Pages

การตรวจคำคู่ความ ขยายระยะเวลา คำร้อง คำขอ คำแถลง

 มาตรา ๑๕  ห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจนอกเขตศาล เว้นแต่


(๑) ถ้าบุคคลผู้ที่จะถูกซักถามหรือถูกตรวจ หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์หรือสถานที่ซึ่งจะถูกตรวจมิได้ยกเรื่องเขตศาลขึ้นคัดค้าน ศาลจะทำการซักถามหรือตรวจดังว่านั้นนอกเขตศาลก็ได้


(๒) ศาลจะออกหมายเรียกคู่ความหรือบุคคลนอกเขตศาลก็ได้ ส่วนการที่จะนำบทบัญญัติมาตรา ๓๑, ๓๓, ๑๐๘, ๑๐๙ และ ๑๑๑ แห่งประมวลกฎหมายนี้และมาตรา ๑๔๗ แห่งกฎหมายลักษณะอาญามาใช้บังคับได้นั้น ต้องให้ศาลซึ่งมีอำนาจในเขตศาลนั้นสลักหลังหมายเสียก่อน


(๓) หมายบังคับคดีและหมายของศาลที่ออกให้จับและกักขังบุคคลผู้ใดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ อาจบังคับได้ไม่ว่าในที่ใด ๆ


ในกรณีที่มีการบังคับคดีนอกเขตศาลที่ออกหมายบังคับคดี ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำแถลงหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีทราบ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้า และให้ศาลนั้นดำเนินการไปเสมือนหนึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทนตามมาตรา ๓๐๒ วรรคสาม


คดีที่ศาลแพ่งได้รับไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือที่ได้โอนไปยังศาลแพ่งตามมาตรา ๖/๑ ให้ศาลแพ่งมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นอกเขตศาลได้ตามที่เห็นสมควร


มาตรา ๑๖  ถ้าจะต้องทำการซักถาม หรือตรวจ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ


(๑) โดยศาลชั้นต้นศาลใด นอกเขตศาลนั้น หรือ


(๒) โดยศาลแพ่งหรือศาลอาญา นอกเขตจังหวัดพระนครและธนบุรีหรือโดยศาลอุทธรณ์หรือฎีกา


ให้ศาลที่กล่าวแล้วมีอำนาจที่จะแต่งตั้งศาลอื่นที่เป็นศาลชั้นต้นให้ทำการซักถามหรือตรวจภายในบังคับบทบัญญัติ

มาตรา ๑๐๒ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาแทนได้


มาตรา ๑๗  คดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ต่อศาลนั้น ให้ศาลดำเนินการไปตามลำดับเลขหมายสำนวนในสารบบความ เว้นแต่ศาลจะกำหนดเป็นอย่างอื่นเมื่อมีเหตุผลพิเศษ


มาตรา ๑๘  ให้ศาลมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใด ๆ


ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้ยื่นไว้ดังกล่าวแล้วนั้น อ่านไม่ออกหรืออ่านไม่เข้าใจหรือเขียนฟุ่มเฟือยเกินไป หรือไม่มีรายการ ไม่มีลายมือชื่อ ไม่แนบเอกสารต่าง ๆ ตามที่กฎหมายต้องการ หรือมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลจะมีคำสั่งให้คืนคำคู่ความนั้นไปให้ทำมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก็ให้มีคำสั่งไม่รับคำคู่ความนั้น


ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้นำมายื่นดังกล่าวข้างต้น มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ นอกจากที่กล่าวมาในวรรคก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นว่าสิทธิของคู่ความหรือบุคคลซึ่งยื่นคำคู่ความนั้นได้ถูกจำกัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล ก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความนั้นไปเพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ


ถ้าไม่มีข้อขัดข้องดังกล่าวแล้ว ก็ให้ศาลจดแจ้งแสดงการรับคำคู่ความนั้นไว้บนคำคู่ความนั้นเองหรือในที่อื่น

คำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๗, ๒๒๘ และ ๒๔๗


มาตรา ๒๑  เมื่อคู่ความฝ่ายใดเสนอคำขอหรือคำแถลงต่อศาล


(๑) ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติว่า คำขอหรือคำแถลงจะต้องทำเป็นคำร้องหรือเป็นหนังสือ ก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะยอมรับคำขอหรือคำแถลงที่คู่ความได้ทำในศาลด้วยวาจาได้ แต่ศาลต้องจดข้อความนั้นลงไว้ในรายงาน หรือจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง หรือยื่นคำแถลงเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร


(๒) ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ว่า คำขออันใดจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ มีโอกาสคัดค้านก่อน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัด


(๓) ถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่า คำขออันใดอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียวแล้ว ให้ศาลมีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ ได้เว้นแต่ในกรณีที่คำขอนั้นเป็นเรื่องขอหมายเรียกให้ให้การ หรือเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินก่อนคำพิพากษาหรือเพื่อให้ออกหมายบังคับ หรือเพื่อจับหรือกักขังจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา


(๔) ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้เสนอต่อศาลนั้นโดยไม่ต้องทำการไต่สวนแล้ว ก็ให้ศาลมีอำนาจทำการไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควรก่อนมีคำสั่งตามคำขอนั้น

ในกรณีเรื่องใดที่ศาลอาจออกคำสั่งได้เองหรือต่อเมื่อคู่ความมีคำขอ ให้ใช้บทบัญญัติอนุมาตรา (๒), (๓) และ (๔) แห่งมาตรานี้บังคับ


ในกรณีเรื่องใดที่คู่ความไม่มีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่ง แต่หากศาลอาจมีคำสั่งในกรณีเรื่องนั้นได้เอง ให้ศาลมีอำนาจภายในบังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๐๓ และ ๑๘๑ (๒) ที่จะงดฟังคู่ความหรืองดทำการไต่สวนก่อนออกคำสั่งได้


มาตรา ๒๒  กำหนดระยะเวลาทั้งปวงไม่ว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือที่ศาลเป็นผู้กำหนดก็ดี เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น ให้ศาลคำนวณตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยระยะเวลา


มาตรา ๒๓  เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใดๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นแต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2563

ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 แล้วศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้โจทก์และทนายจำเลยฟังวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ต้องถือว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ไม่ใช่วันที่อ่านให้ทนายจำเลยฟัง จำเลยมีอำนาจยื่นฎีกาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จึงต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย โดยไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟัง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5128/2562

การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม โดยไม่แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านอื่น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ ณ ที่ใด แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และมีเจตนาจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมนั้นกระทำเพียงเพื่อมิให้โจทก์ติดตามหาที่อยู่ของจำเลยได้พบเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิมตามฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2562

การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ทนายความต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ว. ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยใบแต่งทนายความมิได้ระบุให้ ว. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่องโดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียว เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม แต่เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับหลังโจทก์ได้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้วจึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2562

จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าคำร้องขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่อ้างว่าประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจหาเงินชำระค่าธรรมเนียมได้ทันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาและจำเลยขอขยายระยะเวลาฎีกา การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบเช่นกัน เพราะถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) และการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและรับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2562

การบังคับคดียึดที่ดินจำนองของโจทก์ออกขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น การที่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดของศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปแก่โจทก์ แม้ว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่กรณีของจำเลยที่ 3 เป็นการสวมสิทธิโดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นโจทก์ถ้ามีการฟ้องคดีอยู่ในศาล และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้าได้มีคำพิพากษาบังคับแล้ว ผลแห่งการเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องและเข้าถือเอากระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นการกระทำของตน โดยเฉพาะเมื่อขณะจำเลยที่ 3 เข้าสวมสิทธิ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงเข้ามาทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ย่อมรับผลทั้งหลายที่เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งในฐานะโจทก์และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เกิดจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างนั้น และย่อมมีหน้าที่คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนที่ได้รับเกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3571/2562

การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ และมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในกำหนดหรือไม่


ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทนายโจทก์จะเรียงอุทธรณ์ให้ทันภายในกำหนดเพราะทราบเรื่องดีอยู่แล้ว การที่ทนายโจทก์ยื่นฎีกาว่า ทนายโจทก์เสร็จคดีที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในเวลาประมาณ 15 นาฬิกา และมีลูกความโทรศัพท์ให้ไปรับเอกสาร ทั้งที่ทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าวก่อนเวลาปิดทำการปกติของศาล แต่ทนายโจทก์กลับเดินทางไปรับเอกสารจากคู่ความที่ตำบลลาดหญ้า ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 20 กิโลเมตร แสดงว่าทนายโจทก์มิได้สนใจติดต่อศาลชั้นต้น ข้ออ้างว่ารถยนต์ของทนายโจทก์เสียระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดกาญจนบุรีได้ทันเวลาทำการปกติของศาล จึงเกิดจากความบกพร่องของทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายสิ้นสุดลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2562

เดิมผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง ถ. และ อ. กับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน อ. กับผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อ. กับผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์คำสั่งอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมของผู้ตายระบุให้ น. และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ ถ. ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้อง โดยเห็นว่า อ. กับผู้ร้องชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลชั้นต้น และต่อมามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายในคดีนี้ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่เคยมีคำสั่งตั้ง ถ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องถึงรายละเอียดในคดีที่เคยยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อน และแนบคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแทน แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องใหม่เข้ามาและมีการลงเลขคดีดำใหม่ ก็เป็นเพียงเรื่องปฏิบัติในทางธุรการของศาลเท่านั้น กรณีถือได้ว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องต่อศาลในคดีก่อน ตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้


ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2562

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และเป็นวันขึ้นปีใหม่อันเป็นวันหยุดราชการ วันที่ 2 และ 3 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันจันทร์และวันอังคารก็เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาในวันที่ 4 มกราคม 2560ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา การที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยได้ จำเลยจะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้องจำเลยอ้างเพียงว่า จำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ขอคัดถ่ายไว้ ทำให้ไม่อาจทำฎีกายื่นได้ทันภายในกำหนด อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น มิใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ก่อนสิ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วไม่ จึงไม่อาจขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของจำเลยที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2562

การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ส่วนศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป


การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามคำร้องของจำเลยมีพฤติการณ์พิเศษ แต่การที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในครั้งต่อ ๆ ไปอีกหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องได้ความว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้วยังจะต้องมีเหตุอันสมควรอีกด้วย ซึ่งการพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ และหากนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไปจากศาลชั้นต้นจนถึงวันที่ครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 5 เป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ นับว่าเป็นระยะเวลาเพียงพอที่จำเลยจะเรียงอุทธรณ์ได้แล้วเสร็จ การที่จำเลยมาขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 อีก แสดงให้เห็นว่ามิได้ใส่ใจที่จะดำเนินการให้เสร็จลุล่วงไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยอีก


ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในการยกคำร้องข้อหนึ่งว่า "...ข้ออ้างตามคำร้องหาใช่พฤติการณ์พิเศษไม่..." แต่เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวประกอบข้อความอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว ก็มีความหมายเพียงว่า กรณีตามคำร้องไม่ใช่เหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยอีกต่อไปเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8036/2561

โจทก์ยื่นฟ้องในตอนแรกเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้พิจารณาโดยชอบแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ต่อมาโจทก์แก้ไขฟ้องเพิ่มเติมข้อหาละเมิดอีกหนึ่งข้อ โดยไม่ได้ขอให้บังคับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อีก ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจศาลเหนือคดีนั้น การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเกิดจากจำเลยประมูลขายอสังหาริมทรัพย์พิพาทแก่บุคคลภายนอกซึ่งต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ผู้เกี่ยวข้องและพยานหลักฐานส่วนหนึ่งที่เกี่ยวด้วยการโอนอสังหาริมทรัพย์ย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ทั้งคู่ความก็ไม่ได้โต้แย้งกันในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก และไม่ปรากฏเหตุว่าจะทำให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องกับคดีไม่ได้รับความสะดวก หรือทำให้การบริหารจัดการคดีของศาลชั้นต้นไม่เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมไม่ตัดอำนาจของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีไว้แล้วที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (2) ทั้งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมไว้พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดรวมกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ต่อไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเรื่องเขตอำนาจศาลมาพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยเหตุที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2561

ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่าง บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมกับผู้ร้องว่า สัญญาโอนดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ใช้บังคับ ทั้งในสัญญาก็ระบุว่า บ.ส.ท. ฝ่ายผู้โอนกระทำโดยประธานกรรมการชำระบัญชี และขณะทำสัญญาผู้โอนอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. ในขณะที่ บ.ส.ท. ดำเนินการชำระบัญชี ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ซึ่งตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย วรรคสองบัญญัติว่า การขายสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีอยู่ในศาลโดยให้ผู้ซื้อเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแทนที่ บ.ส.ท. ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความแทน บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้โดยผลของกฎหมายโดยผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. มาโดยชอบตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ตามคำร้อง


แม้ศาลชั้นต้นจะนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าสวมสิทธิและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ยื่นคำร้องและล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม หาทำให้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ เมื่อปรากฏว่าขณะยื่นคำร้องคดีใกล้จะหมดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองให้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดี และผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังไม่ได้ดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องภายหลังรับคำร้องนานถึง 6 เดือนเศษ ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษสมควรที่จะมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง และปัจจุบันล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้ว กรณีถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้ผู้ร้องออกไปเป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2561

แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6447/2560

ป.รัษฎากร มาตรา 19 มิได้กำหนดว่า การออกหมายเรียกเกินกว่าสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ เจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวภายในสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อธิบดีกรมสรรพากรจะพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์เกินกว่าสองปีก็ได้


ดอกเบี้ยเงินฝากที่จะถือเป็นรายได้ปกติธุระจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จะต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดจากการนำเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงิน และเฉพาะการฝากเงินประเภทออมทรัพย์ที่ใช้สมุดคู่ฝากในการถอนและไม่ใช้เช็คในการถอนเงินเท่านั้นที่จะได้รับยกเว้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิพาทของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจแก้ไขปรับปรุงรายได้ของโจทก์จากรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และปรับปรุงผลกำไรขาดทุนสุทธิภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3538/2560

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ผู้คัดค้านฟังเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 23 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานของราชการ ไม่ใช่ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 24 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ดังที่ทนายผู้คัดค้านระบุไว้ในคำร้องฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2559 ที่ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 1 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตนั้น โดยข้ออ้างในคำร้องเป็นเพียงเหตุที่อ้างเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้สามารถขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 นับได้ว่าเป็นความผิดหลงของทนายผู้คัดด้าน จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านดังกล่าวและต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้คัดค้าน จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้วเช่นกัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำสั่งรับฎีกาในเวลาต่อมา ก็เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2560

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคืนฟ้องฉบับแรกให้โจทก์ไปทำมาใหม่โดยให้เหตุผลว่า โจทก์เขียนคำฟ้องฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นในการตรวจฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อโจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวหาใช่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2560

การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลจะขยายระยะเวลาให้ตามคำร้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลา แม้จะน้อยกว่าระยะเวลาที่โจทก์ขอ ก็ไม่เป็นเหตุที่โจทก์จะอุทธรณ์ให้ขยายระยะเวลาต่อไปได้อีก หากระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายนั้นไม่เพียงพอ และมีพฤติการณ์พิเศษ ก็ชอบที่โจทก์จะขอขยายระยะเวลาได้ใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9151/2559

ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใด ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องไปทำมาใหม่โดยใช้แบบพิมพ์ขนาดกระดาษเอ 4 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องได้ตามวรรคสองของมาตรา 18 คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617 - 6619/2559

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2559

ภายหลังที่ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เฉพาะโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น หารวมถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ เพราะสิทธิในการฎีกาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ราย ฉะนั้นขณะที่ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาจึงพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ตามคำร้องของ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองด้วย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้อง ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ อ้างเพียงว่าเอกสารสำนวนคดีอยู่ที่ทนายโจทก์คนเดิมทั้งหมดซึ่งยังติดต่อไม่ได้ ต้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดได้ อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเท่านั้น แม้ตามคำร้องจะอ้างว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็หาใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นเวลาที่กำหนดคือวันที่ 27 มีนาคม 2558 ไม่ เพียงแต่เป็นเหตุส่วนตัวของ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ทั้งสองในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงทำให้ ม. ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนโจทก์ทั้งสองก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ เมื่อไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8944/2559

ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการสั่งจำหน่ายคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ตอนท้าย มิได้ประสงค์ให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลเสียทีเดียว คำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้มิใช่คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 เมื่อต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีล้มละลาย โจทก์ก็กลับมาดำเนินคดีนี้ต่อไปได้


แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปโดยไม่ได้ไต่สวน แต่ในวันนัดพร้อม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป และศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว ถือว่าศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาดแล้วเท่านั้น ไม่ปรากฏเหตุผลอื่นอีก ศาลชั้นต้นสามารถวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวได้เองตามข้อกฎหมายข้างต้น คดีจึงไม่จำต้องไต่สวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2559

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของ ป. ผู้ขอประกันจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินมีสภาพและที่ตั้งไม่ตรงตามรายงานการยึดทรัพย์ แผนที่ตั้งที่ดินโดยสังเขปและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยปกติศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ว่าจะคัดค้านหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวน ส่งสำเนาให้ผู้ประกันและเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งคำร้องของผู้ร้องมิใช่เป็นคำขอที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้ว่าจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนกระทั่งมีคำสั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280/2559

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 25 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยต้องทำการไต่สวนก่อน ดังนั้นหากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำขอของจำเลยที่ 2 แล้วก็ไม่จำต้องทำการไต่สวนคำขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6902/2559

กรณีคู่ความมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องพร้อมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลครั้งแรก อ้างว่าเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าต้องใช้เอกสารการประเมินภาษีเพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมศาล ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งในวันถัดมาว่า ให้โจทก์เสนอหลักฐานการประเมินภาษีเพื่อประกอบการคำนวณทุนทรัพย์ในการเสียค่าขึ้นศาลมาภายใน 5 วัน แล้วจะพิจารณาสั่ง แสดงให้เห็นว่า สาเหตุที่โจทก์มิได้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาล เนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบจำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลที่จะต้องชำระให้ถูกต้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นครั้งที่สองอ้างว่า โจทก์ได้ไปติดตามเอกสารจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่เชียงใหม่แล้ว ได้รับแจ้งว่าต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ย่อมเป็นอำนาจของศาลภาษีอากรกลางที่จะพิจารณาว่ามีเหตุจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะขยายระยะเวลาส่งเอกสารตามที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 19 หรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นที่จะขยายระยะเวลาส่งเอกสารให้แก่โจทก์ ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่เห็นสมควรเสียก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง และทุนทรัพย์ที่พิพาทในศาลภาษีอากรกลางต้องพิจารณาจากหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับ คดีนี้ทุนทรัพย์ที่ปรากฏในหนังสือแจ้งการประเมิน 43,927,464.47 บาท แต่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้องโจทก์ทั้งสองฉบับและมีคำสั่งไม่รับฟ้องพร้อมกันไปในวันเดียวกัน โดยโจทก์ไม่มีเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลได้ ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจงใจขัดขืนไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5000/2559

การมอบอำนาจให้นำคดีมาฟ้องเป็นเพียงรายละเอียดแห่งคำฟ้อง มิใช่สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันจะต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คำให้การของจำเลยที่ต่อสู้ถึงการมอบอำนาจว่า จำเลยไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ได้แนบมาท้ายฟ้อง และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ออกไว้นานไม่เป็นปัจจุบัน จำเลยไม่เข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10115/2558

บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ไม่คำนึงว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาในคำฟ้องและคำให้การหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นว่าให้พิจารณาคดีใหม่และเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้อง แต่ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แทนโจทก์นั้น จำเลยทั้งสองวางเงินเฉพาะค่าทนายความ ไม่ได้วางเงินค่าตรวจพิสูจน์เอกสารกับค่าคำร้องที่โจทก์เสียไปในระหว่างพิจารณา อันเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องวางเงินให้ครบถ้วน โดยศาลชั้นต้นไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขก่อนจะตรวจรับอุทธรณ์ เพราะไม่ใช่กรณีไม่ชำระหรือชำระค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบมาตรา 232 เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ครบถ้วน แม้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไว้ ก็ไม่ทำให้กลายเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ก. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แม้ไม่ปรากฏรอยตราสำคัญของบริษัทโจทก์ประทับไว้ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เสียไปไม่ เพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ในชั้นสืบพยานโจทก์มี ก. ผู้รับมอบอำนาจเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจให้ตนฟ้องและดำเนินคดีแทน และอ้างส่งหนังสือมอบอำนาจที่มีตราสำคัญของบริษัทโจทก์ประทับต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับไว้เป็นเอกสารหมาย จ.2 จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ประทับตราสำคัญของบริษัททั้งในต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.2 แล้ว การมอบอำนาจของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4633/2558

คำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) หากโจทก์หรือทนายโจทก์ไม่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ลงลายมือชื่อในคำฟ้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ย่อมเป็นการไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไปด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9529/2558

ศาลชั้นต้นได้รับมอบหมายจากศาลแขวงพระโขนงให้ดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งใด ๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตามคำร้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ไม่ยึดทรัพย์ตามคำร้องขอของโจทก์ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นซึ่งดำเนินการบังคับคดีแทนและอยู่ใกล้ชิดพยานหลักฐานต่าง ๆ ย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนเสียได้ เพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 16 วรรคสอง หาเป็นการขัดต่อมาตรา 302 ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2558

การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3532/2558

ตามความในมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บัญญัติว่า "การดำเนินคดีใดๆ อันเนื่องมาจากข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ในกรณีที่ศาลจะต้องพิจารณาเพื่อใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.พ. หรือ ป.วิ.อ. แล้วแต่กรณี ให้ศาลเรียกเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งออกข้อกำหนด ประกาศหรือคำสั่ง หรือกระทำการนั้น มาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รายงานหรือแสดงเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวดังกล่าวด้วย" จึงเห็นได้ว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคำร้องของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับคดีการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ โดยให้เรียกเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งออกข้อกำหนดมาชี้แจงข้อเท็จจริง รายงานหรือแสดงเหตุผลประกอบการสั่งได้ โดยไม่จำต้องสั่งรับคำร้องของผู้ร้องก่อนก็ได้ ทั้งยังสามารถที่จะเรียกไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวเพื่อประกอบการพิจารณาได้โดยไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงฝ่ายอื่นก็ได้ เพราะเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แล้ว นอกจากนี้ยังให้อำนาจศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาเพื่อใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.พ. ทั้งนี้ในมาตรา 254 (2) แห่ง ป.วิ.พ. บัญญัติให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียว แต่ศาลก็มีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13718/2558

ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2557 ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 1 เดือน อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับถ้อยคำสำนวนและคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการทางธุรการ กรณีเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งจำเลยขอขยายได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ข้ออ้างตามคำร้องถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเองที่ไม่ติดตามเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้แต่เนิ่น ๆ จึงไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้ทนายจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 27 กันยายน 2557 และเมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 26 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบเช่นกัน และไม่ก่อให้โจทก์มีสิทธิฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10808/2558

การที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 22 เมษายน 2556 ขอขยายระยะเวลานำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน โดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินได้ทัน และผู้มีชื่อนัดช่วยเหลือจำเลยทั้ง ๆ ที่กำหนดเวลาให้จำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้ล่วงพ้นไปแล้วประมาณ 4 ปีเศษ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของจำเลยเองมิใช่พฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำขอของจำเลย และจำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาชำระภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายอันจะรับไว้พิจารณาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2558

การที่โจทก์ไม่ดำเนินการสืบหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ และแถลงต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 เดือน โดยปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ แม้โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ โจทก์สามารถสื่อสารกับศาลชั้นต้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4303/2558

เมื่อทนายจำเลยทราบนัดและคำสั่งศาลชั้นต้นโดยชอบแล้วไม่มาศาล ต้องถือว่าจำเลยทราบวันนัดและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้ว่าจำเลยซึ่งเป็นตัวความจะไม่ทราบวันนัดก็ตาม เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 62 บัญญัติว่า ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควร การที่ทนายจำเลยทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และคำสั่งให้นำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระให้ครบถ้วนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างต่อศาลหาได้ไม่ เพราะจำเลยมีทนายความกระทำการแทนตนอยู่แล้ว การที่จำเลยไม่นำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระต่อศาลชั้นต้นให้ครบถ้วนก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตในคำร้องของจำเลยนั้น ก็มิใช่เป็นการสั่งอนุญาตก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาดังกล่าวอีกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เมื่อจำเลยเพิ่งวางเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลาการวางเงินตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในครั้งแรกดังกล่าวแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หรือภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายให้โดยชอบ การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2558

คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2555 มีจำเลยที่ 1 ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกามาด้วย ฉะนั้นแม้คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาฉบับนี้จะได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 กับพวก ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 3 ด้วย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาไปถึงจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2557

แม้การที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของโจทก์เมื่อพ้นระยะเวลาฎีกาแล้วจะทำให้โจทก์เสียสิทธิในการยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ยังเหลืออยู่ก็ตาม โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าศาลชั้นต้นอาจสั่งไม่อนุญาตก็ได้ กรณีไม่อาจนำเหตุที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว 4 วัน มาเป็นเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้


การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างตามคำร้องเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ การที่โจทก์ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเพราะกรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งอาศัยต่างประเทศยังไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อสั่งจ่ายเช็คค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องชำระและนำมาวางศาล เป็นความบกพร่องของตัวโจทก์และทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11751 - 11752/2557

การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีนี้ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาให้ย่นหรือขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้โจทก์จะขอให้ขยายระยะเวลาภายหลังวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็หาจำต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่อย่างใดไม่ ปรากฏว่า วันที่ 26 เมษายน 2555 ทนายจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงยังทำอุทธรณ์ไม่ได้ ศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งห้าถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 และในวันที่ 30 เมษายน 2555 อันเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็ปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำสำเนาคำพิพากษาโดยมีการรับรองสำเนาให้แก่โจทก์ตามคำแถลงขอสำเนาคำพิพากษาของโจทก์ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 ดังนี้ ย่อมแสดงว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้น ทนายโจทก์เพิ่งมีโอกาสได้รับสำเนาคำพิพากษาในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียง 2 วัน ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากสำหรับการที่โจทก์จะทำอุทธรณ์ในคดีนี้ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10285/2557

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่ ธ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ซื้อทรัพย์ให้นำเงิน 550,000 บาท ไปชำระต่อกรมบังคับคดีแล้วกลับยักยอกเงินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ผู้ซื้อทรัพย์คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อเหตุแห่งการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อทรัพย์ และเป็นเหตุที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่อาจคาดหมายได้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงอ้างเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อขอขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13933/2556

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2554 ย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งอุทธรณ์ของจำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4134/2556

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการขอขยายระยะเวลาไว้ว่าให้คู่ความขอขยายระยะเวลาได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ โดยให้มีคำขอก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยก็ให้ขอได้แม้สิ้นระยะเวลานั้น สำหรับกรณีของจำเลย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ทำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในกำหนด แต่กลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาในทางอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โอกาสจำเลยแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในกำหนด การที่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยเห็นพ้องตามคำสั่งศาลชั้นต้น แล้วจำเลยจึงมายื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่แล้วนั้นไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลยได้ เพราะไม่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายของจำเลยต้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไประหว่างอุทธรณ์ไม่นับหักจากระยะเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะสะดุดหยุดลงได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2556

คำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกามีตรายางประทับข้อความว่า ให้มาทราบคำสั่งทุก 7 วัน ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว โดยทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายข้อความดังกล่าว ทั้งการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นคำสั่งของผู้พิพากษา ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าทนายจำเลยทราบคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว โดยศาลชั้นต้นไม่ต้องแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบอีก และข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย หาใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นเรื่องขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ขยายให้ฎีกาแต่อย่างใดไม่ การที่ทนายจำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาฎีกา ย่อมเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6927/2557

แม้คดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องพิจารณาว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่จะประทับฟ้องหรือไม่ แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 167 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยการกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดี โดยเห็นว่าจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องให้จำเลยทั้งหกรับผิด จึงพิพากษายกฟ้องและยกคำขอส่วนแพ่ง จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6018/2557

การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ในความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท นั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองและโจทก์กำหนดจำนวนค่าเสียหายมาแน่นอนแล้วในขณะยื่นฟ้อง แม้โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองชำระนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป แต่ก็ไม่ใช่ค่าเสียหายที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตนอกจากที่ศาลมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งตามมาตรา 142 อยู่แล้ว ตามตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (1) (ก) คดีโจทก์จึงมีทุนทรัพย์ 5,000,000 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์เพิกเฉยไม่ยอมชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงชอบที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ก็มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั่นเอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคท้าย คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ชอบที่มีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2556

บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี หาได้ใช้บังคับเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้นไม่ แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา ผู้อุทธรณ์ก็อยู่ในบังคับต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์เช่นกัน การจำกัดสิทธิการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 หาได้เป็นบทบัญญัติยกเว้นให้ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 ไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลย ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และจำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยอนุญาตให้สืบพยานจำเลยและพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกเลิกเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว การอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรง จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที และกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมา ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10167/2555

วันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องและโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันมาศาล จำเลยทั้งสามทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลและไม่ยื่นคำคัดค้าน โจทก์ยื่นคำแถลงไม่คัดค้านคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นสอบทนายผู้ร้องแล้วแถลงว่า ทรัพย์จำนองที่โจทก์นำยึดยังไม่ได้ขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเป็นเจ้าหนี้จำนองในทรัพย์ที่โจทก์นำยึด โดยทนายผู้ร้องส่งเอกสารเกี่ยวกับหลักฐานการเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและเจ้าหนี้จำนอง ซึ่งศาลชั้นต้นจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่ศาลย่อมมีอำนาจกระทำได้ และถือว่าเป็นการไต่สวนโดยเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้คัดค้านก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (1) แล้ว แม้หากให้ผู้ร้องนำพยานเข้าสืบในการไต่สวนก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงแตกต่างนอกเหนือจากการสอบทนายผู้ร้อง และไม่อาจทำให้ประเด็นที่มีคำสั่งตามคำร้องเปลี่ยนแปลงไป ศาลย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบทนายผู้ร้องมารับฟังประกอบในการใช้ดุลพินิจเพื่อมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรได้ โดยไม่จำต้องทำการสืบพยานผู้ร้องก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่นจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2554

เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินประกันผลงานของจำเลยไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธการส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ได้มีการหักเงินประกันผลงานไปแล้วและไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องยังมีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยอยู่หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2555

สัญญาเช่ามีคำมั่นว่าก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ข้อความดังกล่าวไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงยังไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า ซึ่งเมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไป ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น กรณีถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย


ในชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า "ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งรับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18" คำว่าให้ยกเสีย ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยไม่จำต้องสั่งรับฟ้องไว้ก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสีย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2815/2554

การที่จำเลยวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ครบถ้วน มิใช่เป็นกรณีที่คู่ความมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่สั่งให้จำเลยวางค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องครบถ้วนจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2551

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในการพิจารณาคดีล้มละลาย แต่คำขอท้ายฟ้องมีใจความว่าขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเพิ่มเติม รายงานกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง และมีคำสั่งให้ศาลล้มละลายกลางนัดคู่ความมาพร้อมกันแล้วดำเนินกระบวนพิจารณา ต่อไปอย่างเที่ยงธรรม หากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแทนคำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลชั้นต้นก้าวล่วงเข้าไปแก้ไขกระบวน พิจารณาในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางซึ่งเป็นศาลที่อยู่ในลำดับชั้นเดียว กันได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับคดีโจทก์ไว้พิจารณาโดยยกฟ้องโจทก์เสีย เพราะเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แทนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3183/2550

ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 นอกจากจะต้องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้แล้วต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมอย่างไรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ด้วย


โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์อ้างว่าประมูลซื้อมาจากการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในฐานะที่โจทก์เป็น กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดี และไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากการดำเนินการตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนรวม การถือหน่วยลงทุน การจดทะเบียนกองทุนรวมต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตลอดจน การลงนามในสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ถูกต้องและ ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ดังนี้ หากศาลรับฟังและวินิจฉัยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโจทก์และการลงนามในสัญญาขายเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องที่อ้างว่าประมูลซื้อ มาได้และศาลย่อมพิพากษายกฟ้องอยู่แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์ยังคงมีอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้รับจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนได้เสียถึงกับจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์จึงไม่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 แต่เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่อาจฟ้องแย้งรวมเข้ามาในคำให้การได้ตามมาตรา 177 วรรคสาม


ฟ้องแย้งเป็นคำคู่ความซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งอย่างใดอย่าง หนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 18 ถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 วรรคสามที่ว่า ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงมีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับฟ้องแย้งอันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 นั่นเอง การที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้จำเลยที่ 3 ฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงไม่มีผลทำให้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2550

จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อสั่งไม่อนุญาตแล้ว ก็ไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลย ยื่นคำให้การและเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ มิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยอันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 กรณีจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2550

ย.ผู้ทำหน้าที่ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องระบุว่า ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และลายมือชื่อผู้แต่งทนายความในใบแต่งทนายความไม่ใช่ลายมือชื่อผู้รับมอบ อำนาจ และในวันนัดพร้อม ย. ก็แถลงยืนยันว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและใบแต่งทนายความไม่ใช่ลายมือ ชื่อของ อ. ผู้รับมอบอำนาจ กับมี ธ.พี่สาวผู้รับมอบอำนาจแถลงว่า ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและใบแต่งทนายความเป็นของ ธ. ไม่ใช่ของ อ. การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและใบแต่งทนายความไม่ใช่ ของ อ. โดยไม่เรียก อ. มาสอบถามจึงชอบแล้ว


ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องไว้แล้ว ภายหลังเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงจะสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องและสั่ง ใหม่เป็นไม่รับฟ้อง เมื่อหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและแต่งตั้งทนายความไม่ถูกต้องการแต่งตั้ง ทนายความก็ไม่ถูกต้องไปด้วย ทนายความซึ่งลงลายมือชื่อในคำฟ้องจึงไม่มีอำนาจทำการแทนในฐานะทนายความของ โจทก์ เท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องและมีคำสั่งไม่รับฟ้อง จึงไม่ชอบ


เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวทั้งโจทก์ยังได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ไว้ก่อนแล้ว แสดงว่าโจทก์พอใจคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อจัดการให้มีการลง ลายมือชื่อโจทก์ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2550

จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่ มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาล ชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของ จำเลยที่ 1 ได้ทันที โดยไม่ต้องกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเสียก่อนเพราะกรณีมิใช่เรื่องของการมิได้ชำระ หรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 18


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8388/2549

คำฟ้องโจทก์มีเนื้อหาเกินควรกว่าที่จำเป็นและมีมากตอนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ อาทิ ฟ้องข้อ 1 ใช้ถ้อยคำว่า ข้อหาหรือฐานความผิดระหว่างพิจารณาเนื้อหาสาระผลงาน มาตรา 17, 24, 26 และ 27 พร้อมกฎกระทรวงฉบับที่ 21 และยื่นคำขอเป็นครั้งแรกละเมิดมาตรา 24, 25 และ 26 และข้อหาหรือฐานความผิดเบื้องหลังผลงานพ้นจากมาตรา 24, 25, 26 ไปแล้ว และได้เข้าสู่มาตรา 27 หรือในข้อ 2 มีถ้อยคำว่า ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดผิดสัตยาบรรณ รับรองผลไม่เสียหาย ซึ่งอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายใน เรื่องใด หรือการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร หรือฟ้องข้อ 3 มีข้อความว่า ข้อหาหรือฐานความผิด คำสั่งยกคำขอมิชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์กล่าวหาผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตรว่า เซ็นคำสั่งยกคำขอไม่ถูกต้องเพราะจะปฎิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทาง ปัญญามิได้เนื่องจากไปขัดข้ามตำแหน่งทางปกครองระดับกรมของรองอธิบดีซึ่ง ปกครองระดับสำนักงานและเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ เป็นต้น จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลัก แห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับอีกด้วย ทั้งคำฟ้องของโจทก์ยังมีความฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจจึงเป็นคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5864/2549

จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การในวันที่ 15 มกราคม 2546 จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การ ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2546 จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การและยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเข้ามาด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ และนัดสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การแล้วก็ไม่จำต้องสั่งไม่ รับคำให้การและฟ้องแย้งอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ มิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้ง อันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8388/2549

คำฟ้องโจทก์มีเนื้อหาเกินควรกว่าที่จำเป็นและมีมากตอนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ อาทิ ฟ้องข้อ 1 ใช้ถ้อยคำว่า ข้อหาหรือฐานความผิดระหว่างพิจารณาเนื้อหาสาระผลงาน มาตรา 17, 24, 26 และ 27 พร้อมกฎกระทรวงฉบับที่ 21 และยื่นคำขอเป็นครั้งแรกละเมิดมาตรา 24, 25 และ 26 และข้อหาหรือฐานความผิดเบื้องหลังผลงานพ้นจากมาตรา 24, 25, 26 ไปแล้ว และได้เข้าสู่มาตรา 27 หรือในข้อ 2 มีถ้อยคำว่า ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดผิดสัตยาบรรณ รับรองผลไม่เสียหาย ซึ่งอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายในเรื่องใด หรือการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร หรือฟ้องข้อ 3 มีข้อความว่า ข้อหาหรือฐานความผิด คำสั่งยกคำขอมิชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์กล่าวหาผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตรว่าเซ็นคำสั่งยกคำขอไม่ถูกต้องเพราะจะปฎิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามิได้เนื่องจากไปขัดข้ามตำแหน่งทางปกครองระดับกรมของรองอธิบดีซึ่งปกครองระดับสำนักงานและเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ เป็นต้น จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับอีกด้วย ทั้งคำฟ้องของโจทก์ยังมีความฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจจึงเป็นคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2549

คำร้องขอของผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะไม่รับคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 แต่ตามเนื้อหาของคำร้องขอไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องขอเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (1) มิใช่เพียงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4875/2548

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้ เมื่อศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นนิติบุคคลอันจะทำให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 อาจเข้าเป็นคู่ความหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ ก็ชอบที่จะให้โจทก์เสนอหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ได้เพราะเป็นการตรวจสอบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นนิติบุคคล ศาลแรงงานกลางก็ไม่อาจรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ไว้ได้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นในชั้นตรวจรับคำฟ้อง มิใช่ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจตรวจสอบแต่เป็นเรื่องที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2548

จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์จำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้จำเลยแก้ไขอุทธรณ์มาใหม่ แต่จำเลยไม่ได้แก้ไขอุทธรณ์ กลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฟุ่มเฟือยเกินไป ให้คืนคำคู่ความไปทำมาใหม่ภายในกำหนด จึงเป็นคำสั่งในกรณีที่ศาลชั้นต้นตรวจคำคู่ความที่ยื่นต่อศาล แล้วมีคำสั่งให้คืนคำคู่ความนั้นไปทำมาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มิใช่เป็นการตรวจอุทธรณ์ แล้วมีคำสั่งว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์เสียก่อน ผู้อุทธรณ์จึงอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 198 ทวิ แห่ง ป.วิ.อ. เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำคู่ความให้ทำมาใหม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามอุทธรณ์ไว้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำสั่งให้จำเลยที่อุทธรณ์ฟัง โดยไม่ต้องรอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9219/2547

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทำมาใหม่เป็นคำสั่งชั้นตรวจคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ตามวรรคสองของ มาตรา 18 แต่วรรคท้ายของมาตรา 18 บัญญัติให้อุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247 กรณีมิได้ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 234 แห่ง ป.วิ.พ. ที่จำเลยจะต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แต่อย่างใด เพราะกรณีนี้อยู่ในชั้นตรวจคำคู่ความ การที่จำเลยไม่ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในเวลา 3 วันตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคสอง หาทำให้จำเลยหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้ทำมาใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 วรรคท้าย ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6366/2540

คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า หลังจากจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร และเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินในเวลาต่อมาโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมอันเป็นการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องโดยการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงดังกล่าวลงในคำฟ้องข้อ 1 และข้อ 2 กับขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องว่าให้จำเลยจัดการแก้ไขรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาทให้ปลอดจากการจำนอง แล้วจดทะเบียนโอนให้โจทก์ โดยโจทก์มิได้ระบุรายละเอียดว่าโจทก์จะขอเพิ่มเติมข้อเท็จจริงลงในคำฟ้องข้อ 1 หรือข้อ2 ตรงไหน เป็นคำร้องที่ไม่แจ้งชัด ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9028/2542

คำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวซึ่งตามมาตรา 21(3) ยกเว้นให้ศาลไม่ต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนเฉพาะพยานหลักฐานของโจทก์จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6994/2537

การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) แม้ว่ากฎหมายจะบัญญัติให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5419/2550

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ โจทก์จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้


หากโจทก์เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จริง โจทก์อาจให้ภริยาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดูแลโจทก์ในขณะเจ็บป่วยตามที่โจทก์อ้างในฎีกาเป็นผู้ติดต่อทนายความของโจทก์ซึ่งมีอำนาจอุทธรณ์เพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ได้ เพราะระยะเวลาดังกล่าวมีเวลาถึง 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟัง ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่โจทก์จะดำเนินการได้ทันทีตามกำหนด ข้ออ้างในฎีกาของโจทก์จึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่วนข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ถูกฟ้องขับไล่และทนายความของโจทก์อยู่ต่างจังหวัดก็มิใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3077 - 3078/2550

การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ตามคำร้องลงวันที่ 1 กันยายน 2546 วันที่ 23 กันยายน 2546 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 8 มกราคม 2547 และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 กรณีจึงต้องมีการบังคับคดีต่อไปและนับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่เวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำแถลงดังกล่าว ต้องถือว่าศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นการบังคับคดีย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบที่จะบังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์ของผู้ค้ำประกันทั้งสองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปโดยไม่มีเวลาครบกำหนด ศาลฎีกาจึงกำหนดเวลาให้ครบถ้วนสมบูรณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2550

ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ จำเลยมีทนายความและรูปคดีไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน ย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปอีก 3 วัน โดยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นแต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659/2548

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนับระยะเวลาเริ่มต้นต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยเริ่มนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ส่วนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์นั้น ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 มิได้เป็นวันต้นแห่งเดือนกำหนดระยะเวลาเป็นเดือนจึงไม่อาจคำนวณตามปีปฏิทินได้ ระยะเวลาสิ้นสุดย่อมเป็นวันที่ 18 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลา มิใช่ต้องนับระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีกำหนด 11 วัน และเดือนมีนาคม 2547 มีกำหนด 19 วัน เป็น 30 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/6 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการนับระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน มิได้กำหนดระยะเวลาเป็นเดือน


การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ส่วนคำว่า "เหตุสุดวิสัย" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายถึง เหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้


เหตุที่จำเลยอ้างขอขยายระยะเวลาเนื่องจากจำเลยไม่สามารถตรวจพยานหลักฐานคำคู่ความซึ่งมีจำนวนมากและพยานหลักฐานอื่นของฝ่ายโจทก์ จำเลยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและอยู่ระหว่างสอบประจำภาคที่กรุงเทพมหานคร ทนายจำเลยไม่สามารถพบจำเลยและสอบถามรายละเอียดได้ทันระยะเวลายื่นอุทธรณ์ กับทนายจำเลยมีภาระต้องดำเนินคดีต่อเนื่องอีกหลายคดีนั้น เมื่อคดีนี้มิได้มีถ้อยคำสำนวนมากเป็นพิเศษ ทั้งมิได้มีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนจนทนายจำเลยไม่อาจตรวจหรือทำคำฟ้องอุทธรณ์ได้ทัน หรือต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลยอีก จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะมีคำขอภายหลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658/2548

ข้ออ้างที่ว่าทนายจำเลยเชื่อคำบอกเล่าของเจ้าพนักงานศาลและทนายคนเดิมว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2547 และทนายจำเลยต้องว่าความทุกวันไม่สามารถมาดูคำสั่งศาลด้วยตนเองได้ ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2548

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ในวันครบกำหนดอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2547 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์แล้ว จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์พร้อมยื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่าเป็นความผิดของทนายความที่ไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นควรอนุญาตให้ตามขอ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย กรณีของจำเลยดังกล่าวเป็นกรณีที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งจำเลยจะขอขยายระยะเวลาได้เฉพาะในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ทนายจำเลยไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลยเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายจำเลย ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 22 มีนาคม 2547 จึงเกินกำหนดระยะเวลาขยายระยะเวลาอุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยและที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยก็ไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2548

ที่ผู้ร้องอ้างว่าเหตุที่ไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่ได้ขอขยายระยะเวลาฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เป็นเพราะไม่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เนื่องจาก ส. คนงานของผู้ร้องลงชื่อรับไว้แทนแต่หลงลืมและเดินทางกลับต่างจังหวัดจึงไม่ได้นำมามอบให้แก่ผู้ร้องภายในระยะเวลาที่ผู้ร้องสามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางได้นั้น ไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2548

เหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถป้องกันได้และทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่เมื่อทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วมีหน้าที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 18 มีนาคม 2547 ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา หากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วก็น่าจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเดินทางไปทำกิจธุระที่ต่างจังหวัด การที่ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่กลับเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอื่นที่ต่างจังหวัดในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และกลับมายื่นอุทธรณ์ไม่ทันเนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางเสีย จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง กรณีถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2548

การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย


ทนายจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ดังนั้น การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 12 กันยายน 2545 จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด


จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วันต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โดยมีหมายเหตุท้ายคำร้องว่า "ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว" พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นคำร้องขอว่า อนุญาตให้ขยายเวลาถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ย่อมถือได้ว่าทนายจำเลยผู้ร้องทราบคำสั่งศาลในวันที่ยื่นคำร้องแล้ว ข้อที่อ้างว่าจำเลยเชื่อถือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ศาลว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 กันยายน 2545 ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง มิใช่มีเหตุสุดวิสัย


ทนายจำเลยป่วยเจ็บเพราะเกิดอุบัติเหตุทำให้สมองกระเทือนต้องพักรักษาตัวโดยไม่ปรากฏว่ามีอาการถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มายื่นได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลา จึงไม่ถือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5259/2546

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 และวันที่ 5 มิถุนายน 2545 คำร้องทั้งสองฉบับยื่นต่อศาลเมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้เฉพาะเมื่อมีเหตุสุดวิสัย คำร้องฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 โจทก์อ้างว่า โจทก์มอบให้นิติกรเป็นผู้ยื่นคำร้องในวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 แต่นิติกรป่วยจึงไม่สามารถยื่นคำร้องได้ อีกทั้งคดีมีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับ แต่คดีมีข้อเท็จจริงยุ่งยากหรือไม่ และโจทก์ต้องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับชั้นหรือไม่ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาได้ ส่วนการที่นิติกรป่วยนั้น หากจะเป็นจริง โจทก์ก็เป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลและสามารถกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาฎีกาถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2545 ตามคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4450/2546

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 นั้น การขยายระยะเวลาจะพึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดสำเนาจากศาล ถือได้ว่ากรณีมีพฤติการณ์พิเศษ แต่การที่ศาลชั้นต้นย้ายที่ทำการโดยขนย้ายทรัพย์สินในวันหยุดราชการ วันธรรมดาซึ่งเป็นวันปฏิบัติราชการปกติ ศาลชั้นต้นยังคงเปิดทำการอยู่และมีประกาศที่ชัดเจนให้ทราบทั่วกันว่าให้คู่ความ ทนายความ และประชาชนติดต่อกับศาลชั้นต้น ณ ที่ทำการใหม่ตั้งแต่วันใดวันราชการอื่นก่อนหน้านี้ยังคงเปิดทำการ ณ อาคารเดิม ไม่ใช่ว่าวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2543 ศาลชั้นต้นปิดทำการ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การยื่นคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาโดยปราศจากเหตุสุดวิสัยแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 นั้น ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2546

คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องและลงชื่อท้ายคำร้องเพียงผู้เดียวเท่านั้น คำร้องดังกล่าวจึงเป็นคำร้องของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะ จะแปลความว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วยหาได้ไม่ ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เข้าใจผิดคิดว่าการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หมายถึงจำเลยทุกคนนั้น ก็มิใช่เหตุสุดวิสัย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด และเหตุที่อ้างก็มิใช่เหตุสุดวิสัยอันจะมีคำขอภายหลังสิ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 กรณีจึงไม่มีเหตุจะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545

เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นซึ่งจำเลยไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ จำเลยอ้างเหตุในคำร้องว่า จำเลยเพิ่งทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งล่วงเลยเวลาที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์แล้ว ข้ออ้างของจำเลยถือเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วได้ไปติดต่อขอคัดสำนวน กว่าจะคัดได้ก็เป็นเวลา 2 เดือน อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน