Pages

ถอนการบังคับคดี (แก้ไขปี 60)

 ส่วนที่ ๙

การถอนการบังคับคดี


มาตรา ๒๙๒ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีดังต่อไปนี้

 

(๑) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีเนื่องจากลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาและได้วางเงินต่อศาลเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาลสำหรับจำนวนเงินเช่นว่านี้


(๒) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีเนื่องจากคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับหรือถูกยก หรือหมายบังคับคดีได้ถูกเพิกถอน แต่ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีนั้นได้ถูกกลับแต่เพียงบางส่วน การบังคับคดีอาจดำเนินการต่อไปจนกว่าเงินที่รวบรวมได้นั้นจะพอชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา


(๓) เมื่อศาลได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา ๑๙๙ เบญจ วรรคสาม หรือมาตรา ๒๐๗


(๔) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีตามมาตรา ๒๙๓


(๕) เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี


(๖) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดี ในกรณีเช่นว่านี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นจะบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับหนี้นั้นอีกมิได้


(๗) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนขอถอนการบังคับคดี


มาตรา ๒๙๓ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดีนั้นเสีย


มาตรา ๒๙๔ ในกรณีที่มีการยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงิน หรือในกรณียึดหรืออายัดเงิน หรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเองหรือถอนโดยคำสั่งศาล และผู้ขอให้ยึดหรืออายัดไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และผู้ขอให้ยึดหรืออายัดเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีนั้นและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีได้เอง โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2562

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาไฟฟ้า ส่วนจำเลย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของตนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดมีทางผ่านที่ของโจทก์ทั้งสามออกสู่ทางสาธารณะ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับจึงมีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกส่วนพิจารณาความเกี่ยวพันของคู่ความเป็นรายๆ แยกต่างหากจากกันได้ ทั้งไม่อาจถือได้ว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะหากคู่ความมีเจตนาเช่นนั้นแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความคู่ความทุกฝ่ายย่อมต้องระบุข้อตกลงเช่นว่านั้นไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงชัดเจนว่าให้เส้นทางที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ "เป็นทางสาธารณะ" แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้และได้ประโยชน์ในทางดังกล่าวเพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนได้เสียที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ทางที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณะได้ แม้โจทก์ที่ 3 จะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้จากผู้ร้องด้วยการรับโอนที่ดินพิพาทที่ 4 แล้วก็ตาม การดำเนินการบังคับคดีของโจทก์ที่ 3 ชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อีกทั้งเมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21964 และที่ดินพิพาทที่ 1 จากโจทก์ที่ 2 และจำเลย ภายหลังจากที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้แสดงเจตนาตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่ายกให้ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 เป็นทางสาธารณะการแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมมีผลให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันทันทีที่แสดงเจตนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นที่ดินของจำเลยและโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จำเลยและโจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในอันที่จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และขอเพิกถอนการบังคับคดีได้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย กรณีเป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่ เมื่อตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าโจทก์ทั้งสามและ จำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแสดงเจตนา โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ดำเนินการตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยในการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ และการดำเนินการบังคับคดีด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี กรณีจึงมิใช่การบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) เมื่อในหน้าปกสำนวนศาลได้ออกคำบังคับแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับแล้ว ส่วนผู้ร้องเมื่อมิใช่ผู้สืบสิทธิตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำบังคับให้ การที่ศาลไม่มีหมายบังคับคดีแก่โจทก์ที่ 2 จำเลย และผู้ร้อง จึงไม่ทำให้การดำเนินการของโจทก์ที่ 3 ไม่ชอบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562

การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า โจทก์นำยึดที่ดินมรดกโดยยังมิได้ตกลงแบ่งกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าอันเป็นการบังคับคดีไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามคำพิพากษาจนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลของการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี กฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี แต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฏิบัติในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้เสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์นำยึดที่ดินมรดกเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีตามสิทธิที่โจทก์ได้รับดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดนั้น จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับในทรัพย์สินที่ยึด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8034/2561

ตามฎีกาของจำเลยยืนยันว่า การขายทอดตลาดที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้และที่ยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 เป็นการขายทั้งโครงการจัดสรรของจำเลย และปรากฏในอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลย ที่ดินในโครงการถูกโอนขายไปยังผู้ซื้อบางส่วนแล้ว โจทก์จึงยึดได้เฉพาะที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายไปเท่านั้น และเป็นการยึด 2 คดี คือ คดีนี้ยึดที่ดิน 20 แปลง คดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ยึดที่ดิน 60 แปลง ข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงตรงกันว่า ที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายถูกยึดไว้ในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้และที่ถูกยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้นโดยจะขายรวมกันไป จึงเป็นการขายที่ดินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดในโครงการจัดสรรของจำเลยในคราวเดียวกัน โดยไม่จำต้องเป็นการขายที่ดินครบถ้วนทุกแปลงเต็มจำนวนที่ดินแปลงย่อยที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดินไว้เท่านั้น แต่กรณีเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการเช่นกัน อันมีผลให้ผู้ซื้อจะต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินและรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคสี่ แต่การรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งโครงการได้จากการขายทอดตลาดจะต้องดำเนินการภายหลังจากเป็นผู้ประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง


นอกจากนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8918 และ 8919 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและสวนสาธารณะของโครงการจัดสรรดังกล่าว ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการขายที่ดินจัดสรรทั้งโครงการด้วย ซึ่งเมื่อผู้ซื้อต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร กรณีเช่นนี้ จึงไม่ใช่การก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 33 ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกันไปกับที่ดินแปลงอื่นทั้งหมดอันเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม)

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 21/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน


เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2560

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของผู้ร้องเนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์มีต่อจำเลยระงับไปแล้ว เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อโจทก์อีกต่อไปและการบังคับคดีโดยการยึดที่ดินของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินที่ยึดเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและโจทก์ก็ตาม แต่หากหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยเป็นหนี้ที่ระงับไปแล้ว การยึดที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายจากเหตุดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดโดยอ้างว่าทรัพย์สินที่ยึดไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการยึดทรัพย์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2560

การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 211/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โดยขณะนำยึดทรัพย์สินนั้นคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่และยังไม่ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) และบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี แม้ศาลแพ่งจะได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะถอนการบังคับคดีโดยโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับคดีไว้ และแม้เมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ได้ชำระก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 (3) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8946/2559

ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มี ห. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยได้รับการยกให้จากบิดาและครอบครองต่อมาอีก 27 ปี เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ห. จึงครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2520 ซึ่งผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 100 ไร่ กรณีการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนนั้นมีสิทธิในที่ดินต่อไป แต่ต้องไม่เกินหนึ่งพันไร่ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 29 วรรคสอง ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเฉพาะที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตาม ป.ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ราชพัสดุที่กระทรวงการคลังได้มาเนื่องจากการจัดซื้อของ ส.ป.ก. หรือมีผู้ยกให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ การโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวมิให้นำความในมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ราชพัสดุนอกจากนี้ไม่อาจนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เนื่องจากการโอนที่ราชพัสดุให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 5 เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นผู้ครอบครองมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และไม่ใช่ที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ ส.ป.ก. จะใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ดังนั้น ที่ ส.ป.ก. ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่ อ. อันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกหนังสืออนุญาตดังกล่าวทำให้ที่ดินพิพาทที่ถูกยึดขายทอดตลาดได้เป็นที่ดินที่ไม่อาจถูกบังคับคดีได้ก็ตาม แต่คดีนี้เป็นการพิจารณาเพียงว่าสมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่เท่านั้น เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อออกขายทอดตลาด มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนกัน และยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีจึงมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ถอนการบังคับคดี การเพิกถอนการขายทอดตลาดมีผลเพียงเท่ากับยังมิได้ขายทอดตลาด ต่อไปภายหน้าหากเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินยุติลงก็อาจนำออกขายทอดตลาดใหม่ได้ ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดกับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข.) ที่ออกให้แก่ อ. นั้น ฉบับใดจะออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องว่ากล่าวกันต่อไปต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2559

โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยตกลงกันว่าจำเลยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งน้อยกว่ายอดเงินเต็มตามฟ้องแก่โจทก์ โดยแบ่งชำระ 6 งวด ตามกำหนด และจะชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ การตีความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระยอดเงินเต็มตามฟ้องจะต้องเป็นไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่า "จำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง" จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์


จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ครบทั้ง 6 งวด ตามสัญญาประนีประนอมความที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยการชำระเงินงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ตรงตามกำหนด การชำระเงินงวดที่ 5 ถึงกำหนดวันอาทิตย์ จำเลยจึงชำระเงินแก่โจทก์โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันจันทร์ และการชำระเงิน งวดสุดท้ายถึงกำหนดสิ้นเดือนเมษายน 2556 วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นวันแรงงานแห่งชาติอันเป็นวันหยุดของสถานประกอบการของจำเลย จำเลยจึงโอนเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 อันเป็นโอกาสแรกที่ทำได้ ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดมาเพียง 2 วัน ดังนี้เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยโดยตลอดแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2559

โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยหลายรายการเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามอันมีผลให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายอุทธรณ์ชนะในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 251 (เดิม) ซึ่งบังคับใช้ในขณะยื่นฟ้อง จำเลยจะยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลในข้อนั้น ๆ ก็ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยังฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกากำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ด้วยการมีคำสั่งให้การบังคับคดียังคงมีผลต่อไป และศาลฎีกาได้มีคำสั่งคำร้องที่ 1315/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ก็มิใช่คำพิพากษาถึงที่สุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยังฎีกาอยู่ การยึดและอายัดทรัพย์สินจึงยังคงมีผลอยู่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559

โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280/2559

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 25 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยต้องทำการไต่สวนก่อน ดังนั้นหากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำขอของจำเลยที่ 2 แล้วก็ไม่จำต้องทำการไต่สวนคำขอ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15600/2558

คดีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ผลของคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวทำให้มาตรการคุ้มครองกิจการหรือสภาวะพักการชำระหนี้ตามมาตรา 90/12 ในคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 3 ย่อมสิ้นสุดลง สิทธิและหน้าที่ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ย่อมกลับเป็นไปดังเดิมที่มีต่อกันอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้เพิกถอนการยึดห้องชุดพิพาทได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14890/2558

เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 245 มีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ เนื้อที่ 54.6 ตารางวา มีสิ่งปลูกสร้างที่จะทำการขายด้วย คือ บ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียว ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 1 หลัง ไม่ปรากฏเลขทะเบียน ผู้ร้องซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ หลังจากนั้นผู้ร้องให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัด ปรากฏว่าบ้านหลังดังกล่าวมีส่วนที่ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียง 6x2 เมตร เท่านั้น จึงถือว่าบ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียวขนาด 6x12 เมตร ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดไม่มีอยู่จริง ดังนั้น การยึดบ้านทั้งหลังออกขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการบังคับคดีไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลมีอำนาจเพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง


เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดและทราบว่ามีส่วนของบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียงบางส่วนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง โดยมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ ทั้งมิได้ให้สัตยาบันหลังจากได้ทราบเรื่องการบังคับคดีไม่ชอบ ผู้ร้อง (ผู้ซื้อทรัพย์) จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14408/2558

จำเลยที่ 5 ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเนื่องจากเห็นว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรซึ่งเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดแล้วว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินไปมีราคาเหมาะสมแล้วและไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 5 ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวให้เป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ที่อ้างว่ายังมีเหตุจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอีกจึงไม่เป็นสาระที่จะต้องวินิจฉัย


ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดี พ.ศ.2522 ข้อที่ 68 วรรคแรก กำหนดว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นที่ดิน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการปิดประกาศกำหนดวันขายทอดตลาดไว้ ณ ที่ตั้งของที่ดินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้น และ ป.วิ.พ. มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดทราบซึ่งคำสั่งของศาลให้ขายทอดตลาดและวันขายทอดตลาดนั้น ระเบียบของกระทรวงยุติธรรมดังกล่าวข้างต้นหาได้เป็นข้อกฎหมายไม่ แต่เป็นระเบียบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้ ณ ที่ดินที่ขายทอดตลาดจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบังคับคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่โจทก์แม้จะเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 306 อันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 5 ที่อ้างเหตุดังกล่าวก็คงกล่าวอ้างแต่เพียงลอย ๆ ไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 5 ต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวอย่างไร จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดซึ่งเป็นวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 296 วรรคสอง ประกอบกับได้ความจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์และผู้ดูแลการขายทอดตลาดของโจทก์คดีนี้ซึ่งมาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 5 ว่า แม้ฝ่ายโจทก์จะเข้าดูแลการขายทอดตลาดในครั้งนี้ก็จะไม่คัดค้านราคาเนื่องจากขายได้ราคาสูงกว่าราคาที่ฝ่ายโจทก์ได้คัดค้านราคาไว้ในการขายทอดตลาดครั้งแรกจึงเป็นที่พอใจแก่ฝ่ายโจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้รับความเสียหายจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนการขายทอดตลาด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14123/2558

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยคดีนี้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่งแล้ว ครั้นระหว่างการพิจารณาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กับทั้งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่ง แล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ คดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่ต้องเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความเพราะมิได้บังคับต่อบุคคลภายนอก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14001/2558

แม้คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 ต่างเป็นสำนวนของศาลชั้นต้นเดียวกัน แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นบุคคลเดียวกัน และพิพาทกันในมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อขาย ฉบับเดียวกันก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็เพียงแต่มีคำสั่งให้นำสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 มาผูกรวมกับสำนวนคดีนี้ โดยมิได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเหล่านี้รวมกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 28 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 ศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดไปก่อนในลักษณะวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ต่างสำนวนกันกับคดีนี้ จึงไม่อาจจะถือว่าสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 เป็นส่วนหนึ่งของคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นคดีนี้จะมีคำสั่งข้ามสำนวนไปเพิกถอนการบังคับคดี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 15529 - 15530/2541 นั้นได้ และปัญหาเกี่ยวด้วยอำนาจศาลในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่เมื่อเห็นสมควรศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2558

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ จ. กับพวกตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นเป็นทรัพย์รายเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องให้ จ. กับพวกรับผิดตามสัญญากู้ยืมและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่ จ. กับพวกไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวออกขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ จ. กับพวกยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จำเลยในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวว่า จำเลยมิใช่บริวารของ จ. กับพวกและอ้างว่า จำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนโจทก์ รวมทั้งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. ในอันที่จะบังคับให้ จ. ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลย จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ และมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 142 (1) โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อน การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อนนั่นเอง ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามไม่ให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6667/2558

คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกของ น. แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทด้วยกัน เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและเจ้าของรวมทุกคนพึงแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน หรือขายทรัพย์สินนั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ลำพังเพียงโจทก์เจรจากับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับมอบหมายจากทายาทอื่นให้เป็นตัวแทนเจรจากับโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าของรวมไม่อาจตกลงแบ่งทรัพย์สินกันได้ อันเป็นเหตุยึดทรัพย์มรดกมาขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง เมื่อถือไม่ได้ว่าการบังคับตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นไปตามลำดับขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สิน จึงต้องเพิกถอนการยึดทรัพย์มรดกเสีย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6274/2558

โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับจำนองแก่ห้องชุด ซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนองตามคำพิพากษา ส่วนผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทรัพย์ส่วนกลางที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดดังกล่าวค้างจ่ายแก่ผู้ร้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือห้องชุดอันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของจำเลย และเมื่อปรากฏว่าผู้จัดการผู้ร้องได้ส่งรายการหนี้ดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว บุริมสิทธิของผู้ร้องจึงอยู่ในลำดับก่อนจำนองตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์กับผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) และ (2) และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่า หนี้ของผู้ร้องที่นำมาขอรับชำระหนี้นั้นขาดอายุความแล้วเพื่อมิให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจากทรัพย์สินจำนองก่อนโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองซึ่งมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในทรัพย์สินจำนองนั้น


ฎีกาของผู้ร้องที่ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำร้องขอของผู้ร้องเป็นหนี้ที่จะต้องชำระเป็นงวด ๆ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในความหมายเป็นเงินค้างจ่าย ไม่อาจใช้อายุความ 5 ปี นั้น ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ การที่ผู้ร้องเพิ่งยกขึ้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5695/2558

การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งอันถึงที่สุดมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ไม่ใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 คดีดังกล่าวศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่คดีถึงที่สุด อายุความจึงเริ่มนับ แต่ปรากฏว่าระหว่างยังไม่พ้นอายุความในวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยชำระหนี้บางส่วนตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,064,440 บาท กรณีถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วน ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2554 ไปอีก 10 ปี ตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงอยู่ในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง โจทก์จึงมีสิทธินำมูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ และแม้ว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 2,064,440 บาท เพื่อให้โจทก์ถอนการบังคับคดีแพ่งเฉพาะจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่ดำเนินการ แต่ก็เป็นเงินจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับยอดหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงินรวมทั้งสิ้นถึง 12,584,200.40 บาท และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2558

หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายนั้น เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ยังค้างชำระอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงสามารถคำนวณได้ว่าเมื่อถึงวันฟ้องคดีล้มละลายจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเท่าใด ลักษณะแห่งมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีนั้น กรณีดังกล่าวหาทำให้หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วกลับเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนอีกแต่อย่างใดไม่


พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย โดยการที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวนั้นมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาฐานะของเจ้าหนี้ในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย แม้ว่าโจทก์จะเคยมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในทางจำนอง แต่ก็ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้ว ส่วนทรัพย์สินที่เหลือได้มีการไถ่ถอนไปแล้ว ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายนั้น โจทก์มิได้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อีก จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้ระบุให้เห็นชัดว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชิ้นใด กรณีจึงต้องฟังว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ธรรมดา โจทก์จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) แต่อย่างใด


การที่โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายนั้น มิใช่เป็นการบังคับในคดีเดิม กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่กรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติเรื่องอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด และมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538 นั้น ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืน และค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2538 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมสามารถบังคับคดีได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 10 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2740/2558

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเป็นการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 มิใช่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ในคดีนี้เมื่อยังไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ซึ่งติดจำนองอยู่แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้ก่อนเอาที่ดินนั้นออกขายทอดตลาดในคดีนี้ การจัดทำบัญชีรับ - จ่าย ในการบังคับคดีล้มละลายของโจทก์นั้นไม่เกี่ยวกับคดีนี้ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อมิให้ผู้ร้องเข้ามาขอรับชำระหนี้หรือสวมสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้แทนโจทก์ต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2558

ก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ทราบคำบังคับและหมายบังคับคดีได้ออกโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องชำระหนี้ที่เหลือตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ย่อมเป็นกองมรดกตกทอดแก่ทายาท แต่มิใช่ทายาทจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอออกคำบังคับหรือหมายบังคับแก่ทายาทอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2558

แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่ คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2558

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด บัญญัติว่า "ในกรณีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ผู้ขอเฉลี่ยหรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 287 หรือตามมาตรา 289 มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป" บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์มิให้เกิดปัญหาในการที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนเดียวกันในคดีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา รวมตลอดทั้งบุคคลภายนอกผู้ทรงสิทธิตามที่มาตรา 287 และมาตรา 289 บัญญัติไว้ จะได้รับการชำระหนี้หรือการคุ้มครองสิทธิของตนล่าช้า จึงกำหนดให้มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีในคดีที่ได้มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ก่อนแล้วต่อไปได้ แต่สำหรับคดีนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 128135 เพื่อนำออกขายทอดตลาด ได้แถลงขอถอนการบังคับคดีโดยเหตุผลว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งนี้เพราะหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 128135 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งตนนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องถอนการยึดและรายงานต่อศาล จึงมิใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ยึดสละสิทธิหรือเพิกเฉยในการบังคับคดี อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตามมาตรา 289 จะขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 290 วรรคแปด และชอบที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามสิทธิของตนเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11148/2557

หลังจากที่มีการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2553 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนการยึดทรัพย์และสละสิทธิในการบังคับคดีเนื่องจากได้รับชำระหนี้จากฝ่ายจำเลยทั้งสามแล้ว ถือได้ว่ามีการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้ว เพราะการบังคับคดีเพื่อให้มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษาสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ไม่ใช่มีเพียงการนำทรัพย์ที่ยึดมาขายทอดตลาดแต่อย่างเดียว ส่วนการโอนสำนวนการบังคับคดีไปไว้ในคดีล้มละลายก็เนื่องจากเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะสามารถจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้ ไม่ใช่ว่าเป็นกรณีการบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้นแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึด ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 295 (2) โจทก์ทั้งสามจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21019/2556

จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระหว่างอุทธรณ์ ไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงไม่เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินและจำเลยไม่ต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้ตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีเป็นอย่างอื่น และศาลอุทธรณ์พิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุด โจทก์จึงไม่สามารถบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อีก ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกเพิกถอนไป จึงเป็นกรณีการถอนการบังคับคดีด้วยเหตุคำพิพากษาที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เป็นกรณีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ ให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดค่าฤชาธรรมเนียมการบังคับคดีในชั้นที่สุด หากโจทก์ไม่ชำระเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีค่าธรรมเนียมดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 295 ตรี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556

คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2556

การร้องขอให้ถอนการบังคับคดีต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 295 แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 6 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นทำนองขอให้ศาลชั้นต้นถอนการบังคับคดีนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ได้อ้างเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 จำเลยที่ 6 จึงไม่อาจร้องขอให้ถอนการบังคับคดีได้ ส่วนที่จำเลยที่ 6 อ้างว่า ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์กับจำเลยที่ 6 ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ และจำเลยที่ 6 ได้ชำระหนี้ตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจมาบังคับคดีแก่จำเลยที่ 6 ได้อีกนั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ทำขึ้นนอกศาลโดยศาลมิได้รับรู้ด้วย โจทก์เองก็ยื่นคำคัดค้านว่า บันทึกดังกล่าว ทนายโจทก์คนเดิมทำขึ้นโดยไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ และทนายมีพฤติการณ์ร่วมมือกับฝ่ายจำเลยฉ้อฉลโจทก์ บันทึกดังกล่าวหากสามารถบังคับกันได้ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 6 จะต้องว่ากล่าวแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่ง กรณีจึงไม่ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9592/2556

เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ตามคำขอให้บังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ผู้นำยึดแล้ว การที่โจทก์เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีผลเพียงทำให้โจทก์หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น มิได้ทำให้การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่ดำเนินการมาโดยชอบสิ้นผลไป และการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันมิได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย แต่เลือกใช้สิทธิที่จะบังคับแก่หลักประกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องต่อไปในคดีนี้ได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 จากล้มละลาย ก็มิได้ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีหมดไปไม่ ส่วนเมื่อได้มีการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันแล้วจะมีเงินเหลือเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนปลดจากการล้มละลาย ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนเข้ามาในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 112 กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659/2556

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 188 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 คืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ก็ยังไม่มีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถบังคับคดีได้ทันที เพราะคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเนื่องจากการกระทำความผิดเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44 วรรคสอง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยเรื่องการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การบังคับตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมทั้งสามจึงยังไม่อาจบังคับตามคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้ การออกหมายบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2556

ที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายห้องชุด 114 ห้อง โดยแยกขายทีละห้องไปเป็นเหตุให้ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรและผู้เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาคบคิดกันฉ้อฉลนั้น เป็นกรณีที่อ้างว่า ราคาที่ได้การขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องแล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทางทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย


ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยร่วมค้างชำระแก่จำเลย ทั้งการขายทอดตลาดนัดที่ 1 ห่างจากวันที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีถึง 2 เดือนเศษ อยู่ในวิสัยที่จำเลยร่วมจะดำเนินการด้วยตนเองเพื่อทราบจำนวนหนี้ค้างชำระและวางเงินชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ข้อเท็จจริงยังถือไม่ได้ว่า เหตุที่ทำให้ต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทนั้นเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19128/2555

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ย่อมตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 เพื่อให้การบังคับคดีเสร็จไปเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องคดีค้างพิจารณาที่ศาลจำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 44 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีได้ แม้การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ ของผู้ร้อง อาจเป็นไปเพื่อใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งตกทอดแก่ตนในฐานะทายาทก็ตาม แต่การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะในชั้นบังคับคดีนั้น จำต้องได้ความว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายเกิดขึ้นในชั้นบังคับคดีเสียก่อน เมื่อคำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 อย่างไร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 ลำพังเพียงเหตุว่าโจทก์ไม่บังคับคดีภายในสิบปี หาก่อให้เกิดสิทธิในการรับมรดกความเพื่อต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้ไม่ ทั้งการบังคับคดีภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็เป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจผู้ร้องที่จะร้องขอให้การบังคับคดีสิ้นผลเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาสิบปีได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15791/2555

เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีซ้ำอีก แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับแรกได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ กรณีจึงถือว่าคำร้องฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีรายเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขึ้นอีกภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับแรกแล้วนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2554

เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินประกันผลงานของจำเลยไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธการส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ได้มีการหักเงินประกันผลงานไปแล้วและไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องยังมีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยอยู่หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9508/2553

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. เพราะก่อนที่ ว. จะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง โดยสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องตามคำร้องของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องร้องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตาม มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27


โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตามส่วน เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2553

จำเลยขอให้ถอนการบังคับคดีโดยชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้ว โจทก์รับว่าได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยแล้วทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งตามคำขอของจำเลยซึ่งเท่ากับโจทก์ก็ประสงค์ให้ถอนการบังคับคดีเช่นกัน กรณีย่อมไม่มีเหตุบังคับคดีจำเลยอีกต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด ศาลฎีกาให้ถอนการบังคับคดีจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2553

ป.วิ.พ. มาตรา 295 บัญญัติว่า "ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้ (1) เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาล แล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดี หรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับจำนวนเงินเช่นว่านั้น..." ดังนั้น เมื่อจำเลยอ้างในคำร้องขอให้ถอนการบังคับคดีว่า จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์ยื่นคำร้องว่าได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยแล้วจริง ทั้งขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยซึ่งเท่ากับโจทก์ก็ประสงค์ให้ถอนการบังคับคดี ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำร้องของจำเลยแล้ว ไม่ได้คัดค้านว่าจำเลยยังชำระค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีไม่ครบถ้วนต้องฟังว่าจำเลยชำระค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้วเช่นกัน กรณีไม่มีเหตุบังคับคดีจำเลยอีกต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2553

คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่า โจทก์ไม่สามารถส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ออกทับโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่เลย เท่ากับอ้างว่าโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ ถือได้แล้วว่าเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองแล้ว เมื่อได้ความว่า มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกันและยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ ส่วนเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2553

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดอันมีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 กล่าวคือในส่วนคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการที่จะบังคับตามสิทธิในคดีแพ่งต่อไป การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งโต้แย้งว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวไม่มีสิทธิในการบังคับคดีต่อไป เนื่องจากมีการโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาให้แก่บริษัท พ. ไปก่อนแล้ว และขอให้คืนทรัพย์ที่ยึดแก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิในการบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องในคดีแพ่งดังกล่าว และอำนาจในการพิจารณาว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่งนั้นจะมีสิทธิบังคับคดีหรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของศาลในคดีแพ่ง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางโดยอ้างว่าเป็นการคัดค้านการกระทำของเจ้าพนักงานพิทรัพย์หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5681/2553

แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์โดยไม่แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน แต่ในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตดังกล่าวก็เป็นวันที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องขอให้ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ด้วย ทนายความของจำเลยที่ 1 มาศาลและแถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่า สอบทนายโจทก์และทนายผู้สวมสิทธิโจทก์แล้วไม่ค้าน กรณีดังกล่าวย่อมแสดงว่าทนายความของจำเลยทั้งสองทราบในวันนั้นแล้วว่าผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เช่นกันเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้นภายใน 8 วันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2553

การบังคับคดีย่อมอาศัยคำพิพากษาเป็นหลัก และการแปลคำพิพากษาต้องพิเคราะห์เกี่ยวกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ จำเลยไม่อาจขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายได้ จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทพร้อมยึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด ก็เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาบังคับไปตามฟ้องแย้งจำเลย เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยเท่ากับคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดี และเมื่อศาลยังไม่ส่งคำสั่งถอนการบังคับคดีให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) โจทก์ผู้ถูกบังคับย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อให้ส่งคำสั่งดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นการส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการถอนการบังคับคดีโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2553

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลจึงพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาอาจขอให้พิจารณาใหม่ภายใต้บังคับตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในคดีนี้เป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้สิ้นสุดลง เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับคำบังคับโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2540 การส่งคำบังคับดังกล่าวจึงมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำบังคับในวันที่ 24 มีนาคม 2540 เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในสิบห้าวันนับจากวันดังกล่าว ดังนั้น คดีของจำเลยทั้งสองจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 8 เมษายน 2540 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 14 กันยายน 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2553

หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์และจำเลยเจรจาตกลงกันในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยจะผ่อนชำระให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 12 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา และภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดี แต่ได้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินได้ทุกฉบับ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ยอมรับเอาเงื่อนไขตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเป็นข้อตกลงกันระหว่างโจทก์และจำเลยโดยปริยายแล้ว ส่วนที่โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกในลักษณะเดียวกันมีข้อความเพิ่มเติมจากที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ข้อตกลงให้มีผลผูกพันต่อคู่กรณีไปแม้ว่าจะมีผลของคำพิพากษาคดีนี้ออกมาเช่นไรคู่กรณีตกลงสละสิทธิที่จะเรียกร้องตามผลของคำพิพากษาดังกล่าว ...หากจำเลยผิดนัดตามข้อตกลง โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับในส่วนที่เสียผลประโยชน์ได้โดยชอบต่อไปตามคำพิพากษานั้น ก็เป็นเพียงการยืนยันเจตนาของโจทก์กับจำเลยให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเพียงชั่วคราว โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาได้นั้น ก็เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องผิดนัดตามข้อตกลงนั้นเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์อ้างในคำขอออกหมายบังคับคดี การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ และโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยตามหมายบังคับคดีดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6956/2552

จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับเงินค่าขายทรัพย์พิพาทไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ต้องถือว่าการบังคับคดีสำหรับทรัพย์สินพิพาทได้เสร็จลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคสาม การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 14 มีนาคม 2548 เป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1244/2552

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินและบ้านซึ่งปลูกสร้างในที่ดินพร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 36,000 บาท จำเลยไม่ยื่นคำให้การ และโจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวหากให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท คดีของโจทก์จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท โจทก์และจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง


ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดีบ้านของผู้ร้อง เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้ร้องไม่เป็นบริวารของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องจึงเป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์และคดีระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทซึ่งคู่ความในส่วนของคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม มาตรา 248 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ว่าศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ คดีในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2552

คดีก่อนสามีผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับผู้ร้องแต่ไม่มีพยานมาไต่สวน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสามีผู้ร้องอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทในฐานะบริวารของจำเลยไม่ได้มีอำนาจพิเศษที่จะครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าของได้ การยื่นคำร้องของสามีผู้ร้องถือเป็นการจัดการทรัพย์สินบ้านพิพาทซึ่งถือว่าเป็นสินสมรสหรือกรรมสิทธิ์รวมระหว่างสามี ผู้ร้องกับผู้ร้องในนามของผู้ร้องด้วย ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันผู้ร้อง ทั้งตามคำร้องผู้ร้องก็มิได้อ้างอำนาจพิเศษนอกเหนือจากที่สามีผู้ร้องอ้าง กรณีจึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยและไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2552

ผู้ร้องบรรยายในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกโจทก์นำยึด มิได้บรรยายให้เห็นว่าผู้ร้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์ดังกล่าว แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเดิมที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาเป็นของผู้ร้องที่ได้ยกให้แก่จำเลย และผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยไปแล้ว โดยจำเลยยินยอมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกยึดคืนให้แก่ผู้ร้องก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะไปว่ากล่าวกันต่างหาก ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 280 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามมาตรา 296


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2552

เดิมขณะโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 37 ต่อมาในปี 2540 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาในปี 2545 จำเลยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 43 การติดต่อยื่นคำร้องและคำแถลงต่อศาลหลังจากนั้นจำเลยระบุภูมิลำเนาคือบ้านเลขที่ 43 ทั้งสิ้น การที่ต่อมาเจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และแจ้งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องได้กระทำในเดือนมกราคม 2550 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเกือบ 10 ปี เจ้าพนักงานศาลน่าจะตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยในสายงานว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และแจ้งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยปิดหมายตามภูมิลำเนาเดิมคือบ้านเลขที่ 37 ซึ่งจำเลยย้ายที่อยู่ออกไปแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งหมายโดยชอบและถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบนัดแล้ว การที่จำเลยมิได้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และมิได้นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาลเพิ่มตามนัด จึงไม่เป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551

ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม


เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีโดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าว และขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จึงเป็นคำร้องที่มีความหมายว่า โจทก์ขอหมายบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับจำนองไว้โดยชอบ เพราะไม่ได้รับจำนองไว้จากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 282 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าผู้ร้องกล่าวอ้างว่าหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ยื่นคำขอเจาะจงว่าให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาท และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามขอ ถือได้ว่าเป็นการออกหมายบังคับคดีโดยไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชอบที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7907/2551

ข้อตกลงในการชำระหนี้ที่คู่ความทำขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงในการชำระหนี้ที่คู่ความกำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมไปแล้วนั้น เมื่อมิได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลไม่รับรู้ข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น หากปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด ศาลย่อมออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ร้องขอได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7190/2551

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ หากจำเลยเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์อนุญาตให้จำเลยรับราชการ ที่หน่วยงานอื่นเพื่อชดใช้ทุนแก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว จำเลยก็ชอบที่จะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นไว้ในคำให้ การเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในขณะฟ้อง เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อ โจทก์ และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งโจทก์ยังโต้แย้งอยู่ขึ้นอ้างในชั้น บังคับคดีเพื่อไม่ต้องรับผิดตามคำพิพากษา กรณียังถือไม่ได้ว่าไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องบังคับต่อไป ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (1) โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2551

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยประเด็นเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันนัดขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการแจ้งวันนัดขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบชอบแล้ว จึงมีประเด็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ซึ่งคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในเรื่องนี้ย่อมเป็นที่สุดตามความในวรรคท้ายเดิม และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247


แม้ระหว่างพิจารณาคดีขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 จะได้ชำระหนี้ให้โจทก์และโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีแล้ว แต่การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้โจทก์ถอนการยึดทรัพย์จึงไม่มีผลกระทบถึงสิทธิฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4263/2551

ตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยเป็นคำร้องที่สืบเนื่องมาจากศาลชั้น ต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ขอถอนการบังคับคดีเนื่องจากจำเลยยินยอมชำระหนี้แก่โจทก์จนเป็นที่พอใจ และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการบังคับคดีแล้ว ก็ย่อมทำให้หมายบังคับคดีเป็นอันสิ้นผลไป ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ เพิกถอนหมายบังคับคดีอีกต่อไปและมีคำสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ส่วนจำเลยหากถูกโต้แย้งสิทธิหรือได้รับความเสียหายจากการดำเนินการบังคับคดี ของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีก คดีต่างหาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3715/2550

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีมี คำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์ด้วยตนเอง คงมีแต่เรื่องถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295


เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าทรัพย์ที่ยึดมิใช่ทรัพย์ของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งไปยังโจทก์ผู้ทำการยึดว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนิน การต่อไปอย่างไร ซึ่งการถอนการยึดเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งไปยังศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งเพิกถอนการยึดเสียเองจึงเป็นการกระทำที่ ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3808/2549

โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษา จำเลยไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้ถอนการบังคับคดีโดยอ้างว่าจำเลยชำระหนี้ตามข้อตกลงใหม่ นอกศาลแก่โจทก์แล้ว โจทก์ปฏิเสธข้ออ้างของจำเลย ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำการนอกศาล โดยศาลมิได้รับรู้ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวหากมีอยู่จริงก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวกับโจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่ง จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อเป็นเหตุให้ถอนการบังคับคดีหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2546

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้แก่ธนาคารโจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกบังคับให้ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ทั้ง หมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาด แต่ต่อมาได้ขอให้ถอนการบังคับคดีเพราะจำเลยที่ 4 ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้ว จึงเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้บางส่วนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 4 จะนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อให้ผู้อื่นและทำให้จำเลยที่ 3 ต้องถูกยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่เหลือ ก็หาใช่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ส่วนการที่โจทก์ยอมปล่อยทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ที่ถูกยึดขายทอดตลาดไปทั้งที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนอันจะมีผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดไม่ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่เหลือได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6549/2544

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนอง ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายในการประกาศขายทอด ตลาด แต่โจทก์ไม่ได้วางเงินภายในกำหนดเวลาดังกล่าวดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี ภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 295 ทวิชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอให้ศาลถอนการบังคับคดีนั้นเสีย และการที่ศาลชั้นต้นสั่งถอนการบังคับคดีโดยไม่ได้ไต่สวนคำร้องเพราะข้อเท็จ จริงปรากฏชัดแจ้งจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2539

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ถอนการบังคับคดีมีผลทำให้หมายบังคับคดีถูกเพิกถอนไป ด้วยหากโจทก์ประสงค์จะให้มีการบังคับคดีอีกก็จะต้องร้องขอศาลดำเนินวิธีการ บังคับคดีใหม่ภายในเวลา10ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2539

กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดทรัพย์สินสละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉย ไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา295ทวิบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลสั่ง ถอนการบังคับคดีนั้นเสียส่วนมาตรา290วรรคแปดบัญญัติให้ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม วรรคแรกมีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปเมื่อใจความทั้งสองมาตราหาได้ กำหนดไว้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกับผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์จะต้องร้องขอภายใน กำหนดเวลาหรือเงื่อนไขอย่างไรศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่2กุมภาพันธ์ 2536ให้ถอนการบังคับคดีจึงย่อมมีผลโดยตรงเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาที่ขอให้ศาลบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271โดย ไม่อาจบังคับคดีต่อไปได้เท่านั้นแต่ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องทั้งสองซึ่ง เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 4และ5สิงหาคม2524ตามลำดับโดยชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปเพื่อให้ความ เป็นธรรมแก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งจำต้องร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เพราะไม่อาจยึดหรือ อายัดทรัพย์สินซ้ำตามมาตรา290วรรคแรกได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายนัดเมื่อวันที่25มีนาคม2536ถึงผู้ร้องทั้ง สองแจ้งว่าถ้าหากประสงค์จะสวมสิทธิบังคับคดีแทนโจทก์ให้แถลงต่อเจ้าพนักงาน บังคับคดีภายใน7วันผู้ร้องทั้งสองได้แถลงแจ้งความประสงค์ในวันดังกล่าวแล้ว แม้จะกระทำในเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีก็ย่อมมีผลให้ผู้ ร้องทั้งสองสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา290วรรคแปด โดยไม่จำต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2535

โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 149 และตาราง 5 ข้อ 3ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ต้องชำระต่อศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะได้นำ ยึดโดยสุจริตและเป็นผู้ขอให้ถอนการยึดหรือไม่ หากโจทก์ไม่ยอมชำระก็อาจถูกบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ตรี ไม่ใช่เรื่องของความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้ฝ่ายจำเลยต้องรับผิดแทนฝ่ายโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3441/2534

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลย ต่อมาจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วตามข้อตกลงนอกศาล ศาลจึงมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดี ดังนี้ ไม่ใช่เป็นการเพิกถอนการบังคับคดีเพราะจำเลยได้วางเงินอย่างหนึ่งอย่างใดต่อ ศาลหรือพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295(1) แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ จึงถือว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นที่ระบุไว้ในตารางท้าย ป.วิ.พ. ตามมาตรา 149 เมื่อไม่มีการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินที่ยึดไว้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดตามที่กำหนดไว้ในตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และกรณีนี้ไม่ต้องด้วยมาตรา 295 ตรีเพราะไม่ใช่บทบัญญัติว่าด้วยการกำหนดให้ฝ่ายใดรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียม