Pages

การยื่นบัญชีระบุพยาน

มาตรา ๘๕  คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน


มาตรา ๘๖  เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ก็ดีหรือเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้


เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น ให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น หรือพยานหลักฐานอื่นต่อไป


เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ


มาตรา ๘๗  ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่


(๑) พยานหลักฐานนั้นเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ และ

(๒) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๘ และ ๙๐ แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้


มาตรา ๘๘  เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่ หรืออ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งหรือความเห็นของผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยแสดงเอกสารหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้าง และรายชื่อ ที่อยู่ของบุคคล ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ วัตถุ หรือสถานที่ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยานหลักฐาน หรือขอให้ศาลไปตรวจ หรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล


ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน


เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว มีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตน หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี และถ้าศาลเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2562

เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะทำหนังสืออุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกตามคำแนะนำขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นกลับเป็นของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม แต่ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ยังไม่ได้ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงยังคงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนตามทางนำสืบของคู่ความ มิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอในส่วนทางพิพาทส่วนที่ 2 นี้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงปิดทางพิพาทบางส่วนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในการใช้ทาง จำเลยทั้งสองย่อมต้องรื้อถอนออกไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2562

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2561

ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 15 วรรคสอง ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เมื่อจำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยระบุหนังสือรับรองการหักเงินรายได้เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่ออกโดยจำเลยที่ 1 เป็นพยานเอกสาร และยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน การยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว


ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 16 ให้คู่ความยื่นต้นฉบับพยานเอกสารทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตน...พร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน โดยคู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น และวรรคสองกำหนดว่า คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นเอกสารต่อศาลตามความในวรรคหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อคู่ความดังกล่าวสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ แม้จำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่จำเลยที่ 6 มิได้ยื่นต้นฉบับเอกสารที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน และจำเลยที่ 6 มิได้แสดงถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีเหตุสุดวิสัย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลภาษีอากรกลางให้นำสืบเอกสารดังกล่าวได้ จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานนั้นเข้าสืบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2560

ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและศาลยกคำร้องขอด้วยเหตุว่า ผู้ร้องมิใช่ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสีย คดีถึงที่สุด ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยอ้างว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ร้อง กรณีมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ ศาลมีอำนาจเรียกคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่ธนาคาร ก. มาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลไม่ให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม และผู้ร้องมีโอกาสและระยะเวลาที่จะขอสืบพยานเพิ่มเติม แต่ผู้ร้องมิได้ขอก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2559

ตามฟ้องของโจทก์นอกจากบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กรณีจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด


ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ระบุใบเสร็จรับเงิน เป็นพยานหลักฐานในบัญชีพยานและมิได้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 อันต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังใบเสร็จรับเงิน เห็นว่า เมื่อโจทก์นำสืบพยานโดยเบิกความและอ้างส่งใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นเลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองหลังจากนั้นนานถึง 2 เดือนเศษ จำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน และนำสืบหักล้างหรือปฏิเสธได้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 และหม่อม อ. เบิกความ ก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงิน และหม่อม อ. ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินจริง คดีจึงมีเหตุสมควรที่จะรับฟังใบเสร็จรับเงิน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9243/2559

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ 38 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ของผู้คัดค้านโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันเป็นการขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดิน แต่ในชั้นพิจารณาผู้ร้องกลับนำสืบอ้างว่าที่ดินที่ครอบครองอยู่นอกเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ที่เช่าจากผู้คัดค้านและเป็นที่ดินที่ตนเองครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา จึงเป็นการนำสืบนอกเหนือจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำร้องขอ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานโดยนำข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องนำสืบมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีว่า ที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองปรปักษ์อยู่นอกเขตที่ดินของผู้คัดค้านและมีการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่ผู้ร้องครอบครอง แม้ผลแห่งคดีเป็นการยกคำร้องขอของผู้ร้อง ก็เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามคำร้องขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยในปัญหาที่เกี่ยวพันกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน เห็นว่า เมื่อปัญหาที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองที่ดินของผู้คัดค้านเป็นอันตกไปเพราะไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ จึงต้องรับฟังว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 ส่วนปัญหาที่ว่าการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องตกไปเพราะข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ และปัญหาเรื่องการออกโฉนดที่ดินชอบหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 และการออกโฉนดทับที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำร้องขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5839/2559

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โดยระบุรายละเอียดของเช็คพิพาท และแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คพิพาทมาท้ายฟ้อง พร้อมทั้งคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ครบถ้วนแล้ว ส่วนมูลหนี้ตามเช็คพิพาทจะเป็นการชำระหนี้อะไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม


เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าก่อสร้าง จำเลยทั้งสองให้การรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่โจทก์จริง แต่อ้างว่าเป็นการออกเช็คเพื่อให้โจทก์นำไปเป็นหลักประกันค่ายืมวัสดุก่อสร้าง ทั้งจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ค่าก่อสร้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าเช็คพิพาททั้งหกฉบับไม่มีมูลหนี้ จำเลยทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของตน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีแทน แต่จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานอีกว่าถูกต้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2559

คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทดังกล่าวจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืม และจำเลยยังมิได้ชำระหนี้คืนแก่โจทก์ผู้ให้กู้ เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิด มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็นสมควร เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลังถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการปลอมเช็คดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่


โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมไม่ การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลย จึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เรื่อง ตั๋วเงิน โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2559

บัญชีระบุพยานของโจทก์ระบุเพียงต้นฉบับหรือสำเนาสัญญาซ่อมเรือพร้อมคำแปลเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับ "Work Done Report" แต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานโดยชอบ ส่วนที่โจทก์ไม่ส่งสำเนาให้แก่จำเลยทั้งสองก่อน ศาลตรวจดูเอกสารฉบับนี้แล้วพบว่ามีลายมือชื่อของผู้ที่มีข้อความระบุว่าเป็นตัวแทนเจ้าของเรือลงไว้ เหนือขึ้นไปยังมีลายมือชื่อของต้นกลเรือและนายเรือด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของตนอยู่แล้ว โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาอีก และเอกสารชิ้นนี้เป็นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรรับฟังเอกสารชิ้นนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14123/2558

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยคดีนี้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่งแล้ว ครั้นระหว่างการพิจารณาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กับทั้งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่ง แล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ คดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่ต้องเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความเพราะมิได้บังคับต่อบุคคลภายนอก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13666/2558

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ตรี บัญญัติให้ศาลสอบถามคู่ความฝ่ายที่จะต้องนำพยานเข้าสืบว่า ประสงค์จะอ้างอิงพยานหลักฐานใดแล้วให้ศาลบันทึกไว้ ย่อมแสดงว่า ในการพิจารณาคดีมโนสาเร่ เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องบันทึกเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่จะนำเข้าสืบได้เองไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา โดยคู่ความไม่จำต้องจัดทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลล่วงหน้าตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 88 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานฉบับที่สองของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 193 ตรี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13076/2558

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่จำเลยที่ 3 แนบท้ายอุทธรณ์มารับฟังว่า กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อคนตามข้อ 2 (1) (ค) ที่ระบุว่า แปดหมื่นบาทต่อคนสำหรับความเสียหายต่อชีวิต แล้ววินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 3 ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และกฎกระทรวงดังกล่าวให้ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบกฎกระทรวงดังกล่าว ศาลก็ชอบที่จะนำมารับฟังได้ เพราะเมื่อมีการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎกระทรวงย่อมมีผลบังคับเช่นกฎหมายอันเป็นที่รู้แก่บุคคลทั่วไปและศาลย่อมรู้ได้เอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12650 - 12651/2558

ตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ส่วน "สำเนา" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ข้อความหรือภาพที่ผลิตซ้ำจากต้นแบบหรือต้นฉบับ ดังนั้นตามคำจำกัดความของคำว่า "เอกสาร"ภาพถ่ายกระดาษก็อาจเป็นต้นฉบับเอกสารได้ถ้าผู้กระทำได้กระทำเพื่อให้ปรากฏความหมายไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างใด ๆ ก็ตาม จากลักษณะเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจะมีส่วนที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือและตัวเลขด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว ยังมีข้อความเขียนกำกับแสดงความหมายเป็นตัวเลขและตัวหนังสือทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วย เอกสารหมาย จ.6 แผ่นแรกก็เขียนเป็นตัวหนังสือกับตัวเลขด้วยปากกา และอีกสี่แผ่นแนบท้ายก็เป็นแบบแปลนการก่อสร้างที่มีทั้งตัวเลขและตัวหนังสือกำกับซึ่งแบบแปลนดังกล่าวแม้จะดูว่าถ่ายมาจากแบบแปลนอีกฉบับหนึ่งก็ตาม แต่ตัวเลขและตัวหนังสือที่กำกับก็แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้กระทำประสงค์จะกระทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ตามความหมายของคำว่า "เอกสาร" ดังนั้นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 จึงเป็นต้นฉบับเอกสาร มิใช่สำเนาซึ่งชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


การขอเลื่อนคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า "...ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ เว้นแต่การขอเลื่อนการนั่งพิจารณานั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม" แต่จากรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง และทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ความว่า ก่อนหน้านั้น ในช่วงนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลต่าง ๆ มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้นนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองก็ขอเลื่อนคดีติดต่อกันอีกถึง 3 ครั้ง ซึ่งก่อนวันนัดดังกล่าว ศาลได้กำชับให้จำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อม หากขอเลื่อนคดีอีกจะพิจารณาสั่งโดยเคร่งครัดแล้ว แต่พอถึงวันนัดจำเลยทั้งสองก็ยังขอเลื่อนคดีเพราะเหตุเพิ่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่อีก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองย่อมฟังได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ที่จะงดสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว


เหตุผลที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น จำเลยทั้งสองลอกมาจากคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแทบทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อความตอนใดเลยที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10675 - 10676/2558

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพิ่งมีมติให้เพิกถอนสิทธิของโจทก์ทั้งสองระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่สามารถระบุมติดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และมีเหตุอันสมควรที่จะขออนุญาตยื่นพยานเอกสารดังกล่าวต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสาร และพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงรับสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9688/2558

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อ เฉี่ยวชนกับรถแท็กซี่ ซึ่งมีนาย ส. เป็นผู้ขับและถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถบรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับชนท่อประปาของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมเป็นเงิน 92,347 บาท การที่จำเลยทั้งห้าจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงต้องรับฟังได้ว่า เหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือนาย ส. แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ยังคงต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าว เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าเหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และเป็นเหตุในลักษณะคดีจึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2558

โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานใน ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 ในการรับซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ดังกล่าว


แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มิได้เขียนกรอกข้อความและมอบโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกับเอกสารอื่นๆ ให้จำเลยที่ 1 ไป เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารชุดดังกล่าวมอบให้จำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 4 เขียนกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจผิดจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เมื่อคดีฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเอกสารปลอม จึงถือได้ว่านิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นและไม่มีผลใช้บังคับ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5637/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ร. เป็นผู้ดำเนินคดีนี้รวมทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ และ ร. มอบอำนาจช่วงให้ ก. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งตามหนังสือมอบอำนาจ มีข้อความว่า บริษัท น. โดย ร. ผู้จัดการทั่วไป ผู้รับมอบอำนาจขอมอบอำนาจช่วงให้ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจ เพื่อดำเนินคดีใด ๆ ต่อบริษัท ช. โดยให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้ง หรือเป็นจำเลยเข้าต่อสู้คดีในการดำเนินคดีแพ่ง ฯลฯ ข้อความตามที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการ ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะกับบริษัท ช. เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจทั่วไป และไม่ได้ระบุให้มีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองด้วย การที่ ก. แต่งตั้งทนายความให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการฟ้องบุคคลนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจช่วง ทั้งข้อความที่ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ย่อมหมายถึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับบริษัท ช. ตามที่ระบุชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเท่านั้น ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง


โจทก์ทราบมาตั้งแต่ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้แล้วว่าบริษัท ช. และบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นคนละบริษัทกัน ทั้งไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาแต่ต้น แม้โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจช่วง ซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอ้างเอกสารดังกล่าวไว้และได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598 - 5599/2558

ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่ความที่มีความจำนงจะอ้างอิงพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หากคู่ความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยานตามวรรคสองแห่งบทมาตราดังกล่าว แต่หากกำหนดเวลาดังกล่าวล่วงพ้นไปแล้ว คู่ความฝ่ายใดซึ่งยังมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน มีความจำนงจะอ้างพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน คู่ความฝ่ายใดนั้น ต้องยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมบัญชีระบุพยานก่อนพิพากษาคดี โดยต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถมายื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้และศาลจะอนุญาตตามคำร้องเมื่อเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสามแห่งบทกฎหมายข้างต้น


จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เพิ่งยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยาน ภายหลังวันสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น โดยจำเลยที่ 3 อ้างเหตุว่า พยานบุคคลเพิ่งยืนยันจะมาเป็นพยานและเพิ่งค้นหาเอกสารที่จะนำมาสืบได้ ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 อ้างว่า บ้านพักของจำเลยที่ 5 และที่ 6 บนที่ดินพิพาทถูกน้ำท่วมต้องย้ายสิ่งของ เพิ่งค้นพบพยานหลักฐานที่จะนำมาประกอบการสืบพยาน และ พ. ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ยื่นคำร้องดังกล่าว ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจำเลย ว่า เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เข้าใจว่าทนายความคนเดิมได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำให้การต่อสู้โต้เถียงสิทธิของโจทก์มาแต่ต้นอ้างเหตุว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2538 โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 5 ยังร่วมกับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมต้องทราบถึงพยานหลักฐานที่จะใช้อ้างอิงสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตน ประกอบกับ พ. ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายจำเลยที่ 3 และที่ 5 และเป็นทนายจำเลยที่ 6 ก่อนวันสืบพยานโจทก์ประมาณ 1 ปี ทั้งยังเข้าแก้ต่างคดีแทนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตั้งแต่กระบวนพิจารณาในชั้นขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำแผนที่พิพาทและการตรวจดูแผนที่พิพาทในวันนัดชี้สองสถาน อันเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 กับ พ. ต้องทราบดีถึงข้อต่อสู้และพยานหลักฐานที่จะใช้อ้างแสดงประกอบข้อต่อสู้ และเมื่อพิจารณาว่าพยานหลักฐานซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ประสงค์จะอ้างอิง เป็นเพียงการอ้างตัวจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 กับ ส. และพยานเอกสารที่อยู่ในความรู้เห็นและในครอบครองของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตลอดจนตามคำร้องขอระบุพยานของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ก็อ้างเพียงว่า เพิ่งค้นหาเอกสารพบและเพิ่งตั้งทนายความคนใหม่ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในทางพิจารณาที่ปรากฏชัดว่า พ. ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ได้รับแต่งตั้งให้แก้ต่างคดีมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ข้ออ้างตามคำร้องจึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แสดงได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กรณีย่อมไม่อาจรับฟังว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเมื่อการอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งการอนุญาตให้ยื่นบัญชีพยานภายหลังกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน ต้องเป็นกรณีศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ไม่อาจยกเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขึ้นเป็นข้ออ้างในการพิจารณาอนุญาต กรณีไม่มีเหตุอันสมควรจะอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นบัญชีระบุพยานภายหลังวันสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ดังนั้น การสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งมิใช่พยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมเป็นการสืบพยานโดยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 87


แม้ที่ดินพิพาทมีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ระบุชื่อ ส. เป็นผู้แจ้งการครอบครอง และโจทก์ไม่มีหลักฐานการให้ที่ดินพิพาทมาแสดงก็ตาม แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นหลักฐานสิทธิที่ไม่อาจจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อทางราชการและที่ดินพิพาทก็มีสภาพเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงสิทธิครอบครอง อันสามารถโอนไปซึ่งการครอบครองด้วยการส่งมอบการครอบครอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2558

ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ส. กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัท ส. นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ


การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่


โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2558

โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ดังนั้น กรณีจึงถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั่นคือ การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ด้วยเหตุนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เข้าผูกพันตนตามสัญญากับโจทก์ยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของบุตรทั้งสองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะไม่โอนขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเด็ดขาด แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือ บุตรทั้งสอง และบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในสัญญายังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะตามเงื่อนไขในสัญญาก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จะย้อนมาอ้างสิทธิว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสหรือไม่อย่างไรไม่ได้ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามที่มีอยู่เดิมเหนือที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้แต่สิทธิและพันธะหน้าที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558

พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 ที่ใช้บังคับขณะฟ้อง มาตรา 4 และมาตรา 19 แสดงว่าอธิการบดีซึ่งเป็นผู้แทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจดำเนินกิจการทั่วไปแทนโจทก์ การฟ้องคดีเป็นสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และความประสงค์ของนิติบุคคลแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลนั้น อธิการบดีผู้แทนของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีในนามโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสภามหาวิทยาลัย


จำเลยยอมรับว่าได้เช่าอาคารพาณิชย์พิพาทจากโจทก์ จึงไม่มีอำนาจต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าอีก และหากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดเวลาแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป แต่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารพาณิชย์ของโจทก์ ก็ถือได้ว่าจำเลยอยู่โดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง


จำเลยเคยยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า กรณียังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยยกขึ้นอ้าง อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีและเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) อันมีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังไม่รับคำฟ้อง เมื่อคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยกลับมาฟ้องแย้งคดีนี้มีรายละเอียดและเหตุผลอย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้สัญญาเช่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดเวลาการเช่าแน่นอน


จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


ร. เป็นนิติกรของโจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสัญญาเช่าพิพาท ถือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับพยานเอกสารในคดีที่ตนได้ตรวจสอบแล้ว สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ คำเบิกความของ ร. จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)


จำเลยได้ทราบถึงความมีอยู่ของสำนวนคดีที่ประสงค์อ้างเป็นพยานตั้งแต่ก่อนวันสืบพยาน แต่มาระบุอ้างเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสอง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226


คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า เอกสารที่จำเลยขอให้ศาลเรียกจากบุคคลภายนอกไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดี เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า พยานหลักฐานที่ขอให้เรียกมานั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเลยในคดีจะต้องนำสืบหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)


เจตนารมณ์ของการส่งสำเนาเอกสาร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 มุ่งประสงค์เพียงให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายันได้มีโอกาสตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้องไม่เสียเปรียบแก่กัน เมื่อโจทก์แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาท้ายคำฟ้อง ย่อมนับได้ว่าตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว สำหรับเอกสารอื่นที่มิได้เป็นประเด็นโต้เถียงกันในคดี โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารแก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5637/2558

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า บริษัท น. โดย ร. ผู้จัดการทั่วไป ผู้รับมอบอำนาจ ขอมอบอำนาจช่วงให้ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจ เพื่อดำเนินคดีใด ๆ ต่อบริษัท ช. โดยให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้ง หรือเป็นจำเลยเข้าต่อสู้คดีในการดำเนินคดีแพ่ง ฯลฯ ข้อความตามที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการ ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะกับบริษัท ช. เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจทั่วไป และไม่ได้ระบุให้มีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองด้วย การที่ ก. แต่งตั้งทนายความให้ฟ้องจำเลยทั้งสองจึงเป็นการฟ้องบุคคลนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจช่วง ทั้งข้อความที่ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ย่อมหมายถึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับบริษัท ช. ตามที่ระบุชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเท่านั้น ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์


ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง โจทก์ทราบมาตั้งแต่ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้แล้วว่า ช. และบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นคนละบริษัทกัน ทั้งไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาแต่ต้น แม้โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจช่วงซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอ้างเอกสารดังกล่าวไว้และได้ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 หนังสือมอบอำนาจช่วง ดังกล่าวจึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19431/2557

ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พยานหลักฐานใดที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้ การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างว่า โจทก์ยื่นโดยฝ่าฝืนมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐาน ย่อมเป็นกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบตามมาตรา 27 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวภายใน 8 วัน นับแต่วันแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12715/2557

คำให้การจำเลยทั้งสิบมิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงไม่มีประเด็นโต้เถียงว่า ผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนตามคำฟ้องหรือไม่ เพราะถือว่าจำเลยทั้งสิบยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วฟังว่า ผู้กู้ไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9590/2557

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยให้การว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาตัวการตัวแทนขายประกัน ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จำเลยแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน สาระสำคัญของนิติสัมพันธ์จึงต้องพิจารณาทั้งจากข้อความที่แถลงด้วยวาจาและข้อสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรประกอบกัน หากขัดแย้งกันต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงเป็นสำคัญ ตามรายงานกระบวนพิจารณาจำเลยว่าจ้างโจทก์โดยอาศัยสาระสำคัญของข้อตกลงตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 4 พิจารณาข้อสัญญาตามสัญญาตั้งตัวแทนประกอบข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานจึงไม่ขัดแย้งกับรายงานกระบวนพิจารณาที่บันทึกไว้


เป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงมาใช้พิจารณาพิพากษาคดีให้เกิดความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรก็เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยอาจนำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลม การนำ ป.วิ.พ. มาตรา 84 มาใช้โดยอนุโลมย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังพยานใดตามที่เห็นสมควรได้ ที่ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงและพยานอื่นประกอบการวินิจฉัยประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่จึงไม่เป็นการสืบพยานนอกประเด็นและไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379/2557

พยานหลักฐานที่ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 228 และพยานหลักฐานที่ศาลยอมให้คู่ความฝ่ายที่อ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาไม่ควรเชื่อฟังนำมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 120 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น มิใช่การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่กฎหมายบังคับว่าโจทก์จะต้องบรรยายมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งมิใช่พยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์ที่จะนำสืบสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนจะต้องนำสืบในกรณีปกติอันจะอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 หรือมาตรา 173/1 ที่คู่ความจักต้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7929/2557

การโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาภายในเวลาที่สมควรนั้น ต้องโต้แย้งภายหลังเมื่อศาลออกคำสั่งแล้ว ตามข้อเท็จจริงผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก่อนหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างตนเอง และหรืออ้างบุคคลอื่นเข้ามาเบิกความเป็นพยานได้ อีกทั้งพยานเอกสารที่ได้อ้างประกอบการถามพยานผู้ร้องที่ศาลแพ่งก็ไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ อันมีผลเท่ากับให้ถือเอาบัญชีระบุพยานที่นาย ด. เคยยื่นไว้ก่อนถึงแก่ความตายเป็นบัญชีระบุพยานของผู้คัดค้าน และอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากผู้ร้องไม่เห็นด้วยก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ แต่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าว จนกระทั่งถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นวันอ่านคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นเวลา 2 เดือนเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จึงเป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) เมื่อพิจารณาพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.3 แล้ว ปรากฏว่ามีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายและหัวแม่มือขวา และมีนาย อ. กับดาบตำรวจ ช. เป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายไว้ ซึ่งตามพินัยกรรมระบุข้อความไว้ว่า ผู้ตายได้พิมพ์หัวนิ้วมือซ้ายเป็นสำคัญต่อหน้าพยาน จึงเห็นได้ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือขวาของผู้ตายเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือเกินกว่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปแต่อย่างใด พินัยกรรมดังกล่าวยังมีผลสมบูรณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2557

การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์อาจลงลายมือชื่อโดยกรรมการของโจทก์ตามที่ได้กำหนดในหนังสือรับรองของโจทก์หรือโจทก์อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นลงลายมือชื่อทำสัญญาแทนได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง


แม้เนื้อหาของหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ไม่มีข้อความว่าเพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็ไม่พอที่จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2557

คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและไม่ปรากฏเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าเหตุใดจำเลยจึงต้องปรับลดหรือยุบแผนกในส่วนที่โจทก์ทำงาน มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดที่จะต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยพยายามหางานในตำแหน่งเหมาะสมให้โจทก์ทำก่อนที่จะเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเลือกปฏิบัติหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง


เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและข้อเท็จจริงในสำนวนยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้


จำเลยให้การว่าจำเป็นต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่นำสืบว่าจำเลยต้องการลดตำแหน่งงานโดยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน เท่ากับจำเลยยอมรับว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่ามีการยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานจึงไม่ชอบ ดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่จำเลยเลือกเลิกจ้างโจทก์เพียงคนเดียวจากลูกจ้างในหน่วยงาน 30 คน โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเหตุผล เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11242/2556

โจทก์ไม่อ้างและนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องในคดีนี้เป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยอ้างส่งเช็คที่เตรียมไว้ในคดีอื่นเป็นพยานในคดีนี้แทน ต่อมาได้มีการนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูลแล้ว เห็นว่า แม้เช็คและใบคืนเช็คเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่โจทก์ไม่ได้นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าสืบและอ้างส่งเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และต่อมามีการแก้ไขคำเบิกความของพยาน และนำเช็คทั้งสองฉบับมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนซึ่งจำเลยฎีกาว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบก็ตาม ก็ต้องถือว่าคดีนี้ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ไม่ใช่คดีที่ยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องตามที่จำเลยฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีมีมูลและให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือพิพากษายกฟ้อง เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ซึ่งโจทก์สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพิ่มเติม รวมทั้งอ้างเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องซึ่งโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้วนอกเหนือจากที่นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบพยานหลักฐานจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7324/2556

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ออกโดยส่วนจัดนิคมสหกรณ์ในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดินพิพาทดังกล่าวมีหนังสือแสดงการทำประโยชน์เป็นหลักฐาน จึงมิใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินของสำนักงานที่ดินอำเภอหรือจังหวัดในกรมที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง ที่ดินที่มีหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เป็นหลักฐานจึงถือได้ว่าเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีหลักฐานอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ใบไต่สวน หรือหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นหลักฐานแสดงสิทธิ ซึ่งล้วนแต่ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 อีกทั้งคู่กรณีต่างก็กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทตกอยู่ในเขตหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ของตน ทั้งโจทก์และจำเลยก็ไม่มีฝ่ายใดได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นฝ่ายมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและกรณีมิใช่จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ภาระการพิสูจน์จึงยังคงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้สมตามที่กล่าวอ้างมาในฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ไม่นำสืบพยานก็ไม่มีทางจะรับฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3806/2556

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 และคำร้องขอส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ก่อนแถลงหมดพยาน จำเลยดังกล่าวย่อมมีสิทธิทำได้เพราะในส่วนของการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นได้ก่อนฝ่ายจำเลยจะสืบพยานเสร็จ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยดังกล่าวยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 จึงชอบแล้ว แต่การขอส่งพยานเอกสารดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์เป็นคนละส่วนที่สามารถแยกพิจารณาจากกันได้ ทั้งผลการตรวจพิสูจน์เป็นเพียงความเห็นของผู้ตรวจพิสูจน์ที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการรับฟังว่าสมควรเชื่อหรือไม่เพียงใด หาใช่บังคับให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามผลการตรวจพิสูจน์ จึงเป็นดุลพินิจศาลในการจะอนุญาตให้ส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ตามคำร้องขอของคู่ความโดยพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์แก่คดีหรือไม่เพียงใด และต้องพิจารณาความเหมาะสมโดยคำนึงถึงคู่ความทุกฝ่ายด้วย หาใช่พิจารณาความต้องการของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10328/2555

วิธีพิจารณาในข้อที่เกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้น ป.วิ.อ. ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 173/1, 173/2 และ 240 แล้ว โดยมีเจตนารมณ์ไม่เน้นบังคับให้โจทก์ต้องระบุชื่อเอกสารแต่ละฉบับหรือชื่อวัตถุแต่ละอันที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไว้ในบัญชีระบุพยาน เพราะในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงไม่จำต้องใช้ ป.วิ.พ. เรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญานี้ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น ที่โจทก์อ้างบัญชีระบุพยานโจทก์ซึ่งไม่ใช่พยานบุคคลว่า "สรรพเอกสารและวัตถุพยานของกลางในสำนวนการสอบสวนคดีนี้" ก็เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6477/2554

จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรจากการให้บริการทำธุรกรรมทางด้านการเงินและรับฝากเงิน เงินที่จำเลยที่ 1 รับฝากไว้จากโจทก์ จำเลยที่ 1 สามารถที่จะนำเงินออกไปใช้แสวงหาประโยชน์อย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบจากผู้ฝาก เพียงแต่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้ครบจำนวนตามกำหนดเวลาเท่านั้น และมีอำนาจหรือสิทธิตัดสินใจในการบริหารเงินที่รับฝากไว้ตามกิจการของตนเองได้โดยลำพัง จำเลยที่ 1 จึงมิได้มีฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของโจทก์ตามความหมายแห่ง ป.อ. มาตรา 353 ดังนั้น หากโจทก์มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเงินฝากกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง โจทก์ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 1 ในทางแพ่งเท่านั้น


ข้อหาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม... เป็นบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ อีกทั้งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


คดีเสร็จการไต่สวนมูลฟ้อง แต่ก่อนอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 5 อ้างว่าเป็นเอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นใหม่ภายหลัง โจทก์ไม่อาจอ้างได้ก่อนในวันนัดไต่สวนครั้งสุดท้าย ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องและนำพยานมาสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว พยานเอกสารที่โจทก์ขอระบุเพิ่มเติมจึงมิใช่เอกสารสำคัญที่จะทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดผลคดีให้เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 5 ของโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2553

ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปใดๆ อาจเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้ หากปรากฏว่าข้อตกลงนั้นมีผลทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ


แบบพิมพ์สัญญาเช่าที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและโจทก์นำมาใช้กับผู้เช่าทุกคนจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป เมื่อไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของจำเลยว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่า ข้อ 8 เป็นการเอาเปรียบฝ่ายผู้เช่าเกินสมควรอย่างไร เพราะเหตุใด ลำพังเพียงการตกลงให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าที่จะบอกเลิกสัญญาได้แม้สัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนไม่ต่ำกว่า 30 วันนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าได้เปรียบฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540


ตามสัญญาเช่าข้อ 8 ไม่มีลักษณะเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้สัญญาเช่าเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตตาม ป.พ.พ. มาตรา 182 แต่เป็นเรื่องของการตกลงให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก่อนที่อายุสัญญาตามที่ตกลงกันไว้จะสิ้นสุด โดยคู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่เงื่อนไขของสัญญาเช่า


โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยกับ พ. หลอกลวงโจทก์จนหลงเชื่อเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยขอให้เพิกถอนสัญญาเช่า ประการหนึ่ง กับโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า ข้อ 8 ทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง อีกประการหนึ่ง สิทธิของโจทก์ทั้งสองประการแยกจากกันได้ไม่เป็นการขัดกัน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ในการทำสัญญาเช่าก็หาเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าข้อ 8 เพื่อเลิกสัญญาแก่จำเลยไม่


ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้นั้นต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อไม่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์หรือคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้ชำระค่าทำสัญญาเช่าหรือเงินบำรุงวัดแก่โจทก์ก่อนมีการทำสัญญาเช่า เพื่อเป็นการตอบแทนการที่โจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ ศาลไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2553

ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนงให้จัดทำแผนที่พิพาท เพื่อให้ทราบว่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 17 ก่อสร้างรุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 4 ถึง 6 สิงหาคม 2547 นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 10, 11 และ 13 สิงหาคม 2547 หลังจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ส่งแผนที่พิพาทมายังศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำแถลงขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 7 มิถุนายน 2547 ขออ้าง ส. เจ้าหน้าที่ฝ่ายหลักประกันและจดจำนองของธนาคาร ก. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในการทำแผนที่พิพาท และ ฉ. เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัดแผนที่พิพาท ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมดังกล่าวเข้ามาอีก โดยแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานบุคคลทั้งสองแทนพยานบุคคลสองอันดับที่ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกไปแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับวันนัดพยานโจทก์ที่ได้กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาประวิงคดี ประกอบกับแผนที่พิพาทไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกรุกล้ำ โจทก์ทั้งสองจึงอาจจำเป็นต้องนำพยานบุคคลที่เห็นว่าเป็นกลางมานำสืบเพื่อให้ได้ความชัดเจน ซึ่งไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบ เพราะจำเลยทั้งสามมีสิทธิถามค้านและนำพยานของตนเข้าสืบแก้ได้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมกรณีเช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจเสนอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญแห่งคดีและอาจทำให้รูปคดีของโจทก์ทั้งสองเสียหายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2553

แม้โจทก์จะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างเอกสารเป็นแต่ละฉบับ แต่ยื่นบัญชีระบุพยานระบุว่า บรรดาสรรพเอกสาร ซึ่งหมายถึงเอกสารหลายฉบับ โดยไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นเอกสารอะไรบ้างก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงสภาพของเอกสารที่จะอ้างแล้ว เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย โดยพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วตามที่ระบุในคำฟ้อง ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเอกสารที่โจทก์ประสงค์อ้างส่งตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวล้วนเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการสอบสวนในคดีนี้ทั้งสิ้น โจทก์มีอำนาจนำพยานเอกสารดังกล่าว เข้าสืบได้ เมื่อจำเลยซึ่งถูกอ้างเอกสารดังกล่าวมายันย่อมซักค้านได้ และถ้าเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ย่อมนำพยานที่เกี่ยวข้องมานำสืบหักล้างพยานเอกสารที่โจทก์นำเข้าสืบได้ มิได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่อย่างไร การยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2552

จำเลยเพิ่งจะอ้างส่งบันทึกคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาและใบเสนอราคาเป็นเอกสารท้ายฎีกา โจทก์ไม่มีโอกาสหักล้างข้อเท็จจริงหรือโต้แย้งเอกสารดังกล่าวได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งจำเลยรู้ถึงความมีอยู่ของเอกสารดังกล่าวตั้งแต่แรกที่โจทก์ฟ้องคดี การที่จำเลยยื่นเอกสารดังกล่าวในชั้นฎีกาเป็นการนำเอกสารเข้าสู่สำนวนคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2552

แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ขึ้น อ้างในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง


ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของ โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้


ที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ล. มาท้ายฎีกานั้น จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15219/2551

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้โจทก์ และบริวารอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิต เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยให้การว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายและจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเพราะถูกโจทก์บังคับให้ กระทำจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา จะเห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้ให้การยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาบันทึกข้อตกลงเพิ่ม เติมตามที่โจทก์ฟ้อง คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยว่า จำเลยต้องทำหนังสือและจดทะเบียนให้โจทก์และบริวารอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดิน พิพาทตลอดชีวิตตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งจะต้องดำเนินการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไปเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ดังกล่าว ไม่ใช่ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำรับของฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลย ที่ศาลจะวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4349/2551

โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ร. ดำเนินคดีแทน แต่จำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้วว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อผู้มีอำนาจของโจทก์แต่เป็นลายมือชื่อ ปลอม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ที่ลงลายมือชื่อในคำสั่งเกี่ยวกับการมอบอำนาจ เป็นผู้ที่มีอำนาจของโจทก์และเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง คดีนี้โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบเพียงปากเดียว โดยไม่ได้เบิกความถึงการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี และไม่ได้ยืนยันว่า ลายมือชื่อในคำสั่งเกี่ยวกับการมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง ถือว่าโจทก์นำสืบประเด็นนี้ไม่สมตามคำฟ้อง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ร. ดำเนินคดีแทน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3993 - 3994/2551

การวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าศาลต้องฟังข้อพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด และสิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้วศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมีอำนาจตรวจสอบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหลายฉบับในสำนวนเปรียบเทียบกัน เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่าลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่ลาย มือชื่อของจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2551

ปัญหาว่าการส่งคำบังคับให้จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นประเด็นในคดีที่จำเลย ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้โจทก์จะมิได้คัดค้านคำร้องของจำเลย ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องไต่สวนเพื่อให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในทางหนึ่งทางใดเสียก่อน จึงจะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำร้องของจำเลยได้ว่ามีเหตุสมควรเพิก ถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ กรณีเช่นว่านี้หากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบเพิ่มเติม ศาลก็มีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานใดๆ อันเกี่ยวแก่ประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียก ย. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศาลผู้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยมาเบิกความในฐานะพยานศาล จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2551

คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โดยโจทก์มีภาระการพิสูจน์ การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโจทก์แถลงขอสืบ ส. ทนายโจทก์เป็นพยานปากแรก โดยโจทก์ยืนยันว่า ส. รู้เห็นการประกอบอาชีพของโจทก์ เมื่อยังไม่ได้ฟังคำพยานย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ส. เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง หรือไม่ และพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ประกอบกับโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่า ส. ไม่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องการประกอบอาชีพของโจทก์โดยตรงจึงให้งดสืบพยาน โจทก์ปากดังกล่าว คงมีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว แล้วพิพากษาคดีไปโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2551

คำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ให้เรียกพยานเอกสารเข้ามาสู่สำนวนความหลังเสร็จสิ้น การสืบพยาน เป็นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดี ซึ่งจำเลยที่ 2 ขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมไว้แล้ว แต่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตภายหลังศาลภาษีอากรกลางกลับเห็นว่า เอกสารเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเรียกพยานหลักฐานนั้นเข้ามาสู่สำนวนหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลยที่ 2 ประมาณ 1 เดือน โดยไม่มีการแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทั้งสองฝ่ายทราบเพื่อที่จะได้มี โอกาสเข้ามาคัดค้าน หรือโต้แย้งความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารดังกล่าว แม้ต่อมามีการเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาแต่คู่ความก็มิได้มาศาล ทั้งมิได้มีการแจ้งคำสั่งเกี่ยวกับการเรียกพยานเอกสารดังกล่าวให้คู่ความ ทราบอีกเช่นกัน การที่ศาลภาษีอากรกลางนำพยานเอกสารดังกล่าวมาวินิจฉัยให้โจทก์แพ้คดี จึงไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและไม่ชอบด้วยการพิจารณา เพราะทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3993 - 3994/2551

คดี 2 เรื่อง ได้พิจารณาพิพากษารวมกัน ต้องพิจารณาทุนทรัพย์เป็นรายคดีมิใช่ถือทุนทรัพย์ 2 คดี มารวมกันคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ เมื่อคดีสำนวนหลังมีทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์เพียง 42,168.49 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 อุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังด้วยจึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังชอบแล้ว แม้ในชั้นฎีกาผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาต ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมา แล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง


การวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าศาลต้องฟังข้อพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด และสิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้วศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมีอำนาจตรวจสอบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหลายฉบับในสำนวนเปรียบเทียบกัน เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่าลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่ลาย มือชื่อของจำเลยได้


โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุใบเสร็จรับเงินท้ายฎีกาเป็นพยานและไม่ได้นำสืบไว้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1839/2551

จำเลย ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาล มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียวโดยไม่มี จำเลยที่ 1 ร่วมด้วยขัดต่อมาตรา 1726 จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวจึงไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้ง


ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง


โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินกองมรดกครึ่งหนึ่งของผู้ตายในฐานะเป็นเจ้าของร่วม ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ยื่นคำให้การต่อสู้ว่าทรัพย์มรดกผู้ตายไม่ ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ ครึ่งหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นก็ควรต้องฟังพยานโจทก์ให้ได้ความก่อนว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ที่โจทก์ฟ้องเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมกับผู้ตายทำมาหาได้ร่วมกันมาใน ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันจริงตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390 - 2391/2551

โจทก์จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดตกลงท้ากันให้ถือเอาการตอบคำถามศาลของ น. เป็นข้อแพ้ชนะเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดเสียก่อน ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นเป็นประโยชน์ต่อคู่ความฝ่ายใด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นทั้งหมด เมื่อ น. ตอบคำถามศาลว่า ที่ดินพิพาทหมายเลข 1 ถึง 3 เป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ดินพิพาทหมายเลข 4 เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของคำท้าทุกประการ แม้ว่าประเด็นของคดีไม่มีว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์และผู้ร้องสอดก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2550

พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีได้ และตามมาตรา 6 เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จึงเป็นสถาบันการเงินตามความในมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์เรียกจากผู้กู้ยืมได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทโดยตรง ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์จะต้องนำสืบ การที่พยานโจทก์เบิกความว่า การคิดดอกเบี้ยและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ โดยอ้างส่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ แนบท้ายประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว


แม้โจทก์จะมิได้ระบุอ้างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวในบัญชีระบุพยานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 88 แห่ง ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการที่จำเลยและประชาชนโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่และถูกต้องแท้จริงได้โดยไม่เป็นการยากลำบาก โจทก์อ้างส่งเอกสารดังกล่าวในระหว่างสืบพยานโจทก์ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นศาลชั้นต้นก็ได้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย จำเลยมีโอกาสตรวจสอบเอกสารและถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ครั้งถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านถึงความมีอยู่และความถูกต้องของประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมตามมาตรา 4 แล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงไม่อาจนำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8917/2550

สัญญากู้เงินมีข้อความว่า จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ทั้งสอง 476,720 บาท และได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยให้การรับว่าทำสัญญากู้จริงแต่ไม่ได้รับเงินกู้ มูลหนี้ตามฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตามข้อต่อสู้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9000/2550

จำเลย ที่ 2 ยื่นคำร้องขออ้างพยานเอกสารเพิ่มเติม บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตและสั่งให้จำเลยที่ 2 สำเนาให้แก่โจทก์ด้วยแล้ว เมื่อต้นฉบับเอกสารเป็นเอกสารซึ่งอยู่ในครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัด เชียงใหม่ สาขาจอมทอง จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)


การที่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารไว้ก่อนนั้น เมื่อปรากฏว่าเอกสารทั้งสามฉบับนี้เป็นเอกสารที่ตัวโจทก์ได้ยื่นต่อเจ้า พนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ไปขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวมายื่นแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ลายมือชื่อของ โจทก์เท่านั้น ทั้งเรื่องการจำนองที่ดินพิพาทแล้วมีการไถ่ถอนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ในสารบัญจดทะเบียนหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อนถึงเอกสารดังกล่าว ก็สามารถรับฟังเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวได้ว่ามีอยู่จริงที่สำนักงานที่ดิน จังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7334/2550

จำเลยให้การรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจริง แต่ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ เนื่องจากจำเลยและ ท. มารดาโจทก์ ไม่มีเจตนาที่จะให้มีผลผูกพันกันเป็นการต่อสู้ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยไม่ได้อ้างเหตุตั้งประเด็นไว้ว่าที่จำเลยและ ท. ไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันกันเป็นเพราะเหตุใด แม้จำเลยจะกล่าวอ้างมาในคำให้การว่า จำเลยมีฐานะทางการเงินดีกว่า ท. ก็ไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดจำเลยและ ท. จึงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ จึงเป็นคำให้การปฏิเสธที่ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยย่อมไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ แม้จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 87 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงิน ท. และรับเงินกู้แล้วตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979/2550

ค่าอ้างเอกสารเป็นค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เมื่อไม่ปรากฏว่า โจทก์จงใจที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้ ก็ไม่มีบทกฎหมายจะให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะอ้างเอกสารเป็นพยาน ตามบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 87 ก็บัญญัติแต่เพียงว่า ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความมิได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเท่า นั้น ทั้งยังยกเว้นไว้ด้วยว่า ถ้าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี แม้จะฝ่าฝืนบทบัญญัติในอนุมาตรานี้ก็ให้อำนาจศาลที่จะรับฟังพยานหลักฐานเช่น ว่านี้ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานเอกสารของโจทก์ จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1565/2550

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำแผนที่พิพาทนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความ ยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ซึ่งบทมาตราดังกล่าวนี้ศาลสามารถสั่งได้เองโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ แม้คู่ความจะมิได้ระบุพยานเพิ่มเติม ศาลก็สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่มีการสืบเพิ่มเติมนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ส่วนพยานหลักฐานนั้นจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดเป็นเรื่องของการชั่ง น้ำหนักพยานหลักฐาน หาใช่เรื่องนอกประเด็นนอกคำฟ้องไม่ แม้จำเลยและผู้ร้องสอดจะไม่ได้ลงชื่อรับรองแผนที่พิพาท แต่จำเลยและผู้ร้องสอดก็มิได้โต้แย้งว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ตรง กับระวางโฉนดที่ดินแต่อย่างไร ศาลจึงรับฟังแผนที่พิพาทซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้นดังกล่าวประกอบพยานหลัก ฐานอื่นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1565/2550

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำแผนที่พิพาทเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ซึ่งศาลสามารถสั่งได้เองโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ แม้คู่ความจะมิได้ระบุพยานเพิ่มเติมศาลก็รับฟังพยานหลักฐานที่มีการสืบเพิ่ม เติมนั้นได้ตามมาตรา 87 (2) ส่วนพยานหลักฐานนั้นจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดเป็นเรื่องของการชั่ง น้ำหนักพยานหลักฐาน มิใช่เรื่องนอกประเด็นนอกคำฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8917/2550

สัญญากู้เงินมีข้อความว่า จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ทั้งสอง 476,720 บาท และได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยให้การรับว่าทำสัญญากู้จริงแต่ไม่ได้รับเงินกู้ มูลหนี้ตามฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตามข้อต่อสู้


ศาลชั้นต้นมิได้ชี้สองสถานและกำหนดภาระการพิสูจน์ เมื่อโจทก์และจำเลยได้สืบพยานไปจนสิ้นกระแสแล้ว ศาลล่างทั้งสอง ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทจากพยานหลักฐานที่โจทก์ จำเลยนำสืบ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยครบถ้วนชัดแจ้งโดยมิได้ยกภาระการพิสูจน์เป็นเหตุพิพากษาให้แพ้ หรือชนะคดีดังนั้นแม้จำเลยจะมีภาระการพิสูจน์ผลแห่งคดีก็ไม่เปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์ทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายใดจึงไม่ เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนี่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7334/2550

จำเลยให้การรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจริง แต่ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ เนื่องจากจำเลยและ ท. มารดาโจทก์ ไม่มีเจตนาที่จะให้มีผลผูกพันกันเป็นการต่อสู้ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยไม่ได้อ้างเหตุตั้งประเด็นไว้ว่าที่จำเลยและ ท. ไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันกันเป็นเพราะเหตุใด แม้จำเลยจะกล่าวอ้างมาในคำให้การว่า จำเลยมีฐานะทางการเงินดีกว่า ท. ก็ไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดจำเลยและ ท. จึงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ จึงเป็นคำให้การปฏิเสธที่ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยย่อมไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ แม้จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 87 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงิน ท. และรับเงินกู้แล้วตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5957/2550

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 10,000 บาท โจทก์ไม่ฎีกา ถือว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง


โจทก์ฟ้องว่าให้จำเลยอาศัยทำประโยชน์ในที่พิพาท จำเลยให้การยอมรับว่าเข้าทำประโยชน์ไม่ใช่ในฐานะผู้อาศัย แต่ในฐานะผู้เช่าตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและอาคารเก็บสินค้าด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยแล้ว ให้จำเลยทำสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี จนครบกำหนด 15 ปี เป็นการที่จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ใหม่ ภาระการพิสูจน์ที่จะนำสืบให้เห็นว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับจำเลยจริง จึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2550

โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ได้จดทะเบียนแล้ว ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว


โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและให้จำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอยู่อาศัยอีกต่อไป ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลย ต่อมาบิดามารดายกที่ดินพิพาทให้จำเลย เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็น เจ้าของมาเกิน 10 ปีแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยเช่นกัน จึงขัดแย้งกับคำให้การและฟ้องแย้งในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็น เรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะรับวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาล อุทธรณ์ภาค 7 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5196/2550

คู่ความท้ากันว่าหากโจทก์สามารถใช้เครื่องมือกระบอกตั้งระยะชุดป้อนกระดาษของ เครื่องพิมพ์ขนาด 102 เซนติเมตร ในการตั้งระยะเครื่องซีดี 74 ตามใบสั่งซ่อมได้ระยะ 45.5 เซนติเมตร หรือ 455 มิลลิเมตร แล้ว จำเลยทั้งสองยอมแพ้ ยอมจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ หากโจทก์ไม่สามารถตั้งได้ โจทก์ขอยอมแพ้ ดังนั้น ประเด็นในการท้ากันจึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถใช้เครื่องมือกระบอกตั้งระยะใน การตั้งระยะดังกล่าวได้หรือไม่เท่านั้น โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าห้ามมีตัวนอตหรือสกรูขยับได้หรือต้องตรงตามมาตรฐานของ เครื่องเพื่อตรงตามความต้องการของลูกค้าตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์สามารถใช้เครื่องมือกระบอกตั้งระยะในการตั้งระยะดังกล่าวได้ตรง ตามคำท้าแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในคำท้าได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีและจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2550

โจทก์นำสืบว่าจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 จำนวน 2,000 บาท จำเลยนำสืบว่าไม่ได้ชำระ ภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ย่อมตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้โอนเงินดังกล่าวชำระหนี้ แก่โจทก์ ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันดัง กล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2549

มูลหนี้เดิมที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสัญญากู้เงินตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 จำเลยต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เงินเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้


การนำสืบว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ตามฟ้องไม่เป็นการต้องห้าม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2550

สัญญาจองเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองที่ดินเท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อยังไม่ได้ทำกัน ผลจากการชี้ช่องหรือจัดการของโจทก์ที่ทำการเป็นนายหน้าจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จในการเป็นนายหน้าจากจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 845


โจทก์ฟ้องเรียกค่าทำป้ายโครงการกับค่าพิมพ์สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยทั้งสองให้การว่าตกลงให้โจทก์ดำเนินการแบ่งที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นแปลงย่อยเพื่อนำออกขาย โจทก์จึงขอปลูกสร้างบ้านขายพร้อมที่ดินโดยทำเป็นโครงการ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธค่าใช้จ่ายที่โจทก์ฟ้องมา โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าได้เสียค่าทำป้ายและค่าแบบพิมพ์สัญญาไปจริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5196/2550

คู่ความท้ากันว่าหากโจทก์สามารถใช้เครื่องมือกระบอกตั้งระยะชุดป้อนกระดาษของเครื่องพิมพ์ขนาด 102 เซนติเมตร ในการตั้งระยะเครื่องซีดี 74 ตามใบสั่งซ่อมได้ระยะ 45.5 เซนติเมตร หรือ 455 มิลลิเมตร แล้ว จำเลยทั้งสองยอมแพ้ ยอมจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ หากโจทก์ไม่สามารถตั้งได้ โจทก์ขอยอมแพ้ ดังนั้น ประเด็นในการท้ากันจึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถใช้เครื่องมือกระบอกตั้งระยะในการตั้งระยะดังกล่าวได้หรือไม่เท่านั้น โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าห้ามมีตัวนอตหรือสกรูขยับได้หรือต้องตรงตามมาตรฐานของเครื่องเพื่อตรงตามความต้องการของลูกค้าตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์สามารถใช้เครื่องมือกระบอกตั้งระยะในการตั้งระยะดังกล่าวได้ตรงตามคำท้าแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในคำท้าได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีและจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4428/2550

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานจึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ เมื่อพยานหลักฐานของผู้คัดค้านเท่าที่นำสืบมาไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานได้ จึงต้องรับฟังว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ถูกยึดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1565/2550

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำแผนที่พิพาทเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ซึ่งศาลสามารถสั่งได้เองโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ แม้คู่ความจะมิได้ระบุพยานเพิ่มเติมศาลก็รับฟังพยานหลักฐานที่มีการสืบเพิ่มเติมนั้นได้ตามมาตรา 87 (2) ส่วนพยานหลักฐานนั้นจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน มิใช่เรื่องนอกประเด็นนอกคำฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550

แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุด ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077 - 8078/2549

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เอง และตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน (ฉบับที่ 3) ข้อ 6 ได้กำหนดวิธีการยื่นบัญชีระบุพยานของศาลแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้ในการดำเนินคดีแรงงาน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ใช้บังคับแก่กรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง หากไม่ได้ระบุเหตุผลที่อ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดที่จะเป็นไปตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 (1) ถึง (6) ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบแล้ว จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น ไม่บังคับรวมถึงการนำพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีที่จะเกินกว่าที่พยานนั้นเคยให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2549

แม้จำเลยทั้งสามมิได้ระบุเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยานหลักฐานแต่ได้ใช้เอกสารเหล่านั้นประกอบการถามค้านโจทก์ที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.1 ทั้งโจทก์ที่ 1 เองก็เบิกความรับรองเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 โดยยืนยันว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับหลักฐาน การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จำเลยที่ 1 จึงอ้างเอกสารเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 แม้เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและส่งสำเนาให้โจทก์ทั้งสอง ก็หาต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2549

จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น เมื่อจำเลยทั้งหมดให้การต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ตามเช็คแล้ว โดยจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ให้แก่โจทก์เป็นการตีใช้หนี้ อันเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดตามเช็ค หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ตีใช้หนี้ตามเช็คฉบับอื่น เป็นเพียงการนำสืบแก้ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นโต้เถียงในคำให้การเท่านั้น หน้าที่นำสืบในประเด็นข้อนี้หาได้ตกอยู่แก่โจทก์ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2549

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะคันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางตามที่กล่าวอ้าง แต่ผู้ร้องไม่ได้นำสืบ ย. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางตามสำเนารายการจดทะเบียน หรือเจ้าของร้านผู้ประมูลขายรถยนต์กระบะของกลาง มาเบิกความสนับสนุนว่าได้ขายรถยนต์กระบะของกลางให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีเพียงหนังสือมอบอำนาจกับแบบคำขอโอนและรับโอนว่า ย. ลงลายมือชื่อไว้ โดยผู้ร้องยังมิได้ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของให้เป็นการถูกต้อง แม้หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าผู้มีชื่อในเอกสารดังกล่าวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าจะนำรถยนต์กระบะของกลางไปขายต่อและไม่ต้องการเสียภาษี จึงมิได้ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของให้เป็นการถูกต้อง ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8593/2548

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปรามปราบผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อนตามบทบัญญติดังกล่าว ดังนั้น เงินหรือทรัพย์ของผู้คัดค้านที่มีอยู่หรือได้มาเกินฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต จึงถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านมีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์หักล้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5684/2548

ตามหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างบริษัทเงินทุนโจทก์กับจำเลยในข้อ 3 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ผู้กู้ตกลงชำระดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี และวรรคสองระบุว่า อัตราดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้กู้มีสิทธิเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นหรือต่ำลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้อันเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิดำเนินการตามข้อ 8 และข้อ 8 ระบุว่าในกรณีที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดที่ผู้ให้กู้ได้มีประกาศกำหนดให้เรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาข้อตกลงตามข้อ 7 และข้อ 8 มีลักษณะเป็นการกำหนดเพื่อทดแทนค่าเสียหายของโจทก์ล่วงหน้าสำหรับกรณีเมื่อจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาที่ไม่ผ่อนชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีปกติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 วรรคสอง


จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ของหนี้ที่เป็นประกัน การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในหนี้ที่มีจำนองนั้นเป็นประกันในอัตราเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับหนี้ที่จำนองนั้นเป็นประกันหรือหนี้ประธาน โจทก์จึงไม่อาจนำอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองมาใช้เรียกจำเลยได้


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เพียงแต่กำหนดให้ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน แต่การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเบี้ยปรับให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามปกติที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามสัญญาคืออัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี จึงมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4880/2548

การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามคำท้า เป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา เช่นการสาบาน หรือการเบิกความของพยานปากใดปากหนึ่ง ถ้าดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วสมประโยชน์ของคู่ความฝ่ายใด คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้าง อันเป็นผลให้คู่ความฝ่ายที่ได้ประโยชน์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยไม่ต้องมีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ตามประเด็นข้อพิพาท คดีนี้โจทก์และจำเลยท้ากันให้ถือเอาคำเบิกความของนางสาว บ. เป็นข้อแพ้ชนะคดี โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาว่า หากนางสาว บ. เบิกความว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ 700,000 บาทเศษ ให้ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรม โจทก์ยอมแพ้คดี และโจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวน 792,857.28 บาท ให้แก่จำเลย ถ้านางสาว บ. เบิกความว่า โจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยตามยอดเงินดังกล่าว จำเลยยอมแพ้โดยถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม และจำเลยจะจ่ายค่าชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ รวม 318,000 บาท ให้แก่โจทก์ ต่อมานางสาว บ. มาเบิกความว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยจำนวน 700,000 บาทเศษ จริง ตรงตามคำท้าเงื่อนไขบังคับก่อนจึงสำเร็จผลตามคำท้าสมประโยชน์แก่จำเลย คำท้าบังเกิดผลแล้ว โจทก์ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างโดยไม่ต้องสืบพยานเพื่อพิสูจน์ตามประเด็นพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055 - 4056/2548

ป.วิ.พ. มาตรา 84 หมายความว่า คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดคู่ความฝ่ายนั้นต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์สนับสนุนข้อเท็จจริงนั้น แต่ว่าคู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้หรือซึ่งศาลเห็นว่าไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์เนื่องจากข้อเท็จจริงนั้นอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางได้ตรวจสำนวนโดยพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คู่ความส่งต่อศาลและสอบถามข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้นั้น เป็นการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 84 และ 104 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7812/2547

ใบสั่งซื้อสินค้าเป็นเอกสารที่โจทก์ใช้ในการถามค้านจำเลยที่ 2 ที่อ้างตนเองเป็นพยาน เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความรับรองเอกสารนั้นแล้ว โจทก์จึงอ้างส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาลชั้นต้น จึงมิใช่พยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุเอกสารดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยานของโจทก์ และมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ก็ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2547

ศาลมีอำนาจพิเคราะห์ว่า กระบวนพิจารณาใดจำเป็นจะต้องกระทำเพียงใดหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากระบวนพิจารณาใดเป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น ศาลย่อมมีอำนาจงดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง คดีนี้จำเลยขอเลื่อนนัดไต่สวนมาหลายนัดแล้ว ประกอบกับการเดินเผชิญสืบอาคารพิพาทก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ทั้งการออกคำสั่งกำหนดเดินเผชิญสืบก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลโดยเฉพาะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 99 วรรคแรก เมื่อศาลชั้นต้นไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำการไต่สวนพยานจำเลยต่อไปโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว การเดินเผชิญสืบตามคำขอของจำเลยก็มีแต่จะทำให้เกิดความล่าช้า ประวิง และยุ่งยาก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องและไม่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบอาคารพิพาท จึงชอบแล้ว