Pages

การสืบพยานบุคคล และการถามความ

มาตรา ๑๑๓  พยานทุกคนต้องเบิกความด้วยวาจาและห้ามไม่ให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ


มาตรา ๑๑๔ ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลังและศาลมีอำนาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้


แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคำพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคำเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบถ้าศาลเห็นว่าคำเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคำเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้


มาตรา ๑๑๕  พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใด ๆ ก็ได้สำหรับบุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมายจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใด ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้น ๆ ก็ได้


มาตรา ๑๑๖  ในเบื้องต้นให้พยานตอบคำถามเรื่อง นาม อายุ ตำแหน่ง หรืออาชีพภูมิลำเนาและความเกี่ยวพันกับคู่ความแล้วศาลอาจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

(๑) ศาลเป็นผู้ถามพยานเอง กล่าวคือ แจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริง ซึ่งต้องการสืบแล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้น ๆ โดยวิธีเล่าเรื่องตามลำพังหรือโดยวิธีตอบคำถามของศาล หรือ

(๒) ให้คู่ความซักถาม และถามค้านพยานไปทีเดียว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราต่อไปนี้


มาตรา ๑๑๗  คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตนและแสดงตนตามมาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ แล้ว หรือถ้าศาลเป็นผู้ซักถามพยานก่อน ก็ให้คู่ความซักถามได้ต่อเมื่อศาลได้ซักถามเสร็จแล้ว


เมื่อคู่ความฝ่ายที่ต้องอ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้

เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้


เมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดซักถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดได้รับอนุญาตให้ถามพยานได้ดังกล่าวนี้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งย่อมถามค้านพยานได้อีกในข้อที่เกี่ยวกับคำถามนั้น

คู่ความที่ระบุพยานคนใดไว้ จะไม่ติดใจสืบพยานคนนั้นก็ได้ ในเมื่อพยานคนนั้นยังมิได้เบิกความตามข้อถามของศาล หรือของคู่ความฝ่ายที่อ้าง แต่ถ้าพยานได้เริ่มเบิกความแล้วพยานอาจถูกถามค้านหรือถามติงได้


ถ้าพยานเบิกความเป็นปรปักษ์แก่คู่ความฝ่ายที่อ้างตนมา คู่ความฝ่ายนั้นอาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามพยานนั้นเสมือนหนึ่งพยานนั้นเป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา


การซักถามพยานก็ดี การซักค้านพยานก็ดี การถามติงพยานก็ดี ถ้าคู่ความคนใดได้ตั้งทนายความไว้หลายคน ให้ทนายความคนเดียวเป็นผู้ถาม เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่น


มาตรา ๑๑๘  ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยานก็ดี หรือถามติงพยานก็ดี ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามนำ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล

ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามอื่นใดนอกจากคำถามที่เกี่ยวกับคำพยานเบิกความตอบคำถามค้าน


ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามไม่ให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถามพยานด้วย

(๑) คำถามอันไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี

(๒) คำถามที่อาจทำให้พยาน หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต้องรับโทษทางอาญา หรือคำถามที่เป็นหมิ่นประมาทพยาน เว้นแต่คำถามเช่นว่านั้นเป็นข้อสาระสำคัญในอันที่จะชี้ขาดข้อพิพาท


ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถามพยานฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งร้องคัดค้าน ศาลมีอำนาจที่จะชี้ขาดว่าควรให้ใช้คำถามนั้นหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ ถ้าคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องคัดค้านคำชี้ขาดของศาล ก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดไว้ในรายงานซึ่งคำถามและข้อคัดค้าน ส่วนเหตุที่คู่ความคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้นให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงาน หรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงเป็นหนังสือเพื่อรวมไว้ในสำนวน


มาตรา ๑๑๙  ไม่ว่าเวลาใด ๆ ในระหว่างที่พยานเบิกความ หรือภายหลังที่พยานได้เบิกความแล้ว แต่ก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลมีอำนาจที่จะถามพยานด้วยคำถามใด ๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อให้คำเบิกความของพยานบริบูรณ์ หรือชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเพื่อสอบสวนถึงพฤติการณ์ที่ทำให้พยานเบิกความเช่นนั้น


ถ้าพยานสองคนหรือกว่านั้นเบิกความขัดกัน ในข้อสำคัญแห่งประเด็น เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจเรียกพยานเหล่านั้นมาสอบถามปากคำพร้อมกันได้


มาตรา ๑๒๐  ถ้าคู่ความฝ่ายใดอ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้าง หรือที่ศาลเรียกมาไม่ควรเชื่อฟัง โดยเหตุผลซึ่งศาลเห็นว่ามีมูล ศาลอาจยอมให้คู่ความฝ่ายนั้นนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้แล้วแต่จะเห็นควร


มาตรา ๑๒๐/๑  เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำร้องและคู่ความอีกฝ่ายไม่คัดค้าน และศาลเห็นสมควรศาลอาจอนุญาตให้คู่ความฝ่ายที่มีคำร้องเสนอบันทึกถ้อยคำทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำต่อศาลแทนการซักถามผู้ให้ถ้อยคำเป็นพยานต่อหน้าศาลได้


คู่ความที่ประสงค์จะเสนอบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง จะต้องยื่นคำร้องแสดงความจำนงพร้อมเหตุผลต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน และให้ศาลพิจารณากำหนดระยะเวลาที่คู่ความจะต้องยื่นบันทึกถ้อยคำดังกล่าวต่อศาลและส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันสืบพยานคนนั้น เมื่อมีการยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาลแล้วคู่ความที่ยื่นไม่อาจขอถอนบันทึกถ้อยคำนั้น บันทึกถ้อยคำนั้นเมื่อพยานเบิกความรับรองแล้วให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความตอบคำซักถาม


ให้ผู้ให้ถ้อยคำมาศาลเพื่อเบิกความตอบคำซักถามเพิ่มเติม ตอบคำถามค้าน และคำถามติงของคู่ความหากผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำของผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแต่ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นหรือมีเหตุสุดวิสัยที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถมาศาลได้ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จะรับฟังบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำมิได้มาศาลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้


ในกรณีที่คู่ความตกลงกันให้ผู้ให้ถ้อยคำไม่ต้องมาศาล หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือไม่ติดใจถามค้าน ให้ศาลรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้


มาตรา ๑๒๐/๒  เมื่อคู่ความมีคำร้องร่วมกันและศาลเห็นสมควร ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคำที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม


สำหรับลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำให้นำมาตรา ๔๗ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๑๒๐/๓  บันทึกถ้อยคำตามมาตรา ๑๒๐/๑ และมาตรา ๑๒๐/๒ ให้มีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อศาลและเลขคดี

(๒) วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำ

(๓) ชื่อและสกุลของคู่ความ

(๔) ชื่อ สกุล อายุ ที่อยู่ และอาชีพ ของผู้ให้ถ้อยคำ และความเกี่ยวพันกับคู่ความ

(๕) รายละเอียดแห่งข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำ

(๖) ลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำและคู่ความฝ่ายผู้เสนอบันทึกถ้อยคำ


ห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อศาล เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย


มาตรา ๑๒๐/๔  คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพได้ โดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่าย หากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจะอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้ โดยให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามข้อกำหนดแนวทางการสืบพยานของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาที่ออกตามมาตรา ๑๐๓/๓ รวมทั้งระบุวิธีการสืบพยาน สถานที่ และสักขีพยานในการสืบพยานตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาดังกล่าว และไม่ถือว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดี


การเบิกความตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล


มาตรา ๑๒๑  ในการนั่งพิจารณาทุกครั้ง เมื่อพยานคนใดเบิกความแล้ว ให้ศาลอ่านคำเบิกความนั้นให้พยานฟัง และให้พยานลงลายมือชื่อไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ และ ๕๐


ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีที่มีการใช้บันทึกถ้อยคำแทนการเบิกความของพยานตามมาตรา ๑๒๐/๑ หรือ มาตรา ๑๒๐/๒ หรือกรณีที่มีการสืบพยานโดยใช้ระบบการประชุมทางจอภาพตามมาตรา ๑๒๐/๔ หรือกรณีที่มีการบันทึกการเบิกความของพยานโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งสามารถถ่ายทอดออกเป็นภาพหรือเสียงหรือโดยใช้วิธีการอื่นใดซึ่งคู่ความและพยานสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการเบิกความนั้นได้ แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือพยานขอตรวจดูบันทึกการเบิกความของพยานนั้น ให้ศาลจัดให้มีการตรวจดูบันทึกการเบิกความนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598/2560

การเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 113 ซึ่งนำมาใช้บังคับในคดีอาญาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติว่า พยานทุกคนต้องเบิกความด้วยวาจาและห้ามมิให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา ซึ่งเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้ศาลและคู่ความฝ่ายอื่นได้มีโอกาสรับฟังคำเบิกความของพยานโดยตรง ให้พยานเล่าเหตุการณ์ที่ตนประสบมาด้วยตนเองและจากความทรงจำของพยานเอง มิให้มีโอกาสเสริมแต่งเรื่องราวให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายให้เสนอคำพยานด้วยวิธีอื่น ในคดีอาญาซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 230/2 บัญญัติข้อยกเว้นดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ ในกรณีที่ไม่อาจสืบพยานตามวิธีการที่บัญญัติในมาตรา 230/1 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ.มาบังคับใช้โดยอนุโลมด้วยการให้พยานที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อ.ดังกล่าวเบิกความด้วยวิธีส่งบันทึกถ้อยคำแทนการมาเบิกความด้วยวาจาได้ ดังนั้น การที่ทนายโจทก์ทั้งสองเสนอบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้วแถลงขอให้ศาลใช้เป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ แม้ทนายจำเลยจะแถลงรับว่าให้ถือเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ก็ไม่อาจถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ บันทึกดังกล่าวคงมีลักษณะเป็นคำแถลงของพยานที่ศาลรับไว้เท่านั้น ส่วนจะนำมารับฟังได้หรือไม่ เพียงใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานหลักฐาน แต่อย่างไรก็ดี ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานเพียงลำพัง เพราะพยานดังกล่าวได้มาเบิกความต่อหน้าศาลโดยเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้าน และเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามติงด้วย แม้ถือไม่ได้ว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง แต่ก็คงมีผลเพียงว่าทนายโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจซักถามพยานของตนก่อนเท่านั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14123/2558

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยคดีนี้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่งแล้ว ครั้นระหว่างการพิจารณาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กับทั้งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่ง แล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ คดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่ต้องเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความเพราะมิได้บังคับต่อบุคคลภายนอก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13145/2558

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือของฝ่ายจำเลย หรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง โจทก์หรือจำเลยไม่มีสิทธิซักถามเว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตเท่านั้น และการถามพยานที่ฝ่ายตนอ้างหรืออีกฝ่ายหนึ่งอ้างให้เป็นซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้านไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่บัญญัติให้ฝ่ายที่อ้างพยานซักถามพยานที่ตนอ้างก่อนแล้วจึงให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยานนั้น และเป็นสิทธิของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะซักถามและถามค้านพยานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน และไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติให้ถามค้านพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาและนำพยานนั้นเข้าสืบก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการซักถามพยานในศาลแรงงานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10675 - 10676/2558

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพิ่งมีมติให้เพิกถอนสิทธิของโจทก์ทั้งสองระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่สามารถระบุมติดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และมีเหตุอันสมควรที่จะขออนุญาตยื่นพยานเอกสารดังกล่าวต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสาร และพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงรับสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4641/2558

แม้ขณะเกิดเหตุที่จำเลยขับชนกับรถที่ ส. ขับสวนมา จำเลยและ ม. นั่งมาในรถคันเดียวกันและ ม. เข้าเบิกความหลังจากนั่งฟังจำเลยเบิกความแล้ว แต่การรับฟังข้อเท็จจริงว่า ส. ประมาทมากกว่าจำเลยหรือไม่นั้น ศาลพิเคราะห์จากพฤติการณ์ที่ ส. ขับรถบรรทุกซึ่งมีน้ำหนักมากแซงรถเครนในระยะกระชั้นชิดขณะที่จำเลยขับรถแล่นสวนมา และพิจารณาจากคำเบิกความของจำเลยประกอบสภาพความเสียหายของรถ บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ สนับสนุนกัน ทั้งมีบันทึกคำให้การในคดีอาญาของ ม. เป็นพยานประกอบ คำเบิกความของ ม. ซึ่งเป็นไปทำนองเดียวกับจำเลยจึงเป็นที่เชื่อฟังได้ ไม่ทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงมีดุลพินิจที่จะไม่ฟังว่าคำเบิกความของ ม. เป็นการผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 114


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5637/2558

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า บริษัท น. โดย ร. ผู้จัดการทั่วไป ผู้รับมอบอำนาจ ขอมอบอำนาจช่วงให้ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจ เพื่อดำเนินคดีใด ๆ ต่อบริษัท ช. โดยให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้ง หรือเป็นจำเลยเข้าต่อสู้คดีในการดำเนินคดีแพ่ง ฯลฯ ข้อความตามที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์มอบอำนาจเฉพาะการ ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะกับบริษัท ช. เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจทั่วไป และไม่ได้ระบุให้มีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองด้วย การที่ ก. แต่งตั้งทนายความให้ฟ้องจำเลยทั้งสองจึงเป็นการฟ้องบุคคลนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจช่วง ทั้งข้อความที่ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ย่อมหมายถึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับบริษัท ช. ตามที่ระบุชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเท่านั้น ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง โจทก์ทราบมาตั้งแต่ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้แล้วว่า ช. และบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นคนละบริษัทกัน ทั้งไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาแต่ต้น แม้โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจช่วงซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอ้างเอกสารดังกล่าวไว้และได้ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 หนังสือมอบอำนาจช่วง ดังกล่าวจึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5086/2558

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยมีเพียงว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยหรือไม่ เมื่อโจทก์นำสืบพยานบุคคลฟังได้แล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นภายในสถานที่ประกอบการหรือเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่ประกอบการไว้จากบริษัท พ. ผู้เอาประกันภัย การอ้างกรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานจึงเป็นเพียงนำสืบประกอบพยานอื่นในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิ ไม่ได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยตรง ดังนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนอ้างส่งเป็นพยาน ก็ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2558

การที่โจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 ระหว่าง ค. กับจำเลยเป็นการตกลงกันเฉพาะค่าเสียหายในส่วนของผลไม้ที่ ค. บรรทุกไปในรถยนต์กระบะเท่านั้นไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายของตัวรถยนต์ที่ ค. เอาประกันไว้แก่โจทก์แต่อย่างใด เป็นการนำสืบว่า ค. และจำเลยมีการตกลงกันอย่างไร มิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหมาย จ.5 ที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2558

คดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าเป็นการให้ที่มีค่าตอบแทนได้ ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการให้มีค่าตอบแทน เป็นประเด็นต่อเนื่องที่รวมอยู่ในประเด็นหลักเพราะโจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนทรัพย์ที่เป็นสินสมรสที่พันเอก (พิเศษ) พ.ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ศาลจึงต้องวินิจฉัยในที่สุดว่าโจทก์เพิกถอนได้หรือไม่ การวินิจฉัยว่าเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนและตามหน้าที่ธรรมจรรยาจึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกประเด็น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558

การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558

พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 ที่ใช้บังคับขณะฟ้อง มาตรา 4 และมาตรา 19 แสดงว่าอธิการบดีซึ่งเป็นผู้แทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจดำเนินกิจการทั่วไปแทนโจทก์ การฟ้องคดีเป็นสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และความประสงค์ของนิติบุคคลแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลนั้น อธิการบดีผู้แทนของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีในนามโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสภามหาวิทยาลัย


จำเลยยอมรับว่าได้เช่าอาคารพาณิชย์พิพาทจากโจทก์ จึงไม่มีอำนาจต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าอีก และหากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดเวลาแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป แต่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารพาณิชย์ของโจทก์ ก็ถือได้ว่าจำเลยอยู่โดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง


จำเลยเคยยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า กรณียังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยยกขึ้นอ้าง อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีและเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) อันมีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังไม่รับคำฟ้อง เมื่อคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยกลับมาฟ้องแย้งคดีนี้มีรายละเอียดและเหตุผลอย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้สัญญาเช่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดเวลาการเช่าแน่นอน จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


ร. เป็นนิติกรของโจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสัญญาเช่าพิพาท ถือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับพยานเอกสารในคดีที่ตนได้ตรวจสอบแล้ว สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ คำเบิกความของ ร. จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2) จำเลยได้ทราบถึงความมีอยู่ของสำนวนคดีที่ประสงค์อ้างเป็นพยานตั้งแต่ก่อนวันสืบพยาน แต่มาระบุอ้างเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสอง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226


คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า เอกสารที่จำเลยขอให้ศาลเรียกจากบุคคลภายนอกไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดี เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า พยานหลักฐานที่ขอให้เรียกมานั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเลยในคดีจะต้องนำสืบหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)


เจตนารมณ์ของการส่งสำเนาเอกสาร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 มุ่งประสงค์เพียงให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายันได้มีโอกาสตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้องไม่เสียเปรียบแก่กัน เมื่อโจทก์แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาท้ายคำฟ้อง ย่อมนับได้ว่าตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว สำหรับเอกสารอื่นที่มิได้เป็นประเด็นโต้เถียงกันในคดี โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารแก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16115/2557

ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีข้อความชัดแจ้งว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่โจทก์นั้นมีภาระติดพันเพียงการจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารเท่านั้น และจำเลยทั้งสองรับรองว่าที่ดินที่จะขายให้แก่โจทก์ไม่มีภาระติดพันหรือการรอนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีภาระจำยอมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเบิกความขัดแย้งกับสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ถือว่าขณะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายนั้น จำเลยทั้งสองปกปิดความจริงว่าที่ดินพิพาทที่มีการทำสัญญาจะซื้อขายรวมกับที่ดินแปลงอื่นมีภาระจำยอมติดอยู่ แต่จำเลยทั้งสองปกปิดไม่ยอมแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ถือว่าจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทมีภาระติดพันคือภาระจำยอมอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยทั้งสอง นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิในการบอกล้างนิติกรรมการทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11331/2557

ป.วิ.พ. มิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่า หากพยานบอกเล่ากล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานบอกเล่าประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ ว. แม้มิได้เกี่ยวข้องรู้เห็นในการจัดทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แต่เป็นพนักงานของโจทก์ย่อมสามารถตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมรายนี้ได้ อันทำให้สามารถทราบที่มาที่ไปของหนี้สินรายนี้จนสามารถเบิกความให้ความกระจ่างในกรณีที่มีความคลุมเครือน่าสงสัยเกี่ยวกับหนี้สินรายนี้ได้ จึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2557

คำให้การจำเลยและจำเลยร่วมที่ว่า นอกจากจำเลยจะให้การไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้น เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ส่วนใด ด้วยเหตุผลอย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยและจำเลยร่วมให้การปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการที่จำเลยชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระแล้วหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าหุ้นค้างชำระแก่จำเลยร่วม จำเลยมิได้ต่อสู้ว่า จำเลยชำระค่าหุ้นค้างชำระแก่จำเลยร่วมแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยชำระค่าหุ้นแก่จำเลยร่วมครบถ้วนแล้วหรือไม่ ไม่เป็นประเด็นที่จำเลยและจำเลยร่วมต้องนำสืบ แม้จำเลยจะนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเงินของจำเลยชำระหนี้แก่ธนาคารว่าเป็นการนำเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยไปชำระ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความจะต้องนำสืบ ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) จำเลยยังไม่ชำระค่าหุ้นตามฟ้องแก่จำเลยร่วมและจำเลยร่วมไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้แก่โจทก์ และผู้ชำระบัญชีของจำเลยร่วมขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือโจทก์เสียเปรียบ โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10926/2557

เมื่อจะเริ่มขุดท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือในงานราชการของกรุงเทพมหานครพร้อมแบบแปลน ให้หน่วยงานสาธารณูปโภคทราบ แสดงว่าเอกสารเป็นสำเนาหนังสือราชการ ซึ่งต้นฉบับถูกส่งให้แก่หน่วยงานสาธารณูปโภคแล้ว จำเลยสามารถหาสำเนามาส่งศาลเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น ซึ่งจำเลยระบุไว้ในบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 30 เมษายน 2555 และได้นำมาถามค้าน ส. พยานโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้คัดค้านการยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมและการอ้างส่งเอกสารศาลจึงรับฟังเอกสารเป็นพยานหลักฐานในสำนวนได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379/2557

พยานหลักฐานที่ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 228 และพยานหลักฐานที่ศาลยอมให้คู่ความฝ่ายที่อ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาไม่ควรเชื่อฟังนำมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 120 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น มิใช่การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่กฎหมายบังคับว่าโจทก์จะต้องบรรยายมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งมิใช่พยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์ที่จะนำสืบสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนจะต้องนำสืบในกรณีปกติอันจะอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 หรือมาตรา 173/1 ที่คู่ความจักต้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2557

ร. เป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์ มีหน้าที่ติดตามดูแลลูกค้าของโจทก์ สาขาราชประสงค์ และได้ตรวจสอบเอกสารของลูกค้ารวมทั้งฝ่ายจำเลยคดีนี้ และ ว. เป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลฝ่ายบัญชีลูกค้าของโจทก์ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารของลูกค้า ได้เบิกความรับรองพยานเอกสารว่ามีอยู่จริงและถูกต้อง แม้พยานโจทก์จะมิได้รู้เห็นขณะทำพยานเอกสาร แต่เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ แล้วก็สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของพยานทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14621/2556

การนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถทั้งสองคันแทนโจทก์ เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงระหว่างตัวการกับตัวแทน ไม่เกี่ยวกับการนำสืบเพื่อให้มีการบังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ และไม่ต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2556

แม้ก่อนสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหาย ทนายจำเลยแถลงว่า ขณะสืบพยานโจทก์ปาก ว. ผู้เสียหายนั่งอยู่ในห้องพิจารณา ทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบ ขอคัดค้านการสืบพยานปากผู้เสียหาย ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบโดยยังไม่ได้จดรายงานกระบวนพิจารณาดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะกรณีดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาข้อคัดค้านของทนายจำเลยแล้วจึงอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบและบันทึกเหตุผลในการอนุญาตไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหลังจากที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในวันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานปากผู้เสียหายเบิกความเป็นที่เชื่อฟังได้หรือไม่ ก็ต้องให้ผู้เสียหายเบิกความไปก่อนเพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังคำเบิกความดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หรือไม่ต่อไป แม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งได้ฟังคำเบิกความของ ว. แล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของผู้เสียหายอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว. พยานคนก่อนหรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ คำเบิกความของผู้เสียหายก็เป็นการผิดระเบียบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003 - 3004/2556

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยานเองไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้น ดังนั้นการที่โจทก์ซักถามพยานได้ก็เนื่องจากโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานภาค 2 นั่นเอง


โจทก์เป็นผู้ซักถามพยานโจทก์ด้วยตนเอง 6 ปาก แล้วตัวโจทก์เข้าเบิกความเป็นพยานปากสุดท้ายโดยศาลแรงงานภาค 2 เป็นผู้ซักถามโจทก์เอง เป็นกรณีศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้โจทก์เข้าเบิกความเป็นพยานศาลได้โดยไม่ฟังว่าคำเบิกความของโจทก์ผิดระเบียบ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15364 - 15365/2555

การที่จำเลยทั้งสามส่งสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2132/2551 ของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา โดยในคำฟ้องระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ฟ้อง ช. ในความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 384/2546, 386/2546, 389/2546 ของศาลชั้นต้น นั้น ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ทั้งโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับพยานเอกสารดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นจึงรับฟังไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2555

ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เสมือนดังเป็นตัวแทนโจทก์ น่าเชื่อว่าได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเบิกความ นับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี และไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ไม่มีความประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระ จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องและเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสาร แม้ชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำเอกสารท้ายฟ้องมาสืบเป็นพยานโจทก์ก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากโจทก์รับซื้อทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. แล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามการโอนไปยังฝ่ายจำเลย และยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและชำระดอกเบี้ยตลอดมา เมื่อทางการให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ระงับการดำเนินกิจการ จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและจำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกัน เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำเบิกความ พยานหลักฐานของโจทก์และพฤติกรรมของฝ่ายจำเลย ประกอบเหตุผลว่าตามวิสัยของเจ้าหนี้ย่อมจะต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมากชำระหนี้แล้ว เชื่อว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การซื้อขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการอย่างถาวร เป็นการซื้อขายกันตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวดที่ 4 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12628/2555

การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 แม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้ ส. เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้นมีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12184/2553

การสืบพยานในคดีแรงงาน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เฉพาะศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยหรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธิซักถามพยานที่ตนอ้างมาหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างหรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง เว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตให้ซักถามได้เท่านั้น ทั้งการถามพยานฝ่ายที่ตนอ้างหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างนั้น ตามมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้เป็นการซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้าน การสืบพยานดังกล่าวจึงแตกต่างจากการสืบพยานในคดีแพ่งทั่วไป


การที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับพยานโจทก์จึงหาจำต้องซักถามหรือถามค้านพยานดังกล่าวไว้ก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังไม่ ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของจำเลยเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953/2553

เอกสารใดจะใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาในแง่ว่ามีคุณค่าต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามประเด็นในคดีหรือไม่มิใช่พิจารณาจากวันเวลาที่ทำเอกสาร และแม้โจทก์ไม่อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ท. ผู้ทำเอกสารดังกล่าวก็คงจะเบิกความได้ความตามเอกสารอยู่ดี การทำเอกสารดังกล่าวขึ้นมาเป็นพียงพยานเอกสารประกอบคำเบิกความของ ท. เท่านั้น ดังนั้นแม้จะทำเอกสารขึ้นในภายหลัง โจทก์ก็ย่อมอ้างเอกสารนั้นเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2553

ส. มิได้เป็นพนักงานของโจทก์แต่เป็นลูกจ้างของบริษัท บ. ซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารและบริการทรัพย์สินสินเชื่อที่โจทก์ซื้อมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และ ส. มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับมูลหนี้ รวมทั้งมูลหนี้ของจำเลยในคดีนี้การที่ ส. ตรวจสอบมูลหนี้ของจำเลยจากเอกสารต่างๆ ถือว่า ส. เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร จึงสามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ การที่ ส. เบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจและมอบอำนาจช่วง จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6044/2551

การที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 มาฟ้องคดีนี้ เพราะจำเลยที่ 2 ต้องการที่ดินพิพาทคืน จำเลยที่ 1 จึงมิใช่คู่ความเดียวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถามค้านพยานจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคสอง แต่ก็เป็นดุลยพินิจของศาลตามกฎหมายด้วยในการพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากทางพิจารณาเพียงพอแล้วหรือไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุสมควรต้องย้อนสำนวนลงไปเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใน ส่วนนี้ใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2547

ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 175 การดำเนินการของศาลดังกล่าวมิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล จึงไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และเมื่อมิใช่การสืบพยาน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจถามค้านพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2547

ในระหว่างที่ศาลอ่านบันทึกคำให้การให้พยานฟัง หากพยานจะขอแก้ไขคำเบิกความส่วนใดที่เห็นว่าไม่ถูกต้องย่อมเป็นสิทธิของพยานที่จะแถลงต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดเน้นว่าการขอแก้ไขดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไรต้องแถลงโต้แย้งไว้เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจว่าคำเบิกความดังกล่าวว่าสมควรรับฟังได้เพียงใด เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ ทั้งจำเลยและทนายจำเลยยังได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของข้อความในบันทึกคำให้การพยานที่ศาลบันทึกไว้ ซึ่งต้องถือว่าจำเลยยอมรับการแก้ไขดังกล่าวและต้องฟังเป็นยุติว่าพยานเบิกความไว้ตามที่บันทึกแก้ไขไว้นั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2547

ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 175 การดำเนินการของศาลดังกล่าวมิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล จึงไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และเมื่อมิใช่การสืบพยาน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจถามค้านพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2547

ในระหว่างที่ศาลอ่านบันทึกคำให้การให้พยานฟัง หากพยานจะขอแก้ไขคำเบิกความส่วนใดที่เห็นว่าไม่ถูกต้องย่อมเป็นสิทธิของพยาน ที่จะแถลงต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดเน้นว่าการขอแก้ไขดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไรต้องแถลงโต้ แย้งไว้เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจว่าคำเบิกความดังกล่าวว่าสมควรรับฟังได้ เพียงใด เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ ทั้งจำเลยและทนายจำเลยยังได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของข้อความใน บันทึกคำให้การพยานที่ศาลบันทึกไว้ ซึ่งต้องถือว่าจำเลยยอมรับการแก้ไขดังกล่าวและต้องฟังเป็นยุติว่าพยานเบิก ความไว้ตามที่บันทึกแก้ไขไว้นั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2545

ในวันที่จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเข้าเบิกความต่อศาลชั้นต้น ก. ได้นั่งฟังอยู่ในห้องพิจารณาด้วยอันเป็นการผิดระเบียบ แต่เมื่อคำเบิกความของ ก. มีเหตุผลน่าเชื่อฟัง ศาลย่อมฟังคำเบิกความของ ก. เพื่อประกอบการพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2544

ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานที่ตอบโจทก์ถามติงซึ่งไม่ปรากฏในชั้นที่พยานเบิกความตอบคำถามค้าน จะนำมาเป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ไม่ได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 118 ซึ่งต้องนำมาใช้กับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 บัญญัติว่าในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามอื่นใดนอกจากคำถามที่เกี่ยวกับคำพยานเบิกความตอบคำถามค้าน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2543แม้โจทก์และจำเลยจะอ้าง ท. เป็นพยาน แต่ตอนที่ ท. เบิกความได้เบิกความในฐานะพยานจำเลย หาได้เบิกความในฐานะพยานโจทก์ด้วยไม่ ว. และ อ. พยานโจทก์ซึ่งนั่งฟัง ท. เบิกความ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2541

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงวิธีการซักถามพยานไว้โดยเฉพาะแล้วว่าในการสืบพยาน คู่ความจะซักถามพยานได้ก็เฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานแล้วเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 89, 116 (2) และมาตรา 117 มาใช้บังคับแก่การสืบพยานในคดีแรงงานในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7432/2541

แม้ ล. ประจักษ์พยานได้นั่งอยู่ในห้องพิจารณาด้วยในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความต่อศาลก็ตาม แต่ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่า เห็นเหตุการณ์ตอนไฟไหม้บ้านแล้ว ไม่เห็นว่าใครเป็นคนจุดไฟ ส่วน ล. เบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยเป็นคนใช้ไฟแช็กจุดไฟเผาบ้านผู้เสียหายที่ 1 แล้วไฟลุกลามไปไหม้บ้านผู้เสียหายที่ 2 บางส่วนด้วยคำเบิกความของ ล. จึงมิได้เบิกความตามที่ได้ยินผู้เสียหายทั้งสองเบิกความแต่อย่างใดทั้งโจทก์ยังมี ค. ประจักษ์พยานอีกปากหนึ่งเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนจุดไฟเผาบ้านผู้เสียหายที่ 1 แล้วไฟลุกลามไหม้บ้านผู้เสียหายที่ 2 สอดคล้องกัน คำเบิกความของ ล. จึงรับฟังได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2541

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์คัดคำเบิกความพยานฝ่ายโจทก์ ขณะที่การสืบพยานฝ่ายโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้น โดยไม่ปรากฏว่า มีพฤติการณ์พิเศษอย่างใดนั้นเป็นการไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 54(2) แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้เป็นการเด็ดขาดมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความ ของพยานที่นำมาสืบในภายหลัง และในบางกรณีกฎหมายก็ยัง ให้เป็นดุลพินิจของศาลในอันที่จะรับฟังคำเบิกความของพยาน ที่เบิกความโดยได้ฟังคำพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้วได้ หากศาลเห็นว่า คำเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้ เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่ สามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 ดังนั้น ศาลจึง รับฟังคำพยานโจทก์ที่มาเบิกความหลังจากที่โจทก์คัดคำเบิกความพยานฝ่ายโจทก์แล้วได้เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225 - 4226/2540

การที่ อ. พยานโจทก์เบิกความไม่ตรงกับที่โจทก์และพยานโจทก์ปากอื่นเบิกความ แต่คำเบิกความของ อ. กลับเจือสมกับที่จำเลยให้การ ทำให้ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์นั้น หากโจทก์เห็นว่า อ. ซึ่งเป็นพยานที่ฝ่ายโจทก์อ้างมาเบิกความเป็นปรปักษ์แก่โจทก์เอง โจทก์ก็อาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถาม อ. เสมือนหนึ่งเป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 117 วรรคหก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถาม อ. พยานโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นพยานที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา ดังนี้จะถือว่า อ. เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อโจทก์ยังไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9676/2539

คดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยมีสิทธิเพียงอ้างตนเองเป็นพยานและถามค้านพยานโจทก์เท่านั้น ไม่มีสิทธินำพยานของจำเลยเข้าสืบไม่ว่าพยานบุคคลหรือพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ.มาตรา 199 วรรคสอง แต่การที่ทนายความจำเลยนำสัญญาเช่ามาใช้ในการถามค้านโจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานโจทก์รับว่าสามีของโจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากจำเลยตามสัญญาเช่าดังกล่าวหลังจากจำเลยขายที่พิพาทให้โจทก์ประมาณ 5 ถึง 6 ปีแล้ว ศาลจึงนำสัญญาเช่าดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เพราะเป็นเอกสารประกอบคำถามค้าน หาใช่เป็นกรณีจำเลยเรียกพยานหลักฐานของตนเข้าสืบอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6655/2538

ศาลชั้นต้นให้โจทก์ใช้คำถามนำในการซักถามผู้เสียหายที่เป็นพยานโจทก์ซึ่งเป็นอัมพาตไม่อาจพูดจาหรือเปล่งเสียงได้ แต่ตอบคำถามโดยวิธีพยักหน้า ยักคิ้ว หรือการนิ่งเฉย เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 118 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


ทนายจำเลยถามค้านพยานปากผู้เสียหายบ้างแล้ว ผู้เสียหายหลับไป ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ว่า ทนายจำเลยหมดคำถามก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้านว่ายังมีคำถามและขอถามค้านต่อไป หรือขอเลื่อนไปถามค้านต่อนัดหน้าก็ได้ เมื่อโจทก์ขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลือนัดหน้าจำเลยก็ไม่ค้าน ศาลรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายได้หาเป็นการขัดต่อกฎหมายไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2537

ศาลชั้นต้นจดบันทึกไว้ว่า ทนายโจทก์ถามค้านพยานไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท ศาลเตือนและออกข้อกำหนดให้ทนายโจทก์ถามพยานตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนด แต่ทนายโจทก์ยังถามค้านพยานไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทอยู่เช่นเดิม จึงถือว่าจบคำถามดังนี้ เมื่อทนายโจทก์ไม่ได้ร้องคัดค้าน หรือให้จดคำถามและข้อคัดค้านไว้ จึงไม่ปรากฎคำถามใดที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดไม่ให้ทนายโจทก์ถามค้านและทนายโจทก์คัดค้านคำชี้ขาดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 118 วรรคท้าย จึงไม่มีคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นที่โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อฎีกาเพื่อให้ยกคำพิพากษาศาลล่างและให้พิจารณาพิพากษาใหม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2537

การที่ น. พยานฟังคำเบิกความของ ว. ซึ่งได้เบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว แม้จะเป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องกรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้มาตรา 114 จะมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของ น.ซึ่งได้ฟังคำเบิกความของ ว. มาแล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของ น. อาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว.หรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ คำเบิกความของ ว. ก็เป็นการผิดระเบียบ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้เมื่อปรากฏว่า น. เบิกความโดยรู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกับ ว.ดังนั้น คำเบิกความของ น. จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว. และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นคำเบิกความที่ผิดระเบียบ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้กรณีดังกล่าวจำเลยไม่ต้องคัดค้านก่อนที่โจทก์จะนำน.เข้าสืบเพราะเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานจะเบิกความเป็นที่เชื่อถือฟังได้หรือไม่และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ก็ต้องให้พยานเบิกความไปก่อน เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังว่าเป็นการผิดระเบียบหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2536

คำว่า "พยานคนก่อน" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 114 หมายความถึงเฉพาะพยานฝ่ายของตนเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าส. พยานจำเลยที่ 2 นั่งฟังพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1ก่อนเข้าเบิกความ จึงมิใช่การเบิกความโดยได้ฟังคำพยานคนก่อนคำเบิกความของ ส. ไม่เป็นการผิดระเบียบและรับฟังได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4177/2528

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 113 บัญญัติห้ามมิให้พยานเบิกความโดยอ่านจากข้อความที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลหรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญนั้น ก็โดยมีเจตนารมณ์เพื่อไม่ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบในเชิงคดี การที่พยานเบิกความถึงตัวเลขตามที่พยานจดมาซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรากฏในเอกสารที่พยานเบิกความรับรองส่งอ้างเป็นพยานต่อศาลอยู่แล้ว และศาลก็พิจารณาตัวเลขจากเอกสารเองได้ จึงไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบในเชิงคดี และการที่ศาลชั้นต้นจดข้อความตามที่พยานอ่านข้อความที่จดมาเกี่ยวกับตัวเลขโดยไม่มีการทักท้วงถือได้ว่าพยานได้รับอนุญาตจากศาลให้อ่านข้อความที่จดมาได้โดยปริยายแล้ว ศาลจึงรับฟังข้อที่พยานเบิกความโดยอ่านข้อความที่จดมานั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2525

การเบิกความต่อศาลเป็นกิจเฉพาะตัว โดยสภาพไม่อาจตั้งให้ผู้อื่นทำแทนได้


ตามบัญชีพยานระบุว่าจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน โดยมิได้ระบุ ส. เป็นพยานดังนี้แม้ปรากฏว่า ส. ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ยื่นคำให้การและเบิกความแทนจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยนำ ส. เข้าเบิกความศาลก็จะรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2), 88


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2523

โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านให้ศาลจดคำถามและข้อคัดค้านไว้ในทันทีที่ศาลมิให้ถามติงพยาน ศาลจึงมิได้ชี้ขาดว่าควรให้ใช้คำถามนั้นหรือไม่ดังนี้ ไม่มีเหตุที่จะยกเป็นข้อฎีกาให้ยกคำพิพากษาและให้พิจารณาพิพากษาใหม่