Pages

การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

มาตรา ๒๗  ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร

ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ

ถ้าศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใด ๆ อันมิใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ เพียงเท่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่ความฝ่ายนั้น ในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ ใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2563
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากวันที่ระบุหลังบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความหมดอายุ ทั้งทนายโจทก์ร่วมยังยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 โดยครั้งนี้ศาลชั้นต้นระบุว่าอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ครั้นถึงวันครบกำหนดโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 4 ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ร่วมอ้างเหตุเดิมเช่นเดียวกับครั้งก่อนและเหตุตามคำร้องไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษ ให้ยกคำร้อง อันเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุแล้ว ทนายโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ร่วม หากศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องการหยิบยกว่าใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุแล้ว ทนายโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ร่วม โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สมควรฟังข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายให้แน่ชัดเสียก่อนว่าทนายโจทก์ร่วมได้มีการต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความหรือไม่ เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าทนายโจทก์ร่วมได้แสดงหลักฐานว่ามีการต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความแล้ว โดยบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความระบุวันออก 19 ธันวาคม 2560 วันหมดอายุ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาต่อเนื่องจากบัตรเดิมที่หมดอายุวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ทนายโจทก์ร่วมจึงมิใช่เป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความและมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แทนโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและยกคำสั่งศาลชั้นต้นในคำร้องของทนายโจทก์ร่วมเริ่มตั้งแต่ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมาทุกคำสั่ง เพราะเหตุใบอนุญาตให้เป็นทนายความของทนายโจทก์ร่วมหมดอายุนั้น เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2563
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเสียให้บริบูรณ์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาตาม มาตรา 243 (2) คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบที่จะยกอุทธรณ์ของโจทก์เสียด้วยและสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้สั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ก็ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์ตกไปในตัว เพราะกระบวนพิจารณาต้องไปเริ่มที่ศาลชั้นต้นใหม่ เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจาณาให้ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ในคำฟ้องบริบูรณ์แล้วพิพากษายกฟ้อง หากโจทก์ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป โจทก์ต้องทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ ซึ่งศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 การที่โจทก์อุทธรณ์โดยขอถือเอาอุทธรณ์ฉบับเดิมที่ยื่นไว้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่และตกไปแล้วเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีคำสั่งให้โจทก์ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาตามความประสงค์ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้ก็ตาม แต่อุทธรณ์ที่ไม่ชอบนั้นเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่มิได้สั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ตั้งแต่แรก เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นผิดหลงส่งอุทธรณ์ที่ตกไปแล้วไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์โดยไม่ให้โอกาสแก่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งที่โจทก์ยังประสงค์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2562
การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ทนายความต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ว. ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยใบแต่งทนายความมิได้ระบุให้ ว. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่องโดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียว เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม แต่เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับหลังโจทก์ได้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้วจึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2562
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าคำร้องขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่อ้างว่าประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจหาเงินชำระค่าธรรมเนียมได้ทันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาและจำเลยขอขยายระยะเวลาฎีกา การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบเช่นกัน เพราะถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) และการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและรับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2562
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยมิได้กำหนดว่าคดีของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์และเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามราคาที่ดินพิพาท จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา รวมทั้งมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมา ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบและโจทก์สามารถอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือให้ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2780/2562
โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่อ้างว่า ต้องเสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นศาลอันมูลเหตุกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้เกิดขึ้น เพื่อให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ผิดระเบียบเพื่อพิจารณาข้ออ้างของโจทก์ต่อไป มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพราะข้อผิดระเบียบดังกล่าวมิใช่ข้อผิดระเบียบที่เกิดขึ้นในกระบวนพิจารณาของศาลฎีกา กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่มีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลล่างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2562
การปิดหมาย เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งต้องปิดหมายไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย การที่ผู้ส่งหมายเพียงแต่วางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 5 จึงไม่ชอบ กระบวนพิจารณาตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้

ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2561
มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ในส่วนคดีอาญาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ยื่นฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2458 - 2459/2561
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 98/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "กรณีที่มีการฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดี ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดียึดรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยใช้ระบบไต่สวน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" แสดงว่าจะนำบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามวรรคสองมาใช้บังคับได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ออกระเบียบในเรื่องนี้มาใช้บังคับแล้ว

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังไม่ได้ออกระเบียบการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน ที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไต่สวนมูลฟ้อง และสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองจนเสร็จและพิพากษาคดีแล้ว โดยที่โจทก์ไม่ได้ยกข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลชั้นต้นว่าดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้จะกล่าวอ้างว่าศาลดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะส่งเพิกถอนได้ แต่ก็เป็นดุลยพินิจของศาล เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้สั่งเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและพิจารณาพิพากษาต่อไป จึงฟังได้ว่าศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2561
เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า "บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น" ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2561
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้อง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในวันนัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้โจทก์นำสืบพยานเพิ่มเติม ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากโจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงหรือผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561
คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2560
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้นหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลใด และวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดยะลา) ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนเบื้องต้นแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์ไว้เป็นไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งฟ้องได้บรรยายถึงการกระทำโดยการใช้อำนาจทางกฎหมายของจำเลยทั้งสองอันเป็นที่มาของการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองว่าคดีโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองสงขลา หากศาลปกครองสงขลาเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองสงขลา หรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองสงขลา แต่ถ้าศาลปกครองสงขลามีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้เป็นไม่รับฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8539/2560
การขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น คู่ความอาจมีคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วได้ ประกอบกับคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้นมีผู้พิพากษาสมทบซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะได้ทำความเห็นแย้งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของผู้ร้อง ซึ่งความเห็นแย้งที่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558 โดยไม่ว่าจะพิจารณาจากความหมายในข้อความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตราต่าง ๆ หรือความสอดคล้องของบทกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวกับอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์กตามพันธกรณีที่ประเทศยอมรับ ล้วนแต่เป็นกรณีที่จะต้องถือว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ

ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศแต่อย่างใด การที่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว รวมตลอดถึงการมีคำสั่งและออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องล้วนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปราศจากอำนาจ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษายกคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลดังกล่าวทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2560
อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ที่ ป. ซึ่งถูกถอนออกจากการเป็นทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น ถือเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 ลงชื่อในอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเท่ากับศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องนั้นแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2560
แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4576/2560
การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีจะต้องกระทำโดยคู่ความ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) คู่ความ หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง และตามมาตรา 2 (14) โจทก์หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน แม้ผู้ร้องอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ใช่คู่ความตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเพื่อขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่อ้างว่าผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3538/2560
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ผู้คัดค้านฟังเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 23 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานของราชการ ไม่ใช่ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 24 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ดังที่ทนายผู้คัดค้านระบุไว้ในคำร้องฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2559 ที่ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 1 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตนั้น โดยข้ออ้างในคำร้องเป็นเพียงเหตุที่อ้างเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้สามารถขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 นับได้ว่าเป็นความผิดหลงของทนายผู้คัดด้าน จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านดังกล่าวและต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้คัดค้าน จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้วเช่นกัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำสั่งรับฎีกาในเวลาต่อมา ก็เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2560
แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ที่ไม่ได้สืบพยานโดยใช้ระบบไต่สวนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2556 ที่มีผลใช้บังคับภายหลังในระหว่างการพิจารณาคดี แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้น และการสืบพยานของศาลชั้นต้นไม่มีคู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม การเพิกถอนกระบวนพิจารณาจึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2560
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ทั้งสี่ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ตาม ป.อ. มาตรา 83, 173 และ 174 ซึ่งความผิดดังกล่าวตามมาตรา 174 วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท โจทก์ทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการสั่งที่ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ถือได้ว่าการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่และมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2560
จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา แต่มี ส. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ปรากฏว่า ส. เป็นทนายความของจำเลย และตามฎีกาก็ระบุชัดเจนว่า ส. ไม่เป็นทนายความโดยในช่องใบอนุญาตทำเครื่องหมายยัติภังค์ไว้ ( - ) ส. จึงเป็นบุคคลที่ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงคำคู่ความที่ยื่นต่อศาลอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) กรณีหาใช่ข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถหรือบกพร่องในการเขียนคำคู่ความ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องที่ผิดระเบียบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9949/2559
คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว นอกจากทนายความทั้งสองฝ่ายมาศาล ยังปรากฏว่าตัวความทั้งสองฝ่ายมาศาล และได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีทางดำเนินคดีต่อไปเพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ภายในกำหนดเวลา หนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คำพิพากษาตามยอมนั้นย่อมถึงที่สุด ไม่อาจที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความภายหลังว่า คำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้

คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสจำเลย เป็นคดีที่ไม่มีผู้เยาว์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์เกี่ยวข้อง โจทก์และจำเลยต่างแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ต้องการผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไม่น้อยกว่าสองคนย่อมเป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 147 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8726/2559
คำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีผลทำให้คดีเสร็จไปจากศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8435/2559
การนั่งพิจารณาคดีไม่ว่าจะนั่งพิจารณาโดยผู้พิพากษาคนเดียวหรือนั่งพิจารณาคดีโดยไม่ครบองค์คณะ หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมบัญญัติไว้แล้ว ถือได้ว่าเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี อันเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น จำเลยจึงชอบที่จะยกข้อคัดค้านในเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างภายในเวลาไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อจำเลยทราบถึงการนั่งพิจารณาคดีที่อ้างว่าผิดระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 แต่จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 จึงช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิยกขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาคดีดังกล่าวแล้วพิจารณาคดีใหม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6574/2559
จำเลยทั้งสองแนบประกาศกระทรวงมหาดไทยเป็นเอกสารท้ายอุทธรณ์ โดยไม่ได้มีการนำสืบในศาลชั้นต้น คำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่ได้รับรองความถูกต้องของข้อเท็จจริงตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ จึงรับฟังเอกสารท้ายอุทธรณ์ไม่ได้ คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนที่จะรับฟังว่า ที่ดินจำนองต้องอยู่นอกเขตศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งสามเสร็จ แม้หากจะฟังว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ แล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ไม่อาจยกเอาข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นขึ้นกล่าวอ้างได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2559
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 35 (7) กำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าเมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความและให้คณะกรรมการทนายความจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ อันมีผลให้ทนายความผู้นั้นขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 (4) เมื่อยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสภาทนายความได้จำหน่ายชื่อ ณ. ออกจากทะเบียนทนายความ ณ. จึงยังไม่ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 ดังนั้นกระบวนพิจารณาของศาลที่ ณ. เป็นทนายความจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ ณ. ทนายความจำเลยที่ 2 ได้โดยชอบจึงถือว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2559
ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มีคำขอ 3 ประการ คือ เกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวกับบ้านและเกี่ยวกับต้นไม้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงวินิจฉัยแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินเท่านั้นว่าเป็นเพียงคำมั่นว่าจะให้ อันเป็นการวินิจฉัยจากพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบ เนื่องจากศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคลและขอให้มีคำสั่งเรียกพยานเอกสารมาสืบดังกล่าว ซึ่งถ้านำสืบจนสิ้นกระแสความ ข้อเท็จจริงก็อาจรับฟังได้เป็นอย่างอื่น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้แก้ไข ถือได้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2559
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีความมุ่งหมายเพื่อให้คู่ความแพ้ชนะคดีกันในเนื้อหาแห่งคดีตามกฎหมายสารบัญญัติ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้เพิกถอนการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 มาตรา 246 และ 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2559
โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2559
ภายหลังที่ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เฉพาะโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น หารวมถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ เพราะสิทธิในการฎีกาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ราย ฉะนั้นขณะที่ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาจึงพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ตามคำร้องของ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองด้วย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้อง ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ อ้างเพียงว่าเอกสารสำนวนคดีอยู่ที่ทนายโจทก์คนเดิมทั้งหมดซึ่งยังติดต่อไม่ได้ ต้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดได้ อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเท่านั้น แม้ตามคำร้องจะอ้างว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็หาใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นเวลาที่กำหนดคือวันที่ 27 มีนาคม 2558 ไม่ เพียงแต่เป็นเหตุส่วนตัวของ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ทั้งสองในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงทำให้ ม. ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนโจทก์ทั้งสองก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ เมื่อไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070/2559
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามบุกรุกที่ดินของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารกับเรียกค่าเสียหาย 100,000 บาท ในส่วนคำขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารนั้น ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อจำเลยทั้งสามให้การเพียงว่าไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ หาได้ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสาม กรณีจึงไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทที่จำต้องตีราคาทรัพย์พิพาทเพื่อให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาล คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

โจทก์ฎีกาเฉพาะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้วให้ศาลชั้นต้นเริ่มต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เพียงประการเดียว ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13965/2558
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงในเรื่องของเหตุหย่า จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ผู้มีภาระการพิสูจน์จึงมีหน้าที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบสนับสนุนข้ออ้างของตน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยโดยศาลชั้นต้นเป็นผู้สอบถามโจทก์จำเลยเองทั้งหมด ไม่ได้ให้ทนายโจทก์หรือทนายจำเลยซักถามหรือถามค้านพยาน แล้วก็มีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย จากนั้นก็วินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาท สำหรับประเด็นเรื่องฟ้องหย่าก็วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเหมือนคดีที่มีการสืบพยานทั่วไป เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากศาลเป็นผู้ไต่สวนและฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์เท่าที่ควร แต่เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งใน ป.วิ.พ. ไม่ได้ให้อำนาจศาลเรียกพยานมาไต่สวนเอง แม้ศาลจะมีอำนาจซักถามพยาน แต่ก็ต้องเป็นพยานที่คู่ความอ้างและศาลต้องให้คู่ความซักถามต่อจากศาล ทั้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นไต่สวนก็มิได้สอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาท การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยเองทั้งหมดจึงเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2558
การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย เป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่าเหตุผลที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8689/2558
ตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องโดยไม่ชอบเพราะผู้ร้องไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มีชื่อและชื่อสกุลซ้ำกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีคำขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดตั้งแต่มีการยึดทรัพย์ หาใช่เป็นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ และตามคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302

การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการมาทั้งหมดย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องได้ เพราะผู้ร้องมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด รวมทั้งกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดเพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมาตรา 296 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ชอบ

เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7201/2558
โจทก์ฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดี แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อจำเลยที่ 1 อันมีผลให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลนับแต่นั้นก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 บัญญัติไว้ว่า แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น และพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบในคดีดังกล่าวต่อไป ทนายความของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีตามที่ได้รับแต่งตั้งต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฉะนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 หลังจากถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนจึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอันจะต้องเพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7064/2558
แม้คดีนี้ถึงที่สุดตามคำสั่งศาลฎีกาที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกาแล้วก็ตาม แต่ในชั้นบังคับคดีจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย อันเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว ย่อมมีผลให้คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 และเป็นคดีกรณีที่จำต้องจัดหาบุคคลผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะเพื่อให้มีคู่ความอยู่โดยครบถ้วนก่อนที่จะส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้แก่โจทก์และดำเนินคดีต่อไป การพิจารณาและมีคำสั่งให้บุคคลใดเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะในคดีซึ่งอยู่ในระหว่างอุทธรณ์เช่นนี้ จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ใช่อำนาจของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ที่ว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจที่จะพิจารณาให้คืนคำร้องแก่ศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไป จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาประกอบกับจำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะซึ่งมิใช่เป็นคำสั่งไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีและอยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะสั่งได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นแม้จะเป็นการผิดระเบียบแต่ในชั้นนี้มีประเด็นเพียงเรื่องการจัดหาบุคคลผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนคู่ความมรณะเพื่อให้คดีสามารถดำเนินการไปได้โดยมีคู่ความครบถ้วน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่เป็นที่เสียหายแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศาลฎีกาไม่จำต้องเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียนนั้นหรือสั่งแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2558
การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2558
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เสียให้ถูกต้องเป็นการดำเนินการแทนศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะการแจ้งให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์ภาค 4 แม้ผลคดีเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้อง ภายใน 8 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องของผู้ร้อง กระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นการไม่ชอบเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หลงผิดมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ ทางแก้ คือ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบได้ หาใช่เรื่องที่ผู้ร้องจะต้องแก้ไขโดยใช้สิทธิฎีกาเพียงทางเดียว แม้การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งเสียเองโดยลำพังให้เพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าก่อนไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่โจทก์และจำเลยทราบโดยชอบแล้ว โจทก์และจำเลยมิได้คัดค้านทั้งปรากฏว่าผู้ร้องได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้องครบถ้วนแล้วตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาในประเด็นที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องเพิกถอนการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2558
คำร้องขอของผู้ร้องระบุแต่แรกว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงค์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทหลายคนส่งจดหมายไปที่บ้านดังกล่าว ทั้งคดียักยอกทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยืนยันที่อยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านรับว่า ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ที่บ้านดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น การที่พนักงานเดินหมายปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านเพื่อแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนตามทะเบียนราษฎร์ที่มีชื่อผู้ร้อง โดยผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว เมื่อกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ และทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และเมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านแล้ว กรณีต้องย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4633/2558
คำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) หากโจทก์หรือทนายโจทก์ไม่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ลงลายมือชื่อในคำฟ้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ย่อมเป็นการไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไปด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4448/2558
เมื่อจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลย ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้ยกเลิกหรือเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่โจทก์จำเลยทำมาก่อนหน้านี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากจำเลย และมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายหนึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่งทนายความยื่นคำให้การใหม่ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3982/2558
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทพร้อมบ้านพักซึ่งปลูกบนที่ดินโดยซื้อมาจากจำเลยร่วมทั้งสาม จำเลยเข้าไปอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยซื้อที่พิพาทพร้อมบ้านพักจากจำเลยร่วมทั้งสามขณะที่พิพาทเป็นเพียงที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และเข้าครอบครองที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยร่วมทั้งสามไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลย กลับจำนองและขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยโจทก์รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต ขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่จำเลย คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทและบ้านพักเป็นของโจทก์หรือจำเลย และมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยร่วมทั้งสามโดยสุจริตหรือไม่ ไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมทั้งสามคบคิดกันโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ที่จะเรียกจำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหรือจำเลยร่วมอาจใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาในคดีรวมทั้งมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเหล่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดำเนินคดีสำหรับจำเลยและจำเลยร่วมจนเสร็จสิ้นกระแสความ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปัญหาว่าจำเลยร่วมทั้งสามต้องรับผิดต่อจำเลยเพียงใดจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่สมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2751/2558
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาในคดีนี้นอกจากจะบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจนกว่าจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำแล้ว ยังมีหนี้ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 80003 ของโจทก์ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วย อันเป็นคำพิพากษาที่ให้จำเลยกระทำการแยกต่างหากจากหนี้ในส่วนหลังที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมีสิทธิที่จะชำระค่าเสียหายรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยให้รื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ไม่มีการพิจารณาใดที่ผิดระเบียบอันเป็นเหตุจะให้เพิกถอนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2558
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่รับใบแต่งทนายความที่มีการปลอมลายมือชื่อของจำเลยทั้งสาม มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยทั้งสาม จนกระทั่งมีคำพิพากษาตามยอม ย่อมเป็นการหลงผิดไป กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสาม อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีเช่นนี้ เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ทำให้อำนาจของศาลที่จะสั่งตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง เปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2558
จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายของพนักงานเดินหมายด้วยวิธีปิดหมาย กฎหมายกำหนดให้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มเติมออกไปอีก 15 วัน เมื่อเจ้าพนักงานส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ให้แก่จำเลยโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กรณีจึงต้องให้ระยะเวลาแก่จำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ตามที่ระบุในหมายเรียก ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบไปฝ่ายเดียว และรอฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว เท่ากับจำเลยอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 มิใช่คำร้องเพื่อขอใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี จัตวา และเบญจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19431/2557
ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พยานหลักฐานใดที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้ การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างว่า โจทก์ยื่นโดยฝ่าฝืนมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐาน ย่อมเป็นกระบวนพิจารณาโดยผิดระเบียบตามมาตรา 27 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวภายใน 8 วัน นับแต่วันแต่วันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11418/2557
ในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการจังหวัดตราดเป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า (กองทัพเรือ) จำเลยที่ 4 โดยพลเรือเอก พ. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกองทัพเรือ และต่อมาในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า กองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) โดยพลเรือเอก ส. (ไม่ปรากฏในฐานะอย่างใด) เหล่านี้ หาได้มีเอกสารใดยื่นประกอบให้สื่อความไว้ เมื่อกองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ การแต่งตั้งทนายความของจำเลยที่ 4 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือจึงต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความ ดังนั้น การที่พลเรือเอก พ. หรือพลเรือเอก ส. ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือลงลายมือชื่อแต่งทนายความจำเลยที่ 4 โดยมิได้แนบหนังสือมอบอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ทั้งมิได้นำสืบพยานเอกสารในเรื่องเหล่านี้ไว้แต่อย่างใดด้วย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือว่าเป็นการกระทำของบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 4 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 กรณีดังกล่าวเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ดี ความบกพร่องในการแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และแก้ไขได้โดยง่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาไปถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7933 - 7934/2557
ผู้ร้องที่ 1 ขอจัดการมรดกตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านอ้างว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่ รับฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัย เพราะหากฟังได้ว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ผู้ร้องที่ 1 ก็มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องที่ 1 มีหน้าที่นำสืบ ส่วนผู้คัดค้านย่อมนำสืบหักล้างความมีอยู่ของพินัยกรรม การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านสืบพยาน จึงเป็นการมิชอบ เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2556
เมื่อที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว อำนาจในการสั่งคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ย่อมเป็นของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จะพิจารณาสั่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองประโยชน์นั้น จึงไม่ชอบ เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นจะไม่ชอบก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยทั้งสองเพราะเหตุที่ยื่นล่วงพ้นกำหนดเวลาโดยมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาตามคำร้องของจำเลยทั้งสองนั้น จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7898/2554
ในการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคแรก ก็ตาม แต่การที่จะขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความ หรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10917/2551
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แล้วพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นกรณีที่ศาลรับฟังคำรับของจำเลยตามที่ให้การไว้ มิใช่รับฟังจากพยานหลักฐานการรังวัดที่ดินพิพาท การรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงไม่ผิดระเบียบในอันที่จำเลยจะร้องขอให้เพิก ถอนได้ การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการพิจารณาคดีทั้งหมดแล้วให้พิจารณาคดีใหม่ โดยกล่าวอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่นั้น จึงมิใช่เป็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่อาจมีการพิจารณาคดีเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานใหม่ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6302 - 6303/2551
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ หรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาล ฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุดคำว่า ปัญหา หมายถึง ข้อสงสัย กรณีมีปัญหาหมายถึงกรณีมีข้อสงสัย ย่อมหมายถึงศาลที่รับพิจารณาคดีนั้นๆ ไว้แล้ว มีความสงสัยว่าคดีนั้นจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาในศาลของตน จึงต้องส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคำฟ้องคดีนี้ไว้ พิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมเห็นว่าคดีนี้อยู่ใน อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 โดยไม่มีข้อสงสัย การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คำร้องของจำเลยทั้งสองย่อมต้องมีเหตุอันสมควรให้ศาลเกิดข้อสงสัยว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาการพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง ประเทศจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าถ้าคู่ความฝ่ายใดยื่นคำร้องว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนั้น ศาลนั้นจะต้องเสนอไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยทุกเรื่อง เพราะจะทำให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากจะต้องรอการพิจารณาคดี ไว้ขณะส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย จึงน่าจะไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ที่ประสงค์จะให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม

ตามบทบัญญัติ มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ที่ให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ซึ่งศาลนั้น หมายถึง กรณีที่ศาลนั้นเสนอปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย หากศาลนั้นมิได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยไม่ว่าด้วยเหตุใด ก็ตาม ศาลนั้นย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดำเนินกระบวนพิจารณา ต่อไปจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือมีความมุ่งหมายเพื่อจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณา ไต่สวนและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิจารณาให้แก่โจทก์ไม่ถือเป็นกระบวน พิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5013/2551
จำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาฎีกาลับหลังจำเลยเป็นการไม่ชอบ เพราะการส่งหมายแจ้งวันนัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องโดยยังไม่ได้ทำการไต่สวนและ สำเนาคำร้องให้แก่โจทก์ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ก็ชอบที่จะเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาได้ อันจะมีผลทำให้คดียังไม่ถึงที่สุดและโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างการ พิจารณาของศาลฎีกา จำเลยไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลย เมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2551
คำร้องของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทำให้ จำเลยไม่ทราบวันขายทอดตลาดนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาด ทรัพย์สินของจำเลยโดยมิได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ ซึ่งฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำมาตรา 27 มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องหลังจากการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวเสร็จลงจึงล่วง พ้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2551
ปัญหาว่าการส่งคำบังคับให้จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นประเด็นในคดีที่จำเลย ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้โจทก์จะมิได้คัดค้านคำร้องของจำเลย ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องไต่สวนเพื่อให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในทาง หนึ่งทางใดเสียก่อน จึงจะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำร้องของจำเลยได้ว่ามีเหตุสมควรเพิก ถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ กรณีเช่นว่านี้ หากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบเพิ่มเติม ศาลก็มีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานใดๆ อันเกี่ยวแก่ประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียก ย. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศาลผู้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยมาเบิกความในฐานะพยานศาล จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2551
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 นำใบแต่งทนายความซึ่งไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กับจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นทนายความ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องดังกล่าว ย่อมมีผลให้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ไม่ชอบ ต้องถูกเพิกถอนเฉพาะส่วนเพื่อไม่ให้ผูกพันโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่ในตัวว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ปฏิบัติ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบ ร้อยของประชาชนตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอน การพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามมาตรา 131 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2551
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 ว่า คดีของโจทก์เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จึงเพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้อง และให้ส่งสำนวนไปยังศาลภาษีอากรกลางโดยเร็ว ศาลภาษีอากรกลางส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ต่อมาประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางจึงส่งสำนวนคืนยังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่อ้างว่าการที่ศาลชั้นต้นดำเนิน กระบวนพิจารณาต่อมาโดยมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ได้สั่งไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 เป็นการไม่ชอบกรณีเป็นการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา โดยมิได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง อีกทั้งจำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบ นั้น จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2551
คำร้องของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยวิธี การประกาศหนังสือพิมพ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการยกข้ออ้างที่ทำให้จำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง การที่จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยก็ชอบที่จะยกข้อคัดค้านในเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างภายใน เวลาไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็น มูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2551
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ถึง วันที่ 1 พฤษภาคม 2546 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมศาล จำเลยที่ 4 เพิ่งมายื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ถือได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจำเลยที่ 4 จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลภายในกำหนดเวลา หากพ้นกำหนดจำเลยที่ 4 จะสามารถยื่นคำร้องได้ต่อเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ซึ่งตามเหตุผลในคำร้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 4 หาเงินค่าธรรมเนียมศาลมาได้เพียงบางส่วนและจะนำค่าธรรมเนียมศาลส่วนที่เหลือ มาวางภายใน 30 วัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ชอบ กรณีเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10298/2550
ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ จำเลยทั้งสองล้มละลาย คดีถึงที่สุดแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่อย่างใด และในชั้นนี้มีประเด็นในศาลล้มละลายกลางเพียงว่าศาลล้มละลายกลางสมควรที่จะ มีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาในการที่จำเลยที่ 1 จะได้รับการปลดจากล้มละลายหรือไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9378/2550
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เกี่ยวกับเรื่องการขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าเสียหายตามเงื่อนไขที่ศาล อุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นเรื่องต่อเนื่องกับการทุเลาการบังคับ ซึ่งเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาวางเงินค่า เสียหายที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้นต่อมา และถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชั้นขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าเสียหายดังกล่าวเป็นที่สุดแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีได้ และไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ฎีกาชั้นนี้ว่า การออกคำบังคับของศาลชั้นต้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าเสียหาย และกำหนดระยะเวลาให้จำเลยนำเงินประกันความเสียหายตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 มาวางต่อศาลชั้นต้นใหม่ เพราะไม่ว่าศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอย่างไรก็ไม่อาจกระทบถึงคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเป็นที่สุดแล้วดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2550
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด โจทก์ย่อมไม่สามารถดำเนินคดีแก่จำเลยได้อีก การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับคำฟ้อง แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วยังไม่ปรากฏ ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงรับคำฟ้องไว้โดยผิดหลง ต่อมาเมื่อโจทก์แถลงข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วมาใน คำบอกกล่าวขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีผลเท่ากับเป็นการแก้ไขข้อผิดหลงที่เคยสั่งรับคำฟ้องแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนพิจารณาใดๆ อีกแต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน คือ ค่าธรรมเนียมในการยื่นฟ้องคดีนี้ และค่าธรรมเนียมในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2550
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าถูกฟ้องเนื่องจากไม่เคยได้รับหมายและไม่เคยแต่งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 2 เป็นลายมือชื่อปลอมโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 กระบวนพิจารณานับตั้งแต่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวนั้นต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องล่วงเลยเวลา 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2550
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่ มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ทันที โดยไม่ต้องกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเสียก่อนเพราะกรณีมิใช่เรื่องของการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 18

ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว ถือได้ว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หลังจากที่มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์แต่มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งเท่ากับศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้แก่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ว่าจะให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2549
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายกล่าวอ้างว่าการส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องของธนาคารผู้รับจำนองที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญติในข้อที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อตามคำร้องผู้ร้องยอมรับว่าได้ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 การที่ผู้ร้องเพิ่งยื่นคำร้องยกข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 อันเป็นเวลาเกินกว่า 8 วัน จึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5779/2548
การที่โจทก์และจำเลยตกลงเห็นชอบร่วมกันให้ถือเอาถ้อยคำพยานโจทก์ที่เบิกความไว้ในคดีอื่นมาเป็นถ้อยคำพยานโจทก์ในคดีนี้ย่อมมีผลบังคับและศาลย่อมนำถ้อยคำพยานโจทก์ดังกล่าวมาวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการผิดกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่จำเลยจะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5648/2548
ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 กันยายน 2541 โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ไม่มาศาล ส่วนจำเลยที่ 3 มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยที่ 3 ป่วยเป็นไข้หวัดไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ให้จำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์นั้นเป็นการสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) ซึ่งมีผลห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ และมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยผิดหลงตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและขอพิจารณาคดีใหม่ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องและให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป ซึ่งมีผลเท่ากับให้โจทก์มีโอกาสนำพยานเข้าสืบใหม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นมานั้นย่อมไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5186/2548
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเกิดจากมูลแห่งข้ออ้างนั้นใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา ดังนั้นคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ โดยอ้างว่าการที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าป่วย ถือว่าโจทก์มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีเพราเหตุโจทก์ไม่มาศาล จึงอยู่ในบังคับแห่งระยะเวลา 8 วัน ที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2546
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้ไปฝ่ายเดียวอันเนื่องมาจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาและอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ขาดนัดพิจารณา ทั้งห้ามโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีด้วย หากโจทก์เห็นว่าการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปนั้นเพราะหลงผิดเนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบกำหนดวันนัดสืบพยาน โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ถ้าศาลยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโจทก์ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นต่อไปได้เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ยกคำร้องฉบับแรกของโจทก์ที่ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโจทก์คงมีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ใหม่ภายในอายุความเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2546
เมื่อคดีโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า โจทก์มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่จำต้องมีการรับรองให้อุทธรณ์ จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลง และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ แต่การที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของศาลที่สั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นฎีกาในข้อเท็จจริงประเด็นเดียวกับที่อุทธรณ์ และได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับรอง แต่ไม่มีผู้ใดรับรองให้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2545
ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการอายัดที่ดินที่ผู้ร้องนำมาวางเป็นหลักประกันและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนโฉนดที่ดินที่นำมาวางเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ร้องไปทั้งที่ผู้ร้องยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันอยู่ ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อเห็นว่าเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและสอบถามโจทก์ จำเลยกับผู้ร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงเป็นการสั่งตามอำนาจที่ศาลชั้นต้นมีอยู่ตามมาตราดังกล่าวหาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2545
การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนศาลมีคำพิพากษาเสมอไปไม่ หากคู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2545
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 198วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ได้ คำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์มิใช่คำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9148/2544
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ต่อมาจำเลยยื่น คำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แม้จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งงดไต่สวนพยานจำเลยในชั้นขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ตาม แต่ถ้าหากศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ศาลอุทธรณ์ก็ต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้น และอนุญาตให้จำเลย นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อจะได้ใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่จำเลยอ้างว่าศาลชั้นต้นทำผิดระเบียบหรือไม่ต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยจึงมีผลส่วนหนึ่งเท่ากับเป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8147/2544
การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการผิดระเบียบ มิได้อุทธรณ์ว่าเป็นเรื่องขอให้พิจารณาคดีใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องและอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่ได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่พ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีประเด็นโต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองยี่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านพิพาทที่จังหวัดจันทบุรี แต่เมื่อขณะถูกฟ้องจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสองได้ไปค้าขายอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี จึงไม่ทราบเรื่องที่ถูกฟ้อง ซึ่งโดยสภาพย่อมเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จำเลยทั้งสองจะมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาได้ จำเลยทั้งสองจึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วได้

การที่พนักงานเดินหมายนำหมายนัดสืบพยานโจทก์ไปปิด ณ บ้านจำเลยทั้งสอง เป็นเวลาก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์เพียง 11 วัน การปิดหมายนัดดังกล่าวจึงไม่มีผลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองทราบวันนัดสืบพยานโจทก์โดยชอบ แม้จำเลยทั้งสองไม่ไปศาลในวันนัดก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ชอบที่ศาลจะเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5916/2544
ในระหว่างการสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลนำสำนวนคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งมาผูกติดไว้กับสำนวนคดีตามที่ทนายจำเลยยื่นคำแถลงขอและอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาออกไปตามที่ทนายจำเลยแถลงขอเวลาในการตรวจสอบสำนวนคดีที่มาผูกติดไว้ เมื่อถึงวันนัดสืบพยานถัดไป เจ้าพนักงานศาลมิได้นำสำนวนคดีแพ่งดังกล่าวมาผูกติดไว้ แต่ทนายจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านทั้งยังนำพยานเข้าเบิกความต่อจนเสร็จสิ้น จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีต่อมา จากพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยมิได้โต้แย้งว่าศาลชั้นต้นพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสองแต่อย่างใดข้อที่ว่าศาลชั้นต้นพิจารณาผิดระเบียบหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2543
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต่อเนื่องมาจากกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลย ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ระบุเหตุผลในการสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา และจำเลยได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นนั้นแล้วจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่อีกซึ่งจำเลยเข้าใจถึงเหตุที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นแล้ว คำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2542
ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา พิพากษายืนตาม พิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน2 แปลงที่พิพาทกันให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หรือให้จำเลยใช้เงินค่าที่ดินแก่โจทก์ในส่วนที่จำเลยไม่สามารถโอนคืนแก่โจทก์ได้นั้น เป็นเรื่องที่กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับในคำพิพากษา จำเลยไม่มีสิทธิเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ตามอำเภอใจ เมื่อข้ออ้างที่จำเลยไม่ยอมโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ไม่ใช่เหตุพ้นวิสัย จำเลยจึงไม่มีสิทธิชดใช้ราคาที่ดินพิพาทแทน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยชดใช้เงินค่าที่ดินแทนการที่จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ก่อน โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยจนทำให้จำเลยไม่สามารถโอนได้นั้น คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งในชั้นบังคับคดีที่สั่งไปโดยผิดหลง เป็นคำสั่งไม่ชอบและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อศาลเห็นสมควรย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียทั้งหมดหรือบางส่วนได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ได้ ส่งสำเนาคำร้องของ โจทก์ให้จำเลยทราบ จึงชอบด้วย กระบวนพิจารณาแล้วไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5780/2541
ศาลแรงงานมีคำสั่งคำร้องให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยว่า จำเลยแต่งตั้งให้ ก. เป็นทนายความและใบแต่งทนายความดังกล่าวระบุให้ทนายจำเลยมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ศาลพิพากษาตามยอมจึงมิใช่การพิจารณาที่ผิดระเบียบ ถือได้ว่าศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยยินยอมให้ทนายความกรอกข้อความในใบแต่งทนายความระบุให้ทนายจำเลยมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ดังนั้นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มอบอำนาจให้ทนายความมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และมิได้ยินยอมให้ทนายความกรอกข้อความดังกล่าวในใบแต่งทนายความ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยทนายจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบจึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5612/2540
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอ้างว่า จำเลยไม่เคยแต่งตั้งให้ ว. เป็นทนายความการที่ว.อ้างว่าเป็นทนายความของจำเลย ขอรับสำเนาคำฟ้องแทน และแถลงว่าโจทก์จำเลยตกลงกันได้เป็นความเท็จ เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอม เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายหากความจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างย่อมถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่งแต่จำเลยต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแน่วันที่จำเลยทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามวรรคสอง การที่จำเลยได้ยื่นคำร้องกล่าวหาว่า โจทก์และว.ละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากพฤติการณ์ของ ว. ที่อ้างว่าเป็นทนายของจำเลยขอรับสำเนาคำฟ้อง และขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยในใบแต่งให้ ว. เป็นทนายความเป็นลายมือชื่อปลอม ซึ่งโจทก์รู้เห็นด้วย แสดงว่าจำเลยทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นอย่างช้า ดังนี้เมื่อจำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นเมื่อเกินกว่าแปดวัน จึงไม่ชอบตามมาตรา 27 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2596/2540
การร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคหนึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะทำการไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควรตามมาตรา21(4)แต่ถ้าข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนปรากฏต่อศาลโดยชัดแจ้งว่ามิได้มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบศาลย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องเพราะเหตุผู้ร้องไม่ไปศาลตามนัดโดยถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจสืบพยานตามที่ศาลได้กำชับไว้แล้วเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นมิได้มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยหลงผิดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9106/2538
โจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่า โจทก์มาศาลแล้วแต่เข้าห้องพิจารณาผิด แม้คำขอจะให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่แต่ตามคำร้องก็เป็นเรื่องที่โจทก์ตั้งรูปคดีอ้างว่า ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปโดยผิดหลง เป็นการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27ซึ่งโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ โจทก์และทนายโจทก์มาศาลในเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่เนื่องจากโจทก์และทนายโจทก์เข้าห้องพิจารณาผิด ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์มาศาลในวันสืบพยานแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7314/2538
ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้คดีจึงอยู่ในระหว่างพิจารณา เมื่อต่อมาศาลจังหวัดราชบุรีเห็นวาคดีไม่อยู่ในอำนาจได้สั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเกี่ยวกับคำฟ้องใหม่ว่าไม่รับคำฟ้องกรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีการพิจารณาคดีแล้ว หาใช่เป็นการตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาไม่และคำสั่งดังกล่าวมีความหมายเป็นอย่างเดียวกันกับคำว่าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 เดิม นั่นเองฉะนั้น เมื่อกำหนดอายุความในคดีของโจทก์สิ้นไปแล้วก่อนที่ศาลจังหวัดราชบุรีจะสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องเป็นคำสั่งไม่รับคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลอายุความฟ้องคดีของโจทก์จึงขยายออกไปถึงหกเดือนนับแต่ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6916/2538
จำเลยที่2ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่3ถึงที่11ด้วยแต่คำร้องดังกล่าวระบุชัดว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่2แต่เพียงผู้เดียวมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่3ถึงที่11ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยมิได้แต่งทนายความให้ถูกต้องอันจะต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา18และมิใช่กรณีที่จำเลยที่3ถึงที่11จะพึงให้สัตยาบันในภายหลังได้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่2ให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่3ถึงที่11ด้วยและมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่3ถึงที่1เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องทั้งตามพฤติการณ์ยังไม่อาจถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจอันเป็นอำนาจของศาลเองอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การและสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่3ถึงที่11เนื่องจากมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด15วันตามกฎหมายจึงเท่ากับกับศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวทั้งหมดซึ่งในกรณีนี้โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่3ถึงที่11ขาดนัดยื่นคำให้การก็มิใช่ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบอันจะต้องยกขึ้นกล่าวไม่ช้ากว่า8วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคสองแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอาศัยอำนาจของศาลเองตามมาตรา27วรรคแรกซึ่งไม่อยู่ในบังคับของระยะเวลา8วันตามมาตรา27วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3476/2538
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคสองบัญญัติขึ้นใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้นจะนำมาใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วหาได้ไม่เพราะเป็นการขัดต่อเหตุผลและความเป็นจริงที่จะบังคับให้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเสียก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาโดยที่ตนยังไม่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นได้ฉะนั้นกรณีเพิ่งทราบภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าวคู่ความที่เสียหายจึงชอบจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ตามมาตรา27วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2538
เมื่อเจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองมิได้เพราะบ้านของจำเลยทั้งสองตามภูมิลำเนาที่โจทก์ฟ้องได้ถูกรื้อถอนไปแล้วโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยทั้งสองโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า"อนุญาต"ซึ่งเท่ากับอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยทั้งสองโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์เท่านั้นแต่ศาลชั้นต้นกลับประกาศหนังสือพิมพ์นัดสืบพยานโจทก์ด้วยโดยไม่ปรากฎว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้โจทก์ทราบจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์แล้วแม้จะปรากฎว่าทนายโจทก์ได้ส่งโทรสารแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่อาจไปศาลในวันนั้นได้แต่ตามโทรสารทนายโจทก์ก็เข้าใจว่าเป็นวันนัดพร้อมไม่พอฟังว่าทนายโจทก์ได้ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์เช่นกันดังนั้นที่ศาลชั้นต้นถือว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา200จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบศาลฎีกาเห็นสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวเสียแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2538
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอ้างว่าจำเลยมิได้ลงชื่อแต่งตั้งให้ ว. เป็นทนายความของจำเลยแต่ ว. ได้รับสำเนาคำฟ้องโจทก์ทำคำให้การแก้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะทนายความของจำเลยตลอดมาเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงผิดดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนกระทั่งมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วยนั้นหากข้อเท็จจริงเป็นดังคำร้องของจำเลยกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบเพราะเท่ากับไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดีและหากจำเลยต้องผูกพันถูกบังคับตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวโดยไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้จำเลยย่อมได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความยุติธรรมจำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2536
การเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรค 2 ที่จะต้องยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำพิพากษานั้น จะใช้บังคับในกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติที่จะบังคับให้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนโดยที่ตนยังไม่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2530
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องของโจทก์ว่า ถ้าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิได้สั่งให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง แต่เจ้าพนักงานศาลกลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีปิดหมายซึ่งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 76จึงต้องถือว่าศาลยังไม่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยและภายหลังแต่นั้นมาเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แม้จำเลยยื่นคำขอเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลย