Pages

การยึดทรัพย์สิน



มาตรา ๓๐๓  การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) นำทรัพย์นั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือฝากทรัพย์นั้นไว้ ณ สถานที่ใดหรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควรหรือมอบให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รักษาทรัพย์นั้นโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

(๒) แจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์นั้นทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดไว้ ณ สถานที่ที่กระทำการยึด หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

(๓) แสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งโดยการประทับตราหรือโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรว่าได้มีการยึดทรัพย์นั้นแล้ว

มาตรา ๓๐๔  การยึด เรือ แพ สัตว์พาหนะ หรือสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจะต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้แล้วตามกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๓

(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ ถ้าได้มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้แล้ว ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน

มาตรา ๓๐๕ การยึดหลักทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) ในกรณีที่ยังไม่มีการออกใบตราสาร ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ออกหลักทรัพย์นั้นทราบ และเมื่อได้ดำเนินการยึดหลักทรัพย์ดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งให้ผู้ออกหลักทรัพย์ออกใบตราสารส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี

(๒) ในกรณีที่มีการออกใบตราสารแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้ครอบครองตราสารเท่าที่ทราบ รวมทั้งบุคคลซึ่งต้องชำระหนี้ตามตราสารนั้น ทราบ และเมื่อได้ดำเนินการยึดหลักทรัพย์ดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำตราสารนั้นมาเก็บรักษาไว้หากสามารถนำมาได้

(๓) ในกรณีที่เป็นหลักทรัพย์ซึ่งฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ฝากหลักทรัพย์และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทราบ เพื่อปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี

(๔) ในกรณีที่เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่มีการออกใบตราสาร ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ออกหลักทรัพย์ทราบ เพื่อปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี
ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลเช่นว่านั้น หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร และให้มีผลใช้ได้นับแต่เวลาที่ประกาศนั้นได้ปิดไว้หรือการแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว

มาตรา ๓๐๖ การยึดตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๐๕ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้มีผลเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องตามตั๋วเงินหรือตราสารนั้นด้วย

ในกรณีที่เห็นสมควรเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายตามราคาที่ปรากฏในตั๋วเงินหรือตราสารหรือราคาต่ำกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าศาลสั่งยกคำร้อง ให้นำตั๋วเงินหรือตราสารนั้นออกขายทอดตลาด

มาตรา ๓๐๗ การยึดหุ้นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอยู่ทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง

(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน

มาตรา ๓๐๘ การยึดสิทธิในสิทธิบัตร สิทธิในเครื่องหมายการค้า หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ซึ่งได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง

(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน

มาตรา ๓๐ การยึดสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งยังมิได้จดทะเบียน ลิขสิทธิ์ สิทธิขอรับสิทธิบัตร สิทธิในชื่อทางการค้าหรือยี่ห้อ หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยแจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง

มาตรา ๓๑๐ การยึดสิทธิการเช่าทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะได้ใช้บริการต่าง ๆ ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เช่น บริการโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม หรือบริการอื่นใดที่อาจได้รับจากทรัพย์สินหรือบริการของผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ให้เช่าหรือผู้ให้บริการ แล้วแต่กรณี ทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง

(๒) ในกรณีที่ได้มีการจดทะเบียนการเช่าทรัพย์สินหรือการให้บริการดังกล่าว ให้แจ้งนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียนด้วย

มาตรา ๓๑๑ การยึดสิทธิของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามใบอนุญาต ประทานบัตร อาชญาบัตร สัมปทาน หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง

(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน

มาตรา ๓๑๒ การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย

(๑) นำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์นั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือฝากไว้แก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร เว้นแต่ทรัพย์นั้นยังไม่มีหนังสือสำคัญหรือนำหนังสือสำคัญมาไม่ได้

(๒) แสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งโดยการปิดประกาศไว้ที่ทรัพย์นั้นว่า ได้มีการยึดทรัพย์นั้นแล้ว

(๓) แจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้บุคคลดังต่อไปนี้ทราบ

(ก) ลูกหนี้ตามคำพิพากษา

(ข) บุคคลอื่นซึ่งมีชื่อในทะเบียนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น

(ค) เจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น ถ้าทรัพย์นั้นมีทะเบียน ให้เจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน

ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งตามวรรคหนึ่ง (๓) (ก) หรือ (ข) ได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลเช่นว่านั้น หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร และให้มีผลใช้ได้นับแต่เวลาที่ประกาศนั้นได้ปิดไว้หรือการแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว

เมื่อได้แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมาย

มาตรา ๓๑๓  การยึดทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑๒ โดยอนุโลม

มาตรา ๓๑๔ การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลเป็นการยึดครอบไปถึงดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัยของทรัพย์นั้นด้วย

การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลเป็นการยึดครอบไปถึง

(๑) เครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของทรัพย์นั้น

(๒) ดอกผลธรรมดาของทรัพย์นั้นที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเก็บเกี่ยว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งหรือปิดประกาศให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์นั้นทราบในขณะทำการยึดว่าได้ยึดดอกผลด้วยแล้ว

มาตรา ๓๑๕  การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลดังต่อไปนี้

(๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ถึงแม้ว่าราคาแห่งทรัพย์สินนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษากับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้กระทำการดังกล่าวแก่ทรัพย์สินที่ถูกยึดเพียงส่วนที่มีราคาเกินจำนวนนั้นก็ตาม

(๒) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับมอบให้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินที่ถูกยึด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะใช้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตามสมควร แต่ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะทำให้ทรัพย์สินนั้นเสียหายหรือเกรงว่าจะเสียหาย โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นเองหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะรักษาทรัพย์สินนั้นเสียเองหรือตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้รักษาทรัพย์สินนั้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2554 
ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 14 และมาตรา 16 กฎหมายมิได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 ไว้ ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจึงไม่สามารถโอนสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับอนุญาตจะเปลี่ยนแปลงฐานะผู้ได้รับอนุญาตจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน เป็นการเปลี่ยนตัวผู้รับอนุญาตหรือการโอนสิทธิตามที่ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นนั่นเอง จึงไม่สามารถกระทำได้ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อตกลงเพิ่มเติมในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่ดำเนินมาภายหลังคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมตกไปด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2553 
แม้ผู้ซื้อทรัพย์จะเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12723 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวจะโอนไปเป็นของผู้ซื้อทรัพย์ก็ต่อเมื่อมีการนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้น และในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นจะต้องมีการตีราคาหรือประเมินราคาที่ดินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนและต้องถือว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นเงินที่ได้พึงประเมินของเจ้าของที่ดินอันตกเป็นภาระที่ต้องนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้อีกด้วย ฉะนั้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อได้จากการขายทอดตลาดจึงเป็นภาระภาษีของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมมีสิทธิได้รับคืนจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพียงเท่าที่มีอยู่หลังจากหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553 
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976/2552 
ใบจอง หมายถึงหนังสือแสดงการยอมให้ราษฎรเข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพให้เป็นไปตามระเบียบและเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดโดยอยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าผู้ได้รับอนุญาตให้จับจองจะโอนไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินตามใบจองจึงยังเป็นของรัฐ ไม่ใช่ที่ดินที่เอกชนมีสิทธิครอบครองอันจะมีการแย่งการครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันได้ การที่ ป. ได้รับอนุญาตจากรัฐให้เข้าครอบครองที่ดินตามใบจอง ต่อมา ป. ถึงแก่ความตายสิทธิตามใบจองย่อมตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง มาตรา 1600 มาตรา 1635 ประกอบ พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2552
ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ปรากฏจากหลักฐานทางทะเบียนว่ามีชื่อจำเลยที่ 2 เท่านั้นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ไม่มีชื่อจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ด้วย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ด้วยกึ่งหนึ่งเนื่องจากเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศขายทอดตลาดแต่เฉพาะจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อตามทะเบียนในโฉนดที่ดินเพียงผู้เดียว จึงถือว่าได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 306 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7342/2552
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องร้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีในศาลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" ดังนั้น เมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้รับโอนสินทรัพย์มาจากโจทก์แล้ว ผู้ร้องที่ 1 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย แม้ผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อได้รับคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น เมื่อผู้ร้องที่ 1 รับซื้อสินทรัพย์มาแล้ว การขายทอดตลาดได้ราคาต่ำหรือสูงย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นสิทธิโดยชอบที่ผู้ร้องที่ 1 จะเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองในวันขายทอดตลาด ถือว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 แล้วก่อนวันขายทอดตลาด เพราะได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า "ผู้ร้องสวมสิทธิเข้ามาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ มาตรา 7" จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทุกคนรวมทั้งผู้ร้องที่ 1 ทราบ หาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สวมสิทธิหรือมีคำสั่งศาลแจ้งมาเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แจ้งแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียจากทางทะเบียนหรือโดยประการอื่น กรณีไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องแจ้งกำหนดวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 306 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี และอาจต้องได้รับความเสียหายจากการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2550 
เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ซึ่งจำเลยผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ได้ทราบคำสั่งศาลและกำหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดตามกฎหมายแล้ว ส่วนการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ใดเป็นขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นระเบียบภายในของกรมบังคับคดีเพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดทรัพย์เท่านั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทางหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยอ้างส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็เป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ และการกำหนดราคาเริ่มต้นขายตามประกาศกรมบังคับคดีก็ไม่ได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องเป็นไปตามราคาดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใดซึ่งหากจำเลยเห็นว่าราคาต่ำไป ก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลย อันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4642/2549 
ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ตาราง 5 หมายเลข 3 (เดิม) ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดให้ผู้นำยึดและขอถอนการยึดต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในอัตราร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึด หมายถึงเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึดแต่ไม่เกินจำนวนที่ต้องรับผิดในการบังคับคดี ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนดราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย ส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นการประเมินราคาเบื้องต้นเท่านั้น ยังถือเป็นราคาทรัพย์สินที่แน่นอนแล้วไม่ได้ ดังนั้น หากปรากฏในภายหลังว่าราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะทำการยึดนั้นไม่เหมาะสมหรือสูงเกินไป เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินที่ยึดตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน 1,160,000 บาท และประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างที่ยึดเป็นเงิน 15,000 บาท ต่อมาได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้วรวม 17 ครั้ง เป็นเวลานานถึง 2 ปีเศษ แต่ไม่มีผู้ใดเสนอราคาสูงถึงราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แสดงว่าราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในครั้งแรกเป็นราคาที่สูงเกินไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบที่จะประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ และราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นราคาทรัพย์ที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่ต้องรับผิดในการบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดใหม่เป็นเงิน 595,000 บาท โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ 3 ครึ่ง จากเงินจำนวนดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5515/2548 
การประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ก็หาได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องให้เป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ไม่ และหากจำเลยเห็นว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้นั้นต่ำไป ก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ได้ การที่คู่ความจะมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลตามที่กำหนดไว้ในตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณราคาทรัพย์สินเพื่อการเรียกค่าธรรมเนียมในกรณีที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2552 
ที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธินั้นเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้นแม้โจทก์จะครอบครองที่ดินมาก่อนทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้เขตที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วที่ดินรวมทั้งต้นยางพาราซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมตกเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8014/2551 
บิดาโจทก์ทั้งห้าอุทิศที่ดินพิพาทให้ขุดเป็นสระน้ำประจำหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพียงแต่แสดงเจตนาอุทิศให้ก็ใช้ได้ แม้ต่อมาสระน้ำจะตื้นเขินจนไม่ได้ใช้ประโยชน์และมีการถมสระน้ำปลูกสร้างร้านค้าชนบทกับทำสนามเด็กเล่นที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม โดยหาได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นอย่างอื่นไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4377/2549 
ช. ยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแล้ว แม้จะระบุว่า ช. จะมาจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 3 วัน แต่เป็นการยกให้เป็นทางสาธารณะจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทันทีที่ ช. ได้แสดงเจตนาโดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 อีก ทั้งการยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่ต้องมีนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีในท้องที่แสดงเจตนารับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2551 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายจำนวน 204,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีราคาประเมิน 13,058,600 บาท และปรากฏในสำนวนว่ามีผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดในราคา 3,920,000 บาท โดยมีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 ตามเอกสารท้ายฎีกา หมายเลข 6 แต่ไม่ปรากฏว่าการยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง การยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 30 วรรคสอง และมาตรา 33 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคท้าย เพราะการยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดในคดีนี้มิใช่การยึดและขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากการขายทอดตลาดต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินรวมทั้งรับโอนสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดได้ ทางพิพาทติดจำนองอยู่โดยสัญญาจำนองระบุว่า ผู้จำนองจะให้สิทธิหรือทรัพยสิทธิไม่ว่าด้วยประการใด ๆ แก่ผู้อื่นในทรัพย์สินที่จำนอง เป็นที่เสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้จำนองเองในทรัพย์สินที่จำนอง ผู้จำนองต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้จำนองกับผู้รับจำนอง ทั้งในหนังสือสัญญาจำนองก็ระบุไว้ว่า ถ้าผู้จำนองประพฤติผิดหรือไม่ประพฤติตามสัญญาที่กำหนดไว้ข้อหนึ่งข้อใดหรือทั้งหมด ผู้รับจำนองมีสิทธิจะเรียกให้ผู้จำนองชำระหนี้และบังคับจำนองได้ทันทีเท่านั้น การที่ธนาคารผู้รับจำนองมิได้ให้ความยินยอมจึงไม่มีผลบังคับให้การยกทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเสียเปล่า 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2547 
การครอบครองที่ดินของ ส. เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากสหกรณ์นิคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของสหกรณ์นิคม หากมิได้ปฏิบัติตาม ส. อาจถูกสั่งให้ออกจากนิคมสหกรณ์ได้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐหรือสหกรณ์ผู้ได้รับมอบอำนาจทางกฎหมายให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิก มิได้มอบสิทธิครอบครองให้แก่สมาชิกแต่อย่างใด การครอบครองของ ส. จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์และไม่สามารถขายหรือส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใดได้ การที่ ส. ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์มานั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารสิทธิที่แสดงว่า ส. ได้ทำประโยชน์ในที่ดินและเป็นสมาชิกสหกรณ์มาเกินห้าปี และสามารถนำเอกสารนี้ไปออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองทำประโยชน์ได้เท่านั้น มิใช่เป็นเอกสารสิทธิที่แสดงถึงการครอบครอง ดังนั้น ถึงแม้ผู้ร้องจะได้รับมอบการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก็เป็นเพียงเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของ ส. เท่านั้น เมื่อ ส. ไม่มีสิทธิครอบครองผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครองด้วย และเมื่อภายหลัง ส. ถึงแก่กรรมจำเลยได้เข้าสวมสิทธิของ ส. นำหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ร้องไว้ก็ตาม แต่เมื่อสัญญาซื้อขายได้กระทำลงยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพฯ มาตรา 12 จึงเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้ ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2546 
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 36 ทวิ บัญญัติว่าบรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แสดงว่าที่ดินใดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและผู้ครอบครองไม่สามารถแสดงสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่ดินเหล่านั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ที่ดินที่โจทก์นำยึดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงถือว่าเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินฯ ให้อำนาจ ส.ป.ก. นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 8 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นของ ส.ป.ก. หาใช่ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดไม่ ทั้งยังถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ห้ามยึดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 อีกด้วย เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูป แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ถือครองแต่ก็หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้สิทธิในที่ดินไม่ เพราะเป็นเรื่องในอนาคต โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยึดทรัพย์ที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2541 
แม้บ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลก็ตาม แต่ที่ดินพิพาททางราชการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและได้ออกหนังสืออนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในนามของ ศ.อันเป็นการออกให้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518ซึ่งจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ และเมื่อการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการฯ ตามบทกฎหมายดังกล่าวการขายทอดตลาดจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้โจทก์จะซื้อบ้านและที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาล โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เมื่อจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2540 
ราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะสูงหรือต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมิได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบต่ำกว่าราคาท้องตลาดที่ซื้อขายกันจริงเพราะราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นเกณฑ์กำหนดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติกรรมเท่านั้นราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะสูงหรือจะต่ำต้องเทียบกับราคาซื้อขายกันจริงตามท้องตลาดขณะกำหนดราคาจึงไม่มีเหตุจะเพิกถอนราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่ผู้ร้องอ้างราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของเจ้าพนักงานบังคับคดีเปรียบเทียบกับราคาประเมินที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินและราคาสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยคิดเอาเองนั้นทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดทรัพย์ได้ราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาดโดยไม่สุจริตและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายแต่อย่างใดกรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายจะเพิกถอนการขายทอดตลาด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2540 
ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงสุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ เพราะหากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาของผู้ประมูลในครั้งนั้นต่ำไปเป็นราคาที่ไม่สมควรหรือควรได้ราคาสูงกว่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายที่ดินพิพาทสองแปลงแก่ผู้ร้องที่ให้ราคาสูงสุดจำนวนเงิน 650,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าวงเงินที่ผู้ร้องเคยรับจำนองและรับผลประโยชน์จากการประกันภัยในวงเงินรวมกัน 1,000,000 บาท แม้ราคาประมูลสูงสุดนั้นจะสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งนอกจากเป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ของโจทก์และทำให้ผู้คัดค้านเสียหายแล้ว การประเมินดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินราคาเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมในกรณียึดแล้วไม่มีการขายและเพื่อดูว่าทรัพย์สินที่ยึดเพียงพอที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นการประมาณราคาแบบคราว ๆ มิใช่ประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง และการขายทอดตลาดนั้นผู้ทอดตลาดอาจคำนวณราคาท้องตลาดโดยอาศัยวงเงินที่ผู้ร้องรับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะรับจำนองในวงเงินต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริง อีกทั้งการขายทอดตลาดคดีนี้ก็กระทำภายหลังการจำนองถึง 5 ปี ราคาน่าจะสูงขึ้นไปอีกมาก และแม้จะมีการอนุญาตให้ขายทอดตลาดมาหลายครั้งแต่การขายทอดตลาดคดีนี้เป็นการขายทอดตลาดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก ผู้ทอดตลาดพอจะเห็นได้ว่าราคาซึ่งผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอหากมีการขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ ดังนั้น การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาด เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550 
บ้านของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดปลูกสร้างอย่างแน่นหนาถาวรบนที่ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมถูกห้ามโอนด้วย แม้โจทก์จะอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ประสงค์จะยึดบ้านพิพาทอย่างสังหาริมทรัพย์ โดยในการขายทอดตลาดผู้ที่ซื้อทรัพย์จะต้องรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินไปเอง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้วเสียก่อน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2537 
โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทมีกำหนดเงื่อนไขห้ามโอน 10 ปี การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้อวินิจฉัยว่ามีข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องปฏิเสธ โจทก์เห็นว่าเมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่เปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงใดต้องปฏิเสธ ดังนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติแล้วว่า ที่ดินพิพาทมีกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ปัญหาจึงมีเพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะยึดที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่จะต้องวินิจฉัย ที่ดินพิพาทต้องห้ามการโอนภายใน 10 ปี ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่งที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี การยึดที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 282 แม้ผลของการยึดทรัพย์จะยังมิได้ทำให้สิทธิแห่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเปลี่ยนไปก็ตาม แต่เมื่อที่ดินพิพาทไม่ตกอยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่มีอำนาจที่จะยึดได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4913/2536 
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530หมวด 1 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้ ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 17 มีใจความโดยย่อดังนี้ คือ มาตรา 5 เมื่อรัฐต้องการจะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดำเนินการเวนคืนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืน จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้ มาตรา 6 บัญญัติว่าข้อความใดบ้างจะต้องระบุในพระราชกฤษฎีกา มาตรา 7 กำหนดให้ปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกาในที่ต่าง ๆ มาตรา 9 เมื่อใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาแล้วให้เจ้าหน้าที่สำรวจเพื่อทราบ "ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน" แล้วตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ และหากจะมีการซื้อขายก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 10ถึงมาตรา 14 ขั้นตอนต่อไปบัญญัติในมาตรา 15 ว่า เมื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนแล้วให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยให้ระบุที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องเวนคืนพร้อมทั้งรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีแผนที่หรือแผนผังด้วย และในที่สุดบัญญัติถึงการโอนกรรมสิทธิ์ไว้ในมาตรา 16 ว่า "ให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตกเป็นของเจ้าหน้าที่นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 ใช้บังคับ" ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนยังไม่มีผลทำให้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆตามมาตรา 15 แล้ว กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นจึงจะตกเป็นของเจ้าหน้าที่นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าวใช้บังคับแต่ในกรณีนี้เพียงแต่ปรากฏว่าที่พิพาทอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ดอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิตเขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวางเขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เท่านั้นยังไม่ปรากฏว่ามีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินพิพาทตามมาตรา 15แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แต่อย่างใด ขณะขายทอดตลาดกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของจำเลยอยู่ ยังไม่ตกเป็นของเจ้าหน้าที่ การขายทอดตลาดไม่ถูกกระทบกระเทือนแต่อย่างใด ไม่อาจจะให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ร้องได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3282/2536 
ที่ดินซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดไว้นั้น เป็นที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ถอนการยึด กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะกำหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2534 
ในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลนั้นต้องคำนึงถึงราคาประเมินของทางราชการราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมิน และราคาซื้อขายในท้องตลาดประกอบกัน ดังนั้น แม้จะปรากฏว่าราคาสูงสุดที่มีผู้ประเมินได้สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ยังต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการอยู่มาก ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5534/2533 
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทราบเพื่อโจทก์จะได้เตรียมตัวเข้าสู้ราคาหรือรักษาผลประโยชน์ส่วนได้เสียของโจทก์ในการบังคับคดี การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ผู้แทนโจทก์เซ็นทราบวันนัดไว้ล่วงหน้า ผู้แทนโจทก์ย่อมทราบเฉพาะวันนัดขายทอดตลาดเท่านั้น แต่ไม่ทราบรายละเอียดการโฆษณาบอกขายที่ดินพิพาทตลอดถึงข้อสัญญาและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการขายทอดตลาดซึ่งมีอยู่ในประกาศขายทอดตลาด และในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีควรตั้งราคาขั้นต่ำเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยจำนองไว้พร้อมค่าอุปกรณ์ถ้าจะขายราคาต่ำกว่านั้น โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำนองจะต้องไม่คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นสั่งขายและเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายในราคาซึ่งต่ำกว่าราคาจำนองทั้งที่ผู้แทนโจทก์คัดค้าน แม้ว่าการขายครั้งนี้จะเป็นการขายครั้งที่ 6 และขายได้ราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์ก็ตาม ก็หาเป็นราคาพอสมควรไม่ เพราะราคายังต่ำกว่าจำนวนเงินจำนองพร้อมค่าอุปกรณ์และต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมาก ส่อให้เห็นวี่แววอันไม่สุจริต เป็นการขายไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2533 
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 1 งาน 50 7/10 ตารางวา พร้อมตึกแถว 5 ชั้น รวม 20 คูหา เพื่อขายทอดตลาด ขณะทำการยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 6,000 บาท เท่ากับราคาที่กรมที่ดินได้ประเมินไว้เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับคำนวณเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่ขณะทำการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้ กรมที่ดินประเมินราคาใหม่เป็นตารางวาละ 40,000 บาท เฉพาะที่ดินอย่างเดียวก็จะมีราคาถึง 6,000,000 บาทเศษ มากกว่าราคาที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ถึง 5,000,000 บาทเศษ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมตึกแถวไปในราคา 4,000,000 บาทเศษ ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ถึง 1,000,000 บาทเศษ และเพิ่งมีการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้เป็นครั้งแรก่ มีผู้เข้าประมูลสู้ราคาเพียง 2 คน แม้โจทก์จะไม่คัดค้าน ก็คือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ใช้ดุลพินิจและความละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร การขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ให้ได้ราคาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยขายให้แก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นอันมาก ทำให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย การดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ จำเลยย่อมขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด และขอให้ขายทอดตลาดใหม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2531 
คำร้องขัดทรัพย์บรรยายว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ภูเขาอันเป็นของรัฐตามกฎหมายห้ามมิให้ยึด ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวมิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาท คำร้องขัดทรัพย์จึงหาได้ขัดกันเองหรือเคลือบคลุมไม่ ที่ดินพิพาทเป็นที่ภูเขา ทางราชการไม่อาจออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ได้ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1)สิทธิทำกินในที่ดินคือสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ดังนั้น การยึดสิทธิทำกินในที่ดินก็คือการยึดสิทธิครอบครองในที่ดินนั่นเองเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน จึงต้องห้าม มิให้ยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 โจทก์ย่อม ไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 56 น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13572/2556 
คดีนี้ แม้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งคู่ความในคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7787/2556 
แม้ศาลแรงงานภาค 7 จะวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ให้จำเลยที่ 2 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 90 แต่เอกสารนั้นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีที่ทำให้แพ้ชนะคดีระหว่างคู่ความ และข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาคดีทนายความจำเลยที่ 1 แถลงขอเลื่อนคดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ศาลแรงงานภาค 7 อนุญาตให้เลื่อนคดีไป ถึงวันนัดทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลแรงงานภาค 7 จึงมีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ได้ หากเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7746/2556 
จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้เห็นว่าตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ.2522 ซึ่งมิใช่กฎหมาย ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้อย่างไร ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดเพียงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์แล้ว ทั้งยังปิดประกาศขายทอดตลาดไว้ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองแล้ว ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2556 
โจทก์ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า ส. ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากตายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ ส. โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2556 
บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี หาได้ใช้บังคับเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้นไม่ แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา ผู้อุทธรณ์ก็อยู่ในบังคับต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์เช่นกัน การจำกัดสิทธิการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 หาได้เป็นบทบัญญัติยกเว้นให้ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 ไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลย ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และจำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยอนุญาตให้สืบพยานจำเลยและพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกเลิกเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว การอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรง จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที และกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมา ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2556 
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรกมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองโดยบรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กำหนดไว้ จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 หรือ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7035/2556 
ผู้ประกันขอลดค่าปรับและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้ประกัน เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ผู้ประกันไม่อาจจะฎีกาต่อมาอีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2556 
การพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นจำต้องพิจารณาแต่เพียงเฉพาะข้อความที่ปรากฏตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเท่านั้น ไม่จำต้องพิจารณาถึงพยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นพิจารณามาประกอบ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2556 
โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของ ส. ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ง. เจ้ามรดก เมื่อ ง. ถึงแก่ความตายทรัพย์สินของ ง. เป็นมรดกตกได้แก่ ส. กับทายาทอื่นของ ง. แต่ ส. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จำเลยจะแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ง. โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ส. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของ ง. แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย หากข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้อง จำเลยย่อมมีหน้าที่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. หรือไม่ การที่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามอยู่ในตัว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2556 
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตาย จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ตายเป็นบุตร เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลรับรองสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องโดยแท้ เมื่อสิทธิตามคำร้องของผู้ร้องมิใช่สิทธิอันเป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาทได้ แม้ต่อมาผู้ร้องถึงแก่ความตายระหว่างไต่สวนคำร้อง และ ภ. ซึ่งเป็นทนายความของ ป. และ ส. ทายาทโดยธรรมของผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ก็ไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนผู้ร้องที่มรณะได้ ศาลชอบที่จะยกคำร้องของ ภ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2556 
ผู้ร้องบรรยายในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1738 ตำบลแสนพัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่โจทก์นำยึด ซึ่งจำเลยที่ 1 และ ก. เจ้าของรวมได้นำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินของ น. เมื่อ น. ไม่ชำระหนี้ผู้ร้องจึงบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 1 และ ป. ทายาทโดยธรรมของ ก. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เนื้อหาตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดส่วนที่เป็นของ ก. ออกจากเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนอง ซึ่งสิทธิของผู้ร้องถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาตามมาตรา 289 วรรคสอง ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องก่อนเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6110/2556 
สัญญาค้ำประกันและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่า "นายสิทธิชัย เจริญวัฒนวิญญู" แต่คำฟ้องระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่า "นายสิทธิชัย เจริญรัตนวิญญู" อันเป็นการพิมพ์คำฟ้องผิด มีผลทำให้คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 พิมพ์ชื่อจำเลยที่ 2 ผิดไปด้วย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ในส่วนชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นการร้องขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่ไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม จึงมีเหตุสมควรแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นเสียให้ถูกต้อง พิพากษากลับ ให้แก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ในส่วนชื่อจำเลยที่ 2 เป็นว่า "นายสิทธิชัย เจริญรัตนวิญญูหรือเจริญวัฒนวิญญู"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5946/2556 
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 271 จะบัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาก็ตาม แต่หาได้กำหนดให้เสร็จสิ้น ภายในกำหนด 10 ปีไม่ ปรากฏว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งนายจ้างได้ส่งเงินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเดือนละ 2,000 บาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดมา แต่ยังไม่ครบหนี้ตามหมายบังคับ เมื่อโจทก์ดำเนินการบังคับคดีมาโดยตลอดดังนี้ แม้เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ก็ยังสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้จนกว่าการบังคับคดีดังกล่าวจะแล้วเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4573 - 4574/2556 
ในการถอนคำฟ้องคดีแพ่งนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 176 บัญญัติไว้มีใจความว่า การถอนคำฟ้องนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย และตามมาตรา 145 บัญญัติไว้มีใจความว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง คดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกานั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกา และทำให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาเลย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องซึ่งเป็นของจำเลยที่ 4 กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4 ย่อมหมายความถึงว่าโจทก์ไม่สามารถขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การไถ่ถอนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การขายที่ดินและการขึ้นวงเงินจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้จำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้ ถึงแม้โจทก์จะมิได้ถอนคำฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม การถอนคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมมีผลผูกพันคู่ความทุกฝ่ายในกระบวนพิจารณา โจทก์จึงไม่อาจที่จะฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 แต่เพียงฝ่ายเดียวตามลำพังได้ เพราะโจทก์ได้ถอนคำฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 และถอนคำฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 3 ไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2556 
แม้ก่อนสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหาย ทนายจำเลยแถลงว่า ขณะสืบพยานโจทก์ปาก ว. ผู้เสียหายนั่งอยู่ในห้องพิจารณา ทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบ ขอคัดค้านการสืบพยานปากผู้เสียหาย ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบโดยยังไม่ได้จดรายงานกระบวนพิจารณาดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะกรณีดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาข้อคัดค้านของทนายจำเลยแล้วจึงอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบและบันทึกเหตุผลในการอนุญาตไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหลังจากที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในวันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานปากผู้เสียหายเบิกความเป็นที่เชื่อฟังได้หรือไม่ ก็ต้องให้ผู้เสียหายเบิกความไปก่อนเพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังคำเบิกความดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หรือไม่ต่อไป แม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งได้ฟังคำเบิกความของ ว. แล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของผู้เสียหายอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว. พยานคนก่อนหรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ คำเบิกความของผู้เสียหายก็เป็นการผิดระเบียบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2556 
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย..." หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า บ. เป็นคนสาบสูญ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ถึงแก่ความตายแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 และ 62 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. มาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ บ. เป็นคนสาบสูญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556 
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้ การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2556 
แม้ฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิม ซึ่งทำให้สามารถยื่นเข้ามาในคำให้การได้ แต่ฟ้องแย้งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง การเสนอคำฟ้องแย้ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) การจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 192 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่คดีได้นั้น จะต้องเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556 
จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2556 
ที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายห้องชุด 114 ห้อง โดยแยกขายทีละห้องไปเป็นเหตุให้ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรและผู้เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาคบคิดกันฉ้อฉลนั้น เป็นกรณีที่อ้างว่า ราคาที่ได้การขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องแล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทางทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยร่วมค้างชำระแก่จำเลย ทั้งการขายทอดตลาดนัดที่ 1 ห่างจากวันที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีถึง 2 เดือนเศษ อยู่ในวิสัยที่จำเลยร่วมจะดำเนินการด้วยตนเองเพื่อทราบจำนวนหนี้ค้างชำระและวางเงินชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ข้อเท็จจริงยังถือไม่ได้ว่า เหตุที่ทำให้ต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทนั้นเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2556 
ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิใด แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินและจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในอัตราสูงกว่าอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย อันเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2556 
หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมและออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ใบแต่งทนายความบัญชีพยาน คำพิพากษา และหมายบังคับคดีในส่วนชื่อของจำเลยที่ 3 จาก "นางละมูล พลทอน" เป็น "นางละมูลหรือละมุล พลทอน" ตามลายมือชื่อที่จำเลยที่ 3 ลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและสัญญาประนีประนอมยอมความว่า "ละมุล พลทอน" ศาลแรงงานกลางต้องไต่สวนให้ได้ความว่านางละมูล พลทอน จำเลยที่ 3 กับนางละมุล พลทอน เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่แล้วจึงมีคำสั่งตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2556 
คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลบางเลน (บางยุง) อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (เมืองนครชัยศรี) และเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทคือ 16,100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาต่อไป ดังนี้ เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษาคดีไป จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะรับรองให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกา จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งต้องห้าม รวมทั้งศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริง ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2556 
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย อันเป็นบัญชีส่วนเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 319 แล้ว ผู้ร้องยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีส่วนเฉลี่ยดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยืนยันตามบัญชีส่วนเฉลี่ยดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 320 วรรคสี่ ในตอนท้ายบัญญัติให้คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงคำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวด้วยคำร้องคัดค้านของผู้ร้องที่ยื่นไว้ตามบทบัญญัติในวรรคสี่นั่นเอง มิใช่ถึงที่สุดแต่เพียงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องเพราะเห็นว่าเจ้าหนี้ไม่ไปตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ผู้ร้องฎีกาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้ร้อง คดีของผู้ร้องที่คัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงถึงที่สุดและต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2556 
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน ป. กับพวกเป็นคณะกรรมการของผู้ร้อง และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกับโจทก์ทั้งสองจัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการของผู้ร้องใหม่ กับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนคณะกรรมการของผู้ร้อง ผลของคำขอของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องอันทำให้ผู้ร้องต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการของผู้ร้องใหม่ ผู้ร้องจึงมีความจำเป็นในการร้องสอดเพื่อเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อรับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงขอเข้ามาในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2556 
ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องแย้ง แม้เป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแย้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยในส่วนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของจำเลยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตาม มาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน และที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว จำเลยเคยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ ส. โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการไถ่ถอนจำนอง จึงถือว่าจำเลยเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่ ส. แล้ว นับแต่วันพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนอง ส. ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปขายให้โจทก์ได้ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2556 
คำว่า "ฉ้อฉล" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า จำเลยร้องไห้โอดครวญ ก้มลงกราบเท้าโจทก์ที่ 1 และพูดจาหว่านล้อมโจทก์ที่ 1 ให้ช่วยพูดขอร้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย และจำเลยจะจ่ายเงิน 5,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทน หากไม่ยอมทำตามจำเลยจะฆ่าตัวตายทันทีนั้น จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก็หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ จึงไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20386/2555 
เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องแล้ว คู่ความทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องเตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้แล้วเสร็จตามกำหนดนัด ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคล 11 ปาก เป็นพยานหมายทั้งหมด ไม่มีพยานประเด็นที่ศาลอื่น ซึ่งหากโจทก์ตรวจสอบภูมิลำเนาของผู้เสียหายที่ 2 ก่อนวันนัดหรือหากโจทก์เร่งส่งหมายเรียกพยานบุคคลให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ก็ย่อมจะทราบทันทีว่าผู้เสียหายที่ 2 ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2552 การที่โจทก์เพิ่งมาขอระบุพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิลำเนาของผู้เสียหายที่ 2 หลังจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานถึง 7 เดือนเศษ จึงนับเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง แม้ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปากผู้เสียหายที่ 2 ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี แต่ก็ยังให้โอกาสโจทก์ติดตามผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความต่อศาลชั้นต้นภายในวันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีเวลาเพียงพอ เมื่อถึงวันนัดโจทก์กลับแถลงว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่มาศาล และยังไม่ได้รับรายงานผลการส่งหมายเรียกให้พยานขอเลื่อนคดี พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดี