Pages

การเลื่อนการพิจารณาคดี

มาตรา 40 เมื่อศาลได้กำหนดนัดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความ ทราบแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อน การนั่งพิจารณาต่อไปโดยเสนอคำขอในวันนั้นหรือก่อนวันนั้น ศาล จะสั่งให้เลื่อนต่อไปก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งให้เลื่อนไปแล้วคู่ความฝ่าย นั้นจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาอีกไม่ได้เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจ ก้าวล่วงเสียได้ และคู่ความฝ่ายที่จะขอเลื่อนแสดงให้เป็นที่พอใจ ของศาลได้ว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความ ยุติธรรม ก็ให้ศาลสั่งเลื่อนคดีต่อไปได้เท่าที่จำเป็น แม้จะเกินกว่า หนึ่งครั้งในกรณีที่ศาลสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปตามวรรคหนึ่ง ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใด ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นเสียค่า ป่วยการพยานซึ่งมาศาลตามหมายเรียก และเสียค่าใช้จ่ายในการ ที่คู่ความฝ่ายอื่นมาศาล เช่น ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของ ตัวความ ทนายความหรือพยานเป็นต้นตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ค่าป่วยการหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ตกเป็นพับ ถ้าคู่ความฝ่ายที่ ขอเลื่อนคดีไม่ชำระค่าป่วยการหรือค่าใช้จ่ายตามที่ศาลกำหนด ให้ ศาลยกคำขอเลื่อนคดีนั้นเสียคำขอเลื่อนคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่ได้เสนอต่อหน้าศาลด้วยวาจา ก็ให้ทำเป็นคำร้อง และจะทำฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาลก็ได้

มาตรา 41 ถ้ามีการขอเลื่อนการนั่งพิจารณาโดยอ้างว่าตัวความ ผู้แทน ทนายความ พยานหรือบุคคลอื่นที่ถูกเรียกให้มาศาลไม่สามารถ มาศาลได้เพราะป่วยเจ็บ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว ศาลจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการ ตรวจก็ได้ และถ้าสามารถหาแพทย์ได้ก็ให้ตั้งแพทย์ไปตรวจด้วย ถ้าผู้ที่ศาลตั้งให้ไปตรวจได้รายงานโดยสาบานตนหรือกล่าวคำปฏิญาณ แล้ว และศาลเชื่อว่าอาการของผู้อ้างว่าป่วยนั้นไม่ร้ายแรงถึงกับจะมา ศาลไม่ได้ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัดหรือการไม่มาศาลของบุคคล ที่อ้างว่าป่วยนั้น แล้วแต่กรณีศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ขอให้ไปตรวจตามวรรคหนึ่งหรือคู่ ความใดไปกับผู้ที่ศาลตั้งให้ไปตรวจ คู่ความนั้นจะมอบให้ผู้ใดไปแทน ตนก็ได้ค่าพาหนะและค่าป่วยการของเจ้าพนักงานและแพทย์ ให้ถือว่า เป็นค่าฤชาธรรมเนียม และให้นำ มาตรา
166 มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับเด็ดขาดให้ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไป ตรวจอาการเจ็บป่วยเสมอไป เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไป ตรวจอาการเจ็บป่วยของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในคำร้องขอเลื่อนคดีและใบรับรองแพทย์แล้วไม่เชื่อว่าการเจ็บป่วยของ จำเลยจะมีอาการหนักจนไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้จึงเป็นการใช้ ดุลพินิจว่าไม่สมควรมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บ ป่วยของจำเลยนั่นเอง และเมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยและใบรับรองแพทย์ที่ปรากฏ ต่อศาลชั้นต้นเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้วศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งไม่ อนุญาตให้เลื่อนคดีได้ โดยไม่ต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2550
ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป่วยเป็นไข้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนที่จำเลยที่ 2 แจ้งว่าป่วยเป็นไข้หวัดนั้น โดยไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันว่าป่วยถึงขนาดไม่สามารถมาศาลได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวประกอบกับการขอเลื่อนคดีหลายครั้งเชื่อว่าจำเลย ที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่สั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนคดีก่อนเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ เลื่อนคดีแล้ว และคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกไปซื้อยามารับประทานแล้วนอนพักผ่อน แสดงว่าอาการเจ็บป่วยของทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 เป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเจ้าพนักงานหรือแพทย์ไปตรวจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7583/2549
ทนายโจทก์ให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์นำคำร้องของทนายโจทก์มายื่นต่อศาลเพื่อขอเลื่อน คดีโดยอ้างเหตุว่ามีความจำเป็นต้องไปติดต่องานด่วนที่ศาลอื่น ไม่สามารถมาศาลได้ทันตามกำหนดนัด ซึ่งทนายจำเลยได้รับสำเนาแล้วแถลงไม่คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้กำหนดวันนัดเองแต่กลับไม่สนใจวัน นัดจึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะสืบพยานและให้งดสืบพยานโจทก์ โดยมิได้สั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรที่จะให้ เลื่อนคดีหรือไม่ หาเป็นการชอบไม่ และถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8247/2549
ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ก่อนถึงวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ เป็นการแจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงเหตุที่ทนายจำเลยไม่อาจมาศาลตามกำหนดนัด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสามแล้ว ไม่ว่าเหตุตามคำร้องนั้นจะมีเหตุสมควรหรือไม่ก็ตาม ศาลแรงงานกลางชอบที่จะสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อน แต่ศาลแรงงานกลางมิได้สั่ง กลับสั่งว่าทนายจำเลยและจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387/2549
ทนายจำเลยคนเดิมยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้วอ้างว่าป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดี ก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลย 4 วัน ทนายจำเลยคนเดิมขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลย ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยคนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดี จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีและซักค้านพยานโจทก์ ขอเลื่อนการพิจารณาออกไปสักนัดหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจให้เลื่อนคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2549
หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 เป็นนัดแรก ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์โรงพยาบาล ร. มาแสดง ระบุว่าทนายจำเลยที่ 1 มีอาการปวดหลัง กล้ามเนื้ออักเสบ ประกอบกับทนายโจทก์ไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดีจึงน่าเชื่อว่าทนายจำเลยที่ 1 มีอาการป่วยจริง พฤติการณ์ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ จึงมีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
ในวันนัดสืบพยานดังกล่าวทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้ ป. เสมียนทนายมาศาลและมีอำนาจในการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณา ฟังคำสั่งและลงลายมือชื่อแทนทนายจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ป. จึงมีฐานะเป็นคู่ความแล้ว มิใช่ไม่มีคู่ความฝ่ายจำเลยที่ 1 มาศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558/2548
ศาลแรงงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เกินเวลา 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 41 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 วรรคสองดังกล่าวซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำ ป.วิ.พ. มารา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับมิได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2548
บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิชักช้า เมื่อมีการขอเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียงครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้วจะขอเลื่อนคดีอีกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และต้องแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลด้วยว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ซึ่งการใช้ดุลพินิจของศาลในการอนุญาตให้เลื่อนคดีต้องพิจารณาการดำเนินคดีของคู่ความทั้งมวลมาประกอบการพิจารณา มิใช่ว่าต้องเลื่อนคดีไปตามเหตุที่คู่ความยกขึ้นอ้างเสมอไป การที่โจทก์ขอเลื่อนคดีหลายครั้งและศาลก็อนุญาตให้เลื่อนคดีพร้อมกับกำชับโจทก์ทุกครั้งให้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะครั้งสุดท้ายยังได้กำชับให้โจทก์เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในนัดต่อไปโดยจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีไม่ว่ากรณีใด ๆ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด เมื่อโจทก์ขอเลื่อนคดีอีกโดยอ้างว่าจะแต่งตั้งทนายความคนใหม่ ก็เป็นหน้าที่ของทนายความคนใหม่ที่จะต้องศึกษาข้อเท็จจริงในสำนวนให้พร้อมก่อนวันนัด ส่วนที่อ้างว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์ให้ชะลอการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้เพื่อขอการพิจารณาของคณะกรรมการจัดการเกี่ยวกับหนี้เสียของสถาบันการเงินก็ไม่ใช่เหตุที่ยกขึ้นอ้างเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2548
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโดยอ้างว่าราคาที่ขายได้เป็นราคาที่ต่ำเกินไป ระหว่างการไต่สวนทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีกับมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วพิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2548
หมายนัดมีข้อความว่า "นัดฟังประเด็นกลับและสืบพยาน" แม้มีการพิมพ์เพิ่มเติมคำว่า "และสืบพยาน" และ ไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ข้อความในหมายนัดดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ในหนังสือส่งประเด็นคืนของศาลจังหวัดปทุมธานี ทั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ลงลายมือชื่อไว้ในหมายนัดตามระเบียบ การออกหมายนัดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แม้หมายนัดจะมีข้อความว่านัดสืบพยานโดยมิได้ระบุให้ชัดเจนว่านัดสืบพยานโจทก์ แต่คดียังอยู่ในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์ และโจทก์มีพยานบุคคลอีกหลายปากที่เป็นพยานนำ ซึ่งโจทก์จะต้องนำมาสืบต่อศาลชั้นต้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานไว้จึงหมายถึงนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบตามนัดหากมีเหตุขัดข้องไม่อาจนำพยานมาสืบได้ โจทก์ก็ควรยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี แต่ทนายโจทก์เพียงแต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายโจทก์มาฟังประเด็นกลับ กำหนดวันนัดสืบพยาน และรับทราบคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วย แสดงว่าโจทก์มิได้เอาใจใส่คดีของตนว่าศาลชั้นต้นนัดมาเพื่อพิจารณาในเรื่องใด ไม่นำพยานมาสืบตามหน้าที่นำสืบและตามที่ ศาลชั้นต้นนัด ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์ชอบแล้ว
แม้เจ้าพนักงานศาลจัดส่งประเด็นไปศาลอื่นตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอส่งประเด็นยังมิได้ชำระค่าส่งประเด็นก็ตาม การส่งประเด็นนั้นก็ชอบแล้ว เพราะศาลมีอำนาจเรียกให้โจทก์ชำระค่าส่งประเด็นในภายหลังได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2548
การที่เสมียนทนายโจทก์ไปยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไม่ทันเป็นผลให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 วรรคหนึ่ง แต่เสมียนทนายกลับบอกความเท็จแก่ทนายโจทก์ว่าได้เลื่อนคดีเรียบร้อยแล้วนั้น เป็นกรณีที่จะต้องไปว่ากล่าวกันระหว่างทนายโจทก์กับเสมียนทนายอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มิใช่เรื่องศาลดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบที่จะขอเพิกถอนได้ ทั้งการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลดังกล่าวเท่ากับว่าเป็นการอ้างว่าโจทก์มิได้จงใจขาดนัดพิจารณาและประสงค์ให้ศาลชั้นต้นนำคดีกลับมาพิจารณาต่อไปถือได้ว่าคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำขอให้พิจารณาใหม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ต้องไต่สวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2547
ในการขอเลื่อนคดีของคู่ความนั้น กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดและเหตุที่จะขอเลื่อนคดีไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 39 และ 40 การที่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 5 และยื่นใบรับรองแพทย์มาด้วยเพื่อยืนยันว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงไม่ สามารถมาศาลได้ แม้โจทก์มิได้คัดค้านและข้อเท็จจริงจะฟังว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงซึ่งมี เหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่คำร้องขอเลื่อนคดีระบุเพียงว่าขอเลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในคำร้องว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำ ให้เสียความยุติธรรมอย่างไร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง อีกทั้งการที่คู่ความขอเลื่อนคดีเพราะป่วยเจ็บ ศาลก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 41 กล่าวคือ ตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจอาการป่วยเจ็บเสมอไป เพราะกรณีตามมาตรา 41 นั้น เป็นเรื่องที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อน คดีป่วยถึงกับไม่สามารถมาศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2547
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกู้ยืมและจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก จำเลยให้การต่อสู้คดี ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือร้องขอเลื่อนคดี ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ทวิ วรรคหนึ่งได้ กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2547
กรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานจำเลย และศาลชั้นต้นเห็นว่าฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้วมีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการพิจารณาโดยขาดนัด จำเลยย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5441/2546
การปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาลจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วันนับตั้งแต่ปิดประกาศได้ล่วงพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 วรรคสอง เมื่อปิดประกาศวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 จึงมีผลเป็นการแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ดังนั้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 แม้จำเลยไม่มาศาล หากโจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจสืบพยานโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งเลื่อนคดีไปเพื่อแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและให้ยกฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2546
ทนายจำเลยที่ 1 เคยขอเลื่อนคดีมาแล้วสองครั้ง ครั้งที่สามนัดสืบพยานโจทก์ทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายศาล และยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับทราบเรื่องการถอนตัวไว้ในคำร้องดังกล่าวด้วยแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าแล้วว่าในวันนัดนี้ตนจะไม่มีทนายความต่อสู้คดีให้ชอบที่จำเลยที่ 1 จะต้องแต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทน หรืออย่างน้อยตัวจำเลยที่ 1 ก็น่าจะมาศาลเพื่อแถลงขอเลื่อนคดีไปก่อน ทั้งตามคำร้องขอถอนทนายดังกล่าวก็มิได้ร้องขอเลื่อนคดีมาด้วยจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจขอเลื่อนคดีหาใช่ว่าคำร้องขอถอนทนายเท่ากับเป็นการขอเลื่อนคดีอยู่ในตัวไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อไปในทางประวิงคดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจสืบพยานโดยสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 พร้อมกับมีคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2546
อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 271 ศาลย่อมมีสิทธิควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบเพียง 1 ปาก จนจบคำซักถามแล้วให้เลื่อนคดีไปซักค้านนัดต่อไปพร้อมกับสืบพยานคู่อีกปากหนึ่งก็เพื่อความเป็นธรรมที่จะไม่ให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีและเพื่อความรวดเร็ว เนื่องจากมีการซักถามในนัดนี้ไว้ก่อนจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปซักถามในนัดหน้า คำสั่งของศาลชั้นต้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ไม่ยอมนำพยานเข้าสืบตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 644/2546
การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เพราะศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาไต่สวนเท่ากับได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคำร้องแล้วว่าจำเลยไม่ใช่คนอนาถา จะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ซึ่งจำเลยจะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย แต่จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดโดยจำเลยอุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพียงอย่างเดียว และขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยต่อไป ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จึงยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะพิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพื่อทำการไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยต่อไปหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37 และ 133 วางหลักไว้ว่าศาลจะต้องทำการนั่งพิจารณาต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี โดยให้ศาลมีคำพิพากษาในวันที่เสร็จสิ้นการพิจารณานั่นเอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและรอฟังคำพิพากษาวันนี้ และในวันนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดี ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นซึ่งจำเลยไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ จำเลยอ้างเหตุในคำร้องว่า จำเลยเพิ่งทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งล่วงเลยเวลาที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์แล้ว ข้ออ้างของจำเลยถือเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วได้ไปติดต่อขอคัดสำนวน กว่าจะคัดได้ก็เป็นเวลา 2 เดือน อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5734/2545
การร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุป่วยเจ็บนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 และ 41 มิได้บังคับว่าผู้ที่อ้างว่าป่วยเจ็บนั้นจะต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดงด้วย จึงอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า ทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บจริงหรือไม่ หากศาลมีความสงสัยว่าทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บจริงหรือไม่ และอาการที่อ้างว่าป่วยเจ็บนั้นร้ายแรงถึงกับไม่สามารถจะมาศาลได้หรือไม่ ศาลก็มีอำนาจไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) หรือจะตั้งเจ้าพนักงานของศาลไปทำการตรวจดูว่าทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บหรือไม่เพียงใดแล้วจึงวินิจฉัยและมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนคดีนั้นตามมาตรา 41 ก็ได้ การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวย่อมแสดงว่าศาลมิได้มีความสงสัยในเรื่องที่ทนายเจ้าหนี้อ้างว่าป่วยเจ็บตามคำร้องจึงรับฟังได้ว่าทนายเจ้าหนี้ป่วยเจ็บและไม่สามารถมาศาลได้เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นสมควรให้เลื่อนคดีตามคำร้องของทนายเจ้าหนี้ และยังถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ไม่มีพยานมาสืบ ไม่ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2545
โจทก์ระบุพยานไว้ 30 อันดับ เป็นพยานนำเกือบทั้งหมด เอกสารบางอย่างเห็นชัดว่าน่าจะมิได้มีอยู่ที่โจทก์จะต้องติดตามมาซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร คดีของโจทก์มีทุนทรัพย์สูง โจทก์นำสืบทนายความของโจทก์ไปแล้ว 1 ปาก ยังมิได้อ้างส่งเอกสาร เอกสาร 25 อันดับตามบัญชีระบุพยานเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการสืบพยานบุคคลของโจทก์ 3 ปาก ที่เหลืออยู่ เหตุที่อ้างมาตามคำร้องว่ายังขัดข้องในเรื่องเอกสารซึ่งมีจำนวนมากยังได้มาไม่ครบนั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้โจทก์ยังไม่สามารถสืบพยานบุคคลที่เหลืออยู่ได้ โจทก์เพิ่งจะขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่สองและจำเลยทั้งสี่รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน สมควรที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เลื่อนคดีไปก่อนได้อีกครั้งหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2545
ศาลชั้นต้นกำชับมิให้ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีไว้แล้ว การที่ในนัดสุดท้ายซึ่งเป็นวันสืบพยานจำเลยพร้อมสืบพยานโจทก์ โจทก์มิได้ไปศาล และศาลชั้นต้นขึ้นนั่งพิจารณาคดีสืบพยานจำเลยในเวลา 11 นาฬิกา จนเสร็จโดยถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน แล้วมีคำสั่งให้รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน ต่อมาในเวลาบ่ายทนายโจทก์ได้ไปศาลจึงทราบเหตุและยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์โดยให้เหตุผลว่าจดเวลานัดผิดพลาดเป็นเวลาบ่าย ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาว่ามีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไปหรือไม่ การที่ทนายโจทก์จดเวลานัดผิดพลาด ถือว่าเป็นเหตุผลสมควรที่จะให้โจทก์มีโอกาสนำพยานเข้าสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2545
การที่โจทก์ต้องมาศาลในวันนัดสืบพยาน โจทก์ต้องมาตรงตามเวลานัดด้วยมิใช่ว่าโจทก์จะมาศาลในเวลาใดก็ได้ก่อนสิ้นเวลาทำการของศาล เมื่อศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เวลา 10.30 นาฬิกา เกินเวลานัดไปถึง 1 ชั่วโมง 30 นาทีฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มา โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องจึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความอันเป็นคำสั่งตามบทบัญญัติมาตรา 132(2) ประกอบมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) จึงชอบแล้ว หลังจากนั้นโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนำคดีขึ้นมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปย่อมมีผลเท่ากับการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2545
ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์อ้างว่า ทนายโจทก์ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางกลับจากการทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่เสียกะทันหันและอยู่ไกลร้านซ่อมรถไม่สามารถซ่อมรถได้ทันทนายโจทก์จึงไปที่ศาลจังหวัดฝาง เมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา เพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดฝางในขณะนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 และเป็นอำนาจของศาลจังหวัดฝางที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของทนายโจทก์ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้อง
ศาลจังหวัดฝางมีคำสั่งในคำร้องของทนายโจทก์ว่าจัดการให้ แม้จะไม่ชัดแจ้งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแต่ต้องถือเป็นคำสั่งที่อนุญาตให้เลื่อนคดีไปได้โดยปริยายถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานและศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ดังนั้นที่โจทก์ไม่ไปศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจึงมิอาจถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีก่อนทราบคำสั่งของศาลจังหวัดฝางดังกล่าว จึงเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงต้องถือว่ามีกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในศาลชั้นต้นที่ต้องสั่งเพิกถอนแล้ว เมื่อศาลจังหวัดฝางส่งคำร้องของทนายโจทก์และคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทราบทางโทรสารศาลชั้นต้นจึงชอบที่สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ผิดหลงนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2545
ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้อนุญาตให้ถอนตัวและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในนัดต่อมา โดยทนายโจทก์ลงชื่อทราบคำสั่งและวันนัดสืบพยานโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณา ต้องถือว่าโจทก์ทราบวันนัดสืบพยานโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเช่นนี้ จึงเป็นความผิดของโจทก์และถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ส่วนการที่ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ก็มิใช่คำแถลงที่มีความหมายในทางที่จำเลยประสงค์หรือตั้งใจจะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 เดิม ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะจำหน่ายคดีจากสารบบความได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9743/2544
ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีสองนัดแรกมีสาเหตุมาจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะมาเบิกความจำสถานที่นัดหมายผิดพลาด และจำเวลานัดหมายคลาดเคลื่อนมิใช่เกิดจากทนายโจทก์เพิกเฉย ทอดทิ้งคดี หรือไม่ตระเตรียมพยานมาเบิกความต่อศาลส่วนวันนัดครั้งที่สามเมื่อศาลไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีทนายโจทก์ก็ได้อ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยาน เมื่อเบิกความเสร็จก็ได้พยายามติดต่อกับโจทก์ จนกระทั่งทราบว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่จะนำเข้าเบิกความอยู่ระหว่าง การตั้งครรภ์และเจ็บป่วยไม่สามารถมาเบิกความในช่วงเช้าได้ จึงขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปก่อน กรณีดังกล่าว นับว่ามีเหตุจำเป็น แม้ทนายโจทก์จะเคยแถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอเลื่อนคดีอีกหากไม่มีพยานมาศาลก็ไม่ติดใจสืบพยานโจทก์อีก ต่อไปก็ตาม ศาลก็ไม่อาจนำคำแถลงดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ทนายโจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2544
จำเลยมอบอำนาจให้ ภ. บุตรชายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแทน โดยในใบมอบฉันทะระบุข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดในกรณีที่ผู้รับมอบฉันทะของจำเลยได้ทำการไปนั้นทุกประการ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยโดย ภ. ได้ลงลายมือชื่อทราบกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่แล้ว ถือได้ว่า ภ. เป็นผู้มีสิทธิทำการแทนจำเลยในการขอเลื่อนคดีและกำหนดวันนัด เมื่อ ภ. ได้ทราบวันนัดพิจารณาแล้วจึงถือว่าจำเลยทราบกำหนดวันนัดสืบพยานโดยชอบแล้ว การที่จำเลยอ้างว่าเข้าใจผิดและไม่มีเจตนาที่จะไม่ไปศาลในวันนัดดังกล่าว เป็นเรื่องความเข้าใจผิดโดยมีมูลเหตุมาจากความเข้าใจของจำเลยเอง ถือว่าเป็นการจงใจของจำเลยที่จะไม่ไปศาลตามกำหนดนัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8328/2544
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ โดยไม่คำนึงว่าทนายโจทก์จะว่างมาว่าความให้โจทก์ได้หรือไม่ รวมทั้งมิได้แจ้งวันนัดให้ทนายโจทก์ทราบ ถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้รับมอบอำนาจโจทก์เอง และแสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ไม่เอาใจใส่ในคดีของโจทก์ ทั้งเมื่อนับจากวันที่มีการกำหนดนัดสืบพยานจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวก็เป็นระยะเวลานานถึง 71 วัน หากเกิดเหตุผิดพลาดทำให้ทนายโจทก์นัดซ้อนวันกับศาลอื่น ก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์จะต้องรีบร้องขอเลื่อนคดีนี้เสียแต่เนิ่น ๆ แต่ฝ่ายโจทก์ก็หาได้กระทำไม่ พฤติการณ์ที่ฝ่ายโจทก์มิได้ให้ความสำคัญแก่วันเวลานัดของศาล กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ฝ่ายโจทก์เลื่อนคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2544
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 กำหนดห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและมีข้อยกเว้น 6 กรณี โดยเฉพาะมาตรา 142(6) กำหนดข้อยกเว้นเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ แม้คดีนี้โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงคำให้การของจำเลย การต่อสู้คดีมีการขอเลื่อนคดีหลายครั้งโดยอ้างเหตุว่าจะไปเจรจาตกลงกับโจทก์ จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการตามอ้าง พฤติการณ์ส่อไปในทางไม่มีเหตุสมควรและไม่สุจริตในการสู้ความ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องชอบด้วยบทมาตราดังกล่าว จึงไม่เกินคำขอและเป็นอัตราที่เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7451/2544
ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี เมื่อมีคำร้องขอเลื่อนคดีจะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ว่าคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวมีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตหรือไม่
ศาลชั้นต้นเริ่มพิจารณาคดีนัดแรกโดยให้นัดพร้อมวันที่ 29มกราคม และให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 2 เมษายนแต่ในวันดังกล่าวพยานติดราชการไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนการพิจารณาไปวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งในวันดังกล่าว ส. ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความและยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดแห่งคดี แต่เมื่อ ว. ทนายความที่ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองได้มาศาลและพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อบกพร่องแต่ประการใด ทั้งคดีได้มีการเลื่อนการพิจารณามาประมาณ 5 เดือนแล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นและไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป แม้จำเลยทั้งสองจะได้ยื่นคำร้องขอถอน ว. ออกจากการเป็นทนายความในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหากพิจารณาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะประวิงคดีและรอไว้จนกระทั่ง ว. ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากเสร็จสิ้นจึงได้อนุญาตตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ทั้งนี้เพื่อควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้า ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ 5 มิถุนายน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย