Pages

การทุเลาการบังคับคดี

มาตรา ๒๓๑  การยื่นอุทธรณ์ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่คู่ความที่ยื่นอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลอุทธรณ์ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา โดยทำเป็นคำร้องชี้แจงเหตุผลอันสมควรแห่งการขอ ให้ศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับไว้

คำขอเช่นว่านั้น ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นต่อศาลชั้นต้นได้จนถึงเวลาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ถ้าภายหลังศาลได้มีคำสั่งเช่นว่านี้แล้ว ให้ยื่นตรงต่อศาลอุทธรณ์ ถ้าได้ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นก็ให้ศาลรีบส่งคำขอนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำขอไว้ ก็ให้มีอำนาจทำคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ในคำขอเช่นว่านั้น

ถ้าผู้อุทธรณ์วางเงินต่อศาลชั้นต้นเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนเช่นว่านี้จนเป็นที่พอใจของศาล ให้ศาลที่กล่าวมาแล้วงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ (๑)

เมื่อได้รับคำขอเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินก็ได้ โดยมิต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งนี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้ฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งในภายหลัง ถ้าศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ตามที่ขอ คำสั่งนี้อาจอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ หรือไม่ก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ยักย้ายจำหน่ายทรัพย์สินของตนในระหว่างอุทธรณ์ หรือให้หาประกันมาให้ศาลให้พอกับเงินที่ต้องใช้ตามคำพิพากษาหรือจะให้วางเงินจำนวนนั้นต่อศาลก็ได้ ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ศาลจะสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อุทธรณ์นั้นก็ได้ และถ้าทรัพย์สินเช่นว่านั้น หรือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ศาลอาจมีคำสั่งให้เอาออกขายทอดตลาดก็ได้ ถ้าปรากฏว่าการขายนั้นเป็นการจำเป็นและสมควร เพราะทรัพย์สินนั้นมีสภาพเป็นของเสียได้ง่ายหรือว่าการเก็บรักษาไว้ในระหว่างอุทธรณ์น่าจะนำไปสู่ความยุ่งยากหรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386 - 3387/2559
เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง แม้โจทก์ทั้งสองจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่การยื่นอุทธรณ์ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างและเงินอื่นๆ ตามฟ้อง อันเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลยนับตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่จำเลยรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2559
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เกี่ยวกับเรื่องการขอขยายเวลาหาประกันมาวางตามเงื่อนไขที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น เป็นเรื่องต่อเนื่องกับการขอทุเลาการบังคับ ซึ่งเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาหาประกันมาวางศาลต่อไปอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว รวมทั้งฎีกาที่คัดค้านว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับต้องส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่ง ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นที่สุดแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6798/2558
ป.วิ.พ. กำหนดให้การขอทุเลาการบังคับอยู่ในอำนาจของศาลเป็นชั้นๆ ไป การขอทุเลาการบังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยเฉพาะ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะอนุญาตให้ทุเลาการบังคับภายใต้เงื่อนไขใดๆ ก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษ ไม่อยู่ในบังคับอุทธรณ์ฎีกาอย่างเรื่องอื่นๆ ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นผู้สืบสิทธิและถือว่าเป็นคู่ความฝ่ายเดียวกับจำเลย ผู้ร้องจึงฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ต่อเนื่องกับคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18532/2555
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยนำค่าเสียหายที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษามาวางศาลนั้น มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ให้จำเลยนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาล การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษซึ่งเป็นเพียงหลักประกันมาวาง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 คำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยจึงเป็นอันยกไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษมาวางต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นั้น พอถือได้ว่าเป็นการขอวางหลักประกันเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้แม้จะไม่ได้ขอทุเลาการบังคับก็ตาม ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะรับหลักประกันที่จำเลยนำมาวางไว้พิจารณาว่าพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดีหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2555
คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อ ป.วิ.อ. ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง อำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13669/2553
ป.วิ.พ. กำหนดให้การขอทุเลาการบังคับคดี อยู่ในอำนาจของศาลเป็นชั้นๆ ไป การขอทุเลาการบังคับในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะอนุญาตให้ทุเลาการบังคับภายใต้บังคับเงื่อนไขใดๆ ก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษ ไม่อยู่ในบังคับแห่งการอุทธรณ์และฎีกาอย่างเรื่องอื่นๆ จำเลยที่ 1 จึงฎีกาคำสั่งเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต่อศาลฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2553
ค่าทนายความเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระค่าทนายความจำนวน 150,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักเกณฑ์เคร่งครัดที่โจทก์ผู้ยื่นฎีกาจะต้องปฏิบัติตาม เพราะมิใช่หนี้ตามคำพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดี ที่โจทก์จะพึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคหนึ่ง

โจทก์ยื่นฎีกาโดยจงใจนำเพียงค่าขึ้นศาลตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์มาวางศาลพร้อมกับฎีกา เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่บทบัญญัติมาตรา 229 กำหนดไว้ จึงเป็นการยื่นฎีกาโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที เพราะมิใช่กรณีโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ตรวจคำคู่ความจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์ชำระให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2553
ค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 เป็นความรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ผู้ฎีกาจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หาใช่หนี้ตามคำพิพากษาในเนื้อหาคดี อันโจทก์จะพึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคหนึ่ง ได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฎีกาโดยจงใจนำเพียงค่าธรรมเนียม (ค่าขึ้นศาล) ตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์มาวางศาลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมกับฎีกาโดยมิได้วางค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการยื่นฎีกาโดยมิชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งจะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที เพราะมิใช่กรณีที่โจทก์ชำระให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควรเสียก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10209/2553
การขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีและคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ว่า ขณะที่ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้ามา จึงถือได้ว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่จะมีคำสั่งว่าสมควรให้งดการบังคับคดีหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งยกคำร้องฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่งจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183 - 2184/2553
ปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น เมื่อได้มีคำวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ในชั้นนี้มาโดยละเอียดซึ่งต้องมีการพิพากษาคดีในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วยแล้ว ย่อมไม่จำเป็นที่ต้องมีการทุเลาการบังคับคดีอีกต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองเพราะไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8876/2551
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังจากครบกำหนดยื่นอุทธรณ์แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดได้อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง ประกอบกับผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งแรก จึงมีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้อง

คำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ผู้ร้องยื่นระหว่างฎีกาขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เป็นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ไม่ใช่คำร้องขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 การพิจารณาว่าศาลใดมีอำนาจสั่งคำร้องจะต้องพิจารณาว่าประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใดเมื่อประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีคือทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 หรือผู้ร้อง แต่ประเด็นที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคือมีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องหรือไม่ ซึ่งเมื่อศาลฎีกาพิพากษากลับให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ คดีก็เสร็จไปจากการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจมีคำสั่งตามคำร้องของผู้ร้องได้ประกอบกับการยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ คู่ความจะต้องยื่นต่อศาลในขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาหรือมิฉะนั้นต้องยื่นในชั้นบังคับคดีเมื่อมีเหตุที่จะขอคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความเพื่อบังคับตามคำพิพากษา เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แต่ยังมิได้สั่งรับอุทธรณ์ กรณีจึงมิใช่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาและมิใช่เป็นการขอคุ้มครองประโยชน์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาเพราะผู้ร้องยังไม่ถูกบังคับคดี การยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5810/2548
การที่จำเลยที่ 2 นำสมุดเงินฝากของธนาคารมาเป็นหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับระหว่าง อุทธรณ์พร้อมกับทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลชั้นต้นว่า ถ้าจำเลยทั้งสองแพ้คดีและไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ยอมให้บังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์คือสมุดเงินฝากที่นำมาวางศาลนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จะอ้างว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์และจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เงินในสมุดเงินฝากดังกล่าวจึงตก เป็นของโจทก์โดยปริยายหาได้ไม่ แม้สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำต่อศาลชั้นต้นจะยังมีผลบังคับอยู่ แต่สัญญาดังกล่าวก็ระบุว่าถ้าจำเลยทั้งสองแพ้คดีและไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ยอมให้บังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์คือสมุดเงินฝากที่นำมาวางศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการบังคับคดีเสียก่อนศาลจึงจะมีคำสั่งให้ธนาคาร จ่ายเงินตามสมุดเงินฝากนั้นแก่โจทก์ได้ เมื่อโจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ก็ย่อมสิ้นสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะยึดสมุดเงินฝากดังกล่าวไว้เป็นหลักประกันหรือเพื่อ บังคับคดีอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5621/2548
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทกับให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดยให้จำเลยที่ 1 วางเงินประกันค่าเสียหายภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาวางเงิน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ คดีที่จำเลยที่ 1 ขอทุเลาการบังคับอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การขอขยายระยะเวลาวางหลักประกันเป็นเรื่องต่อเนื่องกับคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ที่สั่งเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3730/2548
การยื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 หมายถึง การยื่นอุทธรณ์ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยชี้ขาดประเด็น แห่งคดี การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่น อุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวอันจะยื่นคำร้องขอทุเลา การบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3052/2548
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่งดการอ่านคำ พิพากษาเพื่อรอฟังผลอีกคดีหนึ่งพร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับใน ระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะอุทธรณ์คำสั่ง เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำ พิพากษาย่อมมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นอันถึงที่สุด เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งโดยพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ปัญหาเรื่องการขอทุเลา การบังคับในระหว่างอุทธรณ์ตามฎีกาของจำเลยจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยอีก ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2548
การขอทุเลาการบังคับ กฎหมายกำหนดวิธีการให้อยู่ในอำนาจของศาลเป็นชั้น ๆ ไป การขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ ภาค 7 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับแล้ว จำเลยจะฎีกาคำสั่งต่อศาลฎีกาอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2548
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์โดยให้ศาลชั้นต้นตีราคาทรัพย์สินที่จำนอง ถ้าไม่พอชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนับจนถึงวันทราบคำ สั่งและต่อไปอีก 1 ปี ก็ให้จำเลยหาประกันมาให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อน คดีในชั้นพิจารณาหลักประกัน โดยถือว่าจำเลยไม่ดำเนินการวางหลักประกันภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด นั้นเป็นคำสั่งที่ต่อเนื่องกับคำสั่งทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำสั่งนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2547
ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชนชนฯ มาตรา 10 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำ ผิดตามมาตรา 4 หรือ 5 ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลายได้ เป็นการให้อำนาจฟ้องได้ในขณะที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดเท่า นั้น ไม่ต้องรอให้ฟ้องคดีอาญาเป็นจำเลยต่อศาลก่อนและไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาถึง ที่สุดก่อนว่าผู้กู้ยืมกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็ได้ เพราะความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้องการให้กฎหมายมีสภาพบังคับโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่ร้ายแรงมากขึ้นจากความเนิ่นช้าในการ บังคับใช้กฎหมายรัฐจึงเลือกใช้ช่องทางให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่า ด้วยการล้มละลายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าว เพราะกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้นจะต้องดำเนินการเป็นการด่วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 13 และในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติต่อไปว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงตามวรรคหนึ่งให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของ ลูกหนี้เด็ดขาด มิใช่ต้องได้ความจริงว่าลูกหนี้กระทำผิดตามคำพิพากษาถึงที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้อำนาจเข้าจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลย ทั้งสิบต่อมาตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ จนศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบล้มละลายและเข้าสู่ขั้นตอนการจำหน่าย ทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 123 แล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่าย ทรัพย์สินของลูกหนี้และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายจนสิ้น สุด ไม่อาจขอทุเลาการบังคับอย่างคดีแพ่งธรรมดาและไม่อาจขอให้งดหรือระงับการขาย ทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและอายัดไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097 - 1098/2547
โจทก์วางเงินประกัน 15,887.50 บาท เพื่อขอทุเลาการบังคับคดีไว้ในระหว่างอุทธรณ์โดยทำสัญญาค้ำประกันต่อศาล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2534 ว่า หากโจทก์แพ้คดีและไม่นำเงินมาชำระตามคำพิพากษา ยินยอมให้บังคับเอากับเงินที่นำมาเป็นหลักประกันได้แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้โจทก์แพ้คดี และคดีถึงที่สุดแล้วแต่ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็ยังไม่มี สิทธิขอรับเงินที่วางไว้คืน โจทก์จะมีสิทธิร้องขอคืนได้ต่อเมื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์นำเงินจำนวนใหม่มาวางชำระหนี้ให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องขอรับเงินที่วางเป็นหลักประกันคืนตั้งแต่วัน ดังกล่าวหาใช่นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ โจทก์ขอรับเงินคืนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2544ยังไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่มีสิทธิเรียกร้อง เงินนั้นจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 โจทก์มีสิทธิขอรับเงินคืนไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2546
แม้โจทก์จะใช้ถ้อยคำว่าขอทุเลาการบังคับมาในคำร้องที่โจทก์ยื่นพร้อมกับอุทธรณ์ ที่คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง แต่ก็มีใจความว่าหากศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการติดตามเอาทรัพย์พิพาทของโจทก์คืนมาจากจำเลย จึงพอแปลได้ว่าคำร้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ขอคุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ไม่ใช่เรื่องขอทุเลาการบังคับตามมาตรา 231

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3391/2545
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับไว้ชั่วคราวจนกว่าจะ มีคำสั่งของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลย แปลได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้เป็น การชั่วคราว ซึ่งศาลชั้นต้นอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้งดการบังคับคดีได้ตามที่เห็นสมควรตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) แต่การบังคับคดีนั้นงดได้เฉพาะการบังคับคดีที่ยังไม่ได้กระทำหรือที่จะ ต้องกระทำต่อไป จะงดการบังคับคดีที่ได้ปฏิบัติมาแล้วไม่ได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการยึดทรัพย์บางส่วนมอบให้โจทก์ถือว่า การบังคับคดีในส่วนนี้เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งให้งดการบังคับคดีในส่วนนี้ ส่วนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้ยึด ศาลชั้นต้นมีอำนาจให้งดการบังคับคดีได้