Pages

คู่ความมีข้อโต้แย้งต้องใช้สิทธิทางศาล

มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552
ที่พิพาทเป็นไหล่ทางของทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งรับมอบที่พิพาทคืนจากกรมทางหลวงและจังหวัดฉะเชิงเทราผู้รับ มอบช่วงจากกรมธนารักษ์เพื่อดูแลรักษาไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปให้เอกชนรายใด ใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว แม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงมิใช่ที่ราชพัสดุตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่และยังคงสภาพเดิม เว้นแต่ทางราชการจะเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่ พิพาท การที่จังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจึงเป็นการให้เช่าโดย ปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่าได้

การที่จำเลยสร้างเพิงบนไหล่ทางหลวงพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงกับที่ดินของโจทก์ ย่อมกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2552
การที่บิดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปยื่นขอจดทะเบียนภาระจำยอม เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการให้ตามคำขอจดทะเบียนโดยไม่มีหน้าที่ไปตรวจดูสภาพความเป็น จริง การกระทำของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น บิดาโจทก์ยินยอมลงชื่อจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินให้จำเลยที่ 1 ก็เพื่อหลอกธนาคารก็คือจำเลยที่ 3 กลับแสดงว่าบิดาโจทก์เสียอีกเป็นฝ่ายโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 โดยร่วมกับจำเลยที่ 1 หลอกจำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำตามที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจึงมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552
แม้คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำปี พ.ศ.2504 จำเลยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาติกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกรรมการของจำเลย สมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความ รู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่ อ. ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียน มากกว่า อ. ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้ว ทำให้โจทก์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้ อ. ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและอับอาย ไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยกย่องแพร่หลายในฐานะบุคคลที่เรียนดีที่สุด ในยุคนั้น ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการขอขมาโจทก์ และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่าโจทก์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่ อ. โดยให้จำเลยปิดประกาศแผ่นป้ายถาวรไว้ ณ ที่ทำการของจำเลย และแก้ไขรายการผลสอบดังกล่าวในเอกสารต่าง ๆ ด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง นั้น จะเป็นคำฟ้องที่โจทก์ได้กล่าวแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่ากรรมการของ จำเลยสมคบร่วมกันกระทำมิชอบต่อโจทก์นั้น หากมีมูลความจริง โจทก์ก็สมควรต้องรีบดำเนินการโต้แย้งหรือนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในเวลาอัน สมควร เพื่อให้จำเลยและบุคคลที่โจทก์กล่าวพาดพิงได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเนิ่นนานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 43 ปี จนบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างสูญหายตายจากไปหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์หยิบยกเอาความรู้ความสามารถ ความสำเร็จจากการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และจากหน้าที่ราชการที่โจทก์ปฏิบัติมาตลอดชีวิตราชการ รวมทั้งการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ภายหลังจากการสอบเป็นเนติบัณฑิต เพื่อสนับสนุนว่าโจทก์มีความรู้โดดเด่นไม่น่าจะได้คะแนนสอบปากเปล่าน้อยกว่า อ. ก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการสอบปากเปล่าเป็นระยะเวลายาวนาน เกือบตลอดชีวิตการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น หาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นภายในระยะเวลาใกล้เคียงวันเกิด เหตุอันจะเป็นเครื่องชี้หรือบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถของโจทก์ในวันที่มี การสอบปากเปล่าไม่ การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปี แล้วค่อยขุดคุ้ยเอาความสำเร็จจากหน้าที่ราชการที่ได้ปฏิบัติมาจนเกือบตลอด ชีวิตขึ้นกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องว่าจำเลยดำเนินการสอบปากเปล่าโดยมิ ชอบเช่นนี้ พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8239/2551
โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขาย ทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท โดยเรียกค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท ส่วนจำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นสินสมรสที่จำเลยมี ส่วนกึ่งหนึ่ง ซึ่งจำเลยได้ร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านพิพาทไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ เช่นนี้เท่ากับจำเลยมิได้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7950/2551
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ได้โต้ แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยมีเนื้อหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นเดียวกับคำ พิพากษาศาลชั้นต้นที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาไปแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาเช่นเดียวกันกับที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยดังกล่าว อันเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดเจนว่าศาลชั้นต้นยกเรื่องอื่นขึ้นโต้แย้งคำพิพากษา ศาลฎีกาในประเด็นที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาไปแล้ว โดยพยายามเบี่ยงเบนให้เกิดเป็นประเด็นใหม่ขึ้นในเรื่องอำนาจฟ้องแล้วสรุป ทำนองว่าโจทก์มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นการพิพากษาซ้ำซ้อนกับคำพิพากษาเดิมของศาลชั้นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ยอมดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ให้เป็นไปตาม ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวน พิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2551
การที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยตกลงจะผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อในหนังสือสัญญาซื้อรถยนต์ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้แจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบและดำเนินการเปลี่ยนให้ผู้ร้อง เป็นผู้เช่าซื้อแทน ทั้งใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและหนังสือยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อหาใช่ผู้ร้องชำระไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อนำรถยนต์คันพิพาทมาขายแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้น รถยนต์คันพิพาทยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งระงับการทำนิติกรรมทางทะเบียนของรถยนต์ คันพิพาท ไม่ถือว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่มีการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551
การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้ จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสีย หายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2551
ป.พ.พ. มาตรา 1476 (4) มุ่งหมายให้การให้กู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ในการจัดการสินสมรส การกู้ยืมเงินมิใช่ให้กู้ยืมเงินจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

การบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหากมิใช่หนี้ร่วม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีได้เพียงสินสมรสในส่วนของลูกหนี้ตามคำ พิพากษาเท่านั้น มิได้กระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ที่ดินสินสมรส จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมสัญญากู้ยืมระหว่าง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2551
ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5386/2551
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ระหว่างการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับพวกได้ชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 352/2542 ของศาลชั้นต้นจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และคดีนี้โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่เพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2551
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรทั้งสามของโจทก์และโจทก์ ต้องขาดไร้ผู้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์และโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า บุตรทั้งสามของโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนด้วยนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรทั้งสามของโจทก์เป็นผู้เยาว์ยังฟ้องหรือคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรทั้งสามคนด้วยโดยปริยาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4583/2551
โจทก์ฟ้องยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้อง บ. และ ญ. ซึ่งตกลงนำที่ดินมาประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 พา บ. และ ญ. ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้เงินกู้และผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับโอนสิทธิจำนองดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 กลับฟ้อง บ. และ ญ. เรียกหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทบสิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงและสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ส่วนตัวของโจทก์ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว แม้มีอยู่จริงก็เป็นเรื่องการโต้แย้งระหว่าง บ. และ ญ. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 โดยตรง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าสิทธิของโจทก์ที่อ้างว่าถูกกระทบ กระเทือนจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอย่างไร เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับหนี้ที่โจทก์กู้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โจทก์ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อว่ากล่าวเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่อ้างว่าทำให้โจทก์เสียหายได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดขึ้นจากข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ บ. และ ญ. ในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2551
เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดและผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้เช่าจำต้องออกไปจากที่เช่า เมื่อสัญญาเช่าเลิกต่อกันแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกไปจากที่เช่า ผู้ให้เช่าชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลเนื่องจากผู้เช่ากระทำการอันเป็น การโต้แย้งสิทธิผู้ให้เช่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 สิทธิของผู้ให้เช่าที่จะขับไล่ให้ผู้เช่าออกจากที่เช่าต้องกระทำโดยทางศาล ให้ศาลเป็นผู้บังคับ ผู้ให้เช่าหามีสิทธิที่จะทำการบุกรุกเข้าไปปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิให้ กรรมการผู้จัดการของผู้เช่าเข้าไปภายในอาคารไม่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในอาคารของโจทก์แล้วทำการปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิ ให้กรรมการผู้จัดการของโจทก์เข้าไปภายในอาคารจึงเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2551
ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อที่ 33 กำหนดว่า "เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาผู้ใดที่ถูกลงโทษเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้น ไม่ยุติธรรมก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นได้" เป็นการกำหนดให้สิทธิลูกจ้างที่ถูกลงโทษที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นหรือไม่ ก็ได้ ส่วนที่ระเบียบข้อเดียวกันนั้นกำหนดว่า "คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด" มีความหมายเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปยังผู้ใดหรือกรรมการชุดใด ของจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิผู้ที่ถูกลงโทษมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน จำเลยทั้งสองยกเอาระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 มาจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์เป็นผู้ที่ถูกลงโทษจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 5/2545 - 46 ที่แต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 96/2545 - 46 ที่เลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคนละคำสั่งคนละขั้นตอนกัน ต่อมาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อน จึงไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ฟ้องสำหรับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2551
เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 เมื่อ จ. ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ จ. ได้แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามมาตรา 1754 วรรคสอง และมาตรา 192/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ไม่อาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกได้ด้วย แม้สัญญาจำนองจะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึด ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระ หนี้ เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีกต่อไป

ตามสัญญากู้เงินกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัยแต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทน ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนแก่ผู้ให้กู้ก่อนการ ชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น จะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่กรณีที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง จึงเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่า จ. ละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับ จ. ตามกฎหมายที่จะต้องให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. รับผิดชำระหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2550

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองว่าจ้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก่อสร้างถนน และระบบระบายน้ำ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้ซื้อเชื่อวัสดุก่อสร้าง และรับเงินยืมทดรองจ่ายไปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการสร้างรวมเป็นเงิน 778,240 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 1 มูลค่า 800,000 บาท ให้แก่โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาจ้างทันที จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไม่มีสิทธิระงับไม่ให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่อาจบอกปัดความรับผิดโดยอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีหนังสือไปถึงจำเลยทั้งสองให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อนอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจรับเงินตามที่โจทก์มีสิทธิที่จะรับได้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2550
การประเมินราคาทรัพย์สินนั้นเป็นเพียงการประมาณราคาในเบื้องแรกตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ซึ่งราคาที่ประเมินไว้เป็นไปได้ว่าอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ก็หาใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่ผูกมัดผู้ที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีหรือศาลว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องให้เป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด โดยเฉพาะหากจำเลยที่ 2 เห็นว่า ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ต่ำไป ก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินออกไป ดังนั้น กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งราคาประมูลทรัพย์สินใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2550
แม้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 จะบัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน แต่การฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่น เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2549
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุภาวะแล้วจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ ปรากฏตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2512 ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ขณะผู้ร้องมีอายุได้ 34 ปี จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ตายไม่เคยปฏิเสธว่าผู้ร้องมิใช่บุตรไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายจนเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2549
สัญญากู้ยืมเงินมีใจความว่า ในระยะ 2 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ยคงที่ได้เพียงร้อยละ 5.25 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเว้นแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาหรือหลังจากนั้น โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และหลังจากล่วงพ้นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ จึงเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แต่สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด และยังอยู่ในช่วงระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379
จำเลยจะมีหน้าที่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2549
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึด เป็นเพียงการประมาณราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ราคาที่ประเมินจึงอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ แม้จำเลยจะไม่เห็นด้วย จำเลยก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้ และไม่มีหลักเกณฑ์ใดผูกมัดว่าการขายทอดตลาดจะต้องเป็นไปตามราคาที่ประเมิน จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่จะร้องขอต่าศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2549
ฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าเสียหายเป็นค่ารื้อถอนอาคารที่จำเลยได้ก่อสร้างบนที่ดินตามฟ้องจากโจทก์เป็นฟ้องแย้งที่ขึ้นอยู่กับข้ออ้างตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยให้การ จำเลยก็ไม่ต้องรื้อถอนอาคารออกไป ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยย่อมไม่เกิดขึ้น และศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ หากข้อต่อสู้ตามคำให้การฟังไม่ได้ ศาลก็ต้องพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารออกไป เมื่อนั้นค่าเสียหายที่จำเลยฟ้องแย้งก็อาจจะเกิดมีขึ้นได้ข้ออ้างตามฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องที่จะต้องฟังผลของคดีเป็นสำคัญมิได้มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างจำเลยกับโจทก์ในขณะที่จำเลยฟ้องแย้ง เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ซึ่งถือว่าเป็นฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6592/2548
กรณีที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ การที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าอาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2548
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์กับจำเลยที่บริษัทจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยมีข้อตกลงให้จำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปส่งมอบและติดตั้งให้แก่โจทก์ ณ จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยเงื่อนไขว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องยนต์และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามคุณสมบัติที่ตกลงกัน โจทก์จึงจะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาไปส่งมอบและติดตั้งอันเป็นการผิดสัญญา ก็เท่ากับมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการส่งมอบและติดตั้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นสถานที่ที่ต้องมีการส่งมอบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2548
หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยสัญญาซื้อขายแทนโจทก์ ดังนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใด ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่จำต้องระบุชื่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2548
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 25 ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแล้วขอรับเงินทดแทนคือจากสำนักงานประกันสังคมได้ มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมจำเลยตามมาตรา 49 และนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลยตามมาตรา 48 เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการแพทย์ให้โจทก์และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะมิได้อุทธรณ์ แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 52 เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามมาตรา 53 เป็นกรณีมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2547
ผู้ที่จะฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อรับรองว่าตนมีสิทธิหรือหน้าที่หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 110214 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ก็เพียงเพื่อต้องการทำลายพยานหลักฐานในคดีอาญาที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดินแปลงนี้ ซึ่งในคดีนั้นโจทก์ในฐานะจำเลยย่อมมีสิทธินำพยานหลักฐานมานำสืบต่อสู้คดีได้หากจำเลยนำหลักฐานเท็จมาแสดง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากคำสั่งศาลดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7757/2546
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนท้องถิ่นของจำเลยที่ 2 ว่า เด็กหญิง ญ. เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับ บ. เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หลงเชื่อจึงออกสูติบัตรให้ ไม่มีข้อความตอนใดที่พาดพิงถึงโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ บ. สูติบัตรที่ออกให้ก็ไม่มีข้อความเกี่ยวพันถึงโจทก์ทั้งสอง การยื่นคำร้องและการแจ้งข้อความขอออกสูติบัตรที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ออกสูติบัตรก็ดี จึงไม่เป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองตามกฎหมายแพ่ง และไม่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 แม้หากยังปล่อยให้จำเลยที่ 1 ใช้สูติบัตรเท็จแสดงต่อบุคคลทั่วไป และนำมายื้อแย่งมรดกของ บ. ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิสูจน์ไปตามขั้นตอนว่าเด็กหญิง ญ. เป็นบุตรของ บ. จริงหรือไม่ เป็นคดีต่างหาก กรณีเกี่ยวกับสูติบัตรของเด็กหญิง ญ. ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2546
แม้จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่ธนาคารโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เองและจำเลยยอมชำระเบี้ยประกันคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2546
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากเทศบาลเมืองโพธารามเพื่อใช้เป็นสถานที่จอดรถสำหรับกิจการโรงแรมของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินข้างเคียงได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์เช่า โจทก์ไม่สามารถใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้โดยสะดวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดิน แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน แต่การเช่าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ในกิจการโรงแรมของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และมาตรา 1337 แม้ว่าจำเลยทั้งสามจะติดตั้งหลังคาตึกแถวก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปไม่ โจทก์มีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยทั้งสามให้รื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมออกจากตึกแถวซึ่งกีดขวางการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่โจทก์เช่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2546
ในคดีก่อนแม้จะยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อันอาจถูกเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ ก็ตาม แต่การที่จำเลยใช้ให้คนนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันที่ดินพิพาทแล้วจุดไฟเผาต้นไม้ต่าง ๆ ที่โจทก์ปลูกไว้จนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากแม้จะอ้างว่ากระทำไปโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาว่าจ้างก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและทรัพย์สินของโจทก์บนที่ดินพิพาทโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3971/2545

สมาชิกของสหภาพแรงงานโจทก์แต่ละคนหากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะได้รับหรือจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ และตามสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของสมาชิกโจทก์สามารถบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญาจ้างแรงงานได้โดยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล ซึ่งจะดำเนินคดีด้วยตนเองหรือจะแต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความ หรือจะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานที่ตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีแทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 36 ก็ได้ เมื่อสมาชิกโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยและมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทน แต่โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานฟ้องจำเลยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 และมาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3064/2545
การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยยื่นฟ้องขับไล่ ส. และจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ให้โจทก์ในฐานะบริวารของ ส. ออกจากที่พิพาท เมื่อโจทก์เห็นว่าตนมิใช่บริวารของ ส. แต่เป็นเจ้าของครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมานานแล้ว แสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งอันเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทแล้ว โจทก์มีสิทธิเสนอคดีของตนต่อศาลโดยยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้ แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะปิดประกาศกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3)ในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ส. ออกจากที่พิพาทก็ตาม เพราะบทบัญญัติดังกล่าวแม้หากบุคคลนั้นไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิห้ามบุคคลนั้นจะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ไม่ และเมื่อโจทก์มิได้ร้องขอเข้าไปในคดีที่จำเลยบังคับขับไล่ ส. โจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีนั้นย่อมไม่ผูกพันในผลแห่งคดีดังกล่าวหรือจะถูกต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2974/2545
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล คือต้องมีกฎหมายรองรับว่ามีสิทธิหรือหน้าที่หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาลแต่ตามคำฟ้องที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดมีชื่อจำเลย จำเลยจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์อ้างว่าตนมีเพียงสิทธิครอบครอง จึงไม่มีกฎหมายรองรับให้โจทก์อ้างสิทธิครอบครองเหนือกรรมสิทธิ์ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าตามคำฟ้องจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 ที่โจทก์อ้างก็เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้ยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนเป็นผู้ได้สิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้มีกรรมสิทธิ์หรือใช้สิทธิแก่ผู้ครอบครอง จึงเป็นกรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่หรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล