Pages

การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา ๒๒๖  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘


(๑) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(๒) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงานคู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป


เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา


มาตรา ๒๒๗  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา และให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี


มาตรา ๒๒๘ ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

(๑) ให้กักขัง หรือปรับไหม หรือจำขัง ผู้ใด ตามประมวลกฎหมายนี้

(๒) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป หรือ

(๓) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ


คำสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป


แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้น จะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์ หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น


ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา ๒๒๓


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2562

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ และยกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10300/2559

จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ แต่ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีคำสั่งให้งดการชี้สองสถาน และให้นัดสืบพยานโจทก์และพยานฝ่ายจำเลยต่อไป จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้าน กลับแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานและดำเนินกระบวนพิจารณาถามค้านพยานโจทก์ที่นำเข้าสืบและนำสืบพยานจำเลยที่ 1 จนเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ และถือได้ว่ากรณีไม่มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือไม่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอุทธรณ์ได้อีก เพราะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3202/2559

แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมที่รวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ไว้ด้วย แต่เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งประเด็นข้อพิพาทของศาลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในวันถัดจากวันที่ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. 226 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12434/2558

คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งได้จะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ และต้องอุทธรณ์คำสั่งหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณานั้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ในส่วนอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไว้ด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบและถือว่าปัญหานี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 การที่จำเลยฎีกาปัญหานี้ขึ้นมาจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10010/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัท อ. และบริษัท อ. ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัท อ. ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท อ. ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการไม่ชอบ


เมื่อผลของคำพิพากษาศาลฎีกามีเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7206/2558

ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุแต่เพียงว่า ในวันดังกล่าวมีการสืบพยานโจทก์และโจทก์อ้างส่งเอกสาร 7 อันดับ ศาลหมาย จ.1 ถึง จ.7 โดยจำเลยแถลงคัดค้านว่า แผนผังสมาชิก หนังสือเรื่องขอรับรางวัลเกียรติยศและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 โจทก์มิได้มีการจัดส่งสำเนาให้แก่จำเลยก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงบันทึกไว้ โดยมิได้มีคำสั่งใด ๆ ว่าจะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งเรื่องดังกล่าว โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องโต้แย้งเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลชั้นต้นเพิ่งจะมีคำสั่งไม่รับฟังพยานเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 1 โดยระบุไว้ในคำพิพากษา จึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4474/2558

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีร้องขัดทรัพย์ที่ สข.8/2554 จะถึงที่สุด จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้ยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่และยกคำร้องขอเฉลี่ยของผู้ร้อง ซึ่งไม่ทำให้คดีตามคำร้องขอเฉลี่ยของผู้ร้องเสร็จไปจากศาล และมิใช่เป็นคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 227, 228 ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 (1) ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อมา ก็ต้องถือว่าฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558

คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18330/2557

คำสั่งรับฟ้องแย้งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17023/2557

การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการคัดค้านก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่ง แต่ภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลาง ถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7929/2557

การโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาภายในเวลาที่สมควรนั้น ต้องโต้แย้งภายหลังเมื่อศาลออกคำสั่งแล้ว ตามข้อเท็จจริงผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก่อนหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างตนเอง และหรืออ้างบุคคลอื่นเข้ามาเบิกความเป็นพยานได้ อีกทั้งพยานเอกสารที่ได้อ้างประกอบการถามพยานผู้ร้องที่ศาลแพ่งก็ไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ อันมีผลเท่ากับให้ถือเอาบัญชีระบุพยานที่นาย ด. เคยยื่นไว้ก่อนถึงแก่ความตายเป็นบัญชีระบุพยานของผู้คัดค้าน และอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากผู้ร้องไม่เห็นด้วยก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ แต่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าว จนกระทั่งถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นวันอ่านคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นเวลา 2 เดือนเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จึงเป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10758/2556

ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260/2556

ตาม ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 หมวด 1 วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ไม่นำวิธีพิจารณาคดีสามัญมาใช้บังคับ จำเลยได้ยื่นคำให้การฉบับแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ก่อนวันกำหนดนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน จึงยังมีเวลาที่จำเลยจะยื่นคำร้องแก้ไขคำให้การได้อีกจนกว่าจะถึงวันนัด ครั้นถึงวันนัด คู่ความประสงค์จะเจรจาตกลงกันศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้อีกจนถึงวันดังกล่าว แม้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 193 วรรคสี่ บัญญัติว่า ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ โดยให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ก็ตาม แต่กรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้ภายในกำหนดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยเลื่อนยื่นคำให้การได้ซึ่งหมายรวมถึงการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ด้วย ทั้งปรากฏว่าในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน ที่เลื่อนมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลชั้นต้นได้จ่ายสำเนาให้ พ. ทนายโจทก์รับสำเนาแล้ว ทนายโจทก์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการสั่งโดยชอบ หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบ โจทก์ต้องโต้แย้ง แต่โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งคำสั่งให้รับคำให้การอันเป็นคำคู่ความเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงในรายงานหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งเป็นหนังสือ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยดังกล่าวเพราะทนายโจทก์ฉ้อฉลไม่แจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้แต่งตั้ง พ. เป็นทนายความของโจทก์มีอำนาจในการว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมทั้งการจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ด้วย โจทก์ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดชอบในสิ่งที่ พ. ตัวแทนของโจทก์กระทำไปภายในขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายด้วย ข้ออ้างของโจทก์ที่ปฏิเสธไม่รับรู้การปฏิบัติหน้าที่ของ พ. จึงไม่มีเหตุผลรับฟัง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไว้โดยชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7766/2556

ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย วันที่ 19 มกราคม 2553 ก่อนสืบพยานศาลสอบถามทนายจำเลยเกี่ยวกับปัญหาอำนาจศาลตามคำให้การจำเลย ทนายจำเลยแถลงยังติดใจในประเด็นดังกล่าว และศาลวินิจฉัยว่ากรณีไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย โดยไม่ได้เสนอปัญหาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย อันเป็นคำสั่งในระหว่างการพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง และศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 จึงไม่รับวินิจฉัยให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2556

บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี หาได้ใช้บังคับเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้นไม่ แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา ผู้อุทธรณ์ก็อยู่ในบังคับต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์เช่นกัน การจำกัดสิทธิการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 หาได้เป็นบทบัญญัติยกเว้นให้ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 ไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลย ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และจำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยอนุญาตให้สืบพยานจำเลยและพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกเลิกเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว การอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรง จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที และกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมา ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7899/2555

โจทก์และจำเลยแถลงรับกันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านพิพาท และตกลงกันได้แล้วว่าจะแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลย แล้วชำระราคาบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งตามฟ้อง คงมีปัญหาเฉพาะเรื่องราคาบ้านพิพาทซึ่งจำเลยยังไม่ยอมรับราคาตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและพิพากษาให้นำบ้านพิพาทออกขายโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลย หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการแบ่งกรณีเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร จึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานก็ตาม แต่กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาให้ได้ความจริงตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ มิใช่ประเด็นที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและจำเลยมิได้คัดค้านไว้ จึงเห็นควรให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12053/2554

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ผู้เยาว์นี้เป็นคำสั่งในคดีที่ผู้เยาว์ขอให้แบ่งทรัพย์มรดก หาใช่เป็นอีกคดีหนึ่งไม่ และเป็นดุลยพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้ที่สมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ผู้เยาว์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ทั้งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย อีกทั้งมิใช่คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 หรือมาตรา 228 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8819/2554

เมื่อศาลชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบแล้ว คู่ความมีสิทธิคัดค้านได้ และเมื่อศาลชี้ขาดคำคัดค้านแล้วคำชี้ขาดดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 226 คดีนี้ ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้กำหนดประเด็นเพิ่มเติม ศาลภาษีอากรกลางไม่กำหนดให้ เป็นการชี้ขาดคำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ต้องโต้แย้งไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไป จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว อันจะมีผลให้จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553

ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9330 - 9333/2553

จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องโดยขอให้กำหนดประเด็นเพิ่มว่า จำเลยทั้งสามต่อเติมผนังคอนกรีตด้านหลังตึกแถวของจำเลยทั้งสามรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยสุจริตหรือไม่ด้วย หากศาลไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มให้แก่จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงขอคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่า คำให้การของจำเลยทั้งสามไม่ชัดแจ้งว่าจะต่อสู้ไปในทางใด จึงไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทให้ ถือเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสาม จำเลยทั้งสามต้องโต้แย้งคำสั่งชี้ขาดของศาลชั้นต้นนั้นไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง จึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้จำเลยทั้งสามจะถือเอาคำร้องของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลแล้วไม่ได้เพราะเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชี้ขาด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ ถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยในปัญหาเรื่องนี้ให้จำเลยทั้งสาม โดยเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ก็เป็นการไม่ชอบ เพราะต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวมิให้อุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสามถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8377/2553

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 มิใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18, 227, 228


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8977/2551

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5383/2551

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง และนัดฟังคำพิพากษา เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว แต่การที่จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยทั้ง สองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) แล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งให้งดสืบพยานของศาลชั้นต้นได้ แต่อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับคำสั่งให้งดสืบพยานของศาลชั้นต้นนั้น มิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ชัดแจ้งอย่างใด เพียงแต่กล่าวอ้างถึงอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองนั้นชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2551

ศาลชั้นต้นยังมิได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง ถือว่าคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มให้ถูกต้อง ไม่ใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อคดียังไม่เสร็จไปจากศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ประกอบมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2551

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในการพิจารณาคดีล้มละลาย แต่คำขอท้ายฟ้องมีใจความว่า ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเพิ่มเติม รายงานกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง และมีคำสั่งให้ศาลล้มละลายกลางนัดคู่ความมาพร้อมกันแล้วดำเนินกระบวนพิจารณา ต่อไปอย่างเที่ยงธรรม หากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแทนคำสั่งระหว่างพิจารณาของ ศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลชั้นต้นก้าวล่วงเข้าไปแก้ไขกระบวน พิจารณาในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางซึ่งเป็นศาลที่อยู่ในลำดับชั้นเดียว กันได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับคดีโจทก์ไว้พิจารณาโดยยกฟ้องโจทก์เสีย เพราะเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แทนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2551

ในวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและการ ชำระหนี้บัตรเครดิตของจำเลย ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และรับว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2551

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำ พิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาคดีในวันดังกล่าวโดยนำข้อเท็จจริงจากที่คู่ความ แถลงร่วมกันมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี ดังนั้น คำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นในกรณีนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อ กฎหมายชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือมีการสืบพยานต่อไป ก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ มิฉะนั้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2551

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องที่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำขอออกหมายเรียก โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้อง ห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1), (2) และผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2550

คำสั่งรับฟ้องแย้งของศาลแรงงานภาค 9 ไม่ใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานภาค 9 ไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2550

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหนังสือ รับรองคดีถึงที่สุดที่ศาลชั้นต้นได้ออกให้แก่โจทก์นั้นล้วนเป็นคำสั่งที่ศาล ชั้นต้นได้สั่งหลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แล้ว คำสั่งทั้งสองประการดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา อีกทั้งมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด จำเลยจึงอุทธรณ์คำสั่งทั้งสองดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2550

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อสั่งไม่อนุญาตแล้ว ก็ไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลย ทั้งสองยื่นคำให้การและเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ มิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยทั้งสองอันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 กรณีจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้ง สองยื่นคำให้การ ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ ของจำเลยทั้งสอง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองมา ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็น แห่งอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสอง จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2549

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโดยมิได้สอบถามข้อเท็จจริงใด ๆ จากคู่ความแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จากข้อเท็จ จริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น จึงเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 227 ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 227


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7280/2549

ศาลชั้นต้นได้สั่งรับคำฟ้องแล้ว เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอโอนคดีฉบับที่สองของจำเลย จึงเป็นคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 และคำร้องขอโอนคดีไปศาลอื่นนั้นเป็นวิธีการเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่จะ พิจารณาคดี มิใช่คำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์อย่างใดของคู่ความใน ระหว่างการพิจารณาดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 288 (2) คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอโอนคดีของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม มาตรา 226 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2548

จำเลย ที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคล ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ขอ จึงไม่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 และถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2548

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มให้ถูกต้องเป็นคำสั่งก่อนที่ศาล อุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 แห่ง ป.วิ.พ. จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 แม้โจทก์จะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิเพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิฎีกาต่อไปเมื่อศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้ว ไม่มีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2548

ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งหมายนัดฟังประเด็นกลับให้จำเลยที่ 2 ทราบ แต่ปิดประกาศที่หน้าศาลแทนการส่งหมายตามปกติ จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ เป็นกรณีที่อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 77 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 88/2548

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์มาวาง ศาลภายใน 15 วันนับแต่วันรับหมายนั้น เป็นคำสั่งที่ศาลชั้นต้นปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 หากจำเลยเห็นว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จำเลยชอบที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลภายใน ระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก่อน แล้วใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้เพื่อการใช้สิทธิฎีกาในภายหลังเมื่อ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว การที่จำเลยฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในทันทีในขณะที่ยังถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9219/2547

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทำมาใหม่เป็นคำสั่งชั้น ตรวจคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ตามวรรคสองของ มาตรา 18 แต่วรรคท้ายของมาตรา 18 บัญญัติให้อุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา นี้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247 กรณีมิได้ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 234 แห่ง ป.วิ.พ. ที่จำเลยจะต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แต่อย่างใด เพราะกรณีนี้อยู่ในชั้นตรวจคำคู่ความ การที่จำเลยไม่ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในเวลา 3 วันตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคสอง หาทำให้จำเลยหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ ให้ทำมาใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 วรรคท้าย ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8329/2547

คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นให้ส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา โดยมิได้งดการพิจารณา ทั้งศาลอุทธรณ์ก็มิได้ทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้นงดการพิจารณาไว้ในระหว่าง อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีเดิม ต่อมาศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาคดีเกี่ยวกับฟ้องแย้งโดยพิพากษายืนตามคำสั่งศาล ชั้นต้น ดังนี้ เมื่อจำเลยฎีกา จึงไม่มีเหตุที่จะให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและรื้อฟื้นพิจารณาพิพากษา ประเด็นตามฟ้องแย้งใหม่ หากจำเลยเห็นว่ามีสิทธิตามฟ้องแย้งก็ชอบที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ได้เพราะคำ พิพากษาดังกล่าวไม่ตัดสิทธิของจำเลยที่จะเรียกร้องตามสิทธิของตน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7497/2547

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์และผู้ร้องขัดทรัพย์นำเจ้าพนักงานที่ดิน ทำแผนที่วิวาท เสร็จแล้วให้ส่งแผนที่วิวาทพร้อมสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาต่อไปนั้นเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าว ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ เพื่อการใช้สิทธิฎีกาภายหลังเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาแล้วโจทก์ฎีกาคำสั่งดังกล่าวทันที จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ประกอบด้วย มาตรา 247 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6206/2538

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ภายหลังที่ได้พิพากษาคดีแล้วมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(1)โจทก์ต้องอุทธรณ์ภายใน1เดือนนับ แต่วันที่ได้อ่านคำสั่งโจทก์อุทธรณ์คำสั่งพร้อมอุทธรณ์คำพิพากษาในวันที่ เกินกำหนด1เดือนอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2533

เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์โดยให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุน ทรัพย์ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้ก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มโดยให้คำนวณทุน ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายในกำหนด20 วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ และจำหน่ายคดีของผู้ร้อง คำสั่งดังกล่าวหาใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสุดท้าย เนื่องจากมิใช่คำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) ผู้ร้องต้องทำคำคัดค้านโต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ต้องเสียเพิ่มมาชำระภายในเวลาที่ศาล กำหนด ถือว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้ เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา174 (2)


แม้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นใช้คำว่า "สั่งไม่รับคำร้องขัดทรัพย์" รวมอยู่ในคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องด้วย แต่ก็ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความไว้ด้วย ถือว่าเป็นการใช้ถ้อยคำคลาดเคลื่อน ซึ่งมีผลเป็นว่าให้จำหน่ายคดีด้วยเหตุที่ผู้ร้องทิ้งคำร้องนั่นเอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2631/2521

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้าย ให้สิทธิคู่ความที่จะอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือคืนคำคู่ความ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247 นั้นได้


เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์รับอุทธรณ์คืนไปทำ มาภายใหม่ภายในกำหนด 7 วัน แต่โจทก์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้ออันควรตำหนิที่จะต้องแก้ไข หรือทำมาใหม่ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นให้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่งก่อน