Pages

การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยในคำพิพากษา

มาตรา ๑๔๓ ถ้าในคำพิพากษาหรือคำสั่งใด มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ และมิได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเมื่อศาลที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาด หรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกก็ได้ แต่ถ้าได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นย่อมอยู่แก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี คำขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นให้ยื่นต่อศาลดังกล่าวแล้ว โดยกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา หรือโดยทำเป็นคำร้องส่วนหนึ่งต่างหาก
การทำคำสั่งเพิ่มเติมมาตรานี้ จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม
เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว ห้ามไม่ให้คัดสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมเว้นแต่จะได้คัดสำเนาคำสั่งเพิ่มเติมนั้นรวมไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2551
ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ตรงตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โดยไม่ได้ระบุว่าให้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน มิใช่เป็นเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลง แต่เป็นเรื่องที่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลชั้นต้นไม่อาจใช้ดุลพินิจแก้ไขคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตีความคำพิพากษาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2551
สัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้เมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 คำร้องขอของโจทก์ที่ขอแก้ไขคำพิพากษาเพิ่มความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย มิใช่คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เป็นการเพิ่มความรับผิดให้จำเลยต้องรับผิดมากขึ้น อันมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ จึงขอแก้ไขไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2549
สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดให้มีการหักทอนบัญชีกันทุกวันสิ้นเดือน เมื่อหักทอนบัญชีในเดือนสุดท้ายที่มีการเลิกสัญญา คือ วันที่ 30 กันยายน 2539 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ จำนวน 2,529,015.86 บาท แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นหนี้ที่คำนวณถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่าหลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ซึ่งความจริงโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้ โจทก์ไม่อาจใช้วิธีการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษาเนื่องจากมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนหนี้ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้จึงมิใช่เป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5981/2549
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 106380 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว ที่ดินดังกล่าวได้แบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 9411 ที่ดินทั้งสองแปลงจึงเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ไม่ว่าที่ดินจะได้แบ่งแยกกันเมื่อใดก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งให้พนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 9411 จึงไม่เป็นการพิพากษาและบังคับคดีนอกไปจากคำฟ้องและไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษา กับไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6134/2548
โจทก์ขอแก้ไขคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับเลขโฉนดที่ดินที่ต้องบังคับจำนองตามคำพิพากษาจากโฉนดเลขที่ 137814 เป็น 137818 เนื่องจากเจ้าหน้าที่โจทก์พิมพ์เลขโฉนดที่ดินดังกล่าวในสัญญาจำนองผิดพลาด เพราะหมายเลขโฉนดที่ดินเขียนด้วยเลขไทย ไม่สามารถอ่านได้ชัดเจนว่าเป็นโฉนดเลขที่ 137814 หรือ 137818 แต่ในสัญญาจำนองที่ดิน และหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ระบุระวางของที่ดิน เลขที่ดิน หน้าสำรวจ ตรงกับโฉนดที่ดิน ซึ่งโจทก์ได้ถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าวแนบท้ายฟ้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจบังคับจำนองแก่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ที่ถูกต้องได้ โดยไม่เป็นการบังคับนอกเหนือไปจากคำพิพากษาและไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ อันเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เพราะเป็นเพียงการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2548
จำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดตามที่โจทก์บรรยายมาในตอนต้นของคำฟ้องรวมแล้วเป็นเงิน 20,234,177.54 บาท แต่ในตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์กลับสรุปว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมเป็นเงิน 12,357,821.97 บาท พร้อมกับมีคำขอบังคับให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการคำนวณผิดพลาด แต่โจทก์ก็มิได้ขอแก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ยอดหนี้ทั้ง 5 รายการ เป็นเงิน 20,234,177.54 บาท แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเป็นเงินเพียง 12,357,821.97 บาท ถือว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับชำระหนี้ตามจำนวนหนี้ที่ระบุในคำขอท้ายฟ้อง และพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 12,357,821.97 บาท นั้น เท่ากับศาลชั้นต้นเห็นแล้วว่าจำนวนหนี้รวมเป็นเงิน 20,234,177.54 บาท แต่ไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามมาตรา 142 ที่ห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินคำขอ จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีในกรอบแห่งกระบวนพิจารณา มิใช่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์จะขอให้แก้ไขได้ แต่โจทก์ชอบที่จะต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามที่มาตรา 223 ให้สิทธิไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2548
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในต้นเงิน 133,186.90 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2545 ซึ่งไม่ตรงกับที่โจทก์ขอโดยไม่ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาด้วยวาจาเพราะดำเนินคดีอย่างคดีมโนสาเร่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 วรรคท้าย 194,196 เนื้อหาของคำพิพากษาจึงมีเพียงให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และรับผิดค่าฤชาธรรมเนียมเท่านั้น แต่การที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงตรงตามคำฟ้องโดยศาลชั้นต้นมิได้รับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งในคำพิพากษาก็ระบุจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดไม่เกิน 48,159.19 บาท สอดคล้องกับทางนำสืบของโจทก์ จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยเห็นด้วยกับทางนำสืบของโจทก์ทุกประการ เพียงแต่เขียนคำพิพากษาตามรูปแบบของคำพิพากษาด้วยวาจาระบุวันเดือนปีที่คิดดอกเบี้ยผิดพลาดไปจากข้อวินิจฉัย การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขวันเดือนปีที่คิดดอกเบี้ยเป็นวันที่ 29 ตุลาคม 2541 ให้ถูกต้อง จึงเป็นกรณีขอแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2547
ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุเนื้อที่ดินแต่ละแปลงของที่ดิน 10 แปลง ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไว้ด้วย ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีเนื้อที่เพียง 8 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ทั้งโจทก์แถลงยอมรับข้อเท็จจริงในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนรวม 10 แปลง มีจำนวนเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา เช่นเดียวกับสำเนาโฉนดที่ดินที่ถูกเวนคืนรวม 10 ฉบับ ท้ายคำแถลงของจำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏว่าที่ดิน 10 แปลงของโจทก์รวมกันแล้วมีจำนวนเนื้อที่ที่แท้จริงเพียง 8 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ไม่ใช่ 9 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ดังที่โจทก์รวมเนื้อที่ดินไว้ในคำฟ้อง ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับผลรวมของจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนและคำขอให้ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจึงเกิดจากการคำนวณที่ผิดพลาด เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มโดยถือเอาจากจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์รวมผิดพลาดดังกล่าวในฟ้อง จึงมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยซึ่งไม่ใช่ข้อผิดพลาดในสาระสำคัญแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์ดังกล่าวจะถึงที่สุดไปแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง เพราะการเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาในส่วนที่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยตามบทกฎหมายดังกล่าวจะกระทำเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1771/2547
โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคแรก แต่ข้อความที่โจทก์ขอแก้ไขโดยเพิ่มเติมข้อความว่า พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันทำยอมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อจากข้อความที่ว่า จำเลยยอมรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 892,456.72 บาทนั้น เป็นการเพิ่มความรับผิดให้จำเลยต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าเดิม จึงไม่ใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ แม้จำเลยจะไม่คัดค้าน โจทก์ก็ไม่อาจแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957/2546
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาตามคำร้องของจำเลยจากการให้จำเลยชำระเงิน 5,267,594.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เป็นให้จำเลยชำระเงิน 5,267,594.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 4,627,729.55บาท นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นการแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตรงกับเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่กล่าวไว้ในคำพิพากษาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของต้นเงินค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับ เมื่อคิดถึงวันฟ้องแล้วรวมเป็นเงิน 5,267,594.91 บาท จำนวนเงินดังกล่าวจึงเป็นยอดรวมของค่าสินค้ากับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดถึงวันฟ้อง ทั้งเมื่อรวมค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับเข้าด้วยกันแล้วจะได้เท่ากับ 4,627,729.55 บาท ตรงกับต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการทำคำสั่งซึ่งเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2545
เมื่อคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมผูกพันคู่ความตามนั้น และแม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาก็ตาม แต่จะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ก็ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง เท่านั้น เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองขอเพิ่มเติมหมายเลขโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินอีก 1 แปลง เข้ามาใหม่ จึงมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่ศาลมีอำนาจแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2545
เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามยอมมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือข้อตกลง โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสองแต่โจทก์กลับยื่นคำร้องขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ซึ่งการจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต้องเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก การที่โจทก์ขอแก้ไขให้จำเลยทั้งสามรับผิดในเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากที่ตกลงกันจึงเป็นการทำให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม กรณีมิใช่ข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยแม้จำเลยทั้งสามจะไม่คัดค้าน โจทก์ก็ไม่อาจขอแก้ไขได้