Pages

คำบังคับ

 มาตรา ๒๗๒  ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ศาลออกคำบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้วในวันนั้น


ในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา และลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทนายความ หรือผู้รับมอบฉันทะจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวให้มาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง มิได้อยู่ในศาลในเวลาที่ออกคำบังคับ ให้บังคับตามมาตรา ๑๙๙ ทวิ หรือมาตรา ๒๐๗ แล้วแต่กรณี


มาตรา ๒๗๓  ถ้าในคำบังคับได้กำหนดให้ใช้เงิน หรือให้ส่งทรัพย์สิน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใด ๆ ให้ศาลระบุไว้ในคำบังคับนั้นโดยชัดแจ้ง ซึ่งระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ อันจะต้องใช้เงิน ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ นั้น แต่ถ้าเป็นคดีมโนสาเร่ศาลไม่จำต้องให้เวลาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าสิบห้าวันในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น


ในคดีที่มีเหตุตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง ให้ศาลให้เวลาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน


ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับแต่วันที่ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในเวลาที่ออกคำบังคับหรือในภายหลังว่าให้นับแต่วันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


ในระหว่างที่ระยะเวลาตามคำบังคับยังไม่ครบกำหนดหรือการปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขในคำบังคับยังไม่เสร็จสิ้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก็ได้


ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคสี่แล้ว คำสั่งนั้นยังคงมีผลต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ขอบังคับคดีภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นอันยกเลิกเมื่อสิ้นระยะเวลาเช่นว่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2562

เงินค่าธรรมเนียมที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หมายถึงเฉพาะค่าธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล หารวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีแล้ว ค่าใช้จ่ายในการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองจึงหาใช่ค่าธรรมเนียมที่ต้องนำมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562

การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2562

คดีนี้พฤติการณ์ของผู้ร้องและโจทก์มีพิรุธน่าสงสัย เชื่อว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นในการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1440/2548 ของศาลจังหวัดจันทบุรี และบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 ของจำเลยออกขายทอดตลาดโดยให้ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและบังคับขับไล่ผู้คัดค้านออกจากที่ดิน ทั้งที่โจทก์ทราบดีว่าผู้คัดค้านปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทและมีรั้วกำแพงล้อมรอบมานาน 20 ปีเศษแล้ว ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 จากจำเลยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2545 ในราคา 800,000 บาท ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยได้มอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องแล้วตั้งแต่ปี 2546 หากจำเลยไม่จดทะเบียนโอนสิทธิการครอบครองที่ดินให้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิฟ้อง กลับมาประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขายทอดตลาดซึ่งต้องใช้เงินเพิ่มอีก 3,100,000 บาท อันมิใช่วิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ออกคำบังคับผู้คัดค้านและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2562

ในชั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกาของโจทก์ มิได้กำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาแม้ศาลชั้นต้นระบุในรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งทนายโจทก์มาศาลว่า ...หมายแจ้งจำเลยทั้งสองแก้ฎีกา ให้โจทก์นำส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ในการนำส่งหรือวางค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการส่งหมายนัดแจ้งจำเลยทั้งสองให้แก้ฎีกาว่าให้โจทก์ดำเนินการภายในเวลาเท่าใด ซึ่งหากโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติก็จะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจำหน่ายฎีกาของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 การที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ทนายโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่เคยโทรศัพท์แจ้งให้มาดำเนินการส่งหมายแล้ว แต่โจทก์หรือทนายโจทก์ไม่ได้มาดำเนินการนั้น ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในการติดต่อโทรศัพท์ว่าทนายโจทก์แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ศาลว่าอย่างไร เหตุใดจึงไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล เนื่องจากในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและคำบังคับ โจทก์ก็เพียงแต่วางค่าธรรมเนียมในการส่งเท่านั้น ทนายโจทก์อาจเข้าใจว่าได้วางค่าธรรมเนียมในการส่งไว้ตั้งแต่วันยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้ว จึงไม่ดำเนินการนำเจ้าหน้าที่ไปส่งหมายนัดให้แก่จำเลยทั้งสองและไม่วางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นอีก ตามพฤติการณ์จะถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีอันเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 (2) หาได้ไม่ จึงยังไม่สมควรจำหน่ายฎีกาของโจทก์ด้วยเหตุทิ้งฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2561

ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) - (5)


คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์อ้างเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในทำนองว่า หากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ารับโอนหุ้นของบริษัท ม. ภายหลังจากบริษัท ม. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แม้ยังอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายให้สิทธิผู้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัท ม. จากผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่อาจดำเนินการโอนหุ้นบริษัท ม. ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ เพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของบริษัท ม. ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ไม่เข้าเหตุยกเว้นตาม มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8692/2560

คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเป็นการยื่นฟ้องจำเลยและบริวารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ การยื่นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 ที่เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." การที่ผู้คัดค้านยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7649/2560

จำเลยทั้งสองตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทไปให้พ้นจากอำนาจศาลหรือขายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับใดๆ หรืออาจจะออกคำบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสอง คำฟ้องโจทก์จึงมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยโต้แย้งว่า วิธีการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) นั้น ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวมาใช้หรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ที่ศาลจะมีคำสั่งต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคสาม (เดิม) กรณีจึงไม่อาจเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4142/2560

ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลย 3,600,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเดือนละ 50,000 บาท โดยอาศัย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 162 วรรคหนึ่ง นั้น ไม่อาจทำได้เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามคำพิพากษา จึงกำหนดมาตรการขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับชำระจริง หาใช่เพื่อกำหนดวิธีการชำระหนี้เป็นก้อนหรือผ่อนชำระให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดไม่ โจทก์มีหน้าที่ตามคำบังคับที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559

เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617 - 6619/2559

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2559

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 วันที่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ในคดีดังกล่าวจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กล่าวคือ คำขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดพิจารณา แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว คดีดังกล่าวศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าการส่งคำบังคับมีผลในวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เมื่อมิได้ขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 30 ตุลาคม 2545 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2559

จำเลยทั้งสองทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยเหตุว่าตามคำร้องมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการยื่นคำขอล่าช้า จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 โดยอธิบายเหตุแห่งการขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการที่ล่าช้า เพื่อให้คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง กรณีดังกล่าวมีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสองสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับที่สองได้โดยไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 144 แต่คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 หรือคำร้องฉบับที่สอง แม้จะมีเนื้อหาต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรก และจำเลยทั้งสองใช้ชื่อคำร้องว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เพิ่มเติมก็ตาม แต่คำร้องฉบับที่สองก็คือคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั่นเอง และระยะเวลาการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง คือภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ หรือในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 ค้นพบคำบังคับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 จึงถือว่าวันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำวันดังกล่าวมาใช้คำนวณระยะเวลา ดังนั้น เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 จึงพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง


คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง จะต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล และเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้ากว่ากำหนดตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอฉบับแรกวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งแต่เพียงเหตุที่จำเลยทั้งสองได้ขาดนัดยื่นคำให้การตามคำร้องขอข้อ 1 และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลว่าจำเลยทั้งสองมีทางชนะคดีโจทก์ตามคำร้องขอข้อ 2 เท่านั้น ส่วนเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้าจำเลยทั้งสองมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองไม่อาจยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้นโดยมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันจะทำให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ศาลจึงไม่อาจไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองฉบับแรกได้จนกว่าจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยบรรยายชัดแจ้งซึ่งเหตุทั้งสามประการตามบทกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15503/2558

กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา บัญญัติให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งในคดีล้มละลายแม้จะไม่มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยดังเช่นในคดีแพ่งก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกไปยังจำเลยเพื่อไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถือเสมือนว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งจำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15324/2558

จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่า ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบ เป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้พิจารณาคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่เป็นที่สุด ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว


เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2555 พนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 370/207 หมู่ที่ 21 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2557 จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่า จำเลยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 370/207 หมู่ที่ 21 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น แต่มิใช่ที่อยู่ที่แท้จริงเพราะจำเลยพักอาศัยอยู่ที่ราชอาณาจักรเดนมาร์กตลอดมาไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ป. น้าจำเลยโทรศัพท์บอกว่าคนดูแลบ้านของจำเลยเห็นโจทก์กับพวกเข้าไปในบ้านจำเลย หลังจากตรวจสอบแล้วปรากฏว่าบ้านและที่ดินถูกยึด จำเลยติดต่อทนายความจึงทราบว่าถูกโจทก์เป็นคดีนี้ อันเป็นกล่าวอ้างว่ากรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยจะต้องบรรยายให้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ยื่นคำขอภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด ทั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 จำเลยได้แต่งตั้งทนายความยื่นคำร้องขอถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนเพื่อยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ จึงต้องถือว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ดังกล่าวได้สิ้นสุดอย่างช้าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 แล้ว แต่จำเลยเพิ่งยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันที่ 28 มกราคม 2557 จึงพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15022/2558

แม้ศาลจะมีคำสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 กับโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 เข้าด้วยกัน ทั้งออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับเดียวกันก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละรายเป็นสิทธิที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์แต่ละคน จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งหมดมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ขออายัดเงินต่อสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอก และแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่ายินดีรับเงินตามจำนวนที่บุคคลภายนอกแจ้งมา เป็นการบังคับคดีเฉพาะตัว เมื่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 มิได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนเฉลี่ยจากเงินจำนวนดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีและจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14122/2558

หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับ เป็นกรณีที่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 278 จะเห็นได้ว่า การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ คดีนี้ผู้แทนโจทก์นำเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดมายื่นไม่ครบจึงไม่สามารถยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือแจ้งผู้แทนโจทก์ให้ไปพบเพื่อแถลงว่ายังประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ และให้มาแถลงยึดทรัพย์ แต่ก็ไม่มีการติดต่อเพื่อดำเนินการใดๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยึดที่ดินทั้ง 11 แปลง ดังกล่าว และสำนวนบังคับคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอปลดเผา เช่นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่มีสิทธิยึดต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้ง 11 แปลงไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2558

ในการขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลในครั้งที่สองแต่อย่างใด คงมีเพียง ศ. ผู้รับมอบฉันทะจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลออกไปอีก 30 วัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าว


ป.วิ.พ. มาตรา 64 บัญญัติให้คู่ความหรือทนายความอาจมอบฉันทะให้บุคคลอื่นทำการแทนในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือกำหนดวันนั่งพิจารณาหรือวันสืบพยานหรือวันฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล มาฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล หรือสลักหลังรับรู้ซึ่งข้อความนั้น ๆ รับสำเนาแห่งคำให้การ คำร้องหรือเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 และ 72 และแสดงการรับรู้สิ่งเหล่านั้น ส่วนกิจการอื่นนอกจากนี้ต้องพิเคราะห์เป็นเรื่อง ๆ ไปว่าเป็นกิจการสำคัญซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าคู่ความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองหรือไม่ การที่ ศ. ทำคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลลงชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนโดยอาศัยใบมอบฉันทะของจำเลยที่ 2 ที่ระบุไว้ให้ทำคำร้องได้นั้น เห็นได้ว่าเป็นกิจการอื่นนอกจากที่ ป.วิ.พ. มาตรา 64 บัญญัติไว้ และเป็นกิจการสำคัญที่คู่ความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเอง ไม่อาจแต่งตั้งให้บุคคลทำการแทนได้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวไม่ทำให้ ศ. อยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) เมื่อ ศ. มิใช่ผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความและมิได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น การเรียงคำร้องอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่จำเลยที่ 2 ของ ศ. ดังกล่าวจึงขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 ดังนั้น คำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13240/2558

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 นั้น เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ฉะนั้น ผู้ที่อ้างอำนาจพิเศษดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงต่อศาลมิใช่กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ผู้ร้องยื่นคำร้องและฎีกาว่า ผู้ร้องเช่าที่ดินจากจำเลยเพื่อปลูกต้นยางพารา มีกำหนดเวลา 30 ปี โดยที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในที่ดินที่ผู้ร้องเช่า เมื่อผู้ร้องไม่มีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงว่า ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อย่างไร จึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ที่ดินพิพาท การที่ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงถือว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์โดยอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12167/2558

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคห้าและวรรคหก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้ ขอออกคำบังคับและขอออกหมายบังคับคดีต่อศาล เพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้ง อันเป็นอำนาจและหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องดำเนินการ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลออกคำบังคับและส่งคำบังคับเพื่อบังคับคดีแก่ผู้ถูกทวงหนี้ไว้แล้วโดยชอบก็ตาม แต่ลูกหนี้ก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตามมาตรา 90/39 วรรคหก ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558

เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคำพิพากษาก่อให้เกิดหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะต้องออกคำบังคับตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 272 คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยขาดนัดให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำบังคับในวันมีคำพิพากษาได้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกคำบังคับ โดยส่งคำบังคับไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี หากหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี จากนั้นต้องดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีและแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติในการร้องขอให้บังคับคดีไว้ โดยหาได้บัญญัติให้ต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 231 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้คำพิพากษาผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษาถูกเปลี่ยนแปลง กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี และแม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิขอให้บังคับคดี เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับและได้รับอนุญาตจากศาล ในกรณีนี้ระยะเวลาบังคับคดีภายในสิบปีต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น


คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยจำเลยขาดนัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ วันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนในการขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คือวันที่ 3 เมษายน 2553 ปรากฏว่า ผู้เข้าสวมสิทธิเพิ่งยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้แล้ว จึงหามีเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่เพราะระยะเวลาสิบปีในการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุด มิใช่จะต้องเริ่มนับแต่คดีถึงที่สุด

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558

ในคดีแพ่งนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคำพิพากษาก่อให้เกิดหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะต้องออกคำบังคับซึ่งก็คือคำสั่งแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา กำหนดวิธีที่จะปฏิบัติ ระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่จำเป็น กับกำหนดวิธีบังคับ ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 272 โดยหากคู่ความฝ่ายที่ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในศาลในเวลาที่ศาลได้มีคำพิพากษา ศาลมีอำนาจออกคำบังคับและให้คู่ความฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยขาดนัดให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำบังคับในวันมีคำพิพากษาได้ จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกคำบังคับอันเป็นขั้นตอนตามกฎหมายก่อนที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี โดยส่งคำบังคับไปให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาจนครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี หากหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี จากนั้นต้องดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดทั้งอายัดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีสิทธิได้รับจากบุคคลภายนอก ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติในการร้องขอให้บังคับคดีไว้ จะเห็นได้ว่า หาได้บัญญัติให้ต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ ซึ่งสอดคล้องรองรับกับบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 231 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้คำพิพากษาผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษานับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษาถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี และแม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิขอให้บังคับคดี เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับและได้รับอนุญาตจากศาล ในกรณีนี้ระยะเวลาบังคับคดีภายในสิบปีต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น


ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยจำเลยขาดนัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ วันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนในการขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคือวันที่ 3 เมษายน 2553 ปรากฏว่า ผู้เข้าสวมสิทธิเพิ่งยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้แล้ว จึงหามีเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองตามคำแถลงของผู้เข้าสวมสิทธิไม่ อุทธรณ์ของผู้เข้าสวมสิทธิที่อ้างว่า คดีนี้ศาลพิพากษาโดยจำเลยทั้งสองขาดนัด จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ และผู้เข้าสวมสิทธิเพิ่งยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 147 วรรคสอง นั้น ไม่เป็นเหตุให้ระยะเวลาในการร้องขอให้บังคับคดีตามที่มาตรา 271 บัญญัติไว้เปลี่ยนแปลงไป เพราะระยะเวลาสิบปีในการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา มิใช่จะต้องเริ่มนับแต่คดีถึงที่สุด

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9217/2558

คำพิพากษาตามยอมกำหนดให้บังคับแก่ห้องชุดจำนองก่อน หากไม่พอชำระจำเลยยอมชำระส่วนที่ขาดจนครบ ตราบใดที่ยังมิได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง ก็ไม่อาจทราบว่ายังมีหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมเหลืออยู่อีกเพียงใดที่จำเลยยินยอมจะชำระหนี้นั้นจนครบ เมื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต้องอาศัยและตามคำบังคับคดีที่ได้ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยให้ผิดไปจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้


การบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นกำหนดให้ยึดห้องชุดจำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดจนครบเป็นการกำหนดลำดับในการบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและตราบใดที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังขายทอดตลาดห้องชุดจำนองตามคำพิพากษาไม่ได้ ก็ไม่อาจทราบว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดห้องชุดจำนองนั้นเพียงพอแก่การชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เพียงใด แม้ห้องชุดจำนองมีราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่ำกว่าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยทั้งสี่ต้องชำระก็ตาม แต่ได้ความว่า โจทก์เพิ่งขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดจำนองเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 และไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีการนำห้องชุดจำนองออกขายทอดตลาดมาก่อนหรือไม่อย่างไร ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นได้นับแต่ปี 2544 เป็นต้นมา การปล่อยให้เวลาการบังคับคดีล่วงเลยมานานแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ขวนขวายที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองภายในเวลาอันสมควร ทั้งยังไม่มีการนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดมาก่อนเลย ย่อมเห็นได้ชัดว่าการบังคับคดีไม่เป็นลำดับไปตามคำพิพากษาของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติให้การบังคับคดีต้องอาศัยและตามคำบังคับที่ได้ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ทั้งไม่มีพฤติการณ์พิเศษอื่นใดที่จะอ้างความเป็นธรรมเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมโดยให้รอขายทอดตลาดไว้ก่อนให้ผิดไปจากคำพิพากษาของศาลซึ่งจะต้องมีการบังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9076/2558

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 3,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทราบตามกฎหมายแล้ว ระหว่างดำเนินการสืบหาทรัพย์เพื่อจะบังคับคดี โจทก์ทราบว่าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 27896 ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก การกระทำของจำเลยเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนเองหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใด อันไม่เป็นความจริงก็ดี โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่า จำเลยได้กระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6718/2558

หนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 ของศาลแพ่งที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 และเป็นคดีที่ลูกหนี้ (จำเลย) อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากลูกหนี้ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม) คดีย่อมถึงที่สุดเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง


พนักงานเดินหมายนำคำบังคับไปส่งให้แก่ลูกหนี้โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2539 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น การส่งคำบังคับมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง คำบังคับที่ส่งให้แก่ลูกหนี้จึงมีผลในวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ลูกหนี้อาจยื่นคำขอ ให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล


กำหนดระยะเวลา 6 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก ตอนท้าย (เดิม) จะนำมาใช้บังคับก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันเป็นผลให้ลูกหนี้ไม่อาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันซึ่งตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ทราบคำบังคับหลังจากล่วงพ้นกำหนดไปแล้ว 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 คดีจึงถึงที่สุดนับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว


หนี้ของเจ้าหนี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด มีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 พ้นกำหนดอายุความสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 เจ้าหนี้เดิมได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ ห้องชุดเลขที่ 722/74 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 และต่อมาเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องและหลักประกันดังกล่าวมาจากเจ้าหนี้เดิม เช่นนี้ สิทธิของเจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนในจำนวนเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการดำเนินการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ในกรณีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีกสำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2558

แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และคืนเงิน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 แต่จำเลยยังคงยื่นฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินแทนโจทก์ร่วมทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 อีก คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอถือตามคำฟ้องของพนักงานอัยการย่อมตกไป ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจออกคำบังคับให้ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนแพ่งได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2558

แม้ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กฎหมายจะให้อำนาจพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้วให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 ก็ตาม แต่ในส่วนของการบังคับคดีส่วนแพ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 249 ยังคงให้นำ ป.วิ.พ.มาใช้บังคับ ดังนี้ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ดังนี้ บุคคลที่จะถูกบังคับคดีได้จึงต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เมื่อมารดาของจำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาประกอบกับคดีนี้ไม่เข้ากรณีที่ผลของคำพิพากษาผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ผู้ร้องจึงไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของมารดาจำเลยได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า มารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องร้องให้มารดาของจำเลยร่วมรับผิดในฐานละเมิดเป็นอีกคดีหนึ่ง ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำพิพากษาคดีนี้เพื่อนำไปใช้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินมารดาของจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2558

ก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ทราบคำบังคับและหมายบังคับคดีได้ออกโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องชำระหนี้ที่เหลือตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ย่อมเป็นกองมรดกตกทอดแก่ทายาท แต่มิใช่ทายาทจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอออกคำบังคับหรือหมายบังคับแก่ทายาทอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2558

ผู้ร้องนำใบหุ้น มาวางประกันการทุเลาการบังคับคดีในชั้นอุทธรณ์ว่า ถ้าจำเลยแพ้คดีโจทก์และไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยอมให้บังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่นำมาวางประกันทันที เป็นการทำสัญญาประกันต่อศาลว่าถ้าจำเลยแพ้คดีผู้ร้องจะชำระหนี้แทน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้มีจำนวนสูงกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลย่อมออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องผู้ร้องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 จึงไม่ใช่กรณีผู้ร้องทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้โจทก์ ตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกัน ดังนั้น จึงไม่อาจนำมาตรา 688 ถึง 690 มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ออกคำบังคับแก่ผู้ร้องได้ หาต้องดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยก่อนไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17210/2557

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จึงดำเนินการทวงหนี้ จนศาลล้มละลายกลางออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างแต่เพียงว่าไม่ทราบเรื่องการทวงถามหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมิได้ปฏิเสธ แต่ก็มิได้โต้แย้งหรือขอให้ศาลเพิกถอนคำบังคับ คำบังคับดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่จำต้องนำสืบอ้างส่งพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน รายการคำนวณยอดหนี้และรายการค่าเสียหาย ภาระหนี้หลังการขายทอดตลาดแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าหนี้ที่ทวงถามโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความ


ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ครั้งที่สองวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้การส่งครั้งแรกพนักงานไปรษณีย์จะแจ้งเหตุขัดข้องในการนำส่งว่า "ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า" แต่ก็ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรท้ายคำแถลงขอจัดส่งคำคู่ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่โจทก์นำส่งหนังสือทวงถามจริง และในการนำส่งหนังสือทวงถามครั้งที่สอง ก็ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวพันเป็นหลานสาวคือ ส. ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่รับหมายเรียกคดีล้มละลายคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทน พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือและทราบการทวงถามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14811/2557

มีการส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยชอบแล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกาซึ่งอาจมีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ แต่ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ได้มีคำพิพากษาแล้วจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับ มีผลเท่ากับศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้นการเริ่มต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางยังคงดำเนินต่อไป คำบังคับของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาจึงมีผลใช้บังคับอยู่ ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาซ้ำอีก เมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับล่วงพ้นไปแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีจึงเป็นไปตามขั้นตอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว ไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนหมายบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20875/2556

ห้องแถวพิพาทที่ถูกยึดนำออกขายทอดตลาดเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้ที่ดินที่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตั้งอยู่จะเป็นของกรมป่าไม้ ก็หาทำให้สิ่งปลูกสร้างนั้นกลับกลายเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ ส่วนที่ประกาศขายทอดตลาดระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์รื้อหรือติดต่อเจ้าของที่ดินก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อทรัพย์จะเลือกดำเนินการ หาเกี่ยวข้องกับจำเลยไม่ การออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20608/2556

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับนายประกัน ออกคำบังคับให้นายประกันชำระค่าปรับตามสัญญาประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายแจ้งคำสั่ง การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องว่า ผู้ประกันจะพยายามติดตามตัวจำเลยมาส่งศาลให้ได้ และขอผัดส่งตัวจำเลยภายใน 1 เดือน ขอให้ศาลงดการบังคับคดีตามสัญญาประกันไว้ก่อน ถือว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งให้บังคับตามสัญญาประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ประกัน ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16121/2556

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยให้โจทก์จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่างตอบแทนกัน โจทก์จำเลยต่างฝ่ายต่างจึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา หาใช่บังคับให้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายอีกต่อไปไม่ การบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์จะรับโอนที่ดินพิพาทโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าที่ดินมาวางศาลภายในกำหนดเพื่อชำระให้แก่จำเลยเสียก่อน ส่วนคำบังคับที่ให้โจทก์ชำระค่าที่ดินให้จำเลยภายใน 30 วันนั้น เป็นเพียงกำหนดเวลาที่ให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้เองเท่านั้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดตามคำบังคับ จำเลยย่อมร้องขอให้ใช้วิธีการบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 การที่โจทก์ยังไม่ชำระหนี้จนพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ จึงหาตัดสิทธิโจทก์ที่จะยอมชำระหนี้ด้วยความสมัครใจในระหว่างถูกบังคับคดีไม่ โจทก์จึงชอบที่จะวางเงินค่าที่ดินชำระหนี้แก่จำเลยแม้จะเกินกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับได้ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ทำให้จำเลยไม่จำต้องบังคับคดีแก่โจทก์ต่อไปเท่านั้น และหาเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะร้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนด้วยไม่ จำเลยจึงไม่อาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีห้ามโจทก์ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12573/2556

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ให้สิทธิแก่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลในคดีเดิมเพื่อออกคำบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ได้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวมิใช่ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่จะโอนกันได้ทางนิติกรรม การที่ผู้ซื้อทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2555

คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อ ป.วิ.อ. ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง อำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6266/2555

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้ประกันผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด ศาลสั่งปรับผู้ประกันให้ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ในขณะที่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการบังคับคดี ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 โดยให้เพิ่มเติมความเป็นวรรคสองของมาตรา 119 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 กำหนดให้อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมนับแต่วันดังกล่าว เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องต้องตรวจสอบสำนวนที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีทั้งหมด และปรากฏว่ามีสำนวนที่ค้างการพิจารณาที่กรมบังคับคดีจำนวนมาก ประกอบกับคดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ นับแต่ผู้ร้องมีอำนาจและหน้าที่ในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีเมื่อสิ้นระยะเวลาบังคับคดีแล้วเป็นเวลานาน 4 ปีเศษ ก็เป็นเพราะมีสำนวนค้างการบังคับคดีเป็นจำนวนมาก ผู้ร้องจึงไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยความรวดเร็ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2555

โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติไว้


ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน..." คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่



อำนาจทั่วไปของเจ้าพนักงานบังคับคดี

มาตรา ๒๗๘ เมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลในการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีและตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้  ทั้งนี้ จะเรียกให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาช่วยเหลือก็ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการดำเนินการบังคับคดีต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลไว้ด้วย


ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางและออกใบรับให้


เงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางโดยมิได้เป็นผลมาจากการยึดหรืออายัด ให้นำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอบังคับคดี เว้นแต่ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยตามมาตรา ๓๒๖ อยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการวางเงินนั้น ก็ให้ถือว่าเป็นเงินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ แต่ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี


ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบันทึกวิธีการบังคับคดีทั้งหลายที่ได้จัดทำไปและเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย แล้วรายงานต่อศาลเป็นระยะ ๆ ไป


ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมอบหมายให้บุคคลอื่นปฏิบัติการแทนก็ได้  ทั้งนี้ ตามคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


ให้หักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ท้ายประมวลกฎหมายนี้ เพื่อให้กรมบังคับคดีพิจารณาจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคห้าโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน  ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง


มาตรา ๒๗๙ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรักษาไว้โดยปลอดภัยซึ่งเงิน ทรัพย์สิน และเอกสารที่ได้มาตามอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งให้มีอำนาจขัดขวางมิให้บุคคลใดสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารเช่นว่านั้น ตลอดจนมีอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารดังกล่าวจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือเอาไว้


ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในกรณีเช่นนี้ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องหรือผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี


มาตรา ๒๘๐ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ และให้รายงานการส่งเอกสารนั้นรวมไว้ในสำนวนการบังคับคดีด้วย  ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๘ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

นอกจากการส่งเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศก็ได้ โดยให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ถ้าการส่งเอกสารไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในเอกสารหรือมอบหมายเอกสารไว้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้ว หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร  ทั้งนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรกำหนดไว้ล่วงพ้นไปแล้ว นับแต่เวลาที่เอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้หรือการโฆษณาหรือวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว


การส่งเอกสารให้แก่คู่ความและบุคคลภายนอก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักร ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ หรือโดยผ่านกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ หากไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุที่ภูมิลำเนาและสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏหรือเพราะเหตุอื่นใดหรือเมื่อได้ดำเนินการส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกแล้วแต่ไม่อาจทราบผลการส่งได้ ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร ให้มีอำนาจสั่งให้ส่งเอกสารโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานที่ตั้งของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร


มาตรา ๒๘๑ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีในวันทำการงานปกติในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ถ้ายังไม่แล้วเสร็จประกอบกับมีความจำเป็นและสมควรจะกระทำต่อไปในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้


ในกรณีที่มีความจำเป็นและสมควร ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินการบังคับคดีนอกวันทำการงานปกติหรือในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้


ในการดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแสดงหมายบังคับคดีให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์สินที่จะถูกบังคับคดีทราบ ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่อยู่หรือไม่อาจแสดงหมายบังคับคดีแก่บุคคลดังกล่าวได้ด้วยเหตุใด ๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดสำเนาหมายบังคับคดีไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ที่ดำเนินการบังคับคดีนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเป็นการแสดงหมายบังคับคดีให้บุคคลดังกล่าวทราบแล้ว


มาตรา ๒๘๒ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชีเอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ใด ๆ ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาครอบครองหรือครอบครองร่วมกับผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจค้นสถานที่ดังกล่าว ทั้งมีอำนาจตรวจสอบและยึดบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาเพื่อตรวจสอบได้ และมีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามที่จำเป็น เพื่อเปิดสถานที่ดังกล่าวรวมทั้งตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของอื่น ๆ


มาตรา ๒๘๓ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ที่บุคคลอื่นครอบครองอยู่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายค้นสถานที่นั้น เมื่อได้รับคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลไต่สวนโดยไม่ชักช้า ถ้าเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่ามีเหตุอันควรเชื่อตามที่ร้องขอ ให้ศาลมีอำนาจออกหมายค้นสถานที่นั้นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบและยึดทรัพย์สินหรือสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวภายในขอบเขตและเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็น ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำขอคำสั่งเช่นว่านั้นให้เป็นที่สุด


มาตรา ๒๘๔ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการไปตามความจำเป็นและสมควรแห่งพฤติการณ์เพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ ในกรณีที่มีผู้ขัดขวางหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในการนี้ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ขัดขวางได้เท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี


มาตรา ๒๘๕ ความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายที่เกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการยึด อายัด หรือขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี หรือการบังคับคดีโดยมิชอบในกรณีอื่นย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกอยู่แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ในกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้


ในกรณีที่ความรับผิดตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือตามกฎหมายอื่นไม่ว่าโดยบุคคลใด ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม


ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอันจะต้องยึดหรืออายัด หรือไม่ขายทรัพย์สิน หรือไม่ดำเนินการบังคับคดีในกรณีอื่น หรือไม่กระทำการดังกล่าวภายในเวลาอันควรโดยจงใจหรือปราศจากความระมัดระวัง หรือโดยสมรู้เป็นใจกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๒๘๖ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอื่นที่ไม่ใช่ศาลยุติธรรม คำว่า ศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๘๕ วรรคสอง ให้หมายถึงศาลนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2562

เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงกำหนดให้คู่ความใช้ค่าทนายความให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1171/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ไปยังบริษัท อ. ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 อันเป็นการดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาวันที่ 10 เมษายน 2549 แล้ว กล่าวคือ โจทก์เดิมได้ขอศาลออกหมายบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 และวันที่ 9 กันยายน 2553 และศาลได้ออกหมายบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2553 หลังจากนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ยังไม่มีการขายทอดตลาด โจทก์จึงไม่อาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องอื่นของจำเลยได้ และมีคำสั่งยกคำร้อง แต่ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและหากระยะเวลาการบังคับคดีสิ้นสุดลง ก็ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปอีก 60 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ย่อมเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวแล้ว และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีภายในระยะเวลาการบังคับคดี และชอบที่ศาลชั้นต้นจะแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยไม่จำต้องอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องอีก เพราะขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 อยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการบังคับคดี แม้ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอแยกสำนวนไปดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 60 วันตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าผู้ร้องประสงค์ที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องขอที่ได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ให้ตามคำร้องขอของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562

การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า โจทก์นำยึดที่ดินมรดกโดยยังมิได้ตกลงแบ่งกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าอันเป็นการบังคับคดีไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามคำพิพากษาจนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลของการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี กฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี แต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฏิบัติในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้เสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์นำยึดที่ดินมรดกเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีตามสิทธิที่โจทก์ได้รับดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดนั้น จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับในทรัพย์สินที่ยึด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561

ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8034/2561

ตามฎีกาของจำเลยยืนยันว่า การขายทอดตลาดที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้และที่ยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 เป็นการขายทั้งโครงการจัดสรรของจำเลย และปรากฏในอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลย ที่ดินในโครงการถูกโอนขายไปยังผู้ซื้อบางส่วนแล้ว โจทก์จึงยึดได้เฉพาะที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายไปเท่านั้น และเป็นการยึด 2 คดี คือ คดีนี้ยึดที่ดิน 20 แปลง คดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ยึดที่ดิน 60 แปลง ข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงตรงกันว่า ที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายถูกยึดไว้ในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้และที่ถูกยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้นโดยจะขายรวมกันไป จึงเป็นการขายที่ดินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดในโครงการจัดสรรของจำเลยในคราวเดียวกัน โดยไม่จำต้องเป็นการขายที่ดินครบถ้วนทุกแปลงเต็มจำนวนที่ดินแปลงย่อยที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดินไว้เท่านั้น แต่กรณีเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการเช่นกัน อันมีผลให้ผู้ซื้อจะต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินและรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคสี่ แต่การรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งโครงการได้จากการขายทอดตลาดจะต้องดำเนินการภายหลังจากเป็นผู้ประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง


นอกจากนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8918 และ 8919 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและสวนสาธารณะของโครงการจัดสรรดังกล่าว ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการขายที่ดินจัดสรรทั้งโครงการด้วย ซึ่งเมื่อผู้ซื้อต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร กรณีเช่นนี้ จึงไม่ใช่การก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 33 ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกันไปกับที่ดินแปลงอื่นทั้งหมดอันเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม)

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 21/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7842/2561

การที่โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายสำหรับสิทธิเรียกร้องของบริษัท น. จำเลยที่ 1 ในคดีของศาลล้มละลายกลางหมายเลขแดงที่ ฟ.45/2553 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับโจทก์โดยเฉพาะ มิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็มิได้มีการวินิจฉัยกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับว่า โจทก์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068 - 7084/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดแต่ละห้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การขอให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและออกหนังสือปลอดชำระหนี้ อยู่ในอำนาจหน้าที่และขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 โดยตรง เมื่อทางพิจารณาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นผู้จัดการหรือในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวกระทำการนอกเหนือจากขอบอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 อันมีลักษณะเป็นการละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 14


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่


ในส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนดนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) จะไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินส่วนนี้เป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชอบที่จะเรียกร้องเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 เรียกไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว เมื่อพฤติการณ์เชื่อได้ว่าโจทก์ทราบถึงภาระหนี้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแล้วเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ก็ต้องถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้สำหรับห้องชุดแต่ละห้องให้แก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2561

ป.วิ.พ. มาตรา 304 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะฟ้อง บัญญัติสรุปได้ว่า การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาเก็บรักษาและฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน เมื่อได้แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินนั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมาย เช่นนี้ การยึดอสังหาริมทรัพย์ดังเช่นการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้โดยที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก. อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่นำเอา น.ส.3 ก. มาเก็บรักษาไว้และฝากไว้แก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินทราบ ย่อมถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว การที่โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ต้องนำส่งภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ที่ตั้งทรัพย์เท่านั้น หากภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินหรือแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ไม่ถูกต้อง ก็มิได้ผูกมัดเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ย่อมมีสิทธิแก้ไขให้ถูกต้องได้ การที่ จ. ผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยผู้แทนจำเลยที่ 1 ระบุว่าเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ซึ่งผิดไปจากความจริง เพราะที่ถูกแล้วจะต้องเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 นั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้แทนจำเลยที่ 1 แถลงผิดพลาดไป แต่หาทำให้การยึดเสียไปไม่ เพราะขั้นตอนการยึดได้กระทำโดยครบถ้วนตามกฎหมายดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจาก ถ. กรรมการโจทก์คดีนี้ว่า ที่ดินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดเป็นการซื้อเหมา รวม 64 แปลง รวมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จประมาณ 30 ห้อง และก่อนที่จะซื้อทอดตลาดโจทก์เข้าไปตรวจสอบที่ดินทุกแปลง โดยทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่อยู่บนที่ดินต้องทำการปรับปรุงซ่อมแซมทุกหลัง อีกทั้งได้ความจาก ส. พยานโจทก์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดแต่ละหลังยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การที่ จ. ผู้นำยึดทรัพย์แทนจำเลยที่ 1 ได้ทำการยึดทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง และโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดที่มีการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ รวม 64 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง เมื่อดูตามภาพถ่ายแล้ว ปรากฏว่าสภาพภายนอกของทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 และ 129/78 มีสภาพไม่ต่างกัน เพียงแต่ทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 มีประตูโครงเหล็กกั้นเท่านั้น ส่วนสภาพภายในไม่ปรากฏชัด และเมื่อพิเคราะห์สภาพโครงการตามภาพถ่ายเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุที่ทาวน์เฮาส์ของโครงการยังสร้างไม่เสร็จเพราะมีการทิ้งร้างโดยมีสภาพเหมือนกันทุกหลัง การที่ จ. ระบุเลขที่บ้านผิดพลาดไปซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จนถึงกับทำให้สำคัญผิดไปได้ว่าทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่ตนซื้อต้องมีสภาพที่เหมือนทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ตามที่อ้าง เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 มีสภาพต่างจากทาวน์เฮาส์หลังอื่นๆ ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดในคราวเดียวกันอย่างไร อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาในการประมูลซื้อทอดตลาด กรณีความผิดพลาดในการระบุเลขที่บ้านของ จ. จึงยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียหาย คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356 - 5371/2561

การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่ โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จนครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 29 วรรคสอง, 41 และข้อบังคับกับเงื่อนไขที่ระบุในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 5 ปี ย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพียงจำนวนที่โจทก์เสนอขอชำระและออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ โดยไม่ยอมชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมค้างชำระทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้รับผิดตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2561

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 การที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนทรัพย์สินที่ขายอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องแล้วยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้บังคับจำเลยและบริวารของจำเลยที่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการยื่นฟ้องกล่าวหาจำเลยและบริวารของจำเลยต่อศาลขึ้นใหม่ตามวิธีการที่ ป.วิ.พ. มาตรา 334 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามมาตรา 247 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ (เดิม) ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 3 มาใช้บังคับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกาจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน


เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2561

การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลอดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2561

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 57, 67, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145


โจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ ขอให้ออกหมายบังคับคดี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้น มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่


เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่า หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด


ทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้ ศาลฎีกา เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสาม ดังกล่าวหมายถึง กรณีกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือหากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว


อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ โดยเห็นควรให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)