Pages

คำพิพากษาผูกพันคู่ความ

มาตรา ๑๔๕ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒ (๑), ๒๔๕ และ ๒๗๔ และในข้อต่อไปนี้
(๑) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(๒) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวันนัดสืบพยาน แต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าวกับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ให้ต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา หากโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนจริงโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดข้อตกลงชำระหนี้ แต่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นอันระงับ ให้งดการบังคับคดี และบังคับให้จำเลยแจ้งถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งผูกพันโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2551
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้กำหนดเวลาชำระหนี้แต่ละงวดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งหากจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ถือเอาเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก แม้โจทก์จะรับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ซึ่งชำระไม่ตรงตามกำหนด โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งสองก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ประสงค์จะบังคับคดีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้งวดต่อไปให้ตรงตามกำหนด เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงชำระหนี้งวดที่ 5 ไม่ตรงตามกำหนดอีก จึงเป็นผู้ผิดนัด
จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แม้โจทก์จะทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด มีมติให้ซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2551
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้และคดีก่อนโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์มิได้ใช้ภาระจำยอม 10 ปี และภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีก่อน เพราะข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ ถือว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของสามยทรัพย์ ผลแห่งคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามมาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2551
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า เหตุที่ผู้คัดค้านมิได้ระบุหลักประกันเหนือที่ดินของลูกหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ที่ผู้คัดค้านได้ยื่นไว้ด้วยเนื่องจากพลั้งเผลอ และขออนุญาตเพิ่มเติมหลักประกันในคำขอรับชำระหนี้ มิใช่เรื่องการเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในคำขอรับชำระหนี้ แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันด้วยต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการละเว้นนั้นมิได้เกิดจากการพลั้งเผลอ คดีถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2522 มาตรา 14 และมีผลให้ผู้คัดค้านจะต้องคืนหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องและสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 ผู้คัดค้านย่อมไม่อาจยกข้อกล่าวอ้างหรือนำสืบในภายหลังอันเกี่ยวกับประเด็นกันนั้นอีกได้ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ผู้คัดค้านคืนหลักประกันและเพิกถอนรายการจดทะเบียนจำนองหลักประกันว่า ผู้คัดค้านมิได้ปกปิดหลักประกันก็ดี ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเนื่องจากความพลั้งเผลอก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำร้องของผู้คัดค้านมาแล้ว จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2551
คำพิพากษาย่อมมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งเท่านั้น ไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 เมื่อเจ้าหนี้ผู้นำยึดคือโจทก์ในคดีนี้เป็นบุคคลภายนอกในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงหาอาจอ้างคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเพื่อให้คดีนี้ต้องถือตามได้ไม่ ผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบตามข้ออ้างในคำร้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ผู้ร้องและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำร้องนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องไต่สวนก่อน
กรณีที่จะเป็นการขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 ต้องเป็นกรณีที่โจทก์หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนวนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นและขอเฉลี่ยทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน ซึ่งมิใช่เป็นการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องจำหน่ายคดีตามมาตรา 202 มาบังคับใช้ เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ และสั่งยกคำร้องจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10261/2550
โจทก์และจำเลยในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกัน โดยคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือขอให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปออกโฉนดว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง ก็เนื่องมาจากว่าจำเลยมิได้ร้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ออกโฉนดดังกล่าวโดยมิชอบ แต่จำเลยกลับมีคำขอให้บังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยย่อมไม่จำต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์กันอีก เนื่องจากที่พิพาทเป็นของจำเลยอยู่แล้ว ที่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้นั้นจึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องมีการบังคับตามคำขอ มิใช่คำฟ้องไม่สมบูรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอให้ได้เท่านั้น คู่ความยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. 145

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2550
โจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่างกันเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 28326/2541 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและพิพากษาให้จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) โดยรับรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปในสภาพปัจจุบัน ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวจึงย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสามในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างหรือโต้เถียงให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากเดิมไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วยก็ตาม เมื่อเป็นกรณีคำพิพากษาผูกพันคู่ความแล้วก็ต้องฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เพื่อให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้ออีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5784/2550
ทนายความของจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามอำนาจที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความ แม้จะไม่ได้ปรึกษากับจำเลยก่อน ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณามิใช่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ หากจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้รับความเสียหายเป็นประการใดก็ชอบที่ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของจำเลยตามกฎหมาย
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตามมาตรา 138 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมย่อมถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องโดยอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ความมุ่งหมายของจำเลยคือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ แม้จำเลยจะเพิ่งทราบเหตุหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ดังนั้น จำเลยจะมาฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยอ้างว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4776/2550
โจทก์และจำเลยเป็นคู่ความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยจำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทได้ไม่ต้องรื้อถอนบ้านที่ปลูกรุกล้ำที่ดินพิพาท คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะได้กล้าวอ้างเป็นประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท แต่เมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมามิได้ยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยมิได้อุทธรณ์ ประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์จึงยุติถึงที่สุดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์อยู่ เพียงแต่จำเลยคงมีสิทธิใช้ได้ต่อไปโดยไม่ต้องรื้อถอนบ้านออกไปเท่านั้น การที่จำเลยครอบครองบ้านดังกล่าวย่อมเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ แม้จะครอบครองมาเกิน 10 ปีแล้ว ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้ค่าใช้ที่ดินจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2550
คดีเดิมมีประเด็นว่าโจทก์ในคดีนี้ผิดสัญญาเช่าหรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่หรือไม่ คดีนี้โจทก์อ้างเหตุว่าสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์เพราะมีการปลอมเอกสารแล้วทำสัญญาเช่าโดยผู้ทำไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาเช่า อีกทั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยทั้งสองคดีมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2550
โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดซึ่งพิพากษาให้โจทก์ส่งรถยนต์คันพิพาทที่โจทก์เช่าซื้อไปจากจำเลยคืนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาแทน หนี้ที่จะต้องชำระตามคำพิพากษามีลักษณะบังคับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับก่อนหลัง แต่การบังคับตามคำพิพากษาถือว่าเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่ตามคำพิพากษาที่อาจยอมรับการชำระหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดตามคำพิพากษาได้ แม้จะมิได้เป็นไปตามลำดับในคำพิพากษา เมื่อจำเลยยอมรับเงินที่โจทก์นำไปวางชำระต่อกรมบังคับคดีครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทให้เป็นของโจทก์ โดยจำเลยได้รับชดใช้ราคาแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3552/2550
จ. เจ้ามรดกถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนไร้ความสามารถแต่ศาลฎีกาพิพากษากลับเป็นให้ยกคำร้อง ซึ่งเป็นผลให้ จ. ยังคงเป็นคนไร้ความสามารถอยู่ตามเดิม แม้ในระหว่างที่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ คำสั่งที่ให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงยกเลิก เพิกถอนหรือลบล้างคำสั่งศาลชั้นต้นศาลเดียวกันที่ได้สั่งให้ จ. เป็นคนไร้ความสามารถมาก่อน ทั้งไม่มีผลทำให้สถานภาพการเป็นคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลต้องขาดช่วงไปหรือสะดุดหยุดชั่วคราวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด การที่ จ. โดยความยินยอมของผู้พิทักษ์ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ จ. ตกเป็นคนไร้ความสามารถพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2550
การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมดังกล่าว ศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับกับบุคคลนอกคดีได้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ เพราะโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 มีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่พิพากษายืนให้ยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2550
คำว่า บุคคลภายนอกที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) หมายถึงบุคคลทั่วไปนอกคดีที่จะยกขึ้นพิสูจน์ต่อสู้ได้ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง ไม่ได้ความหมายเฉพาะเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมซึ่งมีชื่อในโฉนดเท่านั้นที่จะมีอำนาจพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2550
การที่โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. กับ ว. คู่ความในคดีเดิมทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทที่ว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ จึงเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ทางพิพาทจึงไม่ใช้ทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์อีกต่อไปแต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิใช้ถนนในที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ได้ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้โจทก์จะใช้เกินกว่า 10 ปี แล้วก็ไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401
ผลแห่งคำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. จะต้องยินยอมให้โจทก์และบริวารใช้ถนนทุกสายที่มีอยู่ในที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด โดยให้ใช้ได้อย่างทางภาระจำยอม บุคคลที่รับโอนที่ดินมาจากหางหุ้นส่วนจำกัด ม. ถือได้ว่าเป็นคู่ความแทนห้างดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนที่ดินที่มีทางพิพาทอยู่ จึงต้องผูกพันยอมให้โจทก์และบริวารใช้ถนนที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อออกสู่ถนนสายบางนา-ตราด ได้อย่างทางภาระจำยอมด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาท เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โดยมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม แม้ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์คือทางหรือถนนที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้น มิใช่ทางพิพาท ศาลก็มีอำนาจพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนถนนที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าที่ขอมาท้ายคำฟ้อง
แม้ทางพิพาทจะมิใช้ทางภาระจำยอม แต่โจทก์และบริวารก็ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราดเพราะยังไม่มีทางอื่น การที่จำเลยที่ 1 นำดินมาปิดกั้นทางพิพาทและขุดรื้อทางพิพาทออกโดยยังไม่จัดทำถนนเส้นใหม่เพื่อให้โจทก์และบริวารใช้เป็นทางเข้าออกถนนสายบางนา-ตราดย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ และถือเป็นการละเมิดสิทธิการใช้ทางพิพาทต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8613/2549
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ก่อนไต่สวนคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้คัดค้านเพื่อให้มีโอกาสคัดค้านแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านมิได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ก็ต้องถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) เพราะผู้คัดค้านเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ และชอบที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านเพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านให้ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2548
มูลหนี้ตามคำฟ้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียในที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2548
คดีก่อน บ. เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 คนก่อนได้ฟ้อง ข. เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 คนก่อน ให้ขนย้ายและรื้อถอนสิ่งกีดกั้นออกจากทางพิพาทกับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บังคับตามคำขอของ บ. ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 ให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยกระทำขึ้นใหม่ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวแล้ว กับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 ของโจทก์ ดังนั้นเหตุที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้จึงเป็นคนละเหตุกับที่ บ. ฟ้อง ข. ในคดีก่อน โจทก์ไม่อาจมีคำขอให้บังคับจำเลยในคดีก่อนได้ ทั้งคดีก่อน บ. ก็มิได้ดำเนินการบังคับคดีให้มีการจดทะเบียนภาระจำยอมจนพ้นกำหนดเวลาบังคับคดีไปแล้ว แม้โจทก์จะเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 จาก บ. โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2247/2548
ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี โดยศาลจังหวัดอุบลราชธานีและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง แม้คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี และอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะการบังคับคดีนั้น จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีได้ตาม มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2233/2548
คดีก่อน ธนาคาร ก. เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย โดยมีจำเลยคดีนี้เป็นผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนแล้วว่า ที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้องเป็นของจำเลยคดีนี้ เมื่อโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และแม้จำเลยจะยังมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินทั้งสามแปลงตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกซึ่งอาจอ้างสิทธิตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2547
ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า ศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2547)