Pages

การขอคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉิน

มาตรา ๒๖๖ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเมื่อโจทก์ยื่นคำขอตามมาตรา ๒๕๔โจทก์จะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดย ไม่ชักช้าก็ได้

เมื่อได้ยื่นคำร้องเช่นว่ามานี้ วิธีพิจารณาและชี้ขาดคำขอนั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๒๖๗ มาตรา ๒๖๘ และมาตรา ๒๖๙

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2550
ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำ พิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่าย ทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" จากบทบัญญัติดังกล่าวยังมีกำหนดเงื่อนเวลาไว้ด้วย ตามมาตรา 290 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่ง ทรัพย์สินตามที่อายัดไว้"

คดีนี้โจทก์ชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของจำเลยซึ่ง เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ได้ เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดไปยังศาลแพ่งนั้น เป็นเงินที่บุคคลภายนอกนำส่งไว้เนื่องจากมีคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนมีคำ พิพากษาอันเป็นวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) ประกอบมาตรา 266 มิใช่ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้จากการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวยังเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ อยู่ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัด การอายัดทรัพย์ในคดีนี้จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยอายัดสิทธิเรียก ร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีต่อมหาวิทยาลัย อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั่นเอง ส่วนศาลแพ่งนั้นเป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรักษาทรัพย์ที่ขออายัดไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามที่อายัดไว้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งถือได้ว่ามีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 จึงล่วงระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องจึงไม่สามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากจำนวนเงินดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6793/2543
ธนาคารผู้ร้องไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ 4 แต่การที่โจทก์จำเป็นต้องขอให้ผู้ร้องออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อการชำระเงิน ค่าสินค้าให้แก่จำเลยที่ 4ก็เพื่อให้ผู้ร้องที่เป็นธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้มีความน่าเชื่อถือในฐานะ การเงินเข้ารับภาระในการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตอันมีผลให้ผู้ขายคือ จำเลยที่ 4 มั่นใจว่าจะได้รับเงินค่าสินค้าอย่างแน่นอน เมื่อได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตกล่าวคือ เมื่อมีการเสนอเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว ผู้ร้องก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น หากผู้ร้องไม่ชำระเงินโดยปราศจากเหตุผลที่มีน้ำหนักเป็นที่ยอมรับได้ในวงการ ค้าระหว่างประเทศก็ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อความน่าเชื่อถือในวงการค้า ระหว่างประเทศของผู้ร้อง และมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการในการออกเลตเตอร์ออฟเครดิตของผู้ร้องและ ลูกค้าที่ขอให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อการชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขาย สินค้าในต่างประเทศในภายหน้าด้วยเหตุนี้การที่ศาลจะออกคำสั่งอายัดห้ามผู้ ร้องชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังอย่าง ยิ่ง

ตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี การที่โจทก์ขอให้ธนาคารผู้ร้องออกเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อการชำระเงินค่า สินค้าให้แก่จำเลยที่ 4ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมาแต่แรกจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 4ยักย้ายนำทรัพย์สินของตนจากประเทศไทย ไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2536
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาและยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2531 ศาลชั้นต้นมิได้ทำการไต่สวนคำร้องทั้งสองฉบับของโจทก์ในวันดังกล่าว แต่มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยทั้งสี่ และนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 18ตุลาคม 2531 การที่ศาลชั้นต้นให้นัดไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์หลังวันยื่นคำร้องถึง 8 วัน จึงมิใช่เป็นการพิจารณาเป็นการด่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 ถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องโจทก์อย่างวิธีธรรมดา ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นที่สุดโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2536
คำสั่งให้งดการไต่สวนพยานจำเลยที่ 1 ในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำ พิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นในภาย หลัง จะต้องโต้แย้งคำสั่งให้ศาลจดลงไว้ในรายงาน คู่ความฝ่ายที่โต้แย้งจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่ง เดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามความใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 แต่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนเมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2534 และนัดฟังคำสั่งในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกาทนายโจทก์ได้ทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่ง ย่อมมีเวลาเพียงพอที่โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านได้ แต่ก็หาได้มีการโต้แย้งคัดค้านไม่ โจทก์จึงหมดสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว อีกทั้งไม่อาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อฎีกาได้

มาตรา ๒๖๗ ให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน ถ้าเป็นที่พอใจจากคำแถลงของโจทก์หรือพยานหลักฐานที่โจทก์ได้นำมาสืบ หรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่าคดีนั้นเป็นคดีมีเหตุฉุกเฉินและคำขอนั้นมีเหตุผลสมควรอันแท้จริง ให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขไปตามที่เห็นจำเป็นทันที ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอ คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

จำเลยอาจยื่นคำขอโดยพลัน ให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นเสีย และให้นำบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำขอเช่นว่านี้อาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอคำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินหรือยกเลิกคำสั่งที่ได้ออกตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา ๒๕๔ นั้นใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2866/2550
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อศาลชั้นต้นในเหตุฉุกเฉิน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาต จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ในเหตุฉุกเฉินนั้น ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเดิม จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกคำร้อง อันมีผลเป็นการยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินของศาล ชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2547
โจทก์ยื่นคำร้องขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยมีคำขอในกรณีมีเหตุฉุกเฉินให้ ศาลสั่งห้ามผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจ่ายเงินตามตั๋วสัญญา ใช้เงินนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดการใช้เงินเป็นการชั่วคราว ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งอายัด จึงเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกคือผู้ร้องถูกหมายอายัดและขอเพิกถอนคำสั่ง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเป็นผู้ถูกหมายอายัดและเป็นผู้ขอให้ยกเลิกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 จึงต้องอาศัยบทบัญญัติมาตรา 259 นำมาตรา 312 ซึ่งเป็นบทบัญญัติสำหรับบุคคลภายนอกเป็นผู้ร้องขอมาใช้บังคับโดยอนุโลม อันทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสอง เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7140/2547
เดิมโจทก์ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นยกคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉบับที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสาม การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา 254 นั้นใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับใหม่ลงวันที่ 9 เมษายน 2544 เข้ามาได้อีก แม้ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องฉบับดังกล่าว โจทก์จะได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อน พิพากษาฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2544 เข้ามาอีก และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกันนั้นเอง ก็มีผลเป็นการยกคำขอในเหตุฉุกเฉินและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อน พิพากษาที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วยเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเช่นเดียว กันนั้นอีก ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อน พิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ที่โจทก์ยื่นไว้ก่อนได้ กรณีไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2539
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉิน เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา267วรรคสองไม่ว่าจำเลย ทั้งหกจะขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา262หรือ ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำขอในกรณีธรรมดาก็ตามโจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดัง กล่าวอีกไม่ได้การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยก เลิกคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4343/2536
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอของจำเลยที่ให้ยกเลิกคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้ รับการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินนั้นเป็นคำสั่ง อันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณาของ ศาลชั้นต้นจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยก เลิกคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นแล้วคำสั่งเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุดตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 267 วรรคสอง

มาตรา ๒๖๘ ในกรณีที่มีคำขอในเหตุฉุกเฉิน ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าคดีนั้นมีเหตุฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนวิธีการที่ศาลจะกำหนดนั้น หากจำเป็นต้องเสื่อมเสียแก่สิทธิของคู่ความในประเด็นแห่งคดี ก็ให้เสื่อมเสียเท่าที่จำเป็นแก่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 970/2519
โจทก์ได้ยื่นคำร้องเป็นกรณีมีเหตุฉุกเฉินขอให้ยึดหรืออายัดการทำเหมืองแร่ของจำเลย และทรัพย์สินต่าง ๆ ตามบัญชีท้ายฟ้องไว้ก่อนคำพิพากษาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งก็อ้างเหตุผลทำนองเดียวกันว่า จำเลยกำลังจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องตลอดจนอุปกรณ์การทำเหมือง แร่และรถยนต์ ในการไต่สวนคำร้องดังกล่าวครั้งแรกนั้น คำเบิกความของโจทก์เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน กล่าวคลุม ๆ ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยกำลังจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ใดตามคำร้องให้แก่ผู้ ใด เมื่อใด ยังไมได้ว่าคำขอนี้มีเหตุผลสมควรอันแท้จริงที่จะสั่งอนุญาตตามที่โจทก์ขอ เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันนั้นอีก (แต่ไม่อ้างกรณีฉุกเฉิน) โดยอ้างเหตุผลในการขอทำนองเดียวกับการร้องขอครั้งแรกที่ศาลได้เคยไต่สวนไว้ แล้ว โดยไม่มีเหตุผลพิเศษอื่นใดนอกเหนือไปกว่าเดิม ศาลจึงชอบที่จะสั่งยกคำร้องโดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้องอีกได้

มาตรา ๒๖๙ คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ให้มีผลบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๘ และมาตรา ๒๕๘ ทวิ อนึ่ง ศาลจะสั่งให้โจทก์รอการบังคับไว้จนกว่าศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคำขอให้ยกเลิกคำสั่งหรือจนกว่าโจทก์จะได้วางประกันก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6091/2534
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของโจทก์ฉบับลง วันที่ 7 ธันวาคม 2531 ในวันที่ 13 ธันวาคม2531 และสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทุกคนทราบ เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนเสร็จในวันที่ 14 ธันวาคม 2531 แล้วได้มีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นให้จำเลยทุกคนร่วมกันจัดการนำส่งสมุดทะเบียน ผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อศาลเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาภายใน 15 วันจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2532 ขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ดังนี้ มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้อง ของ โจทก์เป็นการด่วนโดยไม่ชักช้า และคำสั่งดังกล่าวก็มิได้บังคับได้ทันทีโดยไม่ต้องส่งให้จำเลยทุกคนทราบดัง ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 267,269 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาไต่สวนคำร้อง ของ โจทก์อย่างวิธีธรรมดา จะนำป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสอง มาปรับกับกรณีตามคำร้อง ของ จำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2514
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากัน โดยมีข้อสัญญาว่าให้บุตรอยู่ในความอุปการะของโจทก์ จำเลยมาหลอกลวงเอาบุตรไป จึงฟ้องเรียกคืน ดังนี้ โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยส่งบุตรให้โจทก์ก่อนศาลพิพากษา ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) เพราะมาตรา 254 นี้มิใช่ใช้เฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น

โจทก์ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉิน พร้อมกับคำร้องขอให้ศาลใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 4 นับแต่วันนั้นกับสั่งให้ส่งสำเนาให้จำเลยทราบเมื่อไต่สวนแล้วศาลมีคำสั่งให้ จำเลยนำบุตรไปมอบให้แก่โจทก์ภายใน 3 วันนับแต่วันได้รับทราบ ดังนี้ ถือว่าศาลดำเนินการพิจารณาไต่สวนคำร้องของโจทก์อย่างวิธีธรรมดาเพราะมิได้ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267, 269

มาตรา ๒๗๐ บทบัญญัติในหมวดนี้ ให้ใช้บังคับแก่คำขออื่น ๆ นอกจากคำขอตามมาตรา ๒๕๔ ได้ต่อเมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง