Pages

การร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิ (แก้ไขปี 60)

ส่วนที่ ๖


สิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี


มาตรา ๓๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๒๓ และมาตรา ๓๒๔ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย


มาตรา ๓๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๕ บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดหรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้ หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น


ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓๒ ผู้กล่าวอ้างอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าวบุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๓๓๙ หรือก่อนที่บัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา ๓๔๐แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินจำนวนสุทธิที่ได้จากการขายนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อย


เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอไว้แล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ถ้าทรัพย์สินที่ยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓๒ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด และให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา


โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไปจะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด


ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา


มาตรา ๓๒๔ บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้หรือได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลนั้นมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้


(๑) ในกรณีที่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินหรือเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียนไว้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายหรือจำหน่าย ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้


(ก) ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ขอให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาต การยึดทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว


(ข) ในกรณีอื่น ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น


(๒) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าทรัพย์สินซึ่งขายหรือจำหน่ายนั้นเป็นของเจ้าของรวมอันได้จดทะเบียนไว้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนของเจ้าของรวมอื่นนอกจากส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๔๐


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2561

แม้ผู้ร้องจะมิได้ร้องขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายในสิบปี อันทำให้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สิทธิจำนองของผู้ร้องยังคงอยู่ ซึ่งการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนองของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลย ศ. และ ส. จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจำนองในคดีนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 และในกรณีที่โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2560

เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปในคดีนี้ ที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เงินที่ได้จากขายทอดตลาดส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายแก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง ล. โดยผู้ร้องผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต จึงไม่มีสิทธิขอให้จ่ายให้แก่ผู้ร้องได้โดยตรง แต่เนื่องจาก ล. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าว ซึ่งพิพากษาบังคับจำเลยให้จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 แก่โจทก์ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ใช้ราคา 40,000,000 บาท การที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ถูกยึดและขายทอดตลาดไปในคดีนี้แล้ว มีผลทำให้จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ล. ได้ ล. จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีดังกล่าวโดยให้จำเลยใช้ราคาที่ดินแปลงนี้แทน เมื่อการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปทำให้จำเลยได้เงินมาแทน กรณีถือได้ว่า ล. เจ้าหนี้จำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว ไปให้ศาลจังหวัดภูเก็ตดำเนินการในชั้นบังคับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต โดยนำไปชดใช้ราคาที่ดินที่จำเลยต้องชดใช้แทนให้แก่ ล. โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวเสียก่อน หากไม่มีราคาที่ดินที่ต้องชดใช้หรือเมื่อชดใช้ราคาที่ดินแล้วมีเงินเหลือเพียงใด ก็ให้จ่ายเงินนั้นแก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6708/2559

ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีมาก่อนและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เข้ามาใหม่อีก แม้ตามคำร้องฉบับแรกจะอ้างเพื่อไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้รายเดียวกันเพื่อผู้ร้องจะได้ดำเนินการบังคับคดีต่อ จึงเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีแทนโจทก์หรือไม่เช่นเดียวกันทั้งสองฉบับ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์ของผู้ร้องฉบับแรก อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องการขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในการบังคับคดีต่อของผู้ร้องแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เข้ามาใหม่อีกขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องเดียวกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2559

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 เมื่อสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีขาดอายุความ อย่างไรก็ตามในมูลหนี้ดังกล่าวลูกหนี้ที่ 3 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ และ ป. เจ้าหนี้อื่นในคดีแพ่งได้นำยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวไว้แล้ว ต่อมาเจ้าหนี้ในคดีนี้จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ในคดีแพ่งดังกล่าว และศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเท่ากับสิทธิของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจากการบังคับจำนองอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198/2559

เจ้าหนี้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันของลูกหนี้โดยเป็นผู้มีสิทธิเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 74181, 58539 และ 58540 ตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของลูกหนี้ในทางจำนอง แม้จะได้ความว่าหนี้ประธานของเจ้าหนี้ขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ภายในวงเงินจำนอง แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ ตามมาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 การที่เจ้าหนี้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เท่ากับว่าเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามบุริมสิทธิจำนองในลำดับสองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าธนาคาร ก. เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ธ. 2770/2548 ของศาลแพ่ง ซึ่งพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้จำนองลำดับหนึ่งโดยเจ้าหนี้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 81/2554 โดยแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีแพ่งต่อไปและให้ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่น แล้วส่งเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองลำดับหนึ่งเข้ามาในคดีล้มละลาย ดังนี้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทนตามนัยมาตรา 6 นิยาม "เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์" และมาตรา 112 อันเป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14411/2558 

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยทั้งสองในคดีแพ่งอีกสำนวนของศาลชั้นต้น และเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของจำเลยที่ 2 ในทรัพย์จำนองที่ถูกยึดและขายทอดตลาดในคดีนี้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ผู้ร้องได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 247 และกรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเคยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองมาก่อนและศาลชั้นต้นยกคำร้องไปแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองอีก และเมื่อปรากฏว่าในการบังคับคดีนี้ยังมีเงินเหลืออยู่ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวในฐานะผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558

ตามฟ้องและฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าหนี้ตามฟ้องแย้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247


ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องเดิมค้างชำระเป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่จะฟ้องบังคับคดีให้เจ้าของห้องเดิมที่ค้างชำระหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่เอาแก่เจ้าของห้องชุดเดิมตามมาตรา 41 และตามมาตรา 36 (6) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


ค่าใช้จ่ายรายการที่ 5 ถึงรายการที่ 10 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 และที่ 6 เป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางและเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) จึงไม่ขาดอายุความ


ส่วนค่าปรับในรายการที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26


ค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379


ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ได้นั้น โจทก์จะชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้ครบเสียก่อน แม้ตามคำขอท้ายฟ้องและคำให้การฟ้องแย้งของโจทก์จะไม่มีข้อความว่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าส่วนกลางครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าส่วนกลางและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อโจทก์ชำระค่าส่วนกลางตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม


ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ไม่มีค่าส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนที่โจทก์จะซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14839/2557 

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 หรือไม่ ส่วนคดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้กู้ยืมผู้ร้อง อันเป็นหนี้ประธานหรือไม่ ส่วนที่มีคำขอให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทเป็นหนี้อุปกรณ์ ประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงเป็นคนละประเด็นกัน แม้ทรัพย์จำนองจะเป็นแปลงเดียวกันและผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทมาด้วย ก็เป็นการรับรองสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองในคดีเดิมเท่านั้น เมื่อประเด็นข้อพิพาทของคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นคนละประเด็นกัน โดยผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองในคดีก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้ กรณีจึงหาเป็นเรื่องฟ้องซ้ำไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12941/2557 

แม้การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17767 และ 16632 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยในคดีระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนอง แต่จำเลยคัดค้าน ระหว่างการพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองทรัพย์สินดังกล่าวหรือไม่ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด คดีระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าวในชั้นบังคับคดีจึงมีกรณีพิพาทว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยหรือไม่ ถือเป็นคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ประกอบกับจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 22 (1) เมื่อต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยมีคำขอให้จำหน่ายคดี โดยให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลย่อมมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ตามที่มาตรา 25 ตอนท้าย บัญญัติไว้ การที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเพื่อให้ผู้ร้องไปดำเนินการทั้งหลายต่อในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลย ผู้ร้องไม่เสียสิทธิในการได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3646/2557 

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.1148/2552 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิในอันที่จะขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289 และขอเฉลี่ยทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ได้ด้วย ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 73911 ตามคำร้องลงวันที่ 7 มกราคม 2553 แม้ผู้ร้องอ้างถึงมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.1148/2552 ของศาลชั้นต้น แต่ตามคำร้องคงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิจำนองเท่านั้น และไม่อาจที่จะให้ถือว่าเป็นการที่ผู้ร้องได้ขอเฉลี่ยทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้สามัญอีกฐานะหนึ่งมาพร้อมกันด้วยได้ เพราะการใช้สิทธิในการขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิจำนองและการขอเฉลี่ยทรัพย์มีเงื่อนไขและองค์ประกอบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขของการขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ผู้ยื่นคำขอต้องไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก็ไม่ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 4 ยิ่งกว่านั้น คำสั่งศาลชั้นต้นชัดเจนว่าเป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิจำนอง โดยมิได้มีถ้อยคำใดในอันที่จะให้แปลว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญอีกฐานะหนึ่งด้วยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2556 

 ผู้ร้องบรรยายในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1738 ตำบลแสนพัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่โจทก์นำยึด ซึ่งจำเลยที่ 1 และ ก. เจ้าของรวมได้นำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินของ น. เมื่อ น. ไม่ชำระหนี้ผู้ร้องจึงบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 1 และ ป. ทายาทโดยธรรมของ ก. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เนื้อหาตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดส่วนที่เป็นของ ก. ออกจากเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนอง ซึ่งสิทธิของผู้ร้องถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาตามมาตรา 289 วรรคสอง ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องก่อนเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555 

 แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า "ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด..." ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10167/2555 

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นที่ดิน 3 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และอยู่ระหว่างรอขายทอดตลาด ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามลำดับที่จดทะเบียนไว้ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามลำดับที่จดทะเบียนไว้ ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น วันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องและโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันมาศาล จำเลยทั้งสามทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลและไม่ยื่นคำคัดค้าน โจทก์ยื่นคำแถลงไม่คัดค้านคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นสอบทนายผู้ร้องแล้วแถลงว่า ทรัพย์จำนองที่โจทก์นำยึดยังไม่ได้ขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเป็นเจ้าหนี้จำนองในทรัพย์ที่โจทก์นำยึด โดยทนายผู้ร้องส่งเอกสารเกี่ยวกับหลักฐานการเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและเจ้าหนี้จำนอง ซึ่งศาลชั้นต้นจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่ศาลย่อมมีอำนาจกระทำได้ และถือว่าเป็นการไต่สวนโดยเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้คัดค้านก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (1) แล้ว แม้หากให้ผู้ร้องนำพยานเข้าสืบในการไต่สวนก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงแตกต่างนอกเหนือจากการสอบทนายผู้ร้อง และไม่อาจทำให้ประเด็นที่มีคำสั่งตามคำร้องเปลี่ยนแปลงไป ศาลย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบทนายผู้ร้องมารับฟังประกอบในการใช้ดุลพินิจเพื่อมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรได้ โดยไม่จำต้องทำการสืบพยานผู้ร้องก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่นจึงชอบแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2555

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามหมายบังคับคดีโดยทำการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยรวมทั้งรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด 25,500,000 บาท ไว้เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2544 เป็นการกระทำไปในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 ถือได้ว่าเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลย เป็นเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินตามคำพิพากษาถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2544 อันเป็นวันขายทอดตลาดเท่านั้น หามีสิทธิคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 7 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิถึงที่สุดไม่ เพราะความล่าช้าจนถึงกำหนดวันดังกล่าวเกิดจากการต่อสู้คดีระหว่างโจทก์กับผู้ร้อง โดยจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5442/2554 

ในการที่ จ. กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้โดยลูกหนี้ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วนนั้น เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ โดยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 เจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องร้องหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันผิดนัดดังกล่าว หากเจ้าหนี้ไม่ดำเนินการก็ถือว่ามูลหนี้ประธานขาดอายุความ ส่วนที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้กู้ยืมและจำนองไปฟ้อง จ. และลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องในส่วนของลูกหนี้ และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีส่วนลูกหนี้ออกจากสารบบความ การฟ้องคดีดังกล่าวจึงไม่ได้ทำให้อายุความในมูลหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันผิดนัด หนี้รายนี้จึงขาดอายุความไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ส่วนการที่เจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้จำนองไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิในคดีแพ่ง และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามขอ ก็เป็นผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนอง และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ย่อมนำมูลหนี้บุริมสิทธิดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ได้ แต่หาได้เกี่ยวพันกับหนี้ส่วนที่ขาดอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2553

จำเลยย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเลขที่ 710/85 ไปที่บ้านเลขที่ 1/163 ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายตามคำแถลงของผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนอง นอกจากนี้ ปรากฏว่า คดีหลักของคดีนี้ถึงที่สุดแล้วก่อนจำเลยย้ายภูมิลำเนา จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักอีกต่อไปและไม่อาจถือได้ว่าภูมิลำเนาในคดีหลักยังเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการดำเนินคดีนี้ของจำเลย การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องแก่จำเลยตามภูมิลำเนาเดิมจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74(2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3821/2552

แม้หนี้ที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และหนี้อย่างอื่นของผู้เช่าอันเกิดจากความเกี่ยวพันในเรื่องเช่าอาคารพาณิชย์ ผู้ร้องมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 259 (1) ซึ่งมาตรา 261 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าที่ดินนั้นมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายอันผู้เช่าได้นำเข้ามาไว้บนที่ดินที่ให้เช่า หรือนำเข้ามาไว้ในเรือนโรงอันใช้ประกอบกับที่ดินนั้น และมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์เช่นสำหรับที่ใช้ในที่ดินนั้น กับทั้งเหนือดอกผลอันเกิดจากที่ดินซึ่งอยู่ในครอบครองของผู้เช่านั้นด้วย" และวรรคสองบัญญัติว่า "บุริมสิทธิของผู้ให้เช่าเรือนโรงย่อมมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้เช่านำเข้ามาไว้ในเรือนโรงนั้นด้วย" แต่คดีนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสิทธิการเช่า ไม่ได้ขอ บังคับเอาจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสังหาริมทรัพย์ที่ผู้เช่านำเข้ามาไว้ในที่ดินหรือโรงเรือน ทั้งมิใช่เงินอันผู้โอนหรือผู้ให้เช่าช่วงจะพึงได้รับจากผู้รับโอนหรือผู้เช่าช่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 262 ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินจากการขายทอดตลาด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3802/2551

เจ้าหนี้จำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองให้เอา เงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องฟ้องบังคับจำนองโดยตรงที่จะต้องบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2551

การจำนำเครื่องจักรโดยคู่สัญญาตกลงให้ อ. ภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์สิน แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจโรงโม่หินของตนตลอดมา ซึ่งเครื่องจักรนั้นจำเลยที่ 1 ผู้จำนำซื้อจากโจทก์เพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายสร้างรายได้ และนำเงินชำระคืนแก่ผู้ร้องซึ่งรับจำนำ แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ต้องการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าสัญญาจำนำและรักษาทรัพย์จะมีข้อตกลงว่าผู้จำนำได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย การที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามมาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำจึงระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตามสัญญาจำนำเครื่องจักร


เจ้าหนี้ที่จะมีบุริมสิทธิในมูลหนี้จ้างทำของ เจ้าหนี้นั้นจะต้องทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอกลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือทำการก่อสร้างเพื่อให้มีผลบริบูรณ์เป็นบุริมสิทธิพิเศษใช้ยันเจ้าหนี้อื่นในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 286 โจทก์ไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งบุริมสิทธิในมูลจ้างทำของอันเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายให้มีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ทำการงานขึ้น และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นของลูกหนี้ แต่ที่ดินซึ่งโจทก์ทำการก่อสร้างโรงโม่หินเป็นของกรมป่าไม้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 และมาตรา 275 โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ เมื่อโจทก์และผู้ร้องต่างก็เป็นเจ้าหนี้สามัญด้วยกัน จึงชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 เพื่อเฉลี่ยทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551

 ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะ ต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนอง ย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 ได้


การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึด ทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องอีกยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไป ยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6116 - 6117/2550

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 734 วรรคสอง เป็นกรณีที่มีการจำนองทรัพย์หลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่งรายเดียวโดยมิ ได้ระบุลำดับไว้ เมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกันจึงแบ่งกระจาย ภาระแห่งหนี้ไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สินนั้นๆ แต่ผู้ร้องมิใช่ผู้รับจำนองที่ใช้สิทธิดังกล่าว เมื่อโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อชำระหนี้ จำนองให้แก่ผู้ร้องแล้วยังคงมีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิยกเหตุตามมาตราดังกล่าวขึ้นอ้างได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2550

ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดี นี้ เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองใน กึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิของเจ้า หนี้จำนองซึ่งถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายเพื่อรับชำระหนี้จำนอง ในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ได้


ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่ โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของผู้คัดค้านจึงขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เห็นได้ว่าผู้ร้องตั้งเรื่องมาในคำร้องและระบุท้ายคำร้องชัดเจนว่าเป็นการขอ ใช้สิทธิตามมาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งสิทธิของผู้ร้องในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามกำหนดเวลาของมาตรา 289 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3070/2550

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง แม้โจทก์คัดค้านก็ไม่ถือว่าผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อโจทก์ จำเลยมีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกขายทอดตลาดได้ ไม่ใช่โจทก์ต้องรับผิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายคัดค้านเสมอไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7644/2549

พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ส่วนมาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของรวมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 ดังนั้น ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง จึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงข้อบังคับได้ตามมาตรา 32 (10) ประกอบมาตรา 49 (1) ที่เจ้าของร่วมมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันได้ แต่ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ กำหนดเท่านั้น ประกอบกับมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิ ดังนี้ (1) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 259 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนั้นนำมาไว้ในห้องชุดของตน และ (2) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิรักษาอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 273 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกตามมาตรา 18 นั้น แยกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 18 วรรคสอง ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด เพราะมีการคิดส่วนค่าใช้จ่ายและการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 แต่ละวรรคแตกต่างกันดังกล่าว ดังนั้น มูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นจึงไม่อาจเป็นทั้งมูลหนี้อันเกิดจากการบริการส่วนรวมและเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการใช้ทรัพย์ส่วนกลางของจำเลย ตามมาตรา 18 วรรคสอง


ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดของผู้ร้องได้ลงมติให้เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเดิม 20 บาท เป็น 27 บาท โดยรายละเอียดในรายงานการประชุม ฯ ระบุเหตุผลการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การซ่อมแซมระบบและส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่ง พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 50 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารที่เสียหายสำหรับที่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ให้เจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดเฉลี่ยออกตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง? ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องนำมายื่นขอรับชำระหนี้บุริมสิทธินี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคสอง และบทบัญญัติมาตรา 41 วรรคท้าย กำหนดให้เฉพาะบุริมสิทธิตาม (2) แห่งมาตราดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งหากผู้จัดการนิติบุคคลได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ส่งรายการหนี้ของผู้ร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 41 วรรคท้าย ดังกล่าวแล้ว จึงถือว่ามูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิจำนองของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7569/2549

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สิน นั้นออกขายทอด เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนวันที่ประกาศขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมาย กำหนด


การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 มีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองและตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 (1) ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ย ทั้งสัญญาจำนองที่ดินก็ระบุให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ดังนี้ วงเงินจำนองตามที่ระบุในสัญญาจำนองหมายถึงเฉพาะหนี้เงินต้นไม่รวมถึงหนี้ ดอกเบี้ย ผู้รับจำนองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนองได้แต่ หนี้จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ การบังคับจำนองได้เพียงใดต้องพิจารณาจากหนี้ประธานว่ามีจำนวนเท่าใด ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับ ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7050/2549

ป.พ.พ. มาตรา 251 บัญญัติว่า "ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะ ได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือบทกฎหมายอื่น" ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าสิทธิของผู้ทรงบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้อัน ค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นได้ก่อนจะต้องอยู่ในกรอบแห่งบทบัญญัติของ กฎหมายด้วย ดังนี้ เมื่อบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ทั้งสามแปลงตามคำร้องของผู้ร้องมี บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในมาตรา 288 ว่า "บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นหากว่าเมื่อไปลงทะเบียนสัญญา ซื้อขายนั้น บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่าราคาหรือดอกเบี้ยในราคานั้นยังมิได้ชำระไซร้ บุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไป" บทบัญญัติแห่งมาตรานี้จึงชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้ความ เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องในกรณีนี้จะพึง ใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้นั้น ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย คือ ผู้ร้องจะต้องลงทะเบียนในขณะจดทะเบียนสัญญาซื้อขายด้วยว่า ราคาหรือดอกเบี้ยในราคาที่ยังมิได้ชำระมีเพียงใดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แก่บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินประเภทนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องจึงหามีสิทธิยกความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิอันพึงจะได้รับชำระหนี้ที่ ค้างชำระแก่ตนจากที่ดินทั้งสามแปลงก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ของจำเลย และได้ใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 278 บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยได้ไม่


ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 56597, 68579 และ 81546 ของจำเลยให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 คำร้องของผู้ร้องจึงเป็น "คำร้องขอ" และถือเป็น "คำฟ้อง" ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อเรียกราคาที่ยังมิได้ รับชำระพร้อมดอกเบี้ย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องชนะคดีได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ เมื่อ "คำร้องขอ" ของผู้ร้องเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565/2548

คำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามมาตรา 7 (2) ต้องเสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้น ศาลที่ออกหมายบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ย่อมหมายถึงศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ส่วนมาตรา 15 วรรคสอง มิได้บัญญัติให้ถือเสมือนหนึ่งว่าศาลที่บังคับคดีแทนเป็นศาลที่ออกหมาย บังคับคดี ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลที่ออกหมาย บังคับคดี


การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องและให้ผู้ร้องไปดำเนินการที่ศาลที่มี อำนาจต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับหรือคืนคำร้องนั้นไปเพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขต อำนาจ จึงต้องคืนค่าคำร้องแก่ผู้ร้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าคำร้องเป็นพับเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4662/2548

ผู้ร้องกับโจทก์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ต่าง รายกับโจทก์ในคดีนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายหรือจำหน่าย ที่ดินพิพาทที่เจ้าหนี้บังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสอง และเมื่อเป็นการจำนองโดยหนังสือสัญญาฉบับเดียวกันบุริมสิทธิของผู้ร้องและ บุริมสิทธิของโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดิน พิพาทตามคำพิพากษาของตนรวมกันได้ไม่เกินวงเงินจำนอง แม้สิทธิของผู้ร้องมิใช่เป็นสิทธิที่จะขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาชำระหนี้ตนก่อนโจทก์ในคดีนี้ตาม มาตรา 289 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ร้องไม่อาจยึดที่ดินจำนองพิพาทได้อีกเพราะที่ดินพิพาทของจำเลยตกอยู่ ในบังคับข้อห้ามมิให้ยึดซ้ำตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหนึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ของตนในคดีอื่นซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายสนับสนุนให้กระทำได้ดังเช่นการขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือการขอรับชำระหนี้จำนองหรือบุริมสิทธิโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมาย บังคับคดี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาเข้ามาในคดีนี้ ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4661/2548

การที่โจทก์และผู้ร้องได้ฟ้องบังคับชำระหนี้ต่างรายกันและขอให้บังคับจำนองโดย อาศัยหนังสือสัญญาจำนองฉบับเดียวกันแก่ที่ดินพิพาทเป็นคนละคดีกัน แม้ผู้ร้องกับโจทก์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ผู้ร้องก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งและเป็นเจ้า หนี้ต่างรายกับโจทก์ในคดีนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายหรือ จำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่ง การจำนองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 289 วรรคสอง และเมื่อเป็นการจำนองโดยอาศัยหนังสือสัญญาฉบับเดียวกันบุริมสิทธิของผู้ร้อง และบุริมสิทธิของโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้จาก ที่ดินจำนองพิพาทตามคำพิพากษาของตนรวมกันได้ไม่เกินวงเงินจำนอง ผู้ร้องไม่อาจยึดที่ดินจำนองพิพาทได้อีกเพราะตกอยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้ยึด ซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนในคดีอื่นได้จะต้องมี บทบัญญัติของกฎหมายสนับสนุน เช่น การขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือการขอรับชำระหนี้จำนองหรือบุริมสิทธิ โดยการยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาจากเงินที่ขายหรือจำหน่าย ที่ดินจำนองพิพาทร่วมกับโจทก์ในคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2548

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัยพ์สินจำนองออกขายทอดตลาด ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองไว้เท่ากับภาระหนี้จำนอง ที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ร้องว่าประสงค์จะให้นำทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด โดยปลอดจำนองและนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องก่อน อันถือได้ว่าเป็นการขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยอาศัย อำนาจแห่งการจำนองซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้า หนี้รายอื่น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7966/2547

หนี้ตามคำพิพากษาซึ่งผู้ร้องในฐานะโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดคดีนี้เมื่อมีการ จำนองเป็นประกัน แต่ผู้ร้องได้เลือกใช้สิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิดในหนี้ที่มีประกันอย่างเจ้า หนี้สามัญ มิได้ใช้สิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินอันเป็น หลักประกันที่จำเลยจำนองไว้แก่ผู้ร้องด้วย แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องก็เพียงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาเท่านั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 289 จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องประสงค์ จะให้ตนได้รับชำระหนี้จากที่ดินจำนองของจำเลยอันเป็นหลักประกันนอกเหนือไป จากการใช้สิทธิบังคับคดีตาม คำพิพากษาของศาลอย่างเจ้าหนี้สามัญ คำร้องที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองย่อมมีผลเป็นคำฟ้องขอให้บังคับจำนอง ซึ่งผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) (ค)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7125/2547

ผู้ร้องรับสินค้าเหล็กพิพาทลงเรือลำเลียงและลากเรือลำเลียงไปลอยลำไว้ในความ ดูแลเพื่อรอคำสั่งจากโจทก์และจำเลยให้ทำการขนส่งต่อไป จึงย่อมมีสิทธิยึดหน่วงเหล็กพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะและ อุปกรณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่รับสินค้าไว้ในความดูแล โดยสามารถใช้สิทธินี้ยันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งที่ออกไว้ สำหรับการขนส่งเหล็กพิพาทครั้งนี้ได้ การที่สินค้าเหล็กพิพาทได้ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรอายัดและตกอยู่ภายใต้ อารักขาของเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อนการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้มีสิทธิที่จะได้รับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามพิธีการศุลกากรให้เสร็จสิ้น ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาสละการครอบครองหรือเจตนาไม่ยึดถือเหล็กพิพาทไว้ ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ มาตรา 250 เมื่อผู้ร้องยังมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าอยู่ แม้ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้ยึดเหล็กพิพาทนั้นไว้เพื่อเอาชำระหนี้ ตามคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้ สิทธิยึดหน่วงของผู้ร้องสูญสิ้นไปเช่นกัน นอกจากผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องยังมีบุริมสิทธิเหนือสินค้าเหล็กนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 259 และมาตรา 267 สำหรับเอาค่าระวางพาหนะในการรับขน กับทั้งค่าใช้จ่ายอันเป็นอุปกรณ์และเป็นบุริมสิทธิมีอยู่เหนือของอันอยู่ใน มือของผู้ขนส่ง ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิในมูลรับขนก่อน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในมูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2546

คำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตรา ร้อยละเท่าใดนั้น เป็นปัญหา ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226 (2) และแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียวแต่ก็เป็นการ อุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตาม กฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168


ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยนั่นเอง คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) ท้าย ป.วิ.พ. ในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการ โต้แย้งในชั้นบังคับคดีของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมาย ของตาราง 1 ข้อ 1 (ค) ท้าย ป.วิ.พ.

หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 8/2546


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2740/2546

ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของ จำเลยที่ถูกโจทก์ในคดีดังกล่าวยึดไว้ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่น เพราะจำเลยจดทะเบียนจำนองประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคดี นี้ในวงเงิน 7,000,000 บาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงิน เกินบัญชีเลิกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2529 ให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญในต้น เงินไม่เกิน 7,000,000 บาท เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคดีนี้ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2529


การที่โจทก์ยื่นคำร้องในคดีก่อนขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระ หนี้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญหากมีการขายทอด ตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด จะนำวงเงินดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนหนี้ทั้งหมดแล้วพิพากษาในคดีนี้ให้ใน ส่วนที่คงเหลือไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2545

แม้เจ้าหนี้บุริมสิทธิมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เอาเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้สามัญ และมีสิทธิยื่นคำร้องให้ตนเข้าเฉลี่ยในเงินดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้สามัญได้ อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 และ 290 แต่ทั้งสองกรณีนี้เป็นการใช้สิทธิคนละมาตรา คนละเรื่อง และคนละประเด็นกัน เมื่อได้ความว่าหนี้ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่ผู้ร้องเป็นเพียงหนี้สามัญมิใช่หนี้บุริมสิทธิ ฉะนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย ที่ 1 มาชำระหนี้ตนก่อนนั้น ศาลจะสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดัง กล่าวแทนการอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์หาได้ไม่ เพราะเป็นการพิจารณาสั่งนอกฟ้องนอกประเด็นในคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2545

สิทธิของผู้ร้องเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้ จดทะเบียนของผู้ร้อง ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภาย นอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาของผู้ร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ รับจำนอง ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้นั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้อยู่ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 เช่นนี้ ผู้ร้องจึงต้องบรรยายมาในคำร้องขอโดยชัดแจ้งให้เห็นว่ามีข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น แต่ผู้ร้องมิได้บรรยายในคำร้องขอว่าโจทก์รับจำนองโดยไม่สุจริต จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้ามาสืบเป็น ข้อต่อสู้โจทก์ในประเด็นดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8900/2544

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยทั้งสิบสองแปลงโจทก์จึงมีหน้าที่ ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามมาตรา 149 แต่ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมย่อมตกอยู่แก่คู่ความที่แพ้ คดีซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วยตามมาตรา 161 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นบังคับคดีย่อมตกอยู่แก่จำเลย เมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระ แม้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม การบังคับคดีจึงต้องดำเนินต่อไป


โจทก์มิใช่เจ้าหนี้จำนองของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งมาตรา 289 ได้ ส่วนหากคำร้องดังกล่าวจะถือเป็นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา 290 ได้นั้น โจทก์ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลย แต่ตามคำร้องของโจทก์ไม่ได้ความเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่าคำร้องของโจทก์เป็นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา 290


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2544

โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินของจำเลยได้จากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ด้วย การที่โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน หมายถึงการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องวางเงินชำระ ราคาค่าซื้อที่ดินในฐานะผู้ซื้อ และโจทก์มีสิทธิรับเงินจากการขายทอดตลาดที่โจทก์นำมาวางชำระค่าที่ดินในฐานะ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ต้องชำระ และศาลอนุญาต โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ต้องรับเงิน จากการขายทอดตลาดไป แต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยจะร้องคัดค้านการขายทอดตลาด โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ แล้วไม่ได้


การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำบัญชีแสดง รายการรับ - จ่ายเงินก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคน ได้รับตามส่วนโดยถูกต้อง บทบัญญัติในมาตรา 318 ถึง 322 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นแต่เพียงวิธีการที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงิน ให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อจ่ายเงินไปครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว ก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง


โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยเพิ่ม เนื่องจากบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน ของเจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณ ไม่ถูกต้อง ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้จ่ายให้โจทก์รับไปตามหนี้จำนองที่โจทก์มีอยู่ เหนือที่ดินที่ขายทอดตลาดดังกล่าวครบถ้วนตามหนี้จำนองและเงินส่วนที่เหลือ ได้คืนให้จำเลย รับไปแล้ว เมื่อกรณียังไม่เป็นการแน่ชัดว่า เมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือ ที่โจทก์จะได้รับชำระอีกหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดและคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจาก ที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยพอชำระหนี้โจทก์พร้อม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยตามสิทธิของแต่ละฝ่าย และเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่โจทก์นำยึดเพิ่มต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2543

ศาลพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมโดย จำกัดความผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลย คนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงภายในวงเงินที่ต้องรับผิดหรือแต่โดยส่วน ก็ได้ตามแต่จะเลือก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะ ร้องขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดให้เพียงพอที่ จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ขอยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งไม่ติดจำนองโจทก์ แต่ติดจำนองผู้ร้อง และศาลชั้นต้นอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการขายทรัพย์ที่ติดจำนอง ให้ครบถ้วนก่อน หากได้เงินจำนวนเพียงพอที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 โดยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย จึงไม่เป็นการนำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชา ธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543

แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2542

ในวันที่จำเลยจดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทไว้แก่ผู้ร้อง ส. มีหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้แม้ ส. จะขอต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปโดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดก็ตาม แต่หลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้วผู้ร้องและ ส. ยังคงให้บัญชีเดินสะพัดเดินอยู่ต่อไป ทั้งปรากฏว่าผู้ร้องยังมิได้บอกเลิกสัญญาและยังให้บัญชีเดินสะพัดเดินต่อไป จึงเห็นได้ว่าคู่สัญญายังไม่ถือว่ามีการผิดนัดเมื่อหนี้ตามสัญญาเบิกเงิน เกินบัญชีระหว่าง ส. กับผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5881/2541

หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ผู้ร้องได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเงิน ที่จำเลยกู้ไปจาก ผู้ร้อง โดยก่อนที่ผู้ร้องจะมีการรับจำนองที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำเลยแจ้งผู้ร้องให้ทราบเรื่องที่จำเลยถูกโจทก์ ฟ้องเรียกเงินกู้ และศาลมีคำสั่งบังคับคดีแล้ว เมื่อการจำนอง ระหว่างจำเลยกับผู้ร้องได้ร่วมกันกระทำขึ้นทั้งที่รู้อยู่ว่า จะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ผู้ร้อง จึงไม่อาจที่จะขอรับชำระหนี้ก่อนโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2540

โฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อ ท. ภริยาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ในเบื้องต้น ท. ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เมื่อโจทก์คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้เห็นตามข้อกล่าวอ้าง ท.ภริยาจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดพิพาทไว้แก่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ทราบว่า จำเลยมี ส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่งผู้ร้องจึงมิได้ให้ท.นำจำเลยมาให้ ความยินยอมในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทตามระเบียบ และเมื่อโจทก์มิได้สืบพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ร้องรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริตจึงต้องถือว่าผู้ร้องรับจำนองโดย สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ดังนี้ การจำนองดังกล่าวจึงสมบูรณ์และมีผลผูกพันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนอง ทั้งหมดทุกส่วน ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดพิพาททั้งหมดก่อนเจ้าหนี้อื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3475/2540

โจทก์และผู้ร้องต่างก็เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุด โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ส.ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างที่ ส.ทำไว้กับโจทก์ และชำระหนี้ที่ ส.กู้ยืมไปจากผู้ร้องให้แก่ผู้ร้อง หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่ ส.จำนองไว้เป็นประกันหนี้ผู้ร้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ได้ จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์และผู้ร้อง โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ ส.จำนองไว้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นมรดกของ ส.เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ ผู้ร้องเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาจ้างที่ส.ทำไว้กับโจทก์บางส่วน แต่ได้ชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่อาจบังคับคดีได้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนโจทก์ซึ่งเป็น เจ้าหนี้สามัญ ตาม ป.พ.พ.มาตรา702 วรรคสอง และ ป.วิ.พ.มาตรา 289 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ แม้ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับ ส.อันเป็นมูลหนี้ในคดีนี้จะมีผู้ร้องเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งผู้ร้องทราบดีว่า หาก ส.ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของ ส.ก็ตาม ก็มิใช่เหตุที่จะทำให้สิทธิในการขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ ร้องเสียไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9722/2539

เงินที่จำเลยฝากตกเป็นของธนาคารผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับฝากแล้ว ผู้ร้องคงมีหน้าที่แต่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่จำเลยตกลงมอบเงินฝากพร้อมสมุดบัญชีฝากประจำไว้แก่ผู้ร้องโดยใช้ข้อความว่าเป็นการจำนำ ก็เพียงเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยจะพึงมีต่อผู้ร้อง แม้จะตกลงยินยอมให้ผู้ร้องนำเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้โดยไม่ ต้องบอกกล่าวหาทำให้ตัวเงินตามจำนวนในบัญชีเงินฝากยังเป็นของจำเลยอันผู้ ร้องจะยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ไม่ และโดยสภาพแล้วสิทธิการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากย่อมไม่อาจส่งมอบแก่กันได้อย่างสิทธิซึ่งมีตราสาร ความตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นการจำนำเงินฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 และการที่จำเลยมอบใบรับฝากประจำให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลย ก็มิใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750 ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ บุริมสิทธิจากการจำนำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5530/2539

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลในคดีแพ่งเรื่องอื่นให้เอาเงินที่ได้จากการขาย ทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ก่อนเจ้าหนี้อื่นๆย่อมเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยบุริมสิทธิของ เจ้าหนี้ผู้รับจำนองด้วยวิธีการเป็นพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา289ดังนั้นคู่ความในคดีดังกล่าวกับคดีนี้จึงเป็น คู่ความรายเดียวกันและเมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระ หนี้ในคดีดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่นนั้นถึงที่สุดแล้วและมูลหนี้กับหลัก ประกันคือสัญญาจำนองที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ก็เป็นประเด็นที่ศาลจะต้อง วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำร้องขอของโจทก์ในคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามมาตรา148


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2539

ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองตึกแถวพิพาทไว้จากจำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเพื่อให้ตนได้ รับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้สามัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาตรา 289 วรรคแรก เท่านั้น แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ตึกแถวพิพาทซึ่งจำเลยปลูกอยู่ใช้ สิทธิบังคับคดีขับไล่จำเลยให้รื้อถอนตึกแถวดังกล่าวออกไปย่อมไม่มีข้อโต้ แย้งเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับผู้ร้องหรือผู้ร้องเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียใน วิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวกับตึกแถวพิพาท ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนการยึดและระงับการรื้อถอนตึกแถวพิพาท