Pages

การบังคับคดีในกรณีที่ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ

มาตรา ๓๕๖ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งหรือให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๓ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และหมวด ๔ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๑ หรือส่วนที่ ๒ แห่งหมวดนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าวิธีการบังคับคดีดังกล่าวไม่อาจบรรลุผลตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้ ก็ให้ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้


มาตรา ๓๕๗ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ได้กำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้


ถ้าการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวนั้นจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล


ถ้าหนังสือสำคัญ เช่น โฉนดที่ดิน ใบจอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบทะเบียน หรือเอกสารสิทธิที่จะต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนสูญหาย บุบสลาย หรือนำมาไม่ได้เพราะเหตุอื่นใด ศาลจะสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายออกใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวก็ได้ เมื่อได้ออกใบแทนแล้ว หนังสือสำคัญเดิมเป็นอันยกเลิก


มาตรา ๓๕๘ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งไม่ใช่กรณีตามมาตรา ๓๕๗ นอกจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอตามมาตรา ๓๖๑ แล้ว ถ้าการกระทำนั้นเป็นกรณีที่อาจให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนได้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้บุคคลภายนอกกระทำการนั้นแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย


ค่าใช้จ่ายที่เสียไปในกรณีขอให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป


มาตรา ๓๕๙ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษางดเว้นกระทำการ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๓๖๑ และขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ได้ด้วย


(๑) ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายอันเกิดจากการไม่งดเว้นกระทำการนั้น


(๒) รื้อถอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเกิดจากการไม่งดเว้นกระทำการนั้น เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการนั้นได้กำหนดวิธีการจัดการกับทรัพย์สินดังกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว


ในกรณีตาม (๑) เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำขอนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร


ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตาม (๒) ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาล โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รับผิดในค่าใช้จ่าย


การขอและการดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ส่วนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดตามวรรคสองและค่าใช้จ่ายตามวรรคสาม ให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2562

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบคืนโจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบคืนโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 12,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป เป็นหนี้เงินอันเกิดจากสัญญาเช่าโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าเช่าที่ค้างไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ค่าเช่าเสร็จสิ้น จะบังคับชำระดอกเบี้ยไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ซึ่งเป็นหนี้ให้กระทำการอันหนึ่งอันใดอันเกิดจากมูลละเมิดเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเป็นให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 12,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หรือจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์และบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบแก่โจทก์ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2561

ตาม พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 ตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของคำว่า สุสาน ตรงกัน คือ สุสาน มี 2 ประเภท ได้แก่ สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป กับ สุสานและฌาปนสถานเอกชน หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพของตระกูลหรือครอบครัวหรือมิตรของตระกูลหรือครอบครัว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติดังกล่าวแล้วว่า ที่ดินบริเวณที่เป็นสุสานดังกล่าว เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามบันทึกที่พระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาสของโจทก์ ทำเมื่อปี 2495 ร่วมกันกับกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ก็มีข้อความว่า โจทก์ โดยพระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ได้ประชุมหารือกันว่า สุสานของโจทก์อันเป็นที่บำเพ็ญการกุศลตามประเพณี โกดังเก็บศพตลอดจน ฌาปนสถานอันเป็นที่เผาศพยังไม่มิดชิดและมั่นคงถาวร และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สวยงามสมควรจัดการก่อสร้างเสียใหม่ให้ถาวรและเรียบร้อยเพื่อจะได้เป็นการสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศลของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ประการหนึ่ง หลังจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2501 เพื่อบริหารดูแลสุสาน ในตราสารก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการดูแลสุสานสาธารณะ และที่ประตูทางเข้าสุสานมีป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นสุสานสาธารณะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ชัดเจนว่าสุสานตามฟ้อง เป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 และตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์จะได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งสุสานให้มีใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หาใช่จะทำให้สุสานที่โดยสภาพและเจตนารมณ์เป็นสุสานสาธารณะกลายเป็นไม่ใช่สุสานสาธารณะหรือสุสานเอกชน หรือไม่ใช่สุสานไปเลย แต่อย่างใดไม่ แต่การเป็นสุสานสาธารณะ ซึ่งมีความหมายชัดเจนแล้วตามกฎหมายดังกล่าว คือเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่ฝัง เผา หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ได้หมายความไปถึงว่าที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสุสานนั้นจะตกเป็นที่ดินสาธารณะไปด้วย ที่ดินใดจะเป็นที่ดินสาธารณะหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุตามกฎหมายแห่งการตกเป็นที่สาธารณะของที่ดินแปลงนั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป สำหรับที่ดินแปลงที่เป็นที่ตั้งสุสานสาธารณะในคดีนี้นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้เคยแสดงเจตนายกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากทำบันทึกในปี 2495 ซึ่งระบุว่าโจทก์อนุญาตให้ใช้ที่ดินโจทก์ทำสุสานสาธารณะแล้ว ต่อมาปี 2501 โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในฐานะผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในส่วนที่มีสุสานดังกล่าวรวมอยู่ด้วย และทำให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงนั้น ต่อมาโจทก์ดำเนินการให้มีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือมาบริหารจัดการดูแลสุสานในนามโจทก์ และจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากผู้ที่ประสงค์จะนำศพมาฝังในสุสานเป็นค่าบำรุงและระบุไว้ในตราสารการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ว่า หากยกเลิกจำเลยที่ 1 ไป ให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยให้ใช้เป็นสุสานสาธารณะยังคงหวงสิทธิในที่ดินดังกล่าวอยู่ และไม่ได้แสดงเจตนายกที่ดินที่เป็นที่ตั้งสุสานดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์จะถูกรอนสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างไรหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ หรือเป็นกรณีไป เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าสุสานดังกล่าวเป็นสุสานของโจทก์ และเป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะ กรณีของที่ฝังศพ (ฮ้วงซุ้ย) แต่ละราย ที่ทายาทหรือบุคคลใดที่นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ จึงเป็นสัญญาหรือนิติสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสุสาน ไม่ว่าจะมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจัดการให้หรือไม่ก็ตาม กับทายาทหรือบุคคลที่มาติดต่อเพื่อขอนำศพมาฝังไว้ในสุสาน ว่ามีอยู่ต่อกันอย่างไร ตามหลักแห่งสัญญาตามกฎหมายทั่วไป หากโจทก์ประสงค์จะให้มีการรื้อที่ฝังศพรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายหรือทั้งหมดออกไปหรือแม้แต่ยกเลิกการจัดตั้งสุสาน โจทก์ก็จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามสัญญาตามนิติสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อกัน และถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสุสานหรือ พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 ด้วย เช่น ต้องแจ้งบอกกล่าวไปถึงทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวว่ามีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไรหรือไม่ และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้พิจารณามีคำสั่งเสียก่อน เป็นต้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินตามสัญญาและตามกฎหมายว่าด้วยสุสานดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้ฟ้องทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์ให้รื้อย้ายที่ฝังศพออกไป แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์ยืนยันว่าเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์และมีคำขอ ให้จำเลยทั้งสองรื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไปเป็นคดีนี้ จึงเป็นคำฟ้องและคำขอที่ไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้กระทำการเช่นนั้นได้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้รื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไป จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ ถึงแม้ต่อมา ผู้ร้องสอดในคดีนี้ จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจจะทำให้คำฟ้องส่วนที่ไม่ชอบของโจทก์ดังกล่าวกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบขึ้นมาได้


ทั้ง ชื่อ วัตถุประสงค์ และสถานที่ตั้งทำการ ที่ปรากฏในตราสารการขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ที่ดำเนินการดูแลสุสานของโจทก์ตลอดมา เป็นที่ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการดูแลสุสานในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ ข้อเท็จจริงนี้ จำเลยทั้งสองก็ให้การเป็นไปในทำนองรับ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดูแลสุสานของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำการไปในทางที่ขัดต่อความประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เช่น การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงตราสารของมูลนิธิเป็นว่า ให้สถานที่ตั้งมูลนิธิอยู่ที่ตั้งของวัดโจทก์ตามที่เคยเป็นมาแต่เดิม และให้คณะกรรมการบริหารมูลนิธิจำเลยที่ 1 ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์ ฝ่ายพ่อค้า และฝ่ายข้าราชการประจำหรือข้าราชการบำนาญ และให้กรณีเลิกมูลนิธิทรัพย์สินของมูลนิธิต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่เคยเป็นในตราสารมาแต่เดิม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่โจทก์ในฐานะตัวการจะปฏิเสธไม่ให้จำเลยที่ 1 กระทำการใดในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์เกี่ยวกับการดูแลสุสานของโจทก์อีก เมื่อโจทก์บอกกล่าวแจ้งยกเลิกการอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของโจทก์ทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2561

สภาพแห่งการบังคับคดีที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมก็ดี หรือชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็ดี มิใช่เรื่องที่เปิดช่องให้ทำได้โดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่อาจร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 276 สำหรับหนี้ที่จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ แม้รถยนต์ตามข้อ 1.7 ถึง 1.10 จำเลยโอนทะเบียนเป็นชื่อของบุตรแล้ว และรถยนต์ตามข้อ 1.11 โจทก์เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์ด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าว ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีทางเจ้าพนักงานบังคับคดีแก่จำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2551

ในคดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือโจทก์ในคดีนี้ ให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางของที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนดังกล่าวมอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 ดำเนินการบังคับคดี โดยจำเลยที่ 5 กับพวกเข้าไปในที่ดินด้านหลังอาคารแล้วรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของอื่น ๆ อีกหลายรายการออกไปจากที่ดินพิพาทและนำแผ่นเหล็กปิดกั้นประตูด้านหลังของที่ดินโดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 เบญจ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและมีอำนาจขนย้ายสิ่งของออกจากสิ่งปลูกสร้างที่มีการรื้อถอนด้วย จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายแต่เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2546

ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาเช่าสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถ้าไม่สามารถเพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าสร้าง และสัญญาเช่าสร้างได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์หากเพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าสร้างและสัญญาเช่าสร้างได้แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าสร้างให้โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์แม้ก่อนศาลมีคำพิพากษาที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 เช่าสร้างอาคารได้ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ แต่จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าสร้าง สัญญาเช่าสร้างจึงยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนไป หากมีการยกเลิกการเวนคืนที่ดินสัญญาเช่าสร้างก็ยังคงมีผลอยู่เช่นเดิม ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนเมื่อที่ดินตามสัญญาเช่าสร้างถูกเวนคืนอันทำให้ไม่มีทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาให้เพิกถอนเพื่อโอนให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าสภาพแห่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าสร้างและสัญญาเช่าสร้างไม่เปิดช่องให้กระทำได้ กรณีจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาในลำดับต่อมา คือจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมกันชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2544

จ. ถึงแก่กรรม ที่ดินของ จ. จึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้ง ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุ จ. ด้วย ที่ดินที่ ส. ได้รับมรดกมาเช่นนี้มิใช่ที่ดินของวัด แม้จะได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ ส. จึงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของตนซึ่งยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินเดิมให้แก่โจทก์ได้ การที่ ส. ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จในเวลาต่อมาแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์และถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสมบัติของวัดจำเลย โดยผลแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623


ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285(4) ด้วย คำพิพากษาในส่วนที่ให้วัดจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยสภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปจึงไม่อาจกระทำได้ ศาลฎีกาให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลย


การแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกมาจากโฉนดเดิมไม่ถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ดิน เพราะการจำหน่ายจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินของตนเสร็จ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก่อนที่ ส. มรณภาพ จึงมิใช่ ส. โอนที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน ส. มรณภาพ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นของวัดจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131 - 1132/2544

ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลโดยรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตแล้ว ต่อมาจำเลยกลับก่อสร้างชั้นวางของทำด้วยแผ่นเหล็กขึ้นใหม่ตามแนวรั้วกำแพงคอนกรีตตลอดทั้งแนวและไม่ยอมรื้อถอนชั้นวางของดังกล่าวตามคำบังคับ ศาลจึงบังคับให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของออกไปจากที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยโอนตึกและที่ดินให้แก่ ส. ไปแล้ว แต่จำเลยยังเป็นผู้จัดการดูแลครอบครองตึกจึงถือไม่ได้ว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือ ส. ผู้ซื้อตึกและที่ดินยังจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางของที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เช่นกัน โดยโจทก์ไม่ต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ คำบังคับของศาลชั้นต้นที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 และมาตรา 35


ฎีกาของจำเลยที่ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ให้จำเลยปฏิบัติตามไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มิใช่ข้อโต้แย้งกล่าวอ้างว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่จำต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264


คำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาให้รื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตเป็นการให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏอยู่ในขณะยื่นฟ้อง สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ขณะฟ้องหรือเกิดขึ้นในอนาคตในระหว่างคดีจากการกระทำของจำเลยหรือที่จำเลยยินยอมให้กระทำขึ้น ย่อมต้องถูกบังคับให้รื้อถอนและขนย้ายด้วยเช่นกัน การที่จำเลยก่อสร้างชั้นวางของขึ้นใหม่หลังจากรื้อถอนรั้วกำแพงคอนกรีตแล้ว จึงถือว่ายังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับให้ครบถ้วน จำเลยยังคงต้องชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาทที่มีอยู่ต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังไม่รื้อถอนชั้นวางของออกไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2542

แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นคู่ความในคดีและรับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์จากจำเลยโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตผู้ร้องก็จะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไปเพราะเหตุที่มิได้จดทะเบียนภารจำยอมหาได้ไม่ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า โดยสภาพปัจจุบันทางภารจำยอมตาม แนวทางที่กำหนดไว้เดิมในคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วแปรสภาพไปตั้งแต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วจึงหมดประโยชน์ที่จะใช้และไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ แก่สามยทรัพย์ แล้วนั้น ภารจำยอมจะสิ้นไปก็แต่ เมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์ สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปี ดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1397 หรือมาตรา 1399กรณีเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกับจำเลยจะต้องดำเนินการขอให้ย้ายภารจำยอมหรือขอให้ภารยทรัพย์บางส่วนพ้นจากภารจำยอมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1392 หรือ มาตรา 1394 ผู้ร้องย่อมไม่อาจอ้างว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้ทำได้ ทั้งไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ยกเลิกการบังคับคดีในคดีนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2091/2542

ภารจำยอมจะสิ้นไปก็แต่เมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1379 หรือมาตรา 1399ดังนั้น แม้ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีและรับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์จากจำเลยทั้งเจ็ดโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2จะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไปเพราะเหตุที่มิได้จดทะเบียนภารจำยอมหาได้ไม่ แม้ภารจำยอมตามแนวที่กำหนดไว้เดิมแปรสภาพไปตั้งแต่ ก่อนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องรายที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยจะต้องไปดำเนินการขอให้ย้ายภารจำยอม หรือขอให้ภารยทรัพย์บางส่วนพ้นจากภารจำยอมตามที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1392 หรือมาตรา 1394 ไม่อาจอ้างว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดี ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างใด จึงไม่อาจขอให้ยกเลิก การบังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6479/2541

ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ แต่ห้ามจำเลยทำนิติกรรมใด ๆเกี่ยวกับโฉนดที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอมพิพาท เมื่อศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบจึงได้รับหนังสือตอบมาว่าจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่ท.และช.ไปก่อนแล้วอีกทั้งช.กับท.จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวแก่ธนาคารอ. และบริษัทเงินทุนม. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยจึงมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภารยทรัพย์อีกต่อไป และไม่อยู่ในฐานะจะไปจดทะเบียนภารจำยอมได้ การบังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลล่างที่ให้จำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอมแก่โจทก์ย่อมไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องที่จะบังคับให้จำเลยทำเช่นนั้นได้ ศาลฎีกาให้ยกคำขอในส่วนที่บังคับคดีแก่จำเลย ในส่วนนี้ทั้งหมด ผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ลงชื่อเป็นผู้แก้อุทธรณ์ผู้เรียงและพิมพ์ในคำแก้อุทธรณ์ด้วยตนเองจึงไม่มีเหตุจะกำหนดค่าทนายความให้ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกา ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060 - 1061/2540

การที่จำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ของตนในอันที่จะจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ทั้งสามตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ทำไว้โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมตามสัญญาดังกล่าวนั้นได้แต่เมื่อปรากฎว่าภายหลังโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยแล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งเป็นถนนพิพาทให้แก่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จำเลยจึงมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไปและไม่อยู่ในฐานะจะไปจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ทั้งสามเพราะสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องที่จะบังคับให้จำเลยทำเช่นนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา213การกระทำของจำเลยดังกล่าวแม้หากจะฟังว่าทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายแต่โจทก์ทั้งสามมิได้ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายมาด้วยจึงไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ชอบที่โจทก์ทั้งสามจะไปว่ากล่าวเป็นคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2526

ศาลพิพากษาตามคำขอของโจทก์ว่า ให้จำเลยยอมรับการไถ่ถอนที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องในราคา 64,000 บาทจากโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแทนเพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้เนื่องจากจำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรแล้ว จึงเป็นการบังคับจำเลยนอกเหนือจากคำพิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งเช่นนั้น


บทบัญญัติมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นเรื่องการออกหมายบังคับคดีเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้ศาลระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีลงในหมายเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้ทำได้โดยทางศาลหรือโดยทางเจ้าพนักงานของศาล มิได้หมายความว่า ถ้าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้ทำได้ ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ใช้ค่าเสียหายแทนทั้งที่มิได้พิพากษาเช่นนั้น ซึ่งเป็นการบังคับคดีผิดไปจากคำพิพากษา