Pages

การรวมพิจารณาคดี และ การแยกพิจารณาคดี

มาตรา ๒๘ ถ้ามีคดีหลายเรื่องค้างพิจารณาอยู่ในศาลเดียวกันหรือในศาลชั้นต้นสองศาลต่างกัน และคู่ความทั้งหมด หรือแต่บางฝ่ายเป็นคู่ความรายเดียวกัน กับทั้งการพิจารณาคดีเหล่านั้น ถ้าได้รวมกันแล้ว จะเป็นการสะดวก หากศาลนั้นหรือศาลหนึ่งศาลใดเหล่านั้นเห็นสมควรให้พิจารณาคดีรวมกัน หรือหากคู่ความทั้งหมดหรือแต่บางฝ่ายมีคำขอให้พิจารณาคดีรวมกันโดยแถลงไว้ในคำให้การหรือทำเป็นคำร้องไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา เมื่อศาลได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายแห่งคดีนั้น ๆ แล้ว ถ้าศาลเป็นที่พอใจว่า คดีเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกัน ก็ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้พิจารณาคดีเหล่านั้นรวมกัน


ถ้าจะโอนคดีมาจากอีกศาลหนึ่งหรือโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น ศาลจะมีคำสั่งก่อนที่ได้รับความยินยอมของอีกศาลหนึ่งนั้นไม่ได้ แต่ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอม ก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด


มาตรา ๒๙ ถ้าคดีที่ฟ้องกันนั้นมีข้อหาหลายข้อด้วยกันและศาลเห็นว่าข้อหาข้อหนึ่งข้อใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้ออื่น ๆ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้แยกคดีเสียโดยเร็ว ถ้าโจทก์ประสงค์จะให้พิจารณาข้อหา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14001/2558

แม้คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 ต่างเป็นสำนวนของศาลชั้นต้นเดียวกัน แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นบุคคลเดียวกัน และพิพาทกันในมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อขาย ฉบับเดียวกันก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็เพียงแต่มีคำสั่งให้นำสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 มาผูกรวมกับสำนวนคดีนี้ โดยมิได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเหล่านี้รวมกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 28 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 ศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดไปก่อนในลักษณะวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ต่างสำนวนกันกับคดีนี้ จึงไม่อาจจะถือว่าสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 เป็นส่วนหนึ่งของคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นคดีนี้จะมีคำสั่งข้ามสำนวนไปเพิกถอนการบังคับคดี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 นั้นได้ และปัญหาเกี่ยวด้วยอำนาจศาลในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่เมื่อเห็นสมควรศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8730/2558

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 การแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนหน้านั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของจำเลยเสมอไปไม่ เมื่อศาลพิจารณาคำร้องของจำเลยแล้วหากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของจำเลยได้


คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน และหนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบทั้งสามประเภทหนี้รวมกันเป็นคดีเดียวกัน โดยเสียเงินค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 29 นั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่าโจทก์ฟ้องในมูลหนี้แต่ละประเภทรวมกันมาเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแยกคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 หรือขอให้ศาลมีคำสั่งขอให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาได้ โดยไม่จำต้องต่อสู้มาในคำร้องขอแก้ไขคำให้การ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การ


คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะ ยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องมาจึงไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะนั้น แม้การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การไว้แล้วว่ายอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องตามสัญญาทั้งสามประเภทเคลือบคลุมและไม่ถูกต้อง กับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ในกรณีผิดนัดสูงเกินส่วน ทั้งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไว้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องนำสืบถึงการคิดยอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถนำสืบหักล้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเพียงใดได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การ


ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การที่ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเจ้าหนี้ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับหนี้ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ฟ้องคดีของโจทก์ซ้ำซ้อนกันอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในข้อนี้ได้ก่อนวันชี้สองสถาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 และไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เคยมีการฟ้องคดีต่อศาลไว้ก่อนแล้วอย่างไรที่จะทำให้คดีนี้กลายเป็นฟ้องซ้อนจึงไม่ใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย


โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน หนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์โดยอ้างว่าการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายต้องเสียชื่อเสียงและเสียหายในการค้า มูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในฟ้องแย้งในเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำละเมิด จึงเป็นคนละส่วนและมาจากคนละมูลหนี้ไม่เกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998 - 1999/2554

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การในคดีสำนวนแรกแล้ว ต่อมาจำเลยนำคดีมาฟ้องโจทก์เป็นคดีสำนวนหลัง เมื่อกรณีต้องด้วยหลักเกณฑ์ว่าคู่ความในคดีทั้งสองสำนวนเป็นรายเดียวกัน หากรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นการสะดวก โดยศาลเห็นสมควรเองก็ดี หรือคู่ความยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีรวมกันก็ดี เมื่อศาลได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายแล้ว ถ้าเป็นที่พอใจศาลว่าคดีทั้งสองสำนวนเกี่ยวเนื่องกัน ศาลก็มีอำนาจสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันได้ ทั้งคดีทั้งสองสำนวนนี้แม้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแต่ละสำนวนจะต่างกัน แต่ประเด็นแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ข้อเท็จจริงจึงเกี่ยวพันกันมา ศาลสามารถรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยทั้งหมดที่นำสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 28 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1384/2554

ผู้ร้องและผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน และมูลคดีล้วนเนื่องมาจากการขอให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านโต้แย้งว่าผู้คัดค้านถอนตัวจากความผูกพันตามสัญญาระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยแล้ว อนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและชี้ขาด ดังนั้น ประเด็นสำคัญแห่งคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยทั้ง 23 คำชี้ขาด จึงเป็นเรื่องเดียวกัน มูลหนี้ที่ผู้ร้องนำมาร้องขอบังคับในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ เมื่อมูลหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยทั้ง 23 คำชี้ขาด รวมกันเป็นเงินเกินกว่า 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่จะพิจารณาพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2549

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยใช้สัญญาบัญชีเดินสะพัด และสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินรวมกันมากับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์ที่จำนองซึ่งโจทก์ชำระแทนจำเลยไปก่อน และมีคำขอให้บังคับจำนองแก่ทรัพย์ที่จำเลยนำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งตามสำเนาสัญญาจำนอง ระบุว่า จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้า โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทใดเป็นจำนวนเท่าใด การที่ศาลจะพิพากษาบังคับจำนองได้หรือไม่เพียงใด จำต้องพิจารณาก่อนว่ามูลหนี้ตามสัญญาแต่ละฉบับเมื่อรวมกันแล้วมียอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงชอบที่จะนำมูลหนี้ตามสัญญาทุกฉบับมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องเป็นคดีเดียวกันและชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี กับให้เสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าการรวมพิจารณาข้อหาเหล่านี้เข้าด้วยกันจะเป็นการไม่สะดวกโดยศาลชั้นต้นไม่ได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 วรรคสอง และมีผลให้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นโดยโจทก์ไม่ควรจะต้องเสีย จึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การสั่งให้โจทก์แยกฟ้องแต่ละข้อหาออกเป็นแต่ละคดี กับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีที่แยกฟ้อง รวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอาศัยเหตุที่โจทก์ไม่ดำเนินการแยกฟ้องตามคำสั่งศาลดังกล่าวแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบไปด้วย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7000/2545 

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าโดยให้กู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน ซื้อลดเช็ค หรือด้วยประการอื่นที่ทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้า โดยรับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น จำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าโจทก์ย่อมสามารถทำธุรกิจกับโจทก์ได้ไม่จำกัดว่าต้อง เป็นวิธีใดเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน และขายลดเช็คแก่โจทก์ ล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันโดยมิได้แบ่งแยกว่า ประกันหนี้ประเภทไหนรายการใดมูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวม พิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาใน คดีเดียวกันได้ การที่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตาม ตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 1 ก. จึงชอบแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7000/2545

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าโดยให้กู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน ซื้อลดเช็ค หรือด้วยประการอื่นที่ทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้า โดยรับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น จำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าโจทก์ย่อมสามารถทำธุรกิจกับโจทก์ได้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นวิธีใดเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน และขายลดเช็คแก่โจทก์ ล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าประกันหนี้ประเภทไหนรายการใดมูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ การที่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 1 ก. จึงชอบแล้ว


ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้ว คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและทำคำสั่งคำร้องดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เองจึงไม่ชอบ ต้องเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยมาจากโจทก์แล้ว ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2545 

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงินประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าโดยให้กู้ยืม ให้เบิกเงินเกินบัญชี ซื้อขายลดตั๋วเงินหรือโดยประการอื่นที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นการที่จำเลยทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ 3 ฉบับ ต่างคราวกัน แล้วผิดสัญญา มูลหนี้ตามสัญญาและตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสามฉบับเป็นมูลหนี้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างเดียวกันซึ่งสามารถรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โจทก์จึงนำมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ เมื่อโจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1)(ก) จึงชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มโดยแยกมูลหนี้ตามสัญญาหรือตามตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับจึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7226/2538 

ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาทผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิก็ร้องสอดเข้ามาในคดีได้ เพราะบทบัญญัติเกี่ยวกับการร้องสอด มีความมุ่งหมายทำนองเดียวกับการเข้าเป็นคู่ความร่วม การฟ้องแย้งและการรวมพิจารณานั่นเอง เรื่องราวทั้งหลายที่พิพาทกันนั้นหากมีใครเกี่ยวข้องที่จะต้องพิพาทกันด้วย ก็ควรจะได้พิจารณาไปเสียในคราวเดียวกัน หาจำต้องมีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดิมอยู่ก่อนเสมอไปไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669 - 1670/2545 

การเสียค่าขึ้นศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้องเป็นเกณฑ์มิได้พิจารณาเป็นรายคดีหรือรายสำนวน การเสนอข้อหาต่อศาลแต่ละข้อหาก็เป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) แล้ว การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาแยกจากกันได้หรือไม่ หากแยกจากกันได้ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไป การที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับเบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้อหาหนึ่งกับเบี้ยปรับของภาษีการค้าอีกข้อหาหนึ่งแยกจากกันได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายข้อหา 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2544 

คดีก่อนโจทก์ฟ้องคดีทั้งส่วนอาญาและส่วนแพ่งรวมกันมา แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะให้แยกคดีส่วนแพ่งออกจากคดีส่วนอาญาโจทก์จึงได้ถอนฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ วันฟ้องของคดีส่วนแพ่งที่ถอนฟ้องแล้วยื่นเข้ามาใหม่ยังคงเป็นวันฟ้องเดิมในคดีอาญาสินไหมนั่นเอง ไม่ถือว่าเป็นการยื่นฟ้องใหม่ แต่ถือว่าเป็นการแยกคดีส่วนแพ่งออกจากคดีส่วนอาญาตามคำสั่งศาลชั้นต้นการยื่นฟ้องมีเพียงคราวเดียวเท่านั้น จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และเมื่อมีการแยกคดีส่วนแพ่งออกไปแล้ว คดีอาญาสินไหมก็คงเหลือเพียงคดีส่วนอาญาซึ่งมีปัญหาเพียงว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับคดีส่วนแพ่งซึ่งถูกแยกออกไปนั้น มีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำละเมิดโจทก์หรือไม่ และจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ประเด็นแห่งคดีแตกต่างกัน การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่ซ้ำกับส่วนอาญาตามมาตรา 144 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2543 

คำฟ้องตามมาตรา 1(3) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล เมื่อพิจารณาประกอบกับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 แสดงให้เห็นว่าในการที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลในคำฟ้องฉบับหนึ่งนั้นอาจมีข้อหาหลายข้อด้วยกันได้ และให้อำนาจแก่ศาลมีคำสั่งแยกคดีได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อหาหนึ่งข้อหาใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้อหาอื่น ๆหรือแม้ว่าข้อหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกัน แต่ศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะเป็นการสะดวกศาลก็มีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปได้เท่านั้น มิได้บังคับว่าถ้าศาลสั่งแยกข้อหาแล้วจะเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสี่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าในคำฟ้องใดหรือฉบับเดียวกันในกรณีที่มีหลายข้อหาย่อมสามารถคิดค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไปได้ ซึ่งต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์ในคำฟ้องนั้นเป็นแต่ละข้อหาไปว่าเกี่ยวข้องกันหรือแยกกัน 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2541 

ตามมาตรา 29 แห่ง ป.วิ.พ.ได้บัญญัติถึงการฟ้องคดีที่มีหลายข้อหาด้วยกันไว้ 2 กรณี คือ คดีที่ฟ้องกันนั้นมีข้อหาหลายข้อด้วยกันและศาลเห็นว่าข้อหาข้อหนึ่งข้อใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้ออื่น ๆ ศาลอาจมีคำสั่งให้แยกคดีตามที่ศาลเห็นสมควรหรือคู่ความผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอกรณีหนึ่ง อีกกรณีหนึ่งถ้าคดีที่ฟ้องกันนั้นมีข้อหาหลายข้อและศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะทำให้การพิจารณาข้อหาเหล่านั้นสะดวก ก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปตามที่ศาลเห็นสมควรหรือคู่ความผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม 94 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีจำนวนเงินที่ขอให้จำเลยคืนแตกต่างกัน หากต้องแยกพิจารณาตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละครั้ง เท่ากับต้องพิจารณาคดีแยกกันถึง 94 คดี ทั้ง ๆ ที่คำฟ้องมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตลอดจนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันและเป็นคู่ความรายเดียวกัน การพิจารณาไปคราวเดียวกันย่อมสะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อีกทั้งข้อหาตามคำฟ้องยังเกี่ยวเนื่องกันหากแยกฟ้องก็สามารถขอให้พิจารณารวมกันได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 28 โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้องของโจทก์จำนวน 94 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อสามารถคิดคำนวณจำนวนเงินที่ขอให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงินแยกต่างหากออกจากกันได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินรวมกันมาจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อย่อมประจักษ์ชัดว่า โจทก์เจตนาหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล กรณีโจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามคำฟ้องทุกข้อแยกต่างหากจากกัน แม้โจทก์สามารถฟ้องข้อหาหลายข้อเป็นคดีเดียวกันได้ก็ดีแต่ต่อมาศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาเป็นกลุ่มหรือเป็นประเภทออกจากกันแล้วจะทำให้การพิจารณาข้อหาเหล่านั้นสะดวก ศาลก็ยังมีอำนาจสั่งแยกข้อหาดังกล่าวออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.พ.ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5495/2538 

มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดนั้นเกิดจากสัญญาเล่นแชร์2 วง แต่ละวงมีรายละเอียดข้อสัญญาต่างกัน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาวงหนึ่งวงใดไม่เป็นเหตุให้ผิดสัญญาอีกวงหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเล่นแชร์วงแรกจึงมิได้เกี่ยวข้องกับข้อหาที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเล่นแชร์วงที่สอง แม้โจทก์จะได้รวมฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นสองข้อหารวมกันมาเป็นคดีเดียว โดยศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณา มิได้มีคำสั่งให้แยกคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในมูลหนี้ดังกล่าวเนื่องจากเป็นหนี้ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ ในการคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ตามป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลต้องแยกคำนวณตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1511/2532 

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และผู้คัดค้านคัดค้านว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก และยังได้คัดค้านว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านอีกด้วยนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้แยกคดีโดยให้ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านภายใน 1เดือนเฉพาะประเด็นที่ว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องเป็นของฝ่ายใดก็ตาม หากผู้ร้องไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด แต่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นแทน ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหาได้ไม่ เพราะการเพิกเฉยให้ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2)นั้นหมายถึงการไม่ดำเนินคดีในคดีนั้นๆเอง การฟ้องร้องคดีใดๆ ก็ตามเป็นสิทธิของบุคคลที่จะกระทำได้ภายในอายุความจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทิ้งฟ้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2337/2520 

ฟ้องจำเลย 16 คนว่าคัดค้านการที่โจทก์ขอ น.ส.3 สำหรับที่ดินเนื้อที่ 20 ไร่ของโจทก์ อ้างว่าเป็นของจำเลย ขอให้แสดงว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยโต้แย้ง จำเลยให้การว่าได้ครอบครองที่ดินมาเป็นส่วนสัดดังนี้ เป็นคดีมีข้อหาเดียว จะสั่งแยกคดีให้ฟ้องจำเลยแต่ละคนไม่ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1391 - 1398/2509 

คดีที่ศาลรวมพิจารณานั้น เมื่อทนายโจทก์ซึ่งเป็นคนเดียวกันในทุกสำนวนได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ในสำนวนคดีหนึ่งโดยระบุเลขคดีแต่คดีเดียวเท่านั้น แต่ชื่อคู่ความก็ลงชื่อโจทก์กับพวก และชื่อจำเลยกับพวก ชื่อพยานก็ระบุชื่อโจทก์ทุกสำนวนอ้างตนเองเป็นพยาน พยานเอกสารก็อ้างเอกสารของโจทก์ทุกคน ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานรวมกันทุกสำนวน แม้จะมิได้ใส่เลขคดีให้ครบถ้วน ก็เป็นความบกพร่องเพียงเล็กน้อย โจทก์จึงมีสิทธินำพยานสืบตามบัญชีระบุพยานที่ระบุไว้นั้นได้ทุกสำนวน 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2508 

ในคำฟ้องช่องจำเลย โจทก์เขียนว่านายจรินทร์จันทรศิลปินในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ปกครองเด็กหญิงนวลจันทร์จันทรศิลปิน ผู้เยาว์ ดังนี้ ถือว่าโจทก์ได้ฟ้องเด็กหญิงนวลจันทร์โดยนายจรินทร์เป็นผู้ปกครองด้วย เมื่อจำเลยผู้หนึ่งเป็นผู้เยาว์และศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนพิพากษาคดีไปแล้ว โดยมิได้สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งให้แยกคดีที่จำเลยเป็นผู้เยาว์ออกเป็นคดีหนึ่งต่างหาก และให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 แล้วพิพากษาใหม่ได้