Pages

ฎีกาเรื่องการร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิ ป.วิ.แพ่ง ม.287 , 288

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555 
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ 
ธนาคารออมสิน ผู้ร้อง 
นาง น.กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 732, 744 
ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289 

        แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า “ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด...” ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้ 
________________________________ 

    คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 264,034.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม แต่ทั้งนี้จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายอารักษ์ ผู้ตายซึ่งตกทอดแก่ตน ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีโดยโจทก์ได้นำยึดทรัพย์พิพาทคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3602 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 71569 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ) ของนายอารักษ์ ซึ่งจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยปลอดจำนอง โดยนายชลวิทย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทได้ในราคา 170,000 บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้รายอื่น 

        โจทก์คัดค้านขอให้ยกคำร้อง 

     ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองได้ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 

      ผู้ร้องอุทธรณ์ 

     ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ไต่สวน แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ 

       โจทก์ฎีกา 

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันที่เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และหากผู้ร้องมีสิทธิในฐานะเจ้าหนี้จำนองประการใดนั้น มิใช่เรื่องที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 จะบัญญัติว่า “ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด...” ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยในประเด็นส่วนนี้มา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ไต่สวนแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเป็นจำนวนเท่าที่ผู้ร้องขอหรือไม่เพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ จำเลยทั้งสาม และเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีโอกาสคัดค้านแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์คำร้อง คำคัดค้านของโจทก์ และข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ ผู้ร้อง และเจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาล ตามรายงานกระบวนพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวน จึงเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งได้ตามควรแก่กรณีเพื่อให้คดีดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีคัดค้าน ส่วนโจทก์นั้นคงยื่นคำคัดค้านเฉพาะประเด็นที่ว่าผู้ร้องยื่นคำร้องพ้นกำหนด ระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 โดยมิได้คัดค้านว่ายอดหนี้จำนองตามคำร้องของผู้ร้องไม่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร หรือผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเป็นจำนวนตามที่ร้องขอหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำร้องของผู้ร้องว่า นายอารักษ์เป็นหนี้ผู้ร้องคิดยอดหนี้จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2550 เป็นต้นเงิน 274,268.30 บาท ดอกเบี้ย 152,288.24 บาท ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยที่ผู้ร้องชำระแทนเป็นเงิน 3,656.76 บาท ดอกเบี้ยค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 1,356.76 บาท รวมเป็นเงิน 431,569.49 บาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองตามยอดหนี้ดังกล่าว และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้น ต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องอีกแต่อย่างใด 

         พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3602 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 71569 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ) ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ 

( สิงห์พล ละอองมณี - ภาภูมิ สรอัฑฒ์ - พิทักษ์ คงจันทร์ )  กา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5442/2554 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ 
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ 
นางสาวธ ธ. 

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) 
ป.พ.พ. มาตรา 193/17
ป.วิ.พ. มาตรา 289 

       ในการที่ จ. กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้โดยลูกหนี้ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วนนั้น เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ โดยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 เจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องร้องหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันผิดนัดดังกล่าว หากเจ้าหนี้ไม่ดำเนินการก็ถือว่ามูลหนี้ประธานขาดอายุความ ส่วนที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้กู้ยืมและจำนองไปฟ้อง จ. และลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องในส่วนของลูกหนี้ และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีส่วนลูกหนี้ออกจากสารบบความ การฟ้องคดีดังกล่าวจึงไม่ได้ทำให้อายุความในมูลหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันผิดนัด หนี้รายนี้จึงขาดอายุความไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1) ส่วนการที่เจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้จำนองไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิในคดีแพ่ง และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามขอ ก็เป็นผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนอง และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ย่อมนำมูลหนี้บุริมสิทธิดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ได้ แต่หาได้เกี่ยวพันกับหนี้ส่วนที่ขาดอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใดไม่ ________________________________ 


       คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาด เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ ย.884/2544 จำนวน 7,874,699.71 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 50104 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 50104 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดเนื่องจากสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้กู้ยืมขาดอายุความ จึงเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1) โดยไม่ตัดสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 50104 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์หลักประกัน ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า นายจรวยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เป็นเงิน 3,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ ลูกหนี้ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 50104 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจำนองประกันหนี้ในวงเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากว่ามีการบังคับ ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด หมงกลการในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 16650/2536 ได้นำยึดทรัพย์หลักประกันของลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 289 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นในที่ดินโฉนดเลขที่ 50104 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในวงเงิน 3,299,919.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,977,247.73 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนในมูลหนี้กู้ยืม หลังจากนายจรวยรับเงินตามสัญญากู้ยืมแล้ว ปรากฏว่านายจรวยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้กู้ยืมจำนองไปฟ้องนายจรวยและลูกหนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ย.5622/2542 

         ระหว่างพิจารณา ลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าคำฟ้องของเจ้าหนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16650/2536 ซึ่งเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนองไว้ เจ้าหนี้จึงได้ถอนฟ้องลูกหนี้ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ให้นายจรวยชำระหนี้เงินกู้ และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดในคดีนี้ เจ้าหนี้จึงมายื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 

          มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจากการบังคับจำนองหรือไม่ เห็นว่า ในการที่นายจรวยกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้โดยลูกหนี้ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 50104 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงว่า หากบังคับทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ โดยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 เจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องร้องหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้ม ละลายภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันผิดนัด หากเจ้าหนี้ไม่ดำเนินการก็ถือว่ามูลหนี้ประธานขาดอายุความ ส่วนที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้กู้ยืมและจำนองไปฟ้องนายจรวยและลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ ย.5622/2542 ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องในส่วนของลูกหนี้ และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีส่วนลูกหนี้ออกจากสารบบความ เช่นนี้ การฟ้องคดีจึงไม่ได้ทำให้อายุความในมูลหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันผิดนัด หนี้รายนี้จึงขาดอายุความ ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ส่วนการที่เจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้จำนองไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16650/2536 ของศาลแพ่งและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามขอก็เป็นผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนอง และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ย่อมนำมูลหนี้บุริมสิทธิมาขอรับชำระหนี้ได้ แต่หาได้เกี่ยวพันกับหนี้ส่วนที่ขาดอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใดไม่ เช่นนี้ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการบังคับ จำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 50104 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในเงินส่วนที่ขาดจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น 

     พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ 

( ณรงค์พล ทองจีน - สมศักดิ์ จันทรา - วีระพล ตั้งสุวรรณ ) 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2553 
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์ 
กองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี่ 2 ผู้ร้อง 
บริษัทคุ้มศักดิ์ จำกัด จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 707, 744 
ป.วิ.พ. มาตรา 289 

        ข้อสัญญาในหนังสือสัญญาจำนองที่ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อ เป็นประกันการชำระหนี้ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าเป็นข้อสัญญาที่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 707 ประกอบมาตรา 681 วรรคสอง และใช้บังคับกันได้ ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้นในคดีอื่นว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ต่อผู้ร้องจริงและขอผ่อนชำระหนี้เป็นงวด หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ผู้ร้องยึดที่ดินที่จำนองไว้และทรัพย์สินอื่น ของจำเลยออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ร้องจนกว่าจะครบถ้วนและศาล พิพากษาตามยอมแล้วเป็นการที่จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินต่อ ผู้ร้องจริงตามคำฟ้องในคดีนั้น หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นสัญญาประธานจึงยังไม่ระงับไปตามข้อสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าว เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยก็ตกลงให้ผู้ร้องยึด ที่ดินที่จำเลยจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินไว้อันเป็น การที่จำเลยยอมรับผิดตามสัญญาจำนองอันเป็นสัญญาอุปกรณ์ด้วย สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องตามสัญญาจำนองดังกล่าวซึ่งผู้ร้องได้รับโอน จากบริษัทเงินทุน บ. ผู้รับจำนองจึงยังคงมีอยู่และผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองนั้น ดังนี้ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้นั้น ยังไม่ระงับสิ้นไปและมิได้มีการปลดจำนองให้แก่จำเลยผู้จำนองหรือมีการไถ่ถอน จำนอง จึงยังไม่ระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 ผู้ ร้องชอบที่จะใช้สิทธิในฐานะผู้รับจำนองขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดิน ที่จำเลยจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาใช้เงินได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 289 
________________________________ 


       คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำในการซื้ออาคารชุดแก่ผู้บริโภคและศาลได้ออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า จำเลยเป็นลูกหนี้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด โดยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทดังกล่าวไว้จำนวน 2 ฉบับ เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 1741 และเลขที่ 1742 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2539 โดยสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 40,000,000 บาท และจำนวน 9,000,000 บาท ในวันที่ 10 มีนาคม 2540 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกเพิ่มด้วยดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เรียกเก็บจากลูกค้าประเภทกู้ยืมเงินชั้นดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี บวกเพิ่มด้วยดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เรียกเก็บจากลูกค้าประเภทกู้ยืมเบิกเงินเกินบัญชีชั้นดี ตามลำดับ และจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36062 และเลขที่ 36063 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับดังกล่าว ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาจำนองดังกล่าวของบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ที่มีอยู่ต่อจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ จากการจำหน่ายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ต่อมาผู้ร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้นั้น ระหว่างพิจารณาผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โดยจำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาด แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าได้ยึดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36062 และเลขที่ 36063 นั้นออกขายทอดตลาด ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น 

     โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36062 และ 36063 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร เป็นประกันการชำระหนี้รายอื่นซึ่งจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว การที่ผู้ร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่ผู้ร้องและศาลพิพากษาตามยอม แล้วย่อมมีผลให้หนี้เดิมรวมทั้งหนี้จำนองที่ประกันการชำระหนี้เดิมระงับไป ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง 

   ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งว่า อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น (ที่ถูกต้องสั่งว่าค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับด้วย) 

    โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง 

    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

    โจทก์ฎีกา 

    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกา ประการแรกว่า บริษัทจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36062 และเลขที่ 36063 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด เมื่อวันที่ 8 (ที่ถูก วันที่ 3) ธันวาคม 2536 และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2 ฉบับ ให้แก่บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ซึ่งผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวที่มีอยู่ต่อจำเลยผู้ เป็นลูกหนี้ การจำนองดังกล่าวจึงไม่ใช่การจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญา ใช้เงินทั้งสองฉบับ ผู้ร้องไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้รับจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง นั้นว่าเป็นการจำนองประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วยนั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36062 และเลขที่ 36063 เอกสารหมาย ร. 6 และ ร. 8 ข้อ 1 ระบุว่า จำเลยผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินดังกล่าวแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันในบรรดาหนี้สินทุกชนิดทุกประเภทที่จำเลยผู้จำนองมีอยู่ต่อผู้รับจำนองในขณะนี้ และหรือ ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้ง สองแปลงนั้นไว้แก่บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ก่อนที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2 ฉบับ ให้แก่บริษัทดังกล่าวก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 ประกอบมาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่า หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะจำนองเป็นประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็จำนองเป็นประกันได้ ดังนี้ ข้อสัญญาในหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร. 6 และ ร. 8 ที่จำเลยตกลงจำนองที่ดินของจำเลยแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าจึงเป็นข้อสัญญาที่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 707 ประกอบมาตรา 681 วรรคสอง และใช้บังคับกันได้ เมื่อผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวของบริษัท เงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ที่มีอยู่ต่อจำเลยผู้จำนอง ผู้ร้องย่อมใช้สิทธิในฐานะผู้รับจำนองขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดิน ที่จำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับอันเป็นหนี้ใน อนาคตนั้นได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

      ที่โจทก์ฎีกาต่อไปเป็นประการสุดท้ายว่า เมื่อผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอม แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับที่จำเลยออกให้แก่บริษัทเงินทุนบางกอก เงินทุน จำกัด ซึ่งเป็นหนี้ประธานและหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจำนวน 2 แปลง เอกสารหมาย ร. 6 และ ร. 8 ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ย่อมระงับไปเนื่องจากการประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้รับจำนองที่ได้รับโอนมาจากบริษัทเงินทุน บางกอกเงินทุน จำกัด ขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋ว สัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า ปรากฏในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2931/2543 ของศาลชั้นต้น ที่ผู้ร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2 ฉบับ จำนวน 40,000,000 บาท และจำนวน 9,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ให้มีคำสั่งยึดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36062 และเลขที่ 36063 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยจำนองไว้ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องว่า ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้นตามเอกสาร หมาย ร. 16 ว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ต่อผู้ร้องจริงตามคำฟ้องและขอผ่อนชำระหนี้เป็นงวด หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน ให้ผู้ร้องยึดที่ดินตามโฉนดที่ดินที่จำนองไว้ดังกล่าวและทรัพย์สินอื่นของ จำเลยออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ร้องจนกว่าจะครบถ้วนและศาลพิพากษาตอมยอมแล้ว จากข้อสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าว เป็นการที่จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2 ฉบับ ต่อผู้ร้องจริงตามคำฟ้อง หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นสัญญาประธานจึงยังไม่ระงับไปตามข้อสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าว และเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้ครบถ้วน จำเลยก็ตกลงให้ผู้ร้องยึดที่ดินตามโฉนดที่ดินจำนวน 2 แปลง ที่จำเลยจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไว้อันเป็นการ ที่จำเลยยอมรับผิดตามสัญญาจำนองอันเป็นสัญญาอุปกรณ์ด้วย สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องตามสัญญาจำนองดังกล่าวซึ่งผู้ร้องได้รับโอน จากบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ผู้รับจำนองจึงยังคงมีอยู่และผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองนั้น ดังนี้ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้นั้น ยังไม่ระงับสิ้นไปและมิได้มีการปลดจำนองให้แก่จำเลยผู้จำนองหรือมีการไถ่ถอน จำนองตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร. 6 และ ร. 8 หนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร. 6 และ ร. 8 จึงยังไม่ระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิในฐานะผู้รับจำนองที่ได้รับโอนมาจาก บริษัท เงินทุน บางกอกเงินทุน จำกัด ขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำเลยจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 2931/2543 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยและตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ผู้ร้องและขอผ่อนชำระหนี้ หากจำเลยผิดนัด ยอมให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้จนกว่าจะครบโดยไม่มีข้อความปรากฏให้เห็นว่าสัญญาจำนองเป็นอันระงับไป เมื่อศาลในคดีดังกล่าวพิพากษาตามยอม สัญญาจำนองก็ยังคงมีผลผูกพันต่อไป หาได้ระงับไปไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” 

  พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

 ( ปริญญา ดีผดุง - สมชาย สินเกษม - สู่บุญ วุฒิวงศ์ )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2553 
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์ 
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง 
บริษัท บ. จำกัด จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง 
ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289

        ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย” ส่วนมาตรา 289 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจ แห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดีหรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้น ชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์...” และ ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่” เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออก ขายทอดตลาดแล้ว การที่ผู้ร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยปลอดจำนองมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามจำนวนภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา

 ________________________________ 


   คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีห้องชุดจำนวน 200 ห้องชื่ออาคารชุดเอเชียซิตี้ไลฟ์ คอนโดมีเนียม ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดจำนวน 2,177 ห้อง ชื่ออาคารชุดเอชียซิตี้ไลฟ์ คอนโดมิเนียม ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี เข้าทำการยึดกรรมสิทธิ์ในห้องชุดดังกล่าวบางส่วนจำนวน 200 ห้อง ตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งธนบุรีคดีหมายเลขแดงที่ 756/2547 และมีหนังสือให้ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 200 ห้องดังกล่าว ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำนวน 197 ห้อง ส่วนอีก 3 ห้อง มีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์จึงไม่อยู่ที่ผู้ร้อง พร้อมกับแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันโดยปลอดจำนอง เมื่อขายทอดตลาดแล้ว ขอให้ศาลกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินจากผู้ร้องในวงเงินไม่เกิน 532,660,000 บาท เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุด ใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการเอเชียซิตี้ บางบัวทอง” เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ในวันที่ 29 ธันวาคม 2544 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันรวม 18 แปลง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางบัวทอง (หนองเชียงโคตร) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงินจำนวน 532,660,000 บาท นอกจากนั้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยจดทะเบียนจำนองห้องชุดเป็นประกันเพิ่มหลักทรัพย์โดยไม่เพิ่มวงเงินจำนวน 2,177 ห้อง ชื่ออาคารชุดเอเชียซิตี้ไลฟ์คอนโดมีเนียม ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี หลังจากจำเลยทำสัญญากู้เงินและได้รับเงินกู้ไปจากผู้ร้องแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาต่อมาจำเลยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และยังคงชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องเรื่อยมา ขณะยื่นคำร้องยังไม่มีการผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำเลยคงค้างชำระหนี้เงินต้นจำนวน 410,243,534.40 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ดอกเบี้ยถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงินจำนวน 36,342,098.50 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรีเข้าทำการยึดกรรมสิทธิ์ในห้องชุดในอาคารชุดเอเชียซิตี้ไลฟ์ คอนโดมิเนียม ที่จดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้ร้องบางส่วน จำนวน 200 ห้อง ตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 756/2547 และมีหนังสือให้ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้ง 200 ห้อง ดังกล่าว ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำนวน 197 ห้อง ส่วนอีก 3 ห้องมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์จึงไม่อยู่ที่ผู้ร้อง พร้อมแจ้งให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันดังกล่าวโดยปลอดจำนอง และกันเงินในส่วนของผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองไว้เมื่อขายทอดตลาดเสร็จ 

       พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย” ส่วนมาตรา 289 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดี หรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์...” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่” เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดแล้วการที่ผู้ร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยปลอดจำนองมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามจำนวนภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง ซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น 

       ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น” พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ 

 (ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - อาวุธ ปั้นปรีชา - สมชาย พันธุมะโอภาส ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551 
บริษัท ไทยคอมเมอร์เชียล ออโต้ จำกัด โจทก์ 
ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง 
นาย ซ. กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 728 
ป.วิ.พ. มาตรา 289 

        ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 ได้ การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องอีกยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน

 ________________________________ 


       คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อเกียร์ หมายเลขทะเบียน อห 3975 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 400,000 บาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 31,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 เมษายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 3,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนเสร็จ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 13 เดือน จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 187587 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับคดีขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินกับผู้ร้องจำนวน 1,750,000 บาท ตกลงชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละไม่น้อยกว่า 23,000 บาท กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 20 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้โดยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 187587 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ไว้กับผู้ร้องในวงเงิน 1,750,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองไว้กับผู้ร้องเพื่อบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ในคดีนี้ จำเลยที่ 1 มียอดหนี้ค้างชำระอยู่กับผู้ร้องถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 รวมเป็นเงิน 3,025,811.18 บาท ขอให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องแต่ศาลขอให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง ถือว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองซึ่งผู้ร้องต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ได้ 

       จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ 

       ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ 

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยที่ผู้ร้องมิ ได้มีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ก่อนเพื่อให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรนั้น จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการ ชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ยึดไว้หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำเลยทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัย อำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดี หรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้น ชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ผู้รับจำนองจะมีคำขอดังกล่าวข้างต้นให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุดก็ ได้...” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้อง บังคับจำนองก่อนหรือจะต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำรหนี้ ได้ เมื่อผู้ร้องได้ยืนยันมาในคำร้องขอว่า จำเลยที่ 1 ได้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อผู้ร้อง แล้วผู้ร้องย่อมอาศัยสิทธิแห่งอำนาจจำนองที่อาจบังคับได้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ขอรับชำระหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ได้ ทั้งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอก่อนที่จะนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดอันเป็น การยื่นถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้ตามที่ร้องขอ แม้คำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองแต่ก็มิใช่การฟ้องบังคับจำนองโดยตรงที่ผู้รับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอัน สมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น เงื่อนไขที่จะต้องบอกกล่าวก่อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึด ทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 289 เป็นกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองได้ถูกยึดไว้แล้วโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อ ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึด ผู้รับจำนองอาศัยอำนาจแห่งการอำนาจมาขอรับชำระหนี้ในทรัพย์สินที่มีเจ้าหนี้ อื่นนำยึดไว้แล้วจึงไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องจึงสามารถยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าว ไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย” 

       พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ 

( สมศักดิ์ จันทรา - ชาลี ทัพภวิมล - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ ) 

หมายเหตุ 

       การขอรับชำระหนี้จำนองตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 มิใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษายึดทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เพราะทรัพย์สินซึ่งจำนองถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดไว้แล้ว ทั้งมาตรา 289 บัญญัติให้บุคคลที่ชอบจะใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจ แห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ ซึ่งมีความหมายว่าจำนองถึงกำหนดชำระแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1759/2530 และที่ 3575/2534) เท่านั้น มาตรา 289 จึงเป็นบทบัญญัติกำหนดวิธีบังคับจำนองอีกวิธีหนึ่งนอกเหนือไปจากวิธีฟ้อง บังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 แม้จะถือได้ว่าการใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 289 เป็นการฟ้องบังคับจำนอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 3208/2530 และที่ 4069/2532) แต่ก็มิใช่เป็นการฟ้องบังคับจำนองโดยตรงตามความหมายดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่ผู้รับจำนองจะต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนการ ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองในชั้นบังคับคดี 

สมชัย ฑีฆาอุตมากร 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2527 
นาย ศ. โจทก์ 
ธนาคารกรุงไทย จำกัด จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 702, 736, 744 
ป.วิ.พ. มาตรา 289, 319, 320 

       เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งติดจำนองไม่มีบทบัญญัติบังคับ ผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้า พนักงานบังคับคดีหรือต่อศาล เมื่อผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอด ตลาดในกรณีที่จะขอให้เอาเงินจากการขายทอดตลาดชำระ แก่ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด สิทธิของผู้รับจำนองหาได้ระงับไปไม่ เพราะสัญญาจำนองจะระงับสิ้น ไป ก็เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 เท่านั้น จำนองเป็นทรัพย์สิทธิติดไปกับตัวทรัพย์เสมอ แม้ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่าไม่มียอดหนี้จำนองก็ หมายความเพียงเจ้าหนี้จำนองมิได้แจ้งยอดหนี้มาให้ทราบมิใช่เป็นการปลอดหนี้ จำนอง เมื่อประกาศขายทอดตลาดของ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีเงื่อนไขในการขายว่าไม่รับรองและ ไม่รับผิดในการรอนสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ซื้อจะต้องระวังและสอบสวนถึงจำนวนหนี้จำนอง การละเลยจึงเป็น การเสี่ยงต่อความเสียหายของโจทก์เอง โจทก์ผู้รับโอนที่ดินซึ่งติดจำนองอยู่กับจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องภาระจำนองโดยการไถ่ถอนจำนองตามบทบัญญัติ ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 ________________________________ 


       โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ในประกาศขายทอดตลาดระบุว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างติดจำนองธนาคารกรุงไทย จำกัด แต่ไม่มียอดหนี้จำนอง ขายโดยติดจำนอง โจทก์ชำระเงินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ปลอดจำนอง 

    จำเลยให้การว่า นายปิยะจำนองทรัพย์พิพาทแก่จำเลยเป็นประกันหนี้นายปิยะยังไม่ได้ชำระหนี้แก่จำเลย จึงไม่อาจปลอดจำนองได้ ขอให้ยกฟ้อง 

      ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง 

      โจทก์อุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

      โจทก์ฎีกา 

    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่มีบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาลแต่อย่างใดและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ก็บัญญัติแต่เพียงว่า ถ้าจะขอให้ขายทอดตลาดเอาเงินชำระให้ผู้รับจำนองก่อนหรือจะเอาทรัพย์จำนองหลุด ให้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาด เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องขอเช่นนั้นได้ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองไม่ ฉะนั้น เมื่อผู้รับจำนองไม่ประสงค์ใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ผู้รับจำนองก็ยังคงมีสิทธิอยู่ตามเดิม หาทำให้สัญญาจำนองระงับสิ้นไปไม่เพราะสัญญาจำนองจะระงับสิ้นไปก็เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 เท่านั้น ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319 และมาตรา 320 ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบัญชีและการจ่ายเงินใน กรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนร้องขอให้บังคับคดีหรือได้มีการแจ้งให้ ทราบซึ่งการจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำหน่ายได้มาดังที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 289 จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องการระงับสิ้นไปของสัญญาจำนองซึ่งเป็นพิพาทกันในคดีนี้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายโดยติดจำนองไปด้วย แม้ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่าไม่มียอดหนี้จำนองตามก็มีความ หมายเพียงว่าเจ้าหนี้จำนองไม่ได้แจ้งยอดหนี้มาให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับ คดีทราบเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าเป็นการปลดหนี้จำนองไม่ เพราะจำนองเป็นทรัพย์สิทธิติดไปกับตัวทรัพย์ภารจำนองจึงติดไปกับตัวทรัพย์ด้วยเสมอ และอีกประการหนึ่งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเงื่อนไขในการ ขายว่าไม่รับรองและไม่รับผิดในการรอนสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องระวังและสอบสวนเอาเองว่าหนี้จำนองมีอยู่เท่าใด เพราะสามารถติดต่อสอบถามได้จากจำเลยผู้รับจำนองอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ละเลยไม่สอบสวนให้แน่นอนก่อนตกลงซื้อที่พิพาท จึงเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายของตนเอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 12 หมวด 5 ว่าด้วยจำนองได้บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ไว้แล้วโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งติดจำนองอยู่กับจำเลย จึงมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องภารจำนองออกจากตัวทรัพย์นั้นโดยการไถ่ถอนจำนองตาม บทบัญญัติในหมวด 5 ดังกล่าว โจทก์จะมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนลบจำนองไม่ได้ 

พิพากษายืน 

( พิชัย วุฒิจำนงค์ - สนิท อังศุสิงห์ - สำเนียง ด้วงมหาสอน ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2530 
นางสาว พ. โจทก์ 
ธนาคารไทยพาณิชย์ กับพวก ผู้ร้อง 
นาย พ. จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 702 

ป.วิ.พ. มาตรา 289 

        จ.ทำ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ท. สาขาชลบุรีโดยจำนองที่ดินเป็นประกัน และทำสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองว่าทรัพย์ที่จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงิน เกินบัญชี หนี้เงินกู้และหนี้สินอื่นใดบรรดาที่ จ. เป็นหนี้ธนาคาร ท. อยู่แล้วในขณะทำสัญญาและหนี้ต่อไปภายหน้า ต่อมา จ. ทำสัญญากู้เงินธนาคารท.สาขาศรีราชาอีก ซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวล้วนแต่จ. เป็นหนี้ธนาคาร ท. ทั้งสิ้น เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลัง การจำนองดังกล่าวจึงเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินด้วย ธนาคาร ท. จึงชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์ที่ จ. จำนองชำระหนี้ตนทั้งสิ้นก่อนเจ้าหนี้อื่น
 ________________________________ 

        คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลย ให้ชำระหนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำยึดทรัพย์จำเลยเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจำนวนเงิน 1,633,423.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ นาย ช. ธนาคารเอเซีย จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากการขายทอดตลาด นาย พ. ในฐานะส่วนตัวยื่นคำร้องขอกันส่วนและขอรับมรดกเงินที่เหลือจากการชำระหนี้ 

       ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้รับชำระหนี้จำนองเป็นจำนวนเงิน 856,191.12 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ผู้ขอเฉลี่ยทั้งสามเข้าเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหลังจากชำระหนี้ จำนอง ยกคำร้องขอกันส่วนของนายพิชัย 

        ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด อุทธรณ์ 

       ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 1,633,423.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น 

         จำเลยฎีกา 

      ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ก่อนนางจิราภรณ์ ศิวีระมงคล เจ้ามรดกถึงแก่กรรม นางจิราภรณ์ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาชลบุรี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2521 ในวงเงิน 600,000 บาท ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2521 นางจิราภรณ์ได้ทำสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 280,000 บาท และในวันเดียวกันนี้นางจิราภรณ์ได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 68664 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ไว้แก่ผู้ร้องเป็นประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 280,000 บาทตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 5 กับทำสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วยตามเอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 6 ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2522 นางจิราภรณ์ ได้ขอเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 250,000 บาท และได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 377 ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ไว้แก่ผู้ร้องเป็นประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 250,000 บาท ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 8 กับทำสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วยตามเอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 9 ต่อมาได้เพิ่มวงเงินจากที่จำนองที่ดินอีก 500,000 บาท จำนองที่ดินโฉนดที่ 377 เป็นประกันวงเงิน 750,000 บาท นางจิราภรณ์เป็นหนี้ผู้ร้องตามบัญชีเดินสะพัดรวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 856,191.12 บาท และเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2524 นางจิราภรณ์ ได้ทำสัญญากู้เงินผู้ร้องที่สำนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาศรีราชา จำนวนเงิน500,000 บาท ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 18 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาจำนองที่ดินโฉนดที่68664 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และสัญญาจำนองที่ดินโฉนดที่ 377 ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นประกันหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 18 ด้วยหรือไม่ 

          พิเคราะห์แล้วเห็นว่าธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาชลบุรี และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาศรีราชาต่างเป็นสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ผู้ร้องและการที่นางจิราภรณ์ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี กับทำสัญญากู้เงินเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 18 ก็ทำกับผู้ร้องโดยตัวแทนของผู้ร้อง ดังนั้นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและโดยทำสัญญากู้ เงินนางจิราภรณ์เป็นหนี้ผู้ร้องทั้งสิ้น การที่นางจิราภรณ์ลูกหนี้ทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ที่เป็นหนี้ผู้ ร้องและตกลงทำสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันข้อ 1 วรรคแรก ระบุไว้ว่า 'ทรัพย์ที่จำนอง' เพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้เงินกู้ และหนี้สินอื่นใดบรรดาที่ผู้จำนอง เป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่แล้วในขณะทำสัญญานี้และเป็นหนี้ต่อไปภายหน้าซึ่งมีความหมายชัดอยู่แล้วว่านางจิราภรณ์ตกลงให้การจำนองที่ดินทั้งสองแปลงตาม สัญญาจำนองเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 5 และ หมายเลข 8 เป็นประกันหนี้ทุกอย่างที่นางจิราภรณ์เป็นหนี้ผู้ร้องในขณะทำสัญญาและหนี้ ที่เกิดขึ้นภายหลังด้วย เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 18 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังสัญญาจำนอง การจำนองดังกล่าวจึงเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้ด้วย 

พิพากษายืน

 ( อภินย์ ปุษปาคม - ชวลิต นราลัย - ประวิทย์ ขัมภรัตน์ )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2535 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โจทก์ 
บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ร้อง 
นาย ก. จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 289, 290 

       โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งมีชื่อภรรยาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในฐานที่เป็นทรัพย์สินของจำเลย ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยและภรรยาในคดีอื่นและเป็นผู้ รับจำนองที่ดินแปลงที่ถูกยึด ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในเงินที่ขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้อื่นในฐานเจ้า หนี้บุริมสิทธิ ส่วนเงินที่เหลือผู้ร้องหาได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยยื่นคำขอเฉลี่ย ทรัพย์ไม่ดังนั้น เมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นมายื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมาย กำหนดแล้ว ก็ชอบที่ศาลจะต้องจ่ายเงินสุทธิที่หักจากหนี้บุริมสิทธิ์ให้โจทก์ไปตามสิทธิ ที่โจทก์มีส่วนได้รับ ผู้ร้องจะมายื่นคำแถลงคัดค้านขอให้งดการจ่ายเงินที่เหลือดังกล่าวทั้งหมดโดย อ้างว่าขอยึดไว้ในคดีอื่นแล้วหาได้ไม่ 
 ________________________________ 


      คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินจำนวน 185,248 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยผิดนัดโจทก์บังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 34 ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุงพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งมีชื่อนางสาคร ธัญญพานิช ภรรยาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขายทอดตลาดได้เงิน 450,000 บาทผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิไปจำนวน 169,647.67 บาทคงเหลือเงินสุทธิจำนวน 258,802.33 บาท โจทก์ยื่นคำแถลงขอรับเงินส่วนที่เหลือดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาต ผู้ร้องยื่นคำแถลงคัดค้านว่าทรัพย์ที่ขายเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาคร มิใช่ของจำเลยเงินส่วนที่เหลือจะต้องตกเป็นของกองมรดกของนางสาคร ซึ่งผู้ร้องได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเงินจำนวนนี้ไว้ในคดีแพ่งหมาย เลขแดงที่ 757/2529 แล้ว จึงขอให้ศาลชั้นต้นระงับการจ่ายเงินแก่โจทก์ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อม ใน วันนัดพร้อม 

       ศาลชั้นต้นได้ตรวจคำร้องคำแถลงต่าง ๆ แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้จ่ายเงินแก่โจทก์ตามคำแถลงเสียโดย เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้โจทก์บังคับเอาเฉพาะจากเงินครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เหลือ จากการชำระหนี้บุริมสิทธิแก่ผู้ร้องแล้วเท่านั้น 

        โจทก์อุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นจ่ายเงินคงเหลือสุทธิที่หักจากหนี้บุริมสิทธิแล้วแก่โจทก์ไป ตามส่วนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับเต็มจำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

         ผู้ร้องฎีกา 

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 34 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาขายทอดตลาดก็ในฐานที่เป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยกองมรดก ของนางสาครผู้ตายมิได้ยื่นคำคัดค้าน หรือขอใช้สิทธิอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งส่วนผู้ร้องก็เพียงแต่ ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในเงินที่ขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้อื่นในฐานเจ้าหนี้ บุริมสิทธิเท่านั้น ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว สำหรับเงินส่วนที่เหลือ ผู้ร้องเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 757/2529 ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยคดีนี้มิได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ดังนั้น เมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นมายื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ก็ชอบที่จะต้องจ่ายเงินสุทธิที่หักจากหนี้บุริมสิทธิแล้วให้แก่โจทก์ไปตาม ที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับเต็มจำนวน ผู้ร้องจะมายื่นคำแถลงคัดค้านขอให้งดการจ่ายเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่โจทก์ โดยอ้างเหตุว่าขอยึดไว้ในคดีอื่นหาได้ไม่ 

  พิพากษายืน 

( มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ - ก้าน อันนานนท์ - พรชัย สมรรถเวช ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2534 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ 
บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ล. จำกัด ผู้ร้อง 
นาย ธ. จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 702, 732 
ป.วิ.พ. มาตรา 1(3), 21, 144, 148, 287, 289, 1(1), 1(ค) 

      คำร้องของผู้ร้องฉบับก่อนเป็นการร้องขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยอำนาจ ของเจ้าหนี้จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ส่วนคำร้องของผู้ร้องฉบับหลังเป็นการร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลภายนอกไว้ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุตามบทกฎหมายคนละเหตุคนละมาตราเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือร้องซ้ำ คำร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287ไม่ใช่คำฟ้องตามมาตรา 1(3) ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล คงเสียแต่ค่าคำร้องเหมือนคำร้องธรรมดา และการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรืออนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาดมิได้ขัดแย้งกัน ไม่ได้ทำให้คำร้องนั้นเสียไป ตามคำร้องหมายความว่าหากเพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ได้ จึงขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โดยเท้าความถึงคำร้องขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าหนี้ จำนองตามมาตรา 289 ฉบับก่อน ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ จำเลย ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและเจ้าพนักงานบังคับคดี บุคคลดังกล่าวมีโอกาสคัดค้านคำร้องของผู้ร้องแล้ว ซึ่งตามคำคัดค้านของโจทก์นั้นก็มิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ จำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาจำนองว่าเป็นเงินเท่าใด และผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองนั้นหรือไม่ ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์คำร้องของผู้ร้อง คำคัดค้านของโจทก์กับผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดการไต่สวนจึงเป็นการชอบแล้ว เพราะเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีได้ตามควรแก่กรณีแห่งเรื่องเพื่อให้คดี ดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 วรรคสอง เป็นแต่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์จำนองออกขาย ทอดตลาด แต่ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 287 ฉะนั้นเมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายโดยปลอดจำนองตามหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้ ร้องและเมื่อขายทอดตลาดได้แล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อน ________________________________ 


        คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้นำยึด ทรัพย์พิพาทคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยนำมาจำนองเป็นประกันเงิน กู้ไว้แก่ผู้ร้องเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยปลอดจำนอง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2531ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องว่า จำเลยได้จำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่ผู้ร้อง ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องคิดยอดหนี้ ณ วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 320,646.57 บาท ขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทดังกล่าว โจทก์คัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2531 จึงล่วงเลยระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง ครั้น ถึงวันนัดไต่สวนศาลเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดการไต่สวนและวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองได้ ให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 ผู้ร้องยื่นคำร้องใหม่ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไม่ชอบเพราะตราบใดที่ผู้ ร้องยังไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิ์จำนอง และศาลยังมิได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดย ปลอดจำนองเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายโดยปลอดจำนองมิได้ บุริมสิทธิ์จำนองของผู้ร้องจึงยังคงอยู่ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดหรืออนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จาก เงินที่ขายทอดตลาด โจทก์คัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของ ผู้ร้อง การขายจึงชอบแล้วผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจะต้องยื่นก่อนวันเอา ทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 วรรคสอง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง 

       นาย ป. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของศาลคัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอด ตลาดทรัพย์พิพาทโดยปลอดจำนองตามหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้ร้อง และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ขายก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ การขายก็ขายไปตามคำสั่งศาล จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด 

       เมื่อถึงวันนัดไต่สวน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดการไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องตกลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยปลอดจำนอง ผู้ซื้อได้ชำระเงินครบถ้วน ถือได้ว่าการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนการขายมิได้ สำหรับกรณีที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 วรรคสอง เป็นแต่ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนเอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด การไม่ยื่นคำร้องในกำหนดดังกล่าวหาทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิในการขอรับชำระหนี้ไม่ การบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้รับจำนองและ อาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์จำนองได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ก่อนโจทก์ตามคำร้องขอ ยกคำร้องของผู้ร้องกรณีขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและยกคำคัดค้านของโจทก์ 

      โจทก์อุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

      โจทก์ฎีกา 

      ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 เข้ามาใหม่ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือร้องซ้ำกับคำร้องฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2531 นั้น เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2531 เป็นการร้องขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยอำนาจของเจ้าหนี้จำนองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ส่วนคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 นั้นเป็นการร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 287 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลภายนอกไว้ ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุตามบทกฎหมายคนละเหตุคนละมาตราเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือร้องซ้ำดังที่โจทก์อ้าง ที่โจทก์ฎีกาว่า คำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 ไม่ใช่คำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง เพราะมิได้เสียค่าขึ้นศาลแต่เป็นคำร้องที่ยื่นเข้ามาโดยอ้างว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้อง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดพร้อมกับคำขอรับชำระหนี้จำนองนั้น 

     เห็นว่าคำร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ไม่ใช่คำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล คงเสียแต่ค่าคำร้องเหมือนคำร้องธรรมดา และการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรืออนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาดมิได้ขัดแย้งกันไม่ได้ทำให้คำร้องนั้นเสียไป หากเพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ได้จึงขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาด ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนโดยไม่ชอบ เพราะยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาจำนองเป็นเงินเท่าใด และผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองหรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ จำเลยผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและเจ้าพนักงานบังคับคดี บุคคลดังกล่าวมีโอกาสคัดค้านคำร้องของผู้ร้องแล้ว เมื่อศาลได้พิเคราะห์คำร้อง คำคัดค้านของโจทก์กับผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดการไต่สวนนั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งได้ตามควรแก่กรณีแห่งเรื่อง เพื่อให้คดีดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม ผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าวโดยเท้าความถึงคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2531 และคำคัดค้านของโจทก์มิได้ปฏิเสธโดยยกเหตุดังที่โจทก์ฎีกาที่ศาลชั้นต้นมีคำ สั่งให้งดการไต่สวนนั้นจึงชอบแล้ว ที่ โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง หากผู้ร้องประสงค์จะขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสอง ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลก่อนวันที่เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสอง เป็นแต่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด แต่ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิ์ของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายโดยปลอดจำนองตามหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้ร้อง เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทแล้ว ก็จำต้องชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อน 

      พิพากษายืน

( สมพงษ์ สนธิเณร - ถาวร ตันตราภรณ์ - ประศาสน์ ธำรงกาญจน์ ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2533 
นาย พ. โจทก์ 
บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ เงินทุนสากล จำกัด ผู้ร้อง 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 161, 289, ตาราง 1 ข้อ 1( ค ) 

      ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตาม ข้อ 1(ค) แห่งตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 แต่ไม่ให้เกิน 100,000 บาท ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยมิได้คัดค้านหรือสู้ คดีแต่อย่างใด การที่โจทก์คัดค้านจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อนี้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลเกินมา 100,000 บาท เห็นควรคืนให้แก่ผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะมิได้ฎีกาขึ้นมาโดยตรงก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความ สงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ผู้ร้องร้องขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ชำระหนี้ผู้ร้องก่อน เจ้าหนี้อื่น เสมือนหนึ่งผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อจำเลยแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ซึ่งบัญญัติเรื่องความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมไว้นั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะให้ใช้ได้
 ________________________________ 


        กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ ผู้ ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อผู้ร้องและโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้แล้ว ผู้ร้องขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและเสียค่าขึ้นศาล 100,000 บาท โจทก์ ยืนคำคัดค้านว่า คำร้องขอดังกล่าวเคลือบคลุม ผู้ร้องปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานจึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค่าเบี้ย ประกันภัย ผู้ร้องมีบุริมสิทธิ์ไม่เกินวงเงิน 6,000,000 บาท ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยค่าทดรองจ่ายเบี้ยประกันโดยฉ้อฉลและไม่สุจริตขอให้ยกคำร้อง

          วันที่ 20 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่งนัดแรกศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า เนื่องจากคดีนี้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามอันตราร้อยละ 1 โจทก์คัดค้าน ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2.5 จึงให้ผู้ร้องนำค่าขึ้นศาลมาชำระให้ครบภายใน 15 วัน ให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอีกจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงินค่าขึ้นศาลทั้งสิ้น 200,000 บาท ถึงวันนัดฟังคำสั่ง 

     ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเป็นเงิน 12,544,352 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 6,000,000 บาท และ 19,912 บาท นับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 3 เมษายน 2529) เป็นตันไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ ผู้ร้องอุทธรณ์ 

        ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ 

        ผู้ร้องฎีกา 

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นนี้มีว่า โจทก์จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งหมดแทนผู้ร้องหรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยถึงปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าสมควรจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาล จากผู้ร้องไว้ร้อยละ 2.5 นั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์ตาราง 1 ข้อ 1 (ค) แห่งท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งมีความว่า (1) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ให้คิดค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ดังต่อไปนี้ (ค) คำฟ้องขอให้บังคับจำนอง หรือบังคับเอาทรัพย์สินจำนองหลุดให้เรียกโดยอัตราหนึ่งบาทต่อทุกหนึ่งร้อย บาทตามจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แต่ไม่ให้เกินหนึ่งแสนบาท ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกโดยอัตราตาม (ก) ข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามข้อ 1 (ค) แห่งตาราง 1 ดังกล่าวได้ระบุไว้ว่าให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 แต่ไม่ให้เกินหนึ่งแสนบาท ศาลชั้นต้นได้เรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องมาถึงร้อยละ 2.5 โดยอ้างว่าโจทก์ได้คัดค้าน 

        ศาลฎีกาเห็นว่า ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) นั้นได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยมิได้คัดค้านหรือสู้คดีแต่อย่างใด การที่โจทก์คัดค้านจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อนี้แม้ผู้ร้องจะมิได้ฎีกาขึ้น มาโดยตรง ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามี อำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลมาจึงเกินไป 100,000 บาท เห็นควรคืนให้แก่ผู้ร้อง ปัญหา ต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งหมดแทนผู้ร้องหรือไม่เห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยถูกผู้ร้องร้องขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มา ชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นเสมือนหนึ่งผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อจำเลย แล้ว จำเลยก็มีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ซึ่งบัญญัติเรื่องความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมไว้นั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะใช้ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่โจทก์ต้องรับผิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายคัดค้านเสมอไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียม จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น 

        พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นศาลชั้นต้นแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ เป็นพับ

( ชุม สุกแสงเปล่ง - เทพฤทธิ์ ศิลปานนท์ - พินิจ ฉิมพาลี )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2206/2537 
นาย ทอง พูนหรือพูน หมอสำริฎ หรือ หมอ สัมฤทธิ์ โจทก์ 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ร้อง 
นาย พ. จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 142, 289 

      ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยผู้ร้องยังมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษา มิได้คำนวณดอกเบี้ยจนถึงวันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองและไม่ได้เรียก ดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องจนถึงวันขายทอดตลาดมาด้วย ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้องเพราะต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก 
 ________________________________ 


     กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงบังคับคดีนำยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 429 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้น จำเลยได้จดทะเบียนจำนองเพื่อประกันการที่ผู้ร้องรับรองตั๋วแลกเงินแก่บริษัท จุรีชัย จำกัด และเพียงวันที่ 21 มีนาคม 2532 บริษัท จุรีชัย จำกัด เป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาจำนองเป็นเงิน 396,026.13 บาท ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิต่อไป โจทก์ไม่คัดค้านคำร้อง จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว แต่มิได้ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 โดยผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 520,000 บาทเจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินสิ้นสุดเพียงวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 ให้จ่ายเงินชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้อง 396,026.13 บาท โดยมิได้คิดดอกเบี้ยนับจากวันที่ 21 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 ให้แก่ผู้ร้อง ตามคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ผู้ร้องได้เสนอสัญญาจำนองท้ายคำร้องซึ่งระบุว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 250,000 บาทจึงขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินเสียใหม่ โดยคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์ 

       โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยมิได้ขอรับชำระดอกเบี้ยต่อจากวันที่ 21 มีนาคม 2532 ขอให้ยกคำร้อง 

       ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยคำนวณหนี้ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2532 โดยมิได้ขอคิดดอกเบี้ยต่อจากวันดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณยอดหนี้ให้ผู้ร้องตามบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงิน ชอบแล้ว ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง 

         ผู้ร้องอุทธรณ์ 

        ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน 

        ผู้ร้องฎีกา 

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะ เจ้าหนี้บุริมสิทธิโดยมีการจำนองจึงต้องคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องตามกฎหมาย และผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้แนบหนังสือ สัญญาจำนอง และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จึงเป็นสิทธิที่ผู้ร้องจะต้องได้รับดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1)นั้น 

        ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะกำหนดให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีและทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1) ก็ตาม แต่ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยผู้ร้องยังมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาเพียงแต่บรรยายมาในคำร้องว่าจำเลยนำที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 429 เล่ม 5 ก.หน้า 29 ตำบลหนองบุนนาก อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา มาจดจำนองเพื่อเป็นการค้ำประกันการรับรองตั๋วแลกเงินของ ผู้ร้องที่รับรองแก่บริษัท จุรีชัย จำกัด และเพียงสิ้นวันที่ 21 มีนาคม2532 บริษัท จุรีชัย จำกัด เป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาจำนองอยู่ทั้งสิ้น 396,026.13 บาท ขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิเท่านั้น โดยผู้ร้องมิได้คำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2532 จนถึงวันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง (วันที่ 27 มีนาคม 2532) และไม่ได้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องจนถึงวันขายทอดตลาดมาด้วย ดังนั้น ในเรื่องดอกเบี้ยจะเห็นได้ว่าผู้ร้องมิได้มีคำขอมาในคำร้องแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น มีความหมายเพียงว่า ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามที่ผู้ร้องขอมาในคำร้องเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น" 

      พิพากษายืน 

      ( จรัญ หัตถกรรม - นาม ยิ้มแย้ม - สุวรรณ ตระการพันธุ์ )  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2537 
องค์การคลังสินค้า โจทก์ 
บริษัท เงินทุน ท. จำกัด ผู้ร้อง 
บริษัท จ. จำกัด จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 708 
ป.วิ.พ. มาตรา 289 

        ผู้ร้องรับจำนองที่ดิน 2 แปลง โฉนดเลขที่ 47398 และ 26695 จาก จ. เพื่อประกันหนี้เงินกู้ของ จ. เพียงรายเดียวโดยระบุจำนวนเงินจำนองสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 เป็นเงิน 600,000 บาท และโฉนดเลขที่ 26695 เป็นเงิน 1,900,000 บาท เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 เพียงแปลงเดียวเพื่อบังคับชำระหนี้ ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอรับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 เพียงเท่าจำนวนเงินจำนองของที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองตามส่วนเฉลี่ยของจำนวนเงินจำนองของที่ดินแปลงดังกล่าว แม้ผู้ร้องจะฟ้องบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงแล้วและอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถบังคับชำระหนี้จากที่ดินทั้งสองแปลงที่รับจำนองไว้ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ก็มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะขอใช้สิทธิจำนองบังคับเอาจากทรัพย์จำนองเกิน กว่าจำนวนเงินจำนองอันเป็นการกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้อื่นที่จะบังคับชำระ หนี้เอาจากทรัพย์จำนองส่วนที่อยู่นอกเหนือจากความรับผิดตามสัญญาจำนองนั้น ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ได้ฟ้องบังคับจำนองจนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แล้ว และยื่นคำร้องคดีนี้ขอรับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์จำนองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม การยื่นคำร้องตามจำนวนทุนทรัพย์แต่เสียเพียงค่าคำร้อง 20 บาท แม้ผู้ร้องมิได้ฎีกา ก็สมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่ผู้ร้อง 
________________________________ 


       คดี สืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 ของ นาง จ. ซึ่งเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยเด็ดขาดตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น เพื่อทำการขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าหุ้นที่นาง จ. ยังค้างชำระแก่จำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 ของ นาง จ. ทั้งยังได้ฟ้องบังคับจำนอง และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้นาง จ. ชำระเงินจำนวน 4,135,569.84 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 และที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึด ทรัพย์สินอื่นของนางจิระพาออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้ผู้ร้องจนกว่าจะครบ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้ร้องได้เสียไปในการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเงิน 108,705 บาท แต่นาง จ. พาไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ผู้ร้องผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องนี้เพื่อ ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดก่อน เจ้าหนี้รายอื่นจำนวน 5,676,055.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย เจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้บุริมสิทธิจากที่ดินเฉพาะ โฉนดเลขที่26695 ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไว้เพียงแปลงเดียว และจะมีสิทธิรับชำระหนี้ก่อนไม่เกินวงเงินที่จำนอง คือ ไม่เกิน 1,900,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 ซึ่งได้จำนองไว้ในวงเงิน 600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้น มิได้ถูกยึดไว้ในคดีนี้ผู้ร้องจึงขอรวมกันมาเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นไม่ได้ ศาลชั้นต้นสอบเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยันตามคำแถลงคัดค้าน 

      ศาลชั้นต้นจึงงดการไต่สวนและมีคำสั่งว่าให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิ จำนองเป็นจำนวนเงิน 4,135,569.84 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีในต้นเงิน 2,500,000 บาท นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2530 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ 

         ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

         เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา 

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นางจิระพาลาภานุวัฒน์ ซึ่งเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้กู้เงินผู้ร้องไปจำนวน 2,500,000 บาท โดยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 26695 แขวงลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) เขตบางเขน(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ประกันไว้ในวงเงิน 600,000 บาทและ 1,900,000 บาท ตามลำดับ ดอกเบี้ยร้อยละ 19.5 ต่อปีต่อมานาง จ. ไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมผู้ร้องจึงฟ้องบังคับจำนอง ศาลพิพากษาให้ นาง จ. ชำระเงินจำนวน 4,135,569.84 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงิน 2,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 และ 26695 ดังกล่าว ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของ นาง จ. ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้ผู้ร้องจนครบ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 ดังกล่าวนำมาขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองทั้งสองจำนวนดังกล่าวรวมกันโดยขอรับ ชำระจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยึดมานี้ ก่อนเจ้าหนี้อื่นในฐานะเจ้าหนี้จำนอง ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามคำร้องจากที่ดินโฉนดที่ยึดขาย ทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้อื่นนั้น เห็นว่าผู้ร้องรับจำนองที่ดิน 2 แปลง โฉนดเลขที่ 47398 และ 26695 จากนางจิระพาเพื่อประกันหนี้เงินกู้ของ นางจ. เพียงรายเดียวโดยระบุจำนวน เงินจำนองสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 47398 เป็นเงิน 600,000 บาท และโฉนดเลขที่ 26695 เป็นเงิน 1,900,000 บาทเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 เพียงแปลงเดียวเพื่อบังคับชำระหนี้ ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอรับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 เพียงเท่าจำนวนเงินจำนองของที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยและค่าฤชา ธรรมเนียมในการบังคับจำนองตามส่วนเฉลี่ยของจำนวนเงินจำนองของที่ดินแปลงดัง กล่าว แม้ผู้ร้องจะฟ้องบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงแล้ว และอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถบังคับชำระหนี้จากที่ดินทั้ง สองแปลงที่รับจำนองไว้ก็ตาม แต่มาตรา 289 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะขอใช้สิทธิจำนองบังคับเอาจากทรัพย์จำนองเกินกว่าจำนวนเงินจำนองอันเป็นการกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้อื่นที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองส่วนที่อยู่ นอกเหนือจากความรับผิดตามสัญญาจำนองนั้น เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 ได้กำหนดจำนวนเงินจำนองไว้ 1,900,000 บาท และมีดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้เงินกู้ทั้งหมดของนางจิระพาจนถึงวันยื่นคำร้อง จำนวน 3,062,350.66 บาท กับมีค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงเป็นจำนวน 108,705 บาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 เป็นต้นเงินจำนอง 1,900,000 บาท ส่วนเฉลี่ยของดอกเบี้ยจนถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงิน 2,327,386.50 บาทกับส่วนเฉลี่ยของค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองเป็นเงิน 82,615.80 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,310,002.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,900,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ ที่ศาลล่างให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนองเต็มจำนวนตามคำร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น อนึ่ง ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ได้ฟ้องบังคับจำนองจนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แล้ว เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ขอรับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์จำนองตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการยื่นคำร้องตามจำนวนทุนทรัพย์ แต่เสียเพียงค่าคำร้อง 20 บาท การที่ศาลล่างมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มจำนวน 56,561 บาท อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง แม้ผู้ร้องจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่ผู้ร้อง" 

      พิพากษา แก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 26695 แขวงลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) เขตบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ก่อนเจ้าหนี้อื่นเป็นจำนวนเงิน 4,310,002.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,900,000 บาท นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2530 จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก ให้คืนเงินค่าขึ้นศาลจำนวน 56,561 บาท แก่ผู้ร้อง 

( เสมอ อินทรศักดิ์ - สวิน อักขรายุธ - ปรีชา เฉลิมวณิชย์ ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 971/2535 
นาย อ. กับพวก โจทก์ 
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ผู้ร้อง 
นางสาว ม. จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 289 

        ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ในกรณีที่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองอาจร้องขอให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้น หรือขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำ พิพากษามาชำระหนี้ของตนก่อนเจ้าหนี้อื่นใด กฎหมายมิได้บังคับว่าศาลจะต้องระบุจำนวนหนี้จำนองที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับ ก่อนเจ้าหนี้อื่นไว้ในคำสั่ง ทั้งในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจทราบได้ว่าผู้ร้องจะได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก่อนโจทก์ เป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น โดยมิได้ระบุจำนวนหนี้จำนองไว้ด้วยจึงชอบแล้ว
 ________________________________ 


        กรณีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาให้ จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 26865 ตำบลวัดท่าพระ อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด ผู้ ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้ร้องตามคำพิพากษาตามยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 26865 ตำบลวัดท่าพระ อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นที่ดินแปลงย่อยที่จำเลยแบ่งแยกจากที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งติดจำนองผู้ร้องอยู่ ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม และโจทก์คดีนี้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 26865 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาขายทอดตลาดขอให้ศาลมีคำสั่งขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 26865 พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยปลอดจำนองและให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ดังกล่าว จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีบุริมสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 26865 ที่โจทก์นำยึดที่ดินดังกล่าวติดภาระจำนองไว้กับผู้ร้องตามที่จดทะเบียนไว้ไม่เกิน 250,000 บาท ผู้ร้องสามารถดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้โดยไม่ยากขอ ให้ยกคำร้อง 

        ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า อนุญาตให้ผู้ร้องรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น 

         โจทก์อุทธรณ์ 

         ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

        โจทก์ฎีกา

        ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ในกรณีที่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองอาจร้องขอให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้น หรือขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำ พิพากษามาชำระหนี้ของตนก่อนเจ้าหนี้อื่นใด กฎหมายมิได้บังคับว่าศาลจะต้องระบุจำนวนหนี้จำนองที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับก่อนเจ้าหนี้อื่นไว้ในคำสั่ง ทั้งในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วหรือ ไม่จึงไม่อาจทราบได้ว่าผู้ร้องจะได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก่อนโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น โดยมิได้ระบุจำนวนหนี้จำนองไว้ด้วย จึงชอบแล้ว 

พิพากษายืน 

 (อากาศ บำรุงชีพ-ชลิตประไพศาล -ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5530/2539 
ธนาคารกรุงไทย จำกัด โจทก์ 
นาย ม. จำเลย 
ป.วิ.พ. มาตรา 148, 289 

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลในคดีแพ่งเรื่องอื่นให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ย่อมเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยบุริมสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับ จำนองด้วยวิธีการเป็นพิเศษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา 289 ดังนั้น คู่ความในคดีดังกล่าวกับคดีนี้จึงเป็นคู่ความรายเดียวกัน และเมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว ก่อนเจ้าหนี้อื่นนั้นถึงที่สุดแล้วและมูลหนี้กับหลักประกันคือสัญญาจำนองที่ โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ก็เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุ อย่างเดียวกันกับคำร้องขอของโจทก์ในคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามมาตรา 148 
 ________________________________ 

(ปราโมทย์ ชพานนท์ -อุระ หวังอ้อมกลาง -เสริม บุญทรงสันติกุล)  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396/2538 
นางสาว ส. โจทก์ 
ธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้ร้อง 
นาย ว. กับพวก จำเลย 
ป.วิ.พ. มาตรา 289, 319 
ป.พ.พ. มาตรา 224, 715(1) 

    การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 ก็คือการฟ้องขอให้บังคับจำนองนั่นเอง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1) ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ยด้วยโดยในส่วน ดอกเบี้ยนั้นเมื่อหนี้จำนองเป็นหนี้เงินจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กล่าวคือเมื่อถึงกำหนดที่จะต้องชำระหนี้จำนอง ลูกหนี้ไม่ชำระก็ต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัดลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่มีข้อยกเว้นว่าถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อตามสัญญาจำนองจำเลย ที่ 3 ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องร้อยละ 15 ต่อปีผู้ร้องย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆในดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้า หนี้บุริมสิทธิแต่ละคนเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 319 
________________________________ 


      คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลย ทั้งห้าให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 10,164,005 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,050,427 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 805 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เพื่อขายทอดตลาด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดไว้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 4,868,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่น โจทก์ คัดค้านว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 2,300,000 บาทกับยอมให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ผู้ร้องจึงเรียกให้ชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองได้เพียงเท่าที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามส่วนเท่านั้นขอให้ยกคำร้อง 

 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองจำนวน 2,300,000 บาท ก่อนเจ้าหนี้อื่น 

    ผู้ร้องอุทธรณ์ 

   ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นเป็นเงิน 2,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2534 นอกจากนี้แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

    ผู้ร้องฎีกา 

    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 805ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ต่อผู้ร้องเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของนางสมนา รชตะไพโรจน์เป็นเงิน 2,300,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องร้อยละ 15 ต่อปี และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 นั้น ก็คือการฟ้องขอบังคับจำนองนั่นเอง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1) ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ยด้วยโดยในส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อหนี้จำนองเป็นหนี้เงินจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กล่าวคือเมื่อถึงกำหนดที่จะต้องชำระหนี้จำนองลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ก็ต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัด ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัย เหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น คดีนี้เมื่อตามสัญญาจำนองจำเลยที่ 3 ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องร้อยละ 15 ต่อปี ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ในดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด คือ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งเป็นวันที่นางสมมาผิดนัดชำระดอกเบี้ยไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ บุริมสิทธิแต่ละคนเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319 

       พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,300,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532ไปจนถึงวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่ละคนเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 

( ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา - อากาศ บำรุงชีพ - มหินทร์ สุรดินทร์กูร ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6362/2538 
ธนาคาร สหธนาคาร จำกัด โจทก์ 
นาย ส. จำเลย 
ป.พ.พ. มาตรา 192 
ป.วิ.พ. มาตรา 148, 289 

     โจทก์ไม่เคยฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ในคดีนี้แต่โจทก์เคยยื่นคำร้องขอ รับชำระหนี้ในคดีที่เจ้าหน้าอื่นฟ้องจำเลยและศาลยกคำร้องเพราะหนี้โจทก์ยัง ไม่ถึงกำหนดชำระฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
 ________________________________ 


      โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์โดยเปิดบัญชีประเภทกระแสรายวัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2528 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 300,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี กำหนดชำระให้เสร็จภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน2529 และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เพื่อประกันหนี้ดังกล่าวจำเลยได้จำนอง ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้แก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย เลข 3 ถึง 5 เมื่อทำสัญญาแล้วจำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา และมีการต่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปอีกหลายครั้ง ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยกู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปจึงบอกเลิกสัญญาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 483,700.56 บาท ขอศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 483,700.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงิน 466,226.64 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 86/2531 ของศาลชั้นต้น 

      ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 405,230.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 คิดให้ไม่เกินร้อยละ 16.5 ต่อปี ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปคิดให้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอใจให้จำเลยชำระส่วนที่ขาดจนครบ 

      จำเลยอุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน 

     จำเลยฎีกา 

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 300,000 บาท ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.5 และจำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์คดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 86/2531 ของศาลชั้นต้น ข้อนี้จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า โจทก์ไม่เคยฟ้องจำเลย เพียงแต่โจทก์ขอรับชำระหนี้ในคดีที่เจ้าหนี้อื่นฟ้องจำเลยแต่ศาลยกคำร้องเพราะหนี้โจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระฉะนั้นฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 

       พิพากษายืน

     ( สถิตย์ ไพเราะ - พรชัย สมรรถเวช - สมคิด ไตรโสรัส )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2538 
นาย ช. โจทก์ 
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้ร้อง 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289 
ป.พ.พ. มาตรา 732 

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะเลือกว่าให้นำทรัพย์สินจำนองออกขายโดยปลอดจำนองแล้วนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นก็ได้แต่อย่างไรก็ตามหากผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิบังคับจำนองก็อาจให้ขายทรัพย์นั้นโดยติดจำนองก็ได้เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิจำนองซึ่งผู้รับจำนองอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 และในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์วรรคสองของมาตรา 289 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องเสียก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดทั้งนี้เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการไปได้โดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดจึงหาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เมื่อเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองแล้วก็จะต้องชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 

 ________________________________ 


       คดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสอง ชำระหนี้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่จำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแก่โจทก์โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 35778 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลย ที่ 2 ซึ่งจำเลยประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2532 โจทก์เป็นผู้ประมูลได้ในราคา 460,000 บาท ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ก่อนเจ้าหนี้อื่น เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ ำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ตามคำร้อง โจทก์ และ ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องตามที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลมานี้ผู้ร้องยื่นขอต่อศาลเพื่อให้เอาเงินที่ได้ มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองของจำเลย ที่ 2 มาชำระหนี้ ของผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ อันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสองซึ่ง ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ำหนดระยะเวลาให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์นั้นออก ขายทอดตลาด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องมายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ จำนองก่อนเจ้าหนี้ก่อนโดยยื่นในวันที่ 25 มกราคม 2533 ซึ่งเป็น เวลาภายหลังที่ได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองแล้วจึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิขอให้เอาเงินที่ได้มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองของจำเลย ที่ 2 มา ชำระหนี้จำนองของผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่นพิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง โจทก์ และ ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ ต่างยื่นคำร้องว่า โจทก์ และ ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ได้ขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดจาก เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่าต้องสอบถาม ผู้ร้องก่อนการที่ผู้ร้องมิได้ขอรับชำระหนี้จำนองก่อนนำที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดสิทธิที่ผู้ร้องที่จะได้รับเงินจากการขายทอดตลาดได้สิ้นสุดลงแล้วการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการประวิง การจ่ายเงินแก่โจทก์และผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์และ ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ตามส่วนผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโดยปลอดการจำนองก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้อง ได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองเป็นการไม่ชอบและการที่ผู้ร้องแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินโดยปลอดการจำนองมิใช่ เป็นการปลดจำนองสัญญาจำนองไม่ระงับผู้ร้องยังมีฐานะเป็นผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินจำนองก่อน โจทก์และผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ที่ดินจำนองชำระหนี้จำนองส่วนของผู้ร้องก่อน 

       ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ให้ยกคำร้อง 

      โจทก์ และ ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้อุทธรณ์ 

       ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน 

      โจทก์ และ ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ฎีกา 

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองหมด สิทธิในเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินจำนองหรือไม่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคหนึ่ง และ วรรคสอง บัญญัติ ว่า "ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้หรือชอบที่จะ ได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจ แห่ง การจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดี หรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิ์ก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่ง จำนองหลุดผู้รับจำนองจะมีคำขอดังกล่าวข้างต้นให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุดก็ได้ ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือ บุริมสิทธิ เหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้นให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ส่วนในกรณีอื่น ๆ ให้ยื่นคำร้องขอเสียก่อนส่งคำบอกกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 319" บท บัญญัติดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะเลือกว่าให้นำ ทรัพย์สินจำนองออกขายโดยปลอดจำนองแล้วนำเงินที่ได้ จาก การ ขายมาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นก็ได้แต่อย่างไรก็ตามหากผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิบังคับจำนองก็อาจให้ขายทรัพย์นั้นโดยติดจำนองก็ได้เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิจำนองซึ่งผู้รับจำนองอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 และ ใน กรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ วรรคสอง ของ มาตรา 289 ได้ บัญญัติ ให้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องเสียก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ทั้งนี้ เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการไปได้โดยถูกต้อง ตามเจตนาของผู้รับจำนอง การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดจึงหาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 ยัง ได้ บัญญัติ ไว้ด้วยว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองก่อนด้วย ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง แล้วก็จำต้องชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองก่อนศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นมาชอบแล้ว 

        พิพากษายืน 

 ( จิระ บุญพจนสุนทร - วินัย วิมลเศรษฐ - ชูชาติ ศรีแสง )  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3325/2538 
ร้อยตำรวจเอก ป. โจทก์ 
นาย ส. จำเลย 
ป.วิ.พ. มาตรา 289, 306 

     เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยติดจำนอง แม้จะระบุรวมดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้วินิจฉัยหากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหนี้จำนองอย่างใดก็เป็นเรื่องจำเลยต้องว่ากล่าวกับเจ้าหนี้จำนอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ ถึงกับเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขประกาศดังกล่าว ________________________________ 


      คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้ จำเลยชำระหนี้เงินยืมศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลย ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 185,000 บาท โดยผ่อนชำระรวม 3 งวด แต่จำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่ 4746 ของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยระบุว่า ที่ดินที่จะขายติดจำนอง นาย พ. ตามสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 ต้นเงินจำนอง 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ยอดหนี้จำนองคิดถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 เป็นเงิน 5,150,000 บาท ขายโดยการจำนองติดไป จำเลยยื่นคำร้องว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายโดยจำนองติดไปและคิดดอกเบี้ย 10 ปี นั้นไม่ชอบ เพราะตามกฎหมายจะเรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ไม่ได้ ดอกเบี้ย 5 ปีเป็นเงิน 1,500,000บาท เท่านั้น การขายโดยติดจำนองราคาสูงไปตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี จะทำให้ไม่มีใครสู้ราคา ทำให้จำเลยเสียหายขอให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขประกาศให้ถูกต้อง 

      ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของจำเลยไม่เกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์คดีนี้ ยกคำร้อง 

     จำเลยอุทธรณ์ 

     ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

     จำเลยฎีกา 

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยระบุว่าที่ดิน ติดจำนองของ นาย พ. ตามสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 ต้นเงินจำนอง 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ยอดหนี้จำนองคิดถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 เป็นเงิน 5,150,000 บาทนั้น เป็นการประกาศให้บุคคลทั่วไปทราบถึงภาระแห่งการรับผิดชอบก่อหนี้ในความเป็นจริงของที่ดินแต่ในทางกฎหมายที่ดินที่ติดจำนองแม้จะรวมดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ด้วยก็ตามจะต้องรับภาระแห่งดอกเบี้ยของหนี้เป็นเวลานานเท่าใดนั้นมิใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเป็นผู้วินิจฉัย หากมีการบังคับจำนอง สิทธิตามกฎหมายที่ผู้รับจำนองจะพึงได้จากการบังคับจำนองมีเพียงใดก็ต้องเป็น ไปตามนั้นประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีมิใช่การบังคับจำนองไม่อาจทำให้ผู้ รับจำนองหรือจำเลยผู้จำนองได้หรือเสียสิทธิเกินไปกว่าที่มีอยู่ตามกฎหมายได้ ถึงแม้ผู้รับจำนองจะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญตามที่จำเลย ฎีกาก็ตามโดยเฉพาะคดีนี้หากมีการขายทอดตลาดที่ดินไปตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้รับจำนองก็ไม่อาจจะมาใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ได้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นการขายโดยจำนองติดไปกับที่ดิน ผู้ซื้อยังคงต้องรับภาระแห่งหนี้จำนองนั้นไปกับที่ดินด้วย หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหนี้จำนองอย่างใดก็เป็นเรื่องที่จำเลยกับเจ้าหนี้ จำนองต้องไปว่ากล่าวกันอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดในคดีนี้แต่ประการใด แม้การระบุยอดหนี้ที่แท้จริงในประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี อาจทำให้ผู้เข้าประมูลเข้าใจผิดซึ่งเป็นการไม่สมควร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยอาจทำความเข้าใจกับผู้เข้าประมูลเองก็ได้จำเลยหามีสิทธิจะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขประกาศขายทอดตลาดไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย" 

      พิพากษายืน 

     (สละ เทศรำพรรณ - บุญศรี กอบบุญ - ทองเลื่อน พูลพิพัฒน์ )  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2540 นาง ค.
โจทก์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ( มหาชน) ผู้ร้อง 
นาย ส. จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 6, 705, 821, 1373, 1480 
ป.วิ.พ. มาตรา 84, 287, 289 

      โฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อ ท.ภริยาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ในเบื้องต้น ท. ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เมื่อโจทก์คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้เห็นตามข้อกล่าวอ้าง ท. ภริยาจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดพิพาทไว้แก่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ทราบว่า จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่งผู้ร้องจึงมิได้ให้ท.นำจำเลยมาให้ ความยินยอมในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทตามระเบียบ และเมื่อโจทก์มิได้สืบพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ร้องรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริตจึงต้องถือว่าผู้ร้องรับจำนองโดย สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ดังนี้ การจำนองดังกล่าวจึงสมบูรณ์และมีผลผูกพันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนอง ทั้งหมดทุกส่วน ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดพิพาททั้งหมดก่อนเจ้าหนี้อื่น
________________________________ 


       คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้า พนักงานบังคับคดีไปยึดที่ยึดโฉนดเลขที่ 48844 ตำบลเหมืองง่า อำเภอลำพูน จังหวัดลำพูนเนื้อที่ 63 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้ ร้องยื่นคำร้องว่า นางทองม้วน สุภาวงศ์ ภริยาจำเลยกู้เงินจากผู้ร้องจำนวน 1,000,000 บาท และจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันวงเงิน 400,000 บาท ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ ขอให้ผู้ร้องมีสิทธิรับเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่น โจทก์ ยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ยึดเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางทองม้วน นางทองม้วนทำสัญญาจำนองเป็นประกันโดยจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอม นางทองม้วนจึงต้องรับผิดต่อผู้ร้องเพียงเฉพาะส่วนของนางทองม้วนผู้ร้องจึงมี บุริมสิทธิเพียงกึ่งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินที่จำนองกึ่งหนึ่งก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาล ฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ จำนองจากที่ดินพิพาททั้งหมดก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เห็นว่าโฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อนางทองม้วนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ในเบื้องต้นนางทองม้วนย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็น เจ้าของเพียงผู้เดียว เมื่อโจทก์คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางทองม้วน ผู้ร้องมีบุริมสิทธิเพียงกึ่งหนึ่ง โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้เห็นตามข้อกล่าวอ้าง แต่โจทก์เพียงเบิกความลอยๆ ว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ได้นำจำเลยมาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของตน และไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ทราบเช่นนั้น นอกจากนี้ยังได้ความว่านางทองม้วนหย่าขาดกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2536 ตามเอกสารหมาย ร.4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1/2536 ของศาลจังหวัดลำพูน ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2536 ภายหลังหย่าขาดกัน นางทองม้วนกู้ยืมเงินจากผู้ร้องจำนวน 1,000,000 บาท ตามสัญญากู้เอกสารหมาย ร.3 โดยสัญญากู้เงิน ข้อ 8 นางทองม้วน ได้ให้คำรับรองแก่ผู้ร้องว่า นางทองม้วนเป็นเจ้าของที่ดินที่จำนองแต่ผู้เดียว กรณีมีเหตุน่าเชื่อว่าผู้ร้องไม่ทราบผู้ร้องจึงมิได้ให้นางทองม้วนนำจำเลยมาให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทตามระเบียบของผู้ร้องอีกและในวันเดียวกันก็ได้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้เพื่อประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวของนางทองม้วน วงเงิน 400,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.6 เมื่อโจทก์มิได้กล่าวในคำคัดค้านหรือนำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ร้องรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จึงต้องถือว่าผู้ร้องรับจำนองโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ดังนี้การจำนองดังกล่าวจึงสมบูรณ์และมีผลผูกพันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ จำนองทั้งหมดทุกส่วนผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินพิพาท ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้อื่น 

      พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินพิพาททั้งหมดก่อนเจ้าหนี้อื่น 

   (ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ - พิมล สมานิตย์ - กนก พรรณรักษา ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2539 
นาง ว.  โจทก์ 
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้ร้อง 
นาย ธ. จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสามเดิม, 289 

     ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีในชั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองมีว่าจำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องและจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำร้อง นั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งทั้งผู้ร้องและโจทก์ต้องนำพยานหลักฐานเข้า สืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำร้องและข้ออ้างตามคำคัดค้านของตนตามประเด็นแห่งคดีที่พิพาทกันดังนั้นการยื่นบัญชีระบุจึงต้องตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ที่บังคับใช้ในขณะนั้นแต่ตามคำร้องโจทก์ที่ขอยื่นระบุพยานเพิ่มเติมระบุเพียงว่าเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์และ เป็นพยานสำคัญเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอให้ศาลอนุญาตโดยมิได้แสดงเหตุอันสมควรว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใดอีกทั้งหากจะอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานตามคำร้องขอดังกล่าวแล้วก็จะทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบเพราะผู้ร้องได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และไม่มีโอกาสนำสืบหักล้างได้ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ชอบแล้ว 
________________________________ 


     กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอหย่า ขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยและขอแบ่งสินสมรส ศาลพิพากษาให้หย่าและให้แบ่งสินสมรสกันคนละกึ่งหนึ่ง คู่ความอุทธรณ์ และฎีกา ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมานั้นมีที่ดินโฉนดเลขที่ 135004 และ 135005 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี รวมอยู่ด้วย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 881/2532 ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2532 ให้จำเลยชำระเงิน 1,925,944.40 บาท แก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ย โดยการผ่อนชำระเป็นงวด หากจำเลยผิดนัดก็ให้ผู้ร้องบังคับคดี ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่ผู้ร้องคือ ที่ดินมีโฉนดทั้งสองแปลงที่โจทก์คดีนี้นำยึดไว้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยผิดนัด และยังคงค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 3,206,565,69 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 2,751,159.27 บาท ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองจึงขอให้เอาเงินที่จะได้จากการขายทอดตลาด ทรัพย์สินดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ หากโจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีผู้ร้องก็ขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้ยึดเพื่อ ดำเนินการบังคับคดีต่อไป โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยคดีนี้ที่ดินพิพาทติดจำนองผู้ร้องอยู่เพียง 179,854.40 บาท หลังจากที่ยื่นฟ้องแล้วโจทก์ก็ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบ แต่ผู้ร้องยังคงให้จำเลยกู้เงินและเพิ่มวงเงินกู้จนจำเลยเป็นหนี้ตามคำร้อง การกระทำของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยโดยไม่สุจริตและเป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองได้ไม่เกิน 179,854.40 บาท ขอให้ยกคำร้อง 

      ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 881/2532 ของศาลชั้นต้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ 

     โจทก์อุทธรณ์ 

     ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน 

     โจทก์ฎีกา 

   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลนัดไต่สวนพยานผู้ร้องในวันที่ 12 มีนาคม 2536 ในวันนั้นได้ไต่สวนพยานผู้ร้อง 1 ปาก แล้วผู้ร้องแถลงพยาน นัดไต่สวนพยานโจทก์ในวันที่ 31 มีนาคม 2536 แต่ในวันที่ 29 มีนาคม 2536 โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม อ้างว่าเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์โดยพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานสำคัญที่จำ เป็นในการพิจารณาของศาลเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยสมบูรณ์ครบถ้วนเพื่อ ประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอให้ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นสั่งว่าสำเนาให้ผู้ร้องสั่งในวันนัด พอถึงวันนัดได้มีการไต่สวนพยานโจทก์ 1 ปากและในวันนั้นผู้ร้องแถลงคัดค้านว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุผลที่ขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมไม่เพียงพอที่ศาลควรรับไว้ และยื่นหลังจากที่ผู้ร้องสืบพยานเสร็จและแถลงหมดพยานแล้ว หากรับบัญชีระบุพยานของโจทก์จะทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบคดีศาลชั้นต้นสั่งว่าคำร้องของโจทก์ไม่มีเหตุผลสมควรยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ 

        คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2536 นั้นเป็นการชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในชั้นนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยอ้างว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินและเบิกเงินเกินบัญชีไปจากผู้ร้องโดยจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้เป็นประกันการชำระหนี้และผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ซึ่งได้พิพากษาจำเลยชำระหนี้แก่ผู้ร้องดังมีรายละเอียดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 881/2532 ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษา จึงขอรับเงินที่จะได้จากการขายทอดตลาดในที่ดินพิพาทชำระแก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่น หากโจทก์สละสิทธิการบังคับคดี ผู้ร้องขอสวมสิทธิบังคับคดีแทนต่อไปโจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยนั้น ที่ดินพิพาทติดจำนองผู้ร้องอยู่เพียงประมาณ 179,000 บาท หลังฟ้องแล้วโจทก์ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบแต่ผู้ร้องก็ยังคงให้จำเลยกู้เงิน และเพิ่มวงเงินกู้ จนกระทั่งจำเลยเป็นหนี้ตามคำร้อง การกระทำดังกล่าวของผู้ร้องเป็นการร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีในชั้นนี้จึงมีว่าจำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องและจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นประกันการชำระหนี้ ตามคำร้องนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทั้งผู้ร้องและโจทก์ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างตามคำร้อง และข้ออ้างตามคำคัดค้านของตนตามประเด็นแห่งคดีที่พิพาทกัน ดังนั้น การยื่นบัญชีระบุจึงต้องตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ที่บังคับใช้ในขณะนั้นซึ่งตามคำร้องโจทก์ที่ขอยื่นระบุพยานเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2536 นั้น ระบุเพียงว่า เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นพยานสำคัญ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอให้ศาลอนุญาต โดยมิได้แสดงเหตุผลอันสมควรว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐาน บางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตน หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด อีกทั้งหากจะอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานตามคำร้องขอดังกล่าวแล้วไซร้ก็จะทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบเพราะผู้ร้องได้สืบพยานไปเสร็จสิ้นแล้ว และไม่มีโอกาสนำสืบหักล้างได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ชอบแล้ว 

พิพากษายืน 

 ( ชัยนาท พันตาวงศ์ - อากาศ บำรุงชีพ - มหินทร์ สุรดินทร์กูร )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2546 
ห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีศักดิ์คลองใหญ่ โจทก์ 
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง 
นาย พ. จำเลย 

ป.วิ.พ.มาตรา 168,225 วรรคสอง, 226(2), 289, ตาราง 1 ข้อ 1 (ค 

       คำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตรา ร้อยละเท่าใดนั้น เป็นปัญหา ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226 (2) และแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียวแต่ก็เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168 ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำ ร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยนั่นเอง คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) ท้าย ป.วิ.พ. ในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการ โต้แย้งในชั้นบังคับคดีของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมาย ของตาราง 1 ข้อ 1 (ค) ท้าย ป.วิ.พ. หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 8/2546
 ________________________________ 


        คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๓๘๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมา ชำระหนี้แก่โจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินที่โจทก์นำยึดเพื่อขายทอดตลาดดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ ๑ ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้องขอ ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเป็นร้อยละ ๒.๕ ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง ผู้ร้องจึงชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มอีก ๑.๕ ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นเงินจำนวน ๑๑๓,๒๙๓.๕๐ บาท โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ 

          ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 

           ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ 

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามอุทธรณ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์เพียงข้อเดียวว่า ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ขอจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการพิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้น ต้นดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๒) ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้หรือไม่ 

        ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละเท่าใดนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา ๒๒๖ (๒) และศาลฎีกาเห็นว่าถึงแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๘ บัญญัติไว้ ดังนี้ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องให้ ส่วนในปัญหาว่ากรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นในอัตราร้อยละเท่าใดนั้น 

        ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา ๒๘๙ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามตาราง ๑ ข้อ ๑ (ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ ๑ แต่ไม่ให้เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ ๒.๕ แต่คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง ๑ ข้อ ๑ (ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในอัตราร้อยละ ๑ ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการโต้แย้งในชั้นบังคับคดีของ โจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมายของ ตาราง ๑ ข้อ ๑ (ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องในอัตราร้อยละ ๒.๕ ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น 

        พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียก ให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง และให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่ผู้ร้องเสียเพิ่มดังกล่าวเป็นเงินจำนวน ๑๑๓,๒๙๓.๕๐ บาท แก่ผู้ร้อง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

(สุรชาติ บุญศิริพันธ์-กิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์-กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล)   


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2740/2546 

ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน โจทก์ 

นาง ศ. จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 142, 144, 145, 289 

       ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ถูกโจทก์ในคดีดังกล่าวยึดไว้ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่น เพราะจำเลยจดทะเบียนจำนองประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคดีนี้ในวงเงิน 7,000,000 บาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงิน เกินบัญชีเลิกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2529 ให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญในต้นเงินไม่เกิน 7,000,000 บาท เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคดีนี้ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2529 การที่โจทก์ยื่นคำร้องในคดีก่อนขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญหากมีการขายทอด ตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด จะนำวงเงินดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนหนี้ทั้งหมดแล้วพิพากษาในคดีนี้ให้ใน ส่วนที่คงเหลือไม่ได้
 ________________________________ 

        โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2525 จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์สำนักงานใหญ่ ต่อมาโอนบัญชีมาที่สำนักเพชรบุรี บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 7614 วงเงิน 3,500,000 บาท ระยะเวลา 12 เดือน ตกลงชำระดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยสูงไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่มีการต่อสัญญาเป็นหนังสือให้ถือว่าสัญญาต่อออกไปคราวละ 6 เดือน หลังจากทำสัญญาจำเลยออกเช็คจ่ายเงินและนำเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว วันที่ 13 พฤษภาคม 2526 โจทก์จำเลยต่อสัญญาอีก 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2526 เป็นต้นไปโดยจำเลยยอมรับว่าเพียงวันที่ 13 พฤษภาคม 2526 มียอดหนี้ค้างชำระ 3,441,026.25 บาท วันที่ 4 มกราคม2527 โจทก์จำเลยต่อสัญญาอีก 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2527 และเพิ่มวงเงินอีก 2,000,000 บาท เป็นวงเงิน 5,500,000 บาท โดยจำเลยยอมรับว่าเพียงวันที่ 4มกราคม 2527 มียอดหนี้ค้างชำระ 6,242,867.14 บาท จากนั้นจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2528 นำเงินเข้าบัญชี 425 บาท หักทอนบัญชีแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์ 9,737,186.81 บาท โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2531 เป็นต้นมา เป็นการคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ต้นเงิน 15,476,609.60 บาท ดอกเบี้ย 18,660,338.99บาท รวมเป็นเงิน 34,136,948.59 บาท มีผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่9670, 9671 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยจำนองไว้ต่อโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวใน คดีหมายเลขแดงที่ 9369/2530 (ที่ถูก 9396/2530) ของศาลชั้นต้น แต่ยังไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง โจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 34,136,948.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 15,476,609.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลย ให้การว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนองในคดีหมายเลขแดง ที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้น ในทรัพย์ซึ่งจำเลยจำนองเป็นประกันหนี้คดีนี้ และถูกเจ้าหนี้อื่นนำยึด คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกิน บัญชีซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีและมูลหนี้เดียวกับคดีนี้ โดยให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้ จึงเป็นฟ้องซ้ำและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จำเลยตกลงต่อสัญญานับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2527 สัญญาสิ้นสุดวันที่ 4มกราคม 2528 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่นั้น บัญชีกระแสรายวันหยุดเดินสะพัดตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2528 ซึ่งจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 2,300,000 บาท จำเลยไม่ได้สั่งจ่ายเช็คหลายรายการตามเอกสารท้ายฟ้อง แต่นำเงินเข้าหักทอนหนี้หลายครั้งโจทก์ไม่นำไปหักออกจากยอดหนี้ที่ค้างชำระ สัญญามีผลยกเลิกในวันที่ 4 มกราคม 2538 โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 10 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาล ชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 34,065,125.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 15,444,047.47 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก 

    จำเลยอุทธรณ์

    ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 7,129,477.41 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม2529 โดยวิธีทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่ทบต้นของยอดหนี้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้นำหนี้จำนอง 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 โดยวิธีทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ทบต้นของยอดหนี้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น ตามคำสั่งศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้นมาหักออกเสียก่อน 

       โจทก์ฎีกา 

      ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9670, 9671 ตำบลลุมพินี (ปทุมวัน) อำเภอปทุมวัน (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ถูกนายชาญวุฒิ โพธิรัตนังกูร โจทก์ในคดีดังกล่าวยึดไว้ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นเพราะที่ดินทั้งสองแปลงจำเลยจดทะเบียนจำนองไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคดี นี้ในวงเงิน 7,000,000 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2537 โดยพิพากษาว่า หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 ให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญคนอื่น ในต้นเงินไม่เกิน 7,000,000 บาท ตามวงเงินจำนองในยอดหนี้ที่ปรากฏในวันดังกล่าว อันเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากยอดหนี้ดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2536 เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้อีก โดยมิได้ขอบังคับจำนองมาด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2531 หรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9670, 9671 ของจำเลยมาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งจำเลยได้นำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันนั้น ในคดีดังกล่าวศาลได้วินิจฉัยว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้เลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2529 เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้นด้วย คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์จำเลยในคดีนี้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2529 ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2531 นั้นฟังไม่ขึ้น ปัญหา ข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำยอดหนี้ตามวงเงินจำนองมาหักออกจากยอดหนี้ทั้งหมด ในคดีนี้เสียก่อนเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 นั้นเป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ในการได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด จะนำวงเงินดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนหนี้ทั้งหมดแล้วพิพากษาให้ในส่วนที่คง เหลือจึงไม่ถูกต้อง เพราะในที่สุดอาจไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์หรือขายได้ต่ำกว่าวงเงินที่จำนองไว้ หรือโจทก์อาจบังคับยึดทรัพย์อื่นของจำเลยอย่างเจ้าหนี้สามัญหรือให้ชำระหนี้ ในส่วนที่ยังขาดอยู่จากการบังคับจำนองก็ได้ และการที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้อื่น ก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้ซ้ำซ้อนเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริง เพราะโดยอำนาจแห่งมูลหนี้โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้แต่เฉพาะหนี้ที่มีอยู่โดยสิ้นเชิงเท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์" 

     พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่ต้องนำหนี้จำนองมาหักออกเสียก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 

(ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ - ไพศาล เจริญวุฒิ - สายันต์ สุรสมภพ )   


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2545 
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ 
นาย ช. ผู้ร้อง 
นาย ม. กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง, 1382 
ป.วิ.พ. มาตรา 18, 55, 86, 288, 289 

   สิทธิของผู้ร้องเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนของผู้ร้อง ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภาย นอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาของผู้ร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนอง ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้นั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้อยู่ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 เช่นนี้ ผู้ร้องจึงต้องบรรยายมาในคำร้องขอโดยชัดแจ้งให้เห็นว่ามีข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น แต่ผู้ร้องมิได้บรรยายในคำร้องขอว่าโจทก์รับจำนองโดยไม่สุจริต จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้ามาสืบเป็น ข้อต่อสู้โจทก์ในประเด็นดังกล่าวได้
 ________________________________ 

      ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ขอให้ไต่สวนคำร้องขอ และปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึด 

       ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอแล้ว เห็นว่าคดีไม่จำต้องไต่สวน แล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าคำร้องขอให้เป็นพับ 

        ผู้ร้องอุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

         ผู้ร้องฎีกา 

       ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า แม้ผู้ร้องจะได้บรรยายมาในคำร้องขอถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้อง แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนของผู้ร้อง ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภาย นอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาของผู้ร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีร้องขัด ทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ ได้นั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๕๕ เช่นนี้ ผู้ร้องจึงต้องบรรยายมาในคำร้องขอโดยชัดแจ้งให้เห็นว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ และหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ผู้ร้องจึงจะ มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้ามาสืบไปตามข้ออ้างได้ การที่ผู้ร้องมิได้กล่าวบรรยายในคำร้องขอว่าโจทก์รับจำนอง โดยไม่สุจริตจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้ามาสืบเป็นข้อต่อสู้โจทก์ ในประเด็นดังกล่าวได้ กรณีมิใช่เรื่องที่คู่ความสามารถนำพยานเข้ามาสืบประกอบได้เองโดยไม่จำต้องกล่าวบรรยายมาในคำร้องขอเพื่อตั้งประเด็นระหว่าง คู่ความดังที่ผู้ร้องฎีกา ซึ่งจะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่า ด้วยพยานหลักฐาน ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น 

       พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ส่วนที่เกินกว่า ๒๐๐ บาท ให้แก่ผู้ร้อง. 

       ( สุภิญโญ ชยารักษ์ - วิชา มหาคุณ - วิชัย วิวิตเสวี ) 



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8900/2544 
ธนาคารแหลมทอง โจทก์ 
บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ น. จำกัด กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 149, 161, 289, 290, 292 

       โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยทั้งสิบสองแปลงโจทก์จึงมีหน้าที่ ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามมาตรา 149 แต่ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมย่อมตกอยู่แก่คู่ความที่แพ้คดีซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วยตามมาตรา 161 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นบังคับคดีย่อมตกอยู่แก่จำเลย เมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระ แม้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม การบังคับคดีจึงต้องดำเนินต่อไป โจทก์มิใช่เจ้าหนี้จำนองของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งมาตรา 289 ได้ ส่วนหากคำร้องดังกล่าวจะถือเป็นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา 290 ได้นั้น โจทก์ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลย แต่ตามคำร้องของโจทก์ไม่ได้ความเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่าคำร้องของโจทก์เป็นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา 290
 ________________________________ 

       คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 22,253,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้เอาที่ดินที่จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระ หนี้แก่โจทก์ หากไม่พอใช้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ หนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน ของจำเลยที่ 3 ที่จำนองไว้กับโจทก์รวม 12 แปลง ออกขายทอดตลาด จำเลย ที่ 3 ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสิบสองแปลงดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 1 ไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ ยื่นคำร้องขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดิน 12 แปลง นี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน6,235,013.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 2,348,258.98 บาท นับจากวันยื่นคำร้องขอจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้แล้วเสร็จ ศาล ชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้จึงได้งดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำ ร้องของจำเลยที่ 3 และอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากที่ดินที่จำนองได้ตามคำร้องขอ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองกรณี 

      ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6807/2540 จากที่ดินทั้งสิบสองแปลงที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้ได้อย่างเจ้าหนี้สามัญ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

       จำเลยที่ 3 ฎีกา 

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประการแรกว่า มีเหตุสมควรงดการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสิบสองแปลงนั้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แล้วตามบันทึกการรับชำระหนี้ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2539 เอกสารท้ายคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดหมายเลข 2 แต่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณานัดพร้อมลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ว่า จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี คดีนี้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยที่ 3 ทั้งสิบสองแปลง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 แต่ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมย่อมตกอยู่แก่คู่ความที่แพ้คดี ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายแพ้คดีความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าธรรมเนียมชั้นบังคับคดีย่อมตก อยู่แก่จำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ยังไม่ได้ชำระ การบังคับคดีจึงต้องดำเนินต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 3 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาประการสุดท้ายของจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์หรือไม่ โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ในกรณีเช่นนี้ โจทก์ต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองของจำเลยที่ 3 แต่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์มิใช่เจ้าหนี้จำนองของจำเลยที่ 3โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนคำร้องของโจทก์ดังกล่าวจะถือเป็นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ด้วย ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะถือว่าคำร้องของโจทก์เป็นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา 290 ได้ โจทก์ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า โจทก์ไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 3 แต่ตามคำร้องของโจทก์ไม่ได้ความเช่นนั้นจึงถือไม่ได้ว่าคำร้องของโจทก์เป็น คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินทั้งสิบสองแปลง ที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น" 

       พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 

        (ธาดา กษิตินนท์ - ศิริชัย สวัสดิ์มงคล - หัสดี ไกรทองสุก )  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2544 
บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ท. จำกัด โจทก์ 
นาย ช. กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 278, 284, 289, 296, 306, 309, 318, 319, 320, 321, 322 

        โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินของจำเลยได้จากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินแปลงดังกล่าว อยู่ด้วย การที่โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน หมายถึงการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องวางเงินชำระ ราคาค่าซื้อที่ดินในฐานะผู้ซื้อ และโจทก์มีสิทธิรับเงินจากการขายทอดตลาดที่โจทก์นำมาวางชำระค่าที่ดินในฐานะ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ต้องชำระ และศาลอนุญาต โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ต้องรับเงิน จากการขายทอดตลาดไป แต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยจะร้องคัดค้านการขายทอดตลาด โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ แล้วไม่ได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำ บัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคน ได้รับตามส่วนโดยถูกต้อง บทบัญญัติในมาตรา 318 ถึง 322 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นแต่เพียงวิธีการที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงิน ให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อจ่ายเงินไปครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว ก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยเพิ่ม เนื่องจากบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน ของเจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณ ไม่ถูกต้อง ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้จ่ายให้โจทก์รับไปตามหนี้จำนองที่โจทก์มีอยู่ เหนือที่ดินที่ขายทอดตลาดดังกล่าวครบถ้วนตามหนี้จำนองและเงินส่วนที่เหลือ ได้คืนให้จำเลย รับไปแล้ว เมื่อกรณียังไม่เป็นการแน่ชัดว่า เมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือ ที่โจทก์จะได้รับชำระอีกหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดและคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจาก ที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยพอชำระหนี้โจทก์พร้อม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยตามสิทธิของแต่ละฝ่าย และเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่โจทก์นำยึดเพิ่มต่อไป ________________________________ 


        คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง ออกขายทอดตลาด เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔ และ ๑๑๕ ได้ก่อนในราคา ๙,๖๕๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อได้และขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทน ต่อมาวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ ขายทอดตลาดที่ดินอีก ๑๑ แปลง ที่เหลือได้ในราคา ๑๓,๘๕๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ซื้อ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๙ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๔๘๗ ถึง ๒๐๔๘๙ แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๒ และวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๒๑๙ ถึง ๒๕๒๒๑ แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๓ เพื่อขายทอดตลาด จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องและจำเลยที่ ๓ แก้ไขคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินจำนวน ๑,๐๘๐,๐๕๕.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะ คืนเงินให้แก่จำเลยที่ ๓ ครบถ้วน 

      โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง 

      ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ 

      จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 

      จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา 

     ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดพิพาทเมื่อใด และจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวได้ถึงวันใด เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ของจำเลยที่ ๓ คือที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินทั้งสองแปลง ดังกล่าวอยู่ด้วย โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน ศาลชั้นต้นอนุญาต การที่โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน หมายถึงการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องวางเงินชำระราคาค่าซื้อที่ดินในฐานะผู้ซื้อ และโจทก์มีสิทธิรับเงินจากการขายทอดตลาดที่โจทก์นำมาหักชำระค่าที่ดินในฐานะ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ต้องชำระ และศาลอนุญาตโจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ ต้องรับเงินจากการขายทอดตลาดไปแต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาต ให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยที่ ๓ จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะโจทก์ไม่ต้องวางเงินชำระค่าซื้อที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้อง จ่ายเงินจากการขายทอดตลาดให้โจทก์อีก ดังนั้นเมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทนก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ชำระ หนี้ในวันที่ศาลสั่งอนุญาต คือวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ แล้ว และเมื่อฟังว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จำนวนที่หักส่วนได้ใช้แทนในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ จึงคิดดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วไม่ ได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำ บัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน ก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคน ได้รับตามส่วนโดยถูกต้อง บทบัญญัติในมาตรา ๓๑๘ ถึง ๓๒๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นเป็นแต่เพียงวิธีการที่กำหนดให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมือจ่ายเงินไปครบถ้วน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่มิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดไปจนกว่าการ บังคับคดีได้เสร็จลงเสมอไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน ของจำเลยที่ ๓ อีก ๑๑ แปลง นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้จ่ายให้โจทก์รับไปตามหนี้จำนองที่โจทก์มีอยู่ เหนือที่ดินทั้ง ๑๑ แปลง ดังกล่าวครบถ้วนตามหนี้จำนองตามบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน ครั้งที่ ๑ และเงินส่วนที่เหลือได้คืนให้จำเลยที่ ๓ รับไปแล้ว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำบัญชีแสดง รายการรับ - จ่ายเงิน ครั้งที่ ๒ โดยการนำรายการรับ - จ่ายเงิน ครั้งที่ ๑ มารวมคำนวณด้วย กรณีจึงยังไม่เป็นการแน่ชัดว่า เมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง ชำระหนี้โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้ชำระอีกหรือไม่ เพียงใด หากมีหนี้เหลือโจกท์ก็มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เพิ่มได้ แต่หากเงินที่จ่ายให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ไปแล้วเป็นการจ่ายไม่ถูกต้องอย่างไร ก็จะต้องดำเนินการจ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ให้ถูกต้องต่อไป ดังนั้น เห็นควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดและคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจาก ที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง พอชำระหนี้โจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในดคีและค่าธรรมเนียมในการบังคับดคี แล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ตามสิทธิของแต่ละฝ่ายและเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทั้ง ๖ แปลงต่อไป ฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดโดยให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่หักส่วนได้ใช้แทนถึงวัน ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระเพิ่มอีกก็ให้บังคับจากที่ดิน ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่ยึดไว้เท่าที่พอชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๓ รวม ๑๓ แปลง พอชำระหนี้โจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ ๓ ตามสิทธิของแต่ละฝ่ายและให้เพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ดินของจำเลยที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ 

 ( ปรีดี รุ่งวิสัย - อัธยา ดิษยบุตร - สมศักดิ์ เนตรมัย )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2543 
ธนาคาร กรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน โจทก์ 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน ผู้ร้อง 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 291 ป.วิ.พ. มาตรา 284, 289 

       คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมโดย จำกัดความผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลย คนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงภายในวงเงินที่ต้องรับผิดหรือแต่โดยส่วน ก็ได้ตามแต่จะเลือก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะ ร้องขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดให้เพียงพอที่ จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ขอยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งไม่ติดจำนองโจทก์ แต่ติดจำนองผู้ร้อง และศาลชั้นต้นอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการขายทรัพย์ที่ติดจำนอง ให้ครบถ้วนก่อน หากได้เงินจำนวนเพียงพอที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 โดยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย จึงไม่เป็นการนำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชา ธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ________________________________ 

         คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 22,336,772.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดไม่เกิน 1,759,452.27 บาท และให้จำเลยที่ 4ร่วมรับผิดไม่เกิน 3,182,220.23 บาท ตามคำขอของโจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ หากยังไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ จนครบแต่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่แก่โจทก์ และยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 248, 1124 กับ 1138 ของจำเลยที่ 4 ซึ่งติดจำนองอยู่แก่ผู้ร้อง โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องขายทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่แก่โจทก์ให้ครบเสียก่อน หากได้เงินสุทธิพอแก่จำนวนหนี้ที่ค้างชำระก็ให้โจทก์ถอนการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 และชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองในทรัพย์สินของ จำเลยที่ 4 ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ผู้ร้องขอสวมสิทธิของโจทก์ในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตนทันทีโดยไม่จำต้องรอขายทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่แก่ โจทก์เสียก่อนศาลชั้นต้นไม่อนุญาตผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง แต่ขอถอนอุทธรณ์ในเวลาต่อมา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 โดยยังมิได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำนองไว้แก่โจทก์เป็นการข้ามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการยึดทรัพย์ของจำเลย ที่ 4 

      ศาลชั้นต้นยกคำร้อง 

      ผู้ร้องอุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน 

      ผู้ร้องฎีกา 

    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า การที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 ซึ่งจำนองไว้แก่ผู้ร้อง โดยยังมิได้ขายทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ร้องบังคับจำนองเอาแก่ ที่ดินของจำเลยที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ต้องร่วมกันชำระเงิน 22,336,772.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดไม่เกิน1,759,452.27 บาท และจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดไม่เกิน 3,182,220.23 บาทหากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ โจทก์จนครบคำพิพากษาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกัน รับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำกัดความผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยคนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงภายในวงเงิน ที่ต้องรับผิดหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดให้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง และตามรายงานเจ้าพนักงานบังคับคดี ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537 จำนวน 42,299,813.69 บาท โดยหักทอนหนี้ที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2536 แล้วจำนวน2,175,000 บาท ส่วนทรัพย์จำนองอีก 2 รายการ ที่ยึดไว้ยังขายทอดตลาดไม่ได้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 25,675,000 บาท หากขายทอดตลาดได้ก็ไม่พอชำระหนี้ และจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 31 มกราคม 2537จำนวน 4,710,249.30 บาท ดังนั้น การที่โจทก์ขอยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4เพิ่มเติม ซึ่งไม่ติดจำนองโจทก์ แต่ติดจำนองผู้ร้อง และศาลชั้นต้นอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการขายทรัพย์ที่ติดจำนอง ซึ่งอยู่ในระหว่างรอการขายทอดตลาดให้ครบถ้วนก่อน หากได้เงินจำนวนเพียงพอที่จำเลยที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 โดยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย จึงไม่เป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอชำระหนี้ให้ แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการ บังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนคำพิพากษาที่ว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดจนครบถ้วนนั้นหมายความถึงเฉพาะการ บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์เป็นประกันหนี้โจทก์ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ชำระ หนี้เท่านั้น หาได้หมายความว่าให้โจทก์ไปบังคับเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสิ้นเชิงก่อนและถ้าได้เงินไม่พอจึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ การบังคับคดีของโจทก์จึงมิได้ข้ามขั้นตอนตามที่คำพิพากษากำหนดไว้และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ทำให้ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองเสื่อมเสียสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 แต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ 

      พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

(ยงยศ นิสภัครกุล-อภิศักดิ์ พรวชิราภา -ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ )  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2551
นาย ถ. โจทก์ 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง 
นาง ป. กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 145, 200, 202, 289 

       คำพิพากษาย่อมมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งเท่านั้น ไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 เมื่อเจ้าหนี้ผู้นำยึดคือโจทก์ในคดีนี้เป็นบุคคลภายนอกในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงหาอาจอ้างคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเพื่อให้คดีนี้ต้องถือตามได้ไม่ ผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบตามข้ออ้างในคำร้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ผู้ร้องและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำร้องนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องไต่สวนก่อน กรณีที่จะเป็นการขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 ต้องเป็นกรณีที่โจทก์หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนวนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นและขอเฉลี่ยทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน ซึ่งมิใช่เป็นการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องจำหน่ายคดีตามมาตรา 202 มาบังคับใช้ เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ และสั่งยกคำร้องจึงชอบแล้ว
 ________________________________ 

      คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 360,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 320,240 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา และโจทก์ในคดีนี้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนอง ผู้ร้องจึงขอรับชำระเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เป็นเงิน 289,606.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 204,611.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จพร้อมค่าฤชาธรรมเนียม หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้ร้องขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองด้วย 

      ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องไม่มาศาลและนำพยานหลักฐานมาสืบในวันนัดไต่สวนคำร้อง มีคำสั่งยกคำร้อง 

        ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน 

       ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองและขอเฉลี่ยทรัพย์ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องไม่มาศาล ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ จึงยกคำร้อง ที่ผู้ร้องฎีกาว่า คดีนี้โจทก์จำเลยทั้งสอง และเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ยื่นคัดค้านคำร้องของผู้ร้องว่ามิได้เป็นความจริง ทั้งคดีนี้ได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปโดยปลอดจำนองแล้ว เท่ากับเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองจริง ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่จำ ต้องไต่สวนนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ จำเลยทั้งสอง และเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมิได้ยื่นคำคัดค้าน แต่คู่ความและบุคคลดังกล่าวก็มิได้แถลงรับข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้โดยมีจำนองติดไปด้วย ปรากฎตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มิใช่ขายทอดตลาดแบบปลอดจำนองตามที่ผู้ร้องฎีกาแต่ประการใด และที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาขอรับชำระหนี้จำนอง ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่ได้มีคำพิพากษารับรองสิทธิแล้วนั้น เห็นว่า คำพิพากษาย่อมมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำ สั่งเท่านั้น ไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เมื่อเจ้าหนี้ผู้นำยึดคือโจทก์ในคดีนี้เป็นบุคคลภายนอกในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงหาอาจอ้างคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเพื่อให้คดีนี้ต้องถือตามแต่อย่างใดไม่ ผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบตามข้ออ้างในคำร้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ผู้ร้องและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำร้องนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องไต่สวนก่อน ที่ศาลชั้นต้นสั่งนัดไต่สวนก่อนออกคำสั่งตามคำร้องของผู้ร้องนั้นจึงเป็นการชอบแล้ว และที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ไปศาลในวันนัดไต่สวน ศาลต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 ประการเดียวเท่านั้น จะมีคำสั่งในประเด็นแห่งคดีมิได้ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นการขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น และขอเฉลี่ยทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม คำร้องในวันนัดไต่สวน ซึ่งมิใช่เป็นการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้อง จำหน่ายคดีตามมาตรา 202 มาบังคับใช้ตามที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ และศาลสั่งยกคำร้องจึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว และที่ผู้ร้องฎีกาข้อสุดท้ายว่า ในวันนัดไต่สวนครั้งแรกศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนที่ผู้ร้องร้องขอ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แจ้งวันนัดแก่โจทก์ จำเลยทั้งสอง และเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยวิธีปิดประกาศที่หน้าศาลทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านี้ต่างมีภูมิลำเนาที่แน่นอนจึงเป็นการแจ้งกำหนดนัดที่ไม่ชอบนั้น ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้” 

      พิพากษายืน 

      (สมศักดิ์ จันทรา - ชาลี ทัพภวิมล - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2550 
นาง ส. โจทก์ 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง 
นาง ว. ผู้คัดค้าน 
นาย บ. จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289 

       ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองใน กึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้จำนองซึ่งถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายเพื่อรับชำระหนี้จำนอง ในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ได้ ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของผู้คัดค้านจึงขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เห็นได้ว่าผู้ร้องตั้งเรื่องมาในคำร้องและระบุท้ายคำร้องชัดเจนว่าเป็นการขอใช้สิทธิตามมาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งสิทธิของผู้ร้องในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามกำหนดเวลาของมาตรา 289 วรรคสอง
 ________________________________ 

  คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินจำนวน 581,250 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540) ไปจนกว่าชำระเสร็จ โดยการผ่อนชำระ ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20589 ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ของจำเลยเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยกับ นาง ว. ผู้คัดค้าน ต่อศาลจังหวัดราชบุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 300/2540 และเป็นผู้รับจำนองที่ดินแปลงที่โจทก์นำยึดเพื่อบังคับคดี โดยผู้ร้องยินยอมให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นในหนี้สินที่จำเลยค้างชำระตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ศาลชั้นต้นอนุญาต ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2545 ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ ในราคา 4,725,000 บาท ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นในเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์ได้ เฉพาะส่วนของผู้คัดค้านกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่จำเป็นต้องไต่สวนเพราะผู้คัดค้านมิได้ถูกโจทก์ฟ้องในคดีนี้ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองส่วนของผู้คัดค้านเข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

           ผู้คัดค้านฎีกา 

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาประการแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ถูกโจทก์ฟ้องในคดีนี้ ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ 7 ตุลาคม 2545 และสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันท้ายคำร้อง ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้จำนองซึ่งถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ได้ ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

        คดีมีปัญหาประการที่สองต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้แล้ว จึงเป็นการยื่นคำร้องเกินกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของผู้คัดค้านจึงขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 จากคำร้องดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า ผู้ร้องตั้งเรื่องมาในคำร้องและระบุท้ายคำร้องชัดเจนว่าเป็นการขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งสิทธิของผู้ร้องในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว โดยมิได้อ้างสิทธิตามมาตรา 289 โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามกำหนดเวลาของมาตรา 289 วรรคสอง ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่ โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย 

        พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ. 

      ( สมศักดิ์ จันทรา - ชาลี ทัพภวิมล - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์  )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7569/2549 
บริษัท ป. ลิสซิ่ง จำกัด โจทก์ 
ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง 
นาย ม.กับพวก จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 715 

ป.วิ.พ. มาตรา 289 

        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนวันที่ประกาศขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนด การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 มีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองและตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 (1) ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ย ทั้งสัญญาจำนองที่ดินก็ระบุให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ดังนี้ วงเงินจำนองตามที่ระบุในสัญญาจำนองหมายถึงเฉพาะหนี้เงินต้นไม่รวมถึงหนี้ ดอกเบี้ย ผู้รับจำนองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนองได้แต่ หนี้จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ การบังคับจำนองได้เพียงใดต้องพิจารณาจากหนี้ประธานว่ามีจำนวนเท่าใด ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับ ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน ________________________________ 

     คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อคืนโจทก์ หากไม่ส่งมอบรถคืนให้ร่วมกันชดใช้ราคา ค่าขาดประโยชน์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า จำเลยที่ 2 กู้เงินผู้ร้อง สาขาช้างคลานและนำที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับผู้ร้อง และจำเลยที่ 2 ยังทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับผู้ร้อง สาขาข่วงสิงห์ โดยเปิดบัญชีกระแสรายวัน สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีและนำเงินฝากเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันหลายครั้งแล้วไม่ชำระหนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้ผู้ร้องทั้งสองสาขาเป็นเงินรวม 1,214,371.86 บาท ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้บุริสิทธิจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ขอให้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวัดเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 โดยปลอดจำนองและให้ผู้ร้องได้ชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวัดเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 600,000 บาท ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นในฐานะเจ้าหนี้จำนอง โดยให้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยวิธีปลอดจำนอง หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบังคับคดีต่อไปได้คำขออื่นให้ยก ผู้ร้องอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริษัทบริหารสินทรัพย์พ. จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต 

          ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ 

          ผู้ร้องฎีกา 

        ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวันเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 2 กู้เงินจากผู้ร้องในวงเงินจำนอง 600,000 บาท โดยตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมา ชำระหนี้ 

        คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สิน นั้นออกขายทอดตลาด แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2543 แต่ได้ความตามคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองและฎีกาของผู้ร้องโดยไม่มีคู่ความ ฝ่ายใดโต้แย้งว่าในวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ที่กำหนดให้มีการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่เป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองคดีนี้ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ส่วนวันที่ 18 สิงหาคม 2543 เป็นเพียงวันที่เจ้าพนักงานบังคดีประกาศให้มีการขายทอดตลาดครั้งแรกเท่านั้น โดยไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น 

       มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องต่อไปว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนอง 600,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ย่อมมีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 (1) ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับดอกเบี้ย ทั้งตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 1 ก็ระบุว่าจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 600,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้ง ดังนี้ วงเงินจำนองตามที่ระบุในสัญญาจำนองหมายถึงเฉพาะหนี้เงินต้นไม่รวมถึงหนี้ ดอกเบี้ย ผู้รับจำนองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่เกินวงเงินจำนองได้แต่ หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ การบังคับจำนองได้เพียงใดต้องพิจารณาจากหนี้ประธานว่ามีจำนวนเท่าใด ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด การขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องก็มีสิทธิได้รับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตาม ที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ได้วินิจฉัยในข้อนี้ไว้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยใหม่ ในข้อนี้ผู้ร้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 กู้เงินผู้ร้องไป 600,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี และยอมให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของผู้ร้องภายใต้ประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตกลงผ่อนชำระทุกเดือน เดือนละ 7,400 บาท นับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538 ปรากฏว่าหลังจากกู้เงินแล้วจำเลยที่ 2 ชำระหนี้เพียงบางส่วนโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 จำนวน 16,807 บาท หักแล้วคงค้างต้นเงินอยู่ 589,699.20 บาท ดอกเบี้ย 4,143.49 บาท แล้วไม่ชำระอีก จำเลยที่ 2 จึงผิดนัดไม่ชำระหนี้ในเดือนถัดไปตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2538 ผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระครั้งสุดท้ายกับดอกเบี้ยที่ ค้างชำระรวมเป็นเงิน 593,842.69 บาท และดอกเบี้ยในต้นเงินค้างชำระนับตั้งแต่วันผิดนัดวันที่ 25 ตุลาคม 2538 ซึ่งตามรายการคำนวณหนี้เอกสารหมาย ร.11 และ ร.12 ปรากฏว่าก่อนผิดนัดผู้ร้องคิดอกเบี้ยในอัตราปกติไม่ผิดนัดตามประกาศของผู้ ร้องเอกสารหมาย ร.17 ที่เป็นสินเชื่อเพื่ออนาคตวงเงินกู้ยืมไม่เกิน 750,000 บาท ในอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี จนถึง 14.25 ต่อปี แต่หลังจากผิดนัดแล้ว ผู้ร้องปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเป็นอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับแต่เดือนตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 จากนั้นปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่เดือนมกราคม 2539 แล้วเพิ่มขึ้นเป็นดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 22 ต่อปี จนถึงอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ก่อนที่จะลดลงจนเหลืออัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ในขณะขอรับชำระหนี้จำนอง เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยปกติที่ไม่ผิดนัดสูงกว่าอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ได้ตามประกาศของผู้ร้องภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยไม่ต้องแจ้ง ให้ผู้กู้ทราบตามสัญญากู้เงินข้อ 2 แต่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยปกติที่ไม่ผิดนัดตามสัญญา ข้อ 4 ถือว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนายลดลงได้ตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง พิจารณาแล้วเห็นควรลดเบี้ยปรับลงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดครั้งแรกในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามที่ผู้ร้องขอ” 

       พิพากษากลับว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 74785 ตำบลวัดเกษ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยปลอดจำนองก่อนโจทก์จำนวน 593,842.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 589,699.20 บาท นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2538 จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ. 

(สถิตย์ ทาวุฒิ - สุรพล เจียมจูไร - เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ ) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2549 
นางสาว บ. โจทก์ 
กองทุนรวม ค. ผู้ร้อง 
นาย ย. จำเลย 

ป.วิ.พ.มาตรา 249, 289 
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 124      
    

      โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาปฏิเสธคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องว่า เคลือบคลุม แต่โจทก์ก็ไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคำร้องส่วนไหน เคลือบคลุม เคลือบคลุมอย่างไร จึงไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัย แม้ศาลล่างจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าไม่ใช่ประเด็นที่ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ผู้ร้องจึงต้องมีผู้จัดการกองทุนเพื่อดำเนินการต่างๆ แทน ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 124 วรรคสอง เมื่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการของผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินการต่างๆ แทนผู้ร้องคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่โจทก์ยึดไว้ในคดีที่มีการบังคับคดีในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร จึงไม่เป็นสาระที่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา
 ________________________________

     คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์ขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 145293 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นของจำเลย เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 145293 ที่โจทก์นำยึด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้รายอื่น หากโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีต่อไป ผู้ร้องขอสวมสิทธิในการบังคับคดีแทนโจทก์ โจทก์ยื่นคัดค้านว่า คำร้องขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเคลือบคลุมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. จำกัด ไม่มีอำนาจดำเนินการต่างๆ แทนผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ขอให้ยกคำร้อง 

      ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 8,816,616.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 145293 ตำบลสวนหลวง (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น หากโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีต่อไป 

        โจทก์อุทธรณ์ 

      ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

       โจทก์ฎีกา 

      ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวม ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่พิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,816,616.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยกับพวกไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 145293 ตำบลสวนหลวง (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยกับพวกออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ สำหรับที่โจทก์ฎีกาว่าคำร้องขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ปฏิเสธว่าคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องเคลือบคลุม แต่โจทก์ก็ไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคำร้องส่วนไหน เคลือบคลุม เคลือบคลุมอย่างไร จึงไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัย แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ก็ไม่เป็นการชอบและถือว่าประเด็นเรื่องคำร้องเคลือบคลุมไม่ใช่ประเด็นที่ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 

   มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม ว. จำกัด มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ พ.ศ.2535 ผู้ร้องจึงต้องมีผู้จัดการกองทุนเพื่อดำเนินการต่างๆ แทน ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง เมื่อได้ความจากคำเบิกความของพยานผู้ร้องปากนาย ท. ที่เบิกความประกอบสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.1 ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว.จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการของผู้ร้อง โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องนำสืบ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม  ว. จำกัด จึงมีอำนาจดำเนินการต่างๆ แทนผู้ร้องส่วนที่โจทก์อ้างว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. จำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการกองทุนรวม จึงไม่มีอำนาจดำเนินการแทนผู้ร้องนั้น ก็ได้ความจากสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.2 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการลงทุน ซึ่งหมายรวมถึงการจัดการกองทุนรวมด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาในทำนองว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นั้น เห็นว่า ในคดีร้องขอรับชำระหนี้จำนองมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่โจทก์ยึดไว้ในคดีนี้ในฐานะเจ้า หนี้บุริมสิทธิหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยจึงไม่เป็นสาระที่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้จึงชอบแล้ว อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยมิได้วินิจฉัยเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นเป็นการ ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง" 

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ) 

         หมายเหตุ การที่เจ้าหนี้จำนองยื่นคำร้องต่อ ศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 มิได้เป็นการบังคับให้ชำระหนี้ เพียงแต่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ แก่ผู้ร้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4662/2548 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง 
นาย ค. กับพวก จำเลย 

ป.วิ.พ. มาตรา 289, 290 

       ผู้ร้องกับโจทก์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ต่างรายกับโจทก์ในคดีนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายหรือจำหน่าย ที่ดินพิพาทที่เจ้าหนี้บังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสอง และเมื่อเป็นการจำนองโดยหนังสือสัญญาฉบับเดียวกันบุริมสิทธิของผู้ร้องและ บุริมสิทธิของโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดิน พิพาทตามคำพิพากษาของตนรวมกันได้ไม่เกินวงเงินจำนอง แม้สิทธิของผู้ร้องมิใช่เป็นสิทธิที่จะขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาชำระหนี้ตนก่อนโจทก์ในคดีนี้ตาม มาตรา 289 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ร้องไม่อาจยึดที่ดินจำนองพิพาทได้อีกเพราะที่ดินพิพาทของจำเลยตกอยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้ยึดซ้ำตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหนึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ของตนในคดีอื่นซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายสนับสนุนให้กระทำได้ดังเช่นการขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือการขอรับชำระหนี้จำนองหรือบุริมสิทธิโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมาย บังคับคดี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาเข้ามาในคดีนี้ ได้ 
________________________________ 

       คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 15,140,340.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 9,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่ได้สั่งคืนและค่าทนายความแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2541 หากจำเลยทั้งสามผิดนัดหรือชำระไม่ครบ ยอมให้โจทก์ยึดที่ดินจำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้กับโจทก์จนครบถ้วน จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 19449 และ 18775 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 10837/2541 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกับพวกชำระเงินจำนวน 2,479,760.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้ร้องให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2541 หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้ผู้ร้องจนครบถ้วน แต่จำเลยในคดีดังกล่าวไม่เคยชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องไม่อาจบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้อีก เนื่องจากโจทก์ยึดไว้แล้ว ขอให้มีคำสั่งให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่ผู้ร้องภายหลังชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว 

         ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ผู้ร้องเป็นบุคคลเดียวกันกับโจทก์ซึ่งได้ฟ้องขอให้บังคับจำนองแล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิได้รับเงินจากการขายทอดตลาด ทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอยู่แล้วโดยหาจำต้องขอรับชำระหนี้จำนองซ้ำอีก ไม่จึงไม่รับคำร้อง 

         ผู้ร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ 

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อ เท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และผู้ร้องเป็นนิติบุคคลคนเดียวกัน จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19449 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18775 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นประกันหนี้ที่มีต่อโจทก์ (ผู้ร้อง) ต่อมาโจทก์และผู้ร้องได้แยกฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ในมูลหนี้ต่างรายกัน และบังคับจำนองเป็น 2 คดี ในที่สุดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้และในคดีหมายเลขแดงที่ 10837/2541 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ร่วมกันกับพวกชำระหนี้แก่โจทก์และผู้ร้อง หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 19449 และ 18775 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนทั้งสองคดี มีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 10837/2541 ของศาลชั้นต้น เข้ามาในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และผู้ร้องได้ฟ้องบังคับชำระหนี้ต่างรายกันและขอให้บังคับจำนอง โดยอาศัยหนังสือจำนองฉบับเดียวกันแก่ที่ดินพิพาทเป็นคนละคดีกัน แม้ผู้ร้องกับโจทก์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ผู้ร้องก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งและเป็นเจ้า หนี้ต่างรายกับโจทก์ในคดีนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายหรือ จำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่ง การจำนองตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสอง และเมื่อเป็นการจำนองโดยหนังสือสัญญาฉบับเดียวกัน บุริมสิทธิของผู้ร้องและบุริมสิทธิของโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะ ได้รับชำระหนี้จากที่ดินจำนองพิพาทตามคำพิพากษาของตนรวมกันได้ไม่เกินวงเงิน จำนอง แม้สิทธิของผู้ร้องมิใช่เป็นสิทธิที่จะขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาชำระหนี้ตนก่อนโจทก์ในคดีนี้ตาม ความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ร้องไม่อาจยึดที่ดินจำนองพิพาทได้อีกเพราะที่ดินจำนองพิพาทของจำเลย ที่ 2 และที่ 3 ตกอยู่ในบังคับข้อต้องห้ามมิให้ยึดซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหนึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ของตนในคดีอื่นซึ่งตนมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายสนับสนุนให้กระทำได้ดังเช่น การขอเฉลี่ยทรัพย์หรือการขอรับชำระหนี้จำนองหรือบุริมสิทธิ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับดี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 10837/2541 เข้ามาในคดีนี้ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องของผู้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น” 

       พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ 

( ประทีป ปิติสันต์ - สมคักดิ์ เนตรมัย - สุภิญโญ ชยารักษ์ )