Pages

การขาดนัดยื่นคำให้การ

มาตรา ๑๙๗  เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

มาตรา ๑๙๘ ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว        ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

ถ้าโจทก์ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดไปตามมาตรา ๑๙๘ ทวิ แต่ถ้าศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะไม่ทราบหมายเรียกให้ยื่นคำให้การ ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้มีการส่งหมายเรียกใหม่ โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทนและจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดตามที่เห็นสมควรเพื่อให้จำเลยได้ทราบหมายเรียกนั้นก็ได้

มาตรา ๑๙๘ ทวิ  ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ในการกำหนดจำนวนเงินตามคำขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้
(๑) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน
(๒) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น

ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าจำเลยนั้นขาดนัดพิจารณา

ถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์

มาตรา ๑๙๘ ตรี  ในคดีที่จำเลยบางคนขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นไปก่อนและดำเนินการพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ยื่นคำให้การต่อไป แต่ถ้ามูลความแห่งคดีนั้นเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ให้ศาลรอการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การไว้ก่อน เมื่อศาลดำเนินการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ยื่นคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีสำหรับจำเลยทุกคน

ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานของคู่ความอื่นมิให้ถือว่าจำเลยนั้นขาดนัดพิจารณา

มาตรา ๑๙๙  ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จำเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้

ในกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคำขอของจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา ๑๙๙ ตรี มาก่อน จำเลยนั้นจะขอยื่นคำให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

มาตรา ๑๙๙ ทวิ  เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การแพ้คดี ศาลอาจกำหนดการอย่างใด ตามที่เห็นสมควรเพื่อส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน หรือศาลจะให้เลื่อนการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นไปภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นให้บังคับตามมาตรา ๒๗๓ มาตรา ๒๙๒ และมาตรา ๓๑๗

มาตรา ๑๙๙ ตรี  จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จำเลยนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่
(๑) ศาลเคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว
(๒) คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย

มาตรา ๑๙๙ จัตวา  คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น

คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย

มาตรา ๑๙๙ เบญจ  เมื่อศาลได้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่แล้ว หากเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ

ในการพิจารณาคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลเห็นว่าเหตุผลที่อ้างมาในคำขอนั้นผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้ ทั้งในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้านั้นผู้ขอได้ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ ในกรณีเช่นนี้ ถ้ามีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดยื่นคำให้การแพ้คดี ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ทราบด้วย

เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามวรรคสอง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่น ๆ ของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีเดียวกันนั้น และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว และให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นก่อนบังคับคดีได้ หรือเมื่อศาลเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะบังคับเช่นนั้น เพื่อประโยชน์แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอก ให้ศาลมีอำนาจสั่งอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควร แล้วให้ศาลพิจารณาคดีนั้นใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร

คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเหตุให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมมากกว่าที่ควรจะต้องเสีย ค่าฤชาธรรมที่เพิ่มขึ้นนั้นให้ถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอันไม่จำเป็นตามความหมายแห่งมาตรา ๑๖๖

มาตรา ๑๙๙ ฉ  ในกรณีที่โจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ ๑ นี้มาใช้บังคับเพียงเท่าที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งเช่นว่านั้นโดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559
 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2559
       โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 วันที่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ในคดีดังกล่าวจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กล่าวคือ คำขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดพิจารณา แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว คดีดังกล่าวศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าการส่งคำบังคับมีผลในวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เมื่อมิได้ขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 30 ตุลาคม 2545 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15503/2558
         กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา บัญญัติให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งในคดีล้มละลายแม้จะไม่มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยดังเช่นในคดีแพ่งก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกไปยังจำเลยเพื่อไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถือเสมือนว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งจำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12436/2558
         ศาลชั้นต้นไต่สวนและวินิจฉัยคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ว่า คำขอของโจทก์บรรยายเพียงเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา แต่มิได้บรรยายข้อคัดค้านว่า หากศาลพิจารณาคดีใหม่แล้วโจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดี ถือว่าคำขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์มิได้บรรยายให้ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ดังนั้น ไม่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีคำพิพากษาเป็นประการใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาอีกต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246, 142 (5) ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ย่อมไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514 - 10515/2558
           จำเลยร่วมถูกหมายเรียกเข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนอันเป็นกรณีร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ซึ่งตามมาตรา 58 ให้ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (3) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาหมดสิทธิที่จะขอศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอมาถูกต้องในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2558
           โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรอง ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัท ส. และเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนและประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างในเรื่องความเกี่ยวพันของจำเลยที่ 2 กับบริษัทดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีนี้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีความเกี่ยวพันกับบริษัทดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 2 ยังคงประกอบกิจการด้วยตนเองในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ ประกอบมาตรา 207 การที่ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าการขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาของคู่ความที่ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันควรและผู้ขอมีทางชนะคดีได้ การที่จำเลยที่ 2 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 ก็เพื่อหลบหนีการจับกุมตัวมาดำเนินคดีอาญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องดำเนินการขอให้ทางประเทศแคนาดาออกหมายจับและควบคุมตัวของจำเลยที่ 2 ไว้ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2539 แล้วดำเนินเรื่องขอส่งตัวกลับมาในราชอาณาจักร จนได้ตัวจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดีในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ภายหลังจำเลยที่ 2 เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลากว่า 13 ปีแสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าไม่ประสงค์ต่อสู้คดีทุกเรื่องที่ถูกฟ้องในประเทศไทย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 หลบหนีคดีอาญาไปนอกราชอาณาจักรเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เองจะนำมาอ้างในทำนองว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้เพื่อขอให้พิจารณาคดีในสำนวนของจำเลยที่ 2 ใหม่หาได้ไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2558
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องและออกหมายเรียกเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าคดีนั้นปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่เว้นแต่มาตรา 190 จัตวา มาใช้บังคับแก่คดีเช่นว่านั้นได้ภายในบังคับต่อไปนี้ (1) ให้ศาลออกหมายเรียกไปยังจำเลยแสดงจำนวนเงินที่เรียกร้องและเหตุแห่งการเรียกร้องและให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดโดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดี" จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในคดีไม่มีข้อยุ่งยาก กฎหมายกำหนดให้ศาลออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลและให้การในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด หมายเรียกคดีนี้กำหนดให้จำเลยทั้งสองมาศาลและให้การแก้ข้อหาแห่งคดีในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ก่อนถึงวันนัด 2 วัน จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและนัดพิจารณาคดีออกไป 60 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ส่วนวันนัดพิจารณาคดีศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้เลื่อน จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ได้จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 โดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง (1) แล้ว เมื่อถึงวันนัดคู่ความมาศาล ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วแถลงว่าประสงค์จะเจรจาตกลงกัน ขอให้นำคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยของศาล โดยนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 18 สิงหาคม 2549 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยก็ไม่ทำให้ระยะเวลาในการยื่นคำให้การต้องขยายออกไป นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความในวรรคสอง (2) และ (3) แล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่มีข้อยุ่งยากโดยเร็วเท่าที่พึงกระทำได้ โดยห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอของจำเลยเพื่อเลื่อนเวลายื่นคำให้การหรือเพื่อเลื่อนคดี เว้นแต่จำเลยจะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า คำขอของตนมีเหตุผลดีและสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่า จำเลยมีข้อต่อสู้คดีอันสมควร การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในวันที่ 11 สิงหาคม 2549 เป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบแล้วและโดยเหตุที่คดีไม่มีข้อยุ่งยากกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นมิได้กำหนดให้ศาลต้องสอบถามคำให้การของจำเลยเหมือนดั่งคดีมโนสาเร่ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ขาดนัดยื่นคำให้การไปก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีหน้าที่ต้องสอบถามคำให้การจำเลยทั้งสองในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ที่มีการสืบพยานโจทก์ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12501/2558
   แม้คำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะมีผลให้ถือว่าคำพิพากษาเดิมที่พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกันเป็นอันเพิกถอนไปในตัว แต่คำพิพากษาที่ถูกเพิกถอนนั้น ก็มีผลผูกพันเฉพาะโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดี หามีผลต่อผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีที่อ้างว่า ถูกกระทบสิทธิเนื่องจากเป็นผู้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์หลังจากศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วไม่ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2558
          จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายของพนักงานเดินหมายด้วยวิธีปิดหมาย กฎหมายกำหนดให้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มเติมออกไปอีก 15 วัน เมื่อเจ้าพนักงานส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ให้แก่จำเลยโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กรณีจึงต้องให้ระยะเวลาแก่จำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ตามที่ระบุในหมายเรียก ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบไปฝ่ายเดียว และรอฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว เท่ากับจำเลยอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 มิใช่คำร้องเพื่อขอใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี จัตวา และเบญจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2558
           จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายของพนักงานเดินหมายด้วยวิธีปิดหมาย กฎหมายกำหนดให้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มเติมออกไปอีก 15 วัน เมื่อเจ้าพนักงานส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ให้แก่จำเลยโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กรณีจึงต้องให้ระยะเวลาแก่จำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ตามที่ระบุในหมายเรียก ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบไปฝ่ายเดียว และรอฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว เท่ากับจำเลยอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 มิใช่คำร้องเพื่อขอใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี จัตวา และเบญจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2556
            จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรกมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองโดยบรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กำหนดไว้ จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 หรือ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10877/2554
           คดีนี้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทของจำเลยเนื่องจากเดิมศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนั้น การที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาจึงเป็นการกระทำโดยชอบ แม้ต่อมาการยึดที่ดินพิพาทต้องถูกเพิกถอนไปเนื่องจากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้วให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ นั้นเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิได้เกิดจากข้อบกพร่องของโจทก์ในการบังคับคดี อย่างไรก็ตามเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยต่อไปได้ เพียงแต่การบังคับคดีที่โจทก์ได้ดำเนินการผ่านเจ้าพนักงานบังคับคดีมาแล้ว ถือได้ว่ามีเหตุสมควรและ มีความสุจริตในการบังคับคดี จึงไม่สมควรที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายจากผลของการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำร้องของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10870/2553
         จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าบ้านซึ่งโจทก์อ้างมาในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น ไม่มีสภาพเป็นบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้ คงมีเพียงเสาบ้านเท่านั้นและจำเลยไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว จึงไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่เจ้าพนักงานศาลนำไปส่ง ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แม้จำเลยจะยื่นคำขอโดยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลและยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา ก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงก่อนว่าเป็นไปตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9402/2553
             จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แม้ต่อมาก่อนวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์ขอถอนคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตแล้ว โจทก์ยังคงเป็นคู่ความในคดีและมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ได้ต่อไป ทั้งการพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์และจำเลยที่ 4 ส่วนเจ้าหนี้มิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในชั้นนี้ เมื่อวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์ไม่คัดค้านการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลล้มละลายกลางจึงชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 พิจารณาคดีใหม่ได้โดยไม่ต้องไต่สวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3040/2552
      ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การที่ จะถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ในระหว่างสืบพยานได้ โดยจำเลยจะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก โจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก ไม่ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าจำเลยซึ่งมาศาลขอใช้สิทธิถามค้าน กระทั่งในวันสืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย จำเลยมาศาล แต่ไม่ใช้สิทธิถามค้าน เพราะในบันทึกคำพยานโจทก์ดังกล่าว มีข้อความว่า "ตอบจำเลยถามค้าน (ไม่ถาม)" ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า หมดพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษา จำเลยก็ไม่โต้แย้งกลับลงชื่อรับทราบ ถือว่าจำเลยไม่ใช้สิทธิถามค้านแล้ว จึงเอาเหตุที่มิได้ถามค้านดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในภายหลังว่า เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้ศาลยกเลิกกระบวนพิจารณานั้นไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15139/2551
    โจทก์บรรยายฟ้องโดยตั้งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของ โจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ บ. ขับและถูกจำเลยกระทำละเมิด โดยโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน 41,526.97 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้ทำละเมิด เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลปฏิบัติในการกำหนดจำนวนเงินตามคำขอบังคับของโจทก์ ดังนี้ (1) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน และ (2) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้ โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 41,526.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นการอ้างเหตุว่าโจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยซึ่งถูกจำเลยกระทำ ละเมิด อันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องมาจากเรื่องละเมิดและเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่า สินไหมทดแทน คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจกำหนดจำนวนเงินได้โดยแน่นอน ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ซึ่งบัญญัติให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนตาม มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ที่ให้อำนาจศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการ สืบพยานไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2548 ว่าเป็นกรณีโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน อนุญาตให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยาน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งใน ข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องพิจารณาคดีและการ พิจารณาพยานหลักฐาน อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้น ต้นได้ แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ก็ตาม ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (2), 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2550
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 (เดิม) (ปัจจุบัน มาตรา 199 จัตวา, 207) คำขอให้พิจารณาใหม่ ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากาษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการที่ล่า ช้านั้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 ด้วยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2540 ซึ่งการส่งคำบังคับมีผลใช้ได้วันที่ 22 ธันวาคม 2540 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 1 มีนาคม 2544 จึงเป็นการล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ถูกคนร้ายยิงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2520 จนร่างกายพิการต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ตามวัดแถบภาคอีสานเป็นเวลาหลายปี จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและทราบว่าศาลออกคำบังคับแล้ว อันเป็นการอ้างเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่งคำบังคับเพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวมาในคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับตั้งแต่วันที่เท่าใด เพื่อให้ทราบว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด จึงไม่อาจเริ่มต้นนับกำหนด 15 วัน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นได้ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าและเหตุแห่งการที่ล่า ช้านั้น คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2550
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนโดยเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ว่าผู้รับมอบฉันทะ ของทนายจำเลยจดวัดนัดผิดพลาดฟังไม่ขึ้น ทั้งคำร้องของจำเลยมิได้แสดงข้อคัดค้านโดยชัดแจ้งซึ่งคำตัดสินชี้ขาดของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 207 ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยเพียงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยมีโอกาส นำพยานเข้าไต่สวนโดยไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยแพ้คดี โดยขาดนัดพิจารณา จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาล ชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา 229

คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยกล่าวเพียงว่า การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว ทำให้จำเลยเสียเปรียบหากจำเลยมีโอกาสนำพยานเข้าสืบหลังจากโจทก์สืบพยานเสร็จ แล้วย่อมมีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป มิได้กล่าวว่าจำเลยมีพยานหลักฐานอย่างใดที่จะนำมาหักพยานโจทก์อันจะแสดงให้ เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่แล้วตนอาจเป็นฝ่ายชนะ จึงเป็นคำร้องที่มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ตามประมวบกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ประกอบมาตรา 207 ถือว่าเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2550
ป.วิ.พ. มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติบังคับให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นใช้บังคับ เฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นตลอดจนการ อุทธรณ์คำสั่งอื่นๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้น ต้นเท่านั้น คดีนี้ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบสลากออมสินพิเศษและจด ทะเบียนแก้ชื่อผู้มีสิทธิและ/หรือผู้เป็นเจ้าของให้มีชื่อโจทก์เป็นผู้มี สิทธิและได้รับสิทธิประโยชน์ในสลากออมสินพิเศษเพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณา ใหม่ของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดีเท่านั้น การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยในชั้นนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้น ต้น ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาล ชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3914/2550
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้า 971,497.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดคำนวณถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 1,033,836.87 บาท เป็นคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) แม้การซื้อขายดังกล่าวจะมีข้อตกชำระค่าสินค้าเป็นงวดและโจทก์ฟ้องขอให้ บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าไม่ครบจำนวนตามสัญญาเนื่องจากจำเลยชำระค่าสินค้า บางส่วนแก่โจทก์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีของโจทก์กลับกลายเป็นคดีที่โจทก์มีคำขอ บังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน การที่โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนิน กระบวนพิจารณาไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2549
การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยตามคำร้องลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยตามคำ ร้องลงวันที่ 23 สิงหาคม 2544 และวันที่ 9 มกราคม 2546 ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องทั้งสองฉบับแล้วว่าไม่ครบหลัก เกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสองและมาตรา 199 เบญจ วรรคสอง การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ พิจารณาคดีใหม่นั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาเป็นประการใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุด ตามมาตรา 199 เบญจ วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2549
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ จึงอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่แล้ว จึงเป็นที่สุด โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ แม้จำเลยมิได้ฎีกาในข้อที่โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์นี้แต่ปัญหานี้เป็นข้อ กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2549
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2548
ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 ระบุว่า ในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มึสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราคงที่หลังจากนั้นโจทก์จึงมีสิทธิ ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดแล้ว โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ซึ่งหากจำเลยไม่ผิดนัดโจทก์ยังไม่มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในขณะ นั้นได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นจึงมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตาม สัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสีย หายอันเกิดแต่การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงจึงชอบด้วย มาตรา 383

กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะมีพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็น ว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องดอกเบี้ยโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์ อ้างส่งเป็นพยานแล้วเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับ เป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2548
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมและจำนองเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็น เงินจำนวนแน่นอน เมื่อจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน จำเลยขาดนัดพิจารณา ป.วิ.พ. มาตรา 206 วรรคสอง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198 ทวิ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่เห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน ได้ ชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9101/2547
เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้วก็ต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายในสิบห้าวัน มิฉะนั้นให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 197 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและหากประสงค์จะยื่นคำให้การกฎหมายก็ได้บัญญัติทางแก้ไว้ โดยจำเลยที่ 2 อาจยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำให้ การได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าประสงค์จะต่อสู้คดี กับแสดงให้ศาลเห็นว่า การขาดนัดยื่นคำให้การมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 199 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.พ. การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การเพียงแต่ยื่นคำให้การเข้ามาลอยๆ โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการยื่นคำให้การต่อศาลโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340 - 4341/2545
ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การได้ต่อเมื่อโจทก์มีคำขอ แต่การที่โจทก์มิได้ขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้หมายความ ว่าจำเลยไม่ขาดนัดยื่นคำให้การ เพราะเมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ต้องถือว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคแรก (เดิม) แล้วผลของการที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวมีเพียงว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป เท่านั้น หากโจทก์ไม่ยื่นคำขอ ก็เป็นผลทำให้ศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความได้ตาม มาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าจำเลย ขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ เหตุนี้การขออนุญาตยื่นคำให้การตามมาตรา 199(เดิม) จึงไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 198 วรรคแรก (เดิม) ก่อน

การที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การเป็นการขออนุญาตยื่นคำให้การ เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ซึ่งหากจะถือว่าเป็นการขอขยายระยะเวลา จำเลยจะต้องอ้างทั้งพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตาม กฎหมายและอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำขอขยายระยะเวลานั้นก่อนสิ้นระยะ เวลายื่นคำให้การด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่ตามคำร้องขอของจำเลยอ้างเหตุที่มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้น มิได้อ้างพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยจึงไม่อาจถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาล ชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยได้

จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกให้ให้การและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ที่หลงลืมเพราะมีธุระส่วนตัวต้องทำจึงไม่อาจยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดมิ ใช่เหตุผลอันสมควร ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มีทนายความในคดีอาญาที่เกี่ยวกับคดีที่ตนถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งอยู่แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจติดต่อกับทนายความของตนเพื่อยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลา ยื่นคำให้การหรืออาจขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยอ้างพฤติการณ์พิเศษอย่าง ใดอย่างหนึ่งได้ แต่จำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ในการดำเนินการดังกล่าวหรือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำ ให้การโดยมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ได้

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้ตามคำฟ้องและใน กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ จำเลยมีสิทธิที่จะสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งจำเลยก็ได้สาบานตนให้การเป็นพยาน และถามค้านพยานโจทก์ในข้อที่ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลมาตรา 249 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622/2541
ในการส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ครั้งแรกนั้น เจ้าพนักงานศาลส่งไม่ได้ โจทก์จึงขอให้ส่งใหม่โดยปิดหมายซึ่งในครั้งหลัง เจ้าพนักงานศาลระบุว่า ไม่พบผู้รับตามหมาย คนในบ้านแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ไปธุระและไม่มีผู้รับหมายไว้แทนจึงปิดหมายตามคำสั่งศาล แสดงว่าคนในบ้านยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ที่บ้านตามภูมิลำเนาที่โจทก์ระบุในฟ้องที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ย้ายภูมิลำเนาโดยมี ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 2 ย้ายไปอยู่ที่เดียวกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏเหตุผลในการย้ายของจำเลยที่ 1 และ ส. ทั้งที่บริษัทจำเลยที่ 2 ยังมิได้จดทะเบียนเลิกกิจการและมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของ จำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาเดิมของตน การส่งหมายเรียกสำเนาฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์และคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าตนถูกฟ้องแล้วตั้งแต่เจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้ แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่