Pages

คำพิพากษาศาลฎีกาน่าสนใจ ปี 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19128/2555 
เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ย่อมตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 เพื่อให้การบังคับคดีเสร็จไปเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องคดีค้างพิจารณาที่ศาลจำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 44 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีได้ แม้การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ ของผู้ร้อง อาจเป็นไปเพื่อใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งตกทอดแก่ตนในฐานะทายาทก็ตาม แต่การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะในชั้นบังคับคดีนั้น จำต้องได้ความว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายเกิดขึ้นในชั้นบังคับคดีเสียก่อน เมื่อคำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 อย่างไร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 ลำพังเพียงเหตุว่าโจทก์ไม่บังคับคดีภายในสิบปี หาก่อให้เกิดสิทธิในการรับมรดกความเพื่อต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้ไม่ ทั้งการบังคับคดีภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็เป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจผู้ร้องที่จะร้องขอให้การบังคับคดีสิ้นผลเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาสิบปีได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18532/2555 
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยนำค่าเสียหายที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษามาวางศาลนั้น มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ให้จำเลยนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาล การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษซึ่งเป็นเพียงหลักประกันมาวาง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 คำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยจึงเป็นอันยกไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษมาวางต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นั้น พอถือได้ว่าเป็นการขอวางหลักประกันเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้แม้จะไม่ได้ขอทุเลาการบังคับก็ตาม ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะรับหลักประกันที่จำเลยนำมาวางไว้พิจารณาว่าพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดีหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17922/2555 
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 31910 และ 28735 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่มีต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม (สัญญาประนีประนอมยอมความ) ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด อ. ประมูลซื้อได้ในราคา 301,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ เมื่อสำเนาโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีชื่อจำเลยที่ 2 ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อีกทั้งหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ระบุว่า กรรมการคนใดเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้น ณ. กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ ธ. เข้าร่วมขายทอดตลาด และ จ. กรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบังคับคดีผ่านผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยที่ 1 สามารถหาเงินซื้อที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ ย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมาย การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร เป็นฎีกาในประเด็นร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17432/2555 
การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ ซึ่งในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดตัวอย่างของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในการชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ เป็นเพียงบทสันนิษฐานในกรณีเป็นที่สงสัยเท่านั้น แต่ถ้ามีการตกลงหรือมีพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ทั้งหมดก่อนครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงอย่างชัดแจ้งตามสัญญากู้เงินว่าในกรณีที่ผู้กู้ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก ผู้กู้ตกลงชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ โจทก์จึงชำระหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนคืนแก่จำเลยก่อนกำหนดโดยที่จำเลยไม่ยินยอมหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ต้องการคืนเงินกู้ทั้งจำนวนแก่จำเลยก่อนกำหนดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์เบิกใช้เงินกู้ครั้งแรก โจทก์จึงต้องชำระค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนดแก่จำเลยตามสัญญากู้ โดยจำเลยมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการได้ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ข้อ 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากู้เงินและธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมคืนเงินกู้ก่อนกำหนด จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ทำให้โจทก์ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555 
การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17194/2555 
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เฉพาะวิธีพิจารณาในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเท่านั้น ส่วนบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ที่ว่าปัญหาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้นั้นมิได้นำมาใช้บังคับด้วย เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17186/2555 
จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 4.2.2 ระบุให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2545 ให้แก่โจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับโอนในวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งล่วงเลยเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ยินยอมรับโอนโดยไม่อิดเอื้อน แสดงว่า โจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า วันที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจากจำเลย โจทก์ได้แจ้งสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยโดยมีพนักงานของจำเลยรับทราบไว้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่อิดเอื้อน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 การฟ้องให้รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามสัญญาซื้อขาย มิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง โจทก์มีหนังสือแจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่อง แต่ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 11.2 ผู้จะขายต้องเริ่มดำเนินการแก้ไขความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้จะซื้อได้แจ้งให้ผู้จะขายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หากผู้จะขายเพิกเฉยหรือดำเนินการโดยชักช้า ผู้จะซื้อมีสิทธิแก้ไขเอง ผู้จะขายต้องรับผิดชอบในความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อจะได้ชำระไป และตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป หลังจากโจทก์แจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขแล้วโจทก์ต้องให้เวลาจำเลยเริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วหากจำเลยยังไม่ดำเนินการแก้ไข โจทก์จึงจะใช้สิทธิเรียกร้องได้ วันที่ครบ 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ คือ วันที่ 25 พฤษภาคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16991/2555 
การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์เดิมจากการขายทอดตลาดจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องไม่ชำระราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อไว้ครั้งก่อน จึงไม่มีราคาทรัพย์ส่วนที่ขาดที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16776/2555 
การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ ส. และทายาท เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่ ส. กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยด้วยจึงเป็นการบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลไม่อาจบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการตามที่โจทก์ขอได้ อีกทั้งเป็นเรื่องวิธีการในชั้นบังคับคดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไขและปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16057/2555 
คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกทั้งหมดของ ร. แล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกทรัพย์มรดกทั้งหมดจาก ร. มาเป็นของโจทก์ กรณีจึงเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกของ ร. ให้โจทก์ตามส่วน จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นสินสมรสที่ได้มาระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากับ ร. ก็ตาม แต่การที่จะพิพากษาแบ่งมรดกแก่ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธินั้น จะต้องพิจารณาถึงทรัพย์แต่ละรายการว่าเป็นสินสมรสด้วยหรือไม่ การวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นสินส่วนตัวของ ร. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ร. กับจำเลยจึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี สำหรับที่ดินพิพาทแปลงแรกนั้น ร. ได้มาภายหลังจากสมรสกับจำเลย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส จำเลยมีสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งต้องแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนของ ร. แต่ปรากฏว่าจำเลยได้โอนขายที่ดินให้แก่ ต. ไปแล้วก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงไม่สามารถพิพากษาให้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ ต้องถือว่าเงินที่จำเลยได้รับจากการขายที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ร. ทุกคน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าขายที่ดินในฐานะทายาทหลังจากแบ่งสินสมรสแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15791/2555 
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีซ้ำอีก แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับแรกได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ กรณีจึงถือว่าคำร้องฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีรายเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขึ้นอีกภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับแรกแล้วนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15690/2555 
หนังสือมอบอำนาจซึ่งปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15677/2555 
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้และประสงค์จะบังคับทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกัน แม้ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุเพียงว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยตกลงชำระหนี้ส่วนที่ขาดจำนวนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยให้แก่โจทก์จนครบ ตามหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเช่นเดียวกัน แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 4 จะระบุเพียงว่า หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าจำเลยผิดนัดทั้งสิ้น และยินยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที แต่สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กล่าวไว้ว่าหากจำเลยผิดนัดแล้วให้โจทก์บังคับคดีได้แต่เฉพาะทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นประกันเท่านั้น แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกันตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันด้วย ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ที่ว่า โจทก์และจำเลยตกลงตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 และไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีกนั้น ก็หมายความแต่เพียงว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องเงินนอกเหนือไปจากจำนวนเงินหรือหนี้ที่ตกลงกันไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 4 เท่านั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15518/2555 
การส่งคำคู่ความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลทางโทรสารตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2550 จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลชั้นต้นมีความพร้อมที่จะรับคำคู่ความที่ส่งโดยทางโทรสาร และได้ออกประกาศแจ้งหมายเลขโทรสารของศาลชั้นต้นให้ทราบทั่วกัน มิใช่ว่าเมื่อข้อบังคับของประธานศาลฎีกาใช้บังคับแล้ว คู่ความจะส่งคำคู่ความไปยังหมายเลขโทรสารของศาลชั้นต้นได้ เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้ดำเนินการออกประกาศดังกล่าว จึงยังไม่อาจนำเรื่องการส่งคำคู่ความทางโทรสารมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ เมื่อโจทก์นำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มายื่นต่อศาลชั้นต้นหลังจากสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วโจทก์จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องของโจทก์อ้างว่าขอคัดถ่ายคำพิพากษาแต่ได้รับแจ้งว่ายังอยู่ที่งานหน้าบัลลังก์นั้น เมื่อตรวจคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เมื่อนับจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเกินกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาจากจำเลยได้อีกต่อไป โจทก์ย่อมสามารถคัดลอกผลตามคำพิพากษาดังกล่าวไปจัดทำอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องรอการคัดถ่ายอีก กรณีจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง มิใช่เหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15379/2555
ตามหนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อความว่า โจทก์ขายบ้านพร้อมที่ดินและกิจการน้ำดื่มแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000,000 บาท และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน แม้หนังสือสัญญาซื้อขายจะระบุชื่อชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายอันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาความตกลงในสัญญาโดยเฉพาะสัญญาข้อ 5 ที่ระบุว่าผู้ซื้อต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ขายให้ครบจำนวนภายในเวลา 1 ปี หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ เป็นที่เห็นได้ว่าการซื้อขายที่ดินยังไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์แก่กันได้ จำต้องอาศัยผลของการชำระเงินเป็นเงื่อนไข จึงแสดงถึงเจตนาของคู่สัญญาว่ามีเจตนาจะไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในภายหลังแม้โจทก์ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายแก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย หาใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด หนังสือสัญญาซื้อขายไม่ได้ระบุจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขาย การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยทั้งสองรวมที่ดินของ ว. และ ห. เนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ในรั้วที่ดินที่โจทก์นำชี้ด้วย และโจทก์ไม่สามารถโอนที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงตกลงกันให้หักราคาที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งเป็นของ ว. และ ห. เป็นเงิน 300,000 บาท ออกจากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท ตามสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาซื้อขายดังกล่าวว่าได้มีการตกลงในการชำระราคาที่ดินที่ซื้อขายกันอย่างไร มิได้เป็นการนำสืบหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขาย จำเลยย่อมนำสืบได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14437/2555 
โจทก์มอบโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์และใบมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ให้แก่ ต. เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมา ต. นำที่ดินของโจทก์ไป จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่จำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบังคับจำนองดังนี้ การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต จะต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่สุจริตอย่างไร ลำพังเพียงเหตุที่โจทก์ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 และการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นั้น ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์มอบเอกสารดังกล่าวพร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดในดอกเบี้ย ของต้นเงินที่ ต. จะต้องรับผิดต่อ จำเลยที่ 1 ก่อนที่ ต. จะผิดนัดชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าความรับผิด อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกเช่นกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.พ.พ. 142 (5), 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14209/2555 
ตามข้อสัญญาท้ายประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุไว้ว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่ และแผนที่การไปที่ปรากฏในประกาศ และถือว่าผู้ซื้อได้ทราบถึงสภาพทรัพย์โดยละเอียดครบถ้วนแล้ว ซึ่งหากผู้ร้องทำการตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องผู้ร้องก็สามารถทักท้วงเพื่อให้แก้ไขเสียได้ ไม่มีเหตุผลที่ผู้ร้องจะเสี่ยงเข้าไปสู้ราคาในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเองและถือเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ร้องที่ไม่ทำการตรวจสอบให้ดีเสียก่อน และที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาประเมินที่ดินตารางวาละ 1,500 บาท ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าสูงกว่าราคาประเมินที่แท้จริงคือ ตารางวาละ 500 บาท นั้น ก็ปรากฏว่าราคาประเมินที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นเป็นราคาประเมินที่ดินในปัจจุบัน แต่ราคาประเมินที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นราคาประเมินขณะทำการยึดตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2546 ตามสำเนารายงานการยึด ซึ่งราคาประเมินอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดี ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555 
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า "ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด..." ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14177/2555 
พนักงานอัยการซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการบังคับคดีตามสัญญาประกันจำเลยตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะบังคับคดี ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) ในวันที่ 10 มีนาคม 2542 และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2542 ศาลชั้นต้นในฐานะที่เป็นผู้บังคับตามสัญญาประกันได้ส่งเงินค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีที่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) วางต่อศาลชั้นต้นให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนี้ ถือได้ว่าพนักงานอัยการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้บังคับคดีตามคำสั่งอันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในการขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) แล้ว เมื่อพนักงานอัยการดำเนินการขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำสั่ง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปบังคับคดีเมื่อใดนั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปบังคับคดีเกินสิบปีนับแต่วันมีคำสั่ง ก็ถือได้ว่าพนักงานอัยการได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งภายในสิบปีนับแต่วันมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว แม้ต่อมามี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 ให้เพิ่มความเป็นมาตรา 119 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันดังกล่าวก็ตาม ก็ต้องถือว่าผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นได้มีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำสั่งแล้ว ดังนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14113/2555 
ในคดีก่อน จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดิน อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ภายใน 3 เดือน หากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินคืน จำเลยยินยอมขายคืนให้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และบริวารยินยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท สัญญาประนีประนอมได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ต้องถือว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับเดิมซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ถูกฟ้องในคดีก่อน แต่ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา148 ในคดีก่อน จำเลยขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 สามีของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอกันส่วนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบริวารของโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 2 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 คำร้องขอกันส่วนของโจทก์ที่ 1 ในคดีก่อนและคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ร่วมกับโจทก์ที่ 2 คดีนี้ มีประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกันและศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14094/2555 
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. เสียเปรียบ กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 237 แล้ว แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าหนี้ที่ จ. เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับ จ. ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามที่ได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) ถึง (4) อันจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวร่วมกับ จ. ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13956/2555 
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลล่างทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดบ้านโจทก์ที่ 2 ทั้งที่โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดทรัพย์โจทก์ที่ 2 วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 โดยประกาศดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีที่ขอให้ยึดทรัพย์ไว้โดยชัดแจ้ง โจทก์ที่ 2 จึงควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 แล้ว โจทก์ที่ 2 มาฟ้องคดีนี้วันที่ 10 มกราคม 2550 จึงเกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ไม่เป็นเหตุให้อายุความละเมิดสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13938/2555 
ทนายจำเลยเป็นพนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ การที่ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนาย ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 121 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12758/2555 
เมื่อ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวในการเก็บรวบรวม และรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้ รับจากผู้อื่น แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในระหว่างการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ทรัพย์ตามมาตรา 110 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 112 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่ เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอภาคตามส่วน แต่อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันใน การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 110 วรรคท้าย คดีนี้หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวัน ที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์จำนอง หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดไว้อันถือได้ว่าเป็นการกระทำแทน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองใน คดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับ ทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปตามอำนาจ หน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์หรือถือได้ว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มี ประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาล ล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2555 
จำเลย ที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้จำเลยที่ 1 จะนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไปมอบให้ ฉ. ภริยาโจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และตราบใดที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ยังมิได้นำยึดที่ดินนั้นเพื่อบังคับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบังคับเอากับที่ดินดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการยึดที่ดินนั้นให้โจทก์ทราบ แต่อย่างใด ขณะที่จำเลยที่ 2 นำยึดที่ดิน และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ พร้อมกับเรียกให้จำเลยที่ 1 ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จนกระทั่งศาลแขวงสงขลาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไปตาม สำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ยังมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่จะมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง เนื่องจากสิทธิของโจทก์ที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์เพิ่งจะเกิดมีขึ้นในภายหลังเมื่อ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในเวลานั้นว่าต้นฉบับหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิขอเฉลี่ย ทรัพย์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่จะต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สิน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงใดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจากการขายทอดตลาด จึงมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครอง ในที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการกระทำไปตามสิทธิของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายเท่านั้น มิได้เป็นการฉ้อฉลหรือละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8061/2555 
โจทก์ ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม แต่คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่าผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินบางส่วนโดยความ สงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องสอดมิได้กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใดที่จะถือว่า เป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ข้ออ้างของผู้ร้องสอดเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธ์ใน ที่พิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือ บังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7681/2555 
ศาล ชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้ไปยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ จำเลยทั้งห้าจึงมิใช่เป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วงดวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอื่นและพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์และผู้มีชื่อใน ส.ค.1 เคยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินตามต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้าย อุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์และผู้มีชื่อใน ส.ค. 1 ได้ติดต่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกให้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงในประเด็นพิพาทข้อนี้เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นและวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบใน ศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่าเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์นั้น โจทก์ไม่อาจนำมาสู่ศาลชั้นต้นได้เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำเอกสาร บางส่วนออกไปจากสารบบที่ดินที่เป็นของโจทก์ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงนำมามอบให้โจทก์ เอกสารดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์เคยติดต่อขอออกหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์หรือขอออกโฉนดที่ดินหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายทำนองว่า มีพฤติการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้โจทก์นำเอกสารนี้มาแสดงตั้งแต่ในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง แต่คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เพราะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง 88,000 บาท แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายข้อนี้ให้เป็นคุณแก่โจทก์ อันทำให้โจทก์สามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงต่อไปได้ว่า เคยยื่นขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไว้ตั้งแต่ปี 2517 แต่เมื่อคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ข้อกฎหมายข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7651/2555 
ผู้ ร้องทำหนังสือค้ำประกันไว้ในศาลระบุว่า ผู้ร้องขอเข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันในศาล สำหรับจำเลยเพื่อชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจนครบ และนำหลักทรัพย์โฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) เลขที่ 2669 เลขที่ดิน 28 มาวางเป็นหลักประกัน หากจำเลยไม่ชำระ ผู้ร้องยินยอมให้บังคับแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ ย่อมใช้บังคับแก่การประกันโดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันขึ้นใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แม้หนังสือค้ำประกันจะเป็นการค้ำประกันในชั้นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และมีข้อความระบุทำนองว่า เพื่อชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนในศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยคิดถึงวันฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่ในชั้นยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอถือเอาหลักประกันเพื่อใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับ ฎีกาของจำเลย และศาลฎีกามีคำสั่งว่า การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 252 จะต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหา ประกันให้ไว้ต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ถือเอาหลักประกันในชั้นยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับอุทธรณ์มาเป็นหลักประกันในชั้นนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะยกคำร้อง ก็พอถือได้ว่าจำเลยได้วางหลักประกันในชั้นนี้แล้ว ศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย ย่อมเท่ากับว่าจำเลยได้วางหลักประกันในชั้นฎีกาด้วย เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว คดีถึงที่สุดปรากฏว่าจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียม ใช้แทนแก่โจทก์ ผู้ร้องก็ไม่อาจขอรับโฉนดที่ดินอันเป็นหลักประกันคืนจากศาลได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7208/2555 
โจทก์ ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยซื้อคืนมาจากผู้รับซื้อฝากหรือจำนอง จากจำเลย โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา แต่ไม่สามารถขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินหรือเอกสารอื่นๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้เพราะยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ขอให้บังคับจำเลยไปโอนสิทธิครอบครองหรือสละสิทธิที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามไม่ได้ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ จำเลยหรือมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองดีกว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์อ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทหรือกระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของ โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งการที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปโอนสิทธิครอบครองหรือสละสิทธิในที่ดินพิพาท ให้แก่โจทก์ ไม่มีกรณีที่จะพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะกรณีตามฟ้องจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องไปโอนสิทธิครอบครองให้ แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 247 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7053/2555 
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้ รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย และในวรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก่อนศาล ชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดคดี แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยเฉพาะคดีส่วนอาญา โดยมิได้มีคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งด้วย ผู้เสียหายในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านเพื่อให้มีการ ดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งได้ คดีส่วนอาญาเป็นคดีความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกไม่ถึง ห้าปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีส่วนอาญาชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีส่วน แพ่ง ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่งและมิได้มีผลกระทบใดๆ ต่อคดีส่วนอาญา ทั้งศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วน แพ่งในภายหลังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง จึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาเฉพาะส่วนแพ่งต่อไปเท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6928/2555 
การ ขออนุญาตนำตราสารไปปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์หรือไปชำระค่าปรับ จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่นำตราสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดี หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะชี้ขาดตัดสินคดี การที่โจทก์ขออนุญาตนำสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าวไป ชำระค่าปรับในชั้นอุทธรณ์ จึงล่วงเลยเวลาไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้สัญญากู้เงิน เป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงินไว้ด้วย โดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำนอง ซึ่งถือเป็นหลักฐานในการกู้เงินนี้ได้ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ได้ แต่ในส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อสัญญากู้เงินไม่อาจรับฟังได้ ทั้งดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญาจำนองมิใช่ดอกเบี้ยของเงินกู้ที่จะนำมาใช้บังคับ ได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และเนื่องจากหนี้การกู้เงินดังกล่าวเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ก็ให้การปรับลดดอกเบี้ยมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 245 (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2555 
ป.พ.พ. มาตรา 851 บัญญัติว่า อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับ ผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ หมายความว่า สัญญาประนีประนอมยอมความอาจทำขึ้นได้โดยไม่ต้องมีแบบของสัญญา แต่หากทำขึ้นโดยไม่มีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับ คดีตามสัญญาได้ สัญญาประนีประนอมมีข้อความระบุความเสียหายทั้งหมดว่ามีประมาณ 12,000,000 บาท แต่เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไป ก. ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารโกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ตกลงยอมรับเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท และขอสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายใดๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลยทั้งสอง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมี ขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามมาตรา 850 เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้ ก. ครบถ้วนแล้ว ถือว่า ก. ได้สละสิทธิเรียกร้องใดๆ ที่มีต่อจำเลยทั้งสองในเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ไปแล้ว แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มีผลเพียงทำให้ ก. ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 851 เท่านั้น แต่ก็มิได้ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันขึ้นเสียไป เมื่อ ก. ผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จึงมีผลทำให้โจทก์ผู้รับประกันภัยไม่อาจรับช่วงสิทธิจาก ก. มาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2555 
โจทก์ ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติไว้ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้ง อยู่ในเขตศาล ให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน..." คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของ เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่