Pages

ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม

มาตรา ๑๖๑ ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี
คดีที่ไม่มีข้อพิพาทให้ฝ่ายเริ่มคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียม

มาตรา ๑๖๒ บุคคลที่เป็นโจทก์ร่วมกันหรือจำเลยร่วมกันนั้น หาต้องรับผิดร่วมกันในค่าฤชาธรรมเนียมไม่ หากต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมหรือลูกหนี้ร่วมหรือศาลได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๖๓ ถ้าคดีได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยการตกลง หรือการประนีประนอมยอมความหรืออนุญาโตตุลาการ คู่ความแต่ละฝ่ายย่อมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาของตน เว้นแต่คู่ความจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๖๔ ในกรณีที่วางเงินต่อศาลตามมาตรา ๑๓๕, ๑๓๖ นั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมแห่งจำนวนเงินที่วางนั้นอันเกิดขึ้นภายหลัง
ถ้าโจทก์ยอมรับเงินที่วางต่อศาลเป็นการพอใจเต็มตามที่เรียกร้องแล้ว จำเลยต้องเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม
ถ้าโจทก์ยอมรับเงินที่วางต่อศาลนั้นเป็นการพอใจเพียงส่วนหนึ่งแห่งจำนวนเงินที่เรียกร้อง และดำเนินคดีต่อไป จำเลยต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเว้นแต่ศาลจะได้พิพากษาให้โจทก์แพ้คดี ในกรณีเช่นนี้โจทก์ต้องเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้นอันเกิดแต่การที่ตนไม่ยอมรับเงินที่วางต่อศาลเป็นการพอใจตามที่เรียกร้อง

มาตรา ๑๖๕ ในกรณีที่มีการชำระหนี้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗ ถ้าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้นั้นเป็นการพอใจเต็มตามที่เรียกร้องแล้ว จำเลยต้องเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ถ้าโจทก์ไม่พอใจในการชำระหนี้เช่นว่านั้น และดำเนินคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ถ้าศาลเห็นว่าการชำระหนี้นั้นเป็นการพอใจเต็มตามที่โจทก์เรียกร้องแล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสิ้นอันเกิดแต่การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้นั้นโจทก์ต้องเป็นผู้รับผิด

มาตรา ๑๖๖ คู่ความฝ่ายใดทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ได้ดำเนินไปโดยไม่จำเป็น หรือมีลักษณะประวิงคดี หรือที่ต้องดำเนินไปเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คู่ความฝ่ายนั้นต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนั้น โดยมิพักคำนึงว่าคู่ความฝ่ายนั้นจักได้ชนะคดีหรือไม่

มาตรา ๑๖๗ คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกสารบบความแล้วแต่กรณี แต่ถ้าเพื่อชี้ขาดตัดสินคดีใด ศาลได้มีคำสั่งอย่างใดในระหว่างการพิจารณา ศาลจะมีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับกระบวนพิจารณาที่เสร็จไปในคำสั่งฉบับนั้น หรือในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีก็ได้แล้วแต่จะเลือก
ในกรณีที่มีข้อพิพาทในเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นในคดี ให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับข้อพิพาทเช่นว่านี้ในคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทนั้น
ในกรณีที่มีการพิจารณาใหม่ ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับการพิจารณาครั้งแรก และการพิจารณาใหม่ในคำพิพากษาหรือคำสั่งได้

มาตรา ๑๖๘ ในกรณีคู่ความอาจอุทธรณ์ หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้นั้น ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว เว้นแต่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นจะได้ยกเหตุว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย

มาตรา ๑๖๙ เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแล้ว ให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมชั้นต้นทำบัญชีแสดงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปโดยลำดับ และจำนวนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายจะต้องรับผิดตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจขอสำเนาบัญชีเช่นว่านั้นได้

มาตรา ๑๖๙/๑ ถ้าบุคคลซึ่งต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมค้างชำระค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลก็ดีหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดี หรือต่อบุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ดี ศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบุคคลเช่นว่านั้นอาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลนั้นเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบุคคลที่มีสิทธิได้รับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น แล้วแต่กรณีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีทั้งปวง แต่หากยังมีเงินที่ได้จากการบังคับคดีคงเหลือภายหลังชำระให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ ให้หักค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นดังกล่าวไว้จากเงินนั้น

มาตรา ๑๖๙/๒ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖๙/๓ ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โดยให้หักออกจากเงินที่ได้จากการยึด อายัด ขาย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจากเงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางไว้
ในกรณีที่มีการบังคับคดีแก่ผู้ค้ำประกันในศาล ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีในส่วนนั้นให้หักออกจากเงินที่ได้จากการบังคับคดีตามสัญญาประกัน
ในกรณีที่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมหรือมรดกให้เจ้าของรวมหรือทายาทผู้ได้รับส่วนแบ่งทุกคนเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยให้หักออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือทรัพย์มรดกนั้น
ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา ๒๙๕ (๑) ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี

มาตรา ๑๖๙/๓ บุคคลใดทำให้ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีส่วนใดโดยไม่จำเป็นหรือมีลักษณะประวิงการบังคับคดี หรือที่ต้องดำเนินไปเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเพราะบังคับคดีไปโดยไม่สุจริตก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง ผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลเช่นว่านั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10342/2551
คำ ฟ้องฎีกาของจำเลยบรรยายแต่เพียงว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1089/2544 ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า บ. เป็นหนี้จำนองโจทก์ โดยจำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ที่โจทก์มาดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นฟ้องซ้ำ โดยไม่ได้กล่าวบรรยายฟ้องให้เห็นว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีแพ่งดังกล่าวเป็น ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกันมาแล้วอย่างไร อันจะเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คำฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อ กฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 737 แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้
ค่าฤชาธรรมเนียมศาลตามที่บัญญัติไว้ในตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีให้ตกอยู่ แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีและวรรคสองยังบัญญัติอีกว่า ค่าฤชาธรรมเนียมให้รวมถึงค่าทนายความ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์มานั้น จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2551
ค่า เสียหายเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ซึ่ง ลูกหนี้ต้องรับผิดนั้นเป็นค่าเสียหายซึ่งเป็นผลธรรมดาหรือผลโดยตรงจากการไม่ ชำระหนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้และฟ้องคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องอุทธรณ์ฎีกาและบังคับคดีมิใช่ผลเกิดขึ้นโดยตรงจาก การผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ และไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษอันลูกหนี้อาจคาดเห็นหรือควร ได้คาดเห็น ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าว ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความ ฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดีให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตใน การสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบ แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2551
บท บัญญัติตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. อัตราค่าทนายความกำหนดตามทุนทรัพย์แห่งคดีหาใช่กำหนดตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดี ไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.43 โดยประมาณ จากทุนทรัพย์ 7,000,000 บาท และอยู่ในเกณฑ์ระหว่างอัตราขั้นต่ำ 600 บาท ถึงอัตราขั้นสูง 350,000 บาท ตามกฎหมาย จึงถือมิได้ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลจะกำหนดความรับผิดชั้นที่สุดของคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งโดยหลักต้องตกแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น บทบัญญัติวรรคดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและ ความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง และเมื่อค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติในวรรคสอง ของมาตราเดียวกัน แม้ค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตลอดถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการ ดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้แก่โจทก์สูงมากเกินควร ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6620/2550
ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง ในกรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจึงมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในศาลให้แก่ผู้อื่น เมื่อกระทรวงการคลังโจทก์ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความจึงชอบที่ศาล จะมีคำสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีชดใช้ค่าทนายความ แทนโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4266/2550
ส่วนค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์สมัครใจต่อสู้คดีในคดีก่อนมาตั้งแต่ต้น โดยให้การปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการในนามของโจทก์และไม่ได้นำสินค้ามาใช้ในราชการของโจทก์ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์แต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดเนื่องจาก จำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่ อ. ไปในคดีก่อนนั้น ฟังได้ว่าเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อมาและนำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้นำไปใช้ในการส่วนตัวของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด นอกจากนี้หนี้ค่าดอกเบี้ย ถือได้ว่าเป็นหนี้อุปกรณ์ เมื่อหนี้ประธานจำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดแล้ว หนี้อุปกรณ์จำเลยทั้งสองก็ไม่จำต้องรับผิดด้วยส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่า ทนายความตามที่โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ในคดีก่อนที่โจทก์ถูกฟ้อง เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ดังกล่าว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 เมื่อมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมรวมถึงค่า ทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อนจากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3070/2550
ผู้ ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง แม้โจทก์คัดค้านก็ไม่ถือว่าผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อโจทก์ จำเลยมีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกขายทอดตลาดได้ ไม่ใช่โจทก์ต้องรับผิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายคัดค้านเสมอไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2550
การกำหนดให้คู่ความชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาล โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความ ทั้งปวง ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ชนะคดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทน โจทก์ผู้แพ้คดีได้
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ต้องทำเป็นหนังสือนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ให้แสดงเหตุแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ฉะนั้น เมื่อศาลต้องวินิจฉัยข้อหาในคำฟ้องทุกข้ออันเป็นเรื่องในประเด็นแห่งคดีแต่ ค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความต้องรับผิดตามมาตรา 161 มิใช่เรื่องในประเด็นแห่งคดี เพียงแต่มาตรา 141 (5) ให้มีคำวินิจฉัยตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมด้วยเท่านั้น ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4788/2549
การสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 นั้น ศาลต้องสั่งให้ชัดแจ้งว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องโจทก์หรือฟ้องแย้ง ของจำเลย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยไม่กำหนดให้ครบถ้วนถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4660/2549
กรณี ที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่าราคาทรัพย์สินที่ยึดหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5642 - 5644/2548
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งค่าฤชาธรรมเนียม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ก็ไม่ถูกต้อง เพราะแม้คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลจะสั่งให้พิจารณารวมกัน แต่การสั่งค่าฤชาธรรมเนียมต้องพิจารณาสั่งแยกเป็นรายสำนวน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4975/2533
จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สลักหลัง ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 989จึงเป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในค่าฤชาธรรมเนียม แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 4 จำกัดอยู่เพียงไม่เกินจำนวนเงินในเช็คพิพาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทราบดีตั้งแต่ตอนต้น ฉะนั้น การที่จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเกินไปกว่านี้ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อจำเลย ที่ 4แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ไว้ เพิ่งจะยกขึ้นในฎีกาก็ตามศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ตลอดไปถึงศาลล่างได้ด้วย