Pages

การอุทธรณ์

ลักษณะ ๑

อุทธรณ์


มาตรา ๒๒๓ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๓๘, ๑๖๘, ๑๘๘ และ ๒๒๒ และในลักษณะนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด


มาตรา ๒๒๓ ทวิ๒๒๙ (ยกเลิก)


มาตรา ๒๒๔ ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้น

 

อุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี


บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา


การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง


มาตรา ๒๒๕ ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย


ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2562

เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทของ ก. คือ บุตรทั้ง 9 คน รวมทั้งโจทก์และบิดาจำเลย ดังนั้น บิดาจำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ใน 9 ส่วน และมีสิทธิยกส่วนของตนให้แก่จำเลยได้ และเมื่อจำเลยมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ส่วน จึงเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิใช้สอยที่ดินมรดกพิพาท ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องและนำสืบว่า การที่จำเลยสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินมรดกพิพาทเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


การที่ศาลล่างทั้งสองให้ทายาทของ ก. อื่นนอกจากโจทก์อีก 7 คน ที่ไม่ได้ฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีนี้หรือได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน ใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ดินมรดกพิพาท และเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน และได้รับค่าเสียหายจากจำเลยด้วย จึงเป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนทายาทอื่นในส่วนนี้ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2562

แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้


แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก


เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5


จำเลยทั้งหกไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3


ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฉ้อฉลโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำได้นั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)


การตีความหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องโจทก์ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีสิทธิฎีกาได้


โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้พิพากษาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะและขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 200 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2562

จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับ ฉ. และได้โทรศัพท์ขอบคุณ ฉ. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน


เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469


การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม


อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2562

คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223


การที่โจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "may" ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2562

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยมิได้กำหนดว่าคดีของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์และเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามราคาที่ดินพิพาท จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา รวมทั้งมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมา ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบและโจทก์สามารถอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือให้ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2562

แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังนั้น คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42


สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข "invoice back" ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย


ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ นั้น ปรากฏว่าเงินดังกล่าวเป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ อันเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2562

แม้ฟ้องโจทก์ระบุชื่อโจทก์ว่า ฉ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วซึ่งไม่มีสภาพบุคคล ที่ถูกต้องระบุชื่อคู่ความว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โจทก์ก็ตาม แต่การบรรยายฟ้องเมื่ออ่านแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งการระบุชื่อคู่ความโดยนำชื่อ ฉ. ขึ้นก่อนก็ไม่ได้ทำให้จำเลยไม่เข้าใจหรือหลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับ ล. กรณีจึงเป็นการบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง


ปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ มิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องโดยตรง จำเลยจึงต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่จำเลยยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว เนื่องจากมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง


คำฟ้องโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิ์โดยให้การต่อสู้ว่า ฉ. มิได้จดทะเบียนจำนอง แต่ได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ย่อมทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์


โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินไถ่ถอนจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่ในสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงต้องชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตามสัญญา


ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี การที่โจทก์นำสืบเรื่องขอไถ่ถอนจำนองว่ามีการโทรศัพท์แจ้งจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแสดงเจตนาไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยวันใด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาจะชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลย โจทก์จึงต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ยังต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์เป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้จากโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยผู้ผิดนัดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2562

ราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินในสำนวนเป็นราคาที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิใช่ราคาที่แท้จริงของที่ดินพิพาท ราคาประเมินจึงมิใช่ทุนทรัพย์ที่แท้จริงในคดี เว้นแต่คู่ความจะรับรองและให้ใช้ราคาประเมินดังกล่าวเป็นทุนทรัพย์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเนื้อที่ 2 ตารางวาเศษ ราคา 100,000 บาท ซึ่งโจทก์ขอถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ โดยเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ดังกล่าว และในชั้นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นก็เรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ 100,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินว่ามีราคาเพียง 24,800 บาท แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเห็นว่าคดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2562

แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเพิกถอนนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่โจทก์ระบุคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ว่า หากจำเลยทั้งสิบเพิกเฉยให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,000,000,000 บาท และค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000,000 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดตามคำบังคับ ดังนั้นในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 2,000,000,000 บาท เป็นการกำหนดจำนวนค่าเสียหายแล้ว จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนค่าเสียหาย 2,000,000,000 บาท มิใช่ค่าเสียหายอนาคตที่กำหนดให้ชำระเป็นระยะเวลาในอนาคต คดีโจทก์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2561

โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7 ไม่ใช่ข้อกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ร. เพราะด้วยเหตุว่าพินัยกรรมเขียนไว้ให้มีผลเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายอันเป็นการกำหนด การเผื่อตายของโจทก์ที่ 1 และข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7.2 และ 1.7.3 ไม่ระบุถึงตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรมที่ชัดเจน ข้อกำหนดพินัยกรรมส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทข้อ 1.6 ที่ระบุว่าให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยได้ให้ค่าตอบแทนตามสมควร ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ชัดเจนว่าเท่าใด จึงไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5694 - 5702/2561

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


การพิจารณาว่าจำเลยต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องไว้หรือไม่ อย่างไร แม้โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 กรรมการผู้จัดการจำเลยมีหนังสือถึงประธานกรรมการดำเนินการของจำเลยว่าสมควรปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของจำเลยเข้าสู่ฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาที่ได้ปรับปรุงใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติแล้ว เนื่องด้วยจำเลยได้ยึดหลักเกณฑ์และฐานเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาใช้โดยอนุโลม จึงเห็นสมควรปรับเงินเดือนใหม่และให้มีการตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และจำเลยมีคำสั่งที่ 3/2537 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ว่าโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานจำเลยได้ถือบังคับใช้โครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงมีคำสั่งปรับอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่จำเลยตามโครงสร้างเงินเดือนที่ทางรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจในปี 2537 และให้มีผลย้อนหลังตกเบิกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 เป็นต้นไป ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2550 - 51 ครั้งที่ 1/2552 - 53 และครั้งที่ 7/2552 - 53 มีมติว่าให้รอองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เจ้าหน้าที่จำเลยเหมือนกัน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 4/2555 - 56 มีมติว่าองค์การค้าของ สกสค. มีนโยบายปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยมีแนวทางปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยเช่นกัน จึงให้จัดทำบัญชีเงินเดือนแนบท้ายมาด้วย ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 6/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 โดยคำนวณตามที่องค์การค้าของ สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. และในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตามบัญชีปรับอัตราเงินเดือน - ฐานเงินเดือน ตามเสนอ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ปัจจุบันองค์การค้าของคุรุสภาได้โอนกิจการ เงินทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยและโจทก์ทั้งเก้าดังกล่าวต่างแสดงออกยินยอมตกลงให้ยึดถืออัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างโดยปริยาย ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลบังคับได้


แม้ในคดีที่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ สกสค. ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา (ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นองค์การค้าของ สกสค.) ซึ่ง สกสค. ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยคงมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะเรื่องอัตราค่าจ้างโดยตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่จำเลย ซึ่งหาก สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เช่นกัน มิได้มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยในวันเวลาใดที่แน่นอนและมิได้ตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีอันจะมีผลให้จำเลยต้องปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยย้อนหลังไปในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ ทั้งการปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก สกสค. โดยเฉพาะ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยมีมติให้ปรับเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งเก้าในอัตราเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้า สกสค. โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 และไม่ปรากฏว่าวันที่มีผลบังคับไม่เหมาะสม การปรับเงินเดือนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งเก้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2561

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อ ร. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวน และเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขอลาออกเพราะถูก ร. ข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


ป.พ.พ. มาตรา 386 ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานด้วย การที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลามาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ แต่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2561

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นการขัดต่อกฎหมาย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้จ่ายค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดกรณีร้ายแรง ดังนั้นประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไปว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด เมื่อศาลแรงงานภาค 1 รับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลแรงงานภาค 1 ชอบที่จะยกฟ้องเพื่อให้โจทก์กับจำเลยไปดำเนินการต่อไปดังเช่นลูกจ้างทั่วไป การที่ศาลแรงงานภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้องก็เป็นการพิจารณาพิพากษาเกินเลยไปกว่าประเด็นแห่งคดี แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์มิใช่ความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และเมื่อโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินภายหลังเลิกจ้างหรือไม่เพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการว่ากล่าวกันต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2561

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้อง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในวันนัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้โจทก์นำสืบพยานเพิ่มเติม ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากโจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงหรือผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2561

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" แต่มาตรา 6 ก็บัญญัติต่อไปว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง


ในการยื่นคำให้การ จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2921/2560

จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพเนื่องจากประสงค์จะใช้หนี้เงินกู้ยืมแก่ผู้เสียหาย ความจริงจำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายแทนบุคคลอื่น ส่วนโฉนดที่ดินที่จำเลยมอบให้ผู้เสียหายมิใช่การให้หลักประกันในการจำนอง จำนำ หรือบุริมสิทธิ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังตามฟ้องว่า จำเลยหลอกลวง ก. ผู้เสียหาย โดยนำโฉนดที่ดินที่ถูกยกเลิกเนื่องจากจำเลยได้ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับใหม่และนำไปจดทะเบียนขายฝากแก่ผู้อื่นแล้ว ส่งมอบให้ผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงิน 510,000 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2560

ฟ้องแย้งของจำเลยขอห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการถือครองที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่จำเลย ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับตามกฎหมาย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีสภาพเป็นเพียงคำให้การ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอ้างเหตุมูลละเมิดเนื่องจากถูกโจทก์ฟ้อง เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง


โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินตารางวาละ 300 บาท คิดเป็นทุนทรัพย์พิพาท 21,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2560

คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 52927 ของโจทก์ และขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ของโจทก์ที่โจทก์เพิ่งซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินมาโดเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยอย่างไรและโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ จึงรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ด้วย โดยโจทก์ไม่จำต้องโต้แย้งคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ดังกล่าวอีก เพราะถือว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับที่โจทก์ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10809/2559

ข้อความในพินัยกรรมส่วนที่เพิ่มเติมตอนท้ายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไม่สมบูรณ์ แต่ไม่มีผลกระทบถึงพินัยกรรมทั้งฉบับ ข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับ เมื่อพิเคราะห์ข้อความส่วนที่ยังมีผลใช้บังคับได้ ย่อมเห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมได้โดยชัดแจ้งว่า ต้องการยกทรัพย์สินของผู้ตายให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ข้อความในส่วนอื่นในพินัยกรรมที่ระบุทรัพย์สินเป็นข้อๆ เป็นเพียงส่วนประกอบให้เห็นว่า ผู้ตายมีทรัพย์สินใดบ้าง หรือมีทรัพย์สินที่ผู้ตายจำได้ในขณะที่กำลังเขียนพินัยกรรมเท่านั้น ทรัพย์สินที่ผู้ตายเขียนระบุเพิ่มเติมตอนท้ายโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ตายเพิ่งระลึกนึกได้ว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของผู้ตายที่ต้องการยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลย คดีฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดให้แก่จำเลย ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 ดังนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดจึงถูกตัดโดยผลของพินัยกรรมทำให้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย


แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความได้สละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เพียงใด ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งกำหนดให้ ส. เป็นผู้รวบรวมทรัพย์มรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่า ๆ กัน เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10657/2559

การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับจะระบุชื่อว่า "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และ ตามข้อ 1 ของสัญญาฉบับที่ 1 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้... 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)... 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T."... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet Smart English"...ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาฉบับที่ 2 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว... 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T"... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet"... ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า..." ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์" แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ ย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ในข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า "เครื่องหมายการค้า" เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ในสัญญาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173


ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้


แม้จะมีการทำซ้ำแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 1" จำนวน 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 50 หน้า และแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 2" จำนวน 4 หน้า จากทั้งหมด 50 หน้า ให้แก่นักเรียนจำนวนประมาณ 20 ถึง 30 คน แต่ในส่วนที่ทำซ้ำดังกล่าวเป็นโจทย์ฝึกทักษะด้วยระบบลูกคิดโดยในแต่ละหน้าประกอบด้วยโจทย์หลายข้อ ซึ่งโจทย์แต่ละข้อผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ในข้อนั้น ๆ ดังนี้ ในทุก ๆ หน้า จึงเป็นส่วนสาระสำคัญของแบบเรียนดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 6.1 และข้อ 8.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระบุว่า ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และข้อ 6.3 และข้อ 8.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้ กับทั้งข้อ 6.18 และข้อ 8.16 ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น แสดงว่าจำเลยจะต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้โดยต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทำซ้ำตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยอ้างว่าทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกทักษะจึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตตามสัญญา โดยจำเลยประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อหากำไร แม้จะเป็นการทำซ้ำโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอน แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (6) นอกจากนี้โจทก์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนให้แก่นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์แม้เพียงบางส่วนโดยมิได้ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยไม่จำต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์ ย่อมเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนของโจทก์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)


เมื่อเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย กับสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 แล้วมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ที่มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้กับคู่สัญญาทุกราย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคสาม (3) ที่บัญญัติว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่า ที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขนาดว่าหากมีข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงที่เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาในข้อ 6 และข้อ 8 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิให้จำเลยผู้รับอนุญาตกระทำสิ่งใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ผู้อนุญาต ให้จำเลยผู้รับอนุญาตตกแต่งสถานประกอบการ ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามแบบของโจทก์ผู้อนุญาต และให้จำเลยผู้รับอนุญาตกำหนดจำนวนนักเรียนและวันเปิดปิดโรงเรียนตามนโยบายของโจทก์ผู้อนุญาต จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาให้โจทก์ผู้อนุญาตสามารถควบคุมรูปแบบของกิจการและคุณภาพของการเรียนการสอนตามหนังสือตำราเรียนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนของจำเลยให้เป็นไปในรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาได้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ย่อมใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาได้


การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ มาใช้บังคับกับการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังนั้น การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น"


เมื่อโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมีมูลหนี้อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่ต้องชำระให้แก่กันและกันเป็นเงินอย่างเดียวกันและหนี้เงินที่โจทก์และจำเลยต้องชำระให้แก่กันและกันนั้นถึงกำหนดชำระแล้วด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ดังนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 725,148 บาท มาหักกลบลบกันกับหนี้เงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 307,274 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 417,874 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559

โจทก์ฎีกาประเด็นขอให้เพิกถอนข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเรื่องที่โจทก์ตกลงจะให้ค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องในเรื่องค่าเลี้ยงชีพเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 และไม่รับวินิจฉัยนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เป็นการฟ้องตั้งสิทธิ อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และ 248 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247


ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520,1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617 - 6619/2559

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14721/2558

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตราจองจากการรับมรดกตามพินัยกรรมของ ว. ขณะโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองเข้าไปบุกรุกที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิหรือชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากเดิมที่ดินพิพาทเป็นของ จ. บิดาของจำเลยที่ 2 เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ย. มารดาจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพิพาทให้ ว. ซึ่งมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกโดยชอบ เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินมาจาก ว. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีข้อต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดที่จะแสดงว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยพินัยกรรมจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และกรณีเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14296/2558

คดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติข้อยกเว้นให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณีซึ่งการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้นั้นมาตรา 224 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียได้ตามมาตรา 242 (1) ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์มาโดยไม่ชอบนั้น มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 (1) อันจะเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งใหม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12502/2558

ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1548 แล้ว ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของทั้งโจทก์และจำเลย ตามมาตรา 1546 และ 1547


ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาว่าผู้เยาว์สมควรจะอยู่กับโจทก์หรือจำเลย เพราะข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์เพิ่งจะปรากฏขึ้นในชั้นฎีกา แต่เมื่อคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 และ 248 ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนเพียงพอที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยไปได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลล่างวินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเลย


โจทก์และจำเลยต่างเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ มีอำนาจปกครองและเลี้ยงดูผู้เยาว์ด้วยกัน แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้อยู่ด้วยกัน กรณีจึงพิจารณาความเหมาะสมว่าผู้เยาว์อยู่กับผู้ใดจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์สูงสุด เมื่อโจทก์เพิ่งจะประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนจำเลยทำงานมีความมั่นคง ทั้งผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยมาโดยตลอด ผู้เยาว์เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน มีเพื่อน มีความอบอุ่นอยู่แล้ว ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการดูแลของจำเลย การจะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ เป็นการให้ผู้เยาว์ไปเผชิญสภาพแวดล้อมใหม่ หาโรงเรียนใหม่ เข้าสู่สังคมใหม่ ที่ไม่ปรากฏว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์หรือผู้เยาว์จะได้รับประโยชน์หรือไม่ กรณีไม่มีความเหมาะสมที่จะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ การที่ผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยจึงมีความเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ ให้จำเลยเปิดโอกาสให้โจทก์ได้พบผู้เยาว์ได้ตามสมควร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11102/2558

คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ราคา 50,000 บาท และวินิจฉัยว่าจำเลยใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากไม่ชอบเนื่องจากก่อนนำเงินสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์จำเลยไม่เคยมาพบโจทก์เพื่อขอชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของโจทก์ และพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายฝาก กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงย่อมฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ในราคา 50,000 บาท จึงถือได้ว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งมีเพียง 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ 51,000 บาท โดยนำเงินที่จำเลยวางเป็นค่าใช้จ่ายการวางทรัพย์ 1,000 บาท มารวมเป็นทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากโดยชอบเพราะก่อนที่จำเลยจะนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์นั้น จำเลยได้พบโจทก์และขอให้โจทก์รับสินไถ่แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) ปัญหาตามฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9800/2558

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยได้เช่าจากโจทก์ที่ 2 ในอัตราค่าเช่าปีละ 200 บาท กับเรียกค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ แม้โจทก์ที่ 2 จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 10,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 100 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


จำเลยร่วมไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยร่วมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9185/2558

สิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้นต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 40,000 บาท จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมสูงเกินสมควร จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้ในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ และถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7165/2558

แม้คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยและคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 312/2548 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ก็ไม่มีผลทำให้คดีนี้ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและคู่ความยังโต้แย้งกันอยู่ว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายใด ต้องรับฟังข้อเท็จจริงยุติไปตามคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2558

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 2 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 50,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำหรับคดีของโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่ชอบ หาก่อให้เกิดสิทธิฎีกาแก่จำเลยทั้งสองไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247


แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 85,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพิ่มอีก 100,000 บาท เท่ากับจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำนวน 185,480.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอนาคตดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง


โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาสำหรับคดีของโจทก์ทั้งสองเกินกว่า 50,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ ก็เป็นเรื่องสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งสองหามีผลย้อนไปถึงสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ซึ่งต้องห้ามให้กลับมีขึ้นมาใหม่ไม่ เพราะสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของคู่ความนั้น จำต้องพิจารณาถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความแต่ละฝ่ายแยกต่างหากจากกัน มิเช่นนั้นจะกลับกลายเป็นว่าสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองขึ้นอยู่กับการอุทธรณ์หรือฎีกาของโจทก์ทั้งสอง กล่าวคือ หากโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงด้วย หากโจทก์ทั้งสองไม่อุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริง มิได้ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง


ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาในข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง คดีคงเหลือปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอย่างเดียว ซึ่งข้ออ้างในฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกำหนดค่าทนายความที่จำเลยทั้งสองผู้แพ้คดีต้องใช้แทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้ค่าทนายความตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์ทั้งสองก็เป็นจำนวนที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5779/2558

ที่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์ชำระราคาสินค้าที่ค้างชำระเป็นเงิน 11,329.38 บาท ให้แก่โจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลย เนื่องจากทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งมีจำนวนไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์ยังไม่ชำระราคาสินค้าจำนวน 11,329.38 บาท ให้แก่จำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยส่งมอบแผ่นหลังคาเหล็กให้แก่โจทก์ไม่ตรงตามสัญญา โจทก์ชอบที่จะยึดหน่วงราคาสินค้าไว้ได้ เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์มาและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ต้องถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่เป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่อาจฎีกาขอให้โจทก์ชำระเงิน 11,329.38 บาท ให้แก่จำเลยได้ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกามา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2931/2558

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่เป็นของโจทก์ แต่เป็นของผู้อื่น คือ ม. และ ห. กับมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินมาจาก ม. และ ห. และยึดถือครอบครองเพื่อตนจนได้สิทธิครอบครองแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีของโจทก์ที่ฟ้องและมีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อโจทก์พอใจไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จากการที่จำเลยอยู่ในที่ดินโดยละเมิดเดือนละ 2,000 บาท จึงต้องถือว่าเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย แม้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่ค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปคำนวณถึงวันที่ 27 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้ก็ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่สิทธิที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวอีก เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2558

คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีการรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 243 (3) (ก) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247


เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่า เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12701/2557

อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การพิจารณาทุนทรัพย์พิพาทต้องพิจารณาแต่ละเดือนภาษีเป็น 1 ข้อหา แยกออกจากกันได้ เมื่อเดือนภาษีเมษายน 2548 เดือนภาษีกรกฎาคม 2548 และเดือนภาษีพฤศจิกายน 2548 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25


โจทก์ซื้อที่ดินที่มีไม้โตเร็วปลูกอยู่และขายไม้โตเร็วให้แก่บริษัท ช. โดยมีเหตุผลให้เชื่อว่าเจ้าของที่ดินเดิมผู้ขายที่ดินให้โจทก์น่าจะขายที่ดินในราคารวมต้นไม้โตเร็วที่ปลูกไว้และโจทก์รับซื้อไว้โดยคาดเห็นว่าจะนำไปขายหาประโยชน์ต่อไปได้ โดยใช้เวลาในการดูแลต้นไม้เพื่อขายพอสมควร อันเป็นพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าโจทก์ได้ประกอบการขายไม้โตเร็วตามคำนิยามมาตรา 77/1 (5) แห่ง ป.รัษฎากร และเมื่อโจทก์ขายไม้โตเร็วให้แก่บริษัท ช. เพื่อนำไม้ไปใช้ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรอันเป็นการขายต้นไม้ในลักษณะเพื่อเป็นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างโรงเรือน เป็นการขายต้นไม้เพื่อให้ผู้ซื้อโค่นเป็นท่อนแล้วเลื่อยแปรรูปเพื่อทำเป็นเสาเข็มหรือใช้ในการก่อสร้าง ต้องด้วยลักษณะของไม้ซุงและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลื่อยไม้ อันเป็นลักษณะยกเว้นที่ไม่ถือเป็นการขายพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) ก โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 77/2 (1)


บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินครั้งแรกเพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ตามที่เห็นว่าถูกต้องได้ แม้การประเมินครั้งหลังจะทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรก แต่มีผลทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว มิใช่การประเมินซ้ำซ้อนและยังคงเป็นการประเมินในเรื่องเดิม การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งยกเลิกใบแจ้งภาษีอากรแล้วประเมินใหม่จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10927/2557

โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เพิ่มเติมจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เสียเกินมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยทั้งสอง 4,800 บาท เพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่าค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 240,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงินเพียง 360,000 บาท นั้น แม้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เห็นว่าค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เดือนละ 5,000 บาท สูงเกินส่วน ที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีคำขอท้ายอุทธรณ์ว่าขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงมิได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 600,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6955/2557

โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามสิบออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ร่วม อันเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ในคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสามสิบแต่ละคนครอบครองนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมอาจนำออกให้เช่าได้ในอัตราเดือนละเท่าใด แต่ปรากฏว่าโจทก์เช่าที่ดินทั้งหมดจากโจทก์ร่วมในราคา 450 บาท ต่อปี ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสามสิบในแต่ละคนจึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง การที่จำเลยทั้งสามสิบอุทธรณ์ว่า สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์และโจทก์ร่วมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสามสิบเข้าไปปลูกไม้ดอกไม้ประดับในที่ดินพิพาทตามโครงการเฉลิมพระเกียรติของอำเภอตั้งแต่ปี 2540 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสิบดังกล่าวมาก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสามสิบจึงฎีกาในปัญหานี้ต่อมาไม่ได้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2557

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพาณิชย์พิพาท 2 คูหา อันมีค่าเช่าคูหาละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไปนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเดือนละ 14,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในส่วนนี้จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวต่อมาด้วย


ส่วนที่จำเลยฎีกาในส่วนฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทเป็นเงิน 450,000 บาท นั้น เห็นว่า ที่จำเลยซ่อมแซมอาคารพิพาทนั้นล้วนเป็นการซ่อมแซมเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทจากโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21886/2556

โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับตามฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย โดยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาเฉพาะตามฟ้องโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล แต่อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้รับรองให้อุทธรณ์ อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในอุทธรณ์โจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง เป็นการไม่ชอบ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งนับแต่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งดังกล่าวมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในฎีกาโจทก์ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบ ฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12874/2556

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ มีทรัพย์สินมรดกเป็นที่ดินพิพาท บ. บิดาจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทบางส่วนเพื่อทำนา ทำไร่ และขออาศัยที่ดินอีกประมาณ 4 ไร่ เพื่อปลูกบ้าน โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองเช่าและอาศัยอยู่ต่อไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า บ. เข้าจับจองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ปี 2504 ต่อมา บ. ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองทำประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นการโต้เถียงกันว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายปีละ 20,000 บาท จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามา จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และกรณีเช่นนี้จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสอง


คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ 15,000 บาท นั้น เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2556

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เป็นการเฉพาะให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้เฉพาะในข้อกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นกรณีหนึ่งกรณีใดให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จึงนำหลักการอุทธรณ์กรณีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มาใช้กับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไม่ได้


ตามวิธีปฏิบัติงาน เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์โดยสารแต่ละคันเติมด้วยยอดจำนวนเต็มหรือตามที่กำหนดในแต่ละสาย เมื่อครบจำนวนตามกำหนดพนักงานเติมน้ำมันจะดึงหัวจ่ายออกแล้วเก็บไว้ในที่เก็บและปิดฝาถังน้ำมันรถยนต์โดยสาร แสดงให้เห็นว่าน้ำมันที่ยังค้างอยู่ในหัวจ่ายเป็นน้ำมันของจำเลย แม้จะมีการตัดยอดจ่ายน้ำมันแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีระเบียบให้ทิ้งน้ำมันดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเติมน้ำมันเทน้ำมันที่ค้างอยู่ที่หัวจ่ายใส่ถังน้ำมันและเอาไว้เป็นส่วนตัวจึงเป็นการลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นความผิดอาญาและจงใจไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติงาน เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 จำเลยมีอำนาจไล่โจทก์ออกได้ตามข้อบังคับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2556

คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลบางเลน (บางยุง) อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (เมืองนครชัยศรี) และเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทคือ 16,100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาต่อไป ดังนี้ เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษาคดีไป จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะรับรองให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกา จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งต้องห้าม รวมทั้งศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริง ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17186/2555

จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 4.2.2 ระบุให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2545 ให้แก่โจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับโอนในวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งล่วงเลยเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ยินยอมรับโอนโดยไม่อิดเอื้อน แสดงว่า โจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า วันที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจากจำเลย โจทก์ได้แจ้งสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยโดยมีพนักงานของจำเลยรับทราบไว้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่อิดเอื้อน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง


ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 การฟ้องให้รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามสัญญาซื้อขาย มิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง โจทก์มีหนังสือแจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่อง แต่ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 11.2 ผู้จะขายต้องเริ่มดำเนินการแก้ไขความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้จะซื้อได้แจ้งให้ผู้จะขายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หากผู้จะขายเพิกเฉยหรือดำเนินการโดยชักช้า ผู้จะซื้อมีสิทธิแก้ไขเอง ผู้จะขายต้องรับผิดชอบในความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อจะได้ชำระไป และตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป หลังจากโจทก์แจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขแล้วโจทก์ต้องให้เวลาจำเลยเริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วหากจำเลยยังไม่ดำเนินการแก้ไข โจทก์จึงจะใช้สิทธิเรียกร้องได้ วันที่ครบ 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ คือ วันที่ 25 พฤษภาคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10736/2555

ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์เป็นค่าปรับรายวันตามสัญญาพิพาทข้อ 10 โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดเวลาตามสัญญาพิพาทและวินิจฉัยว่าการคิดค่าปรับตามสัญญาข้อ 10 ดังที่ฟ้องขอมา ต้องเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นกรณีมีระยะเวลาส่งมอบสินค้าขึ้นมาใหม่ซึ่งมิใช่การแสดงเจตนาของโจทก์ฝ่ายเดียวดังข้อเท็จจริงที่โจทก์เสนอแสดง เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหลักประกันเงินจำนวน 7,490 บาท ที่ฝ่ายจำเลยมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และแม้การใช้สิทธิเลิกสัญญาไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายฐานผิดสัญญาเกินไปกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยวางเป็นหลักประกันดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว อันย่อมเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยแปลความข้อสัญญาพิพาทโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ขอตามข้อสัญญาดังกล่าว จึงหาใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกำหนดค่าเสียหายไม่ ดังนั้น แม้ทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์โต้เถียงในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ก็หาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


เมื่อฝ่ายจำเลยทำข้อตกลงไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาในข้อ 9 ว่า การบอกเลิกสัญญาเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าไม่ส่งมอบ ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิริบหลักประกัน และในข้อ 10 วรรคแรกว่า ค่าปรับในกรณีที่ผู้ซื้อมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 ผู้ขายต้องชำระค่าปรับให้ผู้ซื้อเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญา โดยเฉพาะในวรรคท้ายที่ว่า "ในระหว่างที่ผู้ซื้อมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น หากผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน...ฯลฯ...และถ้าผู้ซื้อได้แจ้งข้อเรียกร้องให้ชำระค่าปรับไปยังผู้ขาย เมื่อครบกำหนดส่งมอบแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะปรับผู้ขายจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกด้วย" ดังนี้ การที่ฝ่ายจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาทันที แต่ได้เร่งรัดให้ฝ่ายจำเลยดำเนินการนำสินค้าตามสัญญาไปส่งมอบพร้อมทั้งสงวนสิทธิในการปรับเป็นรายวันดังกล่าวไว้ ซึ่งต่อมาฝ่ายจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบ เมื่อต่อมาโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงย่อมมีสิทธิบังคับตามสัญญาทั้งข้อ 9 และข้อ 10 วรรคแรกกับวรรคท้าย คือริบเงินหลักประกันและปรับฝ่ายจำเลยเป็นรายวันได้ในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ได้รับมอบ ดังที่แจ้งสงวนสิทธิไว้แล้ว นับแต่วันที่ถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสินค้าตามสัญญา คือวันที่ 3 เมษายน 2549 จนถึงวันที่บอกเลิกสัญญาด้วย และกรณีตามสัญญาข้อ 10 นี้ มิใช่เป็นเรื่องที่จะเกิดสิทธิได้ก็ต่อเมื่อโจทก์กับฝ่ายจำเลยต่างได้แสดงเจตนาตกลงกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้ากันขึ้นมาใหม่อีกครั้งหลังจากครบกำหนดเวลาส่งมอบตามสัญญาแล้วดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ไม่ อย่างไรก็ดี การปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าตามสัญญาข้อ 10 นี้ ก็คือเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา ซึ่งหากเบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938/2554

แม้คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 แต่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ตรงตามที่โจทก์นำสืบ เท่ากับโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยคดีนอกสำนวน อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้


โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ในขณะที่หยุดรถ โจทก์ได้ยินเสียงเบรกและเสียงดังเพียงครั้งเดียว และรถยนต์โจทก์ถูกชนเพียงครั้งเดียว เมื่อลงมาดูปรากฏว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 ชนรถยนต์โจทก์ และยังมีรถยนต์ของจำเลยที่ 3 มาชนท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถชนรถยนต์จำเลยที่ 2 แล้วรถยนต์จำเลยที่ 2 จึงมาชนรถยนต์โจทก์แต่อย่างใด ศาลจำเป็นจะต้องพิจารณาว่ารถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจากการชนในครั้งใด ซึ่งตามพยานหลักฐานโจทก์ รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายที่กันชนหลัง ไฟท้ายหลัง และกระโปรงหลังบุบยุบเข้าไป แสดงให้เห็นว่ามีการชนโดยแรงพอสมควรจึงได้รับความเสียหายขนาดนี้ หากรถยนต์จำเลยที่ 3 ชนรถยนต์จำเลยที่ 2 ก่อน แล้วรถยนต์จำเลยที่ 2 จึงกระเด็นไปกระแทกรถยนต์โจทก์ รถยนต์โจทก์ไม่น่าจะได้รับความเสียหายมากขนาดนี้ เพราะรถยนต์จำเลยที่ 2 รับแรงกระแทกไว้ก่อนแล้ว ความเสียหายส่วนใหญ่จึงน่าจะอยู่ที่ท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบถึงความเสียหายของรถยนต์ของตนว่ามีมากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์จำเลยที่ 2 ถูกชนจนกระเด็นไปกระแทกรถยนต์โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูง การถูกชนเพียงครั้งเดียวจึงเกิดจากจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้รถยนต์จำเลยที่ 2 เคลื่อนไปกระแทกรถยนต์โจทก์นั้น ไม่ตรงกับคำเบิกความของโจทก์ ศาลฎีกาจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงใหม่


ก่อนเกิดเหตุโจทก์ขับรถไปตามถนนในช่องขวาสุด เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุโจทก์หยุดรถเนื่องจากรถติด ขณะที่โจทก์เหยียบเบรกไว้ประมาณ 1 นาที จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังมาเบรกไม่อยู่ ชนรถยนต์โจทก์ด้านท้าย ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์จำเลยที่ 2 มา ชนด้านท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วไม่ระมัดระวังรถด้านหน้าว่าจะหยุดรถหรือไม่ทั้งที่การจราจรติดขัด การที่รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6912/2554

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวว่า "พิเคราะห์แล้ว มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้" และมีคำสั่งในอุทธรณ์ในวันเดียวกันว่า "ศาลรับรองให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ รับอุทธรณ์ของจำเลย..." ซึ่งการรับรองอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้นั้น ต้องเป็นการรับรองโดยชัดแจ้ง แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์จะไม่มีข้อความยืนยันว่าตนรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่ขณะเดียวกันศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวกันได้มีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยมีข้อความยืนยันรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เมื่อนำคำสั่งที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องและอุทธรณ์มาพิจารณาประกอบกันรับฟังได้ว่า คำรับรองของศาลชั้นต้นมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงถือว่าเป็นการรับรองอุทธรณ์โดยชัดแจ้งแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2554

โดยปกติเมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามสมควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โจทก์ผู้รับจ้างจึงย่อมมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้างไปแล้ว การที่สัญญาข้อ 9 ดังกล่าวระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์ จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยเสมอไปไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานตามจำนวนค่าจ้างไปเป็นเงิน 504,000 บาท จำเลยชำระแล้ว 300,000 บาท เมื่อคำนึงถึงค่าปรับรายวันที่จำเลยมิได้เรียกร้องประกอบกับความเสียหายอย่างอื่นที่จำเลยได้รับแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์อีกเพียง 50,000 บาท ซึ่งแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะใช้ถ้อยคำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้าง แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเงินตามควรค่าแห่งงานที่กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์เพื่อการกลับคืนสู่ฐานะเดิมและศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงแล้วนั่นเอง หากจำเลยเห็นว่าตนไม่ต้องรับผิดก็ชอบที่จะอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์ เพียงแต่มีคำขอมาในคำแก้อุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น ซึ่งไม่อาจกระทำได้ปัญหาว่าจำเลยจะต้องชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์หรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะต้องยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2554

อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลภาษีอากรกลางในการวินิจฉัยเรื่องเหตุอันควรงดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์สำหรับแต่ละเดือนภาษีพิพาทรวม 5 ฉบับ การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงต้องพิจารณาตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเมินในแต่ละเดือนภาษี ถือว่าแต่ละเดือนภาษีพิพาทเป็น 1 ข้อหา แยกออกจากกันได้เมื่อเดือนภาษีพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2548 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละเดือนภาษีไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25


กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้โจทก์จะมีการทำธุรกรรมการประสานงานหรือการติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะสำคัญของการให้บริการโดยตรงของโจทก์คือการให้บริการรับขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักรหรือรับขนสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำการขนส่งสินค้าหรือได้ใช้บริการขนส่งสินค้านั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนที่ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีได้เมื่อภาษีซื้อพิพาทไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการขนส่งจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักรหรือจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรโจทก์จึงไม่อาจนำภาษีซื้อที่ถูกเรียกเก็บในแต่ละเดือนภาษีพิพาทดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการนี้ได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2812/2554

ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองครั้ง ผู้ซื้อทรัพย์มิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น แต่กลับยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 อ้างว่าเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณา แต่ในคำร้องมีเนื้อหาเป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เช่นเดียวกับที่ผู้ซื้อทรัพย์เคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งตามคำร้องขอของผู้ซื้อทรัพย์ก็เท่ากับเป็นการกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น การยื่นคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. 223 ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10756/2553

คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ข้อห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัตินี้ต้องใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ทั้งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีตลอดจนปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่เป็นสาขาคดี ซึ่งรวมถึงปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วย โดยเหตุที่ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ต้องถือตามเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ในคดีตามคำฟ้องและคำให้การที่พิพาทกันแต่เดิมนั้นเป็นลำดับ หากมีเหตุอันต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วแม้ปัญหาในชั้นสาขาคดีในส่วนการบังคับคดีจะไม่มีเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามเหตุต้องห้ามในคดีแต่เดิมดังกล่าว


การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนน่าจะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2538 ตามกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจึงไม่อาจที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยได้ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรแล้วย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และ 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7740 - 7747/2553

ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องและศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ 3 ถอนคำฟ้องแล้ว การถอนคำฟ้องดังกล่าวย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ไม่อยู่ในฐานะคู่ความและมิได้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์


ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์แต่ละคนไม่ติดใจเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีก โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง ซึ่งโจทก์แต่ละคนย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป การที่โจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในใบรับเงินจึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าวดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลาง เพื่อให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นว่า ขณะโจทก์แต่ละคนลงชื่อในบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ โจทก์แต่ละคนไม่มีอิสระในการตัดสินใจและยังอยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง


บันทึกการรับเงินที่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ทำกับจำเลยเกิดจากการที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งร่วมถึงโจทก์บางคนและเกิดจากการที่โจทก์บางคนลาออกจารการเป็นลูกจ้างของจำเลยจำเลยจึงตกลงกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เพื่อระงับสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน การเลิกจ้าง และการลาออก โดยในขณะที่ทำบันทึกโจทก์ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง การที่โจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในบันทึกรับเงินย่อมผูกพันตามข้อความในหนังสือนั้นดังนั้น คำว่า ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีกตามบันทึกการรับเงินค่าชดเชย ย่อมหมายความรวมถึงค่าครองชีพด้วย จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าครองชีพจำนวน 700 บาท ไปรวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8269/2553

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์บางส่วนและเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ตามคำขอดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อที่ดินมีราคาเพียง 9,200 บาท ทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6853/2553

เดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทซึ่งมีค่าเช่าปีละ 30,000 บาท หรือเดือนละ 2,500 บาท อันเป็นการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท คู่ความในคดีฟ้องขับไล่เดิมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ในชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาของคดีเดิมจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2553

จำเลยเป็นหัวหน้าวงแชร์ โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ร่วมเล่นแชร์วงเดียวกันซึ่งมีจำเลยเป็นหัวหน้าวง แต่โจทก์ทั้งหกต่างมิได้มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 การคำนวณทุนทรัพย์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์ย่อมต้องแยกตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยรับผิด หาใช่พิจารณาจากหนี้ที่โจทก์ทั้งหกเรียกร้องรวมกันไม่ เมื่อจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ไม่เกินห้าหมื่นบาท คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 กับจำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1830/2553

แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ นั้น ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 52 ในเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น คดีจึงจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภค ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9188/2552

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 39,130 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 34,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 34,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 5,130 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 39,130 บาท คดีของโจทก์จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ คงมีเพียงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ซึ่งในชั้นฎีกา ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และบุคคลผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตราดังกล่าวก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าคือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ดังนี้ จึงไม่อาจนำบทบัญญติว่าด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7126/2552

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แม้จำเลยจะได้ยื่นคำคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ การที่จำเลยเพียงกล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5150/2552

จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินจำนองของจำเลยไปในราคาที่ต่ำเกินสมควร โดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติในวรรคสี่ของมาตรา 309 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ บัญญัติว่า คำสั่งของศาลตามวรรคสองให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด คำว่า "คำสั่งของศาลตามวรรคสอง" ของบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงหากมีกรณียื่นคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แล้ว คำสั่งใดๆ ของศาลที่เกี่ยวข้องกับคำร้องดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า "คำสั่งของศาลตามวรรคสอง" ในบทบัญญัติวรรคสี่นี้ทั้งสิ้น การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนเช่นนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทุกข้อไม่ว่าจะอ้างเหตุใดๆ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ประกอบมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3474/2551

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสวนยางพาราของโจทก์ทั้งสอง ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา โดยให้จำเลยนำเงินมาวางศาลทุกเดือนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (2) ตอนท้าย เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (2) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องทำเป็นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 และชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะได้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำพิพากษา มิใช่ทำเป็นคำสั่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างการพิจารณา ทั้งมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ประกอบด้วยมาตรา 246 คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นไต่สวนจนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2551

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้บังคับคดีกับจำเลยที่ 4 มีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2551

จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่า ธรรมดา ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากยกฟ้องแย้งเป็นให้บังคับ โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าตึกแถวที่พิพาทให้แก่จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่าคดีจำเลยต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้ว พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โดยมิได้วินิจฉัยคดีในส่วนของฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็น การไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142


ฟ้องแย้งของจำเลยที่อ้างว่าการเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็น สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาและขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนการ เช่าตึกแถวที่พิพาทเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2551

คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่จำเลย เช่าจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหาย 22,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว คู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยผู้ถูก ฟ้องขับไล่ในชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาของคดีเดิม จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคสอง เช่นกัน


อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลบังคับแก่ผู้ร้องซึ่งมิใช่คู่ความในคดีนั้นเป็น อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15139/2551

โจทก์บรรยายฟ้องโดยตั้งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของ โจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ บ. ขับและถูกจำเลยกระทำละเมิด โดยโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน 41,526.97 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้ทำละเมิด เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลปฏิบัติในการกำหนดจำนวนเงินตามคำขอบังคับของโจทก์ ดังนี้ (1) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน และ (2) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้ โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 41,526.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นการอ้างเหตุว่าโจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยซึ่งถูกจำเลยกระทำ ละเมิด อันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องมาจากเรื่องละเมิดและเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่า สินไหมทดแทน คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจกำหนดจำนวนเงินได้โดยแน่นอน ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ซึ่งบัญญัติให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนตาม มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ที่ให้อำนาจศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการ สืบพยานไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2548 ว่าเป็นกรณีโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน อนุญาตให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยาน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งใน ข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องพิจารณาคดีและการ พิจารณาพยานหลักฐาน อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้น ต้นได้ แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ก็ตาม ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (2), 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5675/2551

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นที่ดิน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันปรับถมที่ดินของโจทก์ เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองกระทำการ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาที่ดินของโจทก์ที่พังทลายเป็นเงิน 150,000 บาทด้วย ก็เป็นคำขอบังคับเมื่อไม่อาจบังคับตามคำขอข้อแรกและข้อที่สองได้ ซึ่งถือว่าเป็นคำขอรอง ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน เดือนละ 4,000 บาท ก็เป็นการขอให้ชำระค่าเสียหายนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป อันเป็นค่าเสียหายในอนาคต ไม่อาจนำมาคิดคำนวณเป็นทุนทรัพย์ได้ จึงไม่ทำให้คดีของโจทก์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ คดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาล ยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3993 - 3994/2551

คดี 2 เรื่อง ได้พิจารณาพิพากษารวมกัน ต้องพิจารณาทุนทรัพย์เป็นรายคดีมิใช่ถือทุนทรัพย์ 2 คดี มารวมกันคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ เมื่อคดีสำนวนหลังมีทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์เพียง 42,168.49 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 อุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังด้วยจึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังชอบแล้ว แม้ในชั้นฎีกาผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาต ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมา แล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2551

จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งแต่เพียงว่าสำเนาให้โจทก์ว่าจะคัดค้านหรือไม่ โดยไม่ได้สั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยพอแปลได้ความว่าศาลชั้นต้นสั่ง อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3723/2551

อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยด้วยความสมัครใจและรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ กำหนดไว้ในสัญญาสูงเกินกว่าที่ธนาคารมีสิทธิเรียกเก็บได้ จึงไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักต้นเงินได้นั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3105/2551

โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเนื่องจากเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่น บาทต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลฎีกาจะส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยตามมาตรา 223 ทวิ วรรคท้าย จึงไม่เป็นประโยชน์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7679/2550

คดีมโนสาเร่คู่ความต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคา ทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 190 จัตวา วรรคสอง ส่วนสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงของคู่ความต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 224


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จซึ่งโจทก์คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 43,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 93,800 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 93,800 บาท เกินกว่าห้าหมื่นบาทไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 224


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7041/2550

โจทก์ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์มีหน้าที่ดำเนินการให้มีการรับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 การที่โจทก์เพียงแต่อุทธรณ์ขึ้นไปเฉยๆ โดยมิได้ร้องขอให้มีการรับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่มีเวลาที่จะดำเนินการถึงแม้โจทก์จะอ้างว่าเหตุที่ไม่ดำเนินการเพราะโจทก์ เข้าใจว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของโจทก์เอง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ภาค 7 ต้องส่งสำนวนพร้อมอุทธรณ์ไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์เสีย ใหม่เพื่อที่โจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2550

แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาล ฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2549

โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่างวดและดอกแชร์ที่จำเลยได้เรียก เก็บจากลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ไปแล้ว แต่ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 242,157.50 บาท แม้โจทก์ทั้งสิบสองจะร่วมเล่นแชร์ในวงแชร์ที่มีจำเลยเป็นนายวง แต่โจทก์แต่ละคนก็ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 การคำนวณทุนทรัพย์จึงต้องแยกตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลย รับผิด เมื่อโจทก์แต่ละคนไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ตนเรียกร้องก็ต้องถือว่าโจทก์แต่ละ คนเรียกร้องจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งคือคนละ 20,179.75 บาท คดีของโจทก์แต่ละคนจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6032/2549

แม้คำขอโจทก์ท้ายฟ้องจะขอให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจาก ที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่พิพาทจำเลยเป็นผู้ครอบครองตลอดมาเท่ากับจำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของ จำเลย ศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทหรือไม่ ซึ่งนัยความหมายของประเด็นดังกล่าวคือโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทหรือไม่อันจะ นำไปสู่การวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่ง ปลูกสร้างได้หรือไม่ ดังนั้น ราคาของที่พิพาทในคดีนี้จึงอาจคำนวณราคาเป็นราคาเงินได้ คดีโจทก์เดิมที่บังคับขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นราคาเงิน ได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้นจึงกลายเป็นคดีที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือ คดีมีทุนทรัพย์ตามราคาของที่พิพาทซึ่งเท่ากับ 25,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง