Pages

การชี้ขาดตัดสินคดี

มาตรา ๑๓๑ คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ให้ศาลปฏิบัติดังนี้
(๑) ในเรื่องคำขอซึ่งคู่ความยื่นในระหว่างการพิจารณาคดีนั้น โดยทำเป็นคำร้องหรือขอด้วยวาจาก็ดี ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือยกเสียซึ่งคำขอเช่นว่านั้น โดยทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าศาลมีคำสั่งด้วยวาจาให้ศาลจดคำสั่งนั้นไว้ในรายงานพิสดาร
(๒) ในเรื่องประเด็นแห่งคดี ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งหรือให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้

มาตรา ๑๓๒ ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร
(๑) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้อง หรือไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ และมาตรา ๑๙๓ ทวิ
(๒) เมื่อโจทก์ไม่หาประกันมาให้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๓ และ ๒๘๘หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายขาดนัดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๘, ๒๐๐ และ ๒๐๑
(๓) ถ้าความมรณะของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังให้คดีนั้นไม่มีประโยชน์ต่อไปหรือถ้าไม่มีผู้ใดเข้ามาแทนที่คู่ความฝ่ายที่มรณะดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒
(๔) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันหรือให้แยกกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘ และ ๒๙

มาตรา ๑๓๓ เมื่อศาลมิได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ให้ศาลชี้ขาดคดีนั้นโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่สิ้นการพิจารณาแต่เพื่อการที่จะพิเคราะห์คดีต่อไป ศาลจะเลื่อนการพิพากษาหรือการทำคำสั่งต่อไปในวันหลังก็ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

มาตรา ๑๓๔ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลที่รับฟ้องคดีไว้ ปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยอ้างว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดี หรือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นเคลือบคลุมหรือไม่บริบูรณ์

มาตรา ๑๓๕ ในคดีที่เรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเงิน หรือมีการเรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเงินรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา จำเลยจะนำเงินมาวางศาลเต็มจำนวนที่เรียกร้อง หรือแต่บางส่วน หรือตามจำนวนเท่าที่ตนคิดว่าพอแก่จำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องก็ได้ ทั้งนี้ โดยยอมรับผิดหรือไม่ยอมรับผิดก็ได้

มาตรา ๑๓๖ ในกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยยอมรับผิด ถ้าโจทก์พอใจยอมรับเงินที่จำเลยวางโดยไม่ติดใจเรียกร้องมากกว่านั้น และคดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปอีก ให้ศาลพิพากษาคดีไปตามนั้น คำพิพากษานั้นเป็นที่สุด แต่ถ้าโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินที่จำเลยวางและยังติดใจที่จะดำเนินคดีเพื่อให้จำเลยต้องรับผิดในจำนวนเงินตามที่เรียกร้องต่อไปอีก จำเลยมีสิทธิถอนเงินที่วางไว้นั้นได้ โดยให้ถือเสมือนว่ามิได้มีการวางเงิน หรือจำเลยจะยอมให้โจทก์รับเงินนั้นไปก็ได้ ในกรณีหลังนี้ โจทก์จะรับเงินไปหรือไม่ก็ตาม จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่วาง แม้ว่าจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย ทั้งนี้ นับแต่วันที่จำเลยยอมให้โจทก์รับเงินไป
ในกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยไม่ยอมรับผิด จำเลยจะรับเงินนั้นคืนไปก่อนที่มีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดไม่ได้ การวางเงินเช่นว่านี้ ไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยหากจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย

มาตรา ๑๓๗ ในคดีที่เรียกร้องให้ชำระหนี้อย่างอื่นนอกจากให้ชำระเงิน จำเลยชอบที่จะทำการชำระหนี้นั้นได้โดยแจ้งให้ศาลทราบในคำให้การหรือแถลงโดยหนังสือเป็นส่วนหนึ่งต่างหากก็ได้
ถ้าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้นั้นเป็นการพอใจเต็มตามที่เรียกร้องแล้วให้ศาลพิพากษาคดีไปตามนั้น และคำพิพากษานั้นให้เป็นที่สุด
ถ้าโจทก์ไม่พอใจในการชำระหนี้เช่นว่านั้น โจทก์ชอบที่จะดำเนินคดีนั้นต่อไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2551
คำฟ้องคดีแพ่งของโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมาอ้างในคำฟ้อง เพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอ ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 เมื่อโจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2536 ศาลมีอำนาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับแก่คดีได้

ธนูที่เกิดเหตุใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวังคาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิ ให้นำธนูไปใช้เล่นกัน เพราะยังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะถือ ปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกาย

จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2551
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในการพิจารณาคดีล้มละลาย แต่คำขอท้ายฟ้องมีใจความว่า ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเพิ่มเติม รายงานกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง และมีคำสั่งให้ศาลล้มละลายกลางนัดคู่ความมาพร้อมกันแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างเที่ยงธรรม หากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแทนคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลชั้นต้นก้าวล่วงเข้าไปแก้ไขกระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางซึ่งเป็นศาลที่อยู่ในลำดับชั้นเดียวกันได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับคดีโจทก์ไว้พิจารณาโดยยกฟ้องโจทก์เสีย เพราะเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แทนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2551

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 นำใบแต่งทนายความซึ่งไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นทนายความ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องดังกล่าว ย่อมมีผลให้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นไม่ชอบ ต้องถูกเพิกถอนเฉพาะส่วนเพื่อไม่ให้ผูกพันโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่ในตัวว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามมาตรา 131 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5023/2550

เมื่อตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจพิพากษาให้ได้ ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ได้ในชั้นตรวจคำฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) ไม่ต้องรอให้จำเลยยื่นคำให้การหรือให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบเสียก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665/2550

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วปรากฏว่าข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องเห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งงดสืบพยานโจทก์ จำเลย และพิพากษายกฟ้องไปได้เลย โดยไม่จำต้องให้คู่ความนำพยานเข้าสืบก่อน
ศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาเป็นหนังสือและมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยกับคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีครบถ้วนแล้ว ย่อมเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 แม้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวจะเกษียนไว้ในคำฟ้องก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2550

ที่ศาลล่างทั้งสองไม่คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นศาลชั้นให้โจทก์ เนื่องจากศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในเนื้อหาที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดีก่อนพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2550

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกโจทก์ให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง และศาลชั้นต้นส่งหมายนัดแจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว โดยวิธีรับหมายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 แต่โจทก์มิได้ดำเนินการชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงถือว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. 132 (1) นั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเท่ากับเป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์นั่นเอง ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับอุทธรณ์แล้วโจทก์จะร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์อีกไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5816/2550

จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาและคำสั่ง จำเลยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์คำพิพากษาให้แก่โจทก์อันถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจจำหน่ายคดีจากสารบบความหรือไม่ก็ได้ เมื่อคำแก้อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์มีเนื้อหาที่เป็นการแก้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของจำเลยแล้วพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2549

การที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 202 ประกอบด้วยมาตรา 132 บทบัญญัติสองมาตรานี้ไม่ได้กำหนดให้ศาลต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่างบทบัญญัติมาตรา 151 แห่ง ป.วิ.พ. แม้ตามมาตรา 132 จะมีข้อความว่า ให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร ก็เป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่ มิใช่บังคับให้ศาลต้องสั่ง กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่มีระเบียบให้ต้องคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่างการคืนค่าธรรมเนียมตามมาตรา 151 ที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5630/2548

ในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลภาษีอากรกลางนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18" คำว่า ให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ถือว่าศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้ก่อนไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2548

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ เพราะเห็นว่าการที่โจทก์จะออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้โจทก์นั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคำสั่งของศาลดังกล่าวเท่ากับเป็นการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย มีผลเป็นการวินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) กรณีมิใช่เรื่องสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2548

เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยภายใน 7 วัน หากไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ ถ้าไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ต่อมาเจ้าพนักงานศาลรายงานต่อศาลว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยตามภูมิลำเนาจำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้รอโจทก์แถลง แต่โจทก์ก็ไม่ได้แถลงว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อพิจารณาสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าว แต่กลับพิจารณาพิพากษาคดีไป จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี และกรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่จำหน่ายคดีฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707/2548

คำสั่งของศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีกรณีร้องขัดทรัพย์เพราะเหตุที่ผู้ร้องไม่นำเงินมาวางต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 132 (2) โดยเฉพาะ มิใช่เป็นการไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ไว้เสียทีเดียว ไม่เหมือนอย่างกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องหรือถอนฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งเรื่องค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่เสียไว้ในเวลายื่นคำฟ้อง กรีนี้เป็นการจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควรมิใช่เป็นการบังคับให้ศาลต้องสั่งคืนค่า ธรรมเนียมศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2546

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าคดีนี้อันเป็นคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์และมีคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเพื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการทวงหนี้แก่จำเลยทั้งสอง ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 25 บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ คดีนี้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การยกข้อต่อสู้คดีหลายประการ แต่ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดในคดีล้มละลายการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเท่ากับเป็นการให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 ได้ตกลงเจรจากับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของโจทก์แต่ผู้เดียวตามกฎหมาย หาทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียหายไม่ ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจจำหน่ายคดีของโจทก์จึงเป็นการชอบด้วย พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 25 และคำสั่งดังกล่าวก็มิได้อยู่ในบังคับที่ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131และมาตรา 132 มาใช้บังคับโดยอนุโลม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2546

คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2)ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมาตรา 148(3) เป็นข้อยกเว้นในเรื่องฟ้องซ้ำกรณีเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นแห่งคดีตามมาตรา 131(2) ได้ โดยคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่นั้นมีประเด็นเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเพียงว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงใด หาได้มีประเด็นว่าต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีเพียงใดไม่ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้อ้างส่งรายการบัญชีกระแสรายวันในวันที่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงทำให้ไม่ทราบว่าวันดังกล่าวจำเลยมีหนี้ต้นเงินค้างชำระอยู่เพียงใด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นั้น ก็เพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ได้ ซึ่งย่อมเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหาได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545

ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 4 นำพยานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย จำเลยที่ 4นำพยานเข้าสืบได้ 1 ปาก แล้วแถลงว่ายังติดใจสืบอีกเพียง 1 ปาก ขอเลื่อนคดีไปสืบพยานปากนี้ในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 4 ในวันที่ 19ธันวาคม 2540 เวลา 8.30 นาฬิกา แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงถือว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลยที่ 4 คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา นับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะจำเลยที่ 4 เป็นคู่ความที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบแล้วต้องถือว่าคดีเสร็จการพิจารณา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37 และมาตรา 133 วางหลักไว้ว่า ศาลจะต้องทำการนั่งพิจารณาต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี โดยให้ศาลมีคำพิพากษาในวันที่เสร็จสิ้นการพิจารณา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ว่าคดีเสร็จการพิจารณาและรอฟังคำพิพากษา และในวันดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545

วันนัดสืบพยาน จำเลยซึ่งต้องนำพยานเข้าสืบเป็นลำดับสุดท้ายไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงถือว่าไม่มีพยานมาสืบ สั่งงดสืบพยานให้คดีเสร็จการพิจารณา รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วในวันนั้น การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังพ้นกำหนดเวลา โดยอ้างว่าเพิ่งทราบคำพิพากษาเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาอุทธรณ์ไปแล้ว ถือเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ส่วนที่อ้างว่าเมื่อทราบแล้วจึงไปติดต่อคัดสำนวนใช้เวลาร่วมเดือนเศษก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ที่จะทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้อง ภายในกำหนดเวลาได้เช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องนั้น ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2545

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความเนื่องจากจำเลยถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย บทบัญญัติของกฎหมายในมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร ซึ่งต่างจากกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือในกรณีที่มีการถอนคำฟ้องหรือได้มีการ ตัดสินให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ หรือเมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยสัญญาหรือ การประนีประนอม ยอมความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนแก่คู่ความได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับ จำเลยทั้งหกเป็นพับจึงชอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ ซึ่งเกิดจากเหตุที่จำเลยทั้งหก ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น โจทก์ทั้งสองก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอีกด้วย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่คืน ค่าธรรมเนียมให้โจทก์ทั้งสองเลยนั้น น่าจะเป็นภาระแก่โจทก์ทั้งสองที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน คือ ค่าธรรมเนียมในการยื่นฟ้องคดีนี้และค่าธรรมเนียมในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกันที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้อง ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1175/2545
ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว หากคดีอาญาพิพากษาเสร็จแล้ว ให้โจทก์แถลงเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปภายใน 15 วัน มิฉะนั้นศาลจะไม่ยกคดีขึ้นพิจารณา โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล เมื่อโจทก์ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวแล้ว โจทก์มิได้แถลงต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาตามคำสั่งศาล และเพิ่งมายื่นคำร้องต่อศาลให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปหลังจากทราบคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วประมาณ 6 เดือน แสดงว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจปฏิบัติตามคำสั่งศาลกรณีจึงไม่มีเหตุสมควรยกคดีขึ้นพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2544

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับชำระเงิน 5,575,551.53 บาท จากโจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ยังเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าอยู่แก่จำเลย 5,575,551.53 บาท แต่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระหนี้ 6,565,377.55 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมาก โจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ยอดหนี้ แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเพียงทำให้การชำระหนี้ของโจทก์ ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิได้แน่นอนว่าจะชำระหนี้เป็นจำนวนใด อันทำให้โจทก์สามารถใช้สิทธิวางทรัพย์ด้วยการชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์เห็นว่าถูกต้อง ณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งหากเป็นจำนวนที่ถูกต้องโจทก์ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 331 เมื่อโจทก์มีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
การตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18" คำว่า ให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน
เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิอันเป็นกรณีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วนำข้อเท็จจริงในคำฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์และพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ซึ่งมีผลเป็นการพิจารณาคดี มิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ตามมาตรา 151

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2543
การที่โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานจึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรีโจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานได้
เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกไม่อาจจะพิพากษาให้ได้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบหกเสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องและคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งสิบหกทั้งหมดจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา43บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการที่จะเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายเท่านั้นค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องมาในคดีนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดพนักงานอัยการจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในคดีเดิมแทนผู้เสียหายไม่ได้โจทก์ในคดีนี้ซึ่งคือผู้เสียหายในคดีก่อนมิได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาเรื่องก่อนนั้นด้วยและการกระทำของจำเลยผู้เช่าซื้อซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้ออาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลละเมิดและในมูลหนี้แห่งสัญญาเช่าซื้อเมื่อในคดีอาญาเรื่องก่อนศาลมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ของโจทก์กรณีจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา144 การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถนำประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีอาญาเรื่องก่อนมาฟ้องร้องบังคับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา50,249มีคำสั่งให้ยกฟ้องค่าฤชาธรรมให้เป็นพับดังนี้เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา131(2)มีผลเป็นการพิพากษาแล้วมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา18จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา151


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5183/2538
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์เพราะจำเลยผิดสัญญาเช่าจำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งแต่งตั้งประธานกรรมการและผู้ว่าการของโจทก์เป็นโมฆะจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมส่วนฟ้องแย้งที่ขอให้บังคับโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินต่อมีกำหนด3ปีและมีสิทธิต่อสัญญาได้คราวละ3ปีตลอดไปเป็นฟ้องแย้งที่กล่าวอ้างสัญญาเช่าเดิมจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมแต่แม้ฟังได้ตามฟ้องแย้งศาลก็ไม่สามารถบังคับโจทก์ให้ทำสัญญาเช่าให้แก่จำเลยได้โดยชอบที่จะยกฟ้องแย้งส่วนนี้ในชั้นตรวจคำฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา131(2)การที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและคืนค่าขึ้นศาลส่วนนี้แก่จำเลยจึงไม่ชอบ