Pages

ฎีกาเรื่องประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ.2535

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2550 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โจทก์ 

นาย ป. จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 654 

ป.วิ.พ. มาตรา 87, 88 

พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 3(2), 4, 6 

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ.2535 

        พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจ กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีได้ และตามมาตรา 6 เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จึงเป็นสถาบันการเงินตามความในมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์เรียกจากผู้กู้ยืมได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทโดยตรง ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้ กู้ยืมฯ ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์จะต้องนำสืบ การที่พยานโจทก์เบิกความว่า การคิดดอกเบี้ยและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ โดยอ้างส่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิด ได้จากผู้กู้ยืมฯ แนบท้ายประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ระบุอ้างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวในบัญชีระบุพยานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 88 แห่ง ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการที่จำเลยและประชาชนโดยทั่วไปสามารถ ตรวจสอบถึงความมีอยู่และถูกต้องแท้จริงได้โดยไม่เป็นการยากลำบาก โจทก์อ้างส่งเอกสารดังกล่าวในระหว่างสืบพยานโจทก์ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นศาลชั้นต้นก็ได้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย จำเลยมีโอกาสตรวจสอบเอกสารและถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ครั้งถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านถึงความมีอยู่และความถูกต้องของประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงิน อาจคิดได้จากผู้กู้ยืมตามมาตรา 4 แล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงไม่อาจนำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
 ________________________________ 

        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,716,694.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 4,330,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้จนครบ 

         จำเลยให้การ 

         ขอให้ยกฟ้อง 

       ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,716,694.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 4,330,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2545 (ฟ้องวันที่ 29 ตุลาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินจำนองตามโฉนดเลขที่ 53994, 77297, 77296 ตำบลห้วยบง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (เป็นแปลงเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 232, 233 ตำบลห้วยบง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1162 ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ) และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1010 ตำบลกุดตุ้ม และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 732 ตำบลโพนทอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน 

       จำเลยอุทธรณ์ 

       ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน 

       จำเลยฎีกา 

      ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตาม ฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการ เงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีได้ และตามมาตรา 6 เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการ เงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จึงเป็นสถาบันการเงินตามความในมาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์เรียกจากผู้กู้ยืมได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทโดยตรง ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์จะต้องนำสืบการที่นายพูลศักดิ์ จุลรักษา พยานโจทก์เบิกความว่าการคิดดอกเบี้ยและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา กู้ยืมและสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ ประกาศธนาคารโจทก์ โดยอ้างส่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 แนบท้ายประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ระบุอ้างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวในบัญชีระบุพยานอัน เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการที่จำเลยและประชาชนโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่และความถูกต้องแท้จริงได้โดยไม่เป็นการยากลำบาก โจทก์อ้างส่งเอกสารดังกล่าวในระหว่างสืบพยานโจทก์ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นศาลชั้นต้นก็ได้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย จำเลยมีโอกาสตรวจสอบเอกสารและถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานหลักฐานมานำสืบ หักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ครั้งถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านถึงความมีอยู่และความถูกต้องของประกาศกระทรวงการคลัง ดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงิน อาจคิดได้จากผู้กู้ยืมตามมาตรา 4 แล้วโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามประกาศกระทรวงการคลังดัง กล่าวจึงไม่อาจนำมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์หาตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมาไม่ที่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น” 

พิพากษายืน 

( ประทีป เฉลิมภัทรกุล - เรวัตร อิศราภรณ์ - วีระชาติ เอี่ยมประไพ )


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2549 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โจทก์ 

นาย ว. จำเลย 

ป.พ.พ. มาตรา 654 

พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 

พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 4

      ตามพ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติใน เรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ออกข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ไว้ในข้อ 3 ว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่สถาบันการเงินดังกล่าวประกาศกำหนด" นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติใน เรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ในข้อ 3 ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภท เงินกู้แบบมีระยะเวลาและจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีตลอดจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไว้ ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ เอง ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ออกประกาศธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศกระทรวงการคลังแล้ว การกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์แม้จะเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นการกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 654 
________________________________ 

       โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระ เงินจำนวน 12,793,065.18 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 10,291,477.43 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมตลอดทั้งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน 

       จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง 

      ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 10,554,346.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 10,291,477.47 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระไปในวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2540 รวมจำนวน 1,064,000 บาท ไปหักชำระเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันที่มีการชำระเงินในแต่ละครั้งก่อน เหลือเท่าใดจึงให้หักชำระเป็นต้นเงิน หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2000 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท 

          จำเลยอุทธรณ์ 

     ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์ 

          จำเลยฎีกา 

     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาจำเลย โจทก์ไม่มีหลักฐานว่าประกาศธนาคารโจทก์ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่ง ประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 การเรียกดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้นั้น เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบและอ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ไว้ เป็นพยานหลักฐานแล้ว ซึ่งตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ระบุว่าออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่ง ประเทศไทย และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีระบุไว้แล้วว่าออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติใน เรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ออกข้อกำหนดเรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ไว้ในข้อ 3 ความว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่สถาบันการเงินดังกล่าวประกาศกำหนด" นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติใน เรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ในข้อ 3 ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภท เงินกู้แบบมีระยะเวลาและจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิด เงื่อนไขไว้ ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้เอง 

     ซึ่งเมื่อโจทก์ก็ได้ออกประกาศธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว การกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์แม้จะเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นการกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการ เงิน พ.ศ.2523 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 มาตรา 4 ถึงมาตรา 6 ซึ่งตามบันทึกรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ก็เป็นไปตามประกาศธนาคาร โจทก์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

       พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

(พลรัตน์ ประทุมทาน - วสันต์ ตรีสุวรรณ - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ )