Pages

ห้ามศาลพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้อง

มาตรา ๑๔๒ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
(๑) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้
(๒) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้
(๓) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(๔) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายอันต่อเนื่องคำนวณถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่าเช่าและค่าเสียหายเช่นว่านี้จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
(๕) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้
(๖) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยซึ่งมิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552
จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหาก มีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้ เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่น สัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2552
ประเด็นข้อพิพาทในคดีจะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ เป็นข้อสำคัญ มิใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้พยานโจทก์จะได้เบิกความถึงว่า มีการเสนอว่าจะให้ค่าทดแทนแก่จำเลยแล้วก็ตาม แต่ในคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้มีการเสนอค่าทดแทนให้แก่จำเลยแต่อย่างใด คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 หรือไม่ เมื่อคดีไม่มีประเด็นดังกล่าวเสียแล้ว ศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามฟ้องโจทก์และกำหนดค่าทดแทน เพื่อให้โจทก์ชำระแก่จำเลยได้เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552
แม้คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำปี พ.ศ.2504 จำเลยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาติกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกรรมการของจำเลย สมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความ รู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่ อ. ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียน มากกว่า อ. ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้ว ทำให้โจทก์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้ อ. ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและอับอาย ไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยกย่องแพร่หลายในฐานะบุคคลที่เรียนดีที่สุด ในยุคนั้น ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการขอขมาโจทก์ และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่าโจทก์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่ อ. โดยให้จำเลยปิดประกาศแผ่นป้ายถาวรไว้ ณ ที่ทำการของจำเลย และแก้ไขรายการผลสอบดังกล่าวในเอกสารต่าง ๆ ด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง นั้น จะเป็นคำฟ้องที่โจทก์ได้กล่าวแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่ากรรมการของ จำเลยสมคบร่วมกันกระทำมิชอบต่อโจทก์นั้น หากมีมูลความจริง โจทก์ก็สมควรต้องรีบดำเนินการโต้แย้งหรือนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในเวลาอัน สมควร เพื่อให้จำเลยและบุคคลที่โจทก์กล่าวพาดพิงได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเนิ่นนานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 43 ปี จนบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างสูญหายตายจากไปหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์หยิบยกเอาความรู้ความสามารถ ความสำเร็จจากการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และจากหน้าที่ราชการที่โจทก์ปฏิบัติมาตลอดชีวิตราชการ รวมทั้งการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ภายหลังจากการสอบเป็นเนติบัณฑิต เพื่อสนับสนุนว่าโจทก์มีความรู้โดดเด่นไม่น่าจะได้คะแนนสอบปากเปล่าน้อยกว่า อ. ก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการสอบปากเปล่าเป็นระยะเวลายาวนาน เกือบตลอดชีวิตการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น หาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นภายในระยะเวลาใกล้เคียงวันเกิด เหตุอันจะเป็นเครื่องชี้หรือบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถของโจทก์ในวันที่มี การสอบปากเปล่าไม่ การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปี แล้วค่อยขุดคุ้ยเอาความสำเร็จจากหน้าที่ราชการที่ได้ปฏิบัติมาจนเกือบตลอด ชีวิตขึ้นกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องว่าจำเลยดำเนินการสอบปากเปล่าโดยมิ ชอบเช่นนี้ พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2552
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินจาก ก. จำเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของ ทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยตั้งแต่จำเลยได้ซื้อมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองหรือทำประโยชน์ โจทก์ทราบมานานหลายปีแล้วว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ แต่มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องร้องตามป.พ.พ. มาตรา 1374 มาตรา 1375 และมาตราอื่นๆ ในลักษณะ 3 ครอบครอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดิน พิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาท ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวมา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15187/2551
การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้าไว้โดยมิได้มีการกรอกข้อความ รายละเอียดลงไป แสดงว่าโจทก์รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่าผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทจะสามารถนำ หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายต่อหรือจำนองหรือ กระทำการใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่พ้นกำหนดข้อห้ามโอน 5 ปีนับแต่ออกเอกสาร น.ส.3 ก. แล้ว เมื่อจำเลยรับจำนองที่ดินโดยสุจริตจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทไปตามวิธี ปฏิบัติดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้โจทก์มิต้องชำระหนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2551
โจทก์บรรยายฟ้องโดยตอนแรกบรรยายถึงการที่จำเลยพูดกล่าวถ้อยคำซึ่งโจทก์อ้างว่า เป็นการดูหมิ่นโจทก์ ส่วนตอนหลังบรรยายถึงการที่จำเลยนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้วนำหลักฐาน การแจ้งความไปเผยแพร่แล้วโจทก์สรุปว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำ ละเมิดต่อโจทก์ด้วยการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความที่ทำให้โจทก์เสียหาย เห็นได้ว่าข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาละเมิดคือการไขข่าวแพร่ หลายซึ่งข้อความของจำเลยอันทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่การที่จำเลยพูดถ้อยคำหยาบคายต่อโจทก์ไม่ ทั้งทนายโจทก์ก็แถลงยืนยันต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องรวม 4 ครั้ง ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยตามที่ทนายโจทก์แถลงไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับการ พูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยดังกล่าว การพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงมิใช่ประเด็น ข้อพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2551
การที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยตกลงจะผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อในหนังสือสัญญาซื้อรถยนต์ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้แจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบและดำเนินการเปลี่ยนให้ผู้ร้อง เป็นผู้เช่าซื้อแทน ทั้งใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและหนังสือยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อหาใช่ผู้ร้องชำระไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อนำรถยนต์คันพิพาทมาขายแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้น รถยนต์คันพิพาทยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งระงับการทำนิติกรรมทางทะเบียนของรถยนต์ คันพิพาท ไม่ถือว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่มีการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2551
ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่จะบังคับคดีได้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาท ปรากฏว่าในวันเดียวกันเจ้าพนักงานที่ดินได้รับหมายคุ้มครองชั่วคราวตามคำ สั่งของศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่คุ้มครองชั่วคราวนี้มีผลใช้บังคับในวัน ดังกล่าวแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 258 วรรคสาม ดังนั้นการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นภายหลังที่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีผลใช้บังคับแล้วจึงไม่อาจใช้ ยันต่อโจทก์ได้ แม้จำเลยที่ 2 จะได้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 258 ทวิ วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2551
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าประเภทเครื่องใช้ประจำบ้านยี่ห้อซุปเปอร์แวร์ จำเลยให้การว่า ไม่เคยซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ประจำบ้านจากโจทก์ แต่รับว่าเคยซื้อสบู่จากโจทก์ และลงลายมือชื่อในเอกสารการซื้อขายว่ามีหนี้ค้างชำระ 10,700 บาท มอบให้แก่โจทก์ ประเด็นจึงมีเพียงว่า จำเลยซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ประจำบ้านจากโจทก์หรือไม่ แม้จำเลยให้การรับว่าเคยซื้อสบู่จากโจทก์และทำหลักฐานแห่งหนี้มอบให้แก่โจทก์ ก็เป็นเพียงเหตุแห่งการปฏิเสธหนี้ตามฟ้องของโจทก์เท่านั้น ไม่มีผบกระทบถึงผลแห่งคดีที่จะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยซื้อสบู่จากโจทก์และยังไม่ได้ชำระหนี้หรือไม่ หากศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่ได้ซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ประจำบ้านจากโจทก์ก็ชอบที่จะยกฟ้องเสีย ไม่มีอำนาจที่จะพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระค่าสบู่ตามคำให้การอันมิใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้ เนื่องจากเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2551
ประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้งมีเพียงว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสามครอบครองเป็นของโจทก์หรือเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสามเท่านั้น ซึ่งหากศาลฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ก็ชอบที่จะพิพากษาขับไล่จำเลยและยกฟ้องแย้ง หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสามก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์และบังคับให้ไปตามคำขอท้ายฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วยังวินิจฉัยต่อไปว่าการที่ ถ. ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็โดยมีเจตนาให้บุตรทุกคนที่ยังไม่มีครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน บุตรซึ่งมีครอบครัวและหากมีเงินให้แยกไปปลูกบ้านอยู่ต่างหากนอกที่ดินพิพาท โดยจำต้องผูกพันตามเจตนาของ ถ. เมื่อจำเลขที่ 1 ยังไม่มีครอบครัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีเงิน โจทก์จึงจำต้องให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การและฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นพิพาท ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2551
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน เมื่อแบ่งแยกที่ดินเป็นของโจทก์ตามส่วนที่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานผู้จัดการมรดกของ ฉ. แล้ว ที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นๆ ยังคงถือกรรมสิทธิ์รวมกันอยู่ การจะแบ่งที่ดินที่เหลือให้เป็นส่วนของจำเลยทั้งสามแยกต่างหากจากเจ้าของรวมคนอื่นอีกหรือไม่เพียงใด ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามและเจ้าของรวมคนอื่นที่ต้องว่ากล่าวกันเอง โจทก์หามีสิทธิที่จะขอให้แบ่งแยกที่ดินในส่วนของจำเลยทั้งสามออกจากที่ดินที่เหลือดังกล่าวด้วยไม่ ทั้งการกำหนดส่วนแบ่งของจำเลยทั้งสามตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นที่มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีกับจำเลยทั้งสาม คำขอของโจทก์ที่ให้แบ่งแยกที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสามจึงไม่อาจบังคับได้ เป็นผลให้ต้องยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1891/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่องค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณะและกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณะ ให้โจทก์ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินดังกล่าว และมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช่ร่วมกันและให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณะประเด็นพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง 267,150 บาท จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครปฐม แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนเสาไม้ชั่วคราวที่ปักอยู่ในที่ดินของโจทก์ด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่อง เมื่อศาลแขวงนครปฐมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่แล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคำขอต่อเนื่องดังกล่าวด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2551
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยตรงในคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย แต่หากศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2551
นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินแทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2551
จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากยกฟ้องแย้งเป็นให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าตึกแถวที่พิพาทให้แก่จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่าคดีจำเลยต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาให้ยกอุทธรณ์โดยมิได้วินิจฉัยคดีในส่วนของฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
ฟ้องแย้งของจำเลยที่อ้างว่าการเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาและขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าตึกแถวที่พิพาทเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2551
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมศาล จำเลยที่ 4 เพิ่งมายื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ถือได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจำเลยที่ 4 จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลภายในกำหนดเวลา หากพ้นกำหนดจำเลยที่ 4 จะสามารถยื่นคำร้องได้ต่อเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ซึ่งตามเหตุผลในคำร้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 4 หาเงินค่าธรรมเนียมศาลมาได้เพียงบางส่วนและจะนำค่าธรรมเนียมศาลส่วนที่เหลือมาวางภายใน 30 วัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ชอบ กรณีเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2551
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามนัด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปเป็นการให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยมากกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2551
การที่จำเลยปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการโอนขายให้แก่โจทก์ เป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายปรับแก่คดีได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงนี้ได้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อกรณีถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของบ้านส่วนที่รุกล้ำตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำ แต่การพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่นั้นจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณียกเว้น 6 ประการในบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับในเรื่องนี้และกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 142 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ การที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับแก่จำเลยในเรื่องนี้ ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จะอ้างเอาความผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวให้ศาลพิพากษาคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2551
จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมารดายกให้จำเลยทั้งแปลง ครั้นจำเลยอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกิน โจทก์กลับละโมบจึงนำคดีมาฟ้อง โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งคัดค้านเรื่องคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง รวมทั้งอำนาจฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้รับวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลย และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่ยกขึ้นวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2550
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง เป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความจึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 193/9
ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6620/2550
จำเลยมิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 และอายุความในคดีแพ่งไม่เป็นกรณีเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6372/2550
โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและภาระจำยอม ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทมิใช่ทางภาระจำยอมโดยอายุความก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ตามที่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ทั้งที่ทางพิจารณาอาจเป็นได้ทั้งทางจำเป็นและทางภาระจำยอมในขณะเดียวกันได้จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนี้หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอมโดยอายุความ และข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยในเรื่องทางจำเป็น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องทางพิพาทว่าเป็นทางจำเป็นหรือไม่ได้ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น เนื่องจากโจทก์มีคำขอมาตั้งแต่ต้นแล้ว มิฉะนั้น โจทก์คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ทั้งโจทก์ จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมก็ต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้ว จึงหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่