Pages

การร้องสอดเข้ามาในคดี

มาตรา ๕๗  บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(๑) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

(๒) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม หรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

(๓) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี 
(ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือ
(ข) โดยคำสั่งของศาลเมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีดังกล่าว แล้วให้เรียกด้วยวิธียื่นคำร้องเพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หรือในเวลาใด ๆ ต่อมาก่อนมีคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนนั้นได้

การส่งหมายเรียกบุคคลภายนอกตามอนุมาตรานี้ต้องมีสำเนาคำขอ หรือคำสั่งของศาล แล้วแต่กรณี และคำฟ้องตั้งต้นคดีนั้นแนบไปด้วย

บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิของเจ้าหนี้ ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้และที่จะเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๕๘  ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (๑) และ (๓) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม

ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (๒) แห่งมาตราก่อน ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน

เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ถ้ามีข้อเกี่ยวข้องกับคดี เป็นปัญหาจะต้องวินิจฉัยในระหว่างผู้ร้องสอดกับคู่ความฝ่ายที่ตนเข้ามาร่วม หรือที่ตนถูกหมายเรียกให้เข้ามาร่วม ผู้ร้องสอดย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑) เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของคู่ความนั้น ทำให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีช้าเกินสมควรที่จะแสดงข้อเถียงอันเป็นสาระสำคัญได้ หรือ
(๒) เมื่อคู่ความนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้ยกขึ้นใช้ซึ่งข้อเถียงในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งผู้ร้องสอดมิได้รู้ว่ามีอยู่เช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2560
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยัง อ. ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท

อนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสามได้เข้ามาในคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้โจทก์จะได้ถอนฟ้องจำเลยไปหลังจากนั้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาในฐานที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามพิพาทกันในที่ดินพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและคำขอของโจทก์ที่เดิมขอให้บังคับจำเลยโดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในสภาพที่เปิดช่องให้บังคับแก่ผู้ร้องสอดทั้งสามผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทได้ จึงชอบที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ มิใช่แต่เพียงยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสามเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2560
ในส่วนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ตามฟ้อง จำเลยร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2519 มาตรา 36 ทวิ หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินรวมทั้งที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งห้า ย่อมเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) แล้ว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จึงอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงและคัดค้านเอกสารที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด การที่โจทก์ที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิยกเรื่องการสืบสิทธิการออก ส.ป.ก. 4-01 ขึ้นต่อสู้และนำพยานหลักฐานมาพิจารณาเข้าด้วยกันในคราวเดียวกับคำฟ้องเดิมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเฉพาะส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อการเกษตรกรรมของจำเลยร่วมกับห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วมจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559
คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2559
ตามคำให้การและคำร้องที่ขอให้เรียก ย. ม. และบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยอ้างเพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของ ย. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน และไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2559
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ 6594 ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า ที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ 6594 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ หากผู้คัดค้านไม่สามารถยื่นฎีกาได้และคดีถึงที่สุด ผู้ร้องก็สามารถนำคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ผู้ร้อง ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2559
คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 กับได้ขอหมายเรียกจำเลยร่วมมาในคดีนั้นด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยร่วมให้การว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน และจำเลยร่วมไม่ได้เพิกเฉยในการใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยทั้งสอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงถึงสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกับคำฟ้องของโจทก์ในการที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยทั้งสอง และเป็นคำให้การที่ไม่ยอมรับฐานะของโจทก์ในการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 จำเลยร่วมจึงไม่อาจขอเปลี่ยนสถานะจากจำเลยเป็นโจทก์ได้ อีกทั้งไม่สามารถเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ที่ระบุเฉพาะแต่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2559
โจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายในคำร้องสอดว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดา ส. จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะที่ ส. ขับ เป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะ โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับค่าขาดไร้อุปการะดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองบรรยายคำร้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองขาดไร้อุปการะ จึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองหรือบังคับตามสิทธิของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมทั้งสองได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีเรื่องใหม่ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์ทั้งสามแต่ประการใด แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะกล่าวในท้ายของคำร้องสอดว่า ขอให้พิพากษาให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ ดังที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง ก็มีความหมายเพียงว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยทั้งสามเท่ากับที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้อง หาใช่โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้เรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของโจทก์ร่วมทั้งสองแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมทั้งสองชอบแล้ว ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436 - 437/2559
สัญญาเช่าที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 11 กับจำเลยร่วม ข้อ 7 ระบุว่า ผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกอันเป็นการสืบเนื่องมาจากการกระทำไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมของพนักงานขับรถ หรือบริษัทจำเลยผู้เช่า (จำเลยที่ 11) หรือผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ดังนั้น แม้จำเลยร่วมจะมิใช่เป็นนายจ้างจำเลยที่ 10 และเป็นเพียงผู้ให้เช่ารถกระบะ แต่เมื่อมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นและทำให้จำเลยที่ 11 มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 ย่อมมีอำนาจขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเสร็จไปในคราวเดียว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12501/2558
แม้คำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะมีผลให้ถือว่าคำพิพากษาเดิมที่พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกันเป็นอันเพิกถอนไปในตัว แต่คำพิพากษาที่ถูกเพิกถอนนั้น ก็มีผลผูกพันเฉพาะโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดี หามีผลต่อผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีที่อ้างว่า ถูกกระทบสิทธิเนื่องจากเป็นผู้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์หลังจากศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วไม่ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942 - 10943/2558
ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514 - 10515/2558
จำเลยร่วมถูกหมายเรียกเข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนอันเป็นกรณีร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ซึ่งตามมาตรา 58 ให้ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (3) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาหมดสิทธิที่จะขอศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอมาถูกต้องในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9740/2558
ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังฟ้อง และร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) อันเป็นไปเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตน โดยไม่ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น คำขอบังคับของผู้ร้องสอดเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด และห้ามโจทก์กับจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด เท่ากับเป็นการตั้งประเด็นฟ้องทั้งโจทก์และจำเลย และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง คดีร้องสอดคดีนี้จึงเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีใหม่และเป็นอีกคดีหนึ่งแยกกันได้กับคดีเดิม อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การแก้ร้องสอดได้ ผู้ร้องสอดจะยกข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีเดิมมาเป็นข้อต่อสู้ของตนในคดีร้องสอดและฟ้องแย้งนี้ไม่ได้

ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง แล้ว

ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพื่อขอให้มีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด กับห้ามโจทก์และจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด และที่โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งในคดีร้องสอด ก็เป็นไปเพื่อเพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นการเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ที่มีผลให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย แล้วโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้องอีกทอดหนึ่ง ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่พิพาทกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือของผู้ร้องสอด คดีร้องสอดและฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) (ก).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5657/2558
ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีต่อจำเลยทั้งสามมาจากโจทก์โดยชอบ และศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว แม้ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแก้อุทธรณ์ของผู้ร้องว่า โจทก์ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาที่ผู้ร้องได้รับโอนมาในคดีนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามในคดีล้มละลายที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดแล้ว สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้ในฐานะรับโอนหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากโจทก์จึงชอบที่จะไปว่ากล่าวตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายล้มละลาย ไม่มีกรณีที่ผู้ร้องจะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยทั้งสามในคดีนี้แทนโจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5546/2558
โจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างว่า โจทก์ได้รับโอนมรดกที่ดินพร้อมตึกแถวมาจากผู้จัดการมรดกของ พ. จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาท ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) แต่เนื้อหาตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดอ้างว่า ก่อน พ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องสอดถึงแก่ความตายโจทก์กับพวกร่วมกันทำพินัยกรรมของ พ. ปลอมขึ้น หลังจาก พ. ถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินและตึกแถวดังกล่าวของผู้ร้องสอดให้แก่โจทก์โดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องสอดในคดีนี้จึงเป็นการตั้งสิทธิเข้ามาในฐานะเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ เพื่อขอให้ศาลรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอด เป็นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เมื่อสิทธิที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าถูกโจทก์โต้แย้งนี้ผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งว่า พินัยกรรมของ พ. เป็นโมฆะแล้ว ซึ่งการวินิจฉัยให้มีผลตามคำร้องสอดก็ต้องวินิจฉัยว่า พินัยกรรมปลอมหรือเป็นโมฆะหรือไม่เช่นกัน เมื่อคำฟ้องในคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณา คำร้องสอดของผู้ร้องสอดคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5136/2558
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลกับโจทก์ บริษัท จ. อ. และ ช. แต่จำเลยผิดสัญญา จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฝ่ายโจทก์ซึ่งรวมถึงบริษัท จ. อ. และ ธ. เป็นฝ่ายผิดสัญญาและขอให้โจทก์ บริษัท จ. อ. และ ธ. ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจากการผิดสัญญาให้แก่จำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ จึงควรรับฟ้องแย้งของจำเลยเพื่อรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันกับคำฟ้องโจทก์ และเมื่อตามฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ บริษัท จ. อ. และ ธ. ซึ่งร่วมกับโจทก์ทำสัญญากับจำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย จึงเห็นสมควรที่จะเรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นคู่ความในคดีร่วมกับโจทก์ตามคำร้องของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3982/2558
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทพร้อมบ้านพักซึ่งปลูกบนที่ดินโดยซื้อมาจากจำเลยร่วมทั้งสาม จำเลยเข้าไปอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยซื้อที่พิพาทพร้อมบ้านพักจากจำเลยร่วมทั้งสามขณะที่พิพาทเป็นเพียงที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และเข้าครอบครองที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยร่วมทั้งสามไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลย กลับจำนองและขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยโจทก์รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต ขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่จำเลย คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทและบ้านพักเป็นของโจทก์หรือจำเลย และมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยร่วมทั้งสามโดยสุจริตหรือไม่ ไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมทั้งสามคบคิดกันโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ที่จะเรียกจำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหรือจำเลยร่วมอาจใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาในคดีรวมทั้งมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเหล่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดำเนินคดีสำหรับจำเลยและจำเลยร่วมจนเสร็จสิ้นกระแสความ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปัญหาว่าจำเลยร่วมทั้งสามต้องรับผิดต่อจำเลยเพียงใดจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่สมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1634 - 1635/2558
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงที่พิพาท และมีคำขอให้โจทก์โอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวคืนให้ผู้ร้องสอด เป็นการร้องสอดเข้ามาเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ ในทำนองเดียวกับที่ผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์กับพวกไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 48/2554 ของศาลชั้นต้น แม้ในคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ แต่ก็มีประเด็นพิพาทเช่นเดียวกับที่ผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์กับพวกไว้ในคดีดังกล่าวว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทหรือไม่ คำร้องสอดของผู้ร้องสอดถือเป็นคำฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องในเรื่องเดียวกัน ผู้ร้องสอดจะยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2558
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ตามทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ได้โอนขายกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วย โดยผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว แม้กรณีของผู้ร้องจะไม่ต้องด้วย พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือกฎหมายอื่นใดทำนองเดียวกันที่กำหนดให้ ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความเดิมได้ ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตมาก็ดี แต่การที่ผู้ร้องรับโอนกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดจากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและถือว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์แล้ว จึงชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990 - 991/2558
โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2558
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนองที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จากผู้รับจำนองเดิม จำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ชำระหนี้ที่บุคคลทั้งสองเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 รวม 118,191,930.54 บาท แทนโดยจำเลยที่ 1 จะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ลดหนี้ของจำเลยที่ 1 กับภริยาที่โจทก์จะชำระแทนลงเหลือ 42,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยรับเงินมัดจำ 400,000 บาท ไปจากโจทก์และตกลงให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 4,800,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ชำระเงินบางส่วน 3,561,499.63 บาท ให้จำเลยที่ 2 และชำระเงิน 1,000,000 บาท ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย ที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องตามข้อกำหนดในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ทำกับจำเลยที่ 2 แล้ว ระหว่างนั้นโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้บุคคลอื่นในราคา 70,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ติดต่อขอชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กับภริยา ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระโดยแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการทำนิติกรรมของโจทก์แล้ว โจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ขายที่ดินทั้ง 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า ก่อนหน้าโจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และภริยานั้น จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้ร้องไว้ก่อน จากนั้นอีกวันผู้ร้องจึงทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ โจทก์อาศัยสิทธิจากการทำข้อตกลงดังกล่าวไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 กลับทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นการฉ้อฉลผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลยทั้งสอง จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้ข้ออ้างของผู้ร้องเป็นการตั้งข้อพิพาทโต้แย้งขึ้นมาใหม่ต่างจากข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยผู้ร้องมิได้มุ่งขอบังคับเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทเป็นสำคัญ การร้องสอดของผู้ร้องจึงเสมือนเป็นอีกคดีหนึ่ง ผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องร้องสอดเข้ามาในคดีอย่างแท้จริง ทั้งมิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18830/2557
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยจ้างคนงานมาสร้างรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาทปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์สู่ทางสาธารณะนั้น ย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลย โดยยื่นคำฟ้องพร้อมกับคำร้องขอให้เรียกผู้ให้เช่า คือการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15402/2557
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้ว โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือดำเนินการขอให้ผู้คัดค้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน อันจะถือได้ว่าเป็นการดำเนินการชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และคำร้องขอของผู้คัดค้านเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องคัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้ความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15351/2557
บุคคลภายนอกที่จะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการส่งมอบการครอบครองเครื่องพิมพ์พิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแก่ทรัพย์สินที่ต้องถูกบังคับเสร็จสิ้นแล้ว ความจำเป็นที่ผู้ร้องจะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีนี้เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ย่อมหมดไป ไม่ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8654/2557
คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอดเองในฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้าเป็นคู่ความในคดีมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาเป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องสอดในการต่อสู้คดีของโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2557
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่า สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดี หากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2557
แม้ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดจะใช้ข้อความสรุปว่าขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) เช่นกันก็ตาม แต่ตามเนื้อหาของคำร้องสอดอ้างเหตุผลว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ของโจทก์ตามคำร้องขอของผู้ร้องสอดชอบแล้ว อันเป็นกรณีร้องขอเข้ามาในคดีเพราะตนมีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) มิใช่กรณีตามมาตรา 57 (1) แต่อย่างใด และเป็นเรื่องต้องถือตามเนื้อหาแห่งคำร้องสอดดังกล่าวมาเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมมิใช่กรณีที่ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15106/2556
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินส่วนที่เหลือ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ การที่โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยและจำเลยร่วมโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำร้องแสดงเหตุเพียงว่า จำเลยมีทางแพ้คดีซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน แต่การที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมนั้น หาได้ทำให้โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยหรือให้จำเลยร่วมใช้ค่าทดแทนตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ไม่ และแม้การกระทำดังกล่าวอาจทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 แต่โจทก์มิได้กล่าวในคำร้องว่า จำเลยและจำเลยร่วมสมคบกันโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท อีกทั้งมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นให้เรียกบุคคลภายนอกคดีเข้ามาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่อาจแปลความว่าคำร้องของโจทก์ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2556
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน ป. กับพวกเป็นคณะกรรมการของผู้ร้อง และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกับโจทก์ทั้งสองจัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการของผู้ร้องใหม่ กับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนคณะกรรมการของผู้ร้อง ผลของคำขอของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จึงกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องอันทำให้ผู้ร้องต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการของผู้ร้องใหม่ ผู้ร้องจึงมีความจำเป็นในการร้องสอดเพื่อเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อรับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงขอเข้ามาในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8061/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม แต่คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่าผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินบางส่วนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องสอดมิได้กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใดที่จะถือว่าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ข้ออ้างของผู้ร้องสอดเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธ์ในที่พิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4632/2554
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท แต่รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาจากจำเลยร่วมโดยไม่สุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยร่วมอยู่ในฐานะจดทะเบียนโอนได้ก่อน การทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมเป็นการฉ้อฉลทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์ จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองที่ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและให้จำเลยร่วมโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลยร่วมอยู่ก่อน แต่โจทก์กับจำเลยร่วมร่วมกันฉ้อฉลทำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย จึงมีเหตุสมควรที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และถือว่าจำเลยร่วมเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้ามาตามมาตราดังกล่าวมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จำเลยร่วมจึงเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยทั้งสองสามารถฟ้องแย้งและถูกบังคับคดีได้ หาใช่จำเลยร่วมเป็นคู่ความฝ่ายเดียวกับจำเลยทั้งสองและไม่อาจถูกฟ้องแย้งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3632/2554
พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ฯ มาตรา 5 ข้อ 14 บัญญัติให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ามีอำนาจและหน้าที่จัดการทั่วไปในกิจการเพื่อประโยชน์แก่ศาลเจ้าโดยฐานะและกาลอันสมควร และมีอำนาจหน้าที่เข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยในอรรถคดีทั้งแพ่งและอาญาอันเกี่ยวด้วยเรื่องศาลเจ้าทุกประการ ผู้ร้องสอดจึงมีอำนาจดำเนินคดีในฐานะเป็นคู่ความตามกฎหมายได้ตามบทบังคับแห่งกฎเสนาบดีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ร้องสอดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอดเป็นการกล่าวอ้างข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องสอด คำร้องสอดของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองสิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้คำร้องสอดจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นคู่ความร่วมก็ตาม และผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง คำร้องสอดของผู้ร้องถือเป็นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้ร้องสอดปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว คำร้องสอดจึงชอบด้วยกฎหมาย

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2550
โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่า จำเลยอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอด ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด มอบหมายให้จำเลยดูแลทำประโยชน์ตลอดมาผู้ร้องสอดมีความจำเป็นที่จะต้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ตามป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ขอให้พิพากษาห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดๆ หรืออ้างสิทธิในที่ดินพิพาท ศาลจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งอนุญาต คำร้องสอดของผู้ร้องสอดถือเสมือนเป็นคำให้การและฟ้องแย้งโจทก์อยู่ในตัว จึงมีผลเปลี่ยนคดีจากคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคา 225,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงลพบุรีที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลจังหวัดลพบุรีจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงลพบุรีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่

ผู้ร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดได้ถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยด้วย ทั้งคดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมาตรา 142 (1) บัญญัติว่า ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่ ดังนั้น หากศาลแขวงลพบุรีพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ศาลแขวงลพบุรีย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ขับไล่ผู้ร้องสอดและจำเลยซึ่งเป็นบริวารของผู้ร้องสอดได้ การที่ศาลแขวงลพบุรีมีคำสั่งไม่รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6676/2550
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลที่ดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2550
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยรับว่าเป็นผู้เช่าที่ดินของโจทก์และยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลพิพากษาตามยอม ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องกับพวกในการทำสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดากับโจทก์ เพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร แต่โจทก์และจำเลยสมรู้ร่วมคิดกันฟ้องคดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องที่มิได้เป็นบริวารของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาที่จะยื่นคำร้องสอดเข้ามาใสชั้นบังคับคดีหรือคำสั่งได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

แม้ผู้ร้องมีสิทธิที่ร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แต่ก่อนยื่นคำร้องสอดผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์และจำเลยให้บังคับโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่าที่ดินจากจำเลยเป็นผู้ร้องกับพวก ให้โจทก์จดทะเบียนการเช่าที่ดินให้ผู้ร้องกับพวกมีกำหนด 5 ปี คดีอยู่ระหว่างพิจารณา โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกับที่อ้างในคำร้องสอดว่า จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องกับพวกในการทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์เพื่อปลูกสร้างอาคารประกอบกิจการร้านอาหารมีกำหนด 5 ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วให้สิ่งปลูกสร้างตกเป็นของโจทก์ จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกันว่า จำเลยเป็นตัวแทนผู้ร้องกับพวกทำสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ คำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6146/2550
เมื่อมีการยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลต้องตรวจว่าต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) หรือไม่ หากคำร้องสอดต้องด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายศาลก็จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมคือรับคำร้องสอดไว้พิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนการสั่งรับหรือไม่รับคำร้องสอดในเบื้องต้น ส่วนเมื่อรับคำร้องสอดไว้พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะรับฟังได้ตามที่อ้างในคำร้องสอดหรือไม่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาพิพากษาคดี และแม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาจะรับฟังไม่ได้ตามที่อ้างก็ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนการสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมหรือการสั่งรับคำร้องสอดไว้พิจารณาในตอนแรกกลับกลายเป็นการสั่งโดยไม่ชอบหรือผิดหลง

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยจำนองที่ดินไว้เป็นประกัน จำเลยขอชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระและให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองแล้วแต่โจทก์ผิดนัดไม่ยอมรับชำระ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์รับชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระพร้อมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดอ้างว่า จำเลยร่วมเป็นเจ้าของที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้จำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีในอันที่จะให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นของจำเลยร่วมด้วย คำร้องสอดของจำเลยร่วมต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ชอบที่จะรับคำร้องสอดไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2550
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายฝากที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์แล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสอดเป็นสามีของจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอด ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝาก ดังนี้ แม้ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารก็ไม่กระทบสิทธิของผู้ร้องสอดในฐานะคู่สมรสที่ยังคงมีอยู่ในกรณีการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่ผู้ร้องสอดอ้าง สิทธิของผู้ร้องสอดมีอยู่เพียงใดก็คงมีอยู่เพียงนั้น คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2550
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกันกับผู้มีชื่อรวม 6 คน ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินดังกล่าว การดำเนินการของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการกระทำในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359

ในวันชี้สองสถานคู่ความตกลงท้ากันว่า ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทจากแนวทิศเหนือเข้ามาทางแนวที่ดินของจำเลยที่ 1 หากรังวัดได้เป็นจำนวน 5 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา จำเลยทั้งสองยอมแพ้ หากรังวัดได้เกิน 5 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ส่วนที่เกินหรือล้ำจำนวนให้ตกเป็นของจำเลยทั้งสอง หากการรังวัดไม่อาจทำได้เพราะมีการคัดค้านของเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้พิจารณาคดีไปโดยให้ถือว่าคำท้าไม่เป็นผล การท้ากันดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360

โจทก์ร่วมทั้งสี่ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยพลการ โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงขอใช้สิทธิเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แต่สิทธิในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทโจทก์ร่วมทั้งสี่มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้นไม่มีเหตุที่จะต้องได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามมาตรา 57 (1) แต่โจทก์ร่วมทั้งสี่ระบุในคำร้องตอนหนึ่งว่าโจทก์ร่วมทั้งสี่อาจได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ทั้งสองโจทก์ร่วมทั้งสี่มีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกับโจทก์ทั้งสอง ตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจเอง เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามมาตรา 57 (2) ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสี่เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1) แต่ให้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามมาตรา 57 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2550
โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่า จำเลยอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอด ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด มอบหมายให้จำเลยดูแลทำประโยชน์ตลอดมาผู้ร้องสอดมีความจำเป็นที่จะต้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ตามป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ขอให้พิพากษาห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดๆ หรืออ้างสิทธิในที่ดินพิพาท ศาลจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งอนุญาต คำร้องสอดของผู้ร้องสอดถือเสมือนเป็นคำให้การและฟ้องแย้งโจทก์อยู่ในตัว จึงมีผลเปลี่ยนคดีจากคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคา 225,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงลพบุรีที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลจังหวัดลพบุรีจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงลพบุรีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่

ผู้ร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 จึงถือได้ว่าผู้ร้องสอดได้ถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยด้วย ทั้งคดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมาตรา 142 (1) บัญญัติว่า ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่ ดังนั้น หากศาลแขวงลพบุรีพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ศาลแขวงลพบุรีย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ขับไล่ผู้ร้องสอดและจำเลยซึ่งเป็นบริวารของผู้ร้องสอดได้ การที่ศาลแขวงลพบุรีมีคำสั่งไม่รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7377/2549
โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง และเป็นการดำเนินการในฐานะตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนอยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นทายาทขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอีกก็มีแต่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินคดีโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ผู้ร้องสอดเองก็ไม่สามารถใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่โจทก์มีอยู่ และจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หาได้ไม่ ส่วนกองมรดกได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของโจทก์เพียงใด ผู้ร้องสอดก็สามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอาจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1720 แห่ง ป.พ.พ. ได้อยู่แล้ว กรณียังไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดจะร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2549
จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในคดีแพ่ง ต่อมาศาลในคดีล้มละลายมีคำสั่งให้โจทก์ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้ารวบรวมทรัพย์สินของโจทก์ผู้ล้มละลาย โดยได้นำสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของโจทก์ที่มีต่อจำเลยออกขายตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ผู้ร้องเป็นผู้ชนะการประมูล และได้ทำหนังสือซื้อขายสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาดังกล่าวจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ผู้ร้องย่อมได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2548
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ที่บัญญัติว่า "คำฟ้อง" หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล... ไม่ว่าจะเสนอในภายหลัง... โดยสอดเข้ามาในคดี ฯลฯ นั้น เป็นการกำหนดให้คำร้องสอดที่มีลักษณะในการเสนอข้อหาต่อศาลเป็นคำฟ้องด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดให้คำร้องสอดทุกฉบับเป็นคำฟ้อง เนื่องจากการร้องสอดเข้ามาในคดีบางกรณีเป็นการเข้ามาต่อสู้คดีในฐานะจำเลย คำร้องสอดกรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่คำร้องสอดจะเป็นคำฟ้องหรือไม่จึงต้องพิจารณาจากเนื้อหาของคำร้องสอดเป็นสำคัญ

ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดอ้างว่า จำเลยไม่ใช่ผู้เช่าที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องสอดเคยเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ ต่อมาผู้ร้องสอดเปลี่ยนเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยแย่งการครอบครองก่อนปี 2539 โจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ผู้ร้องสอดจึงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดจะต้องได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีขับไล่โดยผลของคำพิพากษา ขอให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ดังนี้ คำร้องสอดดังกล่าวเป็นการขอเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลย ข้ออ้างสิทธิตามคำร้องสอดจึงถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลยกฟ้อง ไม่ใช่การเสนอข้อหาต่อศาลเพื่อบังคับโจทก์ จึงไม่เป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ไม่จำต้องมีคำขอบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1 (3)

ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ผู้ร้องสอดยังไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดินพิพาทตามคำร้องสอด ทั้งผู้ร้องสอดอาจยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา ได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาในโอกาสดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2548
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัท ช. และบริษัท ป. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่ามูลหนี้ตามฟ้องที่เกิดจากการติดตั้งเต้าปูนและใส่ระบบลากจูงเป็นรถพ่วงเต้าปูนที่จำเลยทำกับโจทก์ จำเลยได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของบริษัทดังกล่าว จำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำร้องของจำเลยดังกล่าวย่อมเข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) เนื่องจากเป็นอันเข้าใจได้ว่า เป็นการขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า ถ้าหากศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีตามฟ้อง จำเลยในฐานะตัวแทนย่อมฟ้องบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นตัวการเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2548
คำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) มีลักษณะเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามมาตรา 172 วรรคสอง

ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดโดยอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จำเลยม่มีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของผู้ตายเนื่องจากคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป้นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องสอดกับพวกได้ยื่นคำร้องคัดค้านและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวและได้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องสอดเพื่อมิให้ผู้ร้องสอดมีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่อาจรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งจะทำให้โจทก์และจำเลยสมยอมกันจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และคู่ความขอให้ศาลไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมยอมความต่อกันหากศาลมีคำพิพากษาตามยอมจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นกรณีจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความนั้น เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1) ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้อง เมื่อคำร้องสอดไม่มีคำขอบังคับโดยชัดแจ้ง จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2546
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาทว่าจำเลยขายฝากที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่โจทก์และพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นสามีของจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝาก ดังนี้แม้ศาลจะพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารก็ไม่กระทบสิทธิของผู้ร้องในฐานะคู่สมรสที่ยังคงมีอยู่ในกรณีที่มีการขายฝากของโจทก์จำเลยตามที่ผู้ร้องอ้าง สิทธิของผู้ร้องสอดจะมีอยู่เพียงใด ก็คงมีอยู่เพียงนั้นคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2546
คำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้เรียก ส. และ ว. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้นเป็นเพียงคำร้องที่ยื่นเพื่อขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีมิใช่เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความแต่อย่างใด จึงมิใช่คำคู่ความ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องนี้จึงมิใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความแต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2545
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครอง การที่ผู้ร้องนำคำพิพากษาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้น ถือได้ว่าเป็นบุคคลภายนอก จึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามมาตรา 145(2) โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องขอของผู้คัดค้านไว้เพื่อวินิจฉัยข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6554/2544
ผู้ร้องสอดเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ความรับผิดของผู้ร้องสอดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ร้องสอดยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ผู้ร้องสอดถือ หากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี คำพิพากษาดังกล่าวย่อมกระทบแต่เฉพาะทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์ และกิจการของจำเลย หากจะต้องมีการบังคับคดีก็เป็นเพียงจำเลยเท่านั้นที่จะต้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องสอดในฐานะผู้ถือหุ้นหาต้องถูกบังคับคดีด้วยไม่ ผู้ร้องสอดย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่จึงไม่มีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2658/2544
ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(3) จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่สามารถยกข้อต่อสู้ขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้อย่างไม่มีจำกัด และศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาถึงความรับผิดของคู่ความทุกฝ่ายไปได้ในคราวเดียวกันโดยไม่จำต้องให้โจทก์ไปฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีเรื่องใหม่ เมื่อจำเลยร่วมมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถยนต์สูญหายแก่โจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ถือว่าเกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3008/2549
เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้

โจทก์ได้เสียค่าขึ้นศาลไว้แล้ว และการร้องสอดของผู้ร้องเพื่อเข้ามาแทนที่โจทก์เดิม การที่ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีกหรือไม่จะต้องพิจารณาว่าผู้ร้องได้เรียกร้องอะไรหรือไม่ด้วย เมื่อผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์โดยไม่ได้เรียกร้องอะไรเพิ่มเติมอีก จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2546
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาทว่า จำเลยขายฝากที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่โจทก์และพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นสามีของจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝาก ดังนี้ แม้ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารก็ไม่กระทบสิทธิของผู้ร้องในฐานะคู่สมรสที่ยังคงมีอยู่ในกรณีการขายฝากของโจทก์จำเลยตามที่ผู้ร้องอ้าง สิทธิของผู้ร้องสอดจะมีอยู่เพียงใด ก็คงมีอยู่เพียงนั้นคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2545
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครอง การที่ผู้ร้องนำคำพิพากษาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้น ถือได้ว่าเป็นบุคคลภายนอก จึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามมาตรา 145(2) โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องขอของผู้คัดค้านไว้เพื่อวินิจฉัยข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านไปตามรูปคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2545
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับบริษัทจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน อันเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ร้องที่เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 สิทธิของผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 เพียงใดก็คงมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) อีกทั้งผู้ร้องก็ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ซึ่งถือว่าเป็นคู่ความในคดีอันจะใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8754/2544
ตามคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องสอดไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับหนี้เงินกู้และการจำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้ตามที่โจทก์ฟ้องบังคับ คงอ้างแต่เพียงว่า ผู้ร้องสอดเป็นภริยาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยและอยู่ร่วมกับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องสอดจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี อีกทั้งจำเลยเองก็ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดย่อมไม่มีสิทธิในการต่อสู้คดีเช่นเดียวกับจำเลยที่ขาดนัด การร้องสอดเข้ามาเพื่อเป็นจำเลยร่วมหรือแทนที่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ย่อมหาประโยชน์มิได้ ที่ศาลล่างมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6554/2544
ผู้ร้องสอดเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ความรับผิดของผู้ร้องสอดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ร้องสอดยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ผู้ร้องสอดถือ หากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี คำพิพากษาดังกล่าวย่อมกระทบแต่เฉพาะทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์ และกิจการของจำเลย หากจะต้องมีการบังคับคดีก็เป็นเพียงจำเลยเท่านั้นที่จะต้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องสอดในฐานะผู้ถือหุ้นหาต้องถูกบังคับคดีด้วยไม่ ผู้ร้องสอดย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่จึงไม่มีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7605/2543
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในกรณีที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดนั้น ต้องนำ ป.วิ.พ.มาตรา 57 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นมีหน้าที่ต้องชำระค่าหุ้นให้บริษัทจำเลยเต็มมูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่เท่านั้น ผู้ร้องไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำ และแม้ผู้ร้องจะเป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม ผลของคำพิพากษาคดีนี้หากพึงมีให้ต้องบังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ ก็หากระทบกระเทือนถึงผู้ร้องให้ต้องร่วมรับผิดด้วยไม่ และหากกรรมการอื่นของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียหายอันกระทบถึงประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้ร้องอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวต่างหาก เพราะเป็นข้อโต้แย้งสิทธิต่างหากจากคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในผลแห่งคดีนี้ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเป็นจำเลยร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7091/2542
คำร้องของผู้ร้องสอดเป็นการเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) อันทำให้มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58(1) และ (3)การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์และมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลย แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ฟ้องผู้ร้องสอดก็ตาม คำสั่งให้ขับไล่ย่อมใช้บังคับแก่ผู้ร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1)หาใช่เกินคำขอไม่

การที่โจทก์ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและผู้ร้องสอดนั้นก็เฉพาะกรณีการทำนิติกรรมสัญญาเท่านั้น ศาลไม่อาจกำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในคดีละเมิดได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ขับไล่จำเลยผู้ร้องสอดและบริวารออกจากที่พิพาทและทำที่พิพาทให้อยู่ในสภาพเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2542
โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจากจำเลยทั้งสอง จำเลยร่วมยื่นคำให้การและฟ้องแย้งโดยยื่นรวมมาในฉบับเดียวกันกับจำเลยทั้งสองแล้ว ในวันเดียวกันจำเลยร่วมยังได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม (จำเลยที่ 3) ด้วยและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ทั้งตามคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมประกอบคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยร่วม (จำเลยที่ 3) ที่ว่าที่พิพาทจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรวมกับจำเลยทั้งสองเพราะได้แย่งการครอบครองจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยร่วมและจำเลยทั้งสอง คำฟ้องโจทก์ทั้งสองที่ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเช่นนี้มีผลกระทบต่อจำเลยร่วม แม้คำร้องขอจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ก็ตาม แต่เมื่อเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นคำร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตาม มาตรา 57 (1) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 (จำเลยร่วม) ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 กับให้เพิกถอนและมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 (จำเลยร่วม) ย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้เป็นให้รับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 (จำเลยร่วม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2542
ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องได้ซื้อและครอบครองเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาท และได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีแพ่ง ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยในคดีนี้ดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาทให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึง เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีเหตุจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่เป็นการตั้งสิทธิขึ้นมาใหม่เพื่อพิพาทกับคู่ความเดิมจึงเป็นการร้องสอดเข้ามาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ผู้ร้องมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่า ตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดี เรื่องใหม่ ตามมาตรา 58 วรรคแรก และคำร้องสอด ดังกล่าวถือว่าเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3) ปรากฏว่า ก่อนยื่นคำร้องสอดคดีนี้ ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลย ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลเดียวกันนี้อ้างว่า ผู้ร้องได้ซื้อ และครอบครองเป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทอยู่ในปัจจุบัน ขอให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาท ให้แก่ผู้ร้อง อันเป็นประเด็นเดียวกับที่ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ เมื่อคดีที่ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนนั้นยังอยู่ในระหว่าง พิจารณา จึงห้ามมิให้ผู้ร้องยื่นคำฟ้องเรื่อง เดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ตามมาตรา 173(1) การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2540
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาเช่าและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ทั้งขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายแม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ประการหนึ่งว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็ไม่ได้ต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยกล่าวอ้างเป็นของจำเลยหรือบุคคลอื่นใด คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่า ผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทบางส่วนดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ครอบครอง ดังนี้ ผู้ร้องสอดมิได้กล่าวอ้างเลยว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องสอดดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้นไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดีนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องขอผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2540
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเชิดหรือรู้อยู่แล้วให้ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุตรจำเลยเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของจำเลยและรับเงินมัดจำส่วนของจำเลยจำนวน 220,000 บาท จากโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมโอนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยรับเงินส่วนที่เหลือ5,893,250 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000,000 บาท ให้แก่โจทก์จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเชิดผู้ร้องสอด ดังนั้นที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความ อ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเพียงคนเดียว ผู้ร้องสอดได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและรับเงินมัดจำกับโจทก์ในนามของตนเอง ไม่เกี่ยวกับจำเลยโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้ผู้ร้องสอดริบเงินมัดจำจำนวน 220,000 บาท ที่โจทก์วางไว้กับผู้ร้องสอดนั้น จึงเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองและบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว อันเป็นการขัดกับข้ออ้างของโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลย เป็นปฏิปักษ์ทั้งต่อโจทก์และต่อจำเลย ผู้ร้องสอดจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องสอดเรียกร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2540
แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นจะมีผลจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาเป็นหลักประกันนั้นศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือกฎหมายอื่น จึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่นำมาเป็นหลักประกันไว้ต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดดังกล่าวและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ไม่มีเหตุตามกฎหมายใดในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5716/2539
การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)ถือเป็นคำฟ้องผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะเป็นโจทก์โจทก์เดิมและจำเลยอยู่ในฐานะเป็นจำเลยเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีระหว่างผู้ร้องสอดทั้งสองกับจำเลยทั้งสองโดยมิได้จำหน่ายคดีเกี่ยวกับโจทก์ถือว่าคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ยื่นเข้ามาใหม่จึงเป็นฟ้องซ้อนสำหรับโจทก์ผู้ร้องสอดทั้งสองคงมีอำนาจยื่นคำร้องสอดเข้ามาใหม่เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2539
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดที่ดินบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์แต่โฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อผู้ร้องสอดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งแปลงผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียในคดีนี้ดังนั้นการที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ซึ่งยังอยู่ในระหว่างพิจารณาโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการร้องสอดด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับคำร้องสอดของผู้ร้องสอดไว้เพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดให้ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8380/2538
การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)นั้นศาลจะอนุญาตหรือไม่ต้องแล้วแต่เหตุสมควรตามพฤติการณ์ยังไม่มีการสืบพยานจำเลยส่วนพยานโจทก์ศาลก็งดสืบเพราะเป็นความผิดของโจทก์เองซึ่งหากจะรับคำร้องสอดไว้พิจารณาก็จะทำให้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้เสร็จไปได้ในคราวเดียวโดยไม่ต้องให้ผู้ร้องสอดไปฟ้องโจทก์จำเลยใหม่เพราะแม้ผู้ร้องสอดจะฟ้องโจทก์จำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งก็จะต้องสืบพยานโจทก์จำเลยซึ่งน่าจะเป็นพยานชุดเดียวกันทำให้ต้องมีการสืบพยานซ้ำอีกเมื่อกรณีมีเหตุที่ผู้ร้องสอดจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่โดยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณากรณีมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องสอดของผู้ร้องสอดไว้พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7226/2538
ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาทผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิก็ร้องสอดเข้ามาในคดีได้ เพราะบทบัญญัติเกี่ยวกับการร้องสอด มีความมุ่งหมายทำนองเดียวกับการเข้าเป็นคู่ความร่วม การฟ้องแย้งและการรวมพิจารณานั่นเอง เรื่องราวทั้งหลายที่พิพาทกันนั้นหากมีใครเกี่ยวข้องที่จะต้องพิพาทกันด้วย ก็ควรจะได้พิจารณาไปเสียในคราวเดียวกัน หาจำต้องมีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดิมอยู่ก่อนเสมอไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2538
ผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ช.เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของ ช. และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ผู้ร้องทั้งสามจึงเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเมื่อพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของผู้ร้องทั้งสามอีกต่อไปแม้ผู้ร้องทั้งสามมิได้อุทธรณ์แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีคดีของผู้ร้องทั้งสามจึงยังไม่ถึงที่สุดในการพิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดตัดสินเกี่ยวกับคำร้องสอดของผู้ร้องทั้งสามด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2538
การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นบุตรของเจ้าของมรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของเจ้าของมรดกส่วนโจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกนั้นเป็นการร้องสอดเพราะจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่แม้ท้ายคำร้องระบุว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยผิดหลงก็ถือได้ว่าเป็นการร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)และคำร้องขอดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำขอบังคับอยู่ในตัวประกอบกับผู้ร้องสอดไม่ได้เรียกร้องอะไรเพียงแต่ขอให้ยกฟ้องจึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับโดยแจ้งชัดในคำร้องสอดอีก คดีก่อนโจทก์กับผู้ร้องสอดพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องขอตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกคดีนี้พิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกคดีทั้งสองเรื่องเกี่ยวข้องกันแต่มิใช่คดีเดียวกันโจทก์จะยกขึ้นมาเป็นเหตุคัดค้านผู้พิพากษาที่พิพากษาคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา11(5)หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5424/2537
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของล.และส.เมื่อล.ถึงแก่กรรม ส.ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของล.ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของล.ให้แก่โจทก์และโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอาศัยอยู่ในที่พิพาทอีกต่อไปจึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมโดยอ้างว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียในที่พิพาทในฐานะผู้ร้องเป็นบุตรของล.มีสิทธิได้รับมรดกที่พิพาทร่วมกับโจทก์ ดังนี้การที่ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ แม้ตามคำร้องของผู้ร้องจะร้องสอดขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมแต่ก็ถือได้ว่าเป็นการร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อต่อสู้กับโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) แต่การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามบทมาตราดังกล่าว คำร้องจะต้องแสดงโดยแจ้งชัดว่าสภาพแห่งสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับความรับรองและคุ้มครองว่ามีอยู่อย่างไร พร้อมทั้งคำขอบังคับตามสิทธิที่ได้รับรองและคุ้มครองด้วย แม้ตามคำร้องของผู้ร้องที่อ้างว่ามีส่วนได้เสียในที่พิพาทเพราะผู้ร้องมีสิทธิได้รับมรดกที่พิพาทร่วมกับโจทก์นั้น ถือได้ว่าคำร้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับความรับรองและคุ้มครองแล้วก็ตาม แต่ที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งแต่งตั้งทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดของล.เป็นผู้จัดการมรดกของล.สืบแทน ส.ต่อไปนั้น มิใช่เป็นคำบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่ได้รับรองหรือคุ้มครองตามนัยแห่งมาตรา 57(1)จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2537
จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมพร้อมยื่นคำให้การมาก่อนที่จะครบกำหนดเวลาที่จำเลยจะยื่นคำให้การได้ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมได้ จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิของจำเลยที่มีอยู่ในขณะที่ตนร้องสอด ไม่อาจถือว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จำเลยมีอยู่ขณะที่ร้องสอดเข้ามาเมื่อปรากฎต่อมาว่าจำเลยมิได้ยื่นคำให้การ จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยร่วมเป็นไปในทางที่ขัดสิทธิของจำเลยเดิม ดังนั้นการยื่นคำให้การของจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการใช้สิทธิที่ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58 วรรคสอง ศาลต้องรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4576/2536
ผู้ร้องมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลยและผู้ร้องก็มิได้มีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตามกฎหมายผู้ร้องคัดค้านและปฏิเสธฟ้องโจทก์เข้ามาในฐานะกรรมการผู้ไม่มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลยซึ่งกระทำเป็นการส่วนตัวจึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ คำร้องคัดค้านดังกล่าวของผู้ร้องถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3030/2536
กรณีตามคำร้องของผู้ร้องสอดเป็นการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งมิใช่กรณีที่จะร้องสอดในชั้นบังคับคดีเพราะผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีมาแต่ต้น ผู้ร้องเป็นทายาทของ ป. เช่นเดียวกับจำเลยที่ 3การร้องสอดของผู้ร้องมีลักษณะเข้ามาเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรับมรดกของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ซึ่งเป็นการเข้ามาต่อสู้คดีกับโจทก์ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องดังกล่าวขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น หาใช่มายื่นภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2536
คำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1) เป็นคำฟ้องจึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับต้องแจ้งชัดด้วยตามมาตรา 172 วรรคสอง เมื่อคำร้องสอดมิได้มีคำขอว่าต้องการให้บังคับอย่างไร จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2536
การที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดล้มละลาย ย่อมมีผลกระทบเฉพาะต่อสิทธิของจำเลยในการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของจำเลยเท่านั้น หาได้มีผลทำให้ผู้ถือหุ้นซึ่งรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือตกเป็นบุคคลล้มละลายด้วยไม่ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในผลแห่งคดี ไม่มีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2535

การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) นั้น ศาลไม่จำต้องอนุญาตทุกกรณีไป ต้องแล้วแต่เหตุสมควร ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีไปจนกระทั่งสืบพยานจำเลยจะเสร็จสิ้นแล้ว หากผู้ร้องสอดมีสิทธิดังที่อ้างในคำร้อง ก็ย่อมยกสิทธิเช่นว่านั้นขึ้นอ้างยันผู้อื่นหรือมีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องได้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก กรณีของผู้ร้องสอดยังไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2535
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ ผู้ร้องร้องสอดว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเงินของผู้ร้อง และผู้ร้องได้ฟ้องเรียกคืนไว้แล้ว โจทก์กับจำเลยทั้งสองสมคบกันแกล้งเป็นหนี้ตามฟ้องเพื่อมิให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาว่าสัญญากู้เป็นโมฆะ กรณีเป็นเรื่องผู้ร้องมีความจำเป็นเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือบังคับให้ได้รับชำระหนี้ไม่ให้จำเลยโอนทรัพย์ไปเสียอันจะทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายผู้ร้องจึงร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2534
กรณีที่จะมีการเข้ามาเป็นคู่ความโดยการร้องสอดตามป.วิ.พ. มาตรา 57 ได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้ามาเองหรือถูกหมายเรียกเข้ามาก็ดี ผู้ที่จะเข้ามานั้นต้องเป็นบุคคลนอกคดีจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ขอให้เรียกเข้ามานั้นเป็นคู่ความอยู่ในคดีนี้แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่โจทก์ก็ยังดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 2 จะเรียกเข้ามาโดยการร้องสอดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57(3) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2534
ศาลชั้นต้นพิพากษาและออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะต้องรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปตามคำบังคับ ซึ่งจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องหากผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ดังนี้ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ และถูกโต้แย้งสิทธิจึงชอบที่จะร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)ได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการบังคับคดีเสียก่อน เนื่องจากโจทก์ย่อมขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างได้ทันทีตามมาตรา 296 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5530/2533
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ จำเลยเช่าที่ดินจากอ. กับพวกเจ้าของที่ดินเดิม ต่อมาโจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินได้บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลยให้จำเลยรื้อถอนห้องแถวและขนย้ายทรัพย์สินกับบริวาร และใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า ห้องแถวไม่ใช่ของจำเลย จำเลยไม่ได้ละเมิดโจทก์ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ห้องแถวเป็นของผู้ร้องสอดและโจทก์ตกลงขายที่ดินให้ผู้ร้องสอดแล้ว โดยตกลงให้ตึกแถวของผู้ร้องสอดตั้งอยู่ในที่เดิมได้ โจทก์มีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้บังกับจำเลยรื้อถอนห้องแถวและขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินเช่นนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องสอด คำร้องของผู้ร้องสอดดังกล่าวเป็นคำร้องเพื่อขอคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องสอดอันเกิดจากข้อพิพาทคดีนี้ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้าเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด ซึ่งแม้คำร้องสอดจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นคู่ความร่วม แต่เนื้อหาแห่งคำร้องก็เป็นการขอเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) แล้วศาลย่อมพิจารณาคำร้องสอดตามเนื้อหาที่ปรากฏนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2533
การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสองเพื่อให้มีโอกาสคัดค้านก่อนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 21(2) และ มาตรา 57(2) แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมได้โดยมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแต่ประการใด กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นคำคู่ความตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 27 บัญญัติไว้ ฉะนั้นกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินมาในเรื่องการร้องสอดนับตั้งแต่การยื่นคำร้องไม่ว่าดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตลอดจนคำสั่งหรือคำพิพากษาในเรื่องนี้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบตามไปด้วยจำเลยร่วมจะฎีกาต่อมาอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้โต้แย้งไว้ในเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเสียให้ถูกต้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243(1)(2) ประกอบด้วยมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2485/2533
โจทก์ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย ทายาทร้องสอดเข้ามาขอให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นการร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)ซึ่งตามมาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ฉะนั้น ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ทั้งสิบสองไม่มีสิทธิร่วมกันฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ทั้งสองประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3496/2532
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1) อ้างว่า ผู้ร้องสอดถูกเจ้าหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งผู้ร้องสอดเป็นผู้รับอาวัลฟ้องให้รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินร่วมกับจำเลย ดังนี้ ผู้ร้องสอดยังไม่ได้มีสิทธิเรียกร้องใดเหนือทรัพย์สินที่จำเลยต้องโอนให้โจทก์ตามคำพิพากษา จึงหาใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องสอด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2593/2526
บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดี จะเข้ามาเป็นคู่ความได้ก็แต่ด้วยการร้องสอดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57

โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ถึงหากสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยจะเป็นนิติกรรมอันลูกหนี้ (จำเลย) ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ (ผู้ร้อง) เสียเปรียบ ซึ่งศาลอาจเพิกถอนเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนในคดีซึ่งตนมิได้เป็นคู่ความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2524
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องสอด แม้คำร้องจะใช้คำว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วม แต่เนื้อความเป็นเรื่องตั้งข้อพิพาทขึ้นใหม่ว่าทรัพย์สินที่ศาลสั่งอายัดชั่วคราวระหว่างพิจารณาเป็นของผู้ร้อง โดยผู้ร้องซึ่งเป็นหุ้นส่วน กับ ธ. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯจำเลยได้ทำการประมูลกิจการของจำเลยและผู้ร้องประมูลได้ โจทก์กับ ธ.สมคบกันทำสัญญาว่าจ้างปลอม ดังนี้ หากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องสอดคำพิพากษาคดีนี้ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของจำเลยที่ผู้ร้องมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วยคำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นคำร้องเพื่อขอความคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องอันเกิดจากข้อพิพาทคดีนี้เมื่อผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดี ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) หาใช่ผู้ร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57(2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2360 - 2361/2521
ร้องสอดขอรับมรดกตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1749 ต้องทำระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จะร้องชั้นบังคับคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2521
ผู้ร้องได้ทราบถึงการที่โจทก์ฟ้องคดีมาตั้งแต่แรก แต่เพิ่งร้องสอดเข้ามาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว 5 ปีเศษ จนได้มีการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้ว ทั้งได้สืบพยานจำเลยไปแล้วรวม 29 นัด จวนจะเสร็จสิ้นพยานจำเลยอยู่แล้ว จึงไม่สมควรอนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ เพราะจะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเพิ่มความยุ่งยากขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2520
คำร้องสอดขอเป็นคู่ความร่วมกับโจทก์ อ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมในโฉนดเป็นการร้องสอดเพื่อคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เหมือนฟ้องคดีใหม่ โจทก์เดิมฟ้องเฉพาะที่ดินบางส่วนในโฉนด ศาลก็พิจารณาถึงที่ดินส่วนอื่นซึ่งผู้ร้องสอดร้องเข้ามาตาม มาตรา 57(1) นั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1329/2520
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยร่วมที่ 7 ร้องสอดอ้างว่าที่พิพาทตนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของ และจำเลยไม่มีอำนาจนำที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยพลการ สัญญาไม่มีผลบังคับจำเลย ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องได้มีอยู่จึงร้องสอดเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ดังนี้ แม้คำร้องจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วม และเมื่อศาลสอบถามผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดก็แถลงยืนยันขอเป็นจำเลยร่วมก็ดีแต่เนื้อความแห่งคำร้อง การระบุมาตรา แสดงเหตุแห่งการขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจึงเป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) โดยเป็นจำเลยร่วมที่ 7แล้วพิจารณาและพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งเจ็ดคนแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และใช้ค่าเสียหาย เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำร้องสอดของจำเลยร่วมที่ 7 เป็นการร้องสอดตามมาตรา 57(1) และมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคนละประเด็นกับที่จำเลยเดิมต่อสู้ไว้ จึงเป็นเหตุสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แต่ควรให้ดำเนินการพิจารณาใหม่ระหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์เท่านั้น ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีใหม่บางส่วน ส่วนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อผลแห่งคดีของจำเลยและผู้ร้องสอดเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันไม่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งมีผลไปถึงเจ้าของรวมคนอื่นคือจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ด้วยจึงต้องให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 เสียด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2520
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่พิพาทเป็นของผู้ร้องจึงขอเข้าเป็นจำเลยเพื่อรักษาสงวนสิทธิของผู้ร้องโดยจะยื่นคำให้การภายใน 8 วัน นับแต่ศาลสั่งอนุญาต ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ร้องตั้งข้อพิพาทเข้ามาเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองสิทธิของตน เป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 58 ที่จะใช้สิทธิในทางขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิมดังนั้น แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การผู้ร้องก็ยังมีสิทธิร้องสอดได้เมื่อคดียังไม่มีการสืบพยานศาลย่อมรับคำร้องไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1537/2514
การร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 นั้น อาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ได้ ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาท
หากมีการดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดหรือทั้งหมด ซึ่งมีส่วนได้เสียในผลของการประชุมใหญ่นั้นย่อมมีสิทธิร้องคัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีได้ หาใช่มีสิทธิเฉพาะบริษัทซึ่งมีการประชุมใหญ่เท่านั้นไม่

เมื่อโจทก์มิได้เริ่มต้นคดีด้วยการร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทแต่กลับฟ้องบริษัทเป็นจำเลย ทางที่ผู้มีส่วนได้เสียจะเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีได้จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาด้วยการร้องสอด

ผู้ร้องสอดเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการบริษัทจำเลยตามมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะเข้ามาในคดีเพื่อขอความรับรองคุ้มครองบังคับตามสิทธิของตนได้โดยการร้องสอดเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) บริษัทจำเลยจะต่อสู้คดีหรือยอมรับตามคำฟ้องหรือขาดนัดไม่ต่อสู้คดีประการใด ก็หาเป็นการตัดสิทธิผู้ร้องสอดไม่

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 ผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(2) ไม่อาจใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จำเลยมีอยู่ในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การผู้ร้องสอดจะร้องสอดเข้ามาเพื่อเป็นจำเลยร่วมหรือแทนที่จำเลยตามมาตรา 57(2) ย่อมหาประโยชน์มิได้เพราะไม่มีสิทธิในการต่อสู้คดีเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งขาดนัด