Pages

คำพิพากษาขัดกัน และ คำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๑๔๖ เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นขัดกันให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่า
ถ้าศาลชั้นต้นศาลเดียวกัน หรือศาลชั้นต้นสองศาลในลำดับชั้นเดียวกัน หรือศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งดังกล่าวมาแล้ว คู่ความในกระบวนพิจารณาแห่งคดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ชอบที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปให้มีคำสั่งกำหนดว่าจะให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งใด คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๑๔๗ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป
คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ถ้าได้มีอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหรือศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีเรื่องนั้นใหม่ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๒ คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนั้น ให้ออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2551
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้าน และให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาเพราะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา เนื่องจากศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยนำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษามาวางหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวจนพ้นกำหนดระยะเวลา คดีย่อมถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้คำพิพากษาเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2551
ศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ให้จำคุกจำเลย 20 ปี ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ให้ยกคำร้อง หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด การที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 19 เมษายน 2550 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณากำหนดโทษจำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) อีก จึงหาอาจทำได้ไม่ ทั้งกรณีไม่เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2550
จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาล ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่จำเลยไม่วางเงินภายในกำหนด หลังจากนั้นจำเลยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องพร้อมกับมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แต่มิได้ดำเนินการทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 234 เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยไม่อาจขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้แล้ว จำเลยก็ไม่อาจขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2550
ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจดแจ้งรายงานไว้ด้านหลังคำพิพากษาว่า "นัดฟังคำพิพากษาฎีกาวันนี้ โจทก์ทั้งสามทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่มาศาล จึงให้งดการอ่าน และถือว่าคำพิพากษาได้อ่านให้โจทก์ทั้งสามฟังตามกฎหมาย" กรณีดังกล่าวจึงถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างเหตุที่ไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเพราะเจ็บป่วย ก็ไม่เป็นเหตุให้ต้องมีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์ที่ 1 ฟังใหม่ และถือว่าคดีถึงที่สุดในวันที่ถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังแล้ว การที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไกล่เกลี่ยในวันถัดจากวันที่คดีถึงที่สุด จึงไม่มีเหตุที่จะพิจารณาตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6913 - 6916/2550
จำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนการที่โจทก์ทั้งสามได้จัดการออก น.ส.3 ในที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสามก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ก็ได้สิทธิครอบครองแล้ว
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ได้ฟ้องแย้งและฎีกาขึ้นมา แต่เนื่องจากฟ้องเดิมต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงไม่ยุติไปตามคดีที่ต้องห้ามและไม่ให้ฎีกาขึ้นมา จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลฎีกาขัดกันต้องบังคับตามมาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2549
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลย และให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระภายใน 15 วัน แต่จำเลยไม่ชำระภายในกำหนด กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงินศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องและไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ดังนี้ ทางแก้ของจำเลยคือจำเลยต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวจนพ้นกำหนดระยะเวลา คดีย่อมถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2549
กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึง วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2533 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2534 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้ยื่นฎีกา คดีจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 สิงหาคม 2537 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาบังคับคดีต้องนับตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยในชั้นขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ยื่นคำแถลงขอคืนหลักประกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ศาลจึงไม่อาจคืนหลักประกันให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2548
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถแท็กซี่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับ ได้รับความเสียหายและโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ แม้คดีของโจทก์ที่ 2 จะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียว จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนที่ว่าโจทก์ที่ 2 ประมาทเลินเล่อด้วยตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาขัดกัน ต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างเดียว จำเลยทั้งสองจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3052/2548
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่งดการอ่านคำพิพากษาเพื่อรอฟังผลอีกคดีหนึ่งพร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะอุทธรณ์คำสั่ง เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำพิพากษาย่อมมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นอันถึงที่สุด เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งโดยพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ปัญหาเรื่องการขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ตามฎีกาของจำเลยจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2545
ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมพ.ศ. 2543 บัญญัติว่า "บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด" คำว่า "จนกว่าคดีจะถึงที่สุด" นั้น หมายถึง ถึงที่สุดตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 147 คือ คดีที่ได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกา และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว กรณีหาได้มีความหมายว่าถึงที่สุดในแต่ละชั้นศาล ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2542 อันเป็นวันก่อนพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับนี้ใช้บังคับ คดียังมีการอุทธรณ์ฎีกาต่อมา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดจึงต้องบังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนคือ พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับเดิม มาตรา 10(4)(1) ให้อำนาจประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีใด ๆ ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2543
ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติให้เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงเสนอคำขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วัน คำพิพากษาถึงที่สุด คำว่า "หนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด" หมายถึงกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่คดีเรื่องนั้นถึงที่สุด โดยเริ่มนับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบของกลางแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีนี้แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในเรื่องริบของกลางแต่จำเลยยังอุทธรณ์เรื่องขอให้รอการลงโทษจำคุกอยู่ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2542
คำพิพากษาคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว คดีแรกเป็นคดีที่มี ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยกับบุคคลภายนอก คดีที่สอง พิพาทระหว่างบุคคลภายนอกกับจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องเพิกถอน นิติกรรมและเรื่องขับไล่ตามลำดับ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกา คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์มีข้อพิพาทกับจำเลยในเรื่องขอหย่า และแบ่งทรัพย์สิน มูลคดีของคำพิพากษาจึงแตกต่างกันและ ต่างคู่ความกัน ทั้งคำพิพากษาคดีแรกได้มีการบังคับคดีไปแล้วการที่จำเลยยื่นคำร้องในคดีนี้เพื่อให้มีผลก้าวล่วงไปถึง คดีที่ได้มีการบังคับคดีไปแล้วนั้น ศาลฎีกาย่อมไม่อาจ วินิจฉัยให้ได้ ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งโดยถือเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ซึ่งเป็น ศาลสูงกว่า และสั่งว่าบ้านพร้อมที่ดินพิพาทในคดีนี้ เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียว โดยโจทก์ไม่มีสิทธิ จะแบ่งทรัพย์สินเหล่านี้จากจำเลยตามคำพิพากษาในคดีซึ่งถึงที่สุด ในคดีแรกและบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ ต่อไปนั้น เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ กรณีไม่ต้องมีการบังคับคดี ฎีกาของจำเลยมีผลเท่ากับ ขอให้ศาลฎีกาออกคำบังคับให้หรือให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้แก่จำเลย จึงไม่อาจดำเนินการให้ ในคดีนี้ได้ ทั้งไม่ใช่กรณีคำพิพากษาขัดกันอันต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 ที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งตามคำขอของจำเลย ชอบที่จำเลยจะไปดำเนินคดีเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2540
โจทก์เคยฟ้องให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 50/4 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่พิพาท คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของ ช. และจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทในฐานะทายาทของ ช. ส่วนจำเลยคดีนี้กับพวกรวม 5 คน ก็เคยฟ้องโจทก์ขอแบ่งที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันนี้และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ยกฟ้อง โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของ ช. ซึ่งได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคนและทายาททุกคนเข้าครอบครองที่ดินมรดกที่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นของตนแล้ว จำเลยคดีนี้กับพวกจึงไม่มีสิทธิขอแบ่งอีก ดังนี้ กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 146 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า ซึ่งคดีนี้ก็คือคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ถูกงดเสียโดยคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ย่อมอาศัยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งดังกล่าวซึ่งผูกพันโจทก์จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาฟ้องบังคับตามสิทธิของตนได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ซ้ำกับคดีแพ่งเรื่องก่อนที่โจทก์เคยฟ้องจำเลย