Pages

การชี้สองสถาน

มาตรา ๑๘๒  เมื่อได้ยื่นคำฟ้อง คำให้การ และคำให้การแก้ฟ้องแย้งถ้าหากมีแล้ว ให้ศาลทำการชี้สองสถานโดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันเว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) จำเลยคนใดคนหนึ่งขาดนัดยื่นคำให้การ
(๒) คำให้การของจำเลยเป็นการยอมรับโดยชัดแจ้งตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น
(๓) คำให้การของจำเลยเป็นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น โดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ ซึ่งศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการชี้สองสถาน
(๔) ศาลเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน
(๕) คดีมโนสาเร่ตามมาตรา ๑๘๙ หรือคดีไม่มีข้อยุ่งยากตามมาตรา ๑๙๖
(๖) คดีที่ศาลเห็นว่ามีประเด็นข้อพิพาทไม่ยุ่งยากหรือไม่จำเป็นที่จะต้องชี้สองสถาน

ในกรณีที่ไม่ต้องมีการชี้สองสถาน ให้ศาลมีคำสั่งงดการชี้สองสถานและกำหนดวันสืบพยาน ถ้าหากมี แล้วให้ส่งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทราบตามมาตรา ๑๘๔ เว้นแต่คู่ความฝ่ายใดจะได้ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว
คู่ความอาจตกลงกันกะประเด็นข้อพิพาทโดยยื่นคำแถลงร่วมกันต่อศาลในกรณีเช่นว่านี้ ให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไปตามนั้น แต่ถ้าศาลเห็นว่าคำแถลงนั้นไม่ถูกต้อง ก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำแถลงนั้น แล้วดำเนินการชี้สองสถานไปตามมาตรา ๑๘๓

มาตรา ๑๘๒ ทวิ  (ยกเลิก)

มาตรา ๑๘๓ ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความ แล้วนำข้ออ้าง ข้อเถียง ที่ปรากฏในคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คำคู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้

ในการสอบถามคู่ความตามวรรคหนึ่ง คู่ความแต่ละฝ่ายต้องตอบคำถามที่ศาลถามเองหรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกขึ้นเป็นข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คู่ความจะยื่นต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธได้ในขณะนั้น

คู่ความมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบ ให้ศาลชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยาน คำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๒๒๖

มาตรา ๑๘๓ ทวิ ในกรณีที่คู่ความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันชี้สองสถาน ให้ศาลทำการชี้สองสถานโดยให้ถือว่าคู่ความที่ไม่มาศาลได้ทราบกระบวนพิจารณาในวันนั้นแล้ว

คู่ความที่ไม่มาศาลนั้นไม่มีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่สามารถมาศาลได้ในวันชี้สองสถาน เพราะเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ หรือเป็นการคัดค้านในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา ๑๘๓ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๘๓ ตรี[๑๒๐]  (ยกเลิก)
มาตรา ๑๘๓ จัตวา[๑๒๑]  (ยกเลิก)

มาตรา ๑๘๔ ในกรณีที่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลกำหนดวันสืบพยานซึ่งมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันชี้สองสถาน

ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลออกหมายกำหนดวันสืบพยานส่งให้แก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2552
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าคืนเงินประกันค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เช่าเนื่องจากภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่า โจทก์ผู้เช่าได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นคำให้การที่ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็ก คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดี และจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เนื่องจากเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันเป็นค่าปรับรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2552
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า เช็คพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีมูลหนี้ต่อกันหรือไม่ และโจทก์ได้เช็คมาไว้ในครอบครองในฐานะผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้นำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือไปมอบให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เสนอขายบ้านพร้อมที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทนำไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งเท่ากับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าเช็คพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีมูลหนี้ต่อกัน และโจทก์ได้รับเช็คดังกล่าวมาไว้ในครอบครองในฐานะผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประเด็นข้อพิพาทแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดประเด็นขึ้นมาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงมิได้เป็นการหยิบยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาทเพราะเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900

จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ของภริยาจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 2 เช็คพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงมีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่จริง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทนั้นและถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถูกฟ้องในมูลเช็ค หาอาจต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5438/2551
การได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย ซึ่งได้แก่มาตรา 1382 กล่าวคือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องได้ใช้สอยอสังหาริมทรัพย์อื่นโดยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมในอสังหาริมทรัพย์นั้นติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้ภาระจำยอมเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้น คดีนี้ได้ความว่า ทางพิพาทเกิดขึ้นจาก ท. บิดาจำเลยอนุญาตให้ ม. บิดาโจทก์ใช้เป็นทางออกไปสู่ทางสาธารณประโยชน์ การที่โจทก์และบุคคลในครอบครัวของโจทก์ใช้สิทธิเดินผ่านทางพิพาท จึงเป็นการอาศัยสิทธิของ ท. ทั้งปรากฏต่อมาว่าในปี 2535 ที่มารดาโจทก์เสียชีวิต โจทก์ได้ให้ ส. นำรถตักดินมาทำทางพิพาท จำเลยก็ห้ามไม่ให้ ส. ทำทาง แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังหวงกันมิให้โจทก์หรือบุคคลอื่นใช้ทางพิพาทโดยพลการ จึงถือได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิและการอนุญาตให้ใช้จากฝ่ายจำเลย แม้จะใช้ทางพิพาทตลอดมาเกิน 10 ปี ก็ไม่ถือเป็นการใช้โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอม ทางพิพาทจึงไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินโจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องโจทก์พร้อมกับฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ถอนการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของจำเลย ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยจนกว่าจะถอนการคัดค้าน กับให้โจทก์และบริวารขนย้ายลูกรังออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยต่อไปด้วย แต่ต่อมาปรากฏว่าทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินตามที่จำเลยยื่นคำขอให้แก่จำเลยแล้ว อันทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยที่มีคำขอบังคับให้โจทก์ถอนการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของจำเลยและขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการคัคค้านดังกล่าวต้องตกไปโดยปริยาย ส่วนคำขออื่นตามฟ้องแย้งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยยังติดใจที่จะเรียกร้องเอาจากโจทก์ต่อไปเพราะเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประเด็นเดียวว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นตามคำขอในฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านย่อมถือว่าจำเลยสละประเด็นแล้ว จึงไม่มีประเด็นในส่วนฟ้องแย้งของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงต้องพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยมิได้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วยนั้นไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4845/2550
ศาล ชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ และวินิจฉัยว่าบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ จำเลยอุทธรณ์ คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินของจำเลย เมื่อที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลย แม้จะมีการจดทะเบียนให้โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินของจำเลย ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ในการใช้ที่ดินบางส่วนของจำเลยระงับหรือสิ้นสุดไป จำเลยไม่มีสิทธิปิดทางภาระจำยอมรายพิพาท เป็นการวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิใช้ที่ดินของจำเลยฐานเป็นทางจำเป็นซึ่งไม่ ใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หาได้วินิจฉัยว่าการจดทะเบียนทางภาระจำยอมรายพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ อันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในการชี้สองสถานไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4931/2549
จำเลย ที่ 1 ให้การต่อสู้ไว้ 4 ประเด็นคือ ข้อ 1. เรื่องอำนาจฟ้อง ข้อ 2. จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใด ข้อ 3. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และข้อ 4. การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทนายจำเลยทั้งสองได้แถลงสละประเด็นในข้อ 4. ต่อมาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องกำหนดเวลาสิ้นสุด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี วันที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ครั้งสุดท้ายและถอนเงินครั้งสุดท้าย กับจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระขณะนั้น แล้วจำเลยที่ 1 แถลงไม่ติดใจประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ทนายโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลเพียงขออ้างส่งพยานเอกสาร ส่วนทนายจำเลยทั้งสองก็ไม่ติดใจสืบพยาน นอกจากนี้คู่ความยังแถลงขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาให้เนิ่น นานออกไป เพื่อขอเวลาในการเจรจากันอีกครั้งเนื่องจากคดีอาจมีทางตกลงกันได้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองสละประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องด้วยโดย ปริยาย จึงคงเหลือแต่เพียงประเด็นข้อ 2. ที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใด ซึ่งคู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยตามพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งและตามข้อเท็จจริง ที่คู่ความแถลงรับ ศาลจึงไม่ต้องวินิจฉัยในเรื่องอำนาจฟ้องอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2549
โจทก์ ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการกู้ยืม จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ แต่จำนองที่ดินพิพาทประกันหนี้ของ ส. บุตรชายจำเลย ดังนี้เป็นการต่อสู้ว่าไม่มีหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานตามฟ้อง มีแต่หนี้เงินกู้ยืมของ ส. บุตรชายที่จำเลยเพียงแต่จำนองประกันหนี้เท่านั้น ซึ่งหากคดีฟังได้ตามข้อต่อสู้ ก็เท่ากับว่าไม่มีหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำนองที่ดินพิพาทอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ คดีจึงมีประเด็นด้วยว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และพิพากษาคดีมา จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ 183 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน แต่กลับฟังข้อเท็จจริงยุติไปเลยว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดประเด็นเพิ่มและวินิจฉัยให้เสร็จไปโดยไม่จำต้องย้อน สำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6735/2548
แม้ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจะระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นพิพาท ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และมีคำ สั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สืบพยานโจทก์ต่อไปและมีคำ พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2548
คำ ร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยหรือ ไม่ ซึ่งจำเลยได้ยอมรับข้อเท็จจริงในคำให้การและฟ้องแย้งแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยมิได้กำหนดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็น ประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยซึ่งไปศาลในวันชี้สองสถานก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงยุติตามนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 แม้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถานเพราะเพิ่งทราบว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถคู่กรณี แต่คำร้องขอแก้ไขก็มิได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ ตู้นั่ง 4 ตอน ดังนั้น การขอแก้ไขในประเด็นที่จำเลยยอมรับและยุติไปแล้วไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความ สงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถาน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2547
เรื่อง ค่าเสียหายโจทก์บรรยายกล่าวไว้ในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนว่าจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลก็อาจกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้ การชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182, 183 ไม่ได้กำหนดว่าในคดีแต่ละเรื่องนั้นให้มีการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาท ได้เพียงครั้งเดียวจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมขึ้นมาในระหว่างการ พิจารณาไม่ได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาล เมื่อศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอัน เกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ขึ้นใน ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าในการชี้สองสถานครั้งแรกกำหนดประเด็นไว้ไม่ครบถ้วน และกำหนดให้โจทก์จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดเพิ่ม ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการสืบพยานแต่อย่างใดจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2546
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำพิพากษาโดยสอบถามโจทก์และ จำเลย โดยต่างคนต่างแถลงตามข้ออ้างและข้อเถียงของตน มิได้แถลงรับข้อเท็จจริงอันสำคัญในประเด็นที่โต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติ และข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคำให้การและคำแถลงของคู่ความยังไม่เพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5441/2546
การ ปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาลจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน นับตั้งแต่ปิดประกาศได้ล่วงพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง คดีนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 โดยปิดประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบที่หน้าศาลเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งการปิดประกาศนี้จะมีผลเป็นการแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบนับตั้งแต่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ดังนั้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 เมื่อจำเลยไม่มาศาล หากโจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจสืบพยานโจทก์ได้

ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งเลื่อนคดีไปเพื่อแจ้งวัน นัดให้จำเลยทราบโดยชอบเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและให้ยกฟ้องของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7527/2541
โจทก์ นำส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายณ บ้านที่จำเลยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นหลักฐานเบื้องต้นของทางราชการที่แสดงว่า จำเลยมีถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนา ณ ที่นั้น ก่อนถูกฟ้องจำเลยก็เคยได้รับหนังสือจากทนายความให้เปิดทางเดินโดยทาง ไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับที่บ้านเลขที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้ส่งหมายเรียกได้ปิดหมายเรียกไว้ที่ประตูไม้ทางเข้าบ้าน คนเดินผ่านสามารถมองเห็นได้ชัด การที่จำเลยไม่ได้อาศัยในบ้านหลังที่จำเลยมีชื่อในทะเบียนบ้าน และจำเลยยังทราบว่าอาจถูกฟ้องเนื่องจากได้รับหนังสือทนายความให้เปิดทางเดิน และจำเลยก็ไปเก็บค่าเช่าที่บ้านเลขที่ดังกล่าวเดือนละ 5 ถึง 6 ครั้ง จำเลยน่าจะให้ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่จำเลยกลับไม่เอาใจใส่ กรณีถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 20 ธันวาคม 2536 และแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยการปิดหมายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ในวันนัดดังกล่าวไป เมื่อเป็นการสืบพยานโจทก์โดยไม่ให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 184 วรรคสองศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การนัดสืบพยานโจทก์เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบด้วย มาตรา 247