Pages

เพิกถอนการบังคับคดีผิดระเบียบ

ส่วนที่ ๑๐

การเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับคดีที่ผิดระเบียบ

มาตรา ๒๙๕ ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวนั้น เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน หรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร


ภายใต้บังคับมาตรา ๓๓๑ วรรคสาม ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรการยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบ เรื่องบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้


เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้


(๑) ในกรณีที่คำบังคับกำหนดให้ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใด เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับที่ให้ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าวอาจแยกเป็นส่วน ๆ ได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น


(๒) ในกรณีที่คำบังคับกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตาม มาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๔๐ มาตรา ๓๔๒ มาตรา ๓๔๓ หรือมาตรา ๓๔๔ แล้วแต่กรณี แล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น


ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องนั้น ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าวเมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด


ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้อง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล บุคคลที่ได้รับความเสียหายอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่ผู้ยื่นคำร้องนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2562

เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงกำหนดให้คู่ความใช้ค่าทนายความให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7628/2561

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับส่งมอบที่ดินคืนและชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือครอบครองแทนจำเลยที่ 1 และต้องพิจารณาว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีคุณสมบัติกับปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 รวมทั้งระเบียบของนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใสหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปได้ เป็นฎีกาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1555/2561

แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (เดิม) และอาจใช้สิทธิคัดค้านการขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ (เดิม) แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ก่อนหน้าครั้งนี้ถึง 4 ครั้ง แต่กลับอ้างเหมือนกันทุกครั้งว่าไม่สามารถชำระราคาได้แล้วมาคัดค้านในการขายทอดตลาดครั้งต่อไป กลายเป็นว่าบุคคลภายนอกเมื่อเข้ามาประมูลซื้อทรัพย์ได้แล้วแต่ไม่ยอมชำระราคา กลับมีสิทธิที่จะยับยั้งหรือประวิงการบังคับคดีได้เรื่อยไป ทำให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งเป็นคู่ความเดิมเสียหายได้จากการบังคับคดีที่ล่าช้า ทั้งทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดใหม่เรื่อยมา เช่นนี้ย่อมเป็นการยืนยันว่าการใช้สิทธิของผู้ร้องมิได้เป็นไปโดยสุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2561

การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลอดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2561

จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้จำเลยหาหลักประกันหรือนำเงินจำนวน 1,620,000 บาท มาวางต่อศาลภายในกำหนด 1 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยหาหลักประกันหรือนำเงินจำนวน 1,620,000 บาท มาวางต่อศาลย่อมเป็นที่สุด ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้อีก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ได้สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561

คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8685/2560

ผู้ร้องทั้งสองซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดระยองซึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยองเรื่องขายทอดตลาดที่ดินระบุว่า เป็นการขายทอดตลาดในคดีของศาลจังหวัดสงขลาหมายเลขแดงที่ 3221/2541 ระหว่าง ธนาคาร น. โจทก์ และจำเลยทั้งสองมิได้ระบุว่าเป็นการดำเนินการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย การที่ผู้ร้องทั้งสองเข้าใจว่าเป็นการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งทั่วไปมิใช่คดีล้มละลายก็เนื่องมาจากประกาศขายทอดตลาดระบุว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 2 และเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายโดยมิได้แจ้งให้ผู้เข้าสู้ราคาทราบว่าเป็นการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลาย ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองทราบจากรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันนัดไต่สวนคำร้องของศาลจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องทั้งสองรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอถอนคำร้องต่อศาลจังหวัดระยองและยื่นคำร้องในคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 อันเป็นระยะเวลาห่างกันเพียง 9 วัน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้เพิกเฉยปล่อยปละละเลยที่จะไม่ยื่นคำร้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรขยายระยะเวลายื่นคำร้องให้แก่ผู้ร้องทั้งสองและรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองไว้วินิจฉัยต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2560

เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปในคดีนี้ ที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เงินที่ได้จากขายทอดตลาดส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายแก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง ล. โดยผู้ร้องผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต จึงไม่มีสิทธิขอให้จ่ายให้แก่ผู้ร้องได้โดยตรง แต่เนื่องจาก ล. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าว ซึ่งพิพากษาบังคับจำเลยให้จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 แก่โจทก์ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ใช้ราคา 40,000,000 บาท การที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ถูกยึดและขายทอดตลาดไปในคดีนี้แล้ว มีผลทำให้จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ล. ได้ ล. จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีดังกล่าวโดยให้จำเลยใช้ราคาที่ดินแปลงนี้แทน เมื่อการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปทำให้จำเลยได้เงินมาแทน กรณีถือได้ว่า ล. เจ้าหนี้จำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว ไปให้ศาลจังหวัดภูเก็ตดำเนินการในชั้นบังคับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต โดยนำไปชดใช้ราคาที่ดินที่จำเลยต้องชดใช้แทนให้แก่ ล. โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวเสียก่อน หากไม่มีราคาที่ดินที่ต้องชดใช้หรือเมื่อชดใช้ราคาที่ดินแล้วมีเงินเหลือเพียงใด ก็ให้จ่ายเงินนั้นแก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8946/2559

ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มี ห. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยได้รับการยกให้จากบิดาและครอบครองต่อมาอีก 27 ปี เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ห. จึงครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2520 ซึ่งผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 100 ไร่ กรณีการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนนั้นมีสิทธิในที่ดินต่อไป แต่ต้องไม่เกินหนึ่งพันไร่ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 29 วรรคสอง ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเฉพาะที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตาม ป.ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ราชพัสดุที่กระทรวงการคลังได้มาเนื่องจากการจัดซื้อของ ส.ป.ก. หรือมีผู้ยกให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ การโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวมิให้นำความในมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ราชพัสดุนอกจากนี้ไม่อาจนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เนื่องจากการโอนที่ราชพัสดุให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 5 เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นผู้ครอบครองมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และไม่ใช่ที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ ส.ป.ก. จะใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ดังนั้น ที่ ส.ป.ก. ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่ อ. อันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกหนังสืออนุญาตดังกล่าวทำให้ที่ดินพิพาทที่ถูกยึดขายทอดตลาดได้เป็นที่ดินที่ไม่อาจถูกบังคับคดีได้ก็ตาม แต่คดีนี้เป็นการพิจารณาเพียงว่าสมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่เท่านั้น เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อออกขายทอดตลาด มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนกัน และยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีจึงมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ถอนการบังคับคดี การเพิกถอนการขายทอดตลาดมีผลเพียงเท่ากับยังมิได้ขายทอดตลาด ต่อไปภายหน้าหากเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินยุติลงก็อาจนำออกขายทอดตลาดใหม่ได้ ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดกับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข.) ที่ออกให้แก่ อ. นั้น ฉบับใดจะออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องว่ากล่าวกันต่อไปต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6134/2559

ในวันนัดไต่สวนคำร้องเพื่อขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ ศาลพิเคราะห์คำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดการไต่สวน แล้วศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในส่วนคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ว่า กรณีไม่มีเหตุให้เลื่อนคดี ให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์เพราะไม่มีเหตุตามคำร้องหรือไม่เชื่อว่าพยานโจทก์เจ็บป่วยจริง ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องพิจารณาถึงเหตุจำเป็นที่จะให้เลื่อนคดีตามคำร้องของโจทก์ หรือสั่งให้เจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูอาการเจ็บป่วยของพยานโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41 แต่อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีตามคำร้องของโจทก์ในประเด็นใด อย่างไร ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์แล้วมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามคำร้องของโจทก์ต่อไปโดยไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว


กรณีที่จะเป็นการขายทอดตลาดอันฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้คัดค้านราคาขายทอดตลาดแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดไปโดยไม่ขยายระยะเวลาขายทอดตลาด แต่ตามคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์อ้างว่า ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของโจทก์ ผู้แทนโจทก์ออกไปทำธุระส่วนตัวซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อผู้แทนโจทก์กลับเข้าห้องขายทอดตลาดอีกครั้ง ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปโดยไม่มีผู้คัดค้าน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายใดที่จะต้องประกาศหรือโทรศัพท์ติดตามโจทก์เพื่อให้โจทก์มาคัดค้านราคาขายทอดตลาดก่อนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้เป็นการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง


ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ว่าผู้แทนโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเอง และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมีราคาซื้อขายสูงถึง 1,000,000 บาท และผู้แทนโจทก์ได้รับมอบหมายให้เข้าสู้ราคาไม่ต่ำกว่า 680,000 บาท ฟังไม่ขึ้น เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้ มิได้เป็นการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร ทั้งไม่มีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคา หรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง มิใช่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2559

ป.พ.พ. มาตรา 510 บัญญัติว่า "ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป" คดีนี้แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดโดยระบุว่า ขายที่ดินแปลงที่ 1, 4 และ 5 รวมกัน แปลงที่ 2 และ 3 รวมกัน แต่ในวันขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงรวมกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีสอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน และได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แถลงให้ผู้เข้าร่วมประมูลและผู้สนใจเข้าฟังการขายทอดตลาดทราบแล้วว่าจะรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกัน โดยจำเลยที่ 2 มาดูแลการขายทอดตลาดด้วย แต่จำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันแต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น จึงเป็นการปฏิบัติไปตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งคำโฆษณาบอกขายว่าเป็นการรวมขายหรือแยกทรัพย์สินเป็นเพียงวิธีการในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดี อันเป็นรายละเอียดของการขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดหรือข้อกำหนดของศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำคำโฆษณาบอกขายระบุถึงรายละเอียดวิธีการขาย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าการรวมขายไปด้วยกันเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้น เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจจัดรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 (1) (ข) ถือได้ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำโฆษณาบอกขายหรือข้อความอื่นซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 510 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในการขายทอดตลาดต้องทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย การขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2559

การที่จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่ใช้ราคาซื้อทรัพย์ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดอีกซ้ำหนึ่ง และได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมนั้น จำเลยผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และการกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย


การที่จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งแรกและต้องรับผิดในส่วนราคาที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 309 ทวิ ในอันที่จะโต้แย้งคัดค้านการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้หากดำเนินการไปโดยไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่มาดูแลการขายโดยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งใหม่อ้างว่าการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และไม่ได้คัดค้านว่าการที่โจทก์ซื้อทรัพย์รายพิพาทจากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคา 4,440,000 บาท เกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้และเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ การขายทอดตลาดครั้งใหม่จึงเป็นการดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่ขาดจำนวน 8,760,000 บาท ซึ่งการที่จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่มีจำนวนมากเพียงนั้นก็เกิดจากจำเลยเองด้วยที่เสนอราคาสูงสุดในครั้งก่อนสูงถึง 13,200,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาประเมินทรัพย์รายพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเพียง 8,870,000 บาท โจทก์ใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดในส่วนต่างคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2559

การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 อันว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวและจะต้องขายทรัพย์ให้แก่ผู้ให้ราคาสูงสุด ในการขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด จึงชอบแล้ว ส่วนการที่ผู้ซื้อทรัพย์กล่าวอ้างว่าจำเลยขอร้องให้ผู้ซื้อทรัพย์ช่วยประมูลซื้อทรัพย์และให้สัญญาว่าหากผู้ซื้อทรัพย์ชนะการประมูล จำเลยจะโอนสิทธิการเช่าทรัพย์ที่จำเลยมีต่อบุคคลภายนอกมาเป็นของผู้ซื้อทรัพย์ แล้วจำเลยผิดสัญญา หากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อทรัพย์จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดคดีนี้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 หาใช่เป็นผู้แทนจำเลยไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2559

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของ ป. ผู้ขอประกันจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินมีสภาพและที่ตั้งไม่ตรงตามรายงานการยึดทรัพย์ แผนที่ตั้งที่ดินโดยสังเขปและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยปกติศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ว่าจะคัดค้านหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวน ส่งสำเนาให้ผู้ประกันและเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งคำร้องของผู้ร้องมิใช่เป็นคำขอที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้ว่าจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนกระทั่งมีคำสั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559 

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2559

โจทก์ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แก่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (5) และภาษีที่คำนวณหักไว้ให้นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน เงินภาษีจำนวน 5,486,200 บาท ที่โจทก์ขอคืนในคดีนี้ เป็นเงินที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 52 วรรคสอง เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม อันมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฟ้องขอคืนเงินภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่การขอคืนเงินภาษีและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียที่อยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษี 5,486,200 บาท จากจำเลย


ก่อนที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย และจำเลยรับเงินภาษีที่มีการนำส่งดังกล่าวโดยมีสิทธิตามกฎหมาย การที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังและมิใช่เหตุที่จะโทษจำเลยได้ จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดใด ๆ ที่จะต้องคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่เมื่อต่อมามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว กรณีเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้และต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2552 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14890/2558 

เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 245 มีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ เนื้อที่ 54.6 ตารางวา มีสิ่งปลูกสร้างที่จะทำการขายด้วย คือ บ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียว ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 1 หลัง ไม่ปรากฏเลขทะเบียน ผู้ร้องซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ หลังจากนั้นผู้ร้องให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัด ปรากฏว่าบ้านหลังดังกล่าวมีส่วนที่ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียง 6x2 เมตร เท่านั้น จึงถือว่าบ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียวขนาด 6x12 เมตร ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดไม่มีอยู่จริง ดังนั้น การยึดบ้านทั้งหลังออกขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการบังคับคดีไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลมีอำนาจเพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดและทราบว่ามีส่วนของบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียงบางส่วนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง โดยมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ ทั้งมิได้ให้สัตยาบันหลังจากได้ทราบเรื่องการบังคับคดีไม่ชอบ ผู้ร้อง (ผู้ซื้อทรัพย์) จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14123/2558 

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยคดีนี้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่งแล้ว ครั้นระหว่างการพิจารณาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กับทั้งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่ง แล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ คดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่ต้องเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความเพราะมิได้บังคับต่อบุคคลภายนอก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8689/2558 

ตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องโดยไม่ชอบเพราะผู้ร้องไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มีชื่อและชื่อสกุลซ้ำกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีคำขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดตั้งแต่มีการยึดทรัพย์ หาใช่เป็นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ และตามคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการมาทั้งหมดย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องได้ เพราะผู้ร้องมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด รวมทั้งกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดเพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมาตรา 296 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7062/2558 

คำร้องของผู้ร้องที่อ้างว่ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมของบริษัท พ. และมีผลให้บริษัทดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้ กับมีคำขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และมีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 มีผลเท่ากับเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ในเรื่องเดียวกันที่ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีที่ไว้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ปัญหาที่ว่าคำร้องของจำเลยที่ 3 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9314/2557 

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีบรรยายสภาพที่ดินว่าติดทางสาธารณะ แต่แผนที่สังเขปแสดงข้อมูลถูกต้องว่าติดทางในหมู่บ้านจัดสรร จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์และใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อทรัพย์ การที่จำเลยทั้งสามไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ดีก่อนทำการประมูลว่าแท้จริงที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณะหรือทางส่วนบุคคล จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยทั้งสามเองเพราะตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้แล้วว่าเรื่องเขตเนื้อที่ ประเภทและสภาพของทรัพย์ เป็นหน้าที่ผู้ซื้อที่จะต้องไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตนเอง จำเลยทั้งสามจึงยกเรื่องดังกล่าวมากล่าวอ้างว่า เข้าซื้อทรัพย์โดยถูกกลฉ้อฉลทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์หาได้ไม่ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุรายละเอียดในประกาศไม่ถูกต้องทั้งหมด ก็ไม่ถึงขนาดที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง เพราะก่อนซื้อจำเลยทั้งสามได้ตรวจสอบทำเล สภาพและสถานที่ตั้งแล้ว พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อ ป.พ.พ. มาตรา 514 บัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดย่อมพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่กรณีของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องที่สู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้วไม่ชำระราคา จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 514 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดอีกครั้งหนึ่งได้ราคา 10,500,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และสัญญาซื้อขายจำเลยทั้งสามจึงต้องชำระเงินส่วนที่ขาด 1,650,000 บาท แก่โจทก์ สัญญาซื้อขายระบุชัดว่า ขอวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 15 วัน เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินมัดจำ เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ชำระราคาภายในกำหนด จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิริบเงินดังกล่าว เมื่อริบเงินดังกล่าวแล้วย่อมไม่สามารถนำมาหักจากเงิน 1,650,000 บาท ที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2557 

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินมาวางต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ประกอบมาตรา 296 วรรคห้า จำเลยจึงชอบที่จะเรียกคืนได้หากไม่มีบุคคลใดยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ประกอบมาตรา 296 วรรคหก เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยและไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบุคคลอื่นใดที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องของจำเลยนั้น ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนล่วงพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นสิทธิของจำเลยที่จะเรียกร้องเอาเงินประกันดังกล่าวคืนจากศาล จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบุคคลภายนอกให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนอกจากที่กำหนดไว้ตามมาตรา 310 และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเช่นว่านั้นได้ตามมาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 278 และมาตรา 282 (2) 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556 

คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9592/2556 

เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ตามคำขอให้บังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ผู้นำยึดแล้ว การที่โจทก์เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีผลเพียงทำให้โจทก์หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น มิได้ทำให้การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่ดำเนินการมาโดยชอบสิ้นผลไป และการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันมิได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย แต่เลือกใช้สิทธิที่จะบังคับแก่หลักประกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องต่อไปในคดีนี้ได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 จากล้มละลาย ก็มิได้ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีหมดไปไม่ ส่วนเมื่อได้มีการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันแล้วจะมีเงินเหลือเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนปลดจากการล้มละลาย ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนเข้ามาในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 112 กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการบังคับคดี 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2556 

โจทก์ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า ส. ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากตายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ ส. โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19128/2555 

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ย่อมตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 เพื่อให้การบังคับคดีเสร็จไปเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องคดีค้างพิจารณาที่ศาลจำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 44 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีได้ แม้การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ ของผู้ร้อง อาจเป็นไปเพื่อใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งตกทอดแก่ตนในฐานะทายาทก็ตาม แต่การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะในชั้นบังคับคดีนั้น จำต้องได้ความว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายเกิดขึ้นในชั้นบังคับคดีเสียก่อน เมื่อคำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 อย่างไร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 ลำพังเพียงเหตุว่าโจทก์ไม่บังคับคดีภายในสิบปี หาก่อให้เกิดสิทธิในการรับมรดกความเพื่อต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้ไม่ ทั้งการบังคับคดีภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็เป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจผู้ร้องที่จะร้องขอให้การบังคับคดีสิ้นผลเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาสิบปีได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16991/2555 

การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์เดิมจากการขายทอดตลาดจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องไม่ชำระราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อไว้ครั้งก่อน จึงไม่มีราคาทรัพย์ส่วนที่ขาดที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14209/2555 

ตามข้อสัญญาท้ายประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุไว้ว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่ และแผนที่การไปที่ปรากฏในประกาศ และถือว่าผู้ซื้อได้ทราบถึงสภาพทรัพย์โดยละเอียดครบถ้วนแล้ว ซึ่งหากผู้ร้องทำการตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องผู้ร้องก็สามารถทักท้วงเพื่อให้แก้ไขเสียได้ ไม่มีเหตุผลที่ผู้ร้องจะเสี่ยงเข้าไปสู้ราคาในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเองและถือเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ร้องที่ไม่ทำการตรวจสอบให้ดีเสียก่อน และที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาประเมินที่ดินตารางวาละ 1,500 บาท ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าสูงกว่าราคาประเมินที่แท้จริงคือ ตารางวาละ 500 บาท นั้น ก็ปรากฏว่าราคาประเมินที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นเป็นราคาประเมินที่ดินในปัจจุบัน แต่ราคาประเมินที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นราคาประเมินขณะทำการยึดตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2546 ตามสำเนารายงานการยึด ซึ่งราคาประเมินอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดี ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12758/2555 

คดีนี้หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์จำนอง หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดไว้อันถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปตามอำนาจหน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือถือได้ว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาลล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2554 

คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23422 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19323 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบ และขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสองมีหนี้ค้างชำระต้องถูกยึดทรัพย์อื่นอีก อันเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี โจทก์ทั้งสองหาอาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ไม่และในกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2554 

เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินประกันผลงานของจำเลยไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธการส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ได้มีการหักเงินประกันผลงานไปแล้วและไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องยังมีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยอยู่หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2554 

จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าการขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรอันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรโดยมิชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันประมูลราคา แม้การขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จะมีโจทก์เข้าสู้ราคาเป็นผู้ซื้อทรัพย์เพียงรายเดียวก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการขายทอดตลาดไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันด้วยประกอบกับยังได้ความอีกว่า การขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นการขายทอดตลาดครั้งที่ 19 ซึ่งการขายทอดตลาดครั้งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ใดสนใจเข้าสู้ราคานอกจากโจทก์ดังนั้น การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2554 

ผู้ร้องทั้งสามทราบประกาศการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสามโดยชอบ และทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นวันขายทอดตลาดแล้ว แต่ผู้ร้องทั้งสามมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่อีก 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2552

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองผู้ร้องทั้งสองยื่น อุทธรณ์ ดังนี้ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่า คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูลและยื่นเข้ามา เพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้ง สองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก การที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสอง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10694/2551

คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 2 มีประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยชอบหรือไม่ และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินสมควรหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยทั้งสองประเด็นและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 เฉพาะประเด็นเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เท่านั้น อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ มาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามมาตรา 296 วรรคสอง เป็นที่สุดการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2551

โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายจำนวน 204,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีราคาประเมิน 13,058,600 บาท และปรากฏในสำนวนว่ามีผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดในราคา 3,920,000 บาท โดยมีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 ตามเอกสารท้ายฎีกา หมายเลข 6 แต่ไม่ปรากฏว่าการยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดได้รับความยินยอมเป็นหนังสือ จากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง การยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 30 วรรคสอง และมาตรา 33 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคท้าย เพราะการยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดในคดีนี้มิใช่การยึดและขายทอดตลาด ที่ดินจัดสรรทั้งโครงการซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากการขาย ทอดตลาดต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินรวมทั้งรับโอนสิทธิและ หน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2551

คำร้องของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทำให้ จำเลยไม่ทราบวันขายทอดตลาดนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาด ทรัพย์สินของจำเลยโดยมิได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ ซึ่งฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำมาตรา 27 มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องหลังจากการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวเสร็จลงจึงล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3800/2551

การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายแจ้งวันประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 306 จำเลยที่ 2 มิได้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาด ทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลใน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 296 มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นที่สุด จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้ถึงที่สุดไม่


ตามบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) และมาตรา 316 วรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อไปคือการจัดทำบัญชีแสดงรายการ รับ - จ่าย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคหนึ่ง และการจ่ายเงินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 318 หากเจ้าพนักงานบังคับคดียังปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น จะถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ โจทก์เนื่องจากยังไม่ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ดังนี้ จึงถือว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จลง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์นี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3794/2551

ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะร้องขอให้ยกเลิกการขายที่ดินพิพาท และให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายและส่งมอบที่ดิน พิพาทให้แก่ผู้ร้องได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้คัดค้านการขายทอดตลาดมาโดยตลอด ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถพัฒนาที่ดินพิพาทเพื่อขายในทางธุรกิจได้ตามเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ และต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายไปจนกว่าศาลจะพิพากษาคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องคัดค้านการขายทอดตลาดจะถึงที่สุดซึ่งอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีหาได้ไม่ เพราะข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องมิได้เป็นข้อกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงาน บังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งภาค 4 ลักษณะ 2 อันว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2551

ป.พ.พ. มาตรา 719 วรรคสอง ให้อำนาจแก่ผู้รับจำนองที่จะยึดเอาสิ่งปลูกสร้างอันผู้จำนองปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะยึดสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 พร้อมกับที่ดินด้วยโดยไม่จำต้องขอให้ศาลระบุในหมายบังคับคดีว่าให้ยึดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองด้วย และมิใช่เป็นการบังคับคดีเกินหรือนอกเหนือจากที่ได้ระบุในหมายบังคับคดีแต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์ไม่จำต้องแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าหากขายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน รวมไปด้วยจะทำให้การขายทอดตลาดกระทำได้ง่ายและจะได้ราคาแต่ประการใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3791/2551

การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองครั้งที่ 9 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2545 ไว้ก่อนทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นกรณีที่โจทก์ของดการบังคับคดีไว้ชั่ว ระยะเวลาหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3)(เดิม) ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตาม การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำแถลงของโจทก์ดังกล่าวแล้วมีคำสั่งให้ยก คำแถลงดังกล่าวโดยไม่แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ จากนั้นดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อไป ถือว่าได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2551

จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในคำร้องว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้แก่โจทก์ตลอดมา คงเหลือหนี้ที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยเพียง 12,000,000 บาท ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินรวมเป็นเงิน 12,010,000 บาท พอจำนวนที่ชำระหนี้แล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงนำทรัพย์สินที่เหลือออกขายทอดตลาด คำร้องดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียหายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่ วันที่ทราบข้อความหรือพฤติกรรมอันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามมาตรา 296 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2550

ตามคำร้องของผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ศาลยกเลิกการขายทอดตลาดที่ได้ขายไปแล้ว โดยอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องประสงค์จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยอ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งกรณีจะเป็นเรื่องของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองนั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบท บัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้ เสร็จลง ขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนแต่ตามคำร้องของผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างเลยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งการบังคับคดี ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. แต่ประการใด เพียงแต่กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์และธนาคารที่ รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวได้รับจำนองไว้โดยไม่สุจริตจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองนั้น หากเป็นความจริงก็มิใช่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่อาจยกเหตุที่ผู้ร้องอ้างมาเพิกถอนการขายทอดตลาดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2550

การร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต้องร้องขอในคดีที่มีการบังคับคดีนั้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง จะร้องขอในคดีหนึ่งให้เพิกถอนการบังคับคดีอีกคดีหนึ่งไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2550

เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีต่าง ไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูก จำกัดให้น้อยลง ขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการสู้ราคากันโดยเปิด เผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 308 แม้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้ เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้ว แต่กรณีเป็นราคาที่สมควรขาย ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตามมาตรา 296 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6197/2550

การที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคท้าย ให้แก่เจ้าพนักงานศาล มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว


เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 288 แม้ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่ได้ไปคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ได้ไปแจ้งอายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อห้ามโอนที่ดินพิพาท ก็ไม่อาจถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ


การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วกลับนำที่ดิน พิพาทมาขายทอดตลาด โดยไม่รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นในเรื่องร้องขัดทรัพย์เสียก่อนซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับ คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง อันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5874/2550

การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสองนั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 50,000 บาท ภายใน 15 วัน เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยโต้แย้งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของ จำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4522/2550

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 และมาตรา 302 บัญญัติกำหนดให้อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับ มอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน" เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดี ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้คัดค้านไม่ใช่คู่ความในคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2550

อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขใหม่ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่โดย พ.ร.บ. นี้มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที


การขายทอดตลาดที่มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสองของมาตรานี้เป็นที่สุด กรณีมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันกันในการประมูลราคา ดังนั้น แม้การขายทอดตลาดทรัพย์สินคดีนี้จะมีผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้โดยชอบ


ป.วิ.พ. มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสีย ในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดย ประการอื่น คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบก็ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2550

การประเมินราคาทรัพย์สินนั้นเป็นเพียงการประมาณราคาในเบื้องแรกตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ซึ่งราคาที่ประเมินไว้เป็นไปได้ว่าอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ก็หาใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่ผูกมัดผู้ที่มีส่วนได้เสียในการบังคับ คดีหรือศาลว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องให้เป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงาน บังคับคดีประเมินไว้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด โดยเฉพาะหากจำเลยที่ 2 เห็นว่า ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ต่ำไป ก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดเพื่อให้เจ้าพนักงาน บังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินออกไป ดังนั้น กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลย ที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งราคาประมูลทรัพย์สินใหม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2550

เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ซึ่งจำเลยผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ได้ทราบคำสั่งศาลและกำหนดวันขาย ทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดตามกฎหมายแล้ว ส่วนการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ใดเป็นขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นระเบียบภาย ในของกรมบังคับคดีเพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ใน การขายทอดตลาดทรัพย์เท่านั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการประกาศขายทอดตลาด ทางหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยอ้างส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงาน บังคับคดีก็เป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ ได้ และการกำหนดราคาเริ่มต้นขายตามประกาศกรมบังคับคดีก็ไม่ได้ผูกมัดจำเลยหรือ โจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องเป็น ไปตามราคาดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใดซึ่งหากจำเลยเห็นว่า ราคาต่ำไป ก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลย อันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2549

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำเงินมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่า สินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามคำพิพากษากับคำสั่งที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิก ถอนการยึดทรัพย์และคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2549

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึด เป็นเพียงการประมาณราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ราคาที่ประเมินจึงอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ แม้จำเลยจะไม่เห็นด้วย จำเลยก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้ และไม่มีหลักเกณฑ์ใดผูกมัดว่าการขายทอดตลาดจะต้องเป็นไปตามราคาที่ประเมิน จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่จะร้องขอต่าศาลตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาใหม่ได้