Pages

การอายัดสิทธิเรียกร้อง

มาตรา ๓๑๖  การอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระเงินหรือส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินก็ดี หรือที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระหนี้อย่างอื่นนอกจากการชำระเงินหรือการส่งมอบหรือการโอนทรัพย์สินก็ดี ให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยมีคำสั่งอายัด และแจ้งคำสั่งนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกทราบ


คำสั่งอายัดตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ให้จำหน่ายสิทธิเรียกร้องและมีข้อห้ามบุคคลภายนอกไม่ให้ปฏิบัติการชำระหนี้นั้นแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระเงินหรือส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินหรือชำระหนี้อย่างอื่นให้แก่ศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือบุคคลอื่น หรือให้ดำเนินการโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร ณ เวลาหรือภายในเวลา หรือเงื่อนไขตามที่กำหนดให้ แล้วแต่กรณี

คำสั่งอายัดนั้นให้บังคับได้ไม่ว่าที่ใด ๆ


มาตรา ๓๑๗  การอายัดตามมาตรา ๓๑๖ อาจกระทำได้ไม่ว่าหนี้ที่เรียกร้องนั้นจะมีข้อโต้แย้ง ข้อจำกัด เงื่อนไข หรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ก็ตาม


มาตรา ๓๑๘  การอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นคราว ๆ ให้มีผลเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายหลังการอายัดนั้นด้วย


มาตรา ๓๑๙  การอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีจำนองหรือจำนำเป็นประกัน ให้มีผลรวมตลอดถึงการจำนองหรือการจำนำนั้นด้วย ถ้าทรัพย์สินที่จำนองนั้นมีทะเบียน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่เพื่อให้จดแจ้งไว้ในทะเบียน


ในกรณีผู้จำนองหรือผู้จำนำมิใช่ลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง เมื่อได้ดำเนินการอายัดแล้ว ให้แจ้งผู้จำนองหรือผู้จำนำเพื่อทราบด้วย


มาตรา ๓๒๐  การอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นให้มีผลดังต่อไปนี้


(๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่บุคคลภายนอกเหนือสิทธิเรียกร้องที่ได้ถูกอายัด โอน เปลี่ยนแปลง หรือระงับซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายหลังที่ได้ทำการอายัดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ถึงแม้ว่าราคาแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษากับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้กระทำการดังกล่าวแก่สิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดเพียงส่วนที่มีราคาเกินจำนวนนั้นก็ตาม


ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้จำนองหรือผู้จำนำซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๑๙ วรรคสอง หากผู้จำนองหรือผู้จำนำพิสูจน์ได้ว่าความระงับสิ้นไปแห่งการจำนองหรือการจำนำเกิดขึ้นโดยผู้จำนองหรือผู้จำนำกระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนมีการแจ้งการอายัดไปยังผู้จำนองหรือผู้จำนำเพื่อทราบ


(๒) ถ้าค่าแห่งสิทธิเรียกร้องซึ่งอายัดไว้นั้นต้องเสื่อมเสียไปเพราะความผิดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อความเสียหายใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น


(๓) การชำระหนี้โดยบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในคำสั่งอายัดนั้นให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย


ส่วนที่ ๕

การขอให้ศาลบังคับบุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา ๓๒๑ ถ้าบุคคลภายนอกไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งอายัดของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา ๓๑๖ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ในกรณีเช่นว่านี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับบุคคลภายนอกนั้นปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งหรือชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วถ้าเป็นที่พอใจว่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีอยู่จริงและอาจบังคับได้จะมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งหรือให้ชำระค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้ ถ้าบุคคลภายนอกนั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2561

แม้โจทก์ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่ธนาคาร แต่ก็มิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้โอนประสงค์จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนเป็นการเด็ดขาดโดยผู้รับโอนเข้าเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนที่ผู้โอนซึ่งหมดสิทธิเรียกร้องต่อไปแล้ว หากแต่เป็นกรณีที่โจทก์นำหนี้ค่าจ้างมาขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งเมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินค่าจ้างจากจำเลยได้แล้ว ธนาคารจะหักหนี้ของตนไว้ ส่วนเงินที่เหลือจะคืนให้แก่โจทก์ แม้บันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องจะใช้ข้อความว่าโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ให้แก่ธนาคาร แต่ตามเจตนาของคู่กรณีหาใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันไม่ เนื่องจากธนาคารผู้รับโอนไม่มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมด คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนตามส่วนที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องคืนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเพียงโจทก์มอบอำนาจให้ธนาคารรับเงินแทนโจทก์เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2561

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ... ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ ไม่ให้มีการกักขังแทนค่าปรับ คงให้ส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะและเป็นข้อยกเว้น ป.อ. มาตรา 29 ที่ให้กักขังแทนค่าปรับ หรือยึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ ซึ่งเป็นบททั่วไปเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้และกลับคืนสู่สังคมในสภาพที่ดีขึ้น เมื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเสร็จสิ้น โดยจะเห็นได้จากวรรคสองแห่งมาตรา 145 ดังกล่าว ที่ให้นำมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น มิได้กล่าวถึงมาตรา 29 แห่ง ป.อ. แต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ออกหมายยึดทรัพย์สินหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9981/2560

หนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถือว่าเป็นคำสั่งอายัดของศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) การที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คำสั่งอายัดย่อมมีผลบังคับทันทีในวันดังกล่าว แม้จำเลยจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังไม่ได้หักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมไว้ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งอายัดดังกล่าว


สำหรับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 และ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 นั้น สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะนายจ้างของจำเลยในการหักเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ถือเป็นสิทธิอันเกิดจากความยินยอมของจำเลยตามหนังสือให้ความยินยอมที่จำเลยทำไว้กับสหกรณ์ หาใช่สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลยไม่ แม้จะระบุลำดับในการหักเงินชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ไว้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หนี้ใดจะเป็นหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อสหกรณ์เป็นเพียงหนี้กู้ยืมเงินไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิหักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยส่งให้แก่สหกรณ์ภายหลังจากได้รับแจ้งคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่ (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2560

ป.วิ.พ. มาตรา 286 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี... (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้...เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามที่ศาลเห็นสมควร..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มี 4 กรณี คือตาม (1) ถึง (4) แห่งมาตรา 286 ดังนั้น หากเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน มิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นตามมาตรา 286 (3) แล้ว แม้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีการที่โจทก์ทำงานที่โรงพยาบาล ส. ของบริษัท ป.


โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เก็บค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์กำหนดเอง เมื่อหักค่าใช้จ่ายไว้ส่วนหนึ่งจึงจะจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาการใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพอิสระ เงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ป. แม้ไม่ใช่ค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเนื่องจากไม่ใช่เงินที่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 286 (3) เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อบริษัท ป. ได้ กรณีไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการอายัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2560

ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 24 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 และมาตรา 23/3 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โดยมาตรา 23/3 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิจะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไป ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ลูกจ้างเพื่อสร้างความต่อเนื่องของการออมเงินโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คดีนี้เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินสะสมด้วยเหตุออกจากงานให้แก่โจทก์ไว้ก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานแล้วใช้สิทธิคงเงินทั้งหมดที่จะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไปตามมาตรา 23/3 เงินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 24


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559

เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุ ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการ เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ชึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15301/2558

การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กำหนดหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลจะได้มีคำสั่งไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำทีละสิ่งเสมอไป ทั้งไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินนั้นว่าจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นเป็นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป เมื่อคดีได้ความว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ 337,200 บาท ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้งสองบัญชีของ ย. ภริยาจำเลยที่ 9 อันเป็นสินสมรสที่เป็นของจำเลยที่ 9 เพื่อการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะเคยขอให้ออกหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากดังกล่าวมาก่อน แต่เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ปัญหาว่าจะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดได้หรือไม่นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ดี เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดมานั้นจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 กล่าวคือ ต้องบังคับชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 9 ต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15301/2558

การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กล่าวเป็นหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี โดยไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์ที่ยึดหรืออายัดไว้นั้นว่าจะกระทำโดยประการใดหรือจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติเรื่องการยึดหรืออายัดหรือศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดไว้เป็นอย่างอื่นและตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นต้องกระทำไปทีละสิ่งเสมอไปแต่อย่างใด เมื่อได้ความตามบันทึกของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งโจทก์ยืนยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า มีหนี้ที่จะต้องชำระยังเหลือหนี้จำนวนมากโดยที่โจทก์ก็อ้างอยู่ว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่น ทั้งแถลงจะรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 9 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้รับฟัง ได้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีประเภทฝากประจำ และประเภทออมทรัพย์ ธนาคาร ท. ของภริยาจำเลยที่ 9 เพื่อให้ได้ชำระหนี้ด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายจำเลยที่ 9 จึงไม่เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อหนี้ที่ต้องชำระเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 จึงต้องบังคับชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายจำเลยที่ 9 ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488


เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจหน้าที่กระทำได้ตามหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15283/2558

แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีนี้ยังคงมีผลผูกพันโจทก์และผู้คัดค้านอยู่ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อำนาจในการจัดการกิจการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และ 94 ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.606/2556 แม้คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้แจ้งอายัดเงินค่าจ้างแปรสภาพหัวมันสำปะหลังไปยังผู้คัดค้านไว้ก่อนแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านยังไม่ได้ส่งเงินตามที่อายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีสำเร็จบริบูรณ์ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ การบังคับคดีโดยการอายัดเงินดังกล่าวไม่อาจใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้งดการพิจารณาและจำหน่ายคดีนี้ตามมาตรา 25 จึงเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้ใช้อำนาจว่ากล่าวเอาความจากผู้คัดค้านต่อไปตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ให้อำนาจไว้ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะพิจารณาฎีกาของผู้คัดค้านอีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14206/2558

โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และขอให้อายัดเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างและขอคืนเงินให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่เป็นคู่ความ จึงพอแปลได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับหมายยึด หมายอายัด ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 โดยความในวรรคหนึ่งของมาตรา 261 ได้บัญญัติให้นำมาตรา 312 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่ได้มีคำสั่งเรียกร้องเอาแก่ตนได้ตามมาตรา 312 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในมาตรา 312 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 2 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ที่ในลักษณะ 2 วิธียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และการจ่ายเงินนี้ นอกจากให้สิทธิผู้ร้องที่ถูกบังคับตามสิทธิเรียกร้องชอบที่จะปฏิเสธหรือโต้แย้งสิทธิเรียกร้องที่เรียกเอาแก่ตนได้แล้ว ยังต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 311 วรรคสาม ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องได้ แม้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือมีเงื่อนไขหรือไม่ มาใช้บังคับด้วย การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดโดยมีข้อโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ธนาคารตามข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องนั้น จึงไม่อาจรับฟัง ผู้ร้องในฐานะบุคคลภายนอกผู้ได้รับหมายอายัดย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนหมายคำสั่งอายัดชั่วคราวและขอคืนเงินที่อายัดได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10605/2558

โจทก์ในฐานะผู้โอนกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอน ตกลงทำสัญญาโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของผู้โอนรวมตลอดถึงสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และสัญญานี้ และสิทธิหรือภาระผูกพันอื่นใดที่ผู้โอนมีต่อลูกหนี้ โจทก์โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัท อ. มีหลักประกันเป็นสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโฉนดอันเป็นที่ตั้งอาคารพาณิชย์ที่เช่าไม่ปรากฏชื่อบริษัท อ. ในฐานะผู้เช่า แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สิทธิการเช่าอาคารซึ่งเป็นหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้ บริษัท อ. ซึ่งเป็นลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพเช่าอาคารจาก ส. มีการทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่ง ส. ทำหนังสือยินยอมอนุญาตให้มอบสิทธิการเช่าอาคารเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โดยตกลงยินยอมโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์หรือบุคคลที่โจทก์กำหนด และจะไม่โอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โดย ส. เช่าอาคารดังกล่าวจาก ช. โดยมีข้อตกลงให้เช่าช่วงได้ มีการทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วน ช. เช่าที่ดินที่ตั้งอาคารดังกล่าวเพื่อสร้างอาคารจาก ศ. โดยผู้ให้เช่าที่ดินตกลงให้เช่าช่วงอาคารได้แต่ไม่ให้เช่าช่วงที่ดิน มีการทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากสัญญาเช่าและข้อตกลงต่าง ๆ ข้างต้น สิทธิการเช่ารายนี้อาจจำหน่ายหรือโอนได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนั้น สิทธิการเช่ารายนี้เมื่ออาจจำหน่ายหรือโอนได้ย่อมมีราคา จึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่อาจนำไปจำหน่ายหรือโอนได้ ซึ่งลูกหนี้ให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของตนตามสัญญาให้สินเชื่อตามคำจำกัดความ "ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน" แล้ว สินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้จึงมีลักษณะตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 31 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10340 - 10378/2558

แม้การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276 กับการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกระบวนการคนละขั้นตอนกันก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินหรือเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่มีฐานะเป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ กับมีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย และมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ศาลแรงงานกลางต้องออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอกให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558

ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง


เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6261/2558

การร้องขอให้บังคับคดี ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา คดีนี้โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2549 โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ไม่ใช่ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การร้องขอให้บังคับคดีของโจทก์จึงอยู่ภายในกำหนดเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271


เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองซึ่งการจำนองครอบไปถึงนั้น มิใช่ทรัพย์สินอื่น แต่เงินดังกล่าวเข้ามาแทนที่ทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ถูกเวนคืนในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์สินซึ่งจำนอง ย่อมตกอยู่ในบังคับแห่งจำนองซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้ได้เช่นเดียวกันกับทรัพย์สินซึ่งจำนอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2558

คำฟ้องของโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ได้นั้น ในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ด้วย ดังเช่นคดีก่อน โจทก์คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แต่คดีนี้ได้มีการยกเลิกห้างดังกล่าวแล้ว โดยมี ศ. หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีและเป็นผู้ฟ้องคดีแทน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1259 ที่ว่า ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนในอรรถคดีทั้งหลายทั้งปวงของห้าง ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน


ตามหลักกฎหมายหุ้นส่วน มีบทบัญญัติให้หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับห้าง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะด้านความรับผิดเท่านั้น มิใช่การไปตั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ได้เป็นส่วนตัวต่างหากจากห้าง จึงถือไม่ได้ว่า ศ. มีอำนาจฟ้องเป็นส่วนตัวอีกฐานะหนึ่ง ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคนเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน


ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า "นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น" โดยมีความมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรฟ้องร้องว่ากล่าวเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดให้คืนรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันหรือชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าวรวมทั้งค่าเสื่อมราคา ส่วนคดีนี้โจทก์ก็เรียกร้องในเรื่องเดียวกันโดยข้ออ้างต่างกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ประโยชน์นานถึง 5 ปี 10 เดือน จึงต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ขั้นต่ำประมาณ 21,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ขอชดใช้เพียงแค่ 3,617,280 บาท จึงต่ำเกินไป ซึ่งค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าว โจทก์สามารถกำหนดเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ในคราวเดียวกันกับที่ฟ้องคดีแรกอยู่แล้ว เพราะสภาพแห่งข้อกล่าวหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นการยื่นคำฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)


จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างโจทก์ โดยมูลหนี้ที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าภาษีอากร และภายหลังที่ศาลออกคำบังคับ โจทก์กับพวกไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์กับพวกมาชำระหนี้ อันเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบ และเมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจสอบพบว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งจากบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการขอให้มีการอายัดเงินดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ของตน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่กฎหมายให้สิทธิไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ควรอายัดสิทธิในจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กำหนดแก่โจทก์ เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียประโยชน์ได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบจำนวนนั้น เป็นเรื่องของความคาดหวังของโจทก์เอง เนื่องจากตนยังสู้คดีอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะได้เงินค่าเสียหายตามจำนวนที่ต้องการ ดังนี้จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะต้องรอและงดการอายัดสิทธิที่ตนควรได้ไว้ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18280/2557

จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษ ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง..." และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี" ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ แต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินของจำเลยจำนวน 100,000 บาท ได้ กรณีไม่มีเหตุที่จะยกเลิกหมายบังคับคดีและคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13302/2557

เงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการถือได้ว่าเป็นรายได้อื่นลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8183/2557

พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและ ค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้งการรับรองสิทธิในการได้รับค่าทดแทนในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ ดังนั้น เงินที่จะได้รับตามพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นเงินที่รัฐจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่จำเลยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินนั้น จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสิทธิของลูกหนี้ในทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เงินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2557

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินมาวางต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ประกอบมาตรา 296 วรรคห้า จำเลยจึงชอบที่จะเรียกคืนได้หากไม่มีบุคคลใดยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ประกอบมาตรา 296 วรรคหก เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยและไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบุคคลอื่นใดที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องของจำเลยนั้น ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนล่วงพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นสิทธิของจำเลยที่จะเรียกร้องเอาเงินประกันดังกล่าวคืนจากศาล จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบุคคลภายนอกให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนอกจากที่กำหนดไว้ตามมาตรา 310 และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเช่นว่านั้นได้ตามมาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 278 และมาตรา 282 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20799/2556

สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกันทั้งสองสัญญามีข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องเงินตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สองบัญชี ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนโดยเฉพาะเจาะจงและผู้คัดค้านได้บอกกล่าวการโอนไปยังบริษัท บ. และ ฟ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามสัญญาจ้างแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะยกขึ้นต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แต่การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่รับโอนสิทธิมาก็เพื่อเป็นประกันหนี้สินของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านเท่านั้น และในระหว่างที่เป็นประกันหนี้ของจำเลยหากจำเลยไม่ผิดสัญญาที่มีต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องที่รับโอนเงินดังกล่าว และเงินจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยทั้งสองบัญชี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านยังไม่ได้บังคับตามสิทธิเรียกร้อง แต่ได้ถูกโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาลจนศาลมีคำพิพากษาแล้วทำการอายัดบังคับชำระหนี้ไปก่อนที่ผู้คัดค้านจะใช้สิทธิเรียกร้อง เมื่อผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้มีสิทธิเรียกร้องโดยยังมิได้บังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่อาจใช้ยันต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ทำการอายัดไปก่อนได้ ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินที่กรมบังคับคดีอายัดไปจากบัญชีทั้งสอง และมีหน้าที่ต้องโอนเงินที่เหลือในบัญชีทั้งสองให้แก่กรมบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2555

ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ว่า ผู้ประกันทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาประกันเพราะไม่ได้รับหมายนัดให้ส่งตัวจำเลย ขอให้ไต่สวนคำร้องในการส่งหมายนัดและงดปรับผู้ประกันทั้งสองศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่ผู้ประกันทั้งสองมายื่นคำร้องครั้งใหม่นี้อ้างว่า คำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างเหตุใหม่ก็ตามแต่ก็เป็นเหตุที่สามารถอ้างได้ตั้งแต่ยื่นคำร้องครั้งแรกและประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และถึงที่สุดไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 เมื่อศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ถ้าผู้ประกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ถือว่าผู้ประกันเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการบังคับผู้ประกันไว้ ทั้งไม่มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.พ. ผู้ที่จะบังคับคดีชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง ไม่ใช่ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่จำเลยถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ประกันทั้งสองชำระค่าปรับภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 โดยแจ้งคำสั่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ผู้ประกันทั้งสองทราบแล้ว วันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีผู้ประกันทั้งสอง ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ป. ผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของผู้ประกันทั้งสอง ถือได้ว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีผู้ประกันทั้งสองตามคำสั่งศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263 - 5264/2554

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นครูโรงเรียนเอกชน ทางโรงเรียนหักเงินเดือนของจำเลยทั้งสองไว้ส่วนหนึ่งทุกเดือนเป็นเงินสะสม และออกเงินให้จำนวนเท่ากับเงินสะสมของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินสมทบ เงินสะสมและเงินสมทบนี้เป็นเงินที่รวมไว้เป็นกองทุนสงเคราะห์และจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเมื่อออกจากงานตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 67, 68, 69 และ 74 ต่อมามี พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายฉบับเดิมกับให้โอนเงินกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายเดิม ไปเป็นของกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าว โดยให้มีเงินสะสมและเงินสมทบเป็นเงินในกองทุนสงเคราะห์ที่ครูมีสิทธิได้รับเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานเช่นเดียวกันตามมาตรา 54, 73, 74 และ 76 แต่มาตรา 80 บัญญัติให้สิทธิการรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีจึงมีผลทำให้เงินสะสมและเงินสมทบที่จำเลยทั้งสองมีอยู่แล้วที่จะเกิดขึ้นภายหลังไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ไม่อาจร้องขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2554

เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินประกันผลงานของจำเลยไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธการส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ได้มีการหักเงินประกันผลงานไปแล้วและไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องยังมีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยอยู่หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752 - 780/2554

คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


ป.วิ.พ. มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้แก่คดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติม ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว


จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุดในวันและเวลาแน่นอน โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้ตามที่ปรากฏจริง อันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา


ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับแก่ทุกรัฐวิสาหกิจ คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยที่กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน


สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15901/2553

เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ หากทรัพย์สินดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. 278, 282 และมาตรา 285 การยึดเฉพาะที่ดินในคดีนี้จึงเป็นการยึดโดยชอบด้วยกฎหมาย


การใช้สิทธิบังคับคดีจะต้องอยู่ในขอบเขตแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้มีจำนวนต้นเงินรวมดอกเบี้ยที่พึงได้รับตามอัตราที่ระบุในคำพิพากษาแล้วเพียงหนึ่งล้านบาทเศษ ราคาที่ดินตามที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้คือ 2,421,000 บาท จึงยังอยู่ในกรอบแห่งเจตนารมณ์ของกฎหมายในการใช้สิทธิบังคับคดีตามมาตรา 284 วรรคหนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคาร 5 ชั้น เป็นส่วนควบของที่ดินมีมูลค่าถึง 36,000,000 บาท หากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิ่งปลูกสร้างด้วย ก็ย่อมเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 284 วรรคหนึ่ง และทำให้บุคคลที่ซื้อห้องชุดในอาคารดังกล่าวซึ่งมีเพียงบุคคลสิทธิที่จะบังคับได้เฉพาะคู่สัญญาจะซื้อจะขายคือจำเลยต้องได้รับความเดือดร้อนในการบังคับคดีไปด้วย


ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยว่าเป็นการบังคับคดีขัดต่อบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 282 (2) นั้น หาตรงต่อข้อเท็จจริงในการบังคับคดีนี้ไม่ เพราะบทมาตรานั้นใช้บังคับเฉพาะการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาพึงมีสิทธิได้รับโอนสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิทธิทั้งปวงอันมีอยู่ในทรัพย์เหล่านั้น มิใช่การบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งโจทก์มีสิทธิโดยชอบตามมาตรา 282 (1)


ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิกถอนการยึดโดยให้เหตุผลว่าที่ดินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์สินของจำเลย แต่เป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 นั้น การที่จะเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จะต้องมีการดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุดเสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญดังบัญญัติไว้ในมาตรา 6 เมื่อยังมิได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินตามคำร้องจึงยังมิได้เป็นทรัพย์ส่วนกลางซึ่งอยู่ในข้อห้ามมิให้ถูกบังคับขายทอดตลาดตามพระราชบัญญัตินั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10209/2553

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น มาตรา 275 บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดีให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี และมาตรา 276 ก็บัญญัติไว้เพียงว่าถ้าศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ทันที ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องส่งคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทุกคนก่อน ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีได้ และเมื่อพิจารณาคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีข้อความกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี รวมถึงวิธีการบังคับคดี และได้ระบุไว้แล้วว่า "จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ประการใด" อันแสดงว่าในขณะที่โจทก์ขอออกหมายบังคับคดียังมีหนี้ค้างชำระอยู่เต็มจำนวนตามคำพิพากษา ถือได้ว่าคำขอของโจทก์ได้ระบุจำนวนหนี้ที่ยังมิได้ชำระตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (2) แล้ว คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่ให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย


การขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีและคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ว่า ขณะที่ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้ามา จึงถือได้ว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่จะมีคำสั่งว่าสมควรให้งดการบังคับคดีหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งยกคำร้องฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่งจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8963/2553

ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใดคืนให้แก่ผู้นั้น... บัญชีเงินฝากชื่อบัญชีเป็นการฝากในนามของจำเลยโดยไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวแทนผู้ร้อง ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินฝากให้แก่จำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้ผู้ร้องนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อให้จำเลยรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากลูกค้าทั่วไปแทนผู้ร้อง แต่เงินที่ผู้ร้องนำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยจึงเป็นกรณีการฝากเงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึ่งต้องส่งคืนเป็นเงินตราอันเดียวกันกับที่ฝาก ผู้รับฝากมีสิทธิเอาเงินนั้นออกใช้ได้ ฉะนั้นเงินที่ฝากจึงตกเป็นของธนาคาร เมื่อจำเลยใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินที่ฝากจากธนาคาร ธนาคารก็ไม่จำต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่รับฝาก ธนาคารคงมีแต่หน้าที่จะต้องคืนเงินให้ครบถ้วนเท่านั้น จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในนามของจำเลย ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ฝาก ผู้ร้องมิได้เป็นคู่สัญญากับธนาคารด้วย จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเงินที่รับฝากไว้จากบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้ในนามของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 และมาตรา 672 ผู้ร้องเพียงแต่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามหน้าที่ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องเท่านั้น หากจำเลยไม่รับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากลูกค้าตามที่ผู้ร้องอนุมัติเงินไป ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยคืนได้เอง ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าของเงินฝากตามบัญชีธนาคารของจำเลยที่ถูกอายัดไว้ และไม่มีสิทธิขอให้ถอนอายัดเงินฝากดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2552

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท พ. มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัททราบเพื่อโจทก์จะได้ยื่นทวงหนี้แก่จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่จำเลยกลับละเลยไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินเท่ากับจำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัท พ. คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด มิใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิด จึงไม่ใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2552

การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้รับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2552

ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาเป็นข้อตกลงในศาลชั้นบังคับคดีหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและได้ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ยอมตกลงกับจำเลยในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิพากษาคดีใหม่ โดยยอมรับตามที่จำเลยขอผ่อนชำระหนี้ในยอดเงิน 41,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด เป็นเพียงโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย หากจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามกำหนดในข้อตกลงดังกล่าว ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าโจทก์ยอมยกเลิกหรือไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมจากจำเลยทันที แต่ระบุว่าหากจำเลยนำเงินมาชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจจะบังคับคดีกับจำเลยในคดีนี้อีกเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาสิ้นผลบังคับไป ฉะนั้นเมื่อจำเลยผิดข้อตกลงไม่นำเงินงวดที่ 2 จำนวน 31,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอีก และโจทก์จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาเดิม โจทก์จึงยังคงมีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเดิมต่อไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311 - 8312/2551

ผู้ร้องทั้งสองไม่มีหลักฐานเอกสารแสดงการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย ถึงแม้ผู้ร้องที่ 1 จะได้โอนที่ดินพร้อมบ้านไม้สองชั้น 2 คูหา ให้ผู้ร้องที่ 2 ไปแล้วก็เป็นเพียงการโอนไปซึ่งทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ในทรัพย์มรดกอื่นกลับไม่ปรากฏว่าผู้ร้องที่ 1 ได้จัดการประการใดหรือโอนให้จำเลยไป ดังนี้ เมื่อเงินฝากในบัญชีเงินฝากกึ่งหนึ่งยังเป็นของผู้ตาย ย่อมตกทอดไปยังจำเลยและผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย จำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในเงินฝากดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าวของพนักงานบังคับคดี


ตามคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดของผู้ร้องทั้งสองซึ่งอ้างว่าเงินฝากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการอายัดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ขอให้เพิกถอนการอายัดเงินฝากดังกล่าวนั้น เป็นกรณีมีปัญหาว่า จะอายัดเงินฝากดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมีคำขอให้คืนเงินฝากดังกล่าวแก่ผู้ร้องทั้งสองด้วยแต่หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการอายัด ย่อมทำให้เงินฝากดังกล่าวกลับคืนไปตามเดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ และเมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ผู้ร้องทั้งสองจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลสำนวนละ 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ. แต่ผู้ร้องทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ในแต่ละชั้นศาลจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลแต่ละสำนวนในส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4263/2551

ตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยเป็นคำร้องที่สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ขอถอนการบังคับคดีเนื่องจากจำเลยยินยอมชำระหนี้แก่โจทก์จนเป็นที่พอใจ และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการบังคับคดีแล้ว ก็ย่อมทำให้หมายบังคับคดีเป็นอันสิ้นผลไป ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีอีกต่อไปและมีคำสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ส่วนจำเลยหากถูกโต้แย้งสิทธิหรือได้รับความเสียหายจากการดำเนินการบังคับคดีของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีต่างหาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10665/2550

การเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 และให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม มิใช่เสนอคำร้องเป็นคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8796/2550

จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนนับแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิกของผู้ร้อง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามข้อบังคับของผู้ร้อง สิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้องจึงเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขและไม่ได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสาม คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ผู้ร้องส่งเงินดังกล่าวภายใน 1 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องอนุมัติให้จ่ายเงินจึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อบังคับของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7027/2550

ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งระบุไว้ในมาตรา 310 ทวิ ว่าให้อายัดได้โดยคำสั่งอายัดซึ่งศาลได้ออกให้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอ แต่ในวรรคสองก็บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลไว้ด้วยว่า เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งอายัดของศาล การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์สินที่ให้จัดการอายัดตามหมายบังคับคดีย่อมหมายรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีแล้วว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องได้คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเท่ากับเป็นคำสั่งอายัดของศาลโดยผลของมาตรา 311 วรรคสอง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยเป็นไปถึงผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6204/2550

แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติถึงการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งระบุไว้ในมาตรา 310 ทวิ ว่า ให้อายัดได้โดยคำสั่งอายัดซึ่งศาลได้ออกให้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียว แต่ในวรรคสองของมาตรานี้ก็บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลไว้ด้วยว่า เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งอายัดของศาล ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์สินที่ให้จัดการอายัดตามหมายบังคับคดีฉบับดังกล่าว ย่อมหมายรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีแล้วว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อบุคคลภายนอกได้ คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ย่อมเท่ากับเป็นคำสั่งอายัดของศาลโดยผลของมาตรา 311 วรรคสองดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ไปถึงผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2550

การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินจากผู้ร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อนของศาลชั้นต้นให้แก่บริษัท ท. โดยบริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง และหากการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ยังไม่มีการยกเลิกกันโดยชอบ สิทธิของจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นย่อมตกเป็นของบริษัท ท. จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะรับเงินตามคำพิพากษาในคดีนั้นจากผู้ร้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2550

ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" จากบทบัญญัติดังกล่าวยังมีกำหนดเงื่อนเวลาไว้ด้วย ตามมาตรา 290 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้"


คดีนี้โจทก์ชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ได้ เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดไปยังศาลแพ่งนั้น เป็นเงินที่บุคคลภายนอกนำส่งไว้เนื่องจากมีคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาอันเป็นวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) ประกอบมาตรา 266 มิใช่ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้จากการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวยังเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้อยู่ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัด การอายัดทรัพย์ในคดีนี้จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีต่อมหาวิทยาลัย อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั่นเอง ส่วนศาลแพ่งนั้นเป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรักษาทรัพย์ที่ขออายัดไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามที่อายัดไว้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งถือได้ว่ามีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 จึงล่วงระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องจึงไม่สามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากจำนวนเงินดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2550

จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชำระเงินมัดจำค่าที่ดินแก่จำเลย แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีแพ่งซึ่งผู้ร้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะเหตุเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นอีกคดีหนึ่งจะถึงที่สุด ศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ตามขอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคท้าย แต่คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจึงมีสิทธิเข้าจัดการกับสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องดังกล่าวได้ตามมาตรา 310 ทวิ ประกอบด้วยมาตรา 311 แม้ผู้ร้องจะได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งซึ่งมีมูลมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรายเดียวกัน และสามารถนำหนี้ทั้งสองคดีมาหักกลบลบกันได้ โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยได้เพราะมาตรา 311 วรรคสาม บัญญัติว่า คำสั่งอายัดนั้น อาจออกให้ได้ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8240/2549

ตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ.2496 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้รายได้ที่จำเลยต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ คือ รายได้จากการดำเนินกิจการที่จำเลยได้รับมาแล้ว และเหลือจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่รวมถึงรายได้ที่จำเลยยังไม่ได้รับชำระและยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย สิทธิเรียกร้องเงินค่าขนส่งตามสัญญาจ้างที่จำเลยทำไว้กับโรงงานยาสูบซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเป็นเพียงสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่จำเลยยังไม่ได้รับเข้ามาเป็นรายได้ของจำเลยและยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ยังไม่เป็นรายได้ที่จำเลยต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ต้องห้ามมิให้อายัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2549

โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในค่าสินค้าที่มีอยู่ต่อผู้คัดค้านแทนจำเลยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือจากผู้คัดค้าน โดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2540 จำเลยได้ทดลองเดินเครื่องจักรให้ผู้คัดค้านตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายแล้วและขอให้ศาลแจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือตามหมายอายัดมายังศาล ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งอายัดชั่วคราวที่สั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) และโจทก์ก็ได้ดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าสินค้าแก่ผู้คัดค้านแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องได้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ, 311 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง


สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งอายัดให้ ว. ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา


ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6354/2548

โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ในบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,347,571.19 บาท แต่ในบัญชีของจำเลยที่ 2 มีเงินเพียง 490 บาท โจทก์ขอรับเงิน 490 บาท พร้อมแถลงไม่ติดใจอายัดเงินในบัญชีของจำเลยที่ 2 การที่ธนาคารส่งมอบเงินตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 จำนวน 490 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและแจ้งเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีสอบถามเพิ่มเติมว่าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ใช้กับธนาคารมียอดเป็นลูกหนี้ธนาคารอยู่ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ในบัญชีเงินฝากธนาคารที่โจทก์ขอให้อายัดมีจำนวนเงินเพียง 490 บาท ตามที่ธนาคารส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น การอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้เงินจำนวน 490 บาท นั้นจะไม่ครบจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม และหากต่อมาปรากฏว่ามีเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องเกิดขึ้นใหม่ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการบังคับคดี ความรับผิดในค่าธรรมเนียมการถอนอายัดร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ขออายัดตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. ตาราง 5 ข้อ 4 จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ขอรับเงินจำนวน 490 บาท ที่อายัดได้นั้น โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 3.5 ตามตาราง 5 ข้อ 2 ของจำนวนเงิน 490 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2547

แม้มูลหนี้ตามฟ้องจะเป็นหนี้ค่าภาษีอากร แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างุ้นส่วนจำกัด น. ซึ่งจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 แต่เมื่อโจทก์มีหนังสือเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2532 แจ้งให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ การที่พนักงานมีหนังสือถึงจำเลยให้ชำระภาษีอากรดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้อง อันมีผลให้จำเลยอาจถูกยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องร้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยรับหนังสือเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วันที่กำหนดให้จำเลยนำเงินภาษีอากรไปชำระ ดังนั้น อายุความเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2532 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542 จึงพ้น 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 104/2547

โจทก์ขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องในการชำระราคาสินค้าของจำเลยซึ่งมีต่อผู้คัดค้านโดยอ้างเพียงประการเดียวว่าเงินที่ขออายัดเป็นเงินที่ผู้คัดค้านค้างชำระราคาสินค้าซึ่งผู้คัดค้านซื้อจากจำเลย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านมีภาระต้องชดใช้ราคาสินค้าดังกล่าวแก่จำเลยแต่จำเลยก็มิได้ฟ้องร้องให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยภายในเวลา 2 ปี นับแต่จำเลยส่งมอบสินค้า สิทธิเรียกร้องของจำเลยจึงขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากผู้คัดค้าน คำคัดค้านของผู้คัดค้านเป็นการตั้งประเด็นเสมือนเป็นคำให้การต่อสู้คดีและเป็นคำให้การที่ชัดแจ้ง และแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าเป็นเรื่องใดและขาดอายุความเพราะเหตุใด ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7338/2545

จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างซึ่งจำเลยจะได้รับจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2540 ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2542 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จำกัด โอนสินทรัพย์และหนี้สินรวมทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. จำกัด (มหาชน) และวันเดียวกันบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. จำกัด (มหาชน) โอนสินทรัพย์และหนี้สินรวมทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง โดยการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 เมษายน 2540 และผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2542 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ไปซึ่งสิทธิเรียกร้องนั้น และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว การอายัดดังกล่าวจึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นอายัดเงินตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ผู้ร้องมิใช่บุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องจึงไม่จำต้องคัดค้านคำสั่งอายัดก่อนการกีฬาแห่งประเทศไทยส่งเงินไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่ผู้ร้อง


การอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับชำระหนี้ ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 ประกอบมาตรา 296 วรรคหนึ่ง