มาตรา ๒๐๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๘ ทวิ และมาตรา ๑๙๘ ตรี
ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน
และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา
ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนัดอื่นที่มิใช่วันสืบพยาน
ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นสละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น
และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วยแล้ว
มาตรา ๒๐๑
ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ
มาตรา ๒๐๒ ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา
ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ
เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป
ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว
มาตรา ๒๐๓
ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒
แต่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่
มาตรา ๒๐๔ ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณา
ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว
มาตรา ๒๐๕ ในกรณีดังกล่าวมาในมาตรา ๒๐๒ และมาตรา ๒๐๔
ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจของศาลว่าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานไปให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดทราบโดยชอบแล้ว
ให้ศาลมีคำสั่งเลื่อนวันสืบพยานไป และกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่เห็นสมควร
เพื่อให้มีการส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่แก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน
ถ้าได้กระทำดังเช่นว่ามาแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นยังไม่มาศาลก่อนเริ่มสืบพยานในวันที่กำหนดไว้ในหมายนั้น
ก็ให้ศาลดำเนินคดีนั้นไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๒ หรือมาตรา ๒๐๔ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๐๖
คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ตนเป็นฝ่ายชนะโดยอาศัยเหตุแต่เพียงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณานั้นหาได้ไม่
ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้คู่ความที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย
ในการนี้ ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพัง
ซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๘ ทวิ วรรคสองและวรรคสาม
มาใช้บังคับแก่คดีของคู่ความฝ่ายที่มาศาลโดยอนุโลม
ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว
ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว
และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดี
เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรและศาลไม่เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนตามมาตรา
๑๙๙ ตรี ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๗ ด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่
ในกรณีเช่นนี้ หากคู่ความนั้นขาดนัดพิจารณาอีก
จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรานี้ไม่ได้
ในกรณีตามวรรคสาม
ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามิได้แจ้งต่อศาลก็ดีหรือศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี
หรือคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมายก็ดี
ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่
(๑)
ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบถ้าคู่ความนั้นมาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบแล้ว
(๒)
ถ้าคู่ความที่ขาดนัดพิจารณามาศาลเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบไปแล้ว
ห้ามไม่ให้ศาลยอมให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาคัดค้านพยานหลักฐานเช่นว่านั้น
โดยวิธีถามค้านพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้สืบไปแล้วหรือโดยวิธีคัดค้านการระบุเอกสารหรือคัดค้านคำขอที่ให้ศาลไปทำการตรวจหรือให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญของศาล
แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานเข้าสืบยังไม่บริบูรณ์
ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาหักล้างได้แต่เฉพาะพยานหลักฐานที่นำสืบภายหลังที่ตนมาศาล
(๓) ในกรณีเช่นนี้
คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
มาตรา ๒๐๗ เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
และคู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ ตรี มาตรา ๑๙๙ จัตวา และมาตรา ๑๙๙ เบญจ
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๐๘[๑๖๑] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๐๙[๑๖๒] (ยกเลิก)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2559
ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน
อันเป็นการสืบพยานเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี
มิใช่การสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่โจทก์และจำเลยพิพาทกัน
จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 202 มาใช้บังคับดังที่ผู้ร้องฎีกา
เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง
แต่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า
ผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนให้ได้ความตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง
ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131
(2) การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิฉบับนี้โดยอ้างเหตุว่า
ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์
อันเป็นเหตุเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว
คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2559
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา
การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย
ส่วนที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาให้ครบองค์คณะ
ซึ่งเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4)
นั้น
ก็มีผลเพียงให้คำพิพากษาและกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นภายหลังไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
หามีผลให้ต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาด้วยไม่ ดังนั้น
การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย
แต่กลับให้เพิกถอนกระบวนพิจารณา
โดยให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การสืบพยานโจทก์เป็นต้นมาจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1516/2559
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10
ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 วันที่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นต้องพิจารณาตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง
ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น
ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้
ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง
ในคดีดังกล่าวจำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี
จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199
จัตวา กล่าวคือ คำขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน
นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดพิจารณา
แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน
จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว
คดีดังกล่าวศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยปิดคำบังคับเมื่อวันที่
30 กันยายน 2545 ซึ่งมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ.
มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าการส่งคำบังคับมีผลในวันที่ 15 ตุลาคม 2545
จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2545
เมื่อมิได้ขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
คดีจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 30 ตุลาคม 2545
โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12635/2558
การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบแล้วพิพากษายกฟ้องไปตามพยานหลักฐานและประเด็นในคดี
ไม่ใช่การพิจารณาโดยขาดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ.
มาตรา 207 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา
31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12436/2558
ศาลชั้นต้นไต่สวนและวินิจฉัยคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ว่า
คำขอของโจทก์บรรยายเพียงเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา แต่มิได้บรรยายข้อคัดค้านว่า
หากศาลพิจารณาคดีใหม่แล้วโจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดี
ถือว่าคำขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์มิได้บรรยายให้ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
จึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ดังนั้น
ไม่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีคำพิพากษาเป็นประการใด
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207
ประกอบมาตรา 199 เบญจ วรรคสี่
โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาอีกต่อไป
ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา
246, 142 (5) ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ย่อมไม่ชอบ
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2558
โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรอง
ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัท ส.
และเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนและประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างในเรื่องความเกี่ยวพันของจำเลยที่ 2 กับบริษัทดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีนี้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีความเกี่ยวพันกับบริษัทดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 2 ยังคงประกอบกิจการด้วยตนเองในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.
มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542
มาตรา 14 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ ประกอบมาตรา 207 การที่ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าการขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาของคู่ความที่ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันควรและผู้ขอมีทางชนะคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13138/2557
ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากตาม
ป.วิ.พ. (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคดีมโนสาเร่มาใช้บังคับ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 206 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198
ทวิ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่เห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยานได้
และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาจากคำฟ้อง
เอกสารท้ายฟ้องและเอกสารที่โจทก์ส่งเป็นพยานหลักฐาน แล้วฟังว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง
จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2554
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เวลา 9
นาฬิกา ถึงเวลา 16.30 นาฬิกา
มีความหมายว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะออกนั่งพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่เวลา
9 นาฬิกา และพิจารณาคดีต่อเนื่องกันไปจนเสร็จการพิจารณา
เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้วก็จะมีคำพิพากษาโดยเร็วต่อเนื่องกันไปเช่นกัน
เมื่อจำเลยไม่มาศาลก่อนศาลเริ่มต้นสืบพยานโจทก์โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีจึงถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จการพิจารณาและโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกหน้าสำนวนแสดงว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังแล้ว
ต่อมาเวลา 14 นาฬิกา
ของวันเดียวกันทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงเป็นการยื่นคำร้องหลังจากศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา
26 แห่ง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.2539 ประกอบ มาตรา 40 วรรคหนึ่ง
แห่ง ป.วิ.พ.
จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เสนอคำขอเลื่อนคดีต่อศาลก่อนหรือในวันนัดพิจารณา
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะล่วงเลยเวลานั้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9402/2553
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด
แม้ต่อมาก่อนวันนัดพิจารณาคำร้อง
โจทก์ขอถอนคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตแล้ว
โจทก์ยังคงเป็นคู่ความในคดีและมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ
ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ได้ต่อไป ทั้งการพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์และจำเลยที่ 4 ส่วนเจ้าหนี้มิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในชั้นนี้
เมื่อวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์ไม่คัดค้านการขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลล้มละลายกลางจึงชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 พิจารณาคดีใหม่ได้โดยไม่ต้องไต่สวน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2552
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่
1
ในฐานะผู้ขับรถยนต์ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์
และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1
ขับ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลก็ยังวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดีไม่ได้จนกว่าจะได้พิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองทั้งสองนำสืบว่าคดีมีมูลตามข้ออ้างแห่งฟ้อง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 206 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้การและนำสืบต่อสู้คดีจึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่า
จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่
หาใช่กรณีที่ศาลจะต้องฟังแต่เฉพาะพยานโจทก์ทั้งสองฝ่ายเดียวว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่
และศาลย่อมพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ หากฟังเหตุมิได้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14892/2551
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้กู้ยืมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวนแน่นอน
เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา
ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
การที่โจทก์แถลงขอส่งหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจแทนการสืบพยานและศาลอนุญาตถือได้ว่าเป็นการให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน
เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยไม่จำต้องมีพยานบุคคลมาสืบประกอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8493/2551
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีมโนสาเร่
กำหนดนัดพิจารณาให้โจทก์จำเลยมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การและสืบพยาน
ก่อนถึงกำหนดนัด ศาลสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ทิ้งฟ้อง
เมื่อถึงวันนัดโจทก์อ้างส่งเอกสารต่อศาล 14 ฉบับ
แล้ววันเดียวกันนั้น
ศาลได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์อ้างส่งดังกล่าว
โดยศาลชั้นต้นมิได้จดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาว่ามีคู่ความฝ่ายใดมาศาลบ้าง
รวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 48
ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มาศาลหรือไม่ เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลโดยไม่ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล
ตามมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา
ถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก่อนหรือในวันนัดดังกล่าวให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การด้วย
อันเป็นเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะทำการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวได้ตามมาตรา
204 กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลจึงจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ตามมาตรา
206 วรรคสอง ประกอบมาตรา 198 ทวิ
วรรคสาม (1) ที่นำมาบังคับใช้โดยอนุโลม
การพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมาจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะสามารถอ้างส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง
ป.วิ.พ.
ในข้อที่มุ่งหมายที่ยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน
ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง
ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา
243 (1) (2), 246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3195/2551
การที่จะถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไปและศาลแรงงานมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้ตาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง
ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลเมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีโจทก์แล้วสั่งให้โจทก์
มาศาลในวันเวลานัดตามมาตรา 37
เพื่อที่ศาลจะได้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์และจำเลยตกลงกันตามมาตรา 38 เท่านั้น ส่วนกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดอื่นหลังจากนั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
มิได้บัญญัติวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 200 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ.2522 มาตรา 31
ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ แล้ว
ได้นัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13 มีนาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา โดยสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดด้วย
ต่อมาโจทก์และจำเลยก็มาศาลตามวันเวลานัดดังกล่าว และศาลทำการไกล่เกลี่ยตามมาตรา 38 แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27
เมษายน 2549
เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลจดประเด็นข้อพิพาทไว้ตามมาตรา 39 แล้วสืบพยานโจทก์ จากนั้นจึงนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 แต่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย
จึงเห็นได้ว่าการที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยมิใช่เป็นการไม่มาศาล
ตามมาตรา 37 เพราะขั้นตอนต่างๆ ตามมาตรา 37, 38, 39 ผ่านพ้นไปแล้ว
จึงมิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ตามมาตรา
40 วรรคหนึ่งได้
และกรณีดังกล่าวมิใช่การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน
ที่จะถือว่าเป็นการขาดนัดพิจารณาและศาลจะมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ.
มาตรา 200, 202 ประกอบ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
มาตรา 31 อีกด้วย ดังนั้น
ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความจึงไม่ชอบด้วยบท
บัญญัติข้างต้น
ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่มิชอบดังกล่าวเสีย ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2551
กรณีที่จะเป็นการขาดนัดพิจารณาตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 200
ต้องเป็นกรณีที่โจทก์หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน
ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนวนก่อนเจ้า
หนี้รายอื่นและขอเฉลี่ยทรัพย์
ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม
คำร้องในวันนัดไต่สวน ซึ่งมิใช่เป็นการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี
จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้อง
จำหน่ายคดีตามมาตรา 202 มาบังคับใช้
เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง
การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ และสั่งยกคำร้องจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2550
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 (เดิม) (ปัจจุบัน มาตรา 199 จัตวา, 207) คำขอให้พิจารณาใหม่ ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน
นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากาษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย
ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าว
โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด
15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง
แต่ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการที่ล่า
ช้านั้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 ด้วยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2540 ซึ่งการส่งคำบังคับมีผลใช้ได้วันที่ 22 ธันวาคม 2540 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 1 มีนาคม 2544 จึงเป็นการล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วัน
นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว
แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ถูกคนร้ายยิงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2520 จนร่างกายพิการต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ตามวัดแถบภาคอีสานเป็นเวลาหลายปี
จำเลยที่ 1
เพิ่งทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและทราบว่าศาลออกคำบังคับแล้ว
อันเป็นการอ้างเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด
15 วัน
นับแต่วันส่งคำบังคับเพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวมาในคำร้องว่าจำเลยที่ 1
ทราบคำบังคับตั้งแต่วันที่เท่าใด
เพื่อให้ทราบว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด
จึงไม่อาจเริ่มต้นนับกำหนด 15 วัน
ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นได้ ถือว่าจำเลยที่ 1
มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าและเหตุแห่งการที่ล่า ช้านั้น
คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5098/2550
ในคดีมโนสาเร่นั้นกฎหมายได้กำหนดกระบวนพิจารณาสำหรับกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลแตก
ต่างไปจากคดีแพ่งสามัญ
การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัด
ข้องที่ไม่มาศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป
ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ทวิ วรรคหนึ่ง
กรณีนี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มิได้ให้ถือว่าโจทก์ขาด
นัดพิจารณา ดังนั้น จึงนำมาตรา 202
ว่าด้วยการที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาในคดีแพ่งสามัญมาบังคับแก่คดีนี้หาได้ไม่
เพราะในคดีมโนสาเร่กฎหมายได้บัญญัติหลักเกณฑ์ของการดำเนินกระบวนพิจารณา
เมื่อโจทก์ไม่มาศาลไว้เป็นพิเศษแล้ว
แม้จำเลยจะยื่นคำให้การและแจ้งต่อศาลชั้นต้นในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการ
พิจารณาคดีต่อไป
ศาลก็ไม่อาจมีคำสั่งให้มีการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 202 ดังที่จำเลยอุทธรณ์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2549
การที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา
ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 202 ประกอบด้วยมาตรา 132
บทบัญญัติสองมาตรานี้ไม่ได้กำหนดให้ศาลต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่าง
บทบัญญัติมาตรา 151 แห่ง ป.วิ.พ. แม้ตามมาตรา 132 จะมีข้อความว่า ให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร
ก็เป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชา
ธรรมเนียมหรือไม่ มิใช่บังคับให้ศาลต้องสั่ง
กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่มีระเบียบให้ต้องคืนค่าธรรมเนียมเหมือนอย่าง
การคืนค่าธรรมเนียมตามมาตรา 151
ที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3167/2549
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายนำสืบพยานก่อน
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลแรงงานกลางได้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยนัดหน้า
เมื่อถึงกำหนดนัด ทนายโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องและไม่มีพยานจำเลย
มาศาล ศาลแรงงานกลางจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานและมีคำพิพากษาไปในวันดังกล่าว
กรณีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดหรือขาดนัด
พิจารณาแพ้คดี แต่เป็นกรณีที่ศาลได้พิพากษาชี้ขาดไปตามรูปเรื่องที่ปรากฏในคำฟ้องคำให้การ
และพยานโจทก์ ดังนี้ จำเลยจึงไม่อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2549
โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี
ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 202 กรณีเช่นนี้แม้มาตรา 203
มิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่
แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็น สำคัญ
เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว
จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดี
ใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวคือต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามาตรา 203 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3778/2549
ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน
ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไม่มาศาล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจน
เสร็จสิ้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาย่อมถือได้ว่าจำเลยขาดนัด
ทั้งสองฐานะ
คือทั้งที่เป็นจำเลยและที่เป็นโจทก์ฟ้องแย้งด้วยเมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำ
สืบก่อนได้นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของ
โจทก์ไปจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายว่าโจทก์ใน
ฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้ขอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) แล้ว
การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาคดีในส่วนฟ้องแย้งจึง
ชอบด้วยกฎหมาย หาใช่ต้องจำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5648/2548
ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่
15 กันยายน 2541 โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ไม่มาศาล
ส่วนจำเลยที่ 3
มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยที่ 3 ป่วยเป็นไข้หวัดไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง
ให้จำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความ
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์นั้นเป็นการสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201
(เดิม)
ซึ่งมีผลห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่
และมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยผิดหลงตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ดังนั้น
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและ
ขอพิจารณาคดีใหม่ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์
ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องและให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว
นัดสืบพยานโจทก์ต่อไป ซึ่งมีผลเท่ากับให้โจทก์มีโอกาสนำพยานเข้าสืบใหม่
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2548
ในกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 202 หากจำเลยมิได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป
ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องไว้ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์
ศาลให้รอสั่งในวันนัดและจำเลยที่ 1
แถลงคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์เป็นคนละกรณีกับการที่จะให้ศาลดำเนินการ
พิจารณาคดีต่อไป ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1
ได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามบทกฎหมายดัง กล่าว
ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แต่การที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในคำสั่งจำหน่ายคดีว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้นเป็นการ
ไม่ถูกต้องเพราะกรณีมิใช่เป็นเรื่องทิ้งฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 684/2548
คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความเนื่องจากโจทก์และจำเลยขาดนัด
พิจารณา จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความ
ดังนั้นแม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ขณะคดีก่อนยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์
แต่เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่ให้จำหน่ายคดีจนคำ
สั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว
ก็ถือไม่ได้ว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
และแม้ต่อมาจำเลยจะได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและอุทธรณ์คำ
สั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องในคดีก่อนก็ตามแต่เป็นการยื่นคำร้องเมื่อคดี
ถึงที่สุดแล้วและยื่นคำร้องช้ากว่า 8 วัน
นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบคำ
ร้องคัดค้านเรื่องผิดระเบียบที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ชอบ
ไม่มีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีและถึงที่สุดไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2547
กรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานจำเลย
และศาลชั้นต้นเห็นว่าฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้วมีพฤติการณ์ประวิง คดี
จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์
มิใช่เป็นการพิจารณาโดยขาดนัด จำเลยย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2546
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความแพ่ง มาตรา 201
โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้
เพราะศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้ไปฝ่ายเดียวอันเนื่องมาจากคู่
ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาและอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ขาดนัดพิจารณา
ทั้งห้ามโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีด้วย
หากโจทก์เห็นว่าการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปนั้นเพราะหลงผิดเนื่องจากโจทก์ยัง
ไม่ทราบกำหนดวันนัดสืบพยาน
โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้
ถ้าศาลยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโจทก์ก็
สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นต่อไปได้เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ยกคำ
ร้องฉบับแรกของโจทก์ที่ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโจทก์คงมี
สิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ใหม่ภายในอายุความเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2545
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยเป็นเพียงการบรรยายเหตุที่จำเลยมิได้จงใจขาดนัด
ยื่นคำให้การ และระบุเพียงว่าหากจำเลยต่อสู้คดีเชื่อว่ายอดหนี้ที่กล่าวในคำบังคับต้องลด
น้อยลง เพราะโจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ไม่ได้อ้างหรือแสดงเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่
ชอบหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด อย่างไรที่จะแสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีใหม่
จำเลยอาจเป็นฝ่ายชนะคดี
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง
มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง
คดีนี้ศาลชั้นต้นให้ดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อยุ่งยากซึ่งประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสอง (3) ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าถ้าจำเลยได้รับหมายเรียกของศาลแล้วไม่มาศาลตาม
กำหนดนัด ให้ศาลมีคำสั่งโดยไม่ชักช้าว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วให้ศาลพิจารณาคดีไป
ฝ่ายเดียว
อันเป็นวิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้นที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะสำหรับ
คดีไม่มีข้อยุ่งยากว่าให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ในกรณีที่จำเลยไม่มาศาล
กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นมาจึงจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1)
โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 204 และ มาตรา 206 วรรคสอง
มาใช้บังคับแก่คดีโดยอนุโลมได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่มาศาล
และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
และให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ไปเลย
โดยไม่ได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องตามประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7380/2543
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (10)
"วันสืบพยาน" หมายความว่าวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน
โจทก์ยื่นคำฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันให้รับฟ้องและนัดสืบพยาน
โจทก์วันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เวลา 9
นาฬิกา เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมาย
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2541 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำให้การได้ภายในวันที่
30 กรกฎาคม 2541 ฉะนั้นวันที่ 21
กรกฎาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นวันสืบพยานโจทก์นัดแรกนั้นแม้โจทก์และพยานโจทก์จะมา
ศาลก็ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ได้เพราะยังไม่พ้นระยะเวลาที่
จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เลื่อนคดีเพื่อรอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว
หรือเมื่อครบกำหนดเวลายื่นคำให้การหากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ วันที่ 21 กรกฎาคม2541 จึงมิใช่ "วันสืบพยาน"
ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ดังนี้แม้โจทก์จะมิได้ไปศาลในวันดังกล่าวโดยเข้าใจว่าวันนัดคลาดเคลื่อนไป
เพราะความผิดพลาดของโจทก์ แต่ก็เป็นคนละเหตุที่จะให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา
ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยเห็นว่า เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงถูกต้องแล้ว