Pages

การชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย

มาตรา ๒๔  เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น

ถ้าศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดเช่นว่านี้จะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่กล่าวแล้วและพิพากษาคดีเรื่องนั้นหรือเฉพาะแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องไปโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

คำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๗, ๒๒๘ และ ๒๔๗

มาตรา ๒๕  ถ้าคู่ความฝ่ายใดยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค ๔ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือยกคำขอนั้นเสียโดยไม่ชักช้า

ถ้าในเวลาที่ยื่นคำขอนั้นศาลจะชี้ขาดคดีได้อยู่แล้ว ศาลจะวินิจฉัยคำขอนั้นในคำพิพากษา หรือในคำสั่งชี้ขาดคดีก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2562
เมื่อข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับนี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้คู่สัญญาย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ฉะนั้น ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้วก็ตาม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต

ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ย่อมไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลง ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้อง เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น

กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ รวมถึง ป.วิ.พ. ด้วย ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 91/2562
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280/2559
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 25 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยต้องทำการไต่สวนก่อน ดังนั้นหากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำขอของจำเลยที่ 2 แล้วก็ไม่จำต้องทำการไต่สวนคำขอ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7990/2559
จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ระงับการจำหน่ายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. จึงไม่มีประเด็นแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว และแม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ดังนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2559
ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2558
ป.วิ.พ. มาตรา 24 มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้

ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าพินัยกรรมปลอมแต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างจากประเด็นในการพิจารณาครั้งแรก จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557
ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2557
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงเพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหลังว่าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การของคู่ความ อันจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความทั้งสองฝ่าย และนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาททั้งสองข้อ และที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานแล้วนั้น ประเด็นข้อพิพาทข้อแรก การที่คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จึงหมายความแต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามที่บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเท่านั้น มิได้หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เสียทีเดียว ส่วนข้อความตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน กรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำสั่งที่ให้มีผลว่า ก่อนศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหานั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคู่ความอันจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่โจทก์จะต้องโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2551
ในวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและการชำระหนี้บัตรเครดิตของจำเลย ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าวและรับว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งถูกต้องตามความเป็นจริงและไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิตมี ลักษณะเป็นการทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้า และการใช้บริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนก็ดี หรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็ ดี ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2551
จำเลย ที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกที่ดินวัดตามที่มีผู้แจ้งให้ทราบในฐานะผู้ แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี มิได้ทำในฐานะส่วนตัวส่วนจำเลยที่ 2 ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สุราษฎร์ธานีการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชักนำผู้อื่นให้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทางเดียวกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจดำเนินคดีอาญาและมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ต่อพนักงานอัยการนั้นก็เป็น กรณีสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ชอบที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ แต่จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยตรงในคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาด เบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย แต่หากศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2551
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำ พิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาคดีในวันดังกล่าวโดยนำข้อเท็จจริงจากที่คู่ความ แถลงร่วมกันมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี ดังนั้น คำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นในกรณีนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อ กฎหมายชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือมีการสืบพยานต่อไป ก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ มิฉะนั้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 799/2551
ศาลชั้นต้นได้สอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเมื่อเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยปัญหาข้อ กฎหมายในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ได้แล้ว ได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีและให้เหตุผลแห่งคำ วินิจฉัยทั้งปวงไว้ชัดเจนแล้ว แม้จะได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2551
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยกับให้ย้อนสำนวน ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ในการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหา ข้อกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนอันเป็นประเด็นพิพาทแห่งคดีที่ได้ชี้สองสถานกำหนด เป็นประเด็นพิพาทไว้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อ กฎหมายเช่นว่านี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ไม่เป็นการขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกา

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 28 (2) (ข) (ค) ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับคดีก่อนที่โจทก์ยกข้ออ้างว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขุดดินปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์โดยไม่ ชอบด้วยกฎหมาย แม้ที่ดินอีก 15 แปลง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ โจทก์ไม่ได้ฟ้องในคดีก่อน แต่ที่ดินเหล่านี้อยู่ในโครงการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าเดิมที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2549
ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกวันที่ 29 เมษายน 2545 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2545 เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอให้ เพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 24 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2549
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโดยมิได้สอบถามข้อเท็จจริงใด ๆ จากคู่ความแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น จึงเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 227

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์และจำเลยฎีกาต่อมาเป็นการอุทธรณ์และฎีกาตามมาตรา 227 ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2549
คดีนี้ก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิ์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ได้ พิพากษายกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 การที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว แม้จะมีคำขอท้ายอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีตามฟ้องก็ตาม แต่ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่แล้ว เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่ชนะคดีได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหกจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่เพียงใด เนื่องจากศาลชั้นต้นงดสืบพยาน กรณีจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2548
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคล ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ขอ จึงไม่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 และถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6651/2547
การขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 หากศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นเป็นคุณแก่ฝ่ายที่ขอแล้ว แม้จะมีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปก็ตาม แต่ข้อกฎหมายตามคำร้องขอนั้น ศาลก็ไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีในข้อนี้อีก การวินิจฉัยและสั่งเช่นนี้มิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะประเด็นบางข้อ ตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง (ที่ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น) เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2547
จำเลยไม่ได้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด 60 วัน เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1420/2543
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน คำสั่งของศาลแรงงานดังกล่าวมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 วรรคสอง แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2542
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ที่ให้ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนั้น กฎหมายมีความประสงค์จะให้ใช้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าวรรคสุดท้ายของมาตรา 24 ดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่าคำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 , 228 และ 247 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2542
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วและนัดฟังคำพิพากษาเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2542
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลสอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดชี้สองสถาน งดสืบพยานโจทก์จำเลย และให้นัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 1 เดือนเศษ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่โจทก์มิได้โต้แย้งไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5392/2541
การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามป.วิ.พ.มาตรา 24 ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 227 จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226