Pages

บทวิเคราะห์ศัพท์


มาตรา ๑  ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น


(๑) ศาลหมายความว่า ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง

(๒) คดีหมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้รับรอง คุ้มครองบังคับตามหรือเพื่อการใช้ซึ่งสิทธิหรือหน้าที่

(๓) คำฟ้องหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่

(๔) คำให้การหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์

(๕) คำคู่ความหมายความว่า บรรดาคำฟ้อง คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ

(๖) คำแถลงการณ์หมายความว่า คำแถลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งกระทำหรือยื่นต่อศาล ด้วยมุ่งหมายที่จะเสนอความเห็นต่อศาลในข้อความในประเด็นที่ได้ยกขึ้นอ้างในคำคู่ความหรือในปัญหาข้อใดที่ศาลจะพึงมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งในข้อเหล่านี้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่แสดง หรือกล่าวทบทวนหรือยืนยันหรืออธิบายข้อความแห่งคำพยานหลักฐาน และปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวง คำแถลงการณ์อาจรวมอยู่ในคำคู่ความ

(๗) กระบวนพิจารณาหมายความว่า การกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้

(๘) การพิจารณาหมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง

(๙) การนั่งพิจารณาหมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา

(๑๐) วันสืบพยานหมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน

(๑๑) คู่ความหมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ

(๑๒) บุคคลผู้ไร้ความสามารถหมายความว่า บุคคลใด ๆ ซึ่งไม่มีความสามารถตามกฎหมายหรือความสามารถถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถ

(๑๓) ผู้แทนโดยชอบธรรมหมายความว่า บุคคลซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิที่จะทำการแทนบุคคลผู้ไร้ความสามารถหรือเป็นบุคคลที่จะต้องให้คำอนุญาต หรือให้ความยินยอมแก่ผู้ไร้ความสามารถในอันที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

(๑๔) เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2562
เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงกำหนดให้คู่ความใช้ค่าทนายความให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้

ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2560
องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่อาจดำเนินคดีแทนจำเลยได้ คดีนี้จำเลยมอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผู้ดำเนินคดีแทน การที่ ส. ประธานองค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย ลงลายมือชื่อ ในฐานะผู้อุทธรณ์และผู้เขียนเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ประกอบมาตรา 67 (5) และ 246 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9183/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีข้อโต้แย้งเรื่องภาระภาษีสรรพสามิต ซึ่งต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตจนทำให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินค่าภาษีสรรพสามิตไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ขอขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายระยะเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ไม่มีภาระเบี้ยปรับ แต่ยังมีเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือน โจทก์จึงมีหนังสือขอขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลย ต่อมากรมสรรรพากรมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยพิจารณาแล้วไม่อนุมัติการขอขยายระยะเวลา โจทก์เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย อันเป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีคำสั่งไม่อนุมัติขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีผลกระทบต่อโจทก์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง โจทก์จึงฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งเป็นจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559
คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2558
การที่ ศ. ทำคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยลงชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนโดยอาศัยใบมอบฉันทะของจำเลยที่ 2 ที่ระบุไว้ให้ทำคำร้องได้นั้น เป็นกิจการอื่นนอกจากที่ ป.วิ.พ. มาตรา 64 บัญญัติไว้ และเป็นกิจการสำคัญที่คู่ความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเอง ไม่อาจแต่งตั้งให้บุคคลทำการแทนได้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวไม่ทำให้ ศ. อยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) เมื่อ ศ. มิใช่ผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ และมิได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น การเรียงคำร้องอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่จำเลยที่ 2 ของ ศ. ดังกล่าวจึงขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 ดังนั้น คำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11161/2558
ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด" มิได้หมายความถึงกรณีที่ศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น แต่หากยังหมายถึงกรณีที่ศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ด้วย ซึ่งฟ้องแย้งถือเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) การที่ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 525/2553 มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีผลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสาม คือ เป็นการไม่รับหรือยกฟ้องแย้งโดยจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว โดยเหตุนี้ศาลชั้นต้นหาจำต้องระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องอีกไม่ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว ดังนั้น หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16911/2557
คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการไปตามหมายบังคับคดีของศาลนั้นในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่ง ป.วิ.พ. เพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีได้โดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1 (14) แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีคดีนี้เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดจำเลย แต่เมื่อจำเลยมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาล จำเลยจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งริบเงินมัดจำและให้นำทรัพย์นั้นออกขายใหม่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลและตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่ง ป.วิ.พ. ในฐานะเสมือนเจ้าพนักงานศาลได้ คำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ย่อมไม่อาจบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6513/2557
ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลนั้น ต้องมีสภาพเป็นบุคคล ดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติไว้ว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งคำว่า บุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มี ส. จดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบพาณิชยกิจ แต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลได้

ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนชื่อคู่ความและรายละเอียดในคำฟ้อง เป็นเพียงการระบุถึงตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำการแทนห้างหุ้นส่วนสามัญ ศ. เท่านั้น มิได้มีความหมายว่า ส. เป็นผู้ฟ้องคดีเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด ทั้งการขอแก้ไขคำฟ้องโดยการเปลี่ยนตัวบุคคลผู้เป็นโจทก์ มีผลเป็นการเพิ่มตัวบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความคนใหม่ ย่อมไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 179 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8753/2556
ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีโดยเป็นโจทก์ยื่นคำฟ้องหรือเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องต่อศาลได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ซึ่งบัญญัติว่า "คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ" และคำว่า บุคคล นั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหัวเขาสมอคร้า ที่เป็นโจทก์นั้นมิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โจทก์เป็นเพียงคณะบุคคลมิใช่บุคคลตามกฎหมายจึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ และการรวมกันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์โจทก์เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันโดยไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่ามีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 อีกทั้งการรวมกลุ่มโจทก์มิได้มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย นอกจากนี้ ส. ก็มิได้ฟ้องคดีในฐานะบุคคลธรรมดา หรือได้รับมอบอำนาจจากสมาชิกทั้งกลุ่มของกลุ่มออมทรัพย์โจทก์ให้ฟ้องคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุคคลตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2556
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนให้ประธานศาลฎีกาชี้ขาดและให้รอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่มีบทบัญญัตินิยามคำว่า "การพิจารณา" และ "กระบวนพิจารณา" จึงต้องนำบทนิยามตาม มาตรา 1 (4) และ 1 (7) แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลม ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ดังนั้น การยื่นคำให้การของจำเลยซึ่งเป็น "กระบวนพิจารณา" อย่างหนึ่ง จึงจำต้องรอไว้ก่อน มีผลให้ระยะเวลานับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของประธานศาลฎีกาดังกล่าวย่อมไม่นับรวมในกำหนดเวลาที่จะต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10930/2554
คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความย่อมตั้งประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (5), 237 และ 240 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุอื่น แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี จึงมีประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ในชั้นอุทธรณ์ ไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นเรื่องอายุความละเมิด 1 ปี ขึ้นวินิจฉัยด้วยจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5412/2554
การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจึงเป็นการนั่งพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (9) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่าด้วยองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวมิใช่การชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวได้สอบจำเลยเรื่องทนายความและลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาจึงชอบแล้ว ส่วนการสืบพยานประเด็นโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว แม้มีผู้พิพากษาอีกคนมาร่วมลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาก็เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หามีผลให้การนั่งพิจารณาที่ถูกต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2554
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) คำว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สำหรับนิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่น ดังบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 65 โจทก์เป็นคณะกรรมการสำนักสงฆ์วัดหนองเวียนโสภาศรัทธารามหรือวัดหนองเวียนวัฒนาราม เป็นเพียงกลุ่มบุคคลซึ่งรวมตัวกันโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นคู่ความได้ เมื่อตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ากรรมการโจทก์คนใดได้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7632/2553
คู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งในชั้นขอกันส่วน คู่ความคือ ผู้ร้องทั้งสองกับโจทก์ผู้ซึ่งยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี ส่วนจำเลยทั้งสองนั้นหาได้เป็นคู่ความในชั้นขอกันส่วนไม่ คู่ความคงมีเฉพาะผู้ร้องกับโจทก์เท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายไปก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ก็มิใช่กรณีที่จะต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป จนกว่าจะมีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7124/2553
ตามใบแต่งทนายความของโจทก์ ทนายโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในทางจำหน่ายสิทธิของโจทก์ ซึ่งรวมถึงการถอนฟ้อง และการสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาด้วย เมื่อทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องตามอำนาจที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องจึงเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการถอนฟ้องโดยสำคัญผิด ก็เป็นความบกพร่องของฝ่ายโจทก์เอง ย่อมไม่กระทบถึงคำสั่งที่อนุญาตให้ถอนฟ้องโดยชอบของศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10323/2551
ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) จึงมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งคำฟ้องรวมทั้งลงชื่อ เป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย เพราะมิใช่การว่าความอย่างทนายความตามมาตรา 60 วรรคสองและ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10081/2551
การ ที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนแก่จำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมาย ให้สำเร็จลุล่วงไปประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "คู่ความ" หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำ การแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจ ยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ใน คำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความ ในศาล หรือแต่งฟ้อง แต่ก็บัญญัติยกเว้นไว้ว่า การแต่งฟ้องนั้นไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติ แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น แม้ ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งฟ้องแทนโจทก์มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ ป.วิ.พ.มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9744/2551
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนแก่จำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมาย ให้สำเร็จลุล่วงไป ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาลและเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึง บุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจ ยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ใน คำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และพ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความ ในศาล หรือแต่งฟ้อง แต่ก็บัญญัติยกเว้นไว้ว่า การแต่งฟ้องนั้นไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติ แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แม้มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนาย ความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งฟ้องแทนโจทก์ก็มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ป.วิ. พ. มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4522/2550
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 และมาตรา 302 บัญญัติกำหนดให้อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับ มอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน" เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดี ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง สองศาลแทนโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้คัดค้านไม่ใช่คู่ความในคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2549
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติว่า "คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลและเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ" การที่เสมียนทนายจำเลยที่ 2 ได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 2 มายื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งของศาลชั้นต้น เสมียนทนายจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความตามบทบัญญัติดังกล่าวเพราะเสมียนทนายจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะว่าความหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นอกจากมายื่นคำร้องดังกล่าวและรับทราบคำสั่งของศาลตามที่รับมอบหมายจากทนายจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และทนายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2548
วันที่ 8 ตุลาคม 2545 เป็นวันนัดพร้อมมิใช่วันสืบพยาน โจทก์ไม่มาศาลในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคสอง ให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วย ส่วนวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำพิพากษา เมื่อถึงวันนัดศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานและได้อ่านคำพิพากษาให้ทนายจำเลยฟัง โดยถือว่าโจทก์ซึ่งมิได้มาศาลได้ฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้ว เมื่อมิได้มีการสืบพยานจำเลย ย่อมถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่มีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2548
ในกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 หากจำเลยมิได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องไว้ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลให้รอสั่งในวันนัดและจำเลยที่ 1 แถลงคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์เป็นคนละกรณีกับการที่จะให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในคำสั่งจำหน่ายคดีว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้นเป็นการไม่ถูกต้องเพราะกรณีมิใช่เป็นเรื่องทิ้งฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2545
การที่โจทก์ต้องมาศาลในวันนัดสืบพยาน โจทก์ต้องมาตรงตามเวลานัดด้วยมิใช่ว่าโจทก์จะมาศาลในเวลาใดก็ได้ก่อนสิ้นเวลาทำการของศาล เมื่อศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เวลา 10.30 นาฬิกา เกินเวลานัดไปถึง 1 ชั่วโมง 30 นาทีฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มา โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องจึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความอันเป็นคำสั่งตามบทบัญญัติมาตรา 132(2) ประกอบมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) จึงชอบแล้ว หลังจากนั้นโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนำคดีขึ้นมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปย่อมมีผลเท่ากับการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2545
เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 7 ได้ทราบนัดโดยชอบแล้ว ศาลชั้นต้นควรจะต้องจัดส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 7 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 อีกครั้งหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งให้ปิดประกาศแจ้งนัดวันสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 3 ให้จำเลยที่ 7 ทราบหน้าศาลเพียงอย่างเดียว ดังนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 7 ทราบนัดสืบพยานโจทก์โดยชอบแล้ว หาได้ไม่ และการที่จำเลยที่ 7 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จึงเป็นการสั่งโดย ผิดหลง และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8910/2544
ขณะศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำฟ้อง ทั้งคำฟ้องและหมายเรียกคดีแพ่งสามัญศาลกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ไว้ชัดเจน การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หากไม่พบหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบให้ปิดหมายและเจ้าหน้าที่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมาย ทนายจำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนด ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้โดยชอบและคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าหมายเรียกที่ส่งพร้อมสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยจะต้องระบุวันนัดสืบพยานโจทก์ไว้เช่นกัน จำเลยจะปฏิเสธว่าไม่ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์หาได้ไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งคำให้การของจำเลยไม่ว่าจะในวันที่จำเลยยื่นคำให้การหรือในวันหลังจากนั้นและได้นัดสืบพยานโจทก์ตามที่กำหนดไว้ ย่อมไม่ลบล้างวันนัดสืบพยานโจทก์ที่กำหนดไว้ในคำฟ้องและหมายเรียก จำเลยย่อมไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยหรือทนายจำเลยไม่ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจึงเป็นการขาดนัดพิจารณา