Pages

การบังคับคดีของคู่ความฝ่ายชนะคดี

ส่วนที่ ๓

การขอบังคับคดี

มาตรา ๒๗๔ ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้หรือได้ดำเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้


ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระหนี้เป็นงวด เป็นรายเดือน หรือเป็นรายปีหรือกำหนดให้ชำระหนี้อย่างใดในอนาคต ให้นับระยะเวลาสิบปีตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันที่หนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นอาจบังคับให้ชำระได้ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการให้ชำระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีอำนาจบังคับคดีตามความในหมวด ๒ การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด ๓ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป


มาตรา ๒๗๕ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้มีการบังคับคดี ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้บังคับคดีโดยระบุให้ชัดแจ้งซึ่ง

(๑) หนี้ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับ

(๒) วิธีการที่ขอให้ศาลบังคับคดีนั้น


ในระหว่างที่ศาลยังมิได้กำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีคำขอตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีเหตุจำเป็น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนไว้ก่อนก็ได้ และถ้าศาลเห็นสมควร จะมีคำสั่งอนุญาตโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอโดยพลันให้ศาลยกเลิกคำสั่งอนุญาตดังกล่าวได้ คำขอเช่นว่านี้อาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาลและถ้าศาลเห็นสมควรจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งอนุญาตนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด


ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามวรรคสองแล้ว คำสั่งนั้นยังคงมีผลต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล


ส่วนที่ ๔


การพิจารณาคำขอบังคับคดี


มาตรา ๒๗๖ เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้บังคับคดี ถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำบังคับแล้ว ทั้งระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว และคำขอได้ระบุข้อความไว้ครบถ้วน ให้ศาลกำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้และตามมาตรา ๒๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังต่อไปนี้


(๑) ถ้าการบังคับคดีต้องทำโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ในหมายนั้น


(๒) ถ้าการบังคับคดีอาจทำได้โดยไม่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการตามที่เห็นสมควรเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้


(๓) ถ้าเป็นการขอให้ศาลสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการนั้น


ในคดีมโนสาเร่ ก่อนออกหมายบังคับคดี หากศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นมาสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะออกหมายบังคับคดีหรือไม่ก็ได้


ในกรณีที่ผู้ขอบังคับคดีขอให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการบังคับคดี หากมีเหตุสงสัยว่าไม่สมควรบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดหรือมีเหตุสมควรอย่างอื่นเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกที่อาจได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายอันจะพึงเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินการบังคับคดีดังกล่าวถ้าผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอให้ดำเนินการบังคับคดีนั้นเสียส่วนเงินหรือหลักประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวางไว้ต่อไปจะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด


ในกรณีตามวรรคสาม ถ้าเกิดความเสียหายจากการบังคับคดีโดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอบังคับคดี ผู้ที่ได้รับความเสียหายอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการบังคับคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิมและเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ผู้ที่ได้รับความเสียหายอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560 - 5563/2562

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 45 (1) และ (2) เพื่อให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีบทนิยามหรือวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้วิจารณญาณตามพฤติการณ์ของข้อพิพาทและกาลสมัยของคุณค่าสังคม โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ บริการสาธารณะ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง มิใช่ผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นต้น ดังนั้น การที่จะนำหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาปรับใช้กับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายต้องพิจารณาลักษณะข้อพิพาทให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นรายกรณีไป


การที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคาร ท. มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างดังกล่าวโอนไปยังธนาคาร ท. แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามสัญญาอีกตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 หรือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. เท่านั้นเป็นเหตุให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่ระงับ นั้น ต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ในการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งปวง เมื่อทางปฏิบัติหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้ร้องยังคงเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านได้รับใบเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ร้องไม่ใช่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องและธนาคารดังกล่าวจะไปรับเช็คพร้อมกันเพื่อนำเข้าบัญชีของผู้ร้อง แล้วธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของผู้ร้องบางส่วนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารโดยจะคืนส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง กับผู้ร้องเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้คัดค้าน แสดงว่าหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้คัดค้านยังคงชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้ร้องมาโดยตลอดไม่เคยชำระให้แก่ธนาคาร ท. และธนาคารก็ไม่เคยทักท้วงไปยังผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง แล้วนำไปปรับใช้กับข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อกฎหมายแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. ซึ่งข้อพิพาทนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะเท่านั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย ศาลไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำอีก การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้มิใช่กรณีที่เมื่อผู้ร้องมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอวางหลักประกันการงดการบังคับคดีจนต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (2) จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2562

การบังคับคดียึดที่ดินจำนองของโจทก์ออกขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น การที่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เกินไปกว่าหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดของศาลฎีกา จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปแก่โจทก์ แม้ว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่กรณีของจำเลยที่ 3 เป็นการสวมสิทธิโดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นโจทก์ถ้ามีการฟ้องคดีอยู่ในศาล และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถ้าได้มีคำพิพากษาบังคับแล้ว ผลแห่งการเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องและเข้าถือเอากระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วทั้งหมดเป็นการกระทำของตน โดยเฉพาะเมื่อขณะจำเลยที่ 3 เข้าสวมสิทธิ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงเข้ามาทั้งในฐานะเป็นโจทก์และในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ย่อมรับผลทั้งหลายที่เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งในฐานะโจทก์และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เกิดจากผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างนั้น และย่อมมีหน้าที่คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนที่ได้รับเกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความแม้กระทำในศาลก็ถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การจะพิจารณาว่าคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพสอง ว่าด้วยหนี้ เช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 บัญญัติว่า "ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่" ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์โอนเงิน 309,190 บาท จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาที่ธนาคาร ท. สาขาบิ๊กซีบุรีรัมย์ เพื่อให้ธนาคารนำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. บุตรโจทก์ แต่ระบบของธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้โอนเงินมายังบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ถึง 2 วัน แต่ที่ ฐ. ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีได้เพราะระบบของธนาคารต้องทำการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโอนมาจากต่างประเทศก่อน ต่อมาเมื่อระบบของธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีของ ฐ. แล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ฐ. ก็ได้ไปถอนเงินจำนวน 300,000 บาท จากบัญชีของตนแล้วนำไปชำระที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสถานที่ชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวพออนุโลมได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1171/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ไปยังบริษัท อ. ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2559 อันเป็นการดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาวันที่ 10 เมษายน 2549 แล้ว กล่าวคือ โจทก์เดิมได้ขอศาลออกหมายบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2550 และวันที่ 9 กันยายน 2553 และศาลได้ออกหมายบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2553 หลังจากนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์ ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ยังไม่มีการขายทอดตลาด โจทก์จึงไม่อาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องอื่นของจำเลยได้ และมีคำสั่งยกคำร้อง แต่ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและหากระยะเวลาการบังคับคดีสิ้นสุดลง ก็ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปอีก 60 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ย่อมเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวแล้ว และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีภายในระยะเวลาการบังคับคดี และชอบที่ศาลชั้นต้นจะแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยไม่จำต้องอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องอีก เพราะขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 อยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการบังคับคดี แม้ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอแยกสำนวนไปดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 60 วันตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าผู้ร้องประสงค์ที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องขอที่ได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ให้ตามคำร้องขอของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562

การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า โจทก์นำยึดที่ดินมรดกโดยยังมิได้ตกลงแบ่งกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าอันเป็นการบังคับคดีไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามคำพิพากษาจนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลของการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี กฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี แต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฏิบัติในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้เสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์นำยึดที่ดินมรดกเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีตามสิทธิที่โจทก์ได้รับดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดนั้น จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับในทรัพย์สินที่ยึด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561

ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2561

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 การที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนทรัพย์สินที่ขายอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องแล้วยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้บังคับจำเลยและบริวารของจำเลยที่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการยื่นฟ้องกล่าวหาจำเลยและบริวารของจำเลยต่อศาลขึ้นใหม่ตามวิธีการที่ ป.วิ.พ. มาตรา 334 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามมาตรา 247 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ (เดิม) ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 3 มาใช้บังคับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกาจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2561

ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เป็นการตั้งเรื่องโดยขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามมาตรา 289 วรรคสอง (เดิม)


แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุน ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วน มิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในฐานะเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 744 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุน ท. โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561

คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2561

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ... ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ ไม่ให้มีการกักขังแทนค่าปรับ คงให้ส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะและเป็นข้อยกเว้น ป.อ. มาตรา 29 ที่ให้กักขังแทนค่าปรับ หรือยึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ ซึ่งเป็นบททั่วไปเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้และกลับคืนสู่สังคมในสภาพที่ดีขึ้น เมื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเสร็จสิ้น โดยจะเห็นได้จากวรรคสองแห่งมาตรา 145 ดังกล่าว ที่ให้นำมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น มิได้กล่าวถึงมาตรา 29 แห่ง ป.อ. แต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ออกหมายยึดทรัพย์สินหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2561

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 57, 67, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145


โจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ ขอให้ออกหมายบังคับคดี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้น มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่


เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่า หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด


ทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้ ศาลฎีกา เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสาม ดังกล่าวหมายถึง กรณีกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือหากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว


อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ โดยเห็นควรให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2561

สภาพแห่งการบังคับคดีที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมก็ดี หรือชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็ดี มิใช่เรื่องที่เปิดช่องให้ทำได้โดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่อาจร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 276 สำหรับหนี้ที่จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ แม้รถยนต์ตามข้อ 1.7 ถึง 1.10 จำเลยโอนทะเบียนเป็นชื่อของบุตรแล้ว และรถยนต์ตามข้อ 1.11 โจทก์เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์ด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าว ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีทางเจ้าพนักงานบังคับคดีแก่จำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560

สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9981/2560

หนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถือว่าเป็นคำสั่งอายัดของศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) การที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คำสั่งอายัดย่อมมีผลบังคับทันทีในวันดังกล่าว แม้จำเลยจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังไม่ได้หักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมไว้ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งอายัดดังกล่าว


สำหรับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 และ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 นั้น สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะนายจ้างของจำเลยในการหักเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ถือเป็นสิทธิอันเกิดจากความยินยอมของจำเลยตามหนังสือให้ความยินยอมที่จำเลยทำไว้กับสหกรณ์ หาใช่สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลยไม่ แม้จะระบุลำดับในการหักเงินชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ไว้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หนี้ใดจะเป็นหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อสหกรณ์เป็นเพียงหนี้กู้ยืมเงินไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิหักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยส่งให้แก่สหกรณ์ภายหลังจากได้รับแจ้งคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่ (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2560

คดีนี้ตามคำร้องของจำเลยอ้างว่า การออกหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมถูกต้องครบถ้วนแล้ว อันเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวด้วยสิทธิในการร้องขอ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิใช่เรื่องที่จำเลยอ้างว่าหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นออกให้ตามคำขอของโจทก์ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2560

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทรวม 6 แปลง เป็นการยึดเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่ย่อมเป็นการไม่ชอบ ขอให้ถอนการยึด จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและไม่มีการเจรจาตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ก่อน ขอให้ถอนการยึด ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ให้บังคับคดีต่อไป และวินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เห็นสมควรให้วางเงินต่อศาลคนละ 5,000,000 บาท เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องว่า การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เวลาผ่านไป 7 ปี โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายที่ดิน ทำให้ไม่อาจนำเงินไปลงทุนหากำไร นำไปฝากหรือให้กู้ยืมได้ดอกเบี้ย ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4,590,000 บาท ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาในตอนท้ายว่า ยกหรือยืนหรือกลับหรือแก้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก (เดิม) แต่แรก และเพิ่งจะมาใช้สิทธิตามมาตรา 296 วรรคหก (เดิม) ภายหลัง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้น ชอบแล้ว พอแปลได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ กรณีถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ผิดหลงเล็กน้อยหรือผิดพลาดเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าว ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคหก (เดิม) ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) เพราะคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่คัดค้านการขายทอดตลาด แม้จำเลยทั้งสี่จะเคยยื่นคัดค้านการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ก็ไม่ได้ร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 30 วัน ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่ามีความเสียหายก็ชอบที่โจทก์จะไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2560

จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องขัง..." และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของกักขังแทนค่าปรับแล้วแต่กรณี" ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุด โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2560

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของผู้ร้องเนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์มีต่อจำเลยระงับไปแล้ว เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อโจทก์อีกต่อไปและการบังคับคดีโดยการยึดที่ดินของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินที่ยึดเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและโจทก์ก็ตาม แต่หากหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยเป็นหนี้ที่ระงับไปแล้ว การยึดที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายจากเหตุดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดโดยอ้างว่าทรัพย์สินที่ยึดไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการยึดทรัพย์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2560

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ และ ป.พ.พ. มาตรา 241 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้..." การที่ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์หลักประกันในการขอปล่อยตัวจำเลยในคดีอาญานั้น เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรี เพียงแต่ยึดถือโฉนดดังกล่าวไว้เท่านั้น หาได้เป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินตามโฉนดอันเป็นหลักประกันดังกล่าวไม่ แม้ว่าศาลอาญาธนบุรีจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์มิให้ลูกหนี้โอนทรัพย์ต่อไปเท่านั้น หาทำให้เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรีมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการที่ลูกหนี้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าหนี้ไว้นั้น ก็มีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือหนังสือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลง เจ้าหนี้จึงไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ดังนั้น เจ้าหนี้จะขอบังคับหรือใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 หาได้ไม่


ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ซึ่งบัญญัติว่า "เงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นที่นำมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันตามมาตรา 114 ไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นจนกว่าความรับผิดตามสัญญาประกันจะระงับสิ้นไป เว้นแต่ศาลเห็นว่าหนี้ของเจ้าหนี้นั้นมิได้เกิดจากการฉ้อฉลและมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว" โดยมีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 30 ธันวาคม 2558) เป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 มาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่คดีทั้งหมดรวมถึงคดีนี้ด้วย เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้ในฐานะผู้ประกันนำมาวางเป็นหลักประกันต่อศาลในการร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา และลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลจนศาลมีคำสั่งปรับตามสัญญาประกัน กรณีต้องด้วย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ที่ดินที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นประกันต่อศาลอาญาธนบุรีจึงไม่อาจถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นได้ เว้นแต่ศาลในคดีอาญาจะได้สั่งปล่อยทรัพย์นั้น ในชั้นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยได้ให้ดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสองก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2560

การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 211/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โดยขณะนำยึดทรัพย์สินนั้นคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่และยังไม่ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) และบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี แม้ศาลแพ่งจะได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะถอนการบังคับคดีโดยโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับคดีไว้ และแม้เมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ได้ชำระก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 (3) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10489/2559

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยและมีคำขอบังคับให้จำเลยออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงถือเป็นผู้เสียหายในคดี และถือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนคำขอส่วนแพ่งที่ขอให้จำเลยออกไปจากป่าสงวน กรมป่าไม้ย่อมสามารถที่จะทำการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 แต่เนื่องจากคดีนี้เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งในส่วนแพ่งและส่วนอาญา โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ เมื่อโจทก์ในฐานะคู่ความได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีระบุให้โจทก์หรือผู้แทนโจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย จึงเป็นการออกหมายบังคับคดีที่ชอบแล้ว ทั้งในหมายบังคับคดีก็ระบุให้โจทก์ตั้งผู้แทนโจทก์ไปดำเนินการบังคับคดีแทนได้ ในกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์จะไปดำเนินการบังคับคดีด้วยตนเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับโจทก์ว่าโจทก์เห็นควรตั้งบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียกับการบังคับคดีแทนโจทก์ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีแทนย่อมทราบว่าควรให้บุคคลใดเป็นผู้แทนโจทก์ในการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ที่จำเลยครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีดังกล่าว จึงสามารถดำเนินการบังคับคดีได้ตามกฎหมายไม่มีเหตุเพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2559

โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยตกลงกันว่าจำเลยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งน้อยกว่ายอดเงินเต็มตามฟ้องแก่โจทก์ โดยแบ่งชำระ 6 งวด ตามกำหนด และจะชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ การตีความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระยอดเงินเต็มตามฟ้องจะต้องเป็นไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่า "จำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง" จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์


จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ครบทั้ง 6 งวด ตามสัญญาประนีประนอมความที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยการชำระเงินงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ตรงตามกำหนด การชำระเงินงวดที่ 5 ถึงกำหนดวันอาทิตย์ จำเลยจึงชำระเงินแก่โจทก์โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันจันทร์ และการชำระเงิน งวดสุดท้ายถึงกำหนดสิ้นเดือนเมษายน 2556 วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นวันแรงงานแห่งชาติอันเป็นวันหยุดของสถานประกอบการของจำเลย จำเลยจึงโอนเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 อันเป็นโอกาสแรกที่ทำได้ ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดมาเพียง 2 วัน ดังนี้เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยโดยตลอดแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617 - 6619/2559

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6613/2559

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีโดยหากเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้ และการบังคับคดีนั้นต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 284 ด้วย ซึ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่ง ถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ มีความหมายและเจตนารมณ์เพียงห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ แต่ไม่ได้มีความหมายหรือเจตนารมณ์ถึงขนาดห้ามยึดทรัพย์ใดๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์ในการบังคับคดีเป็นการกระทำและการใช้ดุลพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งสำหรับในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถสืบค้นและหาหลักฐานความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ยกเว้นแต่ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งถึงวันที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินดังกล่าว เป็นเวลาเกือบจะครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการบังคับคดีแล้ว เช่นนี้ ถึงแม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาอยู่มาก ก็ไม่ใช่ข้อห้ามถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดเพื่อการบังคับคดี โจทก์ย่อมใช้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271, 282 (1), 283 วรรคหนึ่ง และ 284 ด้วยการชี้หรือแจ้งยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าว และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องยึดทรัพย์สินดังกล่าวตามที่โจทก์ชี้ให้ยึด

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2559

โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยหลายรายการเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามอันมีผลให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายอุทธรณ์ชนะในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 251 (เดิม) ซึ่งบังคับใช้ในขณะยื่นฟ้อง จำเลยจะยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลในข้อนั้น ๆ ก็ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยังฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกากำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ด้วยการมีคำสั่งให้การบังคับคดียังคงมีผลต่อไป และศาลฎีกาได้มีคำสั่งคำร้องที่ 1315/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ก็มิใช่คำพิพากษาถึงที่สุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยังฎีกาอยู่ การยึดและอายัดทรัพย์สินจึงยังคงมีผลอยู่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2737/2559

แม้การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจะเป็นการขายโดยวิธีปลอดจำนอง แต่การบังคับจำนองดังกล่าวไม่เป็นการทำให้หนี้ของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้และผู้รับจำนองระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๔๔ (๕) เนื่องจากคดีนี้ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้จำนองตามมาตรา ๗๒๘ หรือเป็นการฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองตามมาตรา ๗๓๕ และมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญฟ้องคดีแล้วไปยึดทรัพย์ที่ติดจำนองและนำไปขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองเท่านั้น เช่นนี้ ในระหว่างผู้ร้องและจำเลย ผู้ร้องจึงยังมีสิทธิตามสัญญาจำนองในฐานะผู้รับจำนองและเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยทำกับรับเงินไปจากผู้ร้องและยังไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้กับผู้ร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้สามัญรายอื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2559

โจทก์ทั้งสองบรรยายสภาพแห่งข้อหาในส่วนของจำเลยที่ 1 สรุปความได้ว่า สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 รับขนสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สินค้าได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง โจทก์ที่ 1 กับบริษัท ฮ. จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมในข้อหาผิดสัญญารับขนของทางทะเล ระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 สมัครใจจดทะเบียนเลิกบริษัททั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าข้อพิพาทมูลผิดสัญญารับขนของทางทะเลดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ต่อมาศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ฮ. พร้อมดอกเบี้ยและใช้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ที่ 1 และบริษัท ฮ. จำเลยที่ 1 ทราบผลคำพิพากษาแล้ว ไม่ดำเนินการชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนสภาพแห่งข้อหาที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 คือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบผลคำพิพากษาแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่เคยมีหนังสือแจ้งให้ทราบถึงการเลิกบริษัทของจำเลยที่ 1 และการแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีแต่อย่างใด ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจทำให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาจากบริษัท ฮ. ไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม ส่วนจำเลยที่ 2 จงใจละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับชำระหนี้ และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย เห็นได้ว่า คำฟ้องเป็นการบรรยายรายละเอียดความเป็นมาของการกระทำของจำเลยทั้งสองโดยเท้าความถึงมูลหนี้ตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทและแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี โจทก์ทั้งสองทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ซึ่งเป็นการกระทำหลังจากที่ศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมพิพากษาแล้ว ซึ่งเป็นการบรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสองอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ มาตรา 55 แล้ว ประกอบกับตามคำขอบังคับ แม้โจทก์ทั้งสองจะขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระต้นเงินซึ่งมีจำนวนพ้องกับหนี้ตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม ก็เป็นเพียงฐานการคำนวณความเสียหาย กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีขึ้นใหม่โดยอ้างคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมในฐานะมูลหนี้หรือหลักฐานประกอบข้ออ้างอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นการร้องขอบังคับคดีเพื่อขอให้ศาลไทยออกหมายบังคับคดีให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2559

ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง ก. และ น. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมี ก. และ น. เข้าร่วมตกลงด้วย


การที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง ก. และ น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อ ก. ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่ ก. โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ ก. เป็นคดีต่างหาก แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11 ระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับ ก. ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้


ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15643/2558

หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/32 เมื่อปรากฏว่าก่อนครบระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไปรวมกับหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้และลูกหนี้ร่วมรายอื่นเป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มีผลทำให้อายุความตามสิทธิเรียกร้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าลูกหนี้เคยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ วันที่ 30 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีลูกหนี้ออกจากสารบบความ กรณีมิใช่คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ที่จะให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ดังนั้น การที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาหลังหักราคาขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2558

เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าปรับตามสัญญาประกันในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต โดยแนบสำเนาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว สำเนาสัญญาประกัน สำเนารายงานกระบวนพิจารณา และสำเนาหมายบังคับคดี ซึ่ง ป. ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ลงชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเป็นหลักฐานไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้ เมื่อต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของศาลแขวงดุสิต สำเนาเอกสารที่ ป. ซึ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งนิติกร 5 ในหน่วยงานของรัฐดังกล่าวรับรองความถูกต้องย่อมรับฟังแทนต้นฉบับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (3)


ลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญาประกันต่อศาลในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต และศาลมีคำสั่งปรับลูกหนี้ที่ 1 ตามสัญญาประกันเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2538 ซึ่งกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันโดยมิต้องฟ้อง ดังนี้ สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าปรับที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เมื่อคำสั่งปรับผู้ประกันถึงที่สุดโดยไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 จึงเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่คำสั่งศาลถึงที่สุด สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าปรับดังกล่าวเป็นอันขาดอายุความถือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้อันต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15301/2558

การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กำหนดหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลจะได้มีคำสั่งไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำทีละสิ่งเสมอไป ทั้งไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินนั้นว่าจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นเป็นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป เมื่อคดีได้ความว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ 337,200 บาท ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้งสองบัญชีของ ย. ภริยาจำเลยที่ 9 อันเป็นสินสมรสที่เป็นของจำเลยที่ 9 เพื่อการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะเคยขอให้ออกหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากดังกล่าวมาก่อน แต่เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ปัญหาว่าจะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดได้หรือไม่นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ดี เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดมานั้นจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 กล่าวคือ ต้องบังคับชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 9 ต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15301/2558

การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กล่าวเป็นหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี โดยไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์ที่ยึดหรืออายัดไว้นั้นว่าจะกระทำโดยประการใดหรือจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติเรื่องการยึดหรืออายัดหรือศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดไว้เป็นอย่างอื่นและตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นต้องกระทำไปทีละสิ่งเสมอไปแต่อย่างใด เมื่อได้ความตามบันทึกของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งโจทก์ยืนยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า มีหนี้ที่จะต้องชำระยังเหลือหนี้จำนวนมากโดยที่โจทก์ก็อ้างอยู่ว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่น ทั้งแถลงจะรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 9 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้รับฟัง ได้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีประเภทฝากประจำ และประเภทออมทรัพย์ ธนาคาร ท. ของภริยาจำเลยที่ 9 เพื่อให้ได้ชำระหนี้ด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายจำเลยที่ 9 จึงไม่เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อหนี้ที่ต้องชำระเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 จึงต้องบังคับชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายจำเลยที่ 9 ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488


เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจหน้าที่กระทำได้ตามหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14887/2558

ในการพิจารณาว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้รับโอนสินทรัพย์ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่นั้น แม้ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 มิได้บัญญัติว่าการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามมาตรานี้ต้องเป็นการโอนหรือรับโอนมาจากผู้ใด แต่การที่กฎหมายบัญญัติให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมมีความหมายว่าต้องเป็นการโอนหรือรับโอนสินทรัพย์มาจากผู้โอนซึ่งเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิม


เมื่อโจทก์ผู้เป็นคู่ความอยู่เดิมมิได้เป็นผู้โอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่ผู้ร้องโดยตรง ส่วนบริษัท ร. ผู้โอน มิใช่คู่ความอยู่เดิมหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ตามคำร้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558

ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14654 - 14655/2558

โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้อง และศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามนั้นแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ จำเลยก็ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมนั้น ตามมาตรา 229 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยหาได้อุทธรณ์ไม่ กลับยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอแก้ไขข้อสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีความมุ่งหมายให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าไม่อาจใช้บังคับได้ ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมอันไม่อาจกระทำได้โดยศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความก็หาใช่เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมตามข้อยกเว้นของมาตรา 138 วรรคสอง ที่จำเลยจะอุทธรณ์ได้ไม่ อีกทั้งต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเห็นพ้องด้วยในผลกับศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลย และปัญหาดังกล่าวได้ยุติไปแล้วโดยศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยคำพิพากษาคดีนี้จึงเป็นที่สุดแล้ว ปัญหาข้อโต้แย้งด้วยวิธีต่าง ๆ ของจำเลย หาได้ทำให้คำพิพากษาตามยอมซึ่งเป็นที่สุดไปแล้วกลับมาไม่เป็นที่สุดตามที่จำเลยเข้าใจแต่อย่างใดไม่


เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาและขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมจำเลยซึ่งจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดีได้ ทั้งเมื่อคำพิพากษาตามยอมเป็นที่สุดและไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีกับจัดให้มีวิธีคุ้มครองชั่วคราวโดยระงับการออกหมายจับจำเลยและบริวารไว้ก่อนตามคำร้องของจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14517/2558

การนับระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ต้องนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลสุดท้าย มิใช่นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 ให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยทั้งสองขาดนัด ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ การนับระยะเวลา 10 ปี จึงต้องนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อนับจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 อันเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 นั้นเกิน 10 ปีแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14417/2558

แม้ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ศ.2550 มาตรา 5 มิได้บัญญัติว่าการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามมาตรานี้ต้องเป็นการโอนหรือรับโอนมาจากผู้ใด แต่ย่อมมีความหมายว่าต้องเป็นการโอนหรือรับโอนสินทรัพย์มาจากผู้โอนซึ่งเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิมดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 เมื่อโจทก์ผู้เป็นคู่ความอยู่เดิมมิได้เป็นผู้โอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วแก่ผู้ร้องโดยตรง แต่อ้างว่าได้รับโอนมาจากบริษัท ร. ผู้โอน ซึ่งมิใช่คู่ความอยู่เดิม หรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ตามคำร้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14122/2558

การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา ขั้นตอนแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีและขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้


โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลย แต่ผู้แทนโจทก์ส่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดไม่ครบจึงยึดที่ดินไม่ได้ ผู้แทนโจทก์ไม่ไปพบและแถลงว่าจะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ และไม่ไปแถลงนำยึดทรัพย์ตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ภายหลังมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปรับเงินค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือคืน ปัจจุบันยังไม่มีการยึดทรัพย์ สำนวนบังคับคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอปลดเผา หากโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีจะต้องตั้งเรื่องบังคับคดีใหม่ เช่นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13241/2558

แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนต้นยางพาราและทรัพย์สินอื่นที่สร้างอยู่ในที่ดินพิพาทออกไปจากที่ดินพิพาทก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิดออกไปจากที่ดินนั้นด้วย" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ถมดิน ซึ่งย่อมมีความหมายรวมถึงให้จำเลยและบริวารรื้อถอนต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างออกไปได้ด้วย ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทออกไปจากที่ดินพิพาทด้วยก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจบังคับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายและศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายบังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13240/2558

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 นั้น เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ฉะนั้น ผู้ที่อ้างอำนาจพิเศษดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงต่อศาลมิใช่กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ผู้ร้องยื่นคำร้องและฎีกาว่า ผู้ร้องเช่าที่ดินจากจำเลยเพื่อปลูกต้นยางพารา มีกำหนดเวลา 30 ปี โดยที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในที่ดินที่ผู้ร้องเช่า เมื่อผู้ร้องไม่มีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงว่า ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อย่างไร จึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ที่ดินพิพาท การที่ผู้ร้องเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงถือว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์โดยอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12824/2558

ตามคำพิพากษาตามยอมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องปฏิบัติชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1 และโจทก์รับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวครบถ้วนแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดสุโขทัย เอกสารท้ายคำแถลงที่ยื่นต่อศาลแรงงานภาค 6 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันปฏิบัติชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12339/2558

เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ อายัดเงินที่จำเลยที่ 2 จะได้รับจากการเฉลี่ยทรัพย์ในคดีหมายเลขแดงที่ 299/2546 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการให้ กรณีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถูกบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ทางนำสืบของโจทก์จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากการยึดหมายความรวมถึงการอายัดด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12167/2558

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคห้าและวรรคหก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้ ขอออกคำบังคับและขอออกหมายบังคับคดีต่อศาล เพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้ง อันเป็นอำนาจและหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องดำเนินการ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลออกคำบังคับและส่งคำบังคับเพื่อบังคับคดีแก่ผู้ถูกทวงหนี้ไว้แล้วโดยชอบก็ตาม แต่ลูกหนี้ก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตามมาตรา 90/39 วรรคหก ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10825/2558

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับโทษปรับในกรณีเด็กและเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีการชำระค่าปรับไว้ในมาตรา 145 เป็น 2 กรณี คือ กรณีเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ให้ศาลเปลี่ยนโทษปรับเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมาย กับกรณีเด็กหรือเยาวชนไม่มีเงินชำระค่าปรับ แต่ประสงค์จะขอทำงานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องดำเนินการในทางใดได้บ้าง ไม่มีกรณีที่ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนได้ ในทำนองเดียวกับกรณีที่ผู้กระทำความผิดมิใช่เด็กและเยาวชน ตาม ป.อ. มาตรา 29 เมื่อพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ เป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายทั่วไปมาบังคับในกรณีนี้ได้ สำหรับคดีนี้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ก็ต้องส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมแทนการชำระค่าปรับเพียงประการเดียวตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้ในระหว่างฝึกอบรม จำเลยอาจจะขอชำระค่าปรับที่ยังคงเหลือให้เสร็จสิ้นไปได้ ก็เป็นวิธีการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้สิทธิแก่จำเลย ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยชำระแทนค่าปรับได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10781/2558

มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดชุมพร จำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ถึงแม้ภายหลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 4 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าทนายความทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยปราศจากอำนาจ และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นมูลหนี้เดิมของคดีแพ่งดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยทั้งสี่จึงเป็นหนี้โจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้เดิม


จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558

เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคำพิพากษาก่อให้เกิดหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะต้องออกคำบังคับตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 272 คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยขาดนัดให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำบังคับในวันมีคำพิพากษาได้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกคำบังคับ โดยส่งคำบังคับไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี หากหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี จากนั้นต้องดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีและแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติในการร้องขอให้บังคับคดีไว้ โดยหาได้บัญญัติให้ต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 231 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้คำพิพากษาผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษาถูกเปลี่ยนแปลง กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี และแม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิขอให้บังคับคดี เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับและได้รับอนุญาตจากศาล ในกรณีนี้ระยะเวลาบังคับคดีภายในสิบปีต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น


คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยจำเลยขาดนัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ วันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนในการขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คือวันที่ 3 เมษายน 2553 ปรากฏว่า ผู้เข้าสวมสิทธิเพิ่งยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้แล้ว จึงหามีเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่เพราะระยะเวลาสิบปีในการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุด มิใช่จะต้องเริ่มนับแต่คดีถึงที่สุด

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10340 - 10378/2558

แม้การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276 กับการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกระบวนการคนละขั้นตอนกันก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินหรือเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่มีฐานะเป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ กับมีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย และมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ศาลแรงงานกลางต้องออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอกให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2558

การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้งวดแรกวันที่ 29 มิถุนายน 2542 แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 จำเลยทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หลังมีคำพิพากษากับโจทก์ โดยยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกจำเลยทั้งสามค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 1,900,000 บาท ดอกเบี้ย 1,780,000 บาท และตกลงให้นำดอกเบี้ยบางส่วนจำนวน 950,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยส่วนลดพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลา 2 ปี ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระที่เหลือจำนวน 830,000 บาท ตกลงพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ในส่วนต้นเงินคงเหลือโจทก์ผ่อนผันการคิดอัตราดอกเบี้ยให้และให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยกับต้นเงินเป็นงวดรายเดือน หากจำเลยทั้งสามผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์ยกเลิกการพักชำระดอกเบี้ยและยินยอมให้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปคิดอัตราตามคำพิพากษาหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โจทก์ใช้สิทธิบังคับคดีได้ทันที บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ผ่อนผันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่จำเลยทั้งสามเท่านั้น หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาระงับสิ้นไปไม่ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิมตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามมาตรา 193/15 ดังนั้น เมื่อนับตั้งแต่อายุความสะดุดหยุดลงจนถึงวันฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10209/2558

ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติไว้ชัดเจนให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน แม้ไม่มีบทเฉพาะกาลเรื่องการบังคับคดีนายประกันก่อนที่มีการเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวว่าจะยังคงเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการตามเดิมหรือเป็นของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมตามบทบัญญัติที่เพิ่มเติมดังที่ผู้ร้องอ้างตามคำร้องก็ตาม แต่การที่ไม่มีบทเฉพาะกาลบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติที่เพิ่มเติม ก็ต้องหมายความว่าให้ใช้บทบัญญัติเพิ่มเติมนั้นทันทีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ร้องเข้าใจว่าการบังคับคดีนายประกันที่มีอยู่ก่อนยังคงเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ กรณีจึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10195/2558

เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ต่อเมื่อมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม แต่ต้องยื่นคำขอต่อผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 มาตรา 91 และมาตรา 94 หนี้ค่าปรับที่ผู้ร้องนำมาขอรับชำระหนี้ศาลมีคำสั่งปรับลูกหนี้ที่ 3 นายประกันตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2548 และวันที่ 14 มีนาคม 2549 ภายหลังจาก พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคสอง กำหนดให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันนานพอสมควรแล้ว ผู้ร้องซึ่งรับโอนอำนาจการบังคับคดีแก่นายประกันย่อมสามารถดำเนินการวางระบบงานเพื่อตรวจสอบว่านายประกันสำนวนคดีใดบ้างผิดสัญญาประกันและเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ของตน และเพื่อทราบว่าลูกหนี้ใดศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ จะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ


การที่ผู้ร้องอ้างว่าศาลแขวงนครราชสีมามีบุคลากรผู้รับผิดชอบในการบังคับคดีแก่นายประกันไม่เพียงพอกับปริมาณงาน และเพื่อมิให้หน่วยงานของรัฐต้องสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ กรณียังไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือกฎหมายให้อำนาจที่จะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ออกไปได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับตามสัญญาประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10011/2558

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องซึ่งเป็นหลักประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติและเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสามยอมรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดนั้นให้โจทก์จนครบถ้วน และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสามในทางแพ่ง


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงิน รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งสามก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งสาม เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำพิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9928/2558

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย" ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวย่อมมีผลเฉพาะบริษัทดังกล่าวเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผน ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นไปด้วยไม่ เนื่องจากแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวตามแผนซึ่งเมื่อพิจารณาตามมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่นำมาชำระหนี้ทำให้หนี้ลดลงไปได้บางส่วน หนี้ส่วนของจำเลยผู้ค้ำประกันย่อมระงับไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทดังกล่าวจนครบถ้วน จำเลยจึงต้องมีความรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือตามฟ้องให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท


จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีนำมาขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา และหลังจากนั้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยและสาขาธนบุรี ก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จึงต้องข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างในส่วนนี้ได้ว่าตนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามฟ้อง และไม่มีพฤติการณ์อย่างอื่นที่แสดงว่ามีเหตุอื่นที่จำเลยไม่ควรล้มละลายแต่อย่างใด การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2558

ก่อนจำเลยยื่นคำร้องคดีนี้ จำเลยเคยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยข้ออ้างในคำร้องทั้งสองฉบับจำเลยกล่าวอ้างว่า ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยผิดระเบียบอย่างเดียวกัน แม้คำร้องในคดีนี้ จำเลยจะขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการบังคับคดี ส่วนคำร้องฉบับก่อนดังกล่าว จำเลยขอให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบ แต่ก็เป็นคำขออันเป็นผลมาจากข้ออ้างในเรื่องเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำร้องฉบับก่อนของจำเลย และยกคำร้องของจำเลยแล้วเช่นนี้ การที่จำเลยกลับมาดำเนินกระบวนพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นเป็นคดีนี้อีก จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่โจทก์มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9526/2558

การอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางภายในจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถ เป็นการพิจารณากำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถตามที่นายทะเบียนจังหวัดอุบลราชธานีเสนอโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดอุบลราชธานี อันเข้าลักษณะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 31 (1) และ (11) หาใช่การพิจารณากำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางตาม มาตรา 20 (1) อันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกชั้นหนึ่ง การอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียนกำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถดังกล่าว เมื่อจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถดังกล่าวไม่เกินกว่าจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่หยุดการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 และเมื่อไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจำเลยที่ 4 นำมาวางชำระจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2547 ว่าไม่ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9450/2558

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองจะทำหนังสือแจ้งประกันสังคมโดยระบุว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด...ปรากฏว่าภายหลังศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงการให้ออกของพนักงาน ลงวันที่ 19 เมษายน 2553 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 8 แจ้งเปลี่ยนแปลงการให้ออกของโจทก์จาก "ไล่ออกโดยมีความผิด" เป็น "ไล่ออกโดยไม่มีความผิด" ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความนำมายื่นต่อศาลและให้โจทก์รับไปแล้ว แม้หนังสือดังกล่าวจะมีข้อความอื่นนอกเหนือจากที่ระบุตาม ข้อ 2 ของสัญญาประนีประนอมยอมความรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อโจทก์นำไปยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 8 เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการแก้ไขฐานข้อมูลการเลิกจ้างให้ว่าเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ตรงตามเจตนารมณ์ของคู่ความที่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6667/2558

คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกของ น. แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทด้วยกัน เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและเจ้าของรวมทุกคนพึงแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน หรือขายทรัพย์สินนั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ลำพังเพียงโจทก์เจรจากับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับมอบหมายจากทายาทอื่นให้เป็นตัวแทนเจรจากับโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าของรวมไม่อาจตกลงแบ่งทรัพย์สินกันได้ อันเป็นเหตุยึดทรัพย์มรดกมาขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง เมื่อถือไม่ได้ว่าการบังคับตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นไปตามลำดับขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สิน จึงต้องเพิกถอนการยึดทรัพย์มรดกเสีย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2558

การขอให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ มิใช่เป็นการบังคับคดีที่ต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. และไม่มีกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง แต่การเพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว เป็นกรณีที่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ และตามวรรคแปดของบทบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด" ดังนั้น การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินนั้น โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ก็ต่อเมื่อคำพิพากษานั้นถึงที่สุดเป็นต้นไป และที่ว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด ก็ย่อมมีความหมายว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดทั้งคดี เมื่อนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์จึงยังมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6498/2558

คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 วรรคหนึ่ง ทั้งตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้บังคับคดียื่นเป็นคำขอฝ่ายเดียว และตามมาตรา 21 (3) ยังบัญญัติให้คำขอเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีเป็นคำขอที่อยู่ในข้อยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ อันเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด จึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อันใดเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสองจะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2558

แม้คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนแบ่งตามคำพิพากษา แต่เมื่อโจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกทุกแปลงของผู้ตายอีกคนหนึ่งมิได้ยินยอมด้วย ต้องถือว่าการแบ่งทรัพย์สินนั้นจำเลยทั้งสี่ไม่อาจกระทำได้ด้วยความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคน ทั้งกรณีเป็นการแบ่งทรัพย์สิน มิใช่การทำนิติกรรมซึ่งโจทก์ที่ 5 จะให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่ในการแบ่งมรดกได้ โจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับยึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดได้


เมื่อโจทก์ที่ 5 ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว แต่การบังคับคดียังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5952/2558

ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกำหนดว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยตกลงให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ เมื่อบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทที่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ซื้อคืนจากโจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยขนย้ายรวมทั้งรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ทั้งจำเลยเคยยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวอ้างว่ามิใช่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝากและมิใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอน เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์กลับแถลงว่าไม่เคยขัดขวางมิให้จำเลยรื้อถอนตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ยิ่งกว่านั้นในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านดังกล่าวของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทโดยเร็ว จำเลยกลับเป็นฝ่ายแถลงขอเวลาขนย้ายบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็ยินดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปทั้งหมด แสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าหากจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยรื้อบ้านทั้งสองเลขที่ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วย จำเลยจะมากล่าวอ้างภายหลังว่าเป็นการนอกเหนือไปจากคำฟ้องหรือเกินคำขอมิได้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาประวิงการบังคับคดีของโจทก์ให้ชักช้า


ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์บังคับคดีเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ตามยอมวันที่ 24 มีนาคม 2544 นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้


โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยปิดประกาศให้ขับไล่จำเลยและบริวารรวมทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 30 มกราคม 2546 อันอยู่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อการบังคับคดีได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมายังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5695/2558

การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งอันถึงที่สุดมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ไม่ใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 คดีดังกล่าวศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่คดีถึงที่สุด อายุความจึงเริ่มนับ แต่ปรากฏว่าระหว่างยังไม่พ้นอายุความในวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยชำระหนี้บางส่วนตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,064,440 บาท กรณีถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วน ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2554 ไปอีก 10 ปี ตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงอยู่ในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง โจทก์จึงมีสิทธินำมูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ และแม้ว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 2,064,440 บาท เพื่อให้โจทก์ถอนการบังคับคดีแพ่งเฉพาะจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่ดำเนินการ แต่ก็เป็นเงินจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับยอดหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงินรวมทั้งสิ้นถึง 12,584,200.40 บาท และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2558

แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 271 จะบัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตาม แต่หาได้กำหนดให้บังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 10 ปีไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินโบนัสและเงินค่าตอบแทนกรณีจำเลยที่ 2 ออกจากงาน ซึ่งบริษัท บ. ได้ส่งเงินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดและจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้ว 6 ครั้ง เป็นเงิน 279,727.72 บาท แต่โจทก์ได้รับชำระหนี้ยังไม่ครบตามหมายบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ดำเนินการบังคับคดีมาโดยตลอด ดังนี้ แม้เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ก็ยังสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้จนกว่าการบังคับคดีจะแล้วเสร็จ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2558

คำฟ้องของโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ได้นั้น ในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ด้วย ดังเช่นคดีก่อน โจทก์คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แต่คดีนี้ได้มีการยกเลิกห้างดังกล่าวแล้ว โดยมี ศ. หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีและเป็นผู้ฟ้องคดีแทน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1259 ที่ว่า ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนในอรรถคดีทั้งหลายทั้งปวงของห้าง ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน


ตามหลักกฎหมายหุ้นส่วน มีบทบัญญัติให้หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับห้าง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะด้านความรับผิดเท่านั้น มิใช่การไปตั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ได้เป็นส่วนตัวต่างหากจากห้าง จึงถือไม่ได้ว่า ศ. มีอำนาจฟ้องเป็นส่วนตัวอีกฐานะหนึ่ง ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคนเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน


ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า "นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น" โดยมีความมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรฟ้องร้องว่ากล่าวเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดให้คืนรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันหรือชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าวรวมทั้งค่าเสื่อมราคา ส่วนคดีนี้โจทก์ก็เรียกร้องในเรื่องเดียวกันโดยข้ออ้างต่างกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ประโยชน์นานถึง 5 ปี 10 เดือน จึงต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ขั้นต่ำประมาณ 21,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ขอชดใช้เพียงแค่ 3,617,280 บาท จึงต่ำเกินไป ซึ่งค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าว โจทก์สามารถกำหนดเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ในคราวเดียวกันกับที่ฟ้องคดีแรกอยู่แล้ว เพราะสภาพแห่งข้อกล่าวหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นการยื่นคำฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)


จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างโจทก์ โดยมูลหนี้ที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าภาษีอากร และภายหลังที่ศาลออกคำบังคับ โจทก์กับพวกไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์กับพวกมาชำระหนี้ อันเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบ และเมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจสอบพบว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งจากบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการขอให้มีการอายัดเงินดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ของตน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่กฎหมายให้สิทธิไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ควรอายัดสิทธิในจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กำหนดแก่โจทก์ เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียประโยชน์ได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบจำนวนนั้น เป็นเรื่องของความคาดหวังของโจทก์เอง เนื่องจากตนยังสู้คดีอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะได้เงินค่าเสียหายตามจำนวนที่ต้องการ ดังนี้จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะต้องรอและงดการอายัดสิทธิที่ตนควรได้ไว้ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4300/2558

การที่โจทก์ยื่นคำขอยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติม เนื่องจากราคาทรัพย์สินจำนองที่ยึดไว้เดิมไม่เพียงพอให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ประกอบกับจะล่วงเลยกำหนดเวลาในการบังคับคดีภายใน 10 ปี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดเงื่อนไขในการยึดทรัพย์สินเพิ่มเติมว่าจะนำออกขายทอดตลาดได้ก็ต่อเมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองที่ยึดไว้เดิมแล้วไม่พอชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติมจึงเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย ยังไม่มีเหตุสมควรให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมดังกล่าว


กรณีที่โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติมของจำเลยในครั้งต่อ ๆ มา โดยทราบรายละเอียดของทรัพย์สินที่จะขอให้ยึดเพิ่มเติมแล้วนั้น หาจำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และ 277 ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2558

แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป การจำนองห้องชุดพิพาทยังคงมีอยู่ ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับคดีเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินที่ศาลชั้นต้นกำหนด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2751/2558

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาในคดีนี้นอกจากจะบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจนกว่าจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำแล้ว ยังมีหนี้ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 80003 ของโจทก์ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วย อันเป็นคำพิพากษาที่ให้จำเลยกระทำการแยกต่างหากจากหนี้ในส่วนหลังที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมีสิทธิที่จะชำระค่าเสียหายรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยให้รื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ไม่มีการพิจารณาใดที่ผิดระเบียบอันเป็นเหตุจะให้เพิกถอนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10078/2551

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงิน เกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้อง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่ง สิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ และเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีเข้าสู่ศาล ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นกฎหมาย วิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย สารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิ เรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งห้าในทางแพ่ง สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ โจทก์ รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนอง ผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งห้าในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้ แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งห้า เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำ พิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สิน ของจำเลยทั้งห้าไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้า การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอด ตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลย ทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่


โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องและอุทธรณ์ฎีกาในเหตุดังกล่าวโดยตรงขึ้นมายังศาลสูง ก็ชอบที่ศาลจะต้องกล่าวในคำพิพากษาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับคดียึด ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่คู่ความและเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติให้ บรรลุผลตามคำพิพากษาในเนื้อหาคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาให้ครบถ้วนตามคำขอท้ายฟ้องของ โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2551

ป.พ.พ. มาตรา 1476 (4) มุ่งหมายให้การให้กู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ในการจัดการสินสมรส การกู้ยืมเงินมิใช่ให้กู้ยืมเงินจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว


การบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหากมิใช่หนี้ร่วม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีได้เพียงสินสมรสในส่วนของลูกหนี้ตามคำ พิพากษาเท่านั้น มิได้กระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ที่ดินสินสมรส จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมสัญญากู้ยืมระหว่าง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551

ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวัน นัดสืบพยาน แต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าว กับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำ สั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้ วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วยเช่นกัน


คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ให้ต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ใน คำพิพากษา หากโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนจริงโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับ ผิดเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดข้อตกลงชำระหนี้ แต่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นอันระงับ ให้งดการบังคับคดี และบังคับให้จำเลยแจ้งถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดี ก่อนซึ่งผูกพันโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2551

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้กำหนดเวลาชำระหนี้แต่ละงวดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งหากจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิด นัดการชำระหนี้ทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ถือเอาเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้ เป็นสาระสำคัญ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก แม้โจทก์จะรับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ซึ่งชำระไม่ตรงตามกำหนด โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งสองก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ ประสงค์จะบังคับคดีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้งวดต่อไปให้ตรงตาม กำหนด เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงชำระหนี้งวดที่ 5 ไม่ตรงตามกำหนดอีก จึงเป็นผู้ผิดนัด


จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แม้โจทก์จะทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด มีมติให้ซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยไม่สุจริต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2551

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้บังคับคดีกับ จำเลยที่ 4 มีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2121/2551

โจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิขอให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองมาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้สามัญ แต่เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่โจทก์มีสิทธิขอให้นำไปชำระหนี้นี้หมายถึง เงินรายได้สุทธิที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขายทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ซึ่งรวมถึงค่าภาษีที่เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองตาม ป.รัษฎากรด้วย


ภาษีเงินได้ของจำเลยที่เกิดจากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองเป็นภาษีที่จะ ต้องนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน มิใช่เป็นหนี้ภาษีอากรที่จำเลยค้างชำระ แม้ผู้ซื้อทรัพย์จะเป็นผู้ชำระแต่มีคำสั่งกรมบังคับคดีให้สิทธิผู้ซื้อ ทรัพย์นำใบเสร็จรับเงินที่มีรายการชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาขอคืนภาษีและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีลงรายการดังกล่าวในบัญชีแสดง รายการรับ-จ่ายเงิน ค่าภาษีเงินได้พึงประเมินของจำเลยจึงถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขาย ที่ดิน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินไปหักชำระ ภาษีดังกล่าวโดยคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งได้ชำระค่าภาษีแทนจำเลยไป แล้วนำเงินส่วนที่เหลือซึ่งเป็นรายได้สุทธิจากการขายที่ดินไปชำระหนี้จำนอง แก่โจทก์จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1763/2551

ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้นับแต่นั้น การที่โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทันทีแต่ยินยอมให้จำเลยผ่อนชำระ หนี้ตามคำพิพากษาต่อไปอีกมิใช่เป็นการแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะบังคับคดีแก่จำเลย ไม่มีผลทำให้หมายบังคับคดีสิ้นผลหรือเสียไป ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามที่โจทก์ให้โอกาส โจทก์ย่อมขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อ เอาเงินมาชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้ ไม่จำต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีใหม่อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2551

คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลย (โจทก์คดีนี้) หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคากับโจทก์ต้องชำระค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง จำเลยไม่สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ เพราะโจทก์มีเจตนานำเอารถหลบหนี การที่จำเลยยอมรับเงินค่ารถยนต์ ค่าขาดประโยชน์ และค่าเสียหายจากโจทก์โดยที่จำเลยมิได้บอกปัดหรือทักท้วงให้โจทก์นำรถยนต์ ที่เช่าซื้อมาคืนก่อน จึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของโจทก์ตามที่จำเลยฎีกาไม่ และแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่า การที่จำเลยเลือกบังคับคดีโดยรับชำระราคาแทนการบังคับให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ เป็นการสละสิทธิในการบังคับให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คืนตามคำพิพากษา แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันไปแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ดังกล่าว ถือได้โดยปริยายว่า จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ รถยนต์คันพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่โอนทะเบียนและส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาท ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9056/2550

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบการครอบครองพร้อมจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อในที่ดินจากชื่อจำเลยเป็นชื่อ ส. มิฉะนั้นให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อได้ให้จำเลยคืนเงิน 1,350,000 บาท แก่โจทก์ ดังนี้ การชำระหนี้ต้องเป็นไปตามลำดับในคำพิพากษา มิใช่กรณีให้สิทธิจำเลยเลือกชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 198, 199 เมื่อการจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อในที่ดินไม่อาจปฏิบัติได้ เพราะกรมที่ดินไม่อนุญาตเนื่องจากเป็นการถือครองที่ดินแทนสามีคนต่างด้าว และไม่เข้าเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงต้องขายทอดตลาดที่ดินพิพาทแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2550

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีตามกฎหมายให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี การที่ผู้ร้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงขั้นตอนการบังคับคดี ไม่ทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ขยายออกไป


ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการยึดซ้ำจึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างหนึ่งเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5297/2550

โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมมีข้อความว่า จำเลยทั้งสองยอมชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ ตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนโดยนำเงินมาวางศาลเดือนละไม่น้อยกว่า 4,000 บาท ทกุเดือนติดต่อกัน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 22 ของเดือน โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 8 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัด 2 งวดโดยไม่จำต้องติดต่อกันให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินมาวางศาลภายในกำหนดถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา แม้ว่าโจทก์จะมาขอรับเงินที่จำเลยที่ 2 นำมาวางศาลภายหลังที่ผิดนัดแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้ผิดนัดโจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้ทันที


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2550

ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เปิดถนนภาระจำยอม และทำให้อยู่ในสภาพใช้ได้สะดวก เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาสร้างเสาไฟฟ้าพิพาทขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้ถนนภาระจำยอมมา ตั้งแต่แรก แต่มีสภาพเป็นเสารองรับน้ำหนักโครงหลังคาซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกอยู่ บนถนนภาระจำยอมและจำเลยที่ 2 ต้องรื้อถอนออกไปทั้งหมดตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 2 รื้อถอนเฉพาะโครงหลังคา ส่วนเสารองรับน้ำหนักมิได้รื้อถอนออกไปด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำ พิพากษาและคำบังคับของศาลให้ถูกต้องครบถ้วน แม้จำเลยที่ 2 จะดัดแปลงเสาดังกล่าวให้มีสภาพเป็นเสาไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการใช้ถนนภาระจำ ยอม และที่ตั้งของเสามิได้กีดขวางการใช้ถนนภาระจำยอม หรือไม่ทำให้เสื่อมความสะดวกในการใช้ถนนภาระจำยอมก็หาทำให้เสาดังกล่าวพ้น จากการถูกบังคับคดีไม่ โจทก์จึงขอให้บังคดีโดยให้รื้อถอนเสาไฟฟ้าพิพาทออกไปจากถนนภาระจำยอมตามคำ พิพากษาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2550

จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ จำเลยต่อเติมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจยกเอาความเสียหายที่จะต้องได้รับมาปฏิเสธความรับผิดของจำเลย ในอันที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3077 - 3078/2550

การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 3 ตุลาคม 2537 ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกัน ทั้งสอง ตามคำร้องลงวันที่ 1 กันยายน 2546 วันที่ 23 กันยายน 2546 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 8 มกราคม 2547 และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ค้ำประกันทั้ง สองตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 2 สิงหาคม 2533 กรณีจึงต้องมีการบังคับคดีต่อไปและนับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่เวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะ เวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้ แก่ผู้ค้ำประกันทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำแถลงดังกล่าว ต้องถือว่าศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว เพราะมิฉะนั้นการบังคับคดีย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบที่จะบังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์ของผู้ค้ำประกันทั้งสอง ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปโดยไม่มีเวลาครบกำหนด ศาลฎีกาจึงกำหนดเวลาให้ครบถ้วนสมบูรณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2508

ผู้ที่มีอำนาจร้องขอให้บังคับคดีได้ คือ คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคือ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา


เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจเป็นโจทก์หรือจำเลย หรืออาจเป็นบุคคลภายนอกซึ่งร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นแต่เพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น จึงหาใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะมีสิทธิบังคับคดีไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2546

ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาเช่าสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถ้าไม่สามารถเพิกถอน การโอนสิทธิการเช่าสร้างและสัญญาเช่าสร้างดังกล่าวไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากเพิกถอนการ โอนสิทธิการเช่าสร้างและสัญญาเช่าสร้างดังกล่าวได้แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าสร้างดังกล่าวให้โจทก์ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยตามจำนวนที่กำหนดไว้ข้างต้นแก่โจทก์ จำเลย ทั้งสามมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล แต่ก่อนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาดังกล่าว ที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 เช่าสร้างอาคารถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ เมื่อที่ดินตามสัญญาเช่าสร้างดังกล่าวถูกเวนคืนทำให้ไม่มีทรัพย์อันเป็น วัตถุแห่งสัญญาให้เพิกถอนเพื่อโอนให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าสภาพแห่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาไม่เปิดช่อง ให้กระทำได้ กรณีจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในลำดับต่อมา คือ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกัน ชดใช้เงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จึงเป็นการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอน ของคำพิพากษาศาลฎีกาและเป็นการบังคับคดีที่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2545

จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการจำเลย ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง แต่การไถ่ถอนจำนอง จำเลยผู้จำนองจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน ที่ดินพิพาทจึงจะปลอดจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติดังกล่าวก็ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นตามลำดับต่อไป ได้ จึงเป็นกรณีสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนอง หากจำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองได้เองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้ จ่ายทั้งสิ้นนั้นไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2545

การที่ศาลชั้นต้นระบุไว้ในคำพิพากษาว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินประกาศกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น หมายความว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี โดยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว ปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดโดยให้ธนาคารพาณิชย์ ออกประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บแต่ละประเภทของตนเองได้ซึ่งในวัน ที่ 3 พฤศจิกายน 2542 ธนาคารโจทก์ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดลงเหลือเพียงอัตราร้อยละ 14.50ต่อปี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำแถลงของจำเลยที่ 1ที่ขอทราบจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ชำระหนี้ให้ถูกต้องเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 ว่าให้คิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ไปก่อน จนกว่าคำพิพากษาจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้น จึงเป็นคำสั่งที่มิได้คำนึงถึงข้อความในคำพิพากษาที่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่ เกินประกาศกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอง ดังนั้น นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี จนถึงวันชำระเงินตามคำพิพากษาครบถ้วนแต่หากในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์มีการ ประกาศอัตราดอกเบี้ยใหม่โจทก์ก็ต้องคิดดอกเบี้ยตามอัตราใหม่นั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2545

ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยชัดเจนให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อร่วมกับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันส่งมอบรถยนต์ในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์ หากไม่ส่งมอบคืนก็ให้ใช้ราคาแทนพร้อมกับค่าเสียหาย แม้ในตอนท้ายของคำพิพากษาจะมิได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองจะต้องส่งมอบรถยนต์แก่ โจทก์ในสภาพเช่นไรแต่ก็พึงเข้าใจได้ว่าจะต้องส่งมอบในสภาพที่ใช้การได้ดีดัง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้น เพราะการพิจารณาถึงความหมายของคำพิพากษาเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้อง นั้นต้องพิจารณาจากคำพิพากษาทั้งฉบับ มิใช่เฉพาะแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์มาส่งมอบแก่โจทก์หลังจากมีคำบังคับแล้วถึง 1 ปีเศษ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่มีทะเบียนทำให้ไม่ทราบว่าเป็นรถยนต์คัน เดียวกับที่ศาลมีคำพิพากษาหรือไม่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์อย่างไม่ดูแลรักษา เพราะแม้กระทั่งทะเบียนรถก็ไม่มี ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ยอมรับรถยนต์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตรงตามคำพิพากษาเพราะไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ดี จึงมีเหตุผลและเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6619/2545

โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันให้ศาลชั้นต้นถอนคำสั่งอันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ก่อนพิพากษา โดยจำเลยเสนอหนังสือค้ำประกันของธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยอมผูกพันเพื่อ การชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยเงื่อนไขว่าหากคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ธนาคารจึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือค้ำประกันดังกล่าวตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 กรณีไม่อาจถือว่าการเข้าค้ำประกันของธนาคารต่อศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา อันจะมีผลยกเลิกไปเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี ตามมาตรา 260 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2538

ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมีคำพิพากษาตามยอมศาลชั้นต้นได้จดรายงาน กระบวนพิจารณาว่าจำเลยได้นำตัว ช.มาทำสัญญาค้ำประกันตามที่ตกลงกันจึงให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันเสนอ มาในวันนี้ด้วยแล้วแม้หนังสือสัญญาค้ำประกันคงมีแต่เพียงลายมือชื่อของ ช. กับจ่าศาลลงไว้เท่านั้นก็ถือได้ว่า ช. ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่งมาตรา274แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467/2536

ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามที่โจทก์ร้องขอต่อมา จำเลยนำผู้ร้องมาทำสัญญาค้ำประกันโดยนำโฉนดที่ดินวางไว้ต่อศาล โจทก์จึงได้ถอนคำขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาไป ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์และได้รับอนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดย ป. บุตรชายจำเลยนำสมุดเงินฝากธนาคารออมสินมาวางประกัน การที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดย ป.นำสมุดฝากเงินธนาคารออมสิน วางเงิน ประกันแทนหลักทรัพย์ที่ผู้ร้องวางประกันไว้ แสดงว่าในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้เปลี่ยนหลักทรัพย์ ในการค้ำประกันจากของผู้ร้องมาเป็นของ ป.สัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องที่ไว้ต่อศาลจึงสิ้นสุดลง ผู้ร้องมีสิทธิรับ โฉนดที่ดินวางประกันไว้คืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2536

เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ภายหลังจากกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้โดยยึด ทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 ได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นคดีใหม่