Pages

โจทก์ร่วม หรือ จำเลยร่วม

มาตรา 59 บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดี เดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่า บุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้าม มิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่ง คดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดั่งนั้น โดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้น แทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้ (1) บรรดากระบวนพิจารณา ซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความ ร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็น ที่เสื่อมเสีย แก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ (2) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดี ซึ่งเกี่ยวกับคู่ความ ร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2551
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สิน ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้" ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือ ไม่ แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น ดังนั้น แม้หนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ก็คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระได้ไม่เกินห้าปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2550
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าจ้างให้ดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้ค่าจ้างดังกล่าวแก่โจทก์ แม้จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดในมูลหนี้ที่แตกต่างกัน แต่ข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุรากฐานแห่งหนี้ที่โจทก์ฟ้องเกิดจากการกระทำอัน เดียวกัน คือจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์และค้างชำระหนี้ค่าจ้างอันเดียวกันจำเลยทั้งสามจึงมีส่วนได้ เสียร่วมกันตามกฎหมาย อันถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามรวมกันมาในคดีเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2550
การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นสิทธิของคู่ความแต่ละคนที่จะดำเนิน กระบวนพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งเมื่อได้กระทำ โดยคู่ความร่วมคนหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคู่ความร่วมคนนั้นไม่มีผล ไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วย กรณีมิใช่เรื่องที่จะนำมาตรา 59 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้

โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ขยาย แม้โจทก์ทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความคนเดียวกันให้มีอำนาจอุทธรณ์และทนาย โจทก์ทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่มิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2550
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท นาย ล. ได้ขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบ และมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อ นาย ล. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว โดยเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็น ราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณราคาเป็นเงินได้หรือคดีมี ทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีราคาไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) แม้โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ได้ความตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทแยกกันเป็นส่วนสัด การครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย โจทก์ทั้งสองจึงมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวน การที่โจทก์ทั้งสองรวมฟ้องมาในสำนวนเดียวกันและศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ ทั้งสองไว้พิจารณา ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์แต่ละคนมีมากกว่าที่จะยื่นฟ้องแยกกันมาเป็นแต่ละสำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2549
โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่างวดและดอกแชร์ที่จำเลยได้เรียก เก็บจากลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ไปแล้ว แต่ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 242,157.50 บาท แม้โจทก์ทั้งสิบสองจะร่วมเล่นแชร์ในวงแชร์ที่มีจำเลยเป็นนายวง แต่โจทก์แต่ละคนก็ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 การคำนวณทุนทรัพย์จึงต้องแยกตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลย รับผิด เมื่อโจทก์แต่ละคนไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ตนเรียกร้องก็ต้องถือว่าโจทก์แต่ละ คนเรียกร้องจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งคือคนละ 20,179.75 บาท คดีของโจทก์แต่ละคนจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2549
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบในข้อนี้อีก แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือใช้จำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้าง แต่เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ไปแล้ว คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2549
โจทก์ได้รู้ถึงการตายของ จ. เจ้ามรดก ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ล่วงพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ทายาทของ จ. ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5100/2548
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่ 2 ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 และมาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7499/2547
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทของพันโท ช. รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่พันโท ช. ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของพันโท ป. ไว้แก่โจทก์ เมื่อความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เท่านั้น ทั้งผู้ค้ำประกันย่อมจะหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 และมาตรา 698 ความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้กับหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องชำระนั้น เห็นได้ว่าเป็นมูลความแห่งคดีเดียวกันจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของพันโท ป. ผู้กู้ยกอายุความเกี่ยวแก่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ และปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อพันโท ป. เจ้ามรดกขาดอายุความแล้วทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีจึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ ศาลย่อมพิพากษาให้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขาดนัดซึ่งจะต้องรับผิดในฐานะทายาทของพันโท ช. ผู้ค้ำประกันหนี้ของพันโท ป. แก่โจทก์ด้วยได้ แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดภายหลังโจทก์ได้รู้ถึงความตายของพันโท ช. เจ้ามรดกเมื่อยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2545
แม้จำเลยที่ 4 ผู้ฎีกาจะไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ แต่หนี้ของจำเลยทั้งสี่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยร่วมคนอื่นยกข้อต่อสู้ไว้ จำเลยที่ 4 จึงได้รับผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59(1) ที่ให้ถือว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 4 ด้วย
จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงิน ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯมาตรา 30(2) ไม่ตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654ข้อกฎหมายดังกล่าวศาลรู้ได้เองโดยโจทก์ไม่ต้องสืบพยานประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6453/2544
เมื่อศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าการโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ฉบับหน้าเหลืองภาษาอังกฤษเป็นการโฆษณาของบริษัทอื่นไม่ใช่ของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กระทำไปโดยปราศจากอำนาจ และจำเลยที่ 1 ไม่ให้สัตยาบัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้คดีไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ทำการใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 ผลแห่งการวินิจฉัยดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 มูลความแห่งคดีจึงมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ อันจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) มาใช้บังคับจึงนำเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ให้การต่อสู้ไว้มิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3350/2542
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันชำระมิได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกเรื่องฟ้องเคลือบคลุมขึ้นเป็นข้อต่อสู้แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยจำเลยที่ 2 ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะมิใช่เป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59(1) จึงต้องถือว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2540
จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วม มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกบัตร จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกบัตรเสริม สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยทั้งสองเป็นอย่างเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว เช่นกัน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 59 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2548
แม้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสี่ยกขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัว และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนการพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกกัน หาใช่คิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทุกคนรวมกันไม่ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท และจำเลยทั้งสองฎีกาในประเด็นค่าเสียหาย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3252/2548
โจทก์แต่ละคนเป็นสมาชิกและผู้รับประโยชน์ของสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์แต่ละคนมีข้อตกลงกับฝ่ายจำเลยว่า จำเลยทั้งหกจะจ่ายเงินสงเคราะห์ศพให้แก่สมาชิกที่เสียชีวิต แต่ปรากฏว่าเมื่อไปขอรับเงินสงเคราะห์ศพเพื่อจัดการศพได้รับแจ้งจากจำเลยทั้งหกว่าไม่มีเงินจ่ายสงเคราะห์ศพ และอ้างว่าสมาชิกทุกคนได้ลาออกหมดซึ่งความจริงสมาชิกยังมิได้ลาออกและไม่ได้กระทำผิดระเบียบ การที่จำเลยทั้งหกกระทำผิดข้อตกลงและสัญญาที่ให้ไว้ข้างต้นและเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาโดยปริยาย จำเลยทั้งหกจึงต้องคืนเงินหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าถือว่าโจทก์แต่ละคนมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี เป็นคู่ความร่วมในคดีเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2545
โจทก์แต่ละคนต่างเป็นสมาชิกและผู้รับประโยชน์ของสมาชิกจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ เมื่อโจทก์แต่ละคนอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เก็บเงินจากสมาชิกไปแล้วไม่นำเงินไปชำระแก่ผู้รับประโยชน์ของสมาชิกที่ถึงแก่ความตายอันเป็นการผิดสัญญา ขอให้คืนเงินที่สมาชิกถึงแก่ความตายไปแล้วและสมาชิกที่มีชีวิตอยู่ได้ชำระไปแล้วแก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกและผู้รับประโยชน์ของสมาชิกแต่ละคน ถือว่าโจทก์แต่ละคนมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีโจทก์แต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งแปดเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9438/2542
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 คำว่า ผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี มีความหมายว่า มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้นโดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสาระสำคัญ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้สินค้าตามสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น มูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีคือหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ทั้งจำเลยทั้งสองก็เป็นสามีภริยากัน กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2539
เมื่อผู้ร้องทั้งสองได้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์มาคนละประเภทโดยผู้ร้องที่1ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินแห่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้นส่วนผู้ร้องที่2ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เกี่ยวกับบ้านอีกแห่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวการที่เหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในวันเดียวกันหรือเป็นการสะดวกที่จะดำเนินคดีไปพร้อมกันก็หาใช่ข้อที่จะแสดงว่าผู้ร้องทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันแต่อย่างใดไม่เมื่อผู้ร้องทั้งสองมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีย่อมไม่อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา59

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2535
ผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 หมายความว่า ต้องมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้น โดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสาระสำคัญ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นผืนติดต่อกันในเวลาเดียวกันเพื่อแย่งสิทธิครอบครองเป็นของตน โจทก์ทั้งสองย่อมมีส่วนได้เสียในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้นแล้ว แม้ที่ดินที่ถูกบุกรุกจะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)คนละฉบับ และเป็นที่ดินต่างแปลงกันก็ตาม ก็เป็นเรื่องหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่จะเป็นโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยรวมกันมาในคดีเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2529
ข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่7663/2524ของศาลชั้นต้นที่ว่าด.โจทก์ได้ขายหุ้นจำนวน3398หุ้นให้แก่ว.จำเลยที่3ในคดีดังกล่าวไปแล้วใช่หรือไม่มีความเกี่ยวพันกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้โดยตรงแม้ว่าโจทก์ทั้งสองคดีจะเป็นคนละคนกันและมิใช่คู่ความในคดีเดียวกันก็ตามเพราะก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยคดีนี้ว่าการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่1/2522ของบริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ70ของหุ้นทั้งหมดหรือไม่นั้นจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าด.ยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยขณะที่บริษัทจำเลยจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่1/2522หรือไม่ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวที่ฟังว่าด.ได้ขายหุ้นจำนวน3,398หุ้นให้แก่ม.และม.ได้โอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่ว.มาวินิจฉัยตัดสินในคดีนี้จึงเป็นการวินิจฉัยที่ตรงกับประเด็นที่ได้กำหนดหน้าที่นำสืบและภาระการพิสูจน์ไว้ในคดีนี้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2526
แม้จำเลยจะไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องที่รวมกันมาไม่เป็นเหตุให้ผลแห่งคดีของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งศาลชั้นต้นได้รับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะถือว่าการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นผิดกฎหมาย และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะยกฟ้องหรือให้โจทก์ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 681/2506)
โจทก์ในฐานะตัวการฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 3 ได้ให้จำเลยที่1 กู้เงินไปโดยปราศจากอำนาจหรือนอกขอบอำนาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่อาจบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าโจทก์ได้ดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้รายงานให้ทราบทุกเดือนโจทก์ไม่เคยทักท้วง จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดไม่ได้ เพราะข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ตัวการรับผิดในการกระทำของตัวแทนซึ่งเป็นคนละกรณีกับตัวการฟ้องตัวแทนให้รับผิดต่อตัวการ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2524
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 บัญญัติว่า'บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ......ฯลฯ' ซึ่งหมายความว่าต้องมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้น โดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสารสำคัญ ฉะนั้นในกรณีทำละเมิดต่อโจทก์หลายคนร่วมกันแม้ค่าเสียหายของโจทก์แต่ละคนจะแยกต่างหากจากกันได้ ก็อาจเป็นโจทก์ร่วมกันในคดีเดียวกันได้