Pages

การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง

มาตรา ๓๔๖ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ถ้าบทบัญญัติในหมวดนี้มิได้กำหนดวิธีการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงินมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๓๔๗ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนทรัพย์เฉพาะสิ่งแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเพื่อชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจยึดทรัพย์นั้นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง


ถ้าทรัพย์เฉพาะสิ่งของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องส่งมอบแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องได้ถูกยึดหรืออายัดไว้เพื่อเอาชำระหนี้เงินในคดีอื่นแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งมอบทรัพย์นั้นให้แก่ตน โดยต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์ในคดีอื่นนั้นสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เพียงพอ  ทั้งนี้ ให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบและอาจมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการยึดหรืออายัดทรัพย์แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์ในคดีอื่นนั้น และให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นนั้นได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี


ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ตามวรรคสอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำมาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๙ มาใช้บังคับ


มาตรา ๓๔๘ การบังคับคดีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งที่มีทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนต่อไป


การบังคับคดีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์เฉพาะสิ่ง ถ้ามีเหตุขัดขวางหรือเหตุขัดข้องในการส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์นั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๔ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๓๔๙ การบังคับคดีที่ขอให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี


ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียไปในคดีที่มีคำพิพากษาให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียไปในคดีอื่นตามมาตรา ๓๔๗ วรรคสอง โดยให้ถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีที่ต้องใช้แทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่มีคำพิพากษาให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562

แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2557

เมื่อไม่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง กรณีจึงไม่ต้องกระทำตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม


นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายแบบ ซีไอเอฟ โจทก์มีหน้าที่จ่ายค่าขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือปลายทางที่กรุงเทพมหานคร และเบี้ยประกันภัย ความเสี่ยงภัยจะตกอยู่แก่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าเมื่อสินค้าบรรทุกในเรือของผู้ขนส่งแล้ว ส่วนกรรมสิทธิ์ในรถตักคันพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเป็นอย่างอื่น กรรมสิทธิ์ในรถตักคันพิพาทจึงโอนแก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว ดังนั้นก่อนมีการเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในรถตักคันพิพาท และมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบรถตักคันพิพาทแก่ตนได้ แต่เมื่อมีการเลิกสัญญาโดยความสมัครใจของโจทก์และจำเลยที่ 1 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 กล่าวคือ ต้องให้รถตักคันพิพาทกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์ส่งมอบรถตักคันพิพาทให้แก่ผู้ขนส่ง ถือว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายแบบซีไอเอฟครบถ้วนแล้ว และเมื่อพิจารณาใบตราส่งแล้ว จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้รับตราส่ง เมื่อรถตักคันพิพาทมาถึงประเทศไทย แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ผูกพันตามสัญญาซื้อขายที่ยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้รถตักคันพิพาทกลับไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์ดังที่เป็นอยู่เดิม เช่น ส่งรถตักคันพิพาทคืนแก่โจทก์ หรือส่งมอบให้ตัวแทนโจทก์ในประเทศไทย การที่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะตามเอกสารยังปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่งอยู่ โดยเฉพาะการที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธที่จะโอนสิทธิในการรับรถตักคันพิพาทให้บุคคลที่สามตามที่โจทก์เสนอ ถือเป็นการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าการที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ระบุในใบกำกับสินค้าหากจำเลยที่ 2 จะเป็นความผิดเกี่ยวกับอัตราพิกัดภาษี และการสำแดงเท็จ หรือการลงลายมือชื่อในหนังสือโอนสิทธิผู้รับจะเป็นการขัดกับรายละเอียดในใบกำกับสินค้านั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักและไม่ใช่เหตุผลอันสมควรที่จะปฏิเสธหน้าที่ภายหลังเลิกสัญญา เนื่องจากปรากฏจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการศุลกากรพยานโจทก์ว่า การขอแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนผู้รับตราส่งนั้น ผู้ที่ยื่นคำร้องคือตัวแทนเรือไม่ใช่เจ้าของสินค้า นอกจากคำร้องขอแก้ไขจากตัวแทนเรือแล้ว ยังต้องยื่นหนังสือโอนสิทธิ และหนังสือรับโอนสิทธิจากผู้รับตราส่งรายใหม่ประกอบด้วย และเมื่อมีการโอนสิทธิแล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีศุลกากรคือ ผู้รับตราส่งที่ได้รับโอนสิทธิ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ยื่นเรื่องต่อกรมศุลกากรในการเปลี่ยนตัวผู้รับตราส่ง และเมื่อมีการโอนสิทธิแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ยื่นขอเสียภาษีศุลกากร จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับผลกระทบไม่ว่าอัตราภาษีศุลกากรจะเป็นอัตราใด ดังนั้นจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถตักคันพิพาทคืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งคืนได้ต้องใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่รถตักพิพาทถูกส่งมาถึงประเทศไทยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์


ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการรับสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือปลายทางเพื่อส่งมอบคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อบริษัท อ. เป็นค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์เกินกำหนดนั้น แม้ไม่มีผู้มารับมอบสินค้าที่ท่าเรือปลายทาง ผู้ขนส่งยังมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการเก็บรักษา การดูแล ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2539 มาตรา 10 แต่เนื่องจากผู้ขนส่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขาย ไม่อาจทราบเรื่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้า ผู้ขนส่งต้องย่อมยึดถือชื่อของผู้รับตราส่งตามใบตราส่งเป็นสำคัญ ดังนั้นกรณีที่ไม่มีผู้รับสินค้าที่ท่าเรือปลายทางเป็นเหตุให้ผู้ขนส่งต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเสียเวลาของเรือ (demurrage) ค่าเก็บตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือ (port storage) เป็นต้น ผู้ขนส่งสามารถเรียกร้องจากผู้รับตราส่งได้ ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 โดยตรง นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนตัวผู้รับตราส่ง ผู้รับตราส่งรายใหม่ที่ไปขอรับสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ขนส่ง ซึ่งไม่ใช่โจทก์อีกเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19481/2556

ขณะทำสัญญา Construction, Sale and Purchase Agreement เรือใบคาตามารัน Silkline ยังไม่มีการสร้างขึ้น และจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกแนวคิดและมอบหมายให้ผู้อื่นออกแบบเบื้องต้นซึ่งจำเลยทั้งสองได้จัดซื้อแบบดังกล่าวและได้จัดหาลูกค้าที่ต้องการให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนในการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์และเข้าทำสัญญากับอู่ต่อเรือที่จะให้ได้มาซึ่งเรือคาตามารันที่มีลักษณะจำเพาะตามรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ดังกล่าว เจือสมกับข้อความในสัญญาดังกล่าวซึ่งระบุว่า เรือใบคาตามารัน Silkline ที่มีการทำสัญญากันนั้นเป็นเรือใบคาตามารันที่มีลักษณะจำเพาะตามแบบเขียนแนบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแนวคิดเท่านั้น ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ขณะทำสัญญา ยังไม่เคยมีการสร้างเรือใบคาตามารันในรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ตามที่ระบุในสัญญาดังกล่าวมาก่อน


เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาที่ระบุว่า จำเลยทั้งสองซึ่งต่อไปในสัญญาเรียกว่าตัวแทนได้ตกลงในการจัดการหรือจัดเตรียมเรือใบคาตามารันตามแบบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแบบเขียนตามแนวคิดโดยระบุว่าลิขสิทธิ์หรือการป้องกันในลักษณะเดียวกันในส่วนของแบบเขียน แนวคิด แบบการต่อเรือที่ถูกจัดเตรียมโดยตัวแทนยังคงเป็นของตัวแทนเพียงผู้เดียว และในสัญญายังระบุถึงความรับผิดชอบของตัวแทนว่าตัวแทนเป็นผู้ตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการต่อเรือใบคาตามารันให้เสร็จสมบูรณ์ตามแบบเขียนและกำหนดเวลาและตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการรับประกันฝีมืองานช่างที่ใช้ในการต่อเรือดังกล่าวโดยการรับประกันทั้งหมดที่ได้รับจากผู้ขายโดยอู่ต่อเรือ ตัวแทนจะต้องโอนให้แก่เจ้าของเรือโดยตรง และการรับประกันจะต้องมีผลบังคับในวันที่ทำการส่งมอบและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายเต็มจำนวนโดยสมบูรณ์ และต้องมีระยะเวลาในการรับประกันโดยสมบูรณ์ตามที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ ทั้งนี้ตามสัญญาข้อ 5 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาระบุให้ตัวแทนเริ่มต้นทำการจัดซื้อวัสดุต่าง ๆ ให้แก่อู่ต่อเรือหลังจากที่ตัวแทนได้รับเงินตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 21 สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขาย แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามสัญญาต้องจัดหาอู่ต่อเรือ จัดซื้อวัสดุในการต่อเรือจากเงินที่ได้รับตามสัญญา ควบคุมดูแลให้การต่อเรือเป็นไปตามแบบแนบท้ายสัญญา และต้องดำเนินการให้ผู้ผลิตคืออู่ต่อเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการรับประกันฝีมือแรงงานช่างที่ใช้ในการต่อเรือภายหลังมีการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว ในสัญญาข้อ 3 ระบุถึงหลักเกณฑ์ในการส่งมอบว่า การส่งมอบเรือดังกล่าวขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของเรือในความสมบูรณ์ตามเอกสารแนบท้ายสัญญา แบบเขียน และกำหนดการ และเมื่อมีการชำระเงินทั้งหมดโดยสมบูรณ์และเต็มจำนวนให้กับตัวแทนตามสัญญา โดยตามสัญญาข้อ 5 ระบุว่า สัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบเรือใบคาตามารันให้แก่เจ้าของและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายทั้งหมด


เมื่อทางนำสืบของคู่ความได้ความว่า การต่อเรือดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องการผิดแบบแปลนและกำหนดเวลาแล้วเสร็จ ทั้งปรากฏตามสัญญาจ้างต่อเรือว่า มีการรับประกันสำหรับเรือ ฝีมือแรงงาน และการติดตั้งวัสดุจากอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ ในสัญญาดังกล่าวด้วย อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งการที่ ซ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปรับมอบเรือแทนโจทก์ได้เดินทางไปรับมอบเรือดังกล่าวจากอู่เรือดังกล่าว ที่ประเทศมาเลเซีย แล้วนำล่องทะเลกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต แสดงว่า ซ. พึงพอใจในเรือที่ต่อส่งผลให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญางวดสุดท้ายให้แก่จำเลยทั้งสองในวันรุ่งขึ้น ถือว่าโจทก์ได้รับมอบเรือไว้ตามหลักเกณฑ์ในการส่งมอบที่ระบุในสัญญาแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดและจำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดชอบในเรือดังกล่าว โดยเป็นความรับผิดชอบต่อไปของอู่ต่อเรือตามการรับประกันดังที่ระบุไว้ในสัญญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2551

ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้แจ้งให้ราษฎรในท้องที่ที่น้ำจะท่วมทราบถึงความรุนแรงของภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นโดยถูกต้องและทั่วถึงแล้ว ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 เริ่มขนย้ายข้าวเปลือกไปเก็บรักษาที่อื่นก่อนถูกน้ำท่วมเพียง 3 วันจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อหรือละเลยเพิกเฉยไม่ป้องกันความเสียหายก่อนที่น้ำจะท่วมโรงสี และการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ได้ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 219


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5855/2550

คำว่า "ผู้เสียหาย" ในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกลักไป บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักไปก็เป็นผู้เสียหายได้ คดีนี้ได้ความว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมได้ร่วมกันลักอาหารสัตว์ส่วนหนึ่งในระหว่างทางที่โจทก์ร่วมขนส่งเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ ระหว่างการขนส่งอาหารสัตว์ที่บรรทุกในรถยนต์คันเกิดเหตุ อาหารสัตว์เหล่านั้นจึงยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองเนื่องจากโจทก์ร่วมมีหน้าที่จำต้องส่งมอบอาหารสัตว์ให้ครบจำนวนแก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ โจทก์ร่วมจึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายในเหตุคดีนี้อยู่ด้วย ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ที่โจทก์ร่วมตกลงขายได้โอนไปยังบริษัท ซ. เพราะมีการชั่งน้ำหนักอันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตั้งแต่ต้นทางการขนส่งโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 460 วรรคแรก แล้วหรือไม่ก็ตาม โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเข้าดำเนินคดีเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้โดยชอบ แม้ขณะเกิดเหตุหากกรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ดังกล่าวได้โอนไปยังบริษัท ซ. เสียก่อนแล้วโดยผลของกฎหมายอันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองลักทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซ. ขณะอยู่ในความครอบครองโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องซึ่งบรรยายว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม กรณีก็เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยทั้งสองมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2550

แม้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 จะบัญญัติว่าเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน แต่การฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอื่น เป็นการขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนเป็นหนี้ที่มิอาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 26


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2546

การที่โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกของโจทก์ให้จำเลยสีเป็นข้าวสารแล้วส่งคืนข้าวสารแก่โจทก์ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นปลายข้าวและรำข้าว ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง เมื่อขณะที่ไฟไหม้โรงสีไม่มีข้าวเปลือกแล้วมีแต่ข้าวสาร แสดงว่าข้าวสารที่จำเลยจะต้องส่งมอบแก่โจทก์เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว เมื่อที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ได้เนื่องมาจากไฟไหม้โรงสีของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใดจึงถือไม่ได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้โรงสีนั้นเนื่องมาจากพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ การชำระหนี้ของจำเลยด้วยการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง


การส่งข้าวเปลือกให้จำเลยจะทยอยส่งเป็นงวด โดยกำหนดให้จำเลยสีข้าวเปลือกให้เสร็จตามระยะเวลา แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยสีข้าวเปลือกเสร็จแล้วจะต้องส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์เมื่อใด โจทก์ก็มิได้ทวงถามให้จำเลยส่งมอบข้าวสารที่สีเสร็จแล้วแก่โจทก์และกลับได้ความว่า ในการส่งข้าวสารคืนโจทก์นั้นต้องรอคำสั่งจากโจทก์ว่าจะให้ส่งไปจำนวนเท่าใด เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกให้จำเลยส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดในการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์อันจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 217


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1555/2542

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โดยมิได้พิพากษาให้จำเลยกับพวกส่งมอบรถหรือ ชำระเงินที่ศาล ทั้งตามคำบังคับที่ศาลชั้นต้นออกให้ตามคำขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มิได้ระบุสถานที่ส่งมอบรถและสถานที่ใช้เงินไว้ด้วย กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 324 หนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อเป็นการชำระหนี้ทรัพย์เฉพาะสิ่ง จึงต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้นเมื่อปรากฏว่าหนี้ของจำเลยที่จะต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์เกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้คืน ซึ่งขณะนั้นรถอยู่ในความครอบครองของจำเลย จึงต้องส่งมอบรถกัน ณ ภูมิลำเนาของจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2541

ส.หลอกลวงให้โจทก์เข้าใจว่าส. เป็นตัวแทนของฝ่ายจำเลยมาสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องจากโจทก์ให้นำไปติดตั้งที่บ้านจำเลย ในขณะเดียวกันส.ก็ทำให้จำเลยเข้าใจว่าส. เป็นเจ้าของเครื่องปรับอากาศดังกล่าวและนำพนักงานมาติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่บ้านจำเลยตามที่ได้เสนอขายให้จำเลยไว้กรณีจึงเป็นเรื่องที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ถูก ส.หลอกลวง การกระทำทั้งหลายของ ส. ที่มีต่อโจทก์ย่อมไม่เกิดเป็นสัญญาผูกพันโจทก์ แม้การกระทำของ ส.ดังกล่าวที่มีต่อโจทก์จะเข้าลักษณะซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งก็ไม่ทำให้ ส.ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในเครื่องปรับอากาศของโจทก์ อันเกิดจากการกระทำเพื่อหลอกลวงใช้โจทก์เป็นเครื่องมือดังกล่าว ส. จึงไม่มีสิทธิขายเครื่องปรับอากาศของโจทก์ให้แก่จำเลยในขณะที่เครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของพนักงานโจทก์ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยจะอ้างเอาการซื้อเครื่องปรับอากาศ ดังกล่าวจาก ส. ขึ้นยันต่อโจทก์มิได้ เมื่อโจทก์ขอถอดเอาเครื่องปรับอากาศคืนไปแต่จำเลยกลับปฏิเสธและยึดเอาเครื่องปรับอากาศของโจทก์ไว้เป็นของตน ดังนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคาเครื่องปรับอากาศแก่โจทก์