Pages

การบังคับคดีในกรณีได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีทะเบียน

มาตรา ๓๖๐ การบังคับคดีในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้หรือแสดงว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลใดได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ทรัพยสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หากทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียนและมีเหตุขัดข้องไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลดังกล่าวอาจมีคำขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้มีสิทธิมีชื่อในทะเบียนให้เป็นไปตามคำสั่งศาล


ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๕๗ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2559

แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ ย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงการเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินเลยหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้ที่โจทก์มีคำขอให้พิพากษาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อหาและข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยเหตุที่ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีเฉพาะเกี่ยวกับเหตุที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยในข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 รวมทั้งข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการในการรับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราอื่น ดังนั้น แม้คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จะเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสมควรต้องเพิกถอนดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นก็ตาม แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน หาใช่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลยไม่ จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวได้ คงพิพากษาให้ได้แต่เพียงว่าให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2559

ในการพิจารณาความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้า นอกจากจะต้องพิจารณาในเรื่องรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายแล้วยังคงต้องพิจารณาสินค้าที่นำมาขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับเครื่องหมายด้วยว่าเป็นสินค้าประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันหรือไม่ รวมทั้งช่องทางจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้ใช้สินค้าดังกล่าวว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือมีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันหรือไม่


เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของบุคคลอื่นจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 1 เช่นเดียวกัน แม้ในส่วนรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานมีความคล้ายกันเนื่องจากมีอักษรตัวท้ายแตกต่างกันเพียงตัวเดียวและมีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ ผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ส่วนผู้ใช้สินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นเกษตรกรที่ปลูกต้นยาง เมื่อกลุ่มผู้ใช้สินค้าและวัตถุประสงค์การใช้สินค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ โจทก์จะใช้วิธีติดต่อกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมโดยตรงและไม่มีการวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป และในการจำหน่าย เสนอจำหน่าย และโฆษณาสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า "" นั้นจะปรากฏชื่อและเครื่องหมายการค้าคำว่า "BIOMERIEUX" อยู่ด้วยเสมอ จึงช่วยสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์กับสินค้าของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า


แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของโจทก์มีเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นคำว่า "" และเครื่องหมายการค้า "" แต่เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสามแล้ว มีความแตกต่างในเรื่องจำนวนตัวอักษรและตัวอักษรที่ต่างกัน รูปลักษณ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามจึงต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนแม้จะเป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันทั้งสามเครื่องหมาย แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอของโจทก์เป็นสินค้าประเภทเครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ และสินค้าของโจทก์ถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ส่วนสินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "" เป็นหลอดแก้วที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ซึ่งถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยา ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับทางการแพทย์ซึ่งย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์เป็นอย่างดี จึงย่อมทราบความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของบุคคลอื่น ใช้กับรายการสินค้าที่เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับด้านการสื่อสารทางเสียง จึงไม่ใช่สินค้าที่มีลักษณะเดียวกับสินค้าโจทก์ ทั้งช่องทางการจำหน่ายของโจทก์เป็นการขายตรงต่อลูกค้าไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป จึงยากที่กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์จะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 และ 16


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจดข้อความอันเป็นเท็จโดยยื่นแบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดจำนวน 1 ฉบับ และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่จำนวน 1 ฉบับ โดยมีข้อความระบุไว้ว่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000,000 บาท จำเลยทั้งสองได้เรียกชำระเงินไปจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนครบถ้วนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองยังมิได้เรียกชำระเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนค้างชำระอยู่อีก 49,500,000 บาท อาจทำให้โจทก์หรือประชาชนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องพบอุปสรรคในการที่จะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้หรือบังคับคดีเอาแก่สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096 โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267


การที่จำเลยทั้งสองยื่นแบบนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันแสดงให้ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว อันเป็นความเท็จ ส่งผลให้เห็นในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นนั้นครบถ้วนแล้วและสิ้นสิทธิในการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนในส่วนที่ยังมิได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วน จึงเป็นการซ่อนเร้นสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นที่ยังมิได้ชำระ เพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของตนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 (1) ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5329/2558

บริษัทในเครือโจทก์ประกอบกิจการขายอาหารประเภทโดนัทมาเป็นเวลานานหลายสิบปี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจนมีการขยายกิจการไปหลายแห่งทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แสดงถึงการเป็นกิจการขนาดใหญ่มีสาขาเครือข่ายมาก ถือได้ว่าเป็นกิจการที่มีชื่อเสียง และมีการประชาสัมพันธ์โดยเปิดเว็บไซต์ให้บุคคลเข้าดูรายละเอียดทางอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งคำว่า "KRISPY KREME" ซึ่งมีลักษณะเลียนจากคำว่า "CRISPY CREAM" โดยมีเสียงอ่านเป็นทำนองเดียวกันนั้น มีลักษณะให้เห็นได้ว่าเป็นคำประดิษฐ์ที่ใช้ความคิดสร้างคำโดยนำคำ 2 คำ มาใช้ประกอบกัน ทั้งที่คำทั้งสองไม่น่าจะใช้ประกอบกันได้เนื่องจากคำว่า CRISPY ซึ่งย่อมเข้าใจได้ตามปกติว่ามีความหมายว่ากรอบ ขณะที่คำว่า CREAM เป็นคำที่หมายถึงครีมที่มีลักษณะเหลวเป็นปกติ เมื่อนำมาใช้ประกอบกันจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน จึงเป็นการใช้คำที่แปลกไปจากการใช้คำตามปกติธรรมดาโดยทั่วไป ย่อมดึงดูดและสร้างสรรค์ให้เกิดความสนใจรวมทั้งช่วยให้สังเกตจดจำได้ดีมีลักษณะเด่น มีลักษณะที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ดังนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า "บริษัท ค." ซึ่งตรงกับคำว่า "CRISPY CREAM" ทั้งที่เป็นคำที่มีความแปลกเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่ไม่น่าจะมีผู้อื่นนำใช้พ้องกันโดยบังเอิญเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าการใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นนี้เป็นการลอกเลียนชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงของโจทก์แม้เครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมาย โดยใช้คำว่า "CRISPY CREAM" ประกอบกับภาพประดิษฐ์ก็ตาม แต่ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่าคำว่า "CRISPY CREAM" ที่ใช้นี้ย่อมเป็นคำเรียกขานถึงเครื่องหมายบริการและกิจการบริการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ซึ่งเมื่อเป็นการนำมาใช้โดยไม่สุจริตแล้ว การใช้ชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 ก็ดี การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวก็ดี ย่อมล้วนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 และเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้สาธารณชนผู้พบเห็นการให้บริการด้านจัดหาอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการประชุมและสัมมนาภายใต้ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนที่คล้ายกับโจทก์ย่อมมีโอกาสเข้าใจไปได้ว่า การให้บริการของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงในทางธุรกิจในมาตรฐานเดียวกัน การใช้ชื่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์แล้ว จึงชอบที่โจทก์จะมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวได้


คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนซึ่งโจทก์ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้อันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสอง ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการหรือไม่ โดยหากฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ก็แสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจดทะเบียน แล้วพิพากษาไปตามที่ฟังได้ดังกล่าว และมีผลให้นายทะเบียนไม่อาจมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้โดยไม่จำต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนแต่อย่างใด


นอกจากนี้โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการเฉพาะกับสินค้าหรือบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ และอาจห้ามจำเลยที่ 1 ขายสินค้าหรือให้บริการในลักษณะลวงขายหรือลวงการให้บริการให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือบริการของโจทก์เท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ประกอบการอย่างอื่นโดยไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการในรายการเดียวกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ได้ลวงขายสินค้าหรือลวงให้บริการ จำเลยที่ 1 ก็ยังกระทำได้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัท ค. โดยเด็ดขาดทุกกรณี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2551

การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์เป็นผลต่อเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไปจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัท อ. ข้อตกลงและหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่จะต้องจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อจากบริษัทดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อโจทก์จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องมีหน้าที่ทำนองเดียวกับผู้ให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ที่จะต้องให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียน โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ตามสภาพของรถยนต์และโดยชอบด้วยกฎหมาย กับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อโดยตรงอีกด้วย


เมื่อบริษัท อ. ไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และบริษัท อ. เป็นสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้บริษัท อ. จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ หาใช่กรณีพ้นวิสัยดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการให้มีการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจนจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงเลยไปแล้วถึง 4 งวด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 จนกระทั่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และตามสัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีก็ตาม สัญญาเช่าซื้อก็หาได้เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อไม่ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อมาจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ


เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายจึงชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ตามเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้วรวม 4 งวด ให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับเงินจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาตีราคาเป็นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท รวมทั้งเงินค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่บริษัท อ. รับไว้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่จองซื้อ เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์นั้นมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อ จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อและถือว่าโจทก์ได้รับไว้ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยนำเอาเงินจองซื้อรถยนต์จำนวน 740,000 บาท มาออกใบเสร็จเป็นเงินดาวน์และภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินโจทก์จึงต้องคืนเงินจอง ค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่จองหรือที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ในขณะเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ถือเป็นการได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนแก่โจทก์ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม