Pages

การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด(ร้องขัดทรัพย์)

 มาตรา ๓๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๒๓ และมาตรา ๓๒๔ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย


มาตรา ๓๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๕ บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด หรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้ หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น


ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓๒ ผู้กล่าวอ้างอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๓๓๙ หรือก่อนที่บัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา ๓๔๐ แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินจำนวนสุทธิที่ได้จากการขายนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อย


เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอไว้แล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ถ้าทรัพย์สินที่ยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓๒ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด และให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา


โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด


ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6445/2562

จำเลยที่ 4 ได้รับการยกให้จากบิดา จากนั้นเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและแบ่งปันที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท เป็นการอ้างว่า ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียน ย่อมต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง


ผู้ร้องไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับจำนองไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันกับโจทก์ได้ และผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4966/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนให้ยกคำร้อง และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลชั้นต้นไปแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าว จึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องนั้นเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ดังนั้น ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องที่ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นร้องขัดทรัพย์นี้เป็นประการใด ก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องไปแล้วได้ ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2957/2562

คดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 แต่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดินพิพาทให้แก่ อ. ผู้ซื้อทรัพย์ไปตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2550 เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสอง บัญญัติว่า การบังคับคดีนั้นให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ (เดิม) ได้กำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอเฉลี่ยไว้โดยให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ฉะนั้น การบังคับคดีในคดีนี้จึงสำเร็จบริบูรณ์ไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคหนึ่งและวรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7787/2560

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องขอขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ให้ผู้ร้องขัดทรัพย์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์จำนวน 3,000 บาท เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์ฎีกา ผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียม (ค่าทนายความดังกล่าว) ซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางศาลพร้อมกับฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 และประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณา คดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่นำเงินค่าทนายความ 3,000 บาท มาวางศาลพร้อมฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของผู้ร้องขัดทรัพย์มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2560

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของผู้ร้องเนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์มีต่อจำเลยระงับไปแล้ว เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อโจทก์อีกต่อไปและการบังคับคดีโดยการยึดที่ดินของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินที่ยึดเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและโจทก์ก็ตาม แต่หากหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยเป็นหนี้ที่ระงับไปแล้ว การยึดที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายจากเหตุดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดโดยอ้างว่าทรัพย์สินที่ยึดไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการยึดทรัพย์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2026/2560

แม้ผู้ร้องขัดทรัพย์จะมีชื่อเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์พิพาท แต่ทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์มีภาระในการนำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่ารถยนต์พิพาทเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2559

จ. เคยยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างเหตุว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. โดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. บิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่ จ. นำสืบฟังไม่ได้ว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่า จ. มิใช่เจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือ จ. และโจทก์รวมทั้งผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ จ. ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขัดทรัพย์คดีนี้อ้างเหตุว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนอีกย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้


ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558

ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14118/2558

โจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 อันเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินเดิมอันถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ได้สิทธิตามสัญญาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคือที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 ในคดีที่จำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ไม่อาจยึดนำที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวออกขายทอดตลาดในคดีดังกล่าวได้เท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิในฐานะผู้รับจำนองของจำเลยที่ 3 ที่มีต่อทรัพย์จำนอง ซึ่งสิทธิตามสัญญาจำนองจะระงับไปก็ต่อเมื่อมีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น อันได้แก่ เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น เมื่อถอนจำนอง เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาล อันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด เมื่อเหตุที่โจทก์อ้างไม่ใช่เหตุตามบทบัญญัติที่กล่าว สัญญาจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 จึงยังไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9863/2558

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่คดีนี้เป็นเรื่องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและผู้คัดค้านฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องพร้อมบริวารและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุดแล้ว มิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องใช้เงินแก่ผู้คัดค้านและต้องนำทรัพย์สินของผู้คัดค้านออกขายทอดตลาด จึงไม่อาจนำบทบัญญัติ มาตรา 288 มาบังคับได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอโดยไม่มีการไต่สวนก่อนจึงชอบแล้ว แต่ฎีกาของผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่ปรากฏว่าได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9835/2558

คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดหรือคำร้องขัดทรัพย์เป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขัดทรัพย์แล้วมีคำสั่งว่า กรรมสิทธิ์ในห้องชุดเป็นของจำเลย ไม่ได้ตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด ยกคำร้องขอ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) มีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้แก่ผู้ร้องได้


ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแล้ว แทนที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่ผู้ร้องกลับเลือกที่จะยื่นคำร้องขัดทรัพย์ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง อันเป็นความผิดของผู้ร้องเอง การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้คืนเงินค่าธรรมเนียมศาลครั้งแรกแก่ผู้ร้องนั้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว โดยมิได้ยกเหตุว่า ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 168 อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5687/2558

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แต่เป็นของผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะสอบสวนให้ได้ความเสียก่อน เพื่อพิจารณาว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดในคดีล้มละลายหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไป การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด่วนสั่งยกคำร้องโดยปฏิเสธว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจสั่งถอนการยึด จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนและมีคำสั่งไม่ให้ถอนการยึดตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 158 บัญญัติไว้


เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา จึงมิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอเพื่อคัดค้านการยึดทรัพย์ต่อศาลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 158 ที่บัญญัติให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเหมือนอย่างคดีธรรมดา ซึ่งผู้ร้องขอต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่ขอให้ถอนการยึดนั้น แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลตาม มาตรา 146 ซึ่งตามตารางท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 วรรคท้าย มิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลหรือเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องต่อศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2558

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมผู้ร้องเคยสมรสกับจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อปี 2535 ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 และได้ตกลงสัญญาในการหย่าให้ที่ดินพิพาทตกแก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยจำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง โจทก์ให้การต่อสู้คดี โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้อง ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนหย่ากันและได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 84 (3) เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 ต่อมาปี 2534 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแม้จะใส่ชื่อผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวก็ตาม ที่ดินพิพาทก็เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) ซึ่งเมื่อทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 ผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวอยู่แล้ว แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของผู้ร้องนับแต่เวลาจดทะเบียนหย่า และเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 3 ใหม่ ในปี 2549 จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ไม่ได้ ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4061/2558

แม้ผู้ร้องเป็นผู้ปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 7/170 บนที่ดินโฉนดเลขที่ 21664 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ทำหนังสือยกที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ร้องทั้งหมดตามโฉนดที่ดินเลขที่ 21664 พร้อมตึกแถวสามชั้นเลขที่ 7/170 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนี้เมื่อตึกแถว 3 ชั้น เลขที่ 7/170 ยังปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 21664 ตึกแถวเลขที่ 7/170 ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 21664 การที่ผู้ร้องจะก่อตั้งกรรมสิทธิ์ในตึกแถวเลขที่ 7/170 แยกออกต่างหากจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21664 จะทำได้ก็โดยการก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 เมื่อผู้ร้องไม่เคยจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีผลทำให้ตึกแถวเลขที่ 7/170 นั้นมิใช่เป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 21664 ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ตึกแถวเลขที่ 7/170 แยกต่างหากจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21664 ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21664 พร้อมตึกแถวเลขที่ 7/170 ออกขายทอดตลาดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394/2558

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องวางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง (1) เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสาม ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249


การที่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือไม่ เมื่อผลของคำสั่งจำหน่ายคดีทำให้คดีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องเสร็จไปจากศาล คดีจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบอีกต่อไป ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องดังกล่าวเสียได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด คำสั่งให้จำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18368/2557

แม้ชั้นบังคับคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง โดยอ้างเหตุแห่งการนั้นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ก็ตาม ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ฟ้องจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ต่อศาลแขวงนครราชสีมาและศาลมีคำพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) แล้ว ถือว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) กับจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) จะทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดไม่มีประเด็นพิจารณาในคดีก่อน ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะและการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10266/2557

ผู้ร้องซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารชุดแต่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าการก่อสร้างอาคารต้องเว้นระยะถอยร่นจากถนนที่ติดที่ดินโครงการของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงหลีกเลี่ยงโดยวิธีแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ติดถนนเป็น 9 แปลง ขายให้บุคคลภายนอก 3 แปลง ส่วนอีก 6 แปลง ให้ ส. ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง แล้วโอนให้การไฟฟ้านครหลวง 3 แปลง โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โครงการของผู้ร้อง โดยใต้ถุนอาคารของสถานีไฟฟ้าย่อยยังจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมแก่โครงการของผู้ร้อง มีการใช้ที่ดินพิพาท 2 แปลง ทำเป็นทางเข้าออกโครงการ และใช้ที่ดินพิพาทอีก 1 แปลง เป็นระยะร่นจากแนวรั้วโรงพยาบาลอันเป็นที่ดินข้างเคียงโครงการ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่โครงการของผู้ร้องทั้งสิ้น เมื่อ ส. โอนที่ดินพิพาทขายให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ก็ปรากฏว่า มีการแจ้งการปลอดจำนองและการค้ำประกันให้หลุดพ้นจากความผูกพันในหนี้ของผู้ร้อง จำเลยที่ 3 ก็ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นประกันหนี้ของผู้ร้องเช่นเดิม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 3 แปลง แทนผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของผู้ร้องทำการออกนอกหน้านำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงไปทำประโยชน์ในการดำเนินกิจการโครงการของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อ จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวแทน และโจทก์ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่โจทก์นำยึดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7677/2557

ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. นั้น ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556

แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2555

ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของต้นยางพาราที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ การที่ผู้ร้องฎีกาว่า ต้นยางพาราพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องถูกห้ามยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ประกอบ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 25 จึงเป็นฎีกานอกคำร้องและนอกประเด็น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2555

ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านเลขที่ 7/1 บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยหลังจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว แต่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินรวมถึงบ้านเลขที่ 7/1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องด้วย จึงเป็นการนำยึดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง บ้านเลขที่ 7/1 ย่อมเป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของจำเลยหามีสิทธิบังคับชำระหนี้ไม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2554

ผู้ร้องซื้อรถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยผู้ร้องรวบรวมเงินมาซื้อโดยได้นำเงินบางส่วนที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเงินกู้ที่ได้มาเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลย ย่อมถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 หาใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการเปลี่ยนสินส่วนตัวของผู้ร้องมาเป็นสินสมรสดังเช่นที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อรถยนต์คันพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย และตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคืนแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11417/2553

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัดจำนวน 15,875,688.13 บาท ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วสั่งว่า ผู้ร้องไม่อาจร้องขอเพิกถอนให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัด ไม่รับคำร้อง เป็นการวินิจฉัยอำนาจในการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) แล้ว ซึ่งมีผลเป็นการพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ก่อน กรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อปรากฏว่าในการสั่งคำร้องขอของศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาคนเดียวตรวจคำร้องขอแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9508/2553

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. เพราะก่อนที่ ว. จะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง โดยสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องตามคำร้องของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องร้องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตามส่วนนั้น เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยศาลกำหนดไว้ว่าหากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน อันเป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้มีสิทธิร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 เข้ามาในชั้นบังคับคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9508/2553

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. เพราะก่อนที่ ว. จะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง โดยสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องตามคำร้องของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องร้องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตาม มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27


โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตามส่วน เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7320/2553

ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการยึดทรัพย์ประกอบบัญชียึดทรัพย์ว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 8418 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ส. โดยแสดงรายละเอียดสภาพของบ้านว่าเป็นบ้านตึกชั้นเดียว กระเบื้องซีแพค ผนังก่ออิฐฉาบปูนขอบเรียบ มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ด้านหลังต่อเติมเป็นห้องครัว ด้านข้างทำเป็นที่จอดรถ ไม่ปรากฏเลขทะเบียน แต่โจทก์ยืนยันว่าเป็นบ้านเลขที่ 142 และเป็นของจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยระบุสภาพของบ้านและแผนที่แสดงที่ตั้งของบ้านไว้ชัดเจน เป็นที่เข้าใจได้ว่าบ้านที่จะขายทอดตลาดเป็นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้ บ้านที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดกับบ้านที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นบ้านหลังเดียวกัน มิใช่เป็นการขายทอดตลาดบ้านหลังที่มิได้ยึดแต่ประการใด แม้เลขที่ของบ้านจะไม่ตรงกัน ก็เป็นเพียงการระบุเลขที่บ้านผิดไป มิได้มีผลให้การขายทอดตลาดไม่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ร้องที่ 1 ก็ชอบที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อการขายทอดตลาดบ้านพิพาทเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องที่ 1 จะขอปล่อยทรัพย์นั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7318/2553

ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดีครั้งนี้ อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์นั้นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด และการจะให้พนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องได้นั้นตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแปลงที่ 1 ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง


ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดที่ดินจำนวน 2 แปลง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1 ว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินแปลงที่ 1 ไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่จะได้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาดโดยมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินแปลงที่ 2 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์มาด้วยว่าเป็นอย่างไร อันเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 246 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว และเมื่อคำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2553

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์และยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถึงที่สุดแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีความเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลออกไปอีกนั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อไปอีก และเมื่อผู้ร้องไม่วางเงินค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ศาลก็ชอบที่จะไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2553

แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2553

การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ต่อศาลฎีกากระทำได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) - (5) เท่านั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อ้างว่าเป็นของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 มิใช่กรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว การอุทธรณ์หรือฎีกาต้องเป็นไปตามลำดับชั้นของศาล ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้อง แต่เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานมาเสร็จสิ้น พยานหลักฐานเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2553

ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับ ว. นอกจากจำเลยกับ ว. จะเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีผู้ร้องและบุตรของจำเลยและ ว. อีก 3 คน เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 การที่ผู้ร้องเข้าถือเอาประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำให้การได้มาดังกล่าวย่อมไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บ้านพิพาทตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์และผู้ร้องได้เข้าครอบครองบ้านพิพาทแล้วเพียงแต่ผู้ร้องยังมิได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้จะได้ความว่าจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ก็ตามแต่จำเลยเป็นมารดาของผู้ร้องจึงย่อมอยู่อาศัยกับบุตรของตนได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวสิ้นไปแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านพิพาทตกเป็นสิทธิของผู้ร้องร่วมกับบุตรของจำเลยอีก 3 คน และในคำร้องขัดทรัพย์ผู้ร้องได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย การยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในกรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ในกรณีเช่นนี้ ผู้ร้องจึงสามารถร้องขอให้เพิกถอนการยึดได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องดังกล่าวไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3862/2552

แม้ที่พิพาทมีชื่อของจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2513 ผู้ร้องได้ครอบครองตลอดมา โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่พิพาทเลย การที่จำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินซึ่งได้มาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวแล้ว เห็นได้ชัดว่า การขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทของจำเลยที่ 2 มิได้กระทำไปในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ด้วยแล้ว พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานที่ว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นยันแก่โจทก์เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาผู้นำยึดได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่พิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2552

เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เลิกกัน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูก เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อนเอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง และผู้ร้องปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมหมดไป ทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่รถยนต์ ของผู้ร้องในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันก่อนดัง ที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเพื่อชำระให้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 288 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9362/2551

การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือ ศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาล จังหวัดพิษณุโลก การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก จึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8856/2551

คดีเดิมจำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยทั้งกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปจดทะเบียนโอนที่ดิน พิพาทให้ตนเอง โดยผู้ร้องไม่ยินยอมศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจและฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็น ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์เป็นของผู้ร้องอีกและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีเดิม ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2551

ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)


ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าว อ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า "เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน" เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอ ให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2551

ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ที่โจทก์นำยึดมิใช่สินสมรสของจำเลย แต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องได้รับมาจากบุพการี โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องด้วยจึงไม่มีอำนาจยึดที่ดินพิพาท ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของผู้ร้องแล้วว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึด นั้นมิใช่ของจำเลยหรือเป็นสินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง และมีคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาจากบุพการีโดยวิธีใดและเมื่อใด เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้หาจำต้องบรรยายมาในคำ ร้องไม่ คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม


ผู้ร้องรู้เห็นและยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันตัวผู้ ต้องหา เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันและศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันแต่ จำเลยไม่ชำระ โจทก์มีอำนาจยึดที่ดินพิพาทบังคับชำระหนี้ได้ไม่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรส หรือสินส่วนตัว ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวและจะใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อย ที่ดินพิพาทหาได้ไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2551

โจทก์นำยึดข้าวเปลือกโดยอ้างว่าเป็นของจำเลย และยื่นคำร้องขอให้นำออกขายทอดตลาดเนื่องจากเก็บไว้นานอาจเกิดความเสียหายได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์ที่ยึดและนำเงินเก็บรักษาไว้ เป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งตามมาตรา 288 วรรคสาม บัญญัติให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดข้าวเปลือก เท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตตามมาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นที่สุดแล้ว มิใช่คำร้องขอให้งดการบังคับคดีหรือคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ แม้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องฎีกาต่อไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2550

ป.พ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์ที่ยึดต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6197/2550

การที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคท้าย ให้แก่เจ้าพนักงานศาล มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว


เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 288 แม้ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่ได้ไปคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ได้ไปแจ้งอายัดต่อ เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อห้ามโอนที่ดินพิพาท ก็ไม่อาจถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ


การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วกลับนำที่ดิน พิพาทมาขายทอดตลาด โดยไม่รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นในเรื่องร้องขัดทรัพย์เสียก่อนซึ่ง ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับ คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง อันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5873/2550

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ผู้ไถ่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากก็ต่อเมื่อได้ชำระสินไถ่หรือวาง ทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้ว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองและรับสินไถ่ตามคำขอ บังคับของผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4870/2550

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องโดยได้รับการยกให้จากมารดาของผู้ร้อง แต่เนื่องจากสามีของผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวจึงใส่ชื่อจำเลยในหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทแทนผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์กรณีตามคำ ร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวถึงหากจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องซึ่ง เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการ ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สามีของโจทก์ได้ทราบเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าว ผู้ร้องจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของสามีของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ที่มีต่อจำเลยผู้เป็นตัวแทนและขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็น ตัวแทนของผู้ร้องได้ไม่ ตามป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของสามีย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด


ปัญหาว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550

ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับ พินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้ อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดใน พินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดย ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตาม นิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8698/2549

ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาครบถ้วนและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว คงเหลือแต่การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น ถือได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่ง ถึงสิทธิของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5390/2549

ผู้ร้องยื่นคำร้องขออ้างว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของผู้ร้องซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา การออกหมายบังคับและการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินกระบวนบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีและการขายทอดตลาด ดังนี้ ตามคำร้องขอของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงาน บังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการ บังคับคดีตามมาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และการจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดนั้น ตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3806/2549

ข้อตกลงที่โจทก์จำเลยกำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันระหว่างคู่สัญญากำหนดให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลง ตกเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ร้อง โดยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ทั้ง 22 รายการ ที่โจทก์นำยึดถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าจะต้องปฏิบัติตามแบบของนิติกรรมเสียก่อน จึงจะมีผลให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ร้อง ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเข้าทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าสถาบันบัณฑิตบริหาร ธุรกิจศศินทร์ และจำเลยโดยผู้ร้องแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ยอมรับทรัพย์สินตามที่ระบุใน บันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการซึ่งมีทรัพย์สินทั้ง 22 รายการที่โจทก์นำยึดรวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว และทรงไว้ซึ่งอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ที่จะใช้ยันได้ต่อบุคคลทั่วไป


จำเลยเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ร้อง และไม่มีข้อบังคับของผู้ร้องหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้ตัวแทนของผู้ ร้องเข้าเป็นกรรมการจำเลย จำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อยู่ในอาคารศศปาฐศาลาย่อมมีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ที่จะยินยอมให้โอน กรรมสิทธิ์ไปยังผู้ร้อง อันเป็นกรณีผูกพันตามบันทึกข้อตกลงและสัญญารับดำเนินการซึ่งจัดทำกันไว้ การที่ผู้ร้องใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินทั้ง 22 รายการ จากการยึดจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2549

คดีสืบเนื่องจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยบ้านพิพาทอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลยหรือของผู้ร้อง จึงตรงตามคำร้องขอ มิได้เป็นการคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย และเมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าบ้านพิพาทมิใช่ของผู้ร้อง ก็มีผลเท่ากับผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยบ้านพิพาทโดยไม่จำต้อง วินิจฉัยว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่อีก


ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยหรือ ไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งคดีมีทุนทรัพย์ที่ พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ก็ไม่มีผลทำให้ฎีกาของผู้ร้องกลับกลายเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2549

ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ เนื่องจากผู้ร้องมิได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับหนี้ของจำเลยทั้งสอง การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว จึงมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่ได้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด คดีนี้ได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวไปแล้วเมื่อวัน ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 200,000 บาท แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งล่วงเลยการเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาดไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5641/2548

ผู้ร้องอ้างเพียงว่า บ. บิดาผู้ร้องได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยและได้ชำระราคาครบถ้วน แล้วโดยบิดาผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจนกระทั่งบิดาผู้ร้องถึงแก่ความตายและผู้ ร้องได้ครอบครองต่อมาอีกเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ดังนี้ แม้หากข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้ร้องอ้าง ก็ไม่มีข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่ สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้ จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยัน โจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแก่ที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2548

การที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์มิใช่ผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จด ทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707/2548

คำสั่งของศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีกรณีร้องขัดทรัพย์เพราะเหตุที่ผู้ร้องไม่นำเงินมาวางต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 132 (2) โดยเฉพาะ มิใช่เป็นการไม่รับคำร้องขัดทรัพย์ไว้เสียทีเดียว ไม่เหมือนอย่างกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องหรือถอนฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งเรื่องค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบาง ส่วนตามที่เสียไว้ในเวลายื่นคำฟ้อง กรีนี้เป็นการจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็น สมควรมิใช่เป็นการบังคับให้ศาลต้องสั่งคืนค่า ธรรมเนียมศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6752/2547

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง โดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ร้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ขณะยื่นคำร้องขอกันส่วนผู้ร้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลบังคับให้จำเลยที่ 2 ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 คดีนี้เดิมโจทก์บังคับคดียึดที่ดินทั้งแปลงพร้อมกัน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนโดยอ้างว่าจะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะส่วนของ ตนตามคำพิพากษา มิได้อ้างว่าทรัพย์ที่ถูกยึดทั้งหมดไม่ใช่ของจำเลย จึงเป็นเรื่องร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 มิใช่ร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา 288 แม้ว่า ร. ขอกันส่วนที่ดินพร้อมบ้านส่วนของตนครึ่งหนึ่ง และผู้ร้องขอกันส่วนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทส่วนนี้จนไม่เหลือส่วนของจำเลยที่ 2 มีผลให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึดไม่อาจจะบังคับชำระหนี้เอา จากทรัพย์ที่ยึดและขายทอดตลาดได้ แต่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ธนาคาร อ. รับชำระหนี้จำนองเงินขายทอดตลาดได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น และให้เข้าสวมสิทธิเข้ายึดทรัพย์แทนโจทก์ได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะบังคับชำระหนี้เอาจากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไม่ได้ แต่เมื่อธนาคาร อ. มีอำนาจเข้าสวมสิทธิยึดทรัพย์แทนโจทก์ต่อไปได้ โดยเมื่อกันส่วนของ ร. แล้ว ธนาคาร อ. ก็มีสิทธิรับชำระหนี้จำนองจากเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดทรัพย์ในส่วนของ จำเลยที่ 2 ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องตามคำร้องตามคำพิพากษาก่อนเจ้าหนี้อื่น ได้ เมื่อมีเงินเหลือจึงกันเป็นส่วนของผู้ร้องต่อไปได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287