Pages

คำพิพากษาฎีกาปี 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12622/2558
        ผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยความซื่อสัตย์ของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไว้จากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้จากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์และไม่ส่งเงินทดรองคืนโจทก์ เข้าเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ผู้ร้องสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ใช้ไปจากจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์) ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่งและมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยผู้รับประกันภัยเป็นโจทก์ฟ้องในนามของผู้รับประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่การรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การบังคับคดีเป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น 

        เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิให้ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีของผู้เอาประกันภัยได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเข้ารับช่วงสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154/2558
          โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ก. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แม้ไม่ปรากฏรอยตราสำคัญของบริษัทโจทก์ประทับไว้ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เสียไปไม่ เพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ในชั้นสืบพยานโจทก์มี ก. ผู้รับมอบอำนาจเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจให้ตนฟ้องและดำเนินคดีแทน และอ้างส่งหนังสือมอบอำนาจที่มีตราสำคัญของบริษัทโจทก์ประทับต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับไว้เป็นเอกสารหมาย จ.2 จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ประทับตราสำคัญของบริษัททั้งในต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.2 แล้ว การมอบอำนาจของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2558
      ผู้ร้องทั้งห้าไม่สามารถเข้าทำสัญญาซื้อขายและรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เพราะผู้คัดค้านโต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านทั้งหมด ดังนี้ ผู้ร้องทั้งห้าจึงต้องฟ้องผู้คัดค้านเป็นคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องทั้งห้าไม่มีสิทธิเสนอคดีเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าทำสัญญาซื้อขายและรับเงินค่าทดแทนที่เจ้าพนักงานฝากไว้กับธนาคารออมสิน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2558
         ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114" บทบัญญัตินี้ไม่ได้บังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าในขณะที่ทำตราสารแต่อย่างใด และมิได้บัญญัติว่า ตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์หรือขีดฆ่าใช้บังคับไม่ได้ แต่กลับบัญญัติให้มีการปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าในภายหลังได้ ดังนั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ปิดอากรแสตมป์แล้วและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขีดฆ่าในระหว่างการพิจารณาจึงเป็นเอกสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2558
           การที่โจทก์ไม่ดำเนินการสืบหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ และแถลงต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 เดือน โดยปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ แม้โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ โจทก์สามารถสื่อสารกับศาลชั้นต้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่ากับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดมากไปกว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่โจทก์เนื่องจากเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2558
         คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือผู้ถูกจ้างวานใช้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยในขณะกระทำการในทางที่จ้างให้จำเลยที่ 2 หรือกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้กระทำการแทน และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าตนเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขับรถยนต์ไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้กระทำ และถือเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้ เช่นนี้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาท จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คู่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการเปลี่ยนแปลงไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3982/2558
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทพร้อมบ้านพักซึ่งปลูกบนที่ดินโดยซื้อมาจากจำเลยร่วมทั้งสาม จำเลยเข้าไปอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยซื้อที่พิพาทพร้อมบ้านพักจากจำเลยร่วมทั้งสามขณะที่พิพาทเป็นเพียงที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และเข้าครอบครองที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยร่วมทั้งสามไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลย กลับจำนองและขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยโจทก์รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต ขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่จำเลย คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทและบ้านพักเป็นของโจทก์หรือจำเลย และมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยร่วมทั้งสามโดยสุจริตหรือไม่ ไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมทั้งสามคบคิดกันโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ที่จะเรียกจำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหรือจำเลยร่วมอาจใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาในคดีรวมทั้งมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเหล่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดำเนินคดีสำหรับจำเลยและจำเลยร่วมจนเสร็จสิ้นกระแสความ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปัญหาว่าจำเลยร่วมทั้งสามต้องรับผิดต่อจำเลยเพียงใดจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่สมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าค่าฤชาธรรมเนียมชั้นใดให้เป็นพับ แต่กลับพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ทั้งที่โจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามไม่ได้พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นผู้ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลในนามของจำเลย ทั้งไม่ได้วินิจฉัยถึงค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามในศาลชั้นต้นว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผิดซึ่งเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2558
        การที่โจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 ระหว่าง ค. กับจำเลยเป็นการตกลงกันเฉพาะค่าเสียหายในส่วนของผลไม้ที่ ค. บรรทุกไปในรถยนต์กระบะเท่านั้นไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายของตัวรถยนต์ที่ ค. เอาประกันไว้แก่โจทก์แต่อย่างใด เป็นการนำสืบว่า ค. และจำเลยมีการตกลงกันอย่างไร มิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหมาย จ.5 ที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2558
        โจทก์ถอนฟ้องเนื่องจากมูลคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นการฟ้องผิดศาล การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ แม้จำเลยจะคัดค้าน แต่หากศาลเห็นว่าการถอนฟ้องของโจทก์ไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ศาลก็อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และในกรณีที่ฟ้องผิดศาล หากศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยใหม่ยังศาลที่คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจได้ การที่โจทก์ขอถอนฟ้องเพราะเหตุฟ้องผิดศาล แม้จำเลยจะให้การต่อสู้คดีไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยเสียหายแต่ประการใด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2558
         คดีก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ผู้คัดค้านมิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ถูกตัดไม่ให้รับมรดก ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องได้ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยกเอาเหตุข้อขัดข้องในการแบ่งทรัพย์มรดกมาเป็นมูลกล่าวอ้างว่าผู้ร้องไม่ทำตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกหรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว เมื่อผู้คัดค้านมิได้ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงถึงที่สุด มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอีกหาได้ไม่ การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยอ้างเหตุเป็นอย่างเดียวกันว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านและกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายอีก ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้คัดค้านจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434/2558
            การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสอง เมื่อขณะยื่นคำร้องขอผู้เยาว์มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว ผู้เยาว์จึงต้องยื่นคำร้องขอเอง ผู้เยาว์จะให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ยื่นคำร้องขอแทนในนามของผู้เยาว์มิได้ แม้ผู้เยาว์จะเป็นบุคคลพิการก็ตาม ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอ แต่ทั้งนี้ผู้เยาว์ยังคงมีสิทธิฟ้องหรือร้องขอด้วยตนเองได้ตามมาตรา 1556 วรรคสาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2558
         แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป การจำนองห้องชุดพิพาทยังคงมีอยู่ ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับคดีเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินที่ศาลชั้นต้นกำหนด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270/2558
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลย แต่เมื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินแล้วปรากฏว่า บ้านปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของผู้อื่นบางส่วน เป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยและขอให้จำเลยคืนเงิน แต่จำเลยไม่คืนเงินให้ ถือได้ว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงรับฟังว่า บ้านพิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยตั้งอยู่บนที่ดินที่ซื้อบางส่วนและบางส่วนตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น กรณีถือได้ว่าโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากมิได้มีความสำคัญผิดการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์มีสิทธิบอกล้างโดยการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายได้และเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2558
        โจทก์ประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์เสนอราคาสูงสุด และได้ชำระเงินมัดจำและราคาบางส่วนรวมแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและทำประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังครอบครองที่ดินอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว และโจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและได้ชำระราคาแล้วบางส่วนมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125 - 2126/2558
        การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2558
           คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 

          ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีการรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 243 (3) (ก) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่า เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน 

        การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2558
          โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นทางสาธารณะ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลยไม่มีทางสาธารณะตัดผ่าน จึงมีประเด็นที่โต้เถียงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของจำเลย ผลประโยชน์ที่โจทก์หรือจำเลยจะได้รับย่อมเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีราคา 75,354 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง 

        โจทก์ฎีกากล่าวอ้างโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2558
         คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ในกรณีเช่นนี้ผู้อุทธรณ์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคภายในเจ็ดวันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 230 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติถึงทางแก้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ กำหนดเวลาเจ็ดวันดังกล่าวจึงต้องนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1296/2558
     โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย แล้วจึงจดทะเบียนสมรสต่อมาหย่าขาดจากกัน โจทก์ออกเงินปลูกสร้างบ้านพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน บ้านพิพาทเป็นสินสมรส ขอให้บังคับจำเลยแบ่งบ้านพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยให้การว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการปลูกสร้าง ขอให้ยกฟ้อง คดีมีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยแบ่งบ้านพิพาทให้กึ่งหนึ่งหรือไม่ แม้พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบจะฟังไม่ได้ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรส เนื่องจากมีการปลูกสร้างก่อนจดทะเบียนสมรส แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์กับจำเลยร่วมกันปลูกสร้างบ้านพิพาทโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งบ้านพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ถือไม่ได้ว่าเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือเกินไปกว่าคำขอ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1219/2558
  จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงมีหน้าที่นำเงินค่าธรรมเนียมศาลซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดของจำเลย โดยให้เหตุผลว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไม่จำต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายตามคำพิพากษา จึงเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมด หากศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยได้รับยกเว้นย่อมรวมถึงค่าธรรมเนียมศาลซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 229 ด้วย แต่หากศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุอันควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นจะต้องกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์มาวางด้วย ซึ่งหากจำเลยนำเงินมาวางตามคำสั่ง อุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยมาตรา 229 หรือหากศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนและจำเลยนำเงินส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นมาวางศาล อุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยมาตรา 229 เช่นเดียวกัน กรณีจึงมีเหตุย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดของจำเลยก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2558
         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนองที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จากผู้รับจำนองเดิม จำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ชำระหนี้ที่บุคคลทั้งสองเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 รวม 118,191,930.54 บาท แทนโดยจำเลยที่ 1 จะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ลดหนี้ของจำเลยที่ 1 กับภริยาที่โจทก์จะชำระแทนลงเหลือ 42,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยรับเงินมัดจำ 400,000 บาท ไปจากโจทก์และตกลงให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 4,800,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ชำระเงินบางส่วน 3,561,499.63 บาท ให้จำเลยที่ 2 และชำระเงิน 1,000,000 บาท ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย ที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องตามข้อกำหนดในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ทำกับจำเลยที่ 2 แล้ว ระหว่างนั้นโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้บุคคลอื่นในราคา 70,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ติดต่อขอชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กับภริยา ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระโดยแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการทำนิติกรรมของโจทก์แล้ว โจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ขายที่ดินทั้ง 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า ก่อนหน้าโจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และภริยานั้น จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้ร้องไว้ก่อน จากนั้นอีกวันผู้ร้องจึงทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ โจทก์อาศัยสิทธิจากการทำข้อตกลงดังกล่าวไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 กลับทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นการฉ้อฉลผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลยทั้งสอง จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้ ข้ออ้างของผู้ร้องเป็นการตั้งข้อพิพาทโต้แย้งขึ้นมาใหม่ต่างจากข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยผู้ร้องมิได้มุ่งขอบังคับเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทเป็นสำคัญ การร้องสอดของผู้ร้องจึงเสมือนเป็นอีกคดีหนึ่ง ผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องร้องสอดเข้ามาในคดีอย่างแท้จริง ทั้งมิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2558
         คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ตามฟ้องระบุสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำที่โรงแรมเรดิสัน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 92 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งได้ 

       การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่โจทก์หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและยังคงครอบครองต่อมา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญาเช่าและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระค่าเสียหายในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าดังกล่าว