Pages

เขตอำนาจศาล


มาตรา ๒  ห้ามมิให้เสนอคำฟ้องต่อศาลใด เว้นแต่


(๑) เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลแล้ว ปรากฏว่า ศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และ


(๒) เมื่อได้พิจารณาถึงคำฟ้องแล้ว ปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วย

มาตรา ๓  เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง

(๑) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ

(๒) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร

(ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย

(ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย

มาตรา ๔  เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(๑) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

(๒) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

มาตรา ๔ ทวิ  คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

มาตรา ๔ ตรี  คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้

มาตรา ๔ จัตวา คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย

ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล

มาตรา ๔ เบญจ คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล

มาตรา ๔ ฉ คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิกจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี ซึ่งมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในเขตศาล

มาตรา ๕ คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้

มาตรา ๖  ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ขอให้โอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ คำร้องนั้นจำเลยต้องแสดงเหตุที่ยกขึ้นอ้างอิงว่าการพิจารณาคดีต่อไปในศาลนั้นจะไม่สะดวก หรือจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้

ห้ามมิให้ศาลออกคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ศาลที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอม ก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๖/๑ คดีที่ยื่นฟ้องไว้ต่อศาลชั้นต้นซึ่งไม่ใช่ศาลแพ่ง ก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน หากศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาเห็นว่าผลของคดีดังกล่าวอาจกระทบต่อการอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนรวม หรือประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นที่สำคัญ และการโอนคดีไปยังศาลแพ่งจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็ให้ศาลแจ้งคู่ความทราบและทำความเห็นเสนอประธานศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีนั้นไปยังศาลแพ่งได้ คำสั่งของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

การโอนคดีตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปก่อนที่จะมีคำสั่งให้โอนคดี และให้ถือว่าบรรดากระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเป็นกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งด้วย เว้นแต่ศาลแพ่งจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

มาตรา ๗  บทบัญญัติในมาตรา ๔ มาตรา ๔ ทวิ มาตรา ๔ ตรี มาตรา ๔ จัตวา มาตรา ๔ เบญจ มาตรา ๔ ฉ มาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๖/๑ ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้

(๑) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดให้เสนอต่อศาลนั้น

(๒) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา ๓๐๒

(๓) คำร้องตามมาตรา ๑๐๑ ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้ว ให้เสนอต่อศาลนั้นในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้องตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น

(๔) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดีคำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดีคำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่ง การอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น

มาตรา ๘  ถ้าคดีสองเรื่องซึ่งมีประเด็นอย่างเดียวกัน หรือเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกันอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจสองศาลต่างกัน และศาลทั้งสองนั้นได้ยกคำร้องทั้งหลายที่ได้ยื่นต่อศาลขอให้คดีทั้งสองได้พิจารณาพิพากษารวมในศาลเดียวกันนั้นเสียตราบใดที่ศาลใดศาลหนึ่งยังมิได้พิพากษาคดีนั้น ๆ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ศาลใดศาลหนึ่งจำหน่ายคดีซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณานั้นออกเสียจากสารบบความ หรือให้โอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งก็ได้แล้วแต่กรณี

คำสั่งใด ๆ ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๙  ในกรณีดังกล่าวในมาตราก่อนนั้น ถ้าศาลใดศาลหนึ่งได้พิพากษาคดีแล้ว และได้มีการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษานั้น คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้มีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์นั้นไว้ก่อนจนกว่าอีกศาลหนึ่งจะได้พิพากษาคดีอีกเรื่องหนึ่งเสร็จแล้วก็ได้ และถ้าได้มีการอุทธรณ์คดีเรื่องหลังนี้ก็ให้ศาลอุทธรณ์รวมวินิจฉัยคดีทั้งสองนั้นโดยคำพิพากษาเดียวกัน ถ้าคดีเรื่องหลังนั้นไม่มีอุทธรณ์ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๖

มาตรา ๑๐ ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย คู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้นจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้ และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5128/2562
การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม โดยไม่แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านอื่น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ ณ ที่ใด แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และมีเจตนาจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมนั้นกระทำเพียงเพื่อมิให้โจทก์ติดตามหาที่อยู่ของจำเลยได้พบเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิมตามฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2562
การบังคับคดียึดที่ดินจำนองของโจทก์ออกขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น การที่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดของศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปแก่โจทก์ แม้ว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่กรณีของจำเลยที่ 3 เป็นการสวมสิทธิโดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นโจทก์ถ้ามีการฟ้องคดีอยู่ในศาล และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้าได้มีคำพิพากษาบังคับแล้ว ผลแห่งการเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องและเข้าถือเอากระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นการกระทำของตน โดยเฉพาะเมื่อขณะจำเลยที่ 3 เข้าสวมสิทธิ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงเข้ามาทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ย่อมรับผลทั้งหลายที่เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งในฐานะโจทก์และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เกิดจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างนั้น และย่อมมีหน้าที่คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนที่ได้รับเกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2562
เดิมผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง ถ. และ อ. กับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน อ. กับผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อ. กับผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์คำสั่งอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมของผู้ตายระบุให้ น. และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ ถ. ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้อง โดยเห็นว่า อ. กับผู้ร้องชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลชั้นต้น และต่อมามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายในคดีนี้ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่เคยมีคำสั่งตั้ง ถ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องถึงรายละเอียดในคดีที่เคยยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อน และแนบคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแทน แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องใหม่เข้ามาและมีการลงเลขคดีดำใหม่ ก็เป็นเพียงเรื่องปฏิบัติในทางธุรการของศาลเท่านั้น กรณีถือได้ว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องต่อศาลในคดีก่อน ตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8036/2561
โจทก์ยื่นฟ้องในตอนแรกเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้พิจารณาโดยชอบแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ต่อมาโจทก์แก้ไขฟ้องเพิ่มเติมข้อหาละเมิดอีกหนึ่งข้อ โดยไม่ได้ขอให้บังคับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อีก ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจศาลเหนือคดีนั้น การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเกิดจากจำเลยประมูลขายอสังหาริมทรัพย์พิพาทแก่บุคคลภายนอกซึ่งต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ผู้เกี่ยวข้องและพยานหลักฐานส่วนหนึ่งที่เกี่ยวด้วยการโอนอสังหาริมทรัพย์ย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ทั้งคู่ความก็ไม่ได้โต้แย้งกันในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก และไม่ปรากฏเหตุว่าจะทำให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องกับคดีไม่ได้รับความสะดวก หรือทำให้การบริหารจัดการคดีของศาลชั้นต้นไม่เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมไม่ตัดอำนาจของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีไว้แล้วที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (2) ทั้งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมไว้พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดรวมกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ต่อไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเรื่องเขตอำนาจศาลมาพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยเหตุที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2561
แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6458/2559
แม้มูลเหตุคดีนี้เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินและได้รับเงินน้อยลงจากการกระทำของจำเลย อันเป็นการกระทบต่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการที่จะบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ได้ หาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะบังคับเอาจากจำเลย ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว ทั้งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมีมติไม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างดังกล่าวจากจำเลย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเรียกเงินส่วนต่างจากจำเลยเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และเมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4086/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนที่ พ. มารดาโจทก์จะถึงแก่ความตาย โจทก์และจำเลยเคยร่วมกันทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินของ พ. ไว้ในคดีแพ่ง โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยกที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ของ พ. ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ประสงค์จะขอรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการให้ ดังนี้ คำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง มิใช่มาฟ้องเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559
แม้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ศาล หมวด 1 เขตอำนาจศาลได้บัญญัติเกี่ยวกับคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลว่าให้ฟ้องหรือร้องขอเข้ามาในคดีเดิมได้ตามมาตรา 7 (1) แต่คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ ขอให้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล มีผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดต่างขอให้ตั้งตนเป็นผู้อนุบาลด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้บังคับ ศ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรักษาเงินรายได้ของ ซ. ให้ส่งมอบเงินให้ ซ. โดย ศ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้เป็นคู่ความในคดีและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้อนุบาลแต่อย่างใดว่าไม่ยอมส่งมอบเงินรายได้ของคนไร้ความสามารถ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ศ. เป็นอีกคดีต่างหาก คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ใช่คำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 (1) ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2559
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์โดยการนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ออกขายทอดตลาดให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยมิได้มีคำขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่อย่างใด คำฟ้องคดีนี้จึงไม่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีในคดีดังกล่าว และไม่อยู่ในบังคับให้โจทก์ต้องเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจ จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2559
แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะระบุภูมิลำเนาของจำเลยอยู่ที่จังหวัดนครปฐม แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันที่อำเภอหาดใหญ่ และโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายซึ่งระบุว่ามีการทำสัญญาที่โรงแรมซากุระ แกรนด์วิว หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) การที่โจทก์เสนอคำฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9033/2558
ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยในคดีล้มละลายซึ่งมีอำนาจรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอ้างว่า จำเลยซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และบันทึกข้อตกลง เรื่อง โอนชำระหนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 กับโจทก์ โดยฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ที่ให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และห้ามมิให้จำเลยเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยเว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างตามปกติตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 การโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 70108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ และมีผลให้ผู้คัดค้านซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เนื่องจากนิติกรรมที่จำเลยโอนให้แก่โจทก์เป็นโมฆะกรรมไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์และไม่มีสิทธิโอนให้แก่ผู้คัดค้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องว่ากล่าวตามอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องในคดีล้มละลาย มิใช่ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพราะมิใช่เรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลซึ่งคำร้องนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8689/2558
ตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องโดยไม่ชอบเพราะผู้ร้องไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มีชื่อและชื่อสกุลซ้ำกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีคำขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดตั้งแต่มีการยึดทรัพย์ หาใช่เป็นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ และตามคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2558
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกสามราย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย" แต่เจ้ามรดกทั้งสามรายมีภูมิลำเนาต่างท้องที่กัน ตามมาตรา 5 บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นได้" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณารวมกันได้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966 - 6967/2558
จำเลยทั้งสองนำใบถอนเงินซึ่งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นตราประทับปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้รับไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวก พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร แม้ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อแผ่นดินซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของเงินและไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2558
คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ตามฟ้องระบุสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำที่โรงแรมเรดิสัน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 92 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2558
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกสามราย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย" แต่เจ้ามรดกทั้งสามรายมีภูมิลำเนาต่างท้องที่กัน ตามมาตรา 5 บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นได้" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณารวมกันได้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2558
โจทก์ถอนฟ้องเนื่องจากมูลคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นการฟ้องผิดศาล การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ แม้จำเลยจะคัดค้าน แต่หากศาลเห็นว่าการถอนฟ้องของโจทก์ไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ศาลก็อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และในกรณีที่ฟ้องผิดศาล หากศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยใหม่ยังศาลที่คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจได้ การที่โจทก์ขอถอนฟ้องเพราะเหตุฟ้องผิดศาล แม้จำเลยจะให้การต่อสู้คดีไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยเสียหายแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8638/2557
เขตอำนาจศาลที่จะรับคำฟ้องย่อมเป็นไปตามสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และต้องปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระบุว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญากันที่สำนักงานของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ทั้งตามสัญญาเช่าซื้อยังระบุว่า คู่สัญญาตกลงกันว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญานี้ก็ให้เสนอคดีต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นคดีนี้ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลจังหวัดนนทบุรีต่างมีเขตอำนาจในคดีนี้ แม้หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะระบุให้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจ แต่เมื่อศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในคดีนี้ด้วย ย่อมไม่จำกัดสิทธิของผู้รับมอบอำนาจที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นที่คดีอยู่ในเขตอำนาจอีกศาลหนึ่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15208/2556
การเสนอคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่า "มูลคดีเกิด" หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติจ่ายเงินให้แก่จำเลย เนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในเขตการเลือกตั้งจังหวัดระนองแทนจำเลยเนื่องจากจำเลยได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 โจทก์ฟ้องจำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ดังนั้น เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งถือว่าเป็นมูลคดีได้เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2556
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่ตนก็ได้" การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2556
 แม้ฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิม ซึ่งทำให้สามารถยื่นเข้ามาในคำให้การได้ แต่ฟ้องแย้งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง การเสนอคำฟ้องแย้ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) การจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 192 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่คดีได้นั้น จะต้องเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14083/2555
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร โดยมีโจทก์กับ ม. ค้ำประกัน ย่อมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ศาลในคดีก่อนพิพากษาให้โจทก์ร่วมรับผิดใช้หนี้กับจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมาฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาส การกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ตลอดจนการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ ล้วนกระทำที่สาขาธนาคารเจ้าหนี้ในจังหวัดนราธิวาส จึงถือว่ามูลคดีอันเป็นต้นเหตุแห่งข้อพิพาทในการฟ้องไล่เบี้ยจำเลยทั้งสองของโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันเกิดในจังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะถูกธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดยะลา และโจทก์ได้ชำระเงินให้ธนาคารเจ้าหนี้ไปตามคำพิพากษาศาลจังหวัดยะลาแล้ว ก็ไม่ถือว่ามูลคดีหรือต้นเหตุแห่งข้อพิพาทในการฟ้องไล่เบี้ยของโจทก์คดีนี้เกิดในเขตอำนาจศาลจังหวัดยะลา โจทก์จึงเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดยะลาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6631/2555
แม้ขณะทำสัญญาจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาท และลงลายมือชื่อในสัญญาที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4(1) การที่โจทก์เสนอคำฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398 - 399/2555
คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคืนแก่โจทก์ด้วยเหตุลาภมิควรได้ โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การที่จำเลยทั้งสองเรียกเอาหลักประกันการปฏิบัติผิดสัญญาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์และธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แล้วธนาคารใช้สิทธิไล่เบี้ยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการธนาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ เมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่า มูลคดีนี้เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำสัญญาซื้อขายตู้สาขาโทรศัพท์นั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นข้อพิพาทเรื่องผิดสัญญาซื้อขายโดยตรง สัญญาดังกล่าวเป็นแต่เพียงเหตุที่มาของการหักเงินชำระแก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9430/2554
สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ทำขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดพล แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ โจทก์ก็เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ในอันที่จะบังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมจากจำเลยแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. เมื่อสัญญาที่เป็นมูลหนี้ให้เกิดการโอนสิทธิเรียกร้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลย และจำเลยปฏิเสธไม่ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ มูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจึงเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลย ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดพล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2554
จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัท อ. ณ สำนักงานตั้งอยู่ถนนสาธรใต้แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพมหานคร ถือว่ามูลคดีเกิดขึ้น ณ สถานที่ที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัท อ. ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิทำให้เกิดอำนาจฟ้อง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัท อ. จึงมีสิทธิฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7045/2553
คดีที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (7) เป็นการดำเนินคดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นส่วนรวมตามมาตรา 39 จึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป หลักเกณฑ์ในการพิจารณาทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีว่าจะอยู่ในอำนาจของศาลใด ต้องคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะรวมกลุ่มคดีโดยรวมทุนทรัพย์ของผู้บริโภคทุกราย แม้แต่ละรายไม่เกิน 300,000 บาท แต่ในคดีนี้ เมื่อรวมทุนทรัพย์ในคดีแล้วจำนวน 610,709 บาท จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่จะต้องรับฟ้องไว้พิจารณา ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า มูลหนี้ของผู้บริโภคแต่ละรายสามารถแบ่งแยกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 และไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 อย่างคดีแพ่งทั่วไปเป็นการไม่ชอบ จึงต้องรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4687/2553
ข้อตกลงจ้างเหมาแก้ไขต่อเติมบ้านที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างทำของ แม้ไม่ทำเป็นเอกสารก็สมบูรณ์หาจำต้องทำเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ด้วยวาจาที่จังหวัดนครสวรรค์ สัญญาย่อมเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ทั้งตามฟ้องก็ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2553
          คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ จึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 653 ว่าจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ยืมเป็นสำคัญ และอยู่ในบังคับของบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) กล่าวคือโจทก์จะนำสืบพยานบุคคลหรือกล่าวอ้างเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจาก สัญญากู้ยืมเงินหาได้ไม่ ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่าทำที่เขตกรุงเทพ มหานครเป็นความเท็จ ความจริงแล้วทำที่สำนักงานของโจทก์ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามสัญญากู้ยืม เงินในส่วนที่ระบุถึงมูลคดีที่เกิดขึ้นตามความประสงค์ของคู่สัญญา จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินคือการส่งมอบและการทำสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่โจทก์จะเบิกหรือถอนเงินจากธนาคารใดไปให้จำเลยกู้ยืมเงิน มิใช่สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด และตามคำฟ้อง โจทก์ร่วมกับจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ในธนาคารที่อยู่ในท้องที่ที่ จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะทำสัญญา เงินที่โจทก์โอนไปยังไม่เป็นสิทธิของจำเลยเพราะโจทก์ยังมีสิทธิเบิกถอนได้ การที่จำเลยจะรับเงินที่โจทก์ให้กู้ยืมได้จะต้องไปเบิกถอนเงินจากธนาคารดัง กล่าว ธนาคารดังกล่าวจึงถือว่าเป็นที่รับมอบเงินที่กู้ยืม จึงเป็นกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในท้องที่เดียวกับที่จำเลยมีภูมิลำเนาในขณะทำ สัญญาและที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินว่าเป็นที่จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2552
โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 6 ประกอบมาตรา 10 แม้ภายหลังยื่นคำฟ้องโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ในขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่ตราบใดที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ยังมิได้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน โจทก์ซึ่งยังอยู่ในฐานะคู่ความ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ต่อไปเท่าที่จำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน และแม้โจทก์จะมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ตาม ก็หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ อนึ่ง หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ศาลล้มละลายกลางก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริษัททรัพย์ พ. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ย่อมมีฐานะเป็นคู่ความชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8506/2551
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็ค จึงต้องพิจารณาว่ามูลคดีตามฟ้องเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นศาลใด โจทก์มีอำนาจยื่นฟ้องที่ศาลนั้นได้ เมื่อธนาคารตามเช็คซึ่งปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาล ชั้นต้นการที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ส่วนเช็คจะมีมูลหนี้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตอำนาจศาล เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของคู่ความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2551
จำเลย ที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายสินค้าให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งมีโจทก์เป็นนายหน้า จึงถือไม่ได้ว่าสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ส่งหมาย เรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 1 ณ สถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานที่จำเลยที่ 2 ใช้ประกอบกิจการจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 3 (2) (ข), 83 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8506/2551
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็ค จึงต้องพิจารณาว่ามูลคดีตามฟ้องเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นศาลใด โจทก์มีอำนาจยื่นฟ้องที่ศาลนั้นได้ เมื่อธนาคารตามเช็คซึ่งปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นการที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้นจึงชอบแล้วส่วนเช็คจะมีมูลหนี้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตอำนาจศาล เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของคู่ความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5298/2551
ป. วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราช อาณาจักรหรือไม่ คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่อนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงปทุมวันได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์ใช้โทรศัพท์แจ้งเรื่องการอนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลยเป็น เพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเท่านั้น หาทำให้มูลคดีที่เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่

โจทก์เป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อ เรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้ กู้ยืมเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าว จึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญาได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บรายเดือน อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนโดยที่ จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ย ทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2550)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2551
แม้จำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครและการตกลงรับ ก. เป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ผู้ฝากเงินของจำเลยมีการพิจารณาอนุมัติที่ กรุงเทพมหานครก็ตาม แต่เมื่อการสมัครสมาชิกของจำเลยและการขอเปิดบัญชีเงินฝากของ ก. ดังกล่าวกระทำโดยผ่านทางธนาคาร พ. สาขาสุรินทร์ และต่อมาจำเลยก็ตกลงรับ ก. เป็นสมาชิก ธนาคาร พ. สาขาสุรินทร์ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามข้อ ตกลงในการเป็นสมาชิกของจำเลย ถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ธนาคาร พ. สาขาสุรินทร์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2551
จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าผ่านพนักงานของโจทก์ที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง จากนั้นพนักงานของโจทก์ส่งใบสั่งซื้อสินค้ามายังโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการในเขตศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อโจทก์มีคำสั่งอนุมัติก็จะจัดส่งสินค้าไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัด นครปฐม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยทั้งสองทำคำเสนอต่อโจทก์ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า หากโจทก์ประสงค์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยทั้งสองก็ต้องแสดงเจตนาบอกกล่าวสนองรับไปถึงจำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตามการที่โจทก์จัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัดนครปฐมและจำเลยทั้งสองได้รับมอบสินค้าไว้แทนการบอกกล่าวสนองรับก็ถือ ว่าสถานที่รับมอบสินค้าเป็นสถานที่ที่มูลแห่งคดีได้เกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

จำเลยทั้งสองมิได้แสดงเจตนาให้ถือว่าการกระทำของโจทก์ที่อนุมัติและดำเนิน การจัดส่งสินค้าแก่จำเลยทั้งสองเป็นการบอกกล่าวสนองรับ ทั้งไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีประเพณีปฏิบัติเช่นนั้นที่จะทำให้ก่อเกิดสัญญา ในอันจะทำให้เกิดมูลคดี ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น

แม้โจทก์จะอ้างว่าคู่สัญญาอาจตกลงทำสัญญากันทางโทรศัพท์หรือเครื่องโทรสารก็ตาม แต่คดีนี้เป็นสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง มิใช่เรื่องสัญญาระหว่างบุคคลที่อยู่เฉพาะหน้า ที่คู่สัญญาอาจเสนอและสนองรับกัน ณ สถานที่และในเวลาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 168 และ 356

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9362/2551
การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือ ศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาล จังหวัดพิษณุโลก การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก จึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2551
คำฟ้องโจทก์อ้างว่า เดิมโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2033/2543 ของศาลชั้นต้น และได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยไม่ยอมหักหนี้ในส่วนของโจทก์ แต่กลับดำเนินการบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของโจทก์ขาย ทอดตลาดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยรับว่าโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลย แล้ว และให้จำเลยคิดยอดหนี้ที่ค้างชำระเพื่อโจทก์จะได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป นั้น เห็นได้ว่าคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับ การบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งคำฟ้องเช่นว่านี้จำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลเสียก่อนที่การบังคับคดีจะ ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง โจทก์ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 ประกอบ มาตรา 7 (2) มิใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2551
คำว่า มูลคดี ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 4 นั้น หมายถึง มูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องแก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าสินค้าฝากขายที่จำเลยทั้งสองค้างชำระ อันเนื่องจากโจทก์ตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่โจทก์ผลิต ในจังหวัดพัทลุง โดยพนักงานของโจทก์เป็นผู้ติดต่อกับจำเลยทั้งสองที่จังหวัดพัทลุง แม้มิได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ แต่จำเลยทั้งสองก็ได้แสดงเจตนาสนองรับเป็นตัวแทนที่จังหวัดพัทลุงนั้นเอง ดังนั้น สัญญาที่เป็นมูลเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงเกิดขึ้นที่จังหวัด พัทลุง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดพัทลุง ส่วนที่ตั้งของสำนักงานโจทก์เป็นเพียงสถานที่ที่พนักงานโจทก์ทำงานอยู่ใน เวลาที่จำเลยทั้งสองโทรศัพท์มาติดต่อเพื่อให้ส่งสินค้าเท่านั้น ซึ่งสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อส่งสินค้าไม่ใช่ติดต่อทำสัญญา ย่อมไม่ใช่สถานที่ที่มูลคดีเกิด

การรับสภาพหนี้โดยการทำเป็นหนังสือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ลูกหนี้กระทำได้ เองโดยสมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ที่จังหวัดพัทลุง หนังสือรับสภาพหนี้ก็มีผลโดยสมบรูณ์ทันที ศาลแขวงดุสิตจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจ ศาลแขวงดุสิตจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องเพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มี เขตอำนาจต่อไป

การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งและศาลแพ่งมีคำสั่งรับฟ้องไว้ แล้ว ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้โอนคดีมายังศาลแขวงดุสิตตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ และศาลแขวงดุสิตรับคดีไว้พิจารณา ไม่ถือว่าศาลแพ่งใช้ดุลพินิจรับคดีที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจไว้พิจารณาตามพระ ธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสาม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ส่วนที่ศาลแขวงดุสิตรับคดีนี้ไว้พิจารณาก็เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ศาลแขวงดุสิตใช้ดุลพินิจรับคดีนี้ไว้พิจารณาเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10665/2550
การเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 และให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม มิใช่เสนอคำร้องเป็นคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8592/2550
มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะกรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติถึงเงื่อนไขในการยื่นคำฟ้องคดีภาษีอากรต่อศาลจังหวัดไว้แล้ว จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 17 ที่จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น แม้มูลคดีนี้จะเกิดที่จังหวัดหนองบัวลำภู แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดหนองบัวลำภูได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550
ป. วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญา จักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2550
โจทก์เสนอคำฟ้องโดยระบุว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้น ต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 แม้ต่อมาโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 โดยภูมิลำเนาที่ขอแก้ไขใหม่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าขณะโจทก์เสนอคำฟ้องนั้นจำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 อาจเปลี่ยนภูมิลำเนาภายหลังที่โจทก์เสนอคำฟ้องแล้วก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคดีก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณา พิพากษาต่อไปได้ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏแน่ชัด จะอ้างว่าเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและ ไม่จำหน่ายคดีหาได้ไม่ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การก็ได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดย รับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องคำนึ่งว่า โจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริตหรือไม่ เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) และมาตรา 5 มิได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลที่รับคำฟ้องพิจารณาถึงความสุจริตของผู้เสนอคำ ฟ้อง หากเป็นกรณีที่โจทก์เสนอคำฟ้องผิดเขตอำนาจศาล การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายก ฟ้องจึงหาเป็นการไม่ชอบไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4306/2550
จำเลย ที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดอันเนื่องมาจากการเป็นตัวการตัวแทน จึงเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2550
พระ ภิกษุ พ. มีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง คือที่วัดหัวป่าและวัดผู้คัดค้าน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น จึงต้องถือว่าวัดหัวป่าเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุเพิ่มแห่งหนึ่งด้วย ผู้ร้องในฐานะเป็นพนักงานอัยการย่อมมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2549
โจทก์บรรยายฟ้องว่าสถานที่ที่จำเลยยื่นใบสมัครหรือทำสัญญาและสถานที่รับบัตร เครดิตจากโจทก์อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเลยจะสามารถนำบัตรเครดิตไปใช้ได้ตามสัญญานั้นกระทำที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ ถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงชอบที่จะเสนอคำฟ้องของโจทก์ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2549
ตามคำฟ้องโจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ขายที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคา สูงสุดและเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อนซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำ สั่งที่ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นสาระสำคัญกับมีคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคำขอต่อเนื่อง ฟ้องของโจทก์จึงเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวในคดีของศาลแพ่งซึ่งออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน และจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วน และถูกต้อง กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 15 วรรคท้าย และมาตรา 302 วรรคหนึ่งและวรรคท้ายเช่นกัน โจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี คือศาลแพ่งหรืออาจยื่นต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี และบังคับคดีแทนเท่านั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีที่จำเลยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ตามมาตรา 4 (1) หาได้ไม่เพราะบทบัญญัติมาตรา 4 อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5944/2549
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแล้วก็ย่อมที่จะพิพากษายกฟ้องได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นเพราะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
เมื่อพิจารณาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตที่ระบุว่า สถานที่ส่งใบเรียกเก็บเงินคือที่ทำงานของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และอยู่ในเขตศาลชั้นต้นแสดงว่าจำเลยได้เลือกเอาที่ทำงานของจำเลยโดยมีเจตนาชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีอำนาจยื่นคำฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565/2548
คำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามมาตรา 7 (2) ต้องเสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้น ศาลที่ออกหมายบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ย่อมหมายถึงศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ส่วนมาตรา 15 วรรคสอง มิได้บัญญัติให้ถือเสมือนหนึ่งว่าศาลที่บังคับคดีแทนเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2544
ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยมีภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นที่อยู่ปกติที่จังหวัดลพบุรีและกระทำความผิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีซึ่งยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดดำเนินการคดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 58(3) ที่ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนั้นหมายถึง กรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดที่ไม่มีบทกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอำนาจศาลไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7(1) บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้คดีลักษณะนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เว้นแต่จะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเมื่อคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวแล้วก็ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว ดังนั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5702/2548
การกู้เงินตามฟ้องจำเลยได้ดำเนินการโดยยื่นคำขอใช้วงเงินสินเชื่อต่อเจ้า หน้าที่การตลาดสินเชื่อรายย่อย ซึ่งในคำขอดังกล่าวระบุให้โจทก์นำฝากหรือโอนเงินกู้เข้าบัญชีของจำเลยที่ ธนาคาร ท. สาขาสุขาภิบาล 1 โดยให้ถือว่าจำเลยได้รับเงินกู้ถูกต้องนับตั้งแต่วันที่โจทก์นำฝากหรือโอน เงินกู้เข้าบัญชีของจำเลย หลังจากเจ้าหน้าที่รับคำขอใช้วงเงินสินเชื่อของจำเลยแล้วก็ได้ส่งไปให้โจทก์ พิจารณาที่สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โจทก์พิจารณาแล้วอนุมัติวงเงินกู้ให้แก่จำเลยและนำเงินกู้ไปฝากหรือโอนเข้า บัญชีของจำเลยตามที่ระบุไว้โดยดำเนินการฝากหรือโอนที่ธนาคาร ท. สาขาสยามสแควร์ เห็นได้ว่า การอนุมัติวงเงินกู้ซึ่งถือว่าเป็นการส่งมอบเงินกู้รายนี้ของโจทก์ได้กระทำ ในท้องที่เขตปทุมวันซึ่งอยู่ในเขตศาลชั้นต้นคือศาลแขวงปทุมวัน ถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดในเขตศาลชั้นต้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1), 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400/2548
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาหมั้นตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฟ้องโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรม อื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นให้ ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามบท กฎหมายดังกล่าวต่อไป เมื่อประธานศาลฎีกาได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวแล้ว หากคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 แต่ถ้าคดีอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8647/2544
อ. ก. และ ป. เจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน คือที่ดินน.ส. 3 ที่จังหวัดมหาสารคาม ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าว มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่พิจารณารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ อ. และ ก. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดมหาสารคามในขณะที่ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 4 จัตวา และขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. ซึ่งไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดมหาสารคามมาในคำร้องเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2548
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์กับจำเลยที่บริษัทจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยมีข้อตกลงให้จำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปส่งมอบและติดตั้งให้แก่โจทก์ ณ จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยเงื่อนไขว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องยนต์และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามคุณสมบัติที่ตกลงกัน โจทก์จึงจะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาไปส่งมอบและติดตั้งอันเป็นการผิดสัญญา ก็เท่ากับมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการส่งมอบและติดตั้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นสถานที่ที่ต้องมีการส่งมอบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2542
ป.วิ.พ. มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือ แต่บางส่วน ในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทน หรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น ก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือ ของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปี ก่อนนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4513/2542
ซ. ซึ่งป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อนมาตั้งแต่กำเนิดเกิดที่กรุงเทพมหานคร มีภูมิลำเนาอยู่แขวงคลองตัน เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยอาการวิกลจริตและความบกพร่องทางสมองและสติปัญญาของ ซ. มีอยู่จนถึงปัจจุบันไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ เมื่อ ซ. อยู่ในประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เหตุแห่ง การวิกลจริตซึ่งเป็นมูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลชั้นต้น จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอให้ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล ซ. ไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2542
พนักงานหรือตัวแทนของจำเลยเป็นผู้ไปอธิบายรายละเอียด ผลประโยชน์และเงื่อนไขของกรมธรรม์ให้ ท. ฟังที่บ้านในเขตท้องที่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดกบินทร์บุรีซึ่งเป็นภูมิลำเนาของท.เมื่อท. ได้รับฟังคำอธิบายแล้วจึงตกลงใจเอาประกันชีวิตกับจำเลยโดยลงลายมือชื่อในคำขอเอาประกันชีวิต ซึ่งพนักงาน ของจำเลยเป็นผู้กรอกรายละเอียดในคำขอให้ และได้พา ท.ไปตรวจสุขภาพที่คลินิก แพทย์ และได้นำคำขอเอาประกันชีวิตของ ท. พร้อมรายงานแพทย์ส่งให้สำนักงานใหญ่ของจำเลย จำเลย ตกลงรับประกันชีวิตกับ ท. มูลคดีจากการทำสัญญาประกันชีวิตเกิดที่ภูมิลำเนาของ ท. โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) ในสัญญาประกันชีวิตเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่ง การใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ท. ผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอด ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิตสัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมได้โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้วจำเลยจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาอันเป็นโมฆียะแล้วจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2541
จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครส่วนจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการการเสนอคำฟ้องจึงต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แต่คดีนี้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างเขตอำนาจศาล โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งที่จำเลยมีภูมิลำเนาได้ตามมาตรา 5ส่วนที่สัญญาได้ระบุให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งนั้น ในขณะทำสัญญาอยู่ระหว่างการใช้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7 เดิม ที่บัญญัติยอมให้คู่ความเสนอคำฟ้องต่อศาลที่คู่ความระบุไว้ในสัญญาได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 792/2541
คำฟ้องโจทก์นอกจากขอให้บังคับจำนองเอากับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดสุพรรณบุรีและในเขตอำนาจศาลจังหวัดราชบุรีแล้วโจทก์ยังฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้เงินและหนังสือรับสภาพหนี้ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับสัญญาจำนองเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1และที่ 3 โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาที่ทำกันที่สำนักงานของโจทก์สาขาท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ดังนั้นต้องถือว่าคำฟ้องส่วนที่ให้บังคับตามสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกัน และหนังสือรับสภาพหนี้มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดกาญจนบุรีแม้ว่าโจทก์จะฟ้องบังคับจำนองด้วย กรณีเป็นเรื่องโจทก์อาจเสนอคำฟ้องต่อศาลได้สองศาล โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้เพราะเป็นสถานที่ที่เกิดมูลคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 5 ประมวลรัษฎากรมิได้ระบุให้สัญญาจำนองต้อง ปิดอากรแสตมป์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6497/2540
เขตอำนาจศาลว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง ย่อมเป็นไปตามสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและต้องปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาล ตามมาตรา 2 ด้วย

ขณะโจทก์จำเลยทำข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535ที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ในกรุงเทพมหานคร ว่าตกลงให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง ขณะนั้นป.วิ.พ.ที่แก้ไขแล้ว มาตรา 4 (1) ซึ่งใช้บังคับอยู่ได้บัญญัติให้ฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ และมาตรา 5 บัญญัติว่า คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดีเพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดีหรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดีถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้เช่นนี้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์อาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไปคือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ทั้ง ป.วิ.พ.ที่แก้ไขแล้วก็ได้ยกเลิกบทบัญญัติตาม มาตรา 7 (4) เดิม ว่าด้วยข้อตกลงที่คู่สัญญาตกลงที่คู่สัญญาตกลงกันล่วงหน้าให้ฟ้องคดีที่ศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่เกิดมูลคดีขึ้นและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฉะนั้น การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาข้างต้นจึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2540
สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือซึ่งต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้นแม้มีการจัดทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้ว แต่ยังไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อ จึงยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์เมื่อมีการส่งสัญญาดังกล่าวไปให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อให้สัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า สำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดในมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) และมาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2540
ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4บัญญัติให้เสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่นั้นคำว่ามูลคดีหมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้องแต่ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ป. ที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงพระโขนง เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยตามมาตรา31วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535อันเนื่องมาแต่มูลเหตุละเมิดที่จำเลยได้ก่อขึ้นการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวมิใช่ต้นเหตุพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิแห่งโจทก์คงเป็นเพียงสิทธิที่โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นมูลคดีนี้จึงมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงพระโขนง โจทก์จึงเสนอคำฟ้องต่อศาลแขวงพระโขนงหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2540
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 10-2549 ขอนแก่น จากโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องชดใช้และให้ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวไปเกิดอุบัติเหตุชนรถจักรยานยนต์ที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ฝ่ายรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายรถจักรยานยนต์แล้วเรียกให้จำเลยชำระเงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้ไป แต่จำเลยไม่ชำระให้ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัยไว้อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จำเลยมีตัวแทนและสาขาสำนักงานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ดังนี้ แสดงว่ามูลเหตุที่ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยเกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น ถือได้ว่ามูลคดีจากการทำสัญญาประกันภัยรายนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2539
ตามหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่64/1หมู่ที่3แขวงบางแคเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครมีจำเลยและบุตรอีก2คนพักอาศัยอยู่ด้วยแต่จำเลยแจ้งย้ายออกเพียง2คนโดยแจ้งว่าย้ายเข้าบ้านเลขที่30หมู่ที่1ตำบลท่าตุ้มอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนแต่มิได้ย้ายบุตรทั้งสองไปด้วยและแทนที่จะย้ายเข้าที่บ้านเลขที่30หมู่ที่1ตำบลท่าตุ้มอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนกลับย้ายเข้าที่บ้านเลขที่22หมู่1ตำบลท่าตุ้มอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนคนละแห่งกันกับที่แจ้งย้ายเข้าและเพียงเดือนเศษก็แจ้งย้ายออกไปเข้าที่บ้านเลขที่21หมู่ที่4ตำบลท่าพักอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีแต่ก็มิได้ย้ายเข้าบ้านเลขที่ดังกล่าวตามที่ได้แจ้งไว้แต่อย่างใดแสดงว่าการที่จำเลยแจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากภูมิลำเนาเดิมที่กรุงเทพมหานครไปยังที่ต่างๆดังกล่าวก็เพียงเพื่อมิให้โจทก์ติดตามสืบหาที่อยู่ได้เท่านั้นโดยจำเลยไม่ได้เข้าพักอาศัยไม่ได้ย้ายบุตรไปด้วยพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาแต่อย่างใดดังนั้นแม้จำเลยได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้าบ้านเลขที่ตามฟ้องซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นก็จะถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหาได้ไม่ต้องถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาครั้งสุดท้ายอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครศาลจังหวัดลำพูนจึงไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5684/2538
การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากบ้านเดิมแต่ยังไม่แจ้งย้ายเข้าที่ใดจึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ณที่ใดแสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา41ที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากบ้านเดิมมีพฤติการณ์ส่อว่าจะหลบหนีหนี้จึงต้องถือว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเดิมตามฟ้องโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5268/2538
โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในมูลหนี้เดียวกับคดีนี้ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ แต่ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2532 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามครั้งแรกที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นั้น โจทก์ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตามมูลละเมิดแล้ว จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 176 มาปรับแก่คดีของโจทก์ในกรณีนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746 - 750/2538
แม้จำเลยที่1ต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำเรือนจำก็มิใช่ท้องที่ที่จำเลยที่1มีถิ่นที่อยู่ไม่อาจถือว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่1(ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ1เดิม)โจทก์ทั้งห้าจะฟ้องจำเลยที่1ในมูลละเมิดต่อศาลชั้นต้นที่เรือนจำตั้งอยู่มิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(2)เดิมแต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค3มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(1)โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่12)พ.ศ.2534ทำให้โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดได้ด้วยศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจรับฟ้องโจทก์ทั้งห้าไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731/2536
แม้การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) บัญญัติให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียว แต่ศาลก็มีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคำสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21(3) เรื่องเขตอำนาจศาลไม่ใช่ประเด็นที่ศาลจะต้องชี้ขาดในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้พิพากษาหรือจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คู่ความย่อมมีสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2533
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินตามเช็คภายในกำหนดอายุความแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลโดยเชื่อคำแถลงของภรรยาจำเลยว่าได้หย่าขาดและจำเลยได้ย้ายออกจากภูมิลำเนาตามฟ้องแล้ว กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 176 มีผลว่าเช็คที่ขาดอายุความระหว่างดำเนินคดี หรือจะสิ้นอายุความระหว่างหกเดือนภายหลังที่ได้พิพากษาคดีถึงที่สุด ให้ขยายอายุความออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น ปรากฏว่าศาลยกฟ้องคดีนั้นวันที่ 20 กันยายน2527 เช็คที่ขาดอายุความในระหว่างพิจารณาหรือเหลืออายุความไม่ถึงหกเดือนจึงขยายไปถึงวันที่ 20 มีนาคม 2528 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องอีกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความและแม้จะเป็นการฟ้องที่ศาลเดิมก็ตาม เพราะมาตรา 176 ไม่มีข้อความจำกัดว่าจะต้องฟ้องต่อศาลอื่น คดีก่อนศาลจังหวัดปทุมธานียกฟ้องโดย ที่เห็นว่า ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา เป็นการยกฟ้องที่ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปทุมธานี โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2532
โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทจำเลยได้ยื่นคำร้อง ขอให้รวมการพิจารณาคดีที่โจทก์ฟ้องเข้ากับคดีที่โจทก์อีกคนหนึ่งฟ้องจำเลย ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ โดยขอให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลแขวงพระนครเหนือ แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เช่นนี้จำเลยหาอาจยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6,8ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้ไม่เพราะคดีอาญานั้นมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23,26บัญญัติเรื่องการโอนคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตราดังกล่าวมาปรับแก่กรณีของ จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3144/2531
จำเลยยื่นคำให้การตัดฟ้องว่าโจทก์ผิดศาล การที่โจทก์ทราบภายหลังว่าฟ้องคดีผิดไปจากศาลที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาและขอถอนคำฟ้องนับว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้อง และในกรณีฟ้องผิดศาลนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะพิจารณาไปโดยผิดหลงแล้วมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล โจทก์อาจฟ้องจำเลยใหม่ยังศาลที่คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจได้อีก และแม้กำหนดอายุความในเรื่องนี้จะสิ้นไปแล้วในระหว่างพิจารณากฎหมายก็ยังขยายอายุความออกไปให้อีกระยะหนึ่งด้วยตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 บัญญัติไว้ การอนุญาตให้ถอนคำฟ้องจึงไม่ทำให้จำเลยเสียหาย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2529
คำฟ้องคดีไม่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์เหล่านั้น โจทก์ต้องฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (2) ถ้าโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสุรินทร์ที่มูลคดีเกิดขึ้น โจทก์จะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลจังหวัดสุรินทร์จะเป็นการสะดวกเพื่อให้ศาลจังหวัดสุรินทร์ใช้ดุลยพินิจอนุญาตเสียก่อน โจทก์จึงจะฟ้องจำเลยได้ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (2) บัญญัติบังคับไว้ การที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องและมิได้แสดงให้ศาลจังหวัดสุรินทร์เห็นว่าจะเป็นการสะดวกในการพิจารณา แม้ต่อมาศาลจังหวัดสุรินทร์จะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ดำเนินดคีอย่างคนอนาถา ให้รับคำฟ้อง หมายเรียกจำเลยแก้คดี ก็ถือไม่ได้ว่าศาลได้อนุญาตให้โจทก์ฟ้องจำเลยนอกเขตศาลจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2528
จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดศรีสะเกษ แต่โจทก์ยื่นคำฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาต ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิด ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีสั่งคำร้องนี้ว่า'รวม' และรับคำฟ้อง ของโจทก์ไว้พิจารณา ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย เพื่อแก้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนกระทั่งเสร็จการพิจารณา ถือว่าศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้อง ต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา4(2) ศาลจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2527
โจทก์เสนอคำฟ้องแต่แรกโดยระบุภูมิลำเนาของจำเลยผิดพลาดเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงผิดไปว่าโจทก์มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ แต่เมื่อความจริงเรื่องภูมิลำเนาของจำเลยปรากฏขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาของจำเลยเกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้ ศาลชั้นต้นจึงมิใช่ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้จึงผิดพลาด ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้นแล้วมีคำสั่งใหม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้ศาลจำต้องกำหนดเวลาให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่ในกรณีที่สั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่คำฟ้องต้องห้ามเรื่องเขตอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2526
เพียงแต่ปรากฏตามทะเบียนว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานครจะถือเป็นภูมิลำเนาของบริษัทจำเลยเสมอไปหาได้ไม่ ต้องถือตามถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานบริหารกิจการของนิติบุคคลนั้นตามความเป็นจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2524
โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลและส่งคำฟ้องให้จำเลยแล้ว จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีทุกประเด็น ได้มีการชี้สองสถานและศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณามาโดยตลอดจนกระทั่ง มีคำพิพากษา จำเลยไม่เคยโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยจะยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2524
จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่การติดต่อซื้อขายไม้รายพิพาทโจทก์เคยติดต่อกับจำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 195 ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าบ้านเลขที่ 195 ดังกล่าว เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อีกแห่งหนึ่งในการติดต่อค้าขาย กับโจทก์ในกรุงเทพมหานคร และในกรณีเช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครโจทก์ก็ย่อมฟ้อง จำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) และ มาตรา 5 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2521
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในข้อหาละเมิด ต้องอยู่ ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) ซึ่งให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปทุมธานี มิได้อยู่ที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีในเขตอำนาจศาลแพ่งโจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งโดยศาลแพ่งมิได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมไม่ได้