่ยวเนื่องกับการขอ ขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าว แต่ก็เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี แล้ว เมื่อมีการอุทธรณ์ย่อมทำให้การบังคับคดีต้องล่าช้าออกไป อาจเสียหายแก่โจทก์ผู้ชนะคดีได้ จำเลยที่ 3 จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 234 ในกรณีเช่นนี้ให้ครบถ้วนด้วย การที่จำเลยที่ 3 ยกเหตุคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลทั้งสองครั้งรวมมาใน คำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ หามีผลทำให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 234 ไม่
จำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่า ธรรมเนียมศาลบางส่วน เป็นผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องนำค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนมาวางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษา
ฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่ง จำเลยที่ 3 นำมาวางศาลด้วยนั้นเป็นปัญหาตามอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์โดยทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและเสียค่าขึ้นศาลมา 200 บาท ซึ่งที่ถูกต้องแล้วต้องทำเป็นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งฉบับดังกล่าวมีผลเท่ากับเป็น การสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2548
การ ที่ศาลอนุญาตให้บุคคลใดฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา บุคคลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณารวมถึงเงินวาง ศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาเท่านั้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 157 สำหรับเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ คือ เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำ สั่งศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องนำมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามในมาตรา 229 ส่วนเงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือประกันที่ต้องให้ไว้ต่อ ศาลตามมาตรา 234 มิใช่ค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าว จำเลยจะขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาให้ศาลยกเว้นไม่ต้องชำระหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2548
การ อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 252 ต้องปฏิบัติตามมาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 คือนอกจากเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา และนำค่าธรรมเนียมทั้งปวงที่ต้องชดใช้ตามมาตรา 229 มาวางศาลแล้ว จะต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้นด้วย จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาแม้ได้รับยก เว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา และไม่ต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงที่ต้องชดใช้มาวางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาหรือการหา ประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองวางเงินหรือหาประกันภายใน 20 วัน จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติและไม่ใช่กรณีที่อาจขออนาถาได้ คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8188/2538
การ ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลรวมทั้งเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์แก่จำเลยที่ได้ รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคน แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาก็ไม่มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยแต่อย่างใด ค่าขึ้นศาลเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายบังคับให้คู่ความที่ยื่นคำ ฟ้อง ฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา จะต้องเสียในขณะยื่นคำฟ้อง กับการวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งในการยื่น อุทธรณ์หรือฎีกานั้น เป็นเงินคนละส่วนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2534
ค่าส่งหมายมิใช่ค่าธรรมเนียมศาล แต่เป็นค่าธรรมเนียมในการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2502)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งพ.ศ. 2477 ข้อ 5 ซึ่งผู้ขอต้องเสียค่าป่วยการและค่าพาหนะให้แก่เจ้าพนักงาน แม้จำเลยที่ 3 จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก็ไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมส่วน นี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 3 นำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติถือว่าทิ้งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 174 ต้องจำหน่ายคดี ตาม มาตรา132(1),246.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2533
ผู้ ร้องเข้าอยู่ในที่ดินพิพาทโดย อาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินแม้ครอบครองเป็นเวลาเกิน 10 ปี ก็หาได้ กรรมสิทธิ์โดย การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ การได้ รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดย ไม่ ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีในศาลนั้น เป็นคนละเรื่องกับความรับผิดของคู่ความฝ่ายแพ้คดีที่จะต้อง ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทน คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ผู้ร้องจะได้ รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา แต่ เมื่อผู้ร้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลก็ชอบที่จะพิพากษา ให้ผู้ร้องใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2542
คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา และพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 158 ย่อมไม่ถูกต้อง ต้องพิพากษาว่าสำหรับค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องใช้ แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1139/2509
คำว่า ค่าฤชาธรรมเนียม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นรวมถึงค่าทนายด้วย