Pages

การละเมิดอำนาจศาล

มาตรา ๓๑  ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

(๑) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

(๒) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา ๑๕๖/๑ แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

(๓) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น

(๔) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา ๕๔

(๕) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ หรือมีหมายเรียกตามมาตรา ๒๗๗

มาตรา ๓๒  ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความหรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ ให้ถือว่าได้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้

(๑) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่ามานั้นได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใด ๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผยหรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง

(๒) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดีซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น

ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ
ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้นำวิเคราะห์ศัพท์ทั้งปวงในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ มาใช้บังคับ

มาตรา ๓๓  ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
(ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้นให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้
ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5958/2559
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความ และให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเป็นชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำเช่นนั้นในบริเวณศาลอันจะถือว่าเป็นตัวการ แต่ก็ถือเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.อ. มาตรา 17 และ 84

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559
ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาลงแสดงในเฟซบุ๊กมีข้อความที่ไม่เป็นความจริงกล่าวหาว่าศาลดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และไปถ่ายรูปในบริเวณศาลนำมาลงประกอบข้อความเท็จของตนในเฟซบุ๊กว่าศาลเรียกเงิน และมีข้อความลงข่มขู่ศาลว่าจะยิงทำร้าย ขอให้ผู้พิพากษาระวังตัว อันเป็นข้อความที่ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล และเป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่ถูกต้องและเป็นเท็จ แม้ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่เมื่อข้อความส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายรูปบุคคลในบริเวณศาล เพื่อนำไปประกอบข้อความเท็จที่ตนใช้แสดงต่อสาธารณชน ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงข้อความเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในศาล แสดงความเท็จว่าตนถูกศาลกลั่นแกล้งเป็นความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 32 (2) ด้วย อันเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างเจตนา และต่างบทกฎหมาย ชอบที่จะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทั้งสองกรรม.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2557
บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยการไต่สวนและไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ ศาลจึงไม่จำต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องทนายความและตั้งทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลดังเช่นคดีอาญาทั่วไป และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมไม่ได้ออกระเบียบให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่าย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทนายความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2554
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น สำหรับสเปรย์พริกไทยได้ความว่า ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลักจาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่าการผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นขอความร่วมมือไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390 - 7391/2553
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุมีจะเรียก ว. มาสอบถามและหากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจาก ว. โจทก์ร่วมชอบที่จะไปดำเนินคดีต่างหากก่อน ถือได้ว่าศาลชั้นต้นชี้ขาดในเรื่องการละเมิดอำนาจศาลแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2552
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 เป็นนายหน้าให้แก่ผู้ที่มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้น ย่อมจะทราบกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ดีกว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเพียงชาวบ้าน หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 มีความสุจริตใจที่จะช่วยเหลือผู้กล่าวหาเพียงขอค่าตอบแทนจากการช่วยดำเนินการดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะเรียกเอาค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่สูงจนเกินสมควร ทั้งควรที่จะพาผู้กล่าวหาไปติดต่อขอใช้บริการประกันอิสรภาพจากบริษัท ว. ซึ่งก็อยู่ที่ศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 หาได้กระทำไม่ อันมีลักษณะเป็นการปกป้องด้วยเกรงว่าผู้กล่าวหาจะทราบค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ทำให้ผู้กล่าวหาที่ไม่ทราบความจริงต้องยอมจ่ายเงินไปในจำนวนสูงเกินสมควร โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินส่วนต่างหลังจากหักชำระค่าตอบแทนจากการชำระค่าเบี้ยประกันภัยถึง 16,232 บาท ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการให้ค่าตอบแทนจากการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอย่างธรรมดาทั่วไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากผู้มีอรรถคดีและได้กระทำในศาลชั้นต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2552
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 เป็นนายหน้าให้แก่ผู้ที่มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้น ย่อมจะทราบกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ดีกว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเพียงชาวบ้าน หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 มีความสุจริตใจที่จะช่วยเหลือผู้กล่าวหาเพียงขอค่าตอบแทนจากการช่วยดำเนิน การดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะเรียกเอาค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่สูงจนเกินสมควร ทั้งควรที่จะพาผู้กล่าวหาไปติดต่อขอใช้บริการประกันอิสรภาพจากบริษัท ว. ซึ่งก็อยู่ที่ศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 หาได้กระทำไม่ อันมีลักษณะเป็นการปกป้องด้วยเกรงว่าผู้กล่าวหาจะทราบค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ทำให้ผู้กล่าวหาที่ไม่ทราบความจริงต้องยอมจ่ายเงินไปในจำนวนสูงเกินสมควร โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินส่วนต่างหลังจากหักชำระค่าตอบแทนจากการชำระค่าเบี้ยประกันภัยถึง 16,232 บาท ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการให้ค่าตอบแทนจากการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก อย่างธรรมดาทั่วไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากผู้มีอรรถคดีและได้กระทำใน ศาลชั้นต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2551
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งหมดที่ปรากฏต่อศาลแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นอย่างใดจึงให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ดังนั้น ผู้ร้องย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8912/2551
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ประกอบ มาตรา 30 การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดๆ ตามมาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 ประการ คือ ออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำ เป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตาม เที่ยงธรรมและรวดเร็วประการหนึ่ง และออกข้อกำหนดใดๆ โดยสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทาง ประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรประการที่สอง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณ ศาลหรือมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรทั้งสองประการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) ตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ผ.1 นั้นก็ไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ดังนี้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะนำเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงที่คัดลอกสำเนาจากเทปวีดีทัศน์และเทป บันทึกเสียงหมาย ร.35 และ ร.36 ไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เปิดเผยหรือไม่ ก็ไม่ทำให้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

อนึ่ง ปัญหาที่ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2551
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 รับผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลและพากลับจากศาลโดยทราบดีว่าผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลเพื่อเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก โดยไม่ให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก จึงเป็นการร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล อันเข้าลักษณะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งถือว่ากระทำผิด ฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1)

ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า สถานที่ที่เกิดเหตุมิใช่บริเวณศาลเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในภายหลังซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพผิดของผู้ถูกกล่าวที่ 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา

ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า องค์คณะของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย กฎหมายเพราะรายชื่อผู้พิพากษาในองค์คณะพิจารณาคดีและพิพากษาคดีเป็นรายชื่อ ผู้พิพากษาคนละองค์คณะกัน เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ใน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พี่ชายจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ทนายความของจำเลยกระทำการขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลด้วยการพา และบอกให้ผู้กล่าวหาทั้งสองซึ่งมาศาลในวันนัดตามหมายเรียกแล้วกลับบ้าน เพื่อมิให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความเป็นพยานต่อศาล โดยมีเจตนาเพื่อจะช่วยให้จำเลยไม่ต้องรับโทษ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่มีลักษณะเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเรื่องมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่ผู้ถูกกล่วหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ไปพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2550
แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลเพราะมีการติดต่อทาง โทรศัพท์และรับเงินกันที่บ้านของผู้กล่าวหา แต่หลังจากนั้นได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินดังกล่าวในบริเวณศาลหลายครั้งและในที่สุดก็มีการมอบเงินคืนให้แก่กันที่บริเวณโรงรถของศาล ถือได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกันมาจากเรื่องการวิ่งเต้น คดีของศาลอุทธรณ์ แม้ระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าวให้แก่กันจะมีระยะเวลาห่างจากตอนที่รับเงินมา เป็นเวลาถึง 3 ปีเศษ แต่การดำเนินการวิ่งเต้นคดียังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งต้องมีการคืนเงินกัน กระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินดังกล่าวถือเป็นส่วน หนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8912/2551
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ประกอบ มาตรา 30 การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดๆ ตามมาตรา 30 ได้จะต้องเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 ประการ คือ ออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำ เป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตาม เที่ยงธรรมและรวดเร็วประการหนึ่ง และออกข้อกำหนดใดๆ โดยสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทาง ประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรประการที่สอง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณ ศาลหรือมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญหรือในทางประวิงให้ชักช้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรทั้งสองประการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) ตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ผ.1 นั้นก็ไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ดังนี้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะนำเทปวีดีทัศน์และเทปบันทึกเสียงที่คัดลอกสำเนาจากเทปวีดีทัศน์และเทป บันทึกเสียงหมาย ร.35 และ ร.36 ไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เปิดเผยหรือไม่ ก็ไม่ทำให้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 30 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

อนึ่ง ปัญหาที่ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกข้อกำหนดตามมาตรา 36 (2) จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2550
หลังจากที่ผู้กล่าวหาได้ตกลงว่าจ้างผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าจะติดต่อวิ่งเต้นคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ให้และได้ติดต่อ แล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เบื้องบน 200,000 บาท ผู้กล่าวหาตกลงและนัดให้ไปรับมอบเงินที่บ้านของผู้กล่าวหา เมื่อผู้ถูกกล่าวหารับเงินดังกล่าวไปแล้ว ผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ผู้กล่าวหาจึงทวงเงินคืนหลายครั้งเคยมาติดตามทวงคืนในบริเวณศาล 3 ครั้ง แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แต่ได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินในบริเวณศาลและมีการมอบเงินคืนที่บริเวณโรง รถของศาลกระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินถือเป็นส่วน หนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4102/2549
การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นั้น จะต้องเกิดขึ้นในบริเวณศาล การที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีตามหนังสือร้องเรียนมีพฤติการณ์ ละเลยต่อหน้าที่ และด้อยประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี ฟังความโจทก์ข้างเดียว ตัดสินคดีผิดพลาดไม่ยุติธรรมและลงโทษผิดหลักมนุษยชาติกระทำให้ผู้อื่นได้รับ ความเสียหายอย่างมากนั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องเรียนไปยังศาลชั้นต้นหรือได้ทำหนังสือ ร้องเรียนดังกล่าวขึ้นในบริเวณศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีผู้พิพากษา ซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอย่างร้ายแรงโดยปราศจากความเคารพยำเกรงทำให้ เสื่อมเสียต่อสถาบันศาลยุติธรรมและอาจทำให้ผู้พิพากษาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปก็ตามแต่เมื่อการ กระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1715/2548
ป.วิ.พ.มาตรา 30 เป็นเรื่องที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอก ที่อยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดี หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ความผิดมาตรา 31 (1) ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดในตัว ศาลไม่ต้องออกข้อกำหนดก่อน และการที่ผู้ถูกกล่าวหาพูดข่มขู่จะทำอันตรายต่อชีวิตผู้กล่าวหาก่อนที่ผู้ กล่าวหาจะเข้าเบิกความเป็นพยานในคดีอาญา โดยข่มขู่ในบริเวณศาลก็ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเพียง พอที่จะถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31 (1) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1715/2548
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 30 เป็นเรื่องที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดี เป็นความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และศาลจะออกข้อกำหนดก่อนโดยห้ามมิให้ผู้ใดก่อความรำคาญหรือประวิงคดี ขัดขวางการพิจารณาคดีของศาลหากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามถือว่าบุคคลนั้นมีความผิด ฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ความผิดมาตรา 31 (1) ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดในตัวศาลไม่ต้องออกข้อกำหนด ก่อน และไม่จำต้องกระทำต่อหน้าศาล หากมีการกระทำภายในบริเวณศาลก็ถือว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเพียง พอที่จะถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 33 (1) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4102/2549
การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นั้น จะต้องเกิดขึ้นในบริเวณศาล การที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีตามหนังสือร้องเรียนมีพฤติการณ์ละเลยต่อหน้าที่ และด้อยประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี ฟังความโจทก์ข้างเดียว ตัดสินคดีผิดพลาดไม่ยุติธรรมและลงโทษผิดหลักมนุษยชาติกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอย่างมากนั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องเรียนไปยังศาลชั้นต้นหรือได้ทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าวขึ้นในบริเวณศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอย่างร้ายแรงโดยปราศจากความเคารพยำเกรงทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันศาลยุติธรรมและอาจทำให้ผู้พิพากษาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปก็ตามแต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2546
พระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ มาตรา 11(7) บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) และมาตรา 33 ให้ลงโทษจำคุกและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นพนักงานอัยการจะฎีกาได้เฉพาะในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้นแต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษไว้ มิใช่เป็นการปล่อยผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ มาตรา 11(7) พนักงานอัยการจึงฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7920/2544
แม้การสับเปลี่ยนผู้ต้องหาในคดีนี้จะกระทำในชั้นสอบสวนก่อนมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นเหตุขัดขวางมิให้การดำเนินคดีในศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและถูกต้อง เพราะทำให้มีการดำเนินคดีอาญาในศาลต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์โดยผู้กระทำความผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคบคิดกันจัดให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน โดยมีเจตนาให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งไม่ได้กระทำความผิดอาญาถูกดำเนินคดีในศาลแทนนาย อ. และเพื่อให้นาย อ. รอดพ้นจากการถูกลงโทษในความผิดที่ได้กระทำ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในศาล อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้ว เมื่อความปรากฏแก่ศาลตามคำแถลงของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกระทำความผิดดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องทำการไต่สวนข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2542
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเรียกและรับเงินจากผู้กล่าวหาและจำเลย เพื่อนำไปวิ่งเต้นพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐาน โดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษา เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล ดังนั้น แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจะมีจุดมุ่งหมาย ให้เกิดผลแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล อันอาจเกิด ผลเสียหายแก่คู่ความและประชาชน สมควรอย่างยิ่งที่จะลงโทษ ให้หลาบ จำก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง มิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลแล้ว จะอาศัยแต่ผลจากการกระทำที่ อาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่รูปคดีมาชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหา ทั้งสองประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลไม่ได้ เมื่อฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมิได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ในบริเวณศาลอันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อม พิพากษาให้มีผลไปถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977/2540
การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถือไม้ไผ่ยาวขนาด 1 เมตรกว้าง 2 เซนติเมตร เข้าไปในห้องควบคุมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ในบริเวณศาลชั้นต้นแล้วใช้ไม้ไผ่ดังกล่าวตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2จำนวน 3 ที และเงื้อไม้ไผ่จะตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ล้มลงและได้รับบาดเจ็บ แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง ได้ตรวจในถุงอาหารพบหลอดบรรจุเฮโรอีน 1 หลอด ที่ญาติส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งกำลังจะส่งต่อให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ตามแต่ห้องควบคุมของศาลมีขนาดไม่กว้างมากนัก อีกทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจคอยควบคุมความสงบเรียบร้อยอยู่ด้วย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3จึงไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องถือไม้ไผ่เข้าไปในห้องควบคุมผู้ต้องขังโดยเกรงว่าจะถูกทำร้ายตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3ฎีกา ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ใช้ไม้ไผ่ตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึง 3 ทีและเงื้อไม้ไผ่จะตีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อีกโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายได้ จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2539
ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งมีมูลบางข้อหายกฟ้องบางข้อหาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองฟังโจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วจำเลยที่2ออกไปยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวศาลตรวจพบว่ามิได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การจำเลยและนัดสืบพยานโจทก์ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาจึงเรียกโจทก์และจำเลยทั้งสองกลับเข้าห้องพิจารณาแล้วแจ้งเหตุดังกล่าวให้ทราบและทำรายงานกระบวนพิจารณาฉบับใหม่ขึ้นพร้อมทั้งแจ้งขอทำลายรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกด้วยโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านดังนั้นการที่จำเลยที่2กล่าวหาศาลด้วยข้อความที่ไม่เป็นความจริงว่าศาลสั่งยกฟ้องทุกข้อหาสั่งขังจำเลยทั้งสองไม่ได้และโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับแรกอันเป็นการดูหมิ่นศาลและกล่าวเสียดสีศาลว่าหากให้พิจารณาคดีต่อไปเกรงว่าจะทำลายเอกสารที่มีความสำคัญถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาลศาลมีอำนาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลโดยไม่ต้องฟ้องจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือต้องเปิดโอกาสให้จำเลยที่2แก้ข้อกล่าวหาหรือให้โอกาสตั้งทนายถามค้าน คำสั่งศาลเรื่องละเมิดอำนาจศาลกฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของคำสั่งไว้เมื่อคำสั่งศาลดังกล่าวต่อเนื่องกับการไต่สวนตามรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งมีชื่อศาลลงวันที่30มีนาคม2537จึงเป็นคำสั่งที่มีชื่อศาลและวันเดือนปีชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา186(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2537
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลอุทธรณ์มิได้ยกเลิกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30,31 และมาตรา 33คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นต่อไปได้ เพราะโจทก์ได้คัดค้านไว้แล้วขอให้ยกเลิกข้อกำหนดของศาลชั้นต้นเสียนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลออกข้อกำหนดก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดมิให้โจทก์ลุกขึ้นแถลงการณ์ใด ๆ ในขณะที่ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาอยู่อันจะเป็นการขัดขวางทำให้กระบวนพิจารณาไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็ว เหตุที่ออกข้อกำหนดเพราะโจทก์ได้กระทำหลายครั้งแล้วเมื่อศาลชั้นต้นออกข้อกำหนด โจทก์มิได้นำพาต่อข้อกำหนดของศาลยังลุกขึ้นแถลงโดยศาลมิได้อนุญาต และขอให้ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาอีก โจทก์ย่อมทราบถึงการกระทำของตนดีว่าเป็นการขัดขวางทำให้กระบวนพิจารณาไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็วย่อมเป็นการละเมิดอำนาจศาลจะอ้างว่ากระทำไปโดยไม่รู้ว่ามีความผิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2535
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาจึงเท่ากับให้ยกคำร้องของทนายจำเลยที่ขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จำเลยหรือทนายจำเลยย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2535
ข้อความในฎีกาของโจทก์ทั้งสองและสำเนาคำร้องเรียนเอกสารท้ายฎีกาซึ่งแนบมากับฎีกาอันเป็นส่วนหนึ่งของฎีกา ได้ระบุชื่อผู้พิพากษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งด้วย มีลักษณะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีศาล เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันลงนามเป็นผู้ฎีกาและผู้เรียงและผู้ถูกกล่าวหาได้นำมายื่นต่อศาลชั้นต้น การกระทำของโจทก์ทั้งสองและผู้ถูกกล่าวหาย่อมเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2533
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน โดย ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ขอคัดหมายกักขังจำเลย และเป็นผู้ประกันตัวจำเลยไปในระหว่างอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาย่อมทราบดีว่าศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานใด การที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอถอน หลักประกันและรับหลักประกันคืนโดยมิได้นำตัวจำเลยส่งมอบต่อศาล และศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำพิพากษา อ้างว่าศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี โทษจำรอ ผู้ถูกกล่าวหาหมดข้อผูกพันตามสัญญาประกันอันเป็นเท็จ จึงเป็นการประพฤติตน ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลล่างมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษผู้ถูกกล่าวหาศาลฎีกาย่อมปรับบทเสียให้ถูกต้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2533
โจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำร้องซึ่งมีข้อความเสียดสีศาลย่อมตระหนักในข้อความตามคำร้องเป็นอย่างดี จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในคำร้อง การที่ทนายความของโจทก์ไม่ได้ตรวจคำร้องก่อนที่โจทก์จะนำมายื่นต่อศาลไม่เป็นเหตุที่ยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดและผิดหลง การที่โจทก์ขอถอนคำร้องซึ่งมีข้อความเสียดสีศาล หาทำให้ข้อความตามคำร้องที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลหมดไปโดยการถอนคำร้องไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) ไม่ได้บัญญัติว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเตือนแล้วจึงจะถือว่ามีเจตนาละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695 - 2696/2527
ทนายความแถลงต่อศาลว่า บ.จะอยู่กับตัวความหรือไม่ไม่ทราบและจะนำตัว บ.มาศาลได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แม้จะเป็นการแถลงเพื่อผลประโยชน์ของตัวความซึ่งเป็นคู่ความในคดีก็จริงอยู่แต่ก็จะถือว่าการแถลงดังกล่าวเป็นการกระทำของตัวความต่อศาลเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ เพราะการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษทางอาญาจึงต้องพิเคราะห์เจตนาขอบงผู้ที่จะต้องรับโทษประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่ทนายแถลงต่อศาลดังกล่าวตัวความมิได้อยู่ร่วมรู้เห็นในห้องพิจารณาด้วยโดยมิได้มาศาลในวันนั้นย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ทนายของตนได้แถลงต่อศาลว่าอย่างไรจึงถือว่าตัวความแถลงข้อความดังกล่าวอันเป็นเท็จในการพิจารณาของศาล ซึ่งจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2526
ในคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวมีลายมือชื่อ ส. ในช่องผู้ขอประกันซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อปลอมและมีลายมือชื่อจำเลย พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยรู้เห็นในการปลอมลายมือชื่อ ส. ในช่องผู้ขอประกันแล้วให้นำมายื่นต่อศาลชั้นต้นและแถลงเท็จต่อศาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31 และมาตรา 33

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดต่อศาล ถ้าได้กระทำต่อหน้าศาล ข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดก็จะปรากฏต่อศาลแล้วศาลย่อมลงโทษได้ทันที แต่ถ้ามิได้กระทำต่อหน้าศาลหรือศาลยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลนั้นจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ศาลก็ชอบที่จะไต่สวนหาความจริงในภายหลังได้

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป การที่ศาลชั้นต้นบันทึกถ้อยคำของ ส.ไว้ในแบบพิมพ์คำให้การโดยส. ได้ปฏิญาณหรือสาบานตนแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112แม้จะมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย ก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2525
การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ถึง มาตรา 33นั้น หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใด ก็เป็นอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีนั้นที่จะใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าว

การที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดอุดรธานี)ลงโทษผู้ขอประกันฐานละเมิดอำนาจศาลในการพิจารณาคดี ย่อมเป็นการลงโทษในกรณีที่ผู้ขอประกันละเมิดอำนาจศาลทหาร ไม่ใช่ละเมิดอำนาจศาลพลเรือน คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งของศาลทหาร ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับอุทธรณ์ของผู้ขอประกันไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2522
ก. นั่งอยู่กับจำเลยในศาล ศาลอ่านคำพยานโจทก์ให้พยานฟังตามที่ศาลจดไว้ว่า ร้านอยู่ห่างกัน 20 วา ทนายโจทก์และพยานแถลงว่าที่ถูกเป็น 20 ห้อง ไม่ใช่ 20 วา ก.ลุกขึ้นพูดว่า "20 วา ไม่ใช่ 20 คูหาเพราะได้จดไว้" ศาลกำชับว่าคนนอกคดีไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นก. ก็ไม่ขัดขืนอย่างไร ดังนี้ ยังไม่ถือเป็นประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ไม่เป็นละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2520
โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยแจ้งต่อศาลและตำรวจว่าโจทก์ยังไม่ออกตามคำสั่งศาล ศาลจึงออกหมายจับ และตำรวจจับโจทก์ ดังนี้ เป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่งไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,173 และ 174

การที่โจทก์ไม่ออกจากที่พิพาทตามคำสั่งศาล ไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2520
การที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วเท่านั้น

ท.เรียกเอาเงินจากจำเลยและคู่ความคดีอื่นโดยอ้างว่าเป็นค่าเขียนคำร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ ท. เข้ามาในบริเวณศาลในวันเปิดทำการซึ่งรวมทั้งวันอื่น ๆ ต่อมาไม่ว่ากรณีใด ๆ จึงเป็นการเกินเลยบทบัญญัติมาตราดังกล่าวและไม่ชอบ ดังนั้น ต่อมา ท. มีเหตุจำเป็นเข้ามาในบริเวณศาลในขณะที่ศาลเปิดทำการ อ้างว่าเป็นเพื่อน ส.เพื่อฟังศาลตัดสินเรื่องบุตรชายส. ถูกฟ้องกับ ช.ทนายความให้นำเงินมาให้ที่ศาลท. มิได้เข้ามาในบริเวณศาลเพื่อสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนการกระทำของท. หาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2511
ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นความผิดต่อศาล ศาลย่อมดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนได้เองตามที่เห็นสมควร ไม่ว่าพยานหลักฐานเหล่านั้นฝ่ายใดจะได้อ้างหรือไม่ สำหรับกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลได้กระทำต่อหน้าศาล ย่อมถือได้ว่าศาลได้ทราบข้อเท็จจริงนั้นจากพยานหลักฐานที่ปรากฏแก่ศาลเองแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไปได้ทีเดียว แต่ในกรณีที่การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลจำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อนเพียงแต่สอบถามปากคำพยานโดยไม่ปรากฏว่าพยานเหล่านั้นได้สาบานตน หรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112ถ้อยคำพยานเหล่านั้นจึงฟังเป็นความจริงยังไม่ได้ (อ้าง ฎีกาที่ 824/2492)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2510
ที่จะถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(3) จะต้องเป็นการหลีกเลี่ยงไม่รับหมายของศาล (อ้างฎีกาที่ 102/2507)

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเจ้าพนักงานที่ไปส่งหมายเรียกของศาลได้พบจำเลยและแจ้งให้จำเลยทราบว่าจะส่งหมายให้แล้ว จำเลยกลับกินข้าวเสียและแกล้งพูดโยกโย้ อันเป็นการแสดงว่าจำเลยแกล้งถ่วงเวลา แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้หลบหลีกไปเสียให้พ้น คงอยู่บนเรือนของจำเลยและได้เซ็นรับหมายเรียกของศาลไว้ เช่นนี้คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้หลีกเลี่ยงไม่รับหมายของศาล จึงไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2507
ทนายจำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แนะนำไม่ให้จำเลยมาศาลเพื่อฟังคำสั่งศาลและเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้จำเลยหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับหมายต่างๆ ของศาลศาลชั้นต้นจึงได้ทำการไต่สวนในข้อหาว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และได้มีคำสั่งให้ทนายจำเลยมาศาลด้วยตนเองทุกนัดที่มีการนัดไต่สวนกรณีเช่นนี้ ทนายจำเลยไม่มีฐานะเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 19 ฉะนั้น การที่ทนายจำเลยไม่มาศาลตามคำสั่งศาล จึงไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31(5)และ มาตรา 19

เมื่อปรากฏต่อศาลว่า ผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาล หรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใดศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่คู่ความพิพาทกัน มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่า ทนายจำเลยกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแต่ศาลยังมิได้ลงโทษทนายจำเลยศาลยังได้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับเรื่องละเมิดอำนาจศาลโดยเฉพาะอีก และให้โอกาสทนายจำเลยที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบแสดงต่อศาลครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยก็ไม่มาศาล และไม่แจ้งเหตุขัดข้องอย่างไร แม้ภายหลังที่ศาลสั่งลงโทษทนายจำเลยแล้ว ทนายจำเลยก็มิได้แจ้งเหตุขัดข้องอย่างไรต่อศาลซึ่งแสดงว่าทนายจำเลยจงใจไม่อ้างอิงพยานหลักฐานมาสืบ และหลบเลี่ยงการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในเรื่องละเมิดอำนาจศาลดังนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องทนายจำเลยละเมิดอำนาจศาลมาชอบแล้ว

เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังได้ว่า ทนายจำเลยเป็นผู้ยุยงเสี้ยมสอนให้ตัวความหลบเลี่ยงไม่รับหมายของศาลตลอดมาการกระทำของทนายจำเลยย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31(3)(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2507)

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งพนักงานอัยการฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2503
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวน ศาลก็ย่อมฟังข้อเท็จจริงได้จากหลักฐานและคำพยานที่ปรากฏมีอยู่ในสำนวนประกอบการวินิจฉัยได้ทั้งหมดไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้อ้างหรือนำมาสืบ และผู้ถูกหาว่าละเมิดอำนาจศาลก็มีโอกาสซักค้านพยานนั้นได้อยู่แล้ว ศาลย่อมฟังลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

โจทก์ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทำร้ายพยานโจทก์ข้างฝานอกห้องพิจารณาบนศาล ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าพยานโจทก์ทำร้ายผู้ร้องฝ่ายเดียว ต่างฝ่ายต่างขอให้ลงโทษอีกฝ่ายในฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่า ผู้ร้องทำร้ายพยานโจทก์ ลงโทษผู้ร้องข้างเดียวฐานละเมิดอำนาจศาล จำคุก 4 เดือน เช่นนี้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยเพราะผู้ร้อง ไม่ใช่ผู้เสียหายในส่วนการละเมิดอำนาจศาลของพยานโจทก์ดังกล่าวนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2497
พกปืนบรรจุกระสุนพร้อมเข้าไปในศาล แม้จะอยู่ภายในเสื้อปกปิด ก็แสดงว่าไม่มีการคารวะต่อศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาล