Pages

คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 56 น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13572/2556 
คดีนี้ แม้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งคู่ความในคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7787/2556 
แม้ศาลแรงงานภาค 7 จะวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ให้จำเลยที่ 2 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 90 แต่เอกสารนั้นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีที่ทำให้แพ้ชนะคดีระหว่างคู่ความ และข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาคดีทนายความจำเลยที่ 1 แถลงขอเลื่อนคดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ศาลแรงงานภาค 7 อนุญาตให้เลื่อนคดีไป ถึงวันนัดทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลแรงงานภาค 7 จึงมีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ได้ หากเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7746/2556 
จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้เห็นว่าตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ.2522 ซึ่งมิใช่กฎหมาย ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้อย่างไร ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดเพียงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์แล้ว ทั้งยังปิดประกาศขายทอดตลาดไว้ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองแล้ว ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2556 
โจทก์ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า ส. ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากตายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ ส. โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2556 
บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี หาได้ใช้บังคับเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้นไม่ แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา ผู้อุทธรณ์ก็อยู่ในบังคับต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์เช่นกัน การจำกัดสิทธิการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 หาได้เป็นบทบัญญัติยกเว้นให้ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 ไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลย ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และจำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยอนุญาตให้สืบพยานจำเลยและพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกเลิกเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว การอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรง จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที และกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมา ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2556 
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรกมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองโดยบรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กำหนดไว้ จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 หรือ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7035/2556 
ผู้ประกันขอลดค่าปรับและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้ประกัน เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ผู้ประกันไม่อาจจะฎีกาต่อมาอีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2556 
การพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นจำต้องพิจารณาแต่เพียงเฉพาะข้อความที่ปรากฏตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเท่านั้น ไม่จำต้องพิจารณาถึงพยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นพิจารณามาประกอบ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2556 
โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของ ส. ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ง. เจ้ามรดก เมื่อ ง. ถึงแก่ความตายทรัพย์สินของ ง. เป็นมรดกตกได้แก่ ส. กับทายาทอื่นของ ง. แต่ ส. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จำเลยจะแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ง. โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ส. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของ ง. แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย หากข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้อง จำเลยย่อมมีหน้าที่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. หรือไม่ การที่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามอยู่ในตัว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2556 
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตาย จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ตายเป็นบุตร เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลรับรองสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องโดยแท้ เมื่อสิทธิตามคำร้องของผู้ร้องมิใช่สิทธิอันเป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาทได้ แม้ต่อมาผู้ร้องถึงแก่ความตายระหว่างไต่สวนคำร้อง และ ภ. ซึ่งเป็นทนายความของ ป. และ ส. ทายาทโดยธรรมของผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ก็ไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนผู้ร้องที่มรณะได้ ศาลชอบที่จะยกคำร้องของ ภ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2556 
ผู้ร้องบรรยายในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1738 ตำบลแสนพัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่โจทก์นำยึด ซึ่งจำเลยที่ 1 และ ก. เจ้าของรวมได้นำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินของ น. เมื่อ น. ไม่ชำระหนี้ผู้ร้องจึงบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 1 และ ป. ทายาทโดยธรรมของ ก. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เนื้อหาตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดส่วนที่เป็นของ ก. ออกจากเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนอง ซึ่งสิทธิของผู้ร้องถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาตามมาตรา 289 วรรคสอง ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องก่อนเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6110/2556 
สัญญาค้ำประกันและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่า "นายสิทธิชัย เจริญวัฒนวิญญู" แต่คำฟ้องระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่า "นายสิทธิชัย เจริญรัตนวิญญู" อันเป็นการพิมพ์คำฟ้องผิด มีผลทำให้คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 พิมพ์ชื่อจำเลยที่ 2 ผิดไปด้วย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ในส่วนชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นการร้องขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่ไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม จึงมีเหตุสมควรแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นเสียให้ถูกต้อง พิพากษากลับ ให้แก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ในส่วนชื่อจำเลยที่ 2 เป็นว่า "นายสิทธิชัย เจริญรัตนวิญญูหรือเจริญวัฒนวิญญู"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5946/2556 
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 271 จะบัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาก็ตาม แต่หาได้กำหนดให้เสร็จสิ้น ภายในกำหนด 10 ปีไม่ ปรากฏว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งนายจ้างได้ส่งเงินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเดือนละ 2,000 บาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดมา แต่ยังไม่ครบหนี้ตามหมายบังคับ เมื่อโจทก์ดำเนินการบังคับคดีมาโดยตลอดดังนี้ แม้เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ก็ยังสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้จนกว่าการบังคับคดีดังกล่าวจะแล้วเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4573 - 4574/2556 
ในการถอนคำฟ้องคดีแพ่งนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 176 บัญญัติไว้มีใจความว่า การถอนคำฟ้องนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย และตามมาตรา 145 บัญญัติไว้มีใจความว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง คดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกานั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกา และทำให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาเลย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องซึ่งเป็นของจำเลยที่ 4 กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4 ย่อมหมายความถึงว่าโจทก์ไม่สามารถขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การไถ่ถอนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การขายที่ดินและการขึ้นวงเงินจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้จำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้ ถึงแม้โจทก์จะมิได้ถอนคำฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมมีผลผูกพันคู่ความทุกฝ่ายในกระบวนพิจารณา โจทก์จึงไม่อาจที่จะฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 แต่เพียงฝ่ายเดียวตามลำพังได้ เพราะโจทก์ได้ถอนคำฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 และถอนคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 3 ไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2556 
แม้ก่อนสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหาย ทนายจำเลยแถลงว่า ขณะสืบพยานโจทก์ปาก ว. ผู้เสียหายนั่งอยู่ในห้องพิจารณา ทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบ ขอคัดค้านการสืบพยานปากผู้เสียหาย ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบโดยยังไม่ได้จดรายงานกระบวนพิจารณาดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะกรณีดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาข้อคัดค้านของทนายจำเลยแล้วจึงอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบและบันทึกเหตุผลในการอนุญาตไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหลังจากที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในวันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานปากผู้เสียหายเบิกความเป็นที่เชื่อฟังได้หรือไม่ ก็ต้องให้ผู้เสียหายเบิกความไปก่อนเพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังคำเบิกความดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หรือไม่ต่อไป แม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งได้ฟังคำเบิกความของ ว. แล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของผู้เสียหายอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว. พยานคนก่อนหรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ คำเบิกความของผู้เสียหายก็เป็นการผิดระเบียบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2556 
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย..." หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า บ. เป็นคนสาบสูญ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ถึงแก่ความตายแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 และ 62 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. มาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ บ. เป็นคนสาบสูญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556 
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้ การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2556 
แม้ฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิม ซึ่งทำให้สามารถยื่นเข้ามาในคำให้การได้ แต่ฟ้องแย้งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง การเสนอคำฟ้องแย้ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) การจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 192 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่คดีได้นั้น จะต้องเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556 
จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2556 
ที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายห้องชุด 114 ห้อง โดยแยกขายทีละห้องไปเป็นเหตุให้ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรและผู้เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาคบคิดกันฉ้อฉลนั้น เป็นกรณีที่อ้างว่า ราคาที่ได้การขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องแล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทางทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยร่วมค้างชำระแก่จำเลย ทั้งการขายทอดตลาดนัดที่ 1 ห่างจากวันที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีถึง 2 เดือนเศษ อยู่ในวิสัยที่จำเลยร่วมจะดำเนินการด้วยตนเองเพื่อทราบจำนวนหนี้ค้างชำระและวางเงินชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ข้อเท็จจริงยังถือไม่ได้ว่า เหตุที่ทำให้ต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทนั้นเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2556 
ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิใด แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินและจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในอัตราสูงกว่าอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย อันเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2556 
หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมและออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ใบแต่งทนายความบัญชีพยาน คำพิพากษา และหมายบังคับคดีในส่วนชื่อของจำเลยที่ 3 จาก "นางละมูล พลทอน" เป็น "นางละมูลหรือละมุล พลทอน" ตามลายมือชื่อที่จำเลยที่ 3 ลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและสัญญาประนีประนอมยอมความว่า "ละมุล พลทอน" ศาลแรงงานกลางต้องไต่สวนให้ได้ความว่านางละมูล พลทอน จำเลยที่ 3 กับนางละมุล พลทอน เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่แล้วจึงมีคำสั่งตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2556 
คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลบางเลน (บางยุง) อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (เมืองนครชัยศรี) และเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทคือ 16,100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาต่อไป ดังนี้ เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษาคดีไป จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะรับรองให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกา จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งต้องห้าม รวมทั้งศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริง ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2556 
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย อันเป็นบัญชีส่วนเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 319 แล้ว ผู้ร้องยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีส่วนเฉลี่ยดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยืนยันตามบัญชีส่วนเฉลี่ยดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 320 วรรคสี่ ในตอนท้ายบัญญัติให้คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงคำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวด้วยคำร้องคัดค้านของผู้ร้องที่ยื่นไว้ตามบทบัญญัติในวรรคสี่นั่นเอง มิใช่ถึงที่สุดแต่เพียงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องเพราะเห็นว่าเจ้าหนี้ไม่ไปตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ผู้ร้องฎีกาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้ร้อง คดีของผู้ร้องที่คัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงถึงที่สุดและต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2556 
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน ป. กับพวกเป็นคณะกรรมการของผู้ร้อง และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกับโจทก์ทั้งสองจัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการของผู้ร้องใหม่ กับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนคณะกรรมการของผู้ร้อง ผลของคำขอของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องอันทำให้ผู้ร้องต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการของผู้ร้องใหม่ ผู้ร้องจึงมีความจำเป็นในการร้องสอดเพื่อเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อรับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงขอเข้ามาในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2556 
ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องแย้ง แม้เป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแย้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของจำเลยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตาม มาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน และที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว จำเลยเคยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ ส. โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการไถ่ถอนจำนอง จึงถือว่าจำเลยเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่ ส. แล้ว นับแต่วันพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนอง ส. ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปขายให้โจทก์ได้ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2556 
คำว่า "ฉ้อฉล" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า จำเลยร้องไห้โอดครวญ ก้มลงกราบเท้าโจทก์ที่ 1 และพูดจาหว่านล้อมโจทก์ที่ 1 ให้ช่วยพูดขอร้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย และจำเลยจะจ่ายเงิน 5,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทน หากไม่ยอมทำตามจำเลยจะฆ่าตัวตายทันทีนั้น จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก็หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ จึงไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20386/2555 
เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องแล้ว คู่ความทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องเตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้แล้วเสร็จตามกำหนดนัด ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคล 11 ปาก เป็นพยานหมายทั้งหมด ไม่มีพยานประเด็นที่ศาลอื่น ซึ่งหากโจทก์ตรวจสอบภูมิลำเนาของผู้เสียหายที่ 2 ก่อนวันนัดหรือหากโจทก์เร่งส่งหมายเรียกพยานบุคคลให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ก็ย่อมจะทราบทันทีว่าผู้เสียหายที่ 2 ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2552 การที่โจทก์เพิ่งมาขอระบุพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิลำเนาของผู้เสียหายที่ 2 หลังจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานถึง 7 เดือนเศษ จึงนับเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง แม้ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปากผู้เสียหายที่ 2 ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี แต่ก็ยังให้โอกาสโจทก์ติดตามผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความต่อศาลชั้นต้นภายในวันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีเวลาเพียงพอ เมื่อถึงวันนัดโจทก์กลับแถลงว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่มาศาล และยังไม่ได้รับรายงานผลการส่งหมายเรียกให้พยานขอเลื่อนคดี พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดี