Pages

งดการบังคับคดี (แก้ไข ปี 60)

 ส่วนที่ ๘

การงดการบังคับคดี


มาตรา ๒๘๙ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีในกรณีดังต่อไปนี้


(๑) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเพราะเหตุมีการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่และได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๙ เบญจ วรรคหนึ่ง หรือ


มาตรา ๒๐๗ ในกรณีดังกล่าว ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องว่าตนอาจได้รับความเสียหายจากการยื่นคำขอดังกล่าวและมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี ศาลมีอำนาจสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกันตามที่ศาลเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำขอนั้น หรือกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้งดการบังคับคดี


(๒) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดี และได้ส่งคำสั่งนั้นไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด


(๓) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือภายในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี


(๔) เมื่อเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๔ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวงดการบังคับคดีให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียทราบโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้งดการบังคับคดีตามคำขอของบุคคลนั้นเอง


มาตรา ๒๙๐ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลให้งดการบังคับคดีไว้โดยเหตุที่ตนได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้นไว้แล้ว ซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดและถ้าหากตนเป็นฝ่ายชนะจะไม่ต้องมีการยึด อายัด ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่น เพราะสามารถจะหักกลบลบหนี้กันได้้าศาลเห็นว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้ ศาลอาจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้คำสั่งนี้อาจอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาใด ๆ หรือไม่ก็ได้ และศาลจะมีคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนที่เห็นสมควรภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำร้องนั้นด้วยก็ได้คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด


มาตรา ๒๙๑ ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งของศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปเมื่อได้รับคำสั่งจากศาล โดยศาลเป็นผู้ออกคำสั่งนั้นเองหรือโดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำสั่ง เนื่องจากระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว หรือมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือคดีนั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้พิพากษายืนหรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องงดการบังคับคดีอีกต่อไปแล้ว


ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา ๒๘๙ (๓) หรือ (๔) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปเมื่อระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้กำหนดไว้ หรือเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๔ แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560 - 5563/2562

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 45 (1) และ (2) เพื่อให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีบทนิยามหรือวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้วิจารณญาณตามพฤติการณ์ของข้อพิพาทและกาลสมัยของคุณค่าสังคม โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ บริการสาธารณะ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง มิใช่ผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นต้น ดังนั้น การที่จะนำหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาปรับใช้กับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายต้องพิจารณาลักษณะข้อพิพาทให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นรายกรณีไป


การที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคาร ท. มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างดังกล่าวโอนไปยังธนาคาร ท. แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามสัญญาอีกตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 หรือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. เท่านั้นเป็นเหตุให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่ระงับ นั้น ต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ในการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งปวง เมื่อทางปฏิบัติหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้ร้องยังคงเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านได้รับใบเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ร้องไม่ใช่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องและธนาคารดังกล่าวจะไปรับเช็คพร้อมกันเพื่อนำเข้าบัญชีของผู้ร้อง แล้วธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของผู้ร้องบางส่วนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารโดยจะคืนส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง กับผู้ร้องเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้คัดค้าน แสดงว่าหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้คัดค้านยังคงชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้ร้องมาโดยตลอดไม่เคยชำระให้แก่ธนาคาร ท. และธนาคารก็ไม่เคยทักท้วงไปยังผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง แล้วนำไปปรับใช้กับข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อกฎหมายแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. ซึ่งข้อพิพาทนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะเท่านั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย ศาลไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำอีก การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้มิใช่กรณีที่เมื่อผู้ร้องมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอวางหลักประกันการงดการบังคับคดีจนต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (2) จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความแม้กระทำในศาลก็ถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การจะพิจารณาว่าคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพสอง ว่าด้วยหนี้ เช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 บัญญัติว่า "ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่" ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์โอนเงิน 309,190 บาท จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาที่ธนาคาร ท. สาขาบิ๊กซีบุรีรัมย์ เพื่อให้ธนาคารนำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. บุตรโจทก์ แต่ระบบของธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้โอนเงินมายังบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ถึง 2 วัน แต่ที่ ฐ. ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีได้เพราะระบบของธนาคารต้องทำการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโอนมาจากต่างประเทศก่อน ต่อมาเมื่อระบบของธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีของ ฐ. แล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ฐ. ก็ได้ไปถอนเงินจำนวน 300,000 บาท จากบัญชีของตนแล้วนำไปชำระที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสถานที่ชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวพออนุโลมได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2560

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทรวม 6 แปลง เป็นการยึดเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่ย่อมเป็นการไม่ชอบ ขอให้ถอนการยึด จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและไม่มีการเจรจาตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ก่อน ขอให้ถอนการยึด ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ให้บังคับคดีต่อไป และวินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เห็นสมควรให้วางเงินต่อศาลคนละ 5,000,000 บาท เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องว่า การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เวลาผ่านไป 7 ปี โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายที่ดิน ทำให้ไม่อาจนำเงินไปลงทุนหากำไร นำไปฝากหรือให้กู้ยืมได้ดอกเบี้ย ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4,590,000 บาท ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาในตอนท้ายว่า ยกหรือยืนหรือกลับหรือแก้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก (เดิม) แต่แรก และเพิ่งจะมาใช้สิทธิตามมาตรา 296 วรรคหก (เดิม) ภายหลัง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้น ชอบแล้ว พอแปลได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ กรณีถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ผิดหลงเล็กน้อยหรือผิดพลาดเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าว ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคหก (เดิม) ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) เพราะคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่คัดค้านการขายทอดตลาด แม้จำเลยทั้งสี่จะเคยยื่นคัดค้านการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ก็ไม่ได้ร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 30 วัน ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่ามีความเสียหายก็ชอบที่โจทก์จะไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4089/2559

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีอีกโดยอ้างเหตุว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 และโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้คดีนี้เต็มจำนวนแล้ว อันเป็นการอ้างเหตุเดิม แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับไปแล้วก็ตาม แต่ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการอ้างเพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาเช่นเดียวกับคำร้องขอให้งดการบังคับคดีครั้งก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ที่ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559

โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280/2559

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 25 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยต้องทำการไต่สวนก่อน ดังนั้นหากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำขอของจำเลยที่ 2 แล้วก็ไม่จำต้องทำการไต่สวนคำขอ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15600/2558

คดีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ผลของคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวทำให้มาตรการคุ้มครองกิจการหรือสภาวะพักการชำระหนี้ตามมาตรา 90/12 ในคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 ย่อมสิ้นสุดลง สิทธิและหน้าที่ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ย่อมกลับเป็นไปดังเดิมที่มีต่อกันอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้เพิกถอนการยึดห้องชุดพิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14679/2558

เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดโดยกำหนดวันนัดขายทอดตลาดไว้ถึง 2 นัด และยังมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้วางเงินค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดอีกด้วย แต่โจทก์เองไม่วางเงินกลับยื่นคำร้องขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดออกไป 3 เดือน แสดงว่าโจทก์ยังไม่ประสงค์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทรัพย์พิพาท ดังนั้นวันนัดที่กำหนดไว้จึงเป็นการเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดและการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า งดการขายทอดตลาดไว้ 3 เดือน รอโจทก์แถลงความประสงค์ จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว หากโจทก์ประสงค์จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปเนื่องจากระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้วตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 294 วรรคหนึ่ง โจทก์จะอ้างว่าเป็นความผิดหรือความบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ตามที่โจทก์ขอให้งดการบังคับคดีไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปทันทีโดยโจทก์ไม่จำต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใหม่ให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปอีกหาได้ไม่เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะแถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป จะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ โจทก์มิได้แถลงขอให้ดำเนินการขายทอดตลาดจนกระทั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้โจทก์แถลงความประสงค์ในการบังคับคดีและวางค่าใช้จ่ายเพิ่ม โจทก์จึงวางเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มและแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไป การที่โจทก์ปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 11 ปีเศษ เช่นนี้ ความล่าช้าในการบังคับคดีจึงเป็นความผิดหรือบกพร่องของโจทก์เอง หาใช่เป็นความผิดหรือบกพร่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14654 - 14655/2558

โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้อง และศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามนั้นแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ จำเลยก็ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมนั้น ตามมาตรา 229 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยหาได้อุทธรณ์ไม่ กลับยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอแก้ไขข้อสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีความมุ่งหมายให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าไม่อาจใช้บังคับได้ ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมอันไม่อาจกระทำได้โดยศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความก็หาใช่เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมตามข้อยกเว้นของมาตรา 138 วรรคสอง ที่จำเลยจะอุทธรณ์ได้ไม่ อีกทั้งต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเห็นพ้องด้วยในผลกับศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลย และปัญหาดังกล่าวได้ยุติไปแล้วโดยศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยคำพิพากษาคดีนี้จึงเป็นที่สุดแล้ว ปัญหาข้อโต้แย้งด้วยวิธีต่าง ๆ ของจำเลย หาได้ทำให้คำพิพากษาตามยอมซึ่งเป็นที่สุดไปแล้วกลับมาไม่เป็นที่สุดตามที่จำเลยเข้าใจแต่อย่างใดไม่


เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาและขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมจำเลยซึ่งจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดีได้ ทั้งเมื่อคำพิพากษาตามยอมเป็นที่สุดและไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีกับจัดให้มีวิธีคุ้มครองชั่วคราวโดยระงับการออกหมายจับจำเลยและบริวารไว้ก่อนตามคำร้องของจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2558

ตามคำร้องของจำเลยอ้างเหตุว่า ในมูลหนี้เดียวกันนี้และก่อนฟ้องคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ได้ฟ้องคดีต่อ "The High Court of Justice, Queen's Bench Division, Commercial Court" ประเทศสหราชอาณาจักร จนศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน จำนวน996,498 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,687,289.24 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีคำพิพากษาของศาลต่างรัฐกันขัดแย้งกันเรื่องจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าวไปแล้วบางส่วนด้วย หากบังคับคดีนี้ต่อไป จำเลยจะได้รับความเสียหายเกินความจำเป็น เมื่อพิจารณาคำร้องและอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว เข้าใจได้ว่าเหตุที่มีความประสงค์จะขอให้ศาลงดการบังคับคดีเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกากับคำพิพากษา "The High Court of Justice" ขัดแย้งกันในเรื่องจำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระ เห็นว่า จำเลยไม่ได้อ้างเหตุที่งดการบังคับคดี แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยอ้าง ก็ไม่มีเหตุที่จะงดการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2558

ผู้ร้องเป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินจากจำเลยโดยผู้ร้องได้ชำระราคาบางส่วนและได้เข้าครอบครองทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อขายแล้ว ผู้ร้องเป็นผู้จะซื้อมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่ผู้ร้องโดยผู้ร้องต้องชำระราคาที่เหลือ การเข้าครอบครองก่อนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลย กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลยและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2558

แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 271 จะบัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตาม แต่หาได้กำหนดให้บังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 10 ปีไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินโบนัสและเงินค่าตอบแทนกรณีจำเลยที่ 2 ออกจากงาน ซึ่งบริษัท บ. ได้ส่งเงินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดและจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้ว 6 ครั้ง เป็นเงิน 279,727.72 บาท แต่โจทก์ได้รับชำระหนี้ยังไม่ครบตามหมายบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ดำเนินการบังคับคดีมาโดยตลอด ดังนี้ แม้เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ก็ยังสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้จนกว่าการบังคับคดีจะแล้วเสร็จ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2557

การที่จำเลยเบิกความตอบศาลถามว่า ที่ น.ส. 3 ก. เลขที่ 371 มีราคาประเมินประมาณ 140,000 บาท ก็เจือสมกับทางนำสืบโจทก์ว่า อ. ได้นำที่ไปตีใช้หนี้ในราคา 104,375 บาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่า ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 371 มีราคาเพียง 100,000 บาทเศษ การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกไปทำสัญญาจะซื้อจะขายในราคาเท่ากับหนี้ที่ อ. ค้างชำระอยู่กับจำเลยจำนวน 939,706.45 บาท จึงเชื่อว่าเป็นการทำสัญญาเพื่อนำไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีประกอบการของดการบังคับคดีตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง โดยคู่สัญญามิได้มีเจตนาผูกพันกันตามนั้น ถือว่านิติกรรมดังกล่าวเกิดจากการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21019/2556

จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระหว่างอุทธรณ์ ไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงไม่เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินและจำเลยไม่ต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้ตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีเป็นอย่างอื่น และศาลอุทธรณ์พิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุด โจทก์จึงไม่สามารถบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อีก ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกเพิกถอนไป จึงเป็นกรณีการถอนการบังคับคดีด้วยเหตุคำพิพากษาที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เป็นกรณีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ ให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดค่าฤชาธรรมเนียมการบังคับคดีในชั้นที่สุด หากโจทก์ไม่ชำระเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีค่าธรรมเนียมดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 295 ตรี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5948/2556

เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้แก่ ช. ผู้ซื้อทรัพย์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2553 ก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีที่ดินพิพาท เมื่อการงดการบังคับคดีจะดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่การบังคับคดียังไม่ได้กระทำหรือที่จะกระทำต่อไปเท่านั้น จะงดการบังคับคดีที่ปฏิบัติมาแล้วหาได้ไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขายทอดตลาดทรัพย์สินเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้งดการบังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19128/2555

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ย่อมตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 เพื่อให้การบังคับคดีเสร็จไปเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องคดีค้างพิจารณาที่ศาลจำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 44 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีได้ แม้การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ ของผู้ร้อง อาจเป็นไปเพื่อใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งตกทอดแก่ตนในฐานะทายาทก็ตาม แต่การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะในชั้นบังคับคดีนั้น จำต้องได้ความว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายเกิดขึ้นในชั้นบังคับคดีเสียก่อน เมื่อคำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 อย่างไร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 ลำพังเพียงเหตุว่าโจทก์ไม่บังคับคดีภายในสิบปี หาก่อให้เกิดสิทธิในการรับมรดกความเพื่อต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้ไม่ ทั้งการบังคับคดีภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็เป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจผู้ร้องที่จะร้องขอให้การบังคับคดีสิ้นผลเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาสิบปีได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18532/2555

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยนำค่าเสียหายที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษามาวางศาลนั้น มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ให้จำเลยนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาล การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษซึ่งเป็นเพียงหลักประกันมาวาง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 คำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยจึงเป็นอันยกไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษมาวางต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นั้น พอถือได้ว่าเป็นการขอวางหลักประกันเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้แม้จะไม่ได้ขอทุเลาการบังคับก็ตาม ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะรับหลักประกันที่จำเลยนำมาวางไว้พิจารณาว่าพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดีหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12619/2555

แม้ผู้รับจำนองจะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการบังคับคดี แต่ผู้รับจำนองเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์หรือเจ้าหนี้รายอื่น ผู้รับจำนองจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3) ดังนั้นแม้โจทก์จะยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของดการบังคับคดีโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 แล้ว แต่เมื่อผู้รับจำนองยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ยินยอมให้งดการบังคับคดี การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ต่อไปโดยไม่งดการบังคับคดีตามคำแถลงของโจทก์ จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11462/2555

เดิมโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 70,000 บาท และรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะมีอายุครบ 25 ปี บริบูรณ์ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้วไม่ส่งอีก โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 6,500 บาท เมื่อเงินเดือนจำเลยเพิ่มขึ้นโจทก์ขอให้อายัดเพิ่มเป็นเดือนละ 8,000 บาท ต่อมาจำเลยจึงยื่นคำแถลงต่อศาลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคต่อมน้ำเหลือง ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะและมีงานทำแล้ว ขอให้งดการบังคับคดี โจทก์จำเลยจึงตกลงกันไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบตามสัญญาเดิม และเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยตามข้อตกลงใหม่จนกระทั่งบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุครบ 25 ปีแล้ว โจทก์จะอ้างว่าข้อตกลงใหม่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิม ขอให้บังคับคดีตามข้อตกลงเดิมในสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ เพราะโจทก์สมัครใจยินยอมตกลงกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูกับจำเลยในอัตราใหม่ซึ่งอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้จึงไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ไม่ใช่กรณีที่ศาลมีคำสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงค่าอุปการะเลี้ยงดูไปตามพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ให้และผู้รับก็มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10877/2554

คดีนี้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทของจำเลยเนื่องจากเดิมศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนั้น การที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาจึงเป็นการกระทำโดยชอบ แม้ต่อมาการยึดที่ดินพิพาทต้องถูกเพิกถอนไปเนื่องจากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้วให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ นั้นเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิได้เกิดจากข้อบกพร่องของโจทก์ในการบังคับคดี อย่างไรก็ตามเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว โจทก์จึงไม่อาจบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยต่อไปได้ เพียงแต่การบังคับคดีที่โจทก์ได้ดำเนินการผ่านเจ้าพนักงานบังคับคดีมาแล้ว ถือได้ว่ามีเหตุสมควรและ มีความสุจริตในการบังคับคดี จึงไม่สมควรที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายจากผลของการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำร้องของจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2554

ข้อกฎหมายที่จะขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ได้นั้น จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่สามารถอุทธรณ์และฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 กฎหมายบัญญัติให้คำสั่งเป็นที่สุดไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงตามวรรคสามของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จำเลยทั้งสองจะขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" และมาตรา 211 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ดังนี้แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมหาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยฎีกาว่า ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 มาตรา 3 บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264, 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยล้วนแต่อ้างว่าการตีความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากยังไม่มีการบังคับคดีและจำเลยมิได้ยื่นฟ้องโจทก์ เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 293 ไม่เป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการตีความที่คับแคบขัดต่อพระราชดำริการตีความและการใช้กฎหมายที่ประสงค์จะให้ตีความอย่างอะลุ่มอล่วย ให้เกิดความสุขในบ้านเมือง ทั้งการอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราต่างๆ ดังกล่าวอย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่กระทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไร ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดีเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 โดยมาตรา 293 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะของดการบังคับคดีโดยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และแม้จะได้ความตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะให้งดการบังคับคดีหรือไม่ เมื่อกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ยกคำร้องของจำเลย คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 แม้ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะได้ยกเลิกและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10209/2553

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น มาตรา 275 บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดีให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี และมาตรา 276 ก็บัญญัติไว้เพียงว่าถ้าศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ทันที ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องส่งคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทุกคนก่อน ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีได้ และเมื่อพิจารณาคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีข้อความกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี รวมถึงวิธีการบังคับคดี และได้ระบุไว้แล้วว่า "จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ประการใด" อันแสดงว่าในขณะที่โจทก์ขอออกหมายบังคับคดียังมีหนี้ค้างชำระอยู่เต็มจำนวนตามคำพิพากษา ถือได้ว่าคำขอของโจทก์ได้ระบุจำนวนหนี้ที่ยังมิได้ชำระตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (2) แล้ว คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่ให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย


การขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีและคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ว่า ขณะที่ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้ามา จึงถือได้ว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่จะมีคำสั่งว่าสมควรให้งดการบังคับคดีหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งยกคำร้องฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่งจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7282/2553

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว และได้ออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอ้างว่าจำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง ขอให้ศาลชั้นต้นอย่าเพิ่งออกหมายบังคับคดี ถือได้ว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยังไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 และตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก็อ้างว่าคำร้องของจำเลยดังกล่าวต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคสาม บัญญัติว่า คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะต้องพิพากษายกอุทธรณ์เสีย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กลับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการไม่ชอบและจำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2552

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย กล่าวคือมิได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หรือให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่สุจริต สมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อทรัพย์กดราคาและกระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นการร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง หากผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินหรือหาประกันต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนำเงินมาวางประกัน 50,000 บาท ผู้ร้องทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคท้าย ดังนั้น ที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์ จำเลยที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ และจำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงมิใช่การยื่นคำร้องโดยไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7232/2552

คำร้องขอออกหมายบังคับคดีของจำเลยทั้งสองระบุว่า มีบุคคลภายนอกนำเสาปูนมาปักหน้าประตูรั้วเหล็กทำให้ไม่อาจนำรถยนต์ผ่านเข้าออกทางจำเป็นได้ ไม่ได้ระบุว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือผิดข้อตกลงที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา การที่บุคคลภายนอกเป็นผู้นำเสาปูนมาปักหน้าประตูรั้วเหล็กก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงยังไม่มีเหตุออกหมายบังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2552

ป.วิ.พ.มิได้บัญญัติว่าคำร้องของจำเลยที่ขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคำร้องที่ทำได้แต่ฝ่ายเดียว ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้าน โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนดการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาและงดการบังคับคดีไปเลยทีเดียว เป็นการก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) อันเป็นบทกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียตามมาตรา 27


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10505/2551

ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยจะผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายงวดรวม 7 งวด ผิดนัดงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ ตกลงชำระงวดแรกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2547 แต่จำเลยนำเงินมาวางศาลชำระหนี้ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 ช้าไปเพียง 2 วันทำการ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ตามที่โจทก์ยื่นคำขอในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 19 มีนาคม 2547 กรณีถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจกระทำได้ เพราะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจแห่งดุลพินิจของศาลชั้นต้น ทั้งในงวดต่อๆ มา เดือนสิงหาคม 2547 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เดือนสิงหาคม 2548 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เดือนสิงหาคม 2549 และเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จำเลยชำระตรงตามนัดและโจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมระงับสิ้นไป จึงไม่มีเหตุต้องออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551

ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวันนัดสืบพยาน แต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าวกับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วยเช่นกัน


คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ให้ต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา หากโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนจริงโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดข้อตกลงชำระหนี้ แต่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นอันระงับ ให้งดการบังคับคดี และบังคับให้จำเลยแจ้งถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งผูกพันโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551

คดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุในคำร้องและนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวันนัดสืบพยาน โดยจำเลยให้ ส. พี่ชายจำเลยเป็นผู้มารับรถยนต์ไปแต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าวกับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ให้ต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ดังนั้น หากโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนจริง โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดข้อตกลงชำระหนี้ แต่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นอันระงับให้งดการบังคับคดีและบังคับให้จำเลยแจ้งถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2551

การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 นั้น คู่ความฝ่ายใดในคดีจะร้องขอก็ได้ แต่จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าสมควรตั้งผู้จัดการทรัพย์หรือการประกอบกิจการตามที่จำเลยที่ 3 ร้องขอแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 หรือไม่ ป.วิ.พ. มาตรา 307 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลมีคำสั่งในกรณีดังกล่าว ซึ่งมุ่งที่จะคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้มีโอกาสชำระหนี้ โดยไม่จำต้องขายทรัพย์สินอันสามารถทำรายได้ให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไป การที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอตั้งผู้จัดการทรัพย์พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อบรรเทาความเสียหาย จึงเป็นคำขอเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจสั่งคำร้องขอดังกล่าวได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3791/2551

การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองครั้งที่ 9 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2545 ไว้ก่อนทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นกรณีที่โจทก์ของดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3)(เดิม) ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตาม การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำแถลงของโจทก์ดังกล่าวแล้วมีคำสั่งให้ยกคำแถลงดังกล่าวโดยไม่แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ จากนั้นดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อไป ถือว่าได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2551

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดไว้ชั่งคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ มาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 63/2548 แล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาโดยอ้างเหตุผลในข้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ว่า ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดต่อ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขอให้มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบไว้จนกว่าคดีหลักจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1851/2551

จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีอันเป็นกระบวนการในชั้นบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อมานั้น แม้การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทำขึ้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันทำให้คำ พิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกกลับ แก้หรือถูกยกไปด้วย อีกทั้งกรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนจากการยื่น อุทธรณ์เพราะหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดียังคงดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยได้ตามคำพิพากษาศาล ชั้นต้น ดังนั้น การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยคดีนี้จึงไม่จำต้องนำเงินที่ต้องชำระ ตามคำพิพากษาหรือหาประกันมาวางไว้ต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันมา วางไว้ต่อศาลและศาลอุทธรณ์อาศัยเหตุที่จำเลยไม่นำเงินส่วนที่ขาดหรือหาประกันมาวางเพิ่มต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดแล้วมีคำสั่งว่าจำเลยทิ้งคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเป็นกระบวนพิจารณาและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2551

คำสั่งของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 ที่เป็นที่สุด มิได้หมายความเฉพาะคำสั่งที่เกิดจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่มีการกล่าว อ้างในคำร้องขอให้งดการบังคับคดีเท่านั้น แต่รวมถึงคำสั่งที่เกิดจากการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยฟ้องโจทก์เป็นกรณีเดียวกันหาใช่ฟ้องเรื่องอื่นตามมาตรา 293 นั้น ถือได้ว่าเป็นการสั่งตามมาตรา 293 จึงเป็นที่สุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550

บ้านของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดปลูกสร้างอย่างแน่นหนาถาวรบนที่ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมถูกห้ามโอนด้วย แม้โจทก์จะอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ประสงค์จะยึดบ้านพิพาทอย่างสังหาริมทรัพย์ โดยในการขายทอดตลาดผู้ที่ซื้อทรัพย์จะต้องรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินไปเอง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้วเสีย ก่อน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2550

จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชำระเงินมัดจำค่าที่ดินแก่จำเลย แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีแพ่งซึ่งผู้ร้อง ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะเหตุเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นอีกคดี หนึ่งจะถึงที่สุด ศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ตามขอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคท้าย แต่คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจึงมีสิทธิเข้าจัดการกับสิทธิ เรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องดังกล่าวได้ตามมาตรา 310 ทวิ ประกอบด้วยมาตรา 311 แม้ผู้ร้องจะได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งซึ่งมี มูลมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรายเดียวกัน และสามารถนำหนี้ทั้งสองคดีมาหักกลบลบกันได้ โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยได้เพราะมาตรา 311 วรรคสาม บัญญัติว่า คำสั่งอายัดนั้น อาจออกให้ได้ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือ ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2550

กรณีที่จะงดการบังคับคดีได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 292 และ 293 แห่ง ป.วิ.พ. แต่ตามคำร้องของจำเลยหาได้อ้างเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลงดการ บังคับดคีไม่ กลับอ้างวิกฤติเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจของโลกเป็นเหตุที่อ้างว่าตนไม่ต้อง รับผิดชำระหนี้ และของดการบังคับคดีอ้างว่าตนยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่ โดยอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 205 และ 219 อันเป็นกฎหมายในส่วนสารบัญญัติซึ่งไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการงดการบังคับคดี ไว้ จึงไม่มีเหตุที่จะงดการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2547

ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชนชนฯ มาตรา 10 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำ ผิดตามมาตรา 4 หรือ 5 ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลายได้ เป็นการให้อำนาจฟ้องได้ในขณะที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดเท่า นั้น ไม่ต้องรอให้ฟ้องคดีอาญาเป็นจำเลยต่อศาลก่อนและไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาถึง ที่สุดก่อนว่าผู้กู้ยืมกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็ได้ เพราะความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้องการให้กฎหมายมีสภาพบังคับโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่ร้ายแรงมากขึ้นจากความเนิ่นช้าในการ บังคับใช้กฎหมายรัฐจึงเลือกใช้ช่องทางให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่า ด้วยการล้มละลายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าว เพราะกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้นจะต้องดำเนินการเป็นการด่วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 13 และในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติต่อไปว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงตามวรรคหนึ่งให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของ ลูกหนี้เด็ดขาด มิใช่ต้องได้ความจริงว่าลูกหนี้กระทำผิดตามคำพิพากษาถึงที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้อำนาจเข้าจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลย ทั้งสิบต่อมาตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ จนศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบล้มละลายและเข้าสู่ขั้นตอนการจำหน่าย ทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 123 แล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่าย ทรัพย์สินของลูกหนี้และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายจนสิ้น สุด ไม่อาจขอทุเลาการบังคับอย่างคดีแพ่งธรรมดาและไม่อาจขอให้งดหรือระงับการขาย ทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและอายัดไว้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2547

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามเช็ครวม 3 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 911,959.38 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 860,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 911,959.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 860,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท โจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์และจำเลยมิได้ขอให้พิจารณาใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จนถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 911,959.38 บาท ที่จำเลยยื่นคำร้องว่าก่อนฟ้องจำเลยชำระหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้แก่โจทก์ไปแล้ว เป็นเงิน 200,000 บาท และเป็นเช็คอีก 1 ฉบับ เป็นเงิน 200,000 บาท คงค้างชำระหนี้โจทก์เพียง 487,400 บาท เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยไม่อาจกล่าวอ้างในชั้นบังคับคดีได้ เพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลย ต้องถือว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นหนี้ที่ถูกต้องแท้จริง แม้ภายหลังจากที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยแล้ว โจทก์ได้รับชำระหนี้จากภริยาจำเลยไปบ้างแล้วเป็นเงิน 440,000 บาท แต่ก็ยังเป็นจำนวนไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2546

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์แม้ศาล จะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชนะคดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฐานเบิกความเท็จ ศาลก็ลงโทษผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทางอาญาเท่านั้น คำพิพากษาคดีอาญาหามีผลทำให้คำพิพากษาคดีแพ่งซึ่งถึงที่สุดไปแล้วเปลี่ยน แปลงไปได้ไม่ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 ฟ้องผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นคดีอาญาฐานเบิกความเท็จ จึงหาเป็นเหตุเพียงพอให้งดการบังคับคดีแพ่งไว้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2546

ที่ดินโจทก์ทั้งสี่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินใน บริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2535 เพื่อสร้างทางพิเศษ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและนำไปวางโดยฝาก ธนาคารออมสินให้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว ถือว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนับแต่วันที่วางเงิน แม้ภายหลังต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2538 ออกใช้บังคับ และคณะรัฐมนตรีมีมติปรับเปลี่ยนแนวเขตทางพิเศษใหม่ อันเป็นเหตุให้เนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนลดน้อยลงก็ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินที่ ไม่อยู่ในแนวเขตทางพิเศษใหม่ดังกล่าวซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดย สมบูรณ์แล้วกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่เจ้าของที่ดินเดิมอีก และไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิหรืออำนาจจำเลยคืนที่ดินที่เวนคืนไปแล้วไม่ได้ใช้ ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสี่ และเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จ่ายไปคืนจากโจทก์ทั้งสี่หรือขอหักกลบกันกับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาตรา 293 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3896/2546

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศขับไล่ผู้ร้องให้ออกไปจากที่ดินแต่ผู้ ร้องคัดค้านว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย หากแต่เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านที่โจทก์กับจำเลยได้ร่วมกันจัดสรรขึ้น แต่โจทก์กับจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินและบ้านให้แก่ผู้ร้อง โดยโจทก์แกล้งฟ้องขับไล่จำเลยต่อศาล หากเป็นความจริง การที่จะให้บังคับคดีโดยให้ผู้ร้องทุกรายออกไปจากที่ดิน อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องได้ แม้โจทก์จะมีสิทธิบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาก็ตาม แต่การที่จะงดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) ก็เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร โดยไม่ต้องไต่สวนให้ได้ความจริงก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3807/2546

จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายเดือนซึ่งผู้แทนโจทก์ยินยอม ตามเงื่อนไขและได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการยึดไว้เพื่อรอฟังผลการชำระ หนี้ภายนอกคงมีความหมายเพียงว่า ถ้าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ตามเงื่อนไขที่เสนอโดยไม่ผิดนัด โจทก์จะยังไม่ใช้สิทธิบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง แต่มิได้หมายความว่าสิทธิในการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองจะหมดสิ้นไป ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะไม่มีข้อ ความใดที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้น ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน หลังจากเจ้าพนักงานบังคบคดีงดการบังคับคดีไว้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ เพียง 2 ครั้ง ในแต่ละครั้งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโจทก์จึงชอบที่จะดำเนินการบังคบคดีแก่ จำเลยทั้งสองต่อไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2544

แม้คำร้องของจำเลยจะระบุว่าขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 292(2) แต่เนื้อหาในคำร้องเป็นการขอให้งดการบังคับคดีเพื่อขอหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 293 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดี เรื่องอื่นในศาลเดียวกัน คดีนี้จำเลยฟ้องโจทก์ที่ศาลอื่นจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะหักกลบลบหนี้ได้ และเมื่อศาลมีคำสั่งตามคำร้องดังกล่าวไม่ว่าจะสั่งให้มีผลในทางใด คำสั่งของศาลย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสาม จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2544

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 อันเป็นเวลาภายหลังจากบทบัญญัติมาตรา 293 วรรคสาม ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้แล้ว (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 วรรคสาม ประกอบมาตรา 223 และมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9321/2542

ผู้ที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีได้ จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280


ขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้ร้องเป็นเพียงคู่ความที่ฟ้องร้องกันอยู่กับโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นอีก คดีหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องจึงมิใช่บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5397/2542

จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมที่จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด แต่ปรากฏว่าก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดอีกคดีหนึ่งให้จำเลยคืนที่ดินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องยังได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลพิพากษาว่าการ จดทะเบียน จำนองที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะซึ่งคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา หากคดีดังกล่าวศาลพิพากษา ให้ผู้ร้องชนะคดี ย่อมทำให้ผู้ร้องยากที่จะบังคับคดีได้ จึงถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280(2) แล้ว การงด การบังคับคดีไว้ชั่วคราวคงทำให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ล่าช้าไปเท่านั้น แต่โจทก์ก็สามารถ บังคับเอาดอกเบี้ยได้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่งดการบังคับคดีไว้อาจ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายได้ จึงสมควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ทรัพย์จำนอง ไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลคำพิพากษา ในคดีที่ผู้ร้องฟ้องโจทก์และจำเลยที่ให้การจดทะเบียนจำนองเป็นโมฆะเสียก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2175/2542

การขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 จะต้องมีการบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา อยู่ก่อนแล้วในขณะที่ขอให้ งดการบังคับคดี เมื่อคดีนี้ยังไม่มีการบังคับคดีจำเลยจะขอให้งดการบังคับคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2541

ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาทพร้อมกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์คดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายแพ้คดีให้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาคือออก จากบ้านและที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายชนะคดีก็ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา ได้ จำเลยจะอาศัยเหตุที่จำเลยฟ้องโจทก์ขอแสดงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยอ้าง ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุมิใช่ที่ดินของโจทก์เป็นคดีขึ้นมาใหม่ เพื่อขอให้งดการบังคับคดีนี้ไว้ก่อนหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7481/2538

แม้เป็นชั้นบังคับคดีแต่เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ อันอาจให้ผู้อื่นเช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ1,000บาทไม่มีการต่อสู้ เรื่องกรรมสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น ถึงพฤติการณ์แห่งคดีว่ามีเหตุให้งดการบังคับคดีไว้ได้หรือไม่เพียงใดจึงเป็น อุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคสองจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงการที่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงไม่ชอบถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัย ในคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วจำเลยไม่มีสิทธิฎีกา การออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอหรือให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาตรา293หรือไม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจะต้องทำการไต่สวนเสียก่อน ดังนั้นแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา21(4)จะให้อำนาจศาลทำการไต่ สวนตามเห็นสมควรก่อนมีคำสั่งได้แต่กรณีตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 ได้จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะทำการไต่สวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2209/2537

ศาลบังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการบังคับยึดทรัพย์สินของจำเลยมาขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สิน ของจำเลยโดยวิธีอื่น แต่ในคำร้องของจำเลยปรากฎว่าคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้โจทก์ชำระ หนี้เงินวัตถุแห่งหนี้จึงเป็นคนละอย่างต่างกัน ไม่อาจที่จะหักกลบหนี้กันได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคแรกจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2534

เมื่อจำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นจะสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างการไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) ก็ได้และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งงดการบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ก็ต่อเมื่อศาลชั้นต้นได้ ส่งคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไปให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 294 แล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และมีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลงดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงาน บังคับคดีทราบ การยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231บัญญัติว่าการขอทุเลาการบังคับให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องที่จำเลยมีคำขอ มาในอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มีคำร้องขอทุเลาการบังคับที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้า พนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงชอบแล้ว ปัญหาว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปในราคาที่ต่ำเกินไป ทำให้จำเลยเสียหายนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิ ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย