Pages

คู่ความมีข้อโต้แย้งต้องใช้สิทธิทางศาล

มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552
ที่พิพาทเป็นไหล่ทางของทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งรับมอบที่พิพาทคืนจากกรมทางหลวงและจังหวัดฉะเชิงเทราผู้รับ มอบช่วงจากกรมธนารักษ์เพื่อดูแลรักษาไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปให้เอกชนรายใด ใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว แม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงมิใช่ที่ราชพัสดุตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่และยังคงสภาพเดิม เว้นแต่ทางราชการจะเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่ พิพาท การที่จังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจึงเป็นการให้เช่าโดย ปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่าได้

การที่จำเลยสร้างเพิงบนไหล่ทางหลวงพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงกับที่ดินของโจทก์ ย่อมกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2552
การที่บิดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปยื่นขอจดทะเบียนภาระจำยอม เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการให้ตามคำขอจดทะเบียนโดยไม่มีหน้าที่ไปตรวจดูสภาพความเป็น จริง การกระทำของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น บิดาโจทก์ยินยอมลงชื่อจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินให้จำเลยที่ 1 ก็เพื่อหลอกธนาคารก็คือจำเลยที่ 3 กลับแสดงว่าบิดาโจทก์เสียอีกเป็นฝ่ายโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 โดยร่วมกับจำเลยที่ 1 หลอกจำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำตามที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจึงมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552
แม้คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำปี พ.ศ.2504 จำเลยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาติกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกรรมการของจำเลย สมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความ รู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่ อ. ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียน มากกว่า อ. ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้ว ทำให้โจทก์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้ อ. ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและอับอาย ไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยกย่องแพร่หลายในฐานะบุคคลที่เรียนดีที่สุด ในยุคนั้น ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการขอขมาโจทก์ และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่าโจทก์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่ อ. โดยให้จำเลยปิดประกาศแผ่นป้ายถาวรไว้ ณ ที่ทำการของจำเลย และแก้ไขรายการผลสอบดังกล่าวในเอกสารต่าง ๆ ด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง นั้น จะเป็นคำฟ้องที่โจทก์ได้กล่าวแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่ากรรมการของ จำเลยสมคบร่วมกันกระทำมิชอบต่อโจทก์นั้น หากมีมูลความจริง โจทก์ก็สมควรต้องรีบดำเนินการโต้แย้งหรือนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในเวลาอัน สมควร เพื่อให้จำเลยและบุคคลที่โจทก์กล่าวพาดพิงได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเนิ่นนานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 43 ปี จนบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างสูญหายตายจากไปหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์หยิบยกเอาความรู้ความสามารถ ความสำเร็จจากการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และจากหน้าที่ราชการที่โจทก์ปฏิบัติมาตลอดชีวิตราชการ รวมทั้งการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ภายหลังจากการสอบเป็นเนติบัณฑิต เพื่อสนับสนุนว่าโจทก์มีความรู้โดดเด่นไม่น่าจะได้คะแนนสอบปากเปล่าน้อยกว่า อ. ก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการสอบปากเปล่าเป็นระยะเวลายาวนาน เกือบตลอดชีวิตการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น หาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นภายในระยะเวลาใกล้เคียงวันเกิด เหตุอันจะเป็นเครื่องชี้หรือบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถของโจทก์ในวันที่มี การสอบปากเปล่าไม่ การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปี แล้วค่อยขุดคุ้ยเอาความสำเร็จจากหน้าที่ราชการที่ได้ปฏิบัติมาจนเกือบตลอด ชีวิตขึ้นกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องว่าจำเลยดำเนินการสอบปากเปล่าโดยมิ ชอบเช่นนี้ พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8239/2551
โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขาย ทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท โดยเรียกค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท ส่วนจำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นสินสมรสที่จำเลยมี ส่วนกึ่งหนึ่ง ซึ่งจำเลยได้ร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านพิพาทไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ เช่นนี้เท่ากับจำเลยมิได้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7950/2551
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ได้โต้ แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยมีเนื้อหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นเดียวกับคำ พิพากษาศาลชั้นต้นที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาไปแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาเช่นเดียวกันกับที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยดังกล่าว อันเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดเจนว่าศาลชั้นต้นยกเรื่องอื่นขึ้นโต้แย้งคำพิพากษา ศาลฎีกาในประเด็นที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาไปแล้ว โดยพยายามเบี่ยงเบนให้เกิดเป็นประเด็นใหม่ขึ้นในเรื่องอำนาจฟ้องแล้วสรุป ทำนองว่าโจทก์มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นการพิพากษาซ้ำซ้อนกับคำพิพากษาเดิมของศาลชั้นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ยอมดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ให้เป็นไปตาม ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวน พิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2551
การที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยตกลงจะผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อในหนังสือสัญญาซื้อรถยนต์ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้แจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบและดำเนินการเปลี่ยนให้ผู้ร้อง เป็นผู้เช่าซื้อแทน ทั้งใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและหนังสือยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อหาใช่ผู้ร้องชำระไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อนำรถยนต์คันพิพาทมาขายแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้น รถยนต์คันพิพาทยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งระงับการทำนิติกรรมทางทะเบียนของรถยนต์ คันพิพาท ไม่ถือว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่มีการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551
การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้ จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสีย หายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2551
ป.พ.พ. มาตรา 1476 (4) มุ่งหมายให้การให้กู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ในการจัดการสินสมรส การกู้ยืมเงินมิใช่ให้กู้ยืมเงินจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

การบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหากมิใช่หนี้ร่วม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีได้เพียงสินสมรสในส่วนของลูกหนี้ตามคำ พิพากษาเท่านั้น มิได้กระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ที่ดินสินสมรส จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมสัญญากู้ยืมระหว่าง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2551
ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5386/2551
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ระหว่างการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกได้ชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ของศาลชั้นต้นจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และคดีนี้โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2551
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรทั้งสามของโจทก์และโจทก์ ต้องขาดไร้ผู้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์และโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า บุตรทั้งสามของโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนด้วยนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรทั้งสามของโจทก์เป็นผู้เยาว์ยังฟ้องหรือคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรทั้งสามคนด้วยโดยปริยาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4583/2551
โจทก์ฟ้องยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้อง บ. และ ญ. ซึ่งตกลงนำที่ดินมาประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 พา บ. และ ญ. ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้เงินกู้และผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับโอนสิทธิจำนองดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 กลับฟ้อง บ. และ ญ. เรียกหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทบสิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงและสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ส่วนตัวของโจทก์ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว แม้มีอยู่จริงก็เป็นเรื่องการโต้แย้งระหว่าง บ. และ ญ. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 โดยตรง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าสิทธิของโจทก์ที่อ้างว่าถูกกระทบ กระเทือนจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอย่างไร เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับหนี้ที่โจทก์กู้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โจทก์ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อว่ากล่าวเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่อ้างว่าทำให้โจทก์เสียหายได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดขึ้นจากข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ บ. และ ญ. ในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2551
เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดและผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้เช่าจำต้องออกไปจากที่เช่า เมื่อสัญญาเช่าเลิกต่อกันแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกไปจากที่เช่า ผู้ให้เช่าชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลเนื่องจากผู้เช่ากระทำการอันเป็น การโต้แย้งสิทธิผู้ให้เช่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 สิทธิของผู้ให้เช่าที่จะขับไล่ให้ผู้เช่าออกจากที่เช่าต้องกระทำโดยทางศาล ให้ศาลเป็นผู้บังคับ ผู้ให้เช่าหามีสิทธิที่จะทำการบุกรุกเข้าไปปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิให้ กรรมการผู้จัดการของผู้เช่าเข้าไปภายในอาคารไม่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในอาคารของโจทก์แล้วทำการปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิ ให้กรรมการผู้จัดการของโจทก์เข้าไปภายในอาคารจึงเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2551
ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อที่ 33 กำหนดว่า "เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาผู้ใดที่ถูกลงโทษเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้น ไม่ยุติธรรมก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นได้" เป็นการกำหนดให้สิทธิลูกจ้างที่ถูกลงโทษที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นหรือไม่ ก็ได้ ส่วนที่ระเบียบข้อเดียวกันนั้นกำหนดว่า "คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด" มีความหมายเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปยังผู้ใดหรือกรรมการชุดใด ของจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิผู้ที่ถูกลงโทษมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน จำเลยทั้งสองยกเอาระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 มาจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์เป็นผู้ที่ถูกลงโทษจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 5/2545 - 46 ที่แต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 96/2545 - 46 ที่เลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคนละคำสั่งคนละขั้นตอนกัน ต่อมาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อน จึงไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ฟ้องสำหรับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2551
เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 เมื่อ จ. ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ จ. ได้แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามมาตรา 1754 วรรคสอง และมาตรา 192/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ไม่อาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกได้ด้วย แม้สัญญาจำนองจะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึด ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระ หนี้ เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีกต่อไป

ตามสัญญากู้เงินกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัยแต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทน ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนแก่ผู้ให้กู้ก่อนการ ชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น จะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่กรณีที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง จึงเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่า จ. ละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับ จ. ตามกฎหมายที่จะต้องให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. รับผิดชำระหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2550

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองว่าจ้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก่อสร้างถนน และระบบระบายน้ำ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้ซื้อเชื่อวัสดุก่อสร้าง และรับเงินยืมทดรองจ่ายไปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการสร้างรวมเป็นเงิน 778,240 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 1 มูลค่า 800,000 บาท ให้แก่โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาจ้างทันที จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไม่มีสิทธิระงับไม่ให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่อาจบอกปัดความรับผิดโดยอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีหนังสือไปถึงจำเลยทั้งสองให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อนอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจรับเงินตามที่โจทก์มีสิทธิที่จะรับได้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2550
การประเมินราคาทรัพย์สินนั้นเป็นเพียงการประมาณราคาในเบื้องแรกตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ซึ่งราคาที่ประเมินไว้เป็นไปได้ว่าอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ก็หาใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่ผูกมัดผู้ที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีหรือศาลว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องให้เป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด โดยเฉพาะหากจำเลยที่ 2 เห็นว่า ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ต่ำไป ก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินออกไป ดังนั้น กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งราคาประมูลทรัพย์สินใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2550
แม้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 จะบัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน แต่การฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่น เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2549
สัญญากู้ยืมเงินมีใจความว่า ในระยะ 2 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ยคงที่ได้เพียงร้อยละ 5.25 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเว้นแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาหรือหลังจากนั้น โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และหลังจากล่วงพ้นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ จึงเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แต่สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด และยังอยู่ในช่วงระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379
จำเลยจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2549
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึด เป็นเพียงการประมาณราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ราคาที่ประเมินจึงอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ แม้จำเลยจะไม่เห็นด้วย จำเลยก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้ และไม่มีหลักเกณฑ์ใดผูกมัดว่าการขายทอดตลาดจะต้องเป็นไปตามราคาที่ประเมิน จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่จะร้องขอต่าศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2549
ฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าเสียหายเป็นค่ารื้อถอนอาคารที่จำเลยได้ก่อสร้างบนที่ดินตามฟ้องจากโจทก์เป็นฟ้องแย้งที่ขึ้นอยู่กับข้ออ้างตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยให้การ จำเลยก็ไม่ต้องรื้อถอนอาคารออกไป ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยย่อมไม่เกิดขึ้น และศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ หากข้อต่อสู้ตามคำให้การฟังไม่ได้ ศาลก็ต้องพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารออกไป เมื่อนั้นค่าเสียหายที่จำเลยฟ้องแย้งก็อาจจะเกิดมีขึ้นได้ข้ออ้างตามฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องที่จะต้องฟังผลของคดีเป็นสำคัญมิได้มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างจำเลยกับโจทก์ในขณะที่จำเลยฟ้องแย้ง เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ซึ่งถือว่าเป็นฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6592/2548
กรณีที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ การที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าอาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2548
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์กับจำเลยที่บริษัทจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยมีข้อตกลงให้จำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปส่งมอบและติดตั้งให้แก่โจทก์ ณ จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยเงื่อนไขว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องยนต์และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามคุณสมบัติที่ตกลงกัน โจทก์จึงจะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาไปส่งมอบและติดตั้งอันเป็นการผิดสัญญา ก็เท่ากับมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการส่งมอบและติดตั้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นสถานที่ที่ต้องมีการส่งมอบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2548
หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยสัญญาซื้อขายแทนโจทก์ ดังนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใด ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่จำต้องระบุชื่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2548
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 25 ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแล้วขอรับเงินทดแทนคือจากสำนักงานประกันสังคมได้ มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมจำเลยตามมาตรา 49 และนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลยตามมาตรา 48 เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการแพทย์ให้โจทก์และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะมิได้อุทธรณ์ แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 52 เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามมาตรา 53 เป็นกรณีมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2547
ผู้ที่จะฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อรับรองว่าตนมีสิทธิหรือหน้าที่หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 110214 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ก็เพียงเพื่อต้องการทำลายพยานหลักฐานในคดีอาญาที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดินแปลงนี้ ซึ่งในคดีนั้นโจทก์ในฐานะจำเลยย่อมมีสิทธินำพยานหลักฐานมานำสืบต่อสู้คดีได้หากจำเลยนำหลักฐานเท็จมาแสดง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากคำสั่งศาลดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7757/2546
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนท้องถิ่นของจำเลยที่ 2 ว่า เด็กหญิง ญ. เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับ บ. เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หลงเชื่อจึงออกสูติบัตรให้ ไม่มีข้อความตอนใดที่พาดพิงถึงโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ บ. สูติบัตรที่ออกให้ก็ไม่มีข้อความเกี่ยวพันถึงโจทก์ทั้งสอง การยื่นคำร้องและการแจ้งข้อความขอออกสูติบัตรที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ออกสูติบัตรก็ดี จึงไม่เป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองตามกฎหมายแพ่ง และไม่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 แม้หากยังปล่อยให้จำเลยที่ 1 ใช้สูติบัตรเท็จแสดงต่อบุคคลทั่วไป และนำมายื้อแย่งมรดกของ บ. ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิสูจน์ไปตามขั้นตอนว่าเด็กหญิง ญ. เป็นบุตรของ บ. จริงหรือไม่ เป็นคดีต่างหาก กรณีเกี่ยวกับสูติบัตรของเด็กหญิง ญ. ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2546
แม้จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่ธนาคารโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เองและจำเลยยอมชำระเบี้ยประกันคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2546
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากเทศบาลเมืองโพธารามเพื่อใช้เป็นสถานที่จอดรถสำหรับกิจการโรงแรมของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินข้างเคียงได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่า โจทก์ไม่สามารถใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้โดยสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดิน แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน แต่การเช่าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ในกิจการโรงแรมของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337 แม้ว่าจำเลยทั้งสามจะติดตั้งหลังคาตึกแถวก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปไม่ โจทก์มีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยทั้งสามให้รื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมออกจากตึกแถวซึ่งกีดขวางการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่โจทก์เช่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2546
ในคดีก่อนแม้จะยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อันอาจถูกเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ ก็ตาม แต่การที่จำเลยใช้ให้คนนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันที่ดินพิพาทแล้วจุดไฟเผาต้นไม้ต่าง ๆ ที่โจทก์ปลูกไว้จนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากแม้จะอ้างว่ากระทำไปโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาว่าจ้างก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและทรัพย์สินของโจทก์บนที่ดินพิพาทโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3971/2545

สมาชิกของสหภาพแรงงานโจทก์แต่ละคนหากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะได้รับหรือจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ และตามสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของสมาชิกโจทก์สามารถบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญาจ้างแรงงานได้โดยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล ซึ่งจะดำเนินคดีด้วยตนเองหรือจะแต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความ หรือจะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานที่ตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีแทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 36 ก็ได้ เมื่อสมาชิกโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยและมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทน แต่โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานฟ้องจำเลยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 และมาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3064/2545
การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยยื่นฟ้องขับไล่ ส. และจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ให้โจทก์ในฐานะบริวารของ ส. ออกจากที่พิพาท เมื่อโจทก์เห็นว่าตนมิใช่บริวารของ ส. แต่เป็นเจ้าของครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมานานแล้ว แสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งอันเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทแล้ว โจทก์มีสิทธิเสนอคดีของตนต่อศาลโดยยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้ แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะปิดประกาศกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3)ในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ส. ออกจากที่พิพาทก็ตาม เพราะบทบัญญัติดังกล่าวแม้หากบุคคลนั้นไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิห้ามบุคคลนั้นจะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ไม่ และเมื่อโจทก์มิได้ร้องขอเข้าไปในคดีที่จำเลยบังคับขับไล่ ส. โจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีนั้นย่อมไม่ผูกพันในผลแห่งคดีดังกล่าวหรือจะถูกต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2974/2545
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล คือต้องมีกฎหมายรองรับว่ามีสิทธิหรือหน้าที่หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาลแต่ตามคำฟ้องที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดมีชื่อจำเลย จำเลยจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์อ้างว่าตนมีเพียงสิทธิครอบครอง จึงไม่มีกฎหมายรองรับให้โจทก์อ้างสิทธิครอบครองเหนือกรรมสิทธิ์ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าตามคำฟ้องจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 ที่โจทก์อ้างก็เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้ยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนเป็นผู้ได้สิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้มีกรรมสิทธิ์หรือใช้สิทธิแก่ผู้ครอบครอง จึงเป็นกรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่หรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล

การเลื่อนการพิจารณาคดี

มาตรา 40 เมื่อศาลได้กำหนดนัดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความ ทราบแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อน การนั่งพิจารณาต่อไปโดยเสนอคำขอในวันนั้นหรือก่อนวันนั้น ศาล จะสั่งให้เลื่อนต่อไปก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งให้เลื่อนไปแล้วคู่ความฝ่าย นั้นจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาอีกไม่ได้เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจ ก้าวล่วงเสียได้ และคู่ความฝ่ายที่จะขอเลื่อนแสดงให้เป็นที่พอใจ ของศาลได้ว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความ ยุติธรรม ก็ให้ศาลสั่งเลื่อนคดีต่อไปได้เท่าที่จำเป็น แม้จะเกินกว่า หนึ่งครั้งในกรณีที่ศาลสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปตามวรรคหนึ่ง ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใด ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นเสียค่า ป่วยการพยานซึ่งมาศาลตามหมายเรียก และเสียค่าใช้จ่ายในการ ที่คู่ความฝ่ายอื่นมาศาล เช่น ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของ ตัวความ ทนายความหรือพยานเป็นต้นตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ค่าป่วยการหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ตกเป็นพับ ถ้าคู่ความฝ่ายที่ ขอเลื่อนคดีไม่ชำระค่าป่วยการหรือค่าใช้จ่ายตามที่ศาลกำหนด ให้ ศาลยกคำขอเลื่อนคดีนั้นเสียคำขอเลื่อนคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่ได้เสนอต่อหน้าศาลด้วยวาจา ก็ให้ทำเป็นคำร้อง และจะทำฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาลก็ได้

มาตรา 41 ถ้ามีการขอเลื่อนการนั่งพิจารณาโดยอ้างว่าตัวความ ผู้แทน ทนายความ พยานหรือบุคคลอื่นที่ถูกเรียกให้มาศาลไม่สามารถ มาศาลได้เพราะป่วยเจ็บ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว ศาลจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการ ตรวจก็ได้ และถ้าสามารถหาแพทย์ได้ก็ให้ตั้งแพทย์ไปตรวจด้วย ถ้าผู้ที่ศาลตั้งให้ไปตรวจได้รายงานโดยสาบานตนหรือกล่าวคำปฏิญาณ แล้ว และศาลเชื่อว่าอาการของผู้อ้างว่าป่วยนั้นไม่ร้ายแรงถึงกับจะมา ศาลไม่ได้ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัดหรือการไม่มาศาลของบุคคล ที่อ้างว่าป่วยนั้น แล้วแต่กรณีศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ขอให้ไปตรวจตามวรรคหนึ่งหรือคู่ ความใดไปกับผู้ที่ศาลตั้งให้ไปตรวจ คู่ความนั้นจะมอบให้ผู้ใดไปแทน ตนก็ได้ค่าพาหนะและค่าป่วยการของเจ้าพนักงานและแพทย์ ให้ถือว่า เป็นค่าฤชาธรรมเนียม และให้นำ มาตรา
166 มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับเด็ดขาดให้ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไป ตรวจอาการเจ็บป่วยเสมอไป เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไป ตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในคำร้องขอเลื่อนคดีและใบรับรองแพทย์แล้วไม่เชื่อว่าการเจ็บป่วยของ จำเลยจะมีอาการหนักจนไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้จึงเป็นการใช้ ดุลพินิจว่าไม่สมควรมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บ ป่วยของจำเลยนั่นเอง และเมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยและใบรับรองแพทย์ที่ปรากฏ ต่อศาลชั้นต้นเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้วศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งไม่ อนุญาตให้เลื่อนคดีได้ โดยไม่ต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2550
ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป่วยเป็นไข้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนที่จำเลยที่ 2 แจ้งว่าป่วยเป็นไข้หวัดนั้น โดยไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันว่าป่วยถึงขนาดไม่สามารถมาศาลได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวประกอบกับการขอเลื่อนคดีหลายครั้งเชื่อว่าจำเลย ที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่สั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนคดีก่อนเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ เลื่อนคดีแล้ว และคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกไปซื้อยามารับประทานแล้วนอนพักผ่อน แสดงว่าอาการเจ็บป่วยของทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 เป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเจ้าพนักงานหรือแพทย์ไปตรวจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7583/2549
ทนายโจทก์ให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์นำคำร้องของทนายโจทก์มายื่นต่อศาลเพื่อขอเลื่อน คดีโดยอ้างเหตุว่ามีความจำเป็นต้องไปติดต่องานด่วนที่ศาลอื่น ไม่สามารถมาศาลได้ทันตามกำหนดนัด ซึ่งทนายจำเลยได้รับสำเนาแล้วแถลงไม่คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้กำหนดวันนัดเองแต่กลับไม่สนใจวัน นัดจึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะสืบพยานและให้งดสืบพยานโจทก์ โดยมิได้สั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรที่จะให้ เลื่อนคดีหรือไม่ หาเป็นการชอบไม่ และถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8247/2549
ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ก่อนถึงวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ เป็นการแจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงเหตุที่ทนายจำเลยไม่อาจมาศาลตามกำหนดนัด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสามแล้ว ไม่ว่าเหตุตามคำร้องนั้นจะมีเหตุสมควรหรือไม่ก็ตาม ศาลแรงงานกลางชอบที่จะสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อน แต่ศาลแรงงานกลางมิได้สั่ง กลับสั่งว่าทนายจำเลยและจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387/2549
ทนายจำเลยคนเดิมยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้วอ้างว่าป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดี ก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลย 4 วัน ทนายจำเลยคนเดิมขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลย ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยคนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดี จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีและซักค้านพยานโจทก์ ขอเลื่อนการพิจารณาออกไปสักนัดหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจให้เลื่อนคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2549
หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 เป็นนัดแรก ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์โรงพยาบาล ร. มาแสดง ระบุว่าทนายจำเลยที่ 1 มีอาการปวดหลัง กล้ามเนื้ออักเสบ ประกอบกับทนายโจทก์ไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดีจึงน่าเชื่อว่าทนายจำเลยที่ 1 มีอาการป่วยจริง พฤติการณ์ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ จึงมีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
ในวันนัดสืบพยานดังกล่าวทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้ ป. เสมียนทนายมาศาลและมีอำนาจในการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณา ฟังคำสั่งและลงลายมือชื่อแทนทนายจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ป. จึงมีฐานะเป็นคู่ความแล้ว มิใช่ไม่มีคู่ความฝ่ายจำเลยที่ 1 มาศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558/2548
ศาลแรงงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เกินเวลา 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 41 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 วรรคสองดังกล่าวซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำ ป.วิ.พ. มารา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับมิได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2548
บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิชักช้า เมื่อมีการขอเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียงครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้วจะขอเลื่อนคดีอีกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และต้องแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลด้วยว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ซึ่งการใช้ดุลพินิจของศาลในการอนุญาตให้เลื่อนคดีต้องพิจารณาการดำเนินคดีของคู่ความทั้งมวลมาประกอบการพิจารณา มิใช่ว่าต้องเลื่อนคดีไปตามเหตุที่คู่ความยกขึ้นอ้างเสมอไป การที่โจทก์ขอเลื่อนคดีหลายครั้งและศาลก็อนุญาตให้เลื่อนคดีพร้อมกับกำชับโจทก์ทุกครั้งให้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะครั้งสุดท้ายยังได้กำชับให้โจทก์เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในนัดต่อไปโดยจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีไม่ว่ากรณีใด ๆ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด เมื่อโจทก์ขอเลื่อนคดีอีกโดยอ้างว่าจะแต่งตั้งทนายความคนใหม่ ก็เป็นหน้าที่ของทนายความคนใหม่ที่จะต้องศึกษาข้อเท็จจริงในสำนวนให้พร้อมก่อนวันนัด ส่วนที่อ้างว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์ให้ชะลอการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้เพื่อขอการพิจารณาของคณะกรรมการจัดการเกี่ยวกับหนี้เสียของสถาบันการเงินก็ไม่ใช่เหตุที่ยกขึ้นอ้างเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2548
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโดยอ้างว่าราคาที่ขายได้เป็นราคาที่ต่ำเกินไป ระหว่างการไต่สวนทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีกับมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วพิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2548
หมายนัดมีข้อความว่า "นัดฟังประเด็นกลับและสืบพยาน" แม้มีการพิมพ์เพิ่มเติมคำว่า "และสืบพยาน" และ ไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ข้อความในหมายนัดดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ในหนังสือส่งประเด็นคืนของศาลจังหวัดปทุมธานี ทั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ลงลายมือชื่อไว้ในหมายนัดตามระเบียบ การออกหมายนัดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แม้หมายนัดจะมีข้อความว่านัดสืบพยานโดยมิได้ระบุให้ชัดเจนว่านัดสืบพยานโจทก์ แต่คดียังอยู่ในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์ และโจทก์มีพยานบุคคลอีกหลายปากที่เป็นพยานนำ ซึ่งโจทก์จะต้องนำมาสืบต่อศาลชั้นต้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานไว้จึงหมายถึงนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบตามนัดหากมีเหตุขัดข้องไม่อาจนำพยานมาสืบได้ โจทก์ก็ควรยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี แต่ทนายโจทก์เพียงแต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายโจทก์มาฟังประเด็นกลับ กำหนดวันนัดสืบพยาน และรับทราบคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วย แสดงว่าโจทก์มิได้เอาใจใส่คดีของตนว่าศาลชั้นต้นนัดมาเพื่อพิจารณาในเรื่องใด ไม่นำพยานมาสืบตามหน้าที่นำสืบและตามที่ ศาลชั้นต้นนัด ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์ชอบแล้ว
แม้เจ้าพนักงานศาลจัดส่งประเด็นไปศาลอื่นตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอส่งประเด็นยังมิได้ชำระค่าส่งประเด็นก็ตาม การส่งประเด็นนั้นก็ชอบแล้ว เพราะศาลมีอำนาจเรียกให้โจทก์ชำระค่าส่งประเด็นในภายหลังได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2548
การที่เสมียนทนายโจทก์ไปยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไม่ทันเป็นผลให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 วรรคหนึ่ง แต่เสมียนทนายกลับบอกความเท็จแก่ทนายโจทก์ว่าได้เลื่อนคดีเรียบร้อยแล้วนั้น เป็นกรณีที่จะต้องไปว่ากล่าวกันระหว่างทนายโจทก์กับเสมียนทนายอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มิใช่เรื่องศาลดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบที่จะขอเพิกถอนได้ ทั้งการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลดังกล่าวเท่ากับว่าเป็นการอ้างว่าโจทก์มิได้จงใจขาดนัดพิจารณาและประสงค์ให้ศาลชั้นต้นนำคดีกลับมาพิจารณาต่อไปถือได้ว่าคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำขอให้พิจารณาใหม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ต้องไต่สวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2547
ในการขอเลื่อนคดีของคู่ความนั้น กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดและเหตุที่จะขอเลื่อนคดีไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 39 และ 40 การที่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 5 และยื่นใบรับรองแพทย์มาด้วยเพื่อยืนยันว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงไม่ สามารถมาศาลได้ แม้โจทก์มิได้คัดค้านและข้อเท็จจริงจะฟังว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงซึ่งมี เหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่คำร้องขอเลื่อนคดีระบุเพียงว่าขอเลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในคำร้องว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำ ให้เสียความยุติธรรมอย่างไร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง อีกทั้งการที่คู่ความขอเลื่อนคดีเพราะป่วยเจ็บ ศาลก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 41 กล่าวคือ ตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจอาการป่วยเจ็บเสมอไป เพราะกรณีตามมาตรา 41 นั้น เป็นเรื่องที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อน คดีป่วยถึงกับไม่สามารถมาศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2547
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกู้ยืมและจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก จำเลยให้การต่อสู้คดี ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือร้องขอเลื่อนคดี ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ทวิ วรรคหนึ่งได้ กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2547
กรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานจำเลย และศาลชั้นต้นเห็นว่าฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้วมีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการพิจารณาโดยขาดนัด จำเลยย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5441/2546
การปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาลจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วันนับตั้งแต่ปิดประกาศได้ล่วงพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 วรรคสอง เมื่อปิดประกาศวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 จึงมีผลเป็นการแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ดังนั้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 แม้จำเลยไม่มาศาล หากโจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจสืบพยานโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งเลื่อนคดีไปเพื่อแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและให้ยกฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2546
ทนายจำเลยที่ 1 เคยขอเลื่อนคดีมาแล้วสองครั้ง ครั้งที่สามนัดสืบพยานโจทก์ทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายศาล และยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับทราบเรื่องการถอนตัวไว้ในคำร้องดังกล่าวด้วยแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าแล้วว่าในวันนัดนี้ตนจะไม่มีทนายความต่อสู้คดีให้ชอบที่จำเลยที่ 1 จะต้องแต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทน หรืออย่างน้อยตัวจำเลยที่ 1 ก็น่าจะมาศาลเพื่อแถลงขอเลื่อนคดีไปก่อน ทั้งตามคำร้องขอถอนทนายดังกล่าวก็มิได้ร้องขอเลื่อนคดีมาด้วยจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจขอเลื่อนคดีหาใช่ว่าคำร้องขอถอนทนายเท่ากับเป็นการขอเลื่อนคดีอยู่ในตัวไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อไปในทางประวิงคดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจสืบพยานโดยสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 พร้อมกับมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2546
อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 271 ศาลย่อมมีสิทธิควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบเพียง 1 ปาก จนจบคำซักถามแล้วให้เลื่อนคดีไปซักค้านนัดต่อไปพร้อมกับสืบพยานคู่อีกปากหนึ่งก็เพื่อความเป็นธรรมที่จะไม่ให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีและเพื่อความรวดเร็ว เนื่องจากมีการซักถามในนัดนี้ไว้ก่อนจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปซักถามในนัดหน้า คำสั่งของศาลชั้นต้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ไม่ยอมนำพยานเข้าสืบตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 644/2546
การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เพราะศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาไต่สวนเท่ากับได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคำร้องแล้วว่าจำเลยไม่ใช่คนอนาถา จะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ซึ่งจำเลยจะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย แต่จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดโดยจำเลยอุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพียงอย่างเดียว และขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยต่อไป ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จึงยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะพิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพื่อทำการไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยต่อไปหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37 และ 133 วางหลักไว้ว่าศาลจะต้องทำการนั่งพิจารณาต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี โดยให้ศาลมีคำพิพากษาในวันที่เสร็จสิ้นการพิจารณานั่นเอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและรอฟังคำพิพากษาวันนี้ และในวันนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดี ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นซึ่งจำเลยไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ จำเลยอ้างเหตุในคำร้องว่า จำเลยเพิ่งทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งล่วงเลยเวลาที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์แล้ว ข้ออ้างของจำเลยถือเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วได้ไปติดต่อขอคัดสำนวน กว่าจะคัดได้ก็เป็นเวลา 2 เดือน อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5734/2545
การร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุป่วยเจ็บนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 และ 41 มิได้บังคับว่าผู้ที่อ้างว่าป่วยเจ็บนั้นจะต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดงด้วย จึงอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า ทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บจริงหรือไม่ หากศาลมีความสงสัยว่าทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บจริงหรือไม่ และอาการที่อ้างว่าป่วยเจ็บนั้นร้ายแรงถึงกับไม่สามารถจะมาศาลได้หรือไม่ ศาลก็มีอำนาจไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) หรือจะตั้งเจ้าพนักงานของศาลไปทำการตรวจดูว่าทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บหรือไม่เพียงใดแล้วจึงวินิจฉัยและมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนคดีนั้นตามมาตรา 41 ก็ได้ การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวย่อมแสดงว่าศาลมิได้มีความสงสัยในเรื่องที่ทนายเจ้าหนี้อ้างว่าป่วยเจ็บตามคำร้องจึงรับฟังได้ว่าทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บและไม่สามารถมาศาลได้เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นสมควรให้เลื่อนคดีตามคำร้องของทนายเจ้าหนี้ และยังถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ไม่มีพยานมาสืบ ไม่ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2545
โจทก์ระบุพยานไว้ 30 อันดับ เป็นพยานนำเกือบทั้งหมด เอกสารบางอย่างเห็นชัดว่าน่าจะมิได้มีอยู่ที่โจทก์จะต้องติดตามมาซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร คดีของโจทก์มีทุนทรัพย์สูง โจทก์นำสืบทนายความของโจทก์ไปแล้ว 1 ปาก ยังมิได้อ้างส่งเอกสาร เอกสาร 25 อันดับตามบัญชีระบุพยานเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการสืบพยานบุคคลของโจทก์ 3 ปาก ที่เหลืออยู่ เหตุที่อ้างมาตามคำร้องว่ายังขัดข้องในเรื่องเอกสารซึ่งมีจำนวนมากยังได้มาไม่ครบนั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้โจทก์ยังไม่สามารถสืบพยานบุคคลที่เหลืออยู่ได้ โจทก์เพิ่งจะขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่สองและจำเลยทั้งสี่รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน สมควรที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เลื่อนคดีไปก่อนได้อีกครั้งหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2545
ศาลชั้นต้นกำชับมิให้ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีไว้แล้ว การที่ในนัดสุดท้ายซึ่งเป็นวันสืบพยานจำเลยพร้อมสืบพยานโจทก์ โจทก์มิได้ไปศาล และศาลชั้นต้นขึ้นนั่งพิจารณาคดีสืบพยานจำเลยในเวลา 11 นาฬิกา จนเสร็จโดยถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน แล้วมีคำสั่งให้รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน ต่อมาในเวลาบ่ายทนายโจทก์ได้ไปศาลจึงทราบเหตุและยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์โดยให้เหตุผลว่าจดเวลานัดผิดพลาดเป็นเวลาบ่าย ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาว่ามีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไปหรือไม่ การที่ทนายโจทก์จดเวลานัดผิดพลาด ถือว่าเป็นเหตุผลสมควรที่จะให้โจทก์มีโอกาสนำพยานเข้าสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2545
การที่โจทก์ต้องมาศาลในวันนัดสืบพยาน โจทก์ต้องมาตรงตามเวลานัดด้วยมิใช่ว่าโจทก์จะมาศาลในเวลาใดก็ได้ก่อนสิ้นเวลาทำการของศาล เมื่อศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เวลา 10.30 นาฬิกา เกินเวลานัดไปถึง 1 ชั่วโมง 30 นาทีฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มา โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องจึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความอันเป็นคำสั่งตามบทบัญญัติมาตรา 132(2) ประกอบมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) จึงชอบแล้ว หลังจากนั้นโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนำคดีขึ้นมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปย่อมมีผลเท่ากับการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2545
ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์อ้างว่า ทนายโจทก์ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางกลับจากการทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่เสียกะทันหันและอยู่ไกลร้านซ่อมรถไม่สามารถซ่อมรถได้ทันทนายโจทก์จึงไปที่ศาลจังหวัดฝาง เมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา เพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดฝางในขณะนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 และเป็นอำนาจของศาลจังหวัดฝางที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของทนายโจทก์ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้อง
ศาลจังหวัดฝางมีคำสั่งในคำร้องของทนายโจทก์ว่าจัดการให้ แม้จะไม่ชัดแจ้งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแต่ต้องถือเป็นคำสั่งที่อนุญาตให้เลื่อนคดีไปได้โดยปริยายถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานและศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ดังนั้นที่โจทก์ไม่ไปศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจึงมิอาจถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีก่อนทราบคำสั่งของศาลจังหวัดฝางดังกล่าว จึงเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงต้องถือว่ามีกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในศาลชั้นต้นที่ต้องสั่งเพิกถอนแล้ว เมื่อศาลจังหวัดฝางส่งคำร้องของทนายโจทก์และคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทราบทางโทรสารศาลชั้นต้นจึงชอบที่สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ผิดหลงนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2545
ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้อนุญาตให้ถอนตัวและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในนัดต่อมา โดยทนายโจทก์ลงชื่อทราบคำสั่งและวันนัดสืบพยานโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณา ต้องถือว่าโจทก์ทราบวันนัดสืบพยานโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเช่นนี้ จึงเป็นความผิดของโจทก์และถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ส่วนการที่ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ก็มิใช่คำแถลงที่มีความหมายในทางที่จำเลยประสงค์หรือตั้งใจจะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 เดิม ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะจำหน่ายคดีจากสารบบความได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9743/2544
ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีสองนัดแรกมีสาเหตุมาจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะมาเบิกความจำสถานที่นัดหมายผิดพลาด และจำเวลานัดหมายคลาดเคลื่อนมิใช่เกิดจากทนายโจทก์เพิกเฉย ทอดทิ้งคดี หรือไม่ตระเตรียมพยานมาเบิกความต่อศาลส่วนวันนัดครั้งที่สามเมื่อศาลไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีทนายโจทก์ก็ได้อ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยาน เมื่อเบิกความเสร็จก็ได้พยายามติดต่อกับโจทก์ จนกระทั่งทราบว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะนำเข้าเบิกความอยู่ระหว่าง การตั้งครรภ์และเจ็บป่วยไม่สามารถมาเบิกความในช่วงเช้าได้ จึงขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปก่อน กรณีดังกล่าว นับว่ามีเหตุจำเป็น แม้ทนายโจทก์จะเคยแถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอเลื่อนคดีอีกหากไม่มีพยานมาศาลก็ไม่ติดใจสืบพยานโจทก์อีก ต่อไปก็ตาม ศาลก็ไม่อาจนำคำแถลงดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2544
จำเลยมอบอำนาจให้ ภ. บุตรชายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแทน โดยในใบมอบฉันทะระบุข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดในกรณีที่ผู้รับมอบฉันทะของจำเลยได้ทำการไปนั้นทุกประการ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยโดย ภ. ได้ลงลายมือชื่อทราบกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่แล้ว ถือได้ว่า ภ. เป็นผู้มีสิทธิทำการแทนจำเลยในการขอเลื่อนคดีและกำหนดวันนัด เมื่อ ภ. ได้ทราบวันนัดพิจารณาแล้วจึงถือว่าจำเลยทราบกำหนดวันนัดสืบพยานโดยชอบแล้ว การที่จำเลยอ้างว่าเข้าใจผิดและไม่มีเจตนาที่จะไม่ไปศาลในวันนัดดังกล่าว เป็นเรื่องความเข้าใจผิดโดยมีมูลเหตุมาจากความเข้าใจของจำเลยเอง ถือว่าเป็นการจงใจของจำเลยที่จะไม่ไปศาลตามกำหนดนัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8328/2544
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ โดยไม่คำนึงว่าทนายโจทก์จะว่างมาว่าความให้โจทก์ได้หรือไม่ รวมทั้งมิได้แจ้งวันนัดให้ทนายโจทก์ทราบ ถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้รับมอบอำนาจโจทก์เอง และแสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ไม่เอาใจใส่ในคดีของโจทก์ ทั้งเมื่อนับจากวันที่มีการกำหนดนัดสืบพยานจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวก็เป็นระยะเวลานานถึง 71 วัน หากเกิดเหตุผิดพลาดทำให้ทนายโจทก์นัดซ้อนวันกับศาลอื่น ก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์จะต้องรีบร้องขอเลื่อนคดีนี้เสียแต่เนิ่น ๆ แต่ฝ่ายโจทก์ก็หาได้กระทำไม่ พฤติการณ์ที่ฝ่ายโจทก์มิได้ให้ความสำคัญแก่วันเวลานัดของศาล กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ฝ่ายโจทก์เลื่อนคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2544
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 กำหนดห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและมีข้อยกเว้น 6 กรณี โดยเฉพาะมาตรา 142(6) กำหนดข้อยกเว้นเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ แม้คดีนี้โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงคำให้การของจำเลย การต่อสู้คดีมีการขอเลื่อนคดีหลายครั้งโดยอ้างเหตุว่าจะไปเจรจาตกลงกับโจทก์ จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการตามอ้าง พฤติการณ์ส่อไปในทางไม่มีเหตุสมควรและไม่สุจริตในการสู้ความ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องชอบด้วยบทมาตราดังกล่าว จึงไม่เกินคำขอและเป็นอัตราที่เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7451/2544
ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี เมื่อมีคำร้องขอเลื่อนคดีจะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ว่าคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวมีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตหรือไม่
ศาลชั้นต้นเริ่มพิจารณาคดีนัดแรกโดยให้นัดพร้อมวันที่ 29มกราคม และให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 2 เมษายนแต่ในวันดังกล่าวพยานติดราชการไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนการพิจารณาไปวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งในวันดังกล่าว ส. ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความและยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดแห่งคดี แต่เมื่อ ว. ทนายความที่ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองได้มาศาลและพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อบกพร่องแต่ประการใด ทั้งคดีได้มีการเลื่อนการพิจารณามาประมาณ 5 เดือนแล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นและไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป แม้จำเลยทั้งสองจะได้ยื่นคำร้องขอถอน ว. ออกจากการเป็นทนายความในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหากพิจารณาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะประวิงคดีและรอไว้จนกระทั่ง ว. ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากเสร็จสิ้นจึงได้อนุญาตตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ทั้งนี้เพื่อควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้า ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ 5 มิถุนายน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย

การละเมิดอำนาจศาล

มาตรา ๓๑  ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

(๑) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

(๒) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา ๑๕๖/๑ แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

(๓) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น

(๔) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา ๕๔

(๕) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ หรือมีหมายเรียกตามมาตรา ๒๗๗

มาตรา ๓๒  ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความหรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ ให้ถือว่าได้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้

(๑) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่ามานั้นได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใด ๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผยหรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง

(๒) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดีซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น

ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ
ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้นำวิเคราะห์ศัพท์ทั้งปวงในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ มาใช้บังคับ

มาตรา ๓๓  ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
(ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้นให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้
ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958/2559
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความ และให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเป็นชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำเช่นนั้นในบริเวณศาลอันจะถือว่าเป็นตัวการ แต่ก็ถือเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.อ. มาตรา 17 และ 84

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559
ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาลงแสดงในเฟซบุ๊กมีข้อความที่ไม่เป็นความจริงกล่าวหาว่าศาลดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และไปถ่ายรูปในบริเวณศาลนำมาลงประกอบข้อความเท็จของตนในเฟซบุ๊กว่าศาลเรียกเงิน และมีข้อความลงข่มขู่ศาลว่าจะยิงทำร้าย ขอให้ผู้พิพากษาระวังตัว อันเป็นข้อความที่ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล และเป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่ถูกต้องและเป็นเท็จ แม้ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่เมื่อข้อความส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายรูปบุคคลในบริเวณศาล เพื่อนำไปประกอบข้อความเท็จที่ตนใช้แสดงต่อสาธารณชน ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงข้อความเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในศาล แสดงความเท็จว่าตนถูกศาลกลั่นแกล้งเป็นความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 32 (2) ด้วย อันเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างเจตนา และต่างบทกฎหมาย ชอบที่จะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทั้งสองกรรม.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2557
บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยการไต่สวนและไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ ศาลจึงไม่จำต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องทนายความและตั้งทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลดังเช่นคดีอาญาทั่วไป และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมไม่ได้ออกระเบียบให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่าย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทนายความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2554
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น สำหรับสเปรย์พริกไทยได้ความว่า ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลักจาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่าการผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นขอความร่วมมือไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390 - 7391/2553
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุมีจะเรียก ว. มาสอบถามและหากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจาก ว. โจทก์ร่วมชอบที่จะไปดำเนินคดีต่างหากก่อน ถือได้ว่าศาลชั้นต้นชี้ขาดในเรื่องการละเมิดอำนาจศาลแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2552
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 เป็นนายหน้าให้แก่ผู้ที่มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้น ย่อมจะทราบกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ดีกว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเพียงชาวบ้าน หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 มีความสุจริตใจที่จะช่วยเหลือผู้กล่าวหาเพียงขอค่าตอบแทนจากการช่วยดำเนินการดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะเรียกเอาค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่สูงจนเกินสมควร ทั้งควรที่จะพาผู้กล่าวหาไปติดต่อขอใช้บริการประกันอิสรภาพจากบริษัท ว. ซึ่งก็อยู่ที่ศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 หาได้กระทำไม่ อันมีลักษณะเป็นการปกป้องด้วยเกรงว่าผู้กล่าวหาจะทราบค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ทำให้ผู้กล่าวหาที่ไม่ทราบความจริงต้องยอมจ่ายเงินไปในจำนวนสูงเกินสมควร โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินส่วนต่างหลังจากหักชำระค่าตอบแทนจากการชำระค่าเบี้ยประกันภัยถึง 16,232 บาท ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการให้ค่าตอบแทนจากการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอย่างธรรมดาทั่วไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากผู้มีอรรถคดีและได้กระทำในศาลชั้นต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2552
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 เป็นนายหน้าให้แก่ผู้ที่มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้น ย่อมจะทราบกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ดีกว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเพียงชาวบ้าน หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 มีความสุจริตใจที่จะช่วยเหลือผู้กล่าวหาเพียงขอค่าตอบแทนจากการช่วยดำเนิน การดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะเรียกเอาค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่สูงจนเกินสมควร ทั้งควรที่จะพาผู้กล่าวหาไปติดต่อขอใช้บริการประกันอิสรภาพจากบริษัท ว. ซึ่งก็อยู่ที่ศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 หาได้กระทำไม่ อันมีลักษณะเป็นการปกป้องด้วยเกรงว่าผู้กล่าวหาจะทราบค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ทำให้ผู้กล่าวหาที่ไม่ทราบความจริงต้องยอมจ่ายเงินไปในจำนวนสูงเกินสมควร โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินส่วนต่างหลังจากหักชำระค่าตอบแทนจากการชำระค่าเบี้ยประกันภัยถึง 16,232 บาท ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการให้ค่าตอบแทนจากการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก อย่างธรรมดาทั่วไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากผู้มีอรรถคดีและได้กระทำใน ศาลชั้นต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2551
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งหมดที่ปรากฏต่อศาลแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นอย่างใดจึงให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ดังนั้น ผู้ร้องย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8912/2551
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ประกอบ มาตรา 30 การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดๆ ตามมาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 ประการ คือ ออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำ เป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตาม เที่ยงธรรมและรวดเร็วประการหนึ่ง และออกข้อกำหนดใดๆ โดยสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทาง ประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรประการที่สอง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณ ศาลหรือมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรทั้งสองประการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) ตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ผ.1 นั้นก็ไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ดังนี้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะนำเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงที่คัดลอกสำเนาจากเทปวีดีทัศน์และเทป บันทึกเสียงหมาย ร.35 และ ร.36 ไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เปิดเผยหรือไม่ ก็ไม่ทำให้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

อนึ่ง ปัญหาที่ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2551
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 รับผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลและพากลับจากศาลโดยทราบดีว่าผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลเพื่อเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก โดยไม่ให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก จึงเป็นการร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล อันเข้าลักษณะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งถือว่ากระทำผิด ฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1)

ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า สถานที่ที่เกิดเหตุมิใช่บริเวณศาลเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในภายหลังซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพผิดของผู้ถูกกล่าวที่ 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา

ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า องค์คณะของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย กฎหมายเพราะรายชื่อผู้พิพากษาในองค์คณะพิจารณาคดีและพิพากษาคดีเป็นรายชื่อ ผู้พิพากษาคนละองค์คณะกัน เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ใน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พี่ชายจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ทนายความของจำเลยกระทำการขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลด้วยการพา และบอกให้ผู้กล่าวหาทั้งสองซึ่งมาศาลในวันนัดตามหมายเรียกแล้วกลับบ้าน เพื่อมิให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความเป็นพยานต่อศาล โดยมีเจตนาเพื่อจะช่วยให้จำเลยไม่ต้องรับโทษ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่มีลักษณะเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเรื่องมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่ผู้ถูกกล่วหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ไปพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2550
แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลเพราะมีการติดต่อทาง โทรศัพท์และรับเงินกันที่บ้านของผู้กล่าวหา แต่หลังจากนั้นได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินดังกล่าวในบริเวณศาลหลายครั้งและในที่สุดก็มีการมอบเงินคืนให้แก่กันที่บริเวณโรงรถของศาล ถือได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกันมาจากเรื่องการวิ่งเต้น คดีของศาลอุทธรณ์ แม้ระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าวให้แก่กันจะมีระยะเวลาห่างจากตอนที่รับเงินมา เป็นเวลาถึง 3 ปีเศษ แต่การดำเนินการวิ่งเต้นคดียังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งต้องมีการคืนเงินกัน กระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินดังกล่าวถือเป็นส่วน หนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8912/2551
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ประกอบ มาตรา 30 การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดๆ ตามมาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 ประการ คือ ออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำ เป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตาม เที่ยงธรรมและรวดเร็วประการหนึ่ง และออกข้อกำหนดใดๆ โดยสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทาง ประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรประการที่สอง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณ ศาลหรือมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรทั้งสองประการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) ตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ผ.1 นั้นก็ไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ดังนี้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะนำเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงที่คัดลอกสำเนาจากเทปวีดีทัศน์และเทป บันทึกเสียงหมาย ร.35 และ ร.36 ไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เปิดเผยหรือไม่ ก็ไม่ทำให้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

อนึ่ง ปัญหาที่ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2550
หลังจากที่ผู้กล่าวหาได้ตกลงว่าจ้างผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าจะติดต่อวิ่งเต้นคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ให้และได้ติดต่อ แล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เบื้องบน 200,000 บาท ผู้กล่าวหาตกลงและนัดให้ไปรับมอบเงินที่บ้านของผู้กล่าวหา เมื่อผู้ถูกกล่าวหารับเงินดังกล่าวไปแล้ว ผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ผู้กล่าวหาจึงทวงเงินคืนหลายครั้งเคยมาติดตามทวงคืนในบริเวณศาล 3 ครั้ง แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แต่ได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินในบริเวณศาลและมีการมอบเงินคืนที่บริเวณโรง รถของศาลกระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินถือเป็นส่วน หนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4102/2549
การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นั้น จะต้องเกิดขึ้นในบริเวณศาล การที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีตามหนังสือร้องเรียนมีพฤติการณ์ ละเลยต่อหน้าที่ และด้อยประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี ฟังความโจทก์ข้างเดียว ตัดสินคดีผิดพลาดไม่ยุติธรรมและลงโทษผิดหลักมนุษยชาติกระทำให้ผู้อื่นได้รับ ความเสียหายอย่างมากนั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องเรียนไปยังศาลชั้นต้นหรือได้ทำหนังสือ ร้องเรียนดังกล่าวขึ้นในบริเวณศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีผู้พิพากษา ซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอย่างร้ายแรงโดยปราศจากความเคารพยำเกรงทำให้ เสื่อมเสียต่อสถาบันศาลยุติธรรมและอาจทำให้ผู้พิพากษาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปก็ตามแต่เมื่อการ กระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1715/2548
ป.วิ.พ.มาตรา 30 เป็นเรื่องที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอก ที่อยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดี หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ความผิดมาตรา 31 (1) ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดในตัว ศาลไม่ต้องออกข้อกำหนดก่อน และการที่ผู้ถูกกล่าวหาพูดข่มขู่จะทำอันตรายต่อชีวิตผู้กล่าวหาก่อนที่ผู้ กล่าวหาจะเข้าเบิกความเป็นพยานในคดีอาญา โดยข่มขู่ในบริเวณศาลก็ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเพียง พอที่จะถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31 (1) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1715/2548
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 30 เป็นเรื่องที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดี เป็นความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และศาลจะออกข้อกำหนดก่อนโดยห้ามมิให้ผู้ใดก่อความรำคาญหรือประวิงคดี ขัดขวางการพิจารณาคดีของศาลหากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามถือว่าบุคคลนั้นมีความผิด ฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ความผิดมาตรา 31 (1) ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดในตัวศาลไม่ต้องออกข้อกำหนด ก่อน และไม่จำต้องกระทำต่อหน้าศาล หากมีการกระทำภายในบริเวณศาลก็ถือว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเพียง พอที่จะถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 33 (1) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4102/2549
การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นั้น จะต้องเกิดขึ้นในบริเวณศาล การที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีตามหนังสือร้องเรียนมีพฤติการณ์ละเลยต่อหน้าที่ และด้อยประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี ฟังความโจทก์ข้างเดียว ตัดสินคดีผิดพลาดไม่ยุติธรรมและลงโทษผิดหลักมนุษยชาติกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอย่างมากนั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องเรียนไปยังศาลชั้นต้นหรือได้ทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าวขึ้นในบริเวณศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอย่างร้ายแรงโดยปราศจากความเคารพยำเกรงทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันศาลยุติธรรมและอาจทำให้ผู้พิพากษาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปก็ตามแต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2546
พระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ มาตรา 11(7) บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) และมาตรา 33 ให้ลงโทษจำคุกและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นพนักงานอัยการจะฎีกาได้เฉพาะในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้นแต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษไว้ มิใช่เป็นการปล่อยผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ มาตรา 11(7) พนักงานอัยการจึงฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7920/2544
แม้การสับเปลี่ยนผู้ต้องหาในคดีนี้จะกระทำในชั้นสอบสวนก่อนมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นเหตุขัดขวางมิให้การดำเนินคดีในศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและถูกต้อง เพราะทำให้มีการดำเนินคดีอาญาในศาลต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์โดยผู้กระทำความผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคบคิดกันจัดให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน โดยมีเจตนาให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งไม่ได้กระทำความผิดอาญาถูกดำเนินคดีในศาลแทนนาย อ. และเพื่อให้นาย อ. รอดพ้นจากการถูกลงโทษในความผิดที่ได้กระทำ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในศาล อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้ว เมื่อความปรากฏแก่ศาลตามคำแถลงของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกระทำความผิดดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องทำการไต่สวนข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2542
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเรียกและรับเงินจากผู้กล่าวหาและจำเลย เพื่อนำไปวิ่งเต้นพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐาน โดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษา เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล ดังนั้น แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจะมีจุดมุ่งหมาย ให้เกิดผลแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล อันอาจเกิด ผลเสียหายแก่คู่ความและประชาชน สมควรอย่างยิ่งที่จะลงโทษ ให้หลาบ จำก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง มิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลแล้ว จะอาศัยแต่ผลจากการกระทำที่ อาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่รูปคดีมาชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหา ทั้งสองประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลไม่ได้ เมื่อฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมิได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ในบริเวณศาลอันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อม พิพากษาให้มีผลไปถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977/2540
การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถือไม้ไผ่ยาวขนาด 1 เมตรกว้าง 2 เซนติเมตร เข้าไปในห้องควบคุมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ในบริเวณศาลชั้นต้นแล้วใช้ไม้ไผ่ดังกล่าวตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2จำนวน 3 ที และเงื้อไม้ไผ่จะตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ล้มลงและได้รับบาดเจ็บ แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง ได้ตรวจในถุงอาหารพบหลอดบรรจุเฮโรอีน 1 หลอด ที่ญาติส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งกำลังจะส่งต่อให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ตามแต่ห้องควบคุมของศาลมีขนาดไม่กว้างมากนัก อีกทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจคอยควบคุมความสงบเรียบร้อยอยู่ด้วย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3จึงไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องถือไม้ไผ่เข้าไปในห้องควบคุมผู้ต้องขังโดยเกรงว่าจะถูกทำร้ายตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3ฎีกา ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ใช้ไม้ไผ่ตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึง 3 ทีและเงื้อไม้ไผ่จะตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อีกโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายได้ จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2539
ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งมีมูลบางข้อหายกฟ้องบางข้อหาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองฟังโจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วจำเลยที่2ออกไปยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวศาลตรวจพบว่ามิได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การจำเลยและนัดสืบพยานโจทก์ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาจึงเรียกโจทก์และจำเลยทั้งสองกลับเข้าห้องพิจารณาแล้วแจ้งเหตุดังกล่าวให้ทราบและทำรายงานกระบวนพิจารณาฉบับใหม่ขึ้นพร้อมทั้งแจ้งขอทำลายรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกด้วยโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านดังนั้นการที่จำเลยที่2กล่าวหาศาลด้วยข้อความที่ไม่เป็นความจริงว่าศาลสั่งยกฟ้องทุกข้อหาสั่งขังจำเลยทั้งสองไม่ได้และโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกอันเป็นการดูหมิ่นศาลและกล่าวเสียดสีศาลว่าหากให้พิจารณาคดีต่อไปเกรงว่าจะทำลายเอกสารที่มีความสำคัญถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาลศาลมีอำนาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลโดยไม่ต้องฟ้องจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือต้องเปิดโอกาสให้จำเลยที่2แก้ข้อกล่าวหาหรือให้โอกาสตั้งทนายถามค้าน คำสั่งศาลเรื่องละเมิดอำนาจศาลกฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของคำสั่งไว้เมื่อคำสั่งศาลดังกล่าวต่อเนื่องกับการไต่สวนตามรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งมีชื่อศาลลงวันที่30มีนาคม2537จึงเป็นคำสั่งที่มีชื่อศาลและวันเดือนปีชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา186(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2537
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลอุทธรณ์มิได้ยกเลิกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30,31 และมาตรา 33คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นต่อไปได้ เพราะโจทก์ได้คัดค้านไว้แล้วขอให้ยกเลิกข้อกำหนดของศาลชั้นต้นเสียนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลออกข้อกำหนดก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดมิให้โจทก์ลุกขึ้นแถลงการณ์ใด ๆ ในขณะที่ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาอยู่อันจะเป็นการขัดขวางทำให้กระบวนพิจารณาไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็ว เหตุที่ออกข้อกำหนดเพราะโจทก์ได้กระทำหลายครั้งแล้วเมื่อศาลชั้นต้นออกข้อกำหนด โจทก์มิได้นำพาต่อข้อกำหนดของศาลยังลุกขึ้นแถลงโดยศาลมิได้อนุญาต และขอให้ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาอีก โจทก์ย่อมทราบถึงการกระทำของตนดีว่าเป็นการขัดขวางทำให้กระบวนพิจารณาไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็วย่อมเป็นการละเมิดอำนาจศาลจะอ้างว่ากระทำไปโดยไม่รู้ว่ามีความผิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2535
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาจึงเท่ากับให้ยกคำร้องของทนายจำเลยที่ขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จำเลยหรือทนายจำเลยย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2535
ข้อความในฎีกาของโจทก์ทั้งสองและสำเนาคำร้องเรียนเอกสารท้ายฎีกาซึ่งแนบมากับฎีกาอันเป็นส่วนหนึ่งของฎีกา ได้ระบุชื่อผู้พิพากษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งด้วย มีลักษณะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีศาล เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันลงนามเป็นผู้ฎีกาและผู้เรียงและผู้ถูกกล่าวหาได้นำมายื่นต่อศาลชั้นต้น การกระทำของโจทก์ทั้งสองและผู้ถูกกล่าวหาย่อมเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2533
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน โดย ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ขอคัดหมายกักขังจำเลย และเป็นผู้ประกันตัวจำเลยไปในระหว่างอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาย่อมทราบดีว่าศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานใด การที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอถอน หลักประกันและรับหลักประกันคืนโดยมิได้นำตัวจำเลยส่งมอบต่อศาล และศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำพิพากษา อ้างว่าศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี โทษจำรอ ผู้ถูกกล่าวหาหมดข้อผูกพันตามสัญญาประกันอันเป็นเท็จ จึงเป็นการประพฤติตน ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลล่างมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษผู้ถูกกล่าวหาศาลฎีกาย่อมปรับบทเสียให้ถูกต้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2533
โจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำร้องซึ่งมีข้อความเสียดสีศาลย่อมตระหนักในข้อความตามคำร้องเป็นอย่างดี จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในคำร้อง การที่ทนายความของโจทก์ไม่ได้ตรวจคำร้องก่อนที่โจทก์จะนำมายื่นต่อศาลไม่เป็นเหตุที่ยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดและผิดหลง การที่โจทก์ขอถอนคำร้องซึ่งมีข้อความเสียดสีศาล หาทำให้ข้อความตามคำร้องที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลหมดไปโดยการถอนคำร้องไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) ไม่ได้บัญญัติว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเตือนแล้วจึงจะถือว่ามีเจตนาละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695 - 2696/2527
ทนายความแถลงต่อศาลว่า บ.จะอยู่กับตัวความหรือไม่ไม่ทราบและจะนำตัว บ.มาศาลได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แม้จะเป็นการแถลงเพื่อผลประโยชน์ของตัวความซึ่งเป็นคู่ความในคดีก็จริงอยู่แต่ก็จะถือว่าการแถลงดังกล่าวเป็นการกระทำของตัวความต่อศาลเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ เพราะการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษทางอาญาจึงต้องพิเคราะห์เจตนาขอบงผู้ที่จะต้องรับโทษประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่ทนายแถลงต่อศาลดังกล่าวตัวความมิได้อยู่ร่วมรู้เห็นในห้องพิจารณาด้วยโดยมิได้มาศาลในวันนั้นย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ทนายของตนได้แถลงต่อศาลว่าอย่างไรจึงถือว่าตัวความแถลงข้อความดังกล่าวอันเป็นเท็จในการพิจารณาของศาล ซึ่งจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2526
ในคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวมีลายมือชื่อ ส. ในช่องผู้ขอประกันซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อปลอมและมีลายมือชื่อจำเลย พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยรู้เห็นในการปลอมลายมือชื่อ ส. ในช่องผู้ขอประกันแล้วให้นำมายื่นต่อศาลชั้นต้นและแถลงเท็จต่อศาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31 และมาตรา 33

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดต่อศาล ถ้าได้กระทำต่อหน้าศาล ข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดก็จะปรากฏต่อศาลแล้วศาลย่อมลงโทษได้ทันที แต่ถ้ามิได้กระทำต่อหน้าศาลหรือศาลยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลนั้นจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ศาลก็ชอบที่จะไต่สวนหาความจริงในภายหลังได้

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป การที่ศาลชั้นต้นบันทึกถ้อยคำของ ส.ไว้ในแบบพิมพ์คำให้การโดยส. ได้ปฏิญาณหรือสาบานตนแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112แม้จะมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย ก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2525
การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ถึง มาตรา 33นั้น หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใด ก็เป็นอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีนั้นที่จะใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าว

การที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดอุดรธานี)ลงโทษผู้ขอประกันฐานละเมิดอำนาจศาลในการพิจารณาคดี ย่อมเป็นการลงโทษในกรณีที่ผู้ขอประกันละเมิดอำนาจศาลทหาร ไม่ใช่ละเมิดอำนาจศาลพลเรือน คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งของศาลทหาร ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับอุทธรณ์ของผู้ขอประกันไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2522
ก. นั่งอยู่กับจำเลยในศาล ศาลอ่านคำพยานโจทก์ให้พยานฟังตามที่ศาลจดไว้ว่า ร้านอยู่ห่างกัน 20 วา ทนายโจทก์และพยานแถลงว่าที่ถูกเป็น 20 ห้อง ไม่ใช่ 20 วา ก.ลุกขึ้นพูดว่า "20 วา ไม่ใช่ 20 คูหาเพราะได้จดไว้" ศาลกำชับว่าคนนอกคดีไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นก. ก็ไม่ขัดขืนอย่างไร ดังนี้ ยังไม่ถือเป็นประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ไม่เป็นละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2520
โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยแจ้งต่อศาลและตำรวจว่าโจทก์ยังไม่ออกตามคำสั่งศาล ศาลจึงออกหมายจับ และตำรวจจับโจทก์ ดังนี้ เป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่งไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,173 และ 174

การที่โจทก์ไม่ออกจากที่พิพาทตามคำสั่งศาล ไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2520
การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วเท่านั้น

ท.เรียกเอาเงินจากจำเลยและคู่ความคดีอื่นโดยอ้างว่าเป็นค่าเขียนคำร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ ท. เข้ามาในบริเวณศาลในวันเปิดทำการซึ่งรวมทั้งวันอื่น ๆ ต่อมาไม่ว่ากรณีใด ๆ จึงเป็นการเกินเลยบทบัญญัติมาตราดังกล่าวและไม่ชอบ ดังนั้น ต่อมา ท. มีเหตุจำเป็นเข้ามาในบริเวณศาลในขณะที่ศาลเปิดทำการ อ้างว่าเป็นเพื่อน ส.เพื่อฟังศาลตัดสินเรื่องบุตรชายส. ถูกฟ้องกับ ช.ทนายความให้นำเงินมาให้ที่ศาลท. มิได้เข้ามาในบริเวณศาลเพื่อสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนการกระทำของท. หาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2511
ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นความผิดต่อศาล ศาลย่อมดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนได้เองตามที่เห็นสมควร ไม่ว่าพยานหลักฐานเหล่านั้นฝ่ายใดจะได้อ้างหรือไม่ สำหรับกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลได้กระทำต่อหน้าศาล ย่อมถือได้ว่าศาลได้ทราบข้อเท็จจริงนั้นจากพยานหลักฐานที่ปรากฏแก่ศาลเองแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไปได้ทีเดียว แต่ในกรณีที่การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลจำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อนเพียงแต่สอบถามปากคำพยานโดยไม่ปรากฏว่าพยานเหล่านั้นได้สาบานตน หรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112ถ้อยคำพยานเหล่านั้นจึงฟังเป็นความจริงยังไม่ได้ (อ้าง ฎีกาที่ 824/2492)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2510
ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(3) จะต้องเป็นการหลีกเลี่ยงไม่รับหมายของศาล (อ้างฎีกาที่ 102/2507)

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเจ้าพนักงานที่ไปส่งหมายเรียกของศาลได้พบจำเลยและแจ้งให้จำเลยทราบว่าจะส่งหมายให้แล้ว จำเลยกลับกินข้าวเสียและแกล้งพูดโยกโย้ อันเป็นการแสดงว่าจำเลยแกล้งถ่วงเวลา แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้หลบหลีกไปเสียให้พ้น คงอยู่บนเรือนของจำเลยและได้เซ็นรับหมายเรียกของศาลไว้ เช่นนี้คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้หลีกเลี่ยงไม่รับหมายของศาล จึงไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2507
ทนายจำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แนะนำไม่ให้จำเลยมาศาลเพื่อฟังคำสั่งศาลและเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้จำเลยหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับหมายต่างๆ ของศาลศาลชั้นต้นจึงได้ทำการไต่สวนในข้อหาว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และได้มีคำสั่งให้ทนายจำเลยมาศาลด้วยตนเองทุกนัดที่มีการนัดไต่สวนกรณีเช่นนี้ ทนายจำเลยไม่มีฐานะเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 19 ฉะนั้น การที่ทนายจำเลยไม่มาศาลตามคำสั่งศาล จึงไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31(5)และ มาตรา 19

เมื่อปรากฏต่อศาลว่า ผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาล หรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใดศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่คู่ความพิพาทกัน มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่า ทนายจำเลยกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแต่ศาลยังมิได้ลงโทษทนายจำเลยศาลยังได้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับเรื่องละเมิดอำนาจศาลโดยเฉพาะอีก และให้โอกาสทนายจำเลยที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบแสดงต่อศาลครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยก็ไม่มาศาล และไม่แจ้งเหตุขัดข้องอย่างไร แม้ภายหลังที่ศาลสั่งลงโทษทนายจำเลยแล้ว ทนายจำเลยก็มิได้แจ้งเหตุขัดข้องอย่างไรต่อศาลซึ่งแสดงว่าทนายจำเลยจงใจไม่อ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบ และหลบเลี่ยงการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในเรื่องละเมิดอำนาจศาลดังนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องทนายจำเลยละเมิดอำนาจศาลมาชอบแล้ว

เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังได้ว่า ทนายจำเลยเป็นผู้ยุยงเสี้ยมสอนให้ตัวความหลบเลี่ยงไม่รับหมายของศาลตลอดมาการกระทำของทนายจำเลยย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31(3)(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2507)

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งพนักงานอัยการฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2503
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวน ศาลก็ย่อมฟังข้อเท็จจริงได้จากหลักฐานและคำพยานที่ปรากฏมีอยู่ในสำนวนประกอบการวินิจฉัยได้ทั้งหมดไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้อ้างหรือนำมาสืบ และผู้ถูกหาว่าละเมิดอำนาจศาลก็มีโอกาสซักค้านพยานนั้นได้อยู่แล้ว ศาลย่อมฟังลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

โจทก์ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทำร้ายพยานโจทก์ข้างฝานอกห้องพิจารณาบนศาล ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าพยานโจทก์ทำร้ายผู้ร้องฝ่ายเดียว ต่างฝ่ายต่างขอให้ลงโทษอีกฝ่ายในฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่า ผู้ร้องทำร้ายพยานโจทก์ ลงโทษผู้ร้องข้างเดียวฐานละเมิดอำนาจศาล จำคุก 4 เดือน เช่นนี้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยเพราะผู้ร้อง ไม่ใช่ผู้เสียหายในส่วนการละเมิดอำนาจศาลของพยานโจทก์ดังกล่าวนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2497
พกปืนบรรจุกระสุนพร้อมเข้าไปในศาล แม้จะอยู่ภายในเสื้อปกปิด ก็แสดงว่าไม่มีการคารวะต่อศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาล