Pages

การดำเนินคดีไม่มีข้อพิพาท

มาตรา ๑๘๘ ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้
(๑) ให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล
(๒) ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม
(๓) ทางแก้แห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้ใช้ได้แต่โดยวิธียื่นอุทธรณ์หรือฎีกาเท่านั้น และให้อุทธรณ์ฎีกาได้แต่เฉพาะในสองกรณีต่อไปนี้
(ก) ถ้าศาลได้ยกคำร้องขอของคู่ความฝ่ายที่เริ่มคดีเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือ
(ข) ในเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาหรือพิพากษาหรือคำสั่ง
(๔) ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท แต่ในคดีที่ยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้คำอนุญาตที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ปฏิเสธเสียหรือให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถอนคืนคำอนุญาตอันได้ให้ไว้แก่ผู้ไร้ความสามารถนั้น ให้ถือว่าเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท แม้ถึงว่าผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ไร้ความสามารถนั้นจะได้มาศาล และแสดงข้อคัดค้านในการให้คำอนุญาต หรือถอนคืนคำอนุญาตเช่นว่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2551
บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องซึ่งร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าบ้านที่ผู้ ร้องปลูกอยู่ในที่ดินของผู้อื่นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาล หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าว ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้อย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ส่วน ป.ที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงวิธีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน ที่ดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1382 มิใช่กฎหมายใกล้เคียงที่นำมาใช้แก่กรณีของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2551
แม้คดีจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องเป็นอิสลามศาสนิกเริ่มต้นคดีอย่าง ไม่มีข้อพิพาท โดยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายทวี ผู้ตาย ซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกก็ตาม แต่เมื่อมีการคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีผลทำให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีฐานะเสมือนจำเลยนับถือศาสนาพุทธ จึงมิใช่อิสลามศาสนิก จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกใน เขตจังหวัดสตูล ต้องใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 บังคับแก่คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2548
ผู้ ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินเนื้อที่ เฉพาะส่วนประมาณ 4 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1382 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ ในวันนัดพร้อมคู่ความแถลงร่วมกันว่าที่ดินพิพาทมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเห็นว่าคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงให้โอนคดีไปพิจารณาที่ศาลแขวงสุพรรณบุรี แต่ศาลแขวงสุพรรณบุรีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงจึง ไม่รับโอนคดีและคืนสำนวนไปยังศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งนัดพร้อมและแจ้งวันนัดให้คู่ความทราบ กรณีเป็นเรื่องศาลจังหวัดสุพรรณบุรีและศาลแขวงสุพรรณบุรีต่างไม่รับพิจารณา คดีของผู้ร้อง แม้เนื้อหาอุทธรณ์ของผู้ร้องจะเป็นทำนองโต้แย้งคำสั่งของศาลแขวงสุพรรณบุรี ที่ไม่ยอมรับโอนคดี แต่เมื่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีรับสำนวนคืนจากศาลแขวงสุพรรณบุรีแล้ว ทั้งคดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าระหว่างศาลดังกล่าว ศาลใดจะต้องพิจารณาคดีต่อไป ผู้ร้องชอบที่จะอุทธรณ์คดีนี้โดยยื่นที่ศาลจังสุพรรณบุรีได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์อันเป็นการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (2) ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทตามมาตรา 188 (1) แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านเข้ามา คดีจึงเปลี่ยนเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยมีทุนทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุพรรณบุรีที่จะพิจารณาพิพากษาตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีชอบที่จะโอนคดีไปให้ศาลแขวงสุพรรณบุรีพิจารณาต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7483/2547
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านผู้คัดค้านที่ 1 และขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ แม้ตามคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 จะใช้ข้อความว่า ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยได้รับความยินยอมของโจทก์ (ผู้ร้อง) นั้น ก็เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 2 ร้องสอดใช้สิทธิของตนเองเพื่อโต้แย้งกับผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นการร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) มิใช่มาตรา 57 (2) จึงสามารถใช้สิทธิเสมือนว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 แม้ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 จะได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องและคำคัดค้านและศาลจะได้สั่งจำหน่ายคดีของผู้ ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 จากสารบบความก็คงมีผลเฉพาะคดีของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีคำร้องและคำคัดค้านเดิมตามลำดับที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้คำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 ตกไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2547
การ ที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นต้องร้องขอต่อศาลเพื่อ รับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ด้วย การที่ผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้แทนนิติบุคคลมีสิทธิ ที่จะว่าความอย่างทนายความได้ในคดีก่อนตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องว่าความอย่างทนายความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย วิธีพิจารณาความ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตเป็น อีกคดีหนึ่งเช่นนี้หาได้ไม่ เพราะกรณีของผู้ร้องไม่มีกฎหมายสารบัญญัติบทใดสนับสนุนให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิ ทางศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2545
เด็ก และมารดาของเด็กถึงแก่ความตายแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่บุคคลทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจด ทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยัง มีชีวิตอยู่เช่นนี้ ผู้ร้องก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลได้