Pages

การแก้ไขคำฟ้อง และแก้ไขคำให้การ

มาตรา ๑๗๙  โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้
(๑) เพิ่ม หรือลด จำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ
(๒) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือ
(๓) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

มาตรา ๑๘๐  การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย

มาตรา ๑๘๑  เว้นแต่ในกรณีที่คำร้องนั้นอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว

(๑) ห้ามไม่ให้มีคำสั่งยอมรับการแก้ไข เว้นแต่จะได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น

(๒) ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความได้แก้ไขคำฟ้อง หรือคำให้การ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้อหาหรือข้อต่อสู้ใหม่ หรือข้ออ้าง หรือข้อเถียงใหม่ที่กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5978/2559
ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์ ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้จดทะเบียนโอนขายที่นาพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เพิ่งทราบหลังจากการชี้สองสถาน จึงขอแก้ไขคำฟ้องตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อบังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อที่นาพิพาทอีกทอดหนึ่งให้โอนขายแก่โจทก์ด้วยเห็นได้ชัดว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นหลังวันชี้สองสถาน โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน

ตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ขายที่นาพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3โดยไม่แจ้งและเสนอขายให้โจทก์ในฐานะผู้เช่าก่อน โจทก์จึงฟ้องขอบังคับซื้อที่ดินนาพิพาทจากจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้จดทะเบียนโอนขายที่นาพิพาทคืนให้จำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้แก้ไขคำฟ้องเพื่อบังคับจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วย เป็นการแก้ไขคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (2) มีความเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2559
ที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัท ท. โดยที่โจทก์มิได้มีสิทธิอื่นใดเหนือหลักประกันอันเป็นเครื่องจักร เนื่องจากการจำนำระงับไปแล้ว เพราะทรัพย์จำนำตกอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์จำนำซึ่งเป็นผู้แทนผู้จำนำ สาระที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ให้การเกี่ยวกับเหตุผลของการจำนำที่ระงับไปแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายล้วนเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก และข้อที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสามารถนำสืบพยานหลักฐานได้ตามประเด็นข้อพิพาท เช่นนี้ การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองย่อมไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2559
ป.วิ.พ. มาตรา 180 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ อันเป็นกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ว่าการขอแก้ไขต้องยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่มีวันกำหนดดังกล่าว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลมได้ การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ไม่ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมในระยะเวลาแก้ฎีกา คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้รับหมายส่งสำเนาฎีกาเพื่อให้แก้ฎีกาภายในสิบห้าวัน โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ครบกำหนดจำเลยที่ 2 แก้ฎีกาวันที่ 29 มิถุนายน 2553 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 พ้นกำหนดแก้ฎีกาแล้ว จึงรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15722/2558
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสมเกียรติ คล้ายทอง กับนายสมเกียรติ์ คล้ายทอง เป็นบุคคลคนเดียวกัน การขอแก้ไขเพิ่มเติมชื่อนายสมเกียรติ์ เข้ามา จึงมิใช่เป็นกรณีฟ้องจำเลยที่ 3 ผิดตัวหรือฟ้องคดีต่างบุคคลกันและมิใช่เป็นการเพิ่มเติมข้อหาใหม่ หากแต่เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดี แต่ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาอย่างใด ทั้งกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 180 และมาตรา 181 ที่จะต้องถูกจำกัดระยะเวลาการยื่นคำร้องว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน และไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2678/2558
เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งศาลเป็นที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ต้องเป็นคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา และไม่รวมถึงการฟ้องบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้อันเป็นการฟ้องผิดตัวด้วย เพราะมีผลเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2558
การแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้" การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2553 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีคนร้ายวางเพลิงเผาทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ก่อนยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจากคำว่าวันที่ 24 เมษายน 2553 โดยขอเพิ่มเติมข้อความว่า "และโจทก์ยังได้ต่ออายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยโดยเริ่มคุ้มครองวันที่ 24 เมษายน 2553 ครบระยะเวลา 1 ปี ในวันที่ 24 เมษายน 2554 ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังอยู่ในอายุสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย" ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นผู้บริโภคและดำเนินคดีมาอย่างคดีผู้บริโภค ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ศาลตรวจคำฟ้องของผู้บริโภคด้วยว่า" หากเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้" และตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องมานั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลก็อาจมีคำสั่งให้โจทก์นั้นแก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้ แม้คดีนี้โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาเองก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะแก้ไขคำฟ้องในคดีผู้บริโภคที่ขาดสาระสำคัญนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการขอแก้ไขก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด อีกทั้งปัญหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นได้อยู่แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แล้วจะมาแก้ไขให้สมบูรณ์นั้นไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 จึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 วรรคสองดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2557
เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6513/2557
ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลนั้น ต้องมีสภาพเป็นบุคคล ดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติไว้ว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งคำว่า บุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มี ส. จดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบพาณิชยกิจ แต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลได้

ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนชื่อคู่ความและรายละเอียดในคำฟ้อง เป็นเพียงการระบุถึงตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำการแทนห้างหุ้นส่วนสามัญ ศ. เท่านั้น มิได้มีความหมายว่า ส. เป็นผู้ฟ้องคดีเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด ทั้งการขอแก้ไขคำฟ้องโดยการเปลี่ยนตัวบุคคลผู้เป็นโจทก์ มีผลเป็นการเพิ่มตัวบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความคนใหม่ ย่อมไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 179 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2557
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานจริง แต่มิได้เลิกจ้างหรือถอดถอนโจทก์จากการเป็นพนักงาน เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า "ให้รอไว้สอบโจทก์ในวันนัด" แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางมิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2556
หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมและออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ใบแต่งทนายความบัญชีพยาน คำพิพากษา และหมายบังคับคดีในส่วนชื่อของจำเลยที่ 3 จาก "นางละมูล พลทอน" เป็น "นางละมูลหรือละมุล พลทอน" ตามลายมือชื่อที่จำเลยที่ 3 ลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและสัญญาประนีประนอมยอมความว่า "ละมุล พลทอน" ศาลแรงงานกลางต้องไต่สวนให้ได้ความว่านางละมูล พลทอน จำเลยที่ 3 กับนางละมุล พลทอน เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่แล้วจึงมีคำสั่งตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10971/2555
ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณากำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดหน้าที่นำสืบ พยานจำเลยไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ต้องนำการชี้สองสถาน ป.วิ.พ. มาตรา 183 มาใช้บังคับ เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ได้ เดิมศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 28 เมษายน 2548 แล้วเลื่อนคดีไปเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 จึงถือเอาวันนัดสืบพยานเดิมเป็นวันสืบพยานไม่ได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องวันที่ 28 เมษายน 2548 เป็นการยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ไม่น้อยกว่า 7 วัน แล้ว ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องที่ขอแก้ไขพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179, 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2554
ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทำนองว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2554
การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายโดยมิได้กล่าวในฟ้องถึงการสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันหักกับจำนวนหนี้ของตน เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 แม้ต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องมาเป็นคำฟ้องแบบเจ้าหนี้มีประกัน โดยตีราคาที่ดินที่จำนองของจำเลยทั้งสองหักกับจำนวนหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทก็ตาม แต่การขอแก้ไขคำฟ้องคดีล้มละลายไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การจึงไม่มีการชี้สองสถาน การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันเป็นการขอแก้ไขในสาระสำคัญ โจทก์จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ปรากฏว่าคดีนี้ศาลล้มละลายกลางสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวเสร็จสิ้นในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 โจทก์ขอผัดส่งเอกสารภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 จึงล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งปรากฏว่าในคดีแพ่งนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีล้มละลายเป็นเวลา 6 เดือนเศษ การที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องถึงฐานะการเป็นเจ้าหนี้มีประกัน หรือขอแก้ไขคำฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเกิดจากความบกพร่องของโจทก์เอง จึงไม่มีเหตุอันสมควรและไม่อาจอ้างอำนาจฟ้องว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนมาเป็นเหตุขอแก้ไขคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11317/2553
การขอแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 มีนาคม 2553 แต่เมื่อถึงวันนัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดชี้สองสถานและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันอื่น วันที่ 8 มีนาคม 2553 ย่อมมิใช่วันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10389/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 195 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับกับคดีมโนสาเร่เช่นคดีนี้ด้วย กล่าวคือ กรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ เมื่อคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยยื่นภายหลังล่วงพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่จะสามารถยื่นได้หรือไม่ ปรากฏข้อความที่จำเลยขอแก้ไขจากคำให้การเดิมว่า ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เป็นลายมือชื่อปลอม การมอบอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมและดวงตราที่ประทับก็ไม่ใช่ดวงตราประทับที่จดทะเบียนไว้ จึงเป็นการมอบอำนาจโดยมิชอบนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก หรือมิฉะนั้นนับแต่วันยื่นคำให้การไปจนถึงวันสืบพยานโจทก์นัดแรกก็ยังมีระยะเวลานานเพียงพอที่จำเลยจะสามารถขอแก้ไขคำให้การได้ทัน จึงไม่ใช่เหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งการขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากสืบพยานโจทก์แล้วเช่นนี้ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 180

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6058/2551
จำเลย ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่คลอดจนถึงขณะฟ้องแย้ง เป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท และต่อไปเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท รวม 5,000,000 บาท จำเลยประสงค์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรปีละ 250,000 บาท การที่จำเลยขอแก้ไขฟ้องแย้งให้ถูกต้อง เนื่องจากพิมพ์ตัวเลขตกไป จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งก่อนวันชี้สองสถานหรือ ก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ทั้งจำเลยไม่ได้ขอแก้ไขทุนทรัพย์ โดยยังคงติดใจเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู 2,000,000 บาท และไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อหาตามฟ้องแย้งเดิมตามมาตรา 179 จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 181 ที่จะต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598/2551
การ ขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจที่พิมพ์อักษรบางตัวผิดไปในฟ้อง ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถกระทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องให้จำเลยมีโอกาสคัดค้าน และไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลยทราบล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2), 181 (1) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช.กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจจริง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183/2551
จำเลย ทั้งแปดขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์ไม่ได้ออกสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์ไม่ได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารสแกนดิเนเวีย เอ็นไคด้าหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ กับฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งแปดยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องที่จำเลย ทั้งแปดย่อมทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งแปดอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้ การครั้งแรก และการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวนั้นแม้เป็นเหตุที่อาจมีผลต่อจำเลย ทั้งแปด แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะรับคำร้องขอ แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การที่มิได้ยื่นก่อนวันชี้สองสถานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1891/2551
โจทก์ ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ และกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณะ ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินดังกล่าว หากไม่รื้อถอนจำเลยที่ 1 จะดำเนินคดีกับโจทก์ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินสาธารณ ประโยชน์สำหรับประชาชนใช่ร่วมกันและเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณะ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมี ทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง คือที่ดินจำนวน 1 ไร่ 11 ตารางวา ราคา 267,150 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครปฐม แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่อง เมื่อศาลแขวงนครปฐมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักว่าที่ดินพิพาทเป็น กรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่แล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคำขอต่อเนื่องดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1)

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ว่า อ่านคำร้องของโจทก์แล้วไม่เข้าใจว่าโจทก์ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วน ใดของคำฟ้องเดิม จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทำคำร้องฉบับใหม่โดยบรรยายให้ชัดว่าต้องการแก้ไขคำฟ้อง เดิมในส่วนใดหรือต้องการเพิ่มเติมคำร้องลงไปในตรงส่วนใดของคำฟ้องเดิมโดยให้ ทำคำร้องฉบับใหม่มายื่นต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นจะมีคำสั่งไม่รับคำร้อง โจทก์มิได้ทำคำร้องฉบับใหม่มายื่นภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง จึงไม่มีประเด็นว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา แต่ถือว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา เท่านั้น จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครปฐมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2551
คำ ฟ้องที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมกับคำฟ้องเดิมเป็นการเรียกค่าจ้างโฆษณางาน ประเภทเดียวกัน อันเกิดจากนิติกรรมประเภทเดียวกันและจากสัญญาเดียวกันที่โจทก์กับจำเลยตกลง กันทำขึ้น จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ทั้งศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยจำเลยได้กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่โดยบริบูรณ์จำเลย จึงไม่เสียเปรียบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง โดยให้โจทก์ไปจัดเรียงคำฟ้องฉบับใหม่ตามข้อเท็จจริงที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว นำมาเสนอต่อศาลแทนคำฟ้องเดิมจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 179 วรรค 2 (2)

เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าจ้างทำของแก่โจทก์ในมูลหนี้ฐานผิด สัญญาจ้างทำของภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไป โดยประการอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) แม้โจทก์จะยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าจ้างค้างชำระอีกส่วนหนึ่งเกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องบังคับได้เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเป็นเงินค่าจ้างค้างชำระในการทำป้ายโฆษณาโครงการของจำเลยซึ่งยัง มิได้ระบุเรียกร้องไว้ในคำฟ้องเดิม ทั้งเป็นฟ้องเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและขี้ขาด ตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ซึ่งโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องเพิ่มเติมดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6145/2550
ข้อ ความที่จำเลยขอแก้ไขเป็นการสละข้อต่อสู้เดิมที่ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาค้ำ ประกัน แล้วยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ยอมรับว่าทำสัญญาค้ำประกันแต่ไม่ต้องรับผิดเนื่อง จากคดีขาดอายุความ เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า เจ็ดวัน เนื่องจากไม่มีการชี้สองสถานและกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด เล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ทั้งข้อความที่ขอแก้ไขว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่อง อำนาจฟ้อง จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่อำนาจฟ้อง จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังที่โจทก์ได้สืบพยานไปบางส่วนแล้วจึง เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 180

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2550
โจทก์ ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่สองโดยรับข้อเท็จจริงบางส่วนตามคำ ให้การของจำเลยทั้งสี่ เป็นการขอลดทุนทรัพย์ฟ้องเดิมภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และคดีนี้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สืบพยานโจทก์และพยานจำเลยจึงยังอยู่ภายในกำหนด เวลาที่จำเลยทั้งสี่จะแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสี่เพื่อหักล้าง ข้ออ้างของโจทก์ได้ การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสี่เสียเปรียบ และหลงข้อต่อสู้แต่ประการใด

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ มาตรา 16 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ" นั้น แม้จะใช้ถ้อยคำว่าศาลจังหวัดก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติความในวรรคสี่ไว้เนื่องจากไม่ประสงค์ให้ศาล ชั้นต้นที่มีศาลแขวงตั้งอยู่ในเขตศาลนั้นรับพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในเขตของ ศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง เมื่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นศาลชั้นต้นที่มีศาลแขวงธนบุรีและศาลแขวงตลิ่งชันตั้ง อยู่ในเขตจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวด้วย คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเป็นเหตุ ให้คดีของโจทก์เป็นคดีที่เกิดในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาล แขวง ศาลแพ่งธนบุรีจึงต้องมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงธนบุรีซึ่งเป็นศาลแขวงที่มี เขตอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2550
จำเลย ที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อนเป็นการขอแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ของโจทก์ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงขอแก้ไขได้ก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คดีอาญาเรื่องก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 นั้นอาจเป็นบ่อเกิดแห่งคดีที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้สองทางคือในมูลละเมิด และสัญญาจ้างแรงงาน แม้คำขอบังคับจะเป็นอย่างเดียวกันแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิได้ เป็นอย่างเดียวกัน และคำฟ้องของโจทก์กรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2550
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำฟ้องไว้ จึงต้องนำป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติถึงการนัดพิจารณาไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 183 มาใช้บังคับ คดีแรงงานจึงไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยาน โจทก์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน จึงมีสิทธิที่จะยื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5074/2549
จำเลย ที่ 5 ขอแก้ไขคำให้การเดิมโดยอ้างเพิ่มเติมว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 เนื่องจากขณะทำสัญญาจำเลยที่ 5 มีอายุเพียง 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์ มิได้รับความเห็นชอบหรือความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้ปกครอง จึงมีผลเป็นโมฆียะกรรม และขอถือเอาคำให้การที่ขอแก้ไขนี้เป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม คำให้การที่ขอแก้ไขดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะอยู่ในข้อยกเว้น ที่พึงอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังล่วงพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมาย บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6258/2550
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้งโดยอ้างว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการจะวินิจฉัยดังกล่าวได้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมก่อน

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัท ก. ลูกหนี้เงินกู้ของโจทก์รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันระหว่างบริษัท ก. และจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นโมฆะ สัญญาทุกฉบับเป็นนิติกรรมอำพรางการที่โจทก์และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตั้งจำเลยที่ 1 และบริษัท ก. เป็นตัวแทนลงทุนทำโครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดิน และฟ้องแย้งว่าโจทก์และ ว. ตัวการได้สั่งการให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าพัฒนาที่ดินโครงการจัดสรรแทนไปก่อน แต่โจทก์และ ว. ไม่ยอมชำระคืน ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 คงมีประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน แต่ตาม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องกล่าวอ้างว่า ว. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และบริษัท ก. เป็นตัวแทนโจทก์ในการลงทุนจัดทำโครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดิน ซึ่งโจทก์ไม่สามารถดำเนินการเองได้เพราะผิดต่อกฎหมาย ปัญหาว่าการกระทำทั้งหลายของ ว. ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในฟ้องแย้งจะผูกพันโจทก์ให้ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ได้ออกเงินค่าพัฒนาที่ดินไปก่อนหรือไม่ล้วนแต่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่ อันเป็นคนละเรื่องคนละมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาด ตัดสินเข้าด้วยกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016 - 5017/2550
คำ ร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ระบุว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวแก่โจทก์ในเหตุฉุก เฉินอันมีผลทำให้โจทก์สามารถกลับมาประกอบการค้าข้าวตามใบอนุญาตส่งข้าวออกไป นอกราชอาณาจักรได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่งเป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณา โจทก์ได้ทำสัญญาขายข้าวแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศอีกหลายราย แต่ต่อมาศาลชั้นต้นกลับยกเลิกคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวในเหตุฉุกเฉิน ทำให้โจทก์ไม่อาจส่งมอบข้าวให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศที่ทำสัญญาไว้ เป็นการกล่าวอ้างมูลคดีที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์ฟ้องคดีแล้ว ดังนี้ แม้มูลคดีตามคำฟ้องเดิมกับคำฟ้องแก้ไขเพิ่มเติมจะมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่มูลคดีเกิดขึ้นคนละคราวไม่เกี่ยวข้องกัน จึงถือไม่ได้ว่าคำฟ้องแก้ไขเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2550
พระ ธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ แม้จะใช้ถ้อยคำว่าศาลจังหวัดก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติความในวรรคสี่ไว้เนื่องจากไม่ประสงค์ให้ศาล ชั้นต้นที่มีศาลแขวงตั้งอยู่ในเขตศาลนั้นรับพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในเขตของ ศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง เมื่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นศาลชั้นต้นที่มีศาลแขวงธนบุรีและศาลแขวงตลิ่งชันตั้ง อยู่ในเขตจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม คำฟ้องโดยลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเป็นเหตุให้คดีของโจทก์เป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขต ของศาลแขวงธนบุรีและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงธนบุรี ศาลแพ่งธนบุรีจึงต้องโอนคดีไปยังศาลแขวงธนบุรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2550
มูล หนี้ตามฟ้องเดิมเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์พร้อมกับทำ สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ เพื่อขยายเวลาชำระหนี้ แต่จำเลยผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวกับขอให้บังคับจำนอง ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องอ้างว่า ภาระหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์ตามฟ้องเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประเภทจัดชั้น สงสัยจะสูญ แต่โจทก์ไม่โอนให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในกำหนดเวลาที่บรรษัท บริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด โจทก์ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ ขอให้บังคับโจทก์นำเงินค่าชดเชยมาหักชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าว แม้ข้ออ้างของจำเลยตามฟ้องแย้งจะเกี่ยวกับหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามฟ้อง แต่ก็เป็นเรื่องขอให้โจทก์รับผิดจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุไม่โอนหนี้ดังกล่าว ให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและต้องรับผิดจ่ายค่า ชดเชยหรือไม่นั้นเป็นคนละส่วนกับมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องคดีเดิมที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปในคดี เดียวกัน ชอบที่จะนำคดีไปฟ้องร้องเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4396/2549
การ แก้ไขคำฟ้องคดีล้มละลายต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 โดยจะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาหรือข้ออ้างที่มีต่อจำเลยโดยการเพิ่มหรือลดจำนวน ทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ มิใช่เป็นการเพิ่มหรือเปลี่ยนตัวจำเลย ซึ่งเป็นตัวบุคคลที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (2) คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการแก้ไขโดยเปลี่ยนตัวจำเลยซึ่งไม่ใช่เป็น เรื่องที่จะขอแก้ไขได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องเช่นนั้นไม่ได้