มาตรา ๖๗ เมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติว่า เอกสารใดจะต้องส่งให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง (เช่นคำคู่ความที่ทำโดยคำฟ้อง คำให้การหรือคำร้องหรือคำขอโดยทำเป็นคำร้อง หมายเรียกหรือหมายอื่น ๆ สำเนาคำแถลงการณ์ หรือสำเนาพยานเอกสาร ฯลฯ) เอกสารนั้นต้องทำขึ้นให้ปรากฏข้อความแน่ชัดถึงตัวบุคคลและมีรายการต่อไปนี้
(๑) ชื่อศาลที่จะรับคำฟ้อง หรือถ้าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ชื่อของศาลนั้นและเลขหมายคดี
(๒) ชื่อคู่ความในคดี
(๓) ชื่อคู่ความหรือบุคคล ซึ่งจะเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้น
(๔) ใจความ และเหตุผลถ้าจำเป็นแห่งคำคู่ความหรือเอกสาร
(๕) วัน เดือน ปี ของคำคู่ความ หรือเอกสารและลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน คู่ความ หรือบุคคลซึ่งเป็นผู้ยื่นหรือเป็นผู้ส่ง
ในการยื่นหรือส่งคำคู่ความ หรือเอกสารอื่นใดอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เจ้าพนักงาน คู่ความ หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น ส่วนราคากระดาษแบบพิมพ์นั้นให้เรียกตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะได้กำหนดไว้
เพื่อประโยชน์แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้เรียกนิติบุคคลตามชื่อหรือตามชื่อที่จดทะเบียนและภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของนิติบุคคลนั้น ให้ถือเอาสำนักงานหรือสำนักงานแห่งใหญ่ซึ่งอยู่ภายในเขตศาลที่จะยื่นฟ้องคดีหรือที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา[๓๕]
มาตรา ๖๘ การยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารในลักษณะนี้ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทุกฝ่าย รวมทั้งการแจ้งคำสั่งของศาลหรือข้อความอย่างอื่นไปยังคู่ความหรือบุคคลอื่นใด อาจดำเนินการโดยทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อข้อกำหนดนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๖๙ การยื่นคำคู่ความ หรือเอกสารอื่นใดต่อศาลนั้น ให้กระทำได้โดยส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล หรือยื่นต่อศาลในระหว่างนั่งพิจารณา
มาตรา ๗๐ บรรดาคำฟ้อง หมายเรียกและหมายอื่น ๆ คำสั่ง คำบังคับของศาลนั้น ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง แต่ว่า
(๑) หมายเรียกพยาน ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้นเป็นผู้ส่งโดยตรง เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น หรือพยานปฏิเสธไม่ยอมรับหมาย ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง
(๒) คำสั่ง คำบังคับของศาล รวมทั้งคำสั่งกำหนดวันนั่งพิจารณาหรือสืบพยานแล้วแต่กรณี หรือคำสั่งให้เลื่อนคดี ถ้าคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นอยู่ในศาลในเวลาที่มีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ ให้ถือว่าได้ส่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำฟ้องนั้น ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ส่วนการนำส่งนั้นโจทก์จะนำส่งหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่ศาลจะสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่ง ส่วนหมายเรียก หมายอื่น ๆ คำสั่ง คำบังคับของศาลที่ได้ออกตามคำขอของคู่ความฝ่ายใด ถ้าศาลมิได้สั่งให้จัดการนำส่งด้วย ก็ให้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ในกรณีอื่น ๆ ให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะจัดการส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง[๓๗]
มาตรา ๗๑ คำให้การนั้น ให้ฝ่ายที่ให้การนำต้นฉบับยื่นไว้ต่อศาลพร้อมด้วยสำเนาสำหรับให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคู่ความอื่น ๆ รับไปโดยทางเจ้าพนักงานศาล
คำร้องเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนั้น ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ โดยฝ่ายที่ยื่นคำร้องเป็นผู้มีหน้าที่จัดการนำส่ง
มาตรา ๗๒ คำร้องและคำแถลงการณ์ซึ่งได้ยื่นต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ หรือโดยข้อตกลงของคู่ความตามที่ศาลจดลงไว้ในรายงานนั้น ให้ผู้ยื่นคำร้องหรือคำแถลงการณ์นำต้นฉบับยื่นไว้ต่อศาลพร้อมด้วยสำเนาเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมารับไปโดยทางเจ้าพนักงานศาล
บรรดาคำร้องอื่น ๆ ให้ยื่นต่อศาลพร้อมด้วยสำเนา เพื่อส่งให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และถ้าศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งสำเนาเช่นว่านั้น ก็ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งโดยให้คู่ความฝ่ายที่ยื่นคำร้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
บรรดาเอกสารอื่น ๆ เช่นสำเนาคำแถลงการณ์หรือสำเนาพยานเอกสารนั้น ให้ส่งแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธีดังต่อไปนี้
(๑) โดยคู่ความฝ่ายที่ต้องส่งนั้น ส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเอง แล้วส่งใบรับต่อศาลพร้อมกับต้นฉบับนั้น ๆ ใบรับนั้นจะทำโดยวิธีลงไว้ในต้นฉบับว่าได้รับสำเนาแล้ว และลงลายมือชื่อผู้รับกับวัน เดือน ปี ที่ได้รับก็ได้ หรือ
(๒) โดยคู่ความฝ่ายที่ต้องส่งนั้นนำสำเนายื่นไว้ต่อศาลพร้อมกับต้นฉบับ แล้วขอให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้นำส่งให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขอต้องไปกับเจ้าพนักงานศาลและเสียค่าธรรมเนียมในการส่งนั้นด้วย
มาตรา ๗๓ ถ้าคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดจะต้องให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งเมื่อคู่ความผู้มีหน้าที่ต้องส่งได้ร้องขอ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการส่งโดยเร็วเท่าที่จะทำได้ เพื่อการนี้ พนักงานผู้ส่งหมายจะให้ผู้ขอหรือบุคคลที่ผู้ขอเห็นสมควรไปด้วยเพื่อชี้ตัวคู่ความหรือบุคคลผู้รับหรือเพื่อค้นหาภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้รับก็ได้
ในกรณีที่ต้องส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดไปตามคำสั่งของศาล ซึ่งบุคคลอื่นหรือคู่ความไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการส่งนั้น ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลจะดำเนินการส่ง
มาตรา ๗๓ ทวิ คำคู่ความหรือเอกสารที่เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งไม่ว่าการส่งนั้นจะเป็นหน้าที่ของศาลจัดการส่งเองหรือคู่ความมีหน้าที่จัดการนำส่งก็ตาม ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศก็ได้ โดยให้คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าคำคู่ความหรือเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์ มีผลเสมือนเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๗๔ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดโดยเจ้าพนักงานศาลนั้นให้ปฏิบัติ ดังนี้
(๑) ให้ส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก และ
(๒) ให้ส่งแก่คู่ความหรือบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลนั้น แต่ให้อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติหกมาตราต่อไปนี้
มาตรา ๗๕ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่ทนายความที่คู่ความตั้งแต่งให้ว่าคดี หรือให้แก่บุคคลที่ทนายความเช่นว่านั้นได้ตั้งแต่ง เพื่อกระทำกิจการอย่างใด ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๖๔ นั้น ให้ถือว่าเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา ๗๖ เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความหรือบุคคลที่จะส่งคำคู่ความหรือเอกสาร ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น ๆ ถ้าได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลใด ๆ ที่มีอายุเกินยี่สิบปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของคู่ความหรือบุคคลนั้น หรือได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นตามข้อความในคำสั่งของศาลให้ถือว่าเป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ในกรณีเช่นว่ามานี้ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความฝ่ายใด ห้ามมิให้ส่งแก่คู่ความฝ่ายปรปักษ์เป็นผู้รับไว้แทน
มาตรา ๗๗ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดโดยเจ้าพนักงานศาลไปยังที่อื่นนอกจากภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือของบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำคู่ความ หรือเอกสารนั้น ให้ถือว่าเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อ
(๑) คู่ความหรือบุคคลนั้นยอมรับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไว้ หรือ
(๒) การส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นได้กระทำในศาล
มาตรา ๗๘ ถ้าคู่ความหรือบุคคลที่ระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสารปฏิเสธไม่ยอมรับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นจากเจ้าพนักงานศาลโดยปราศจากเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานนั้นชอบที่จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่มีอำนาจหรือเจ้าพนักงานตำรวจไปด้วยเพื่อเป็นพยาน และถ้าคู่ความหรือบุคคลนั้นยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับอยู่อีก ก็ให้วางคำคู่ความหรือเอกสารไว้ ณ ที่นั้น เมื่อได้ทำดังนี้แล้วให้ถือว่าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย
มาตรา ๗๙ ถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร หรือมอบหมายคำคู่ความหรือเอกสารไว้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้วนั้นไว้ดังกล่าวมาข้างต้น หรือลงโฆษณาหรือทำวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีอื่นแทนนั้น ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่เวลาที่คำคู่ความหรือเอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้ หรือการโฆษณาหรือวิธีอื่นใดตามที่ศาลสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว
มาตรา ๘๐ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยเจ้าพนักงานศาลหรือทางเจ้าพนักงานศาลนั้น ให้เจ้าพนักงานศาลส่งใบรับลงลายมือชื่อคู่ความ หรือผู้รับคำคู่ความหรือเอกสาร หรือส่งรายงานการส่งคำคู่ความหรือเอกสารลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานศาลต่อศาล แล้วแต่กรณี เพื่อรวมไว้ในสำนวนความ
ใบรับหรือรายงานนั้นต้องลงข้อความให้ปรากฏแน่ชัดถึงตัวบุคคลและรายการต่อไปนี้
(๑) ชื่อเจ้าพนักงานผู้ส่งหมาย และชื่อผู้รับหมาย ถ้าหากมี
(๒) วิธีส่ง วัน เดือน ปี และเวลาที่ส่ง
รายงานนั้นต้องลงวันเดือนปี และลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานผู้ทำรายงาน
ใบรับนั้นจะทำโดยวิธีจดลงไว้ที่ต้นฉบับซึ่งยื่นต่อศาลก็ได้
มาตรา ๘๑ การส่งหมายเรียกพยานโดยคู่ความที่เกี่ยวข้องนั้นให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) ให้ส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก และ
(๒) ให้ส่งแก่บุคคลซึ่งระบุไว้ในหมายเรียก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลเช่นว่านั้น แต่ว่าให้อยู่ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๗๖ และ ๗๗
มาตรา ๘๒ ถ้าจะต้องส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดไปยังคู่ความหรือบุคคลหลายคน ให้ส่งสำเนาคำคู่ความหรือเอกสารที่จะต้องส่งไปให้ทุก ๆ คน ในกรณีที่ต้องส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยเจ้าพนักงานศาลหรือทางเจ้าพนักงานศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายซึ่งมีหน้าที่จัดการนำส่ง มอบสำเนาคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้พอกับจำนวนคู่ความหรือบุคคลที่จะต้องส่งให้นั้น
มาตรา ๘๓ ถ้าคู่ความฝ่ายใดจะต้องยื่นต่อศาลหรือจะต้องส่งให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอกซึ่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใด ภายในเวลาหรือก่อนเวลาที่กฎหมายหรือศาลได้กำหนดไว้ และการส่งเช่นว่านี้จะต้องกระทำโดยทางเจ้าพนักงานศาล ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นได้ปฏิบัติตามความมุ่งหมายของกฎหมายหรือของศาลแล้ว เมื่อคู่ความฝ่ายนั้นได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารเช่นว่านั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลเพื่อให้ยื่นหรือให้ส่งในเวลาหรือก่อนเวลาที่กำหนดนั้นแล้ว แม้ถึงว่าการรับคำคู่ความหรือเอกสารหรือการขอให้ส่งคำคู่ความหรือเอกสาร หรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคล ภายนอกนั้นจะได้เป็นไปภายหลังเวลาที่กำหนดนั้นก็ดี
ถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใด จะต้องให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ก่อนวันเริ่มต้นนั่งพิจารณาหรือสืบพยาน ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายที่ต้องรับผิดในการส่งนั้นได้ปฏิบัติตามความมุ่งหมายของกฎหมายหรือของศาลตามที่บัญญัติไว้ในวรรคก่อนนั้นได้ต่อเมื่อคู่ความฝ่ายนั้นได้ยื่นคำคู่ความหรือเอกสารที่จะต้องส่งให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลไม่ต่ำกว่าสามวันก่อนวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่กำหนดล่วงหน้าไว้นั้น
ในกรณีที่คู่ความอาจส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีส่งสำเนาตรงไปยังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคล ภายนอกได้นั้น บทบัญญัติแห่งมาตรานี้มิได้ห้ามคู่ความที่มีหน้าที่ต้องส่งคำคู่ความหรือเอกสารดังกล่าวแล้วในอันที่จะใช้วิธีเช่นว่านี้ แต่คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องส่งใบรับของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต่อศาลในเวลาหรือก่อนเวลาที่กฎหมายหรือศาลได้กำหนดไว้
มาตรา ๘๓ ทวิ ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีที่จำเลยประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนหรือในกรณีที่มีการตกลงเป็นหนังสือว่าคำคู่ความและเอกสารที่จะต้องส่งให้แก่จำเลยนั้น ให้ส่งแก่ตัวแทนซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรที่จำเลยได้แต่งตั้งไว้เพื่อการนี้ให้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยหรือตัวแทนในการประกอบกิจการหรือตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสาร ณ สถานที่ที่จำเลยหรือตัวแทนใช้ประกอบกิจการหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนในการประกอบกิจการหรือของตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสาร ซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่มีการเรียกบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา ๕๗ (๓) ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘๓ ตรี การส่งคำคู่ความ คำร้อง คำแถลง หรือเอกสารอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๓ ทวิ ถ้าผู้รับไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรแต่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน หรือมีตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสารหรือทนายความในการดำเนินคดีอยู่ในราชอาณาจักร ให้ส่งแก่ผู้รับหรือตัวแทนเช่นว่านั้นหรือทนายความ ณ สถานที่ที่ผู้รับหรือตัวแทนใช้ประกอบกิจการ หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทน หรือภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของทนายความซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้รับมิได้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วยตนเองหรือไม่มีตัวแทนดังกล่าวหรือทนายความอยู่ในราชอาณาจักร ให้ส่งโดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาล
มาตรา ๘๓ จัตวา ในกรณีที่จะต้องส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีตามมาตรา ๘๓ ทวิ แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยนอกราชอาณาจักรให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง เพื่อให้ศาลจัดส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลย ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียก คำฟ้องตั้งต้นคดีและเอกสารอื่นใดที่จะส่งไปยังประเทศที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ เป็นภาษาราชการของประเทศนั้นหรือเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องยื่นต่อศาลพร้อมกับคำร้องดังกล่าว และวางเงินค่าใช้จ่ายไว้ต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์จัดทำเอกสารอื่นเพิ่มเติมยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้
ในกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามมาตรา ๑๗๔
ในกรณีที่มีการเรียกบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา ๕๗ (๓) ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘๓ เบญจ การส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีตามมาตรา ๘๓ ทวิแก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักร ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการส่ง และในกรณีส่งโดยวิธีอื่นแทนการส่งให้แก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่น
มาตรา ๘๓ ฉ การส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีตามมาตรา ๘๓ ทวิ แก่จำเลยหรือตัวแทนซึ่งประกอบกิจการในราชอาณาจักรหรือตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสาร ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นตามมาตรา ๘๓ ตรี แก่ผู้รับหรือตัวแทนหรือทนายความ ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย
การปิดประกาศตามมาตรา ๘๓ ตรี ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๙ มาใช้บังคับ
มาตรา ๘๓ สัตต เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๘๓ จัตวา แล้ว ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ศาลดำเนินการส่งให้แก่จำเลยหรือบุคคลภายนอกโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศหรือโดยผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อข้อกำหนดนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๘๓ อัฎฐ ในกรณีที่จะต้องส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีตามมาตรา ๘๓ ทวิ แก่จำเลยหรือบุคคลภายนอก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักรถ้าโจทก์ยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องและสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่าการส่งตามมาตรา ๘๓ สัตต ไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุที่ภูมิลำเนาและสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏหรือเพราะเหตุอื่นใด หรือเมื่อศาลได้ดำเนินการตามมาตรา ๘๓ สัตต แล้ว แต่ไม่อาจทราบผลการส่งได้ถ้าศาลเห็นสมควร ก็ให้ศาลอนุญาตให้ส่งโดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทน ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลจะสั่งให้ส่งโดยวิธีประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือโดยวิธีอื่นใดด้วยก็ได้
การส่งโดยวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศไว้ที่ศาล และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๙ มาใช้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5128/2562
การที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม โดยไม่แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านอื่น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ ณ ที่ใด แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และมีเจตนาจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ที่จำเลยแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิมนั้นกระทำเพียงเพื่อมิให้โจทก์ติดตามหาที่อยู่ของจำเลยได้พบเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิมตามฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4325/2562
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่คำร้องขอเพิกถอนดังกล่าวของจำเลยที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2780/2562
โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่อ้างว่า ต้องเสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นศาลอันมูลเหตุกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้เกิดขึ้น เพื่อให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ผิดระเบียบเพื่อพิจารณาข้ออ้างของโจทก์ต่อไป มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพราะข้อผิดระเบียบดังกล่าวมิใช่ข้อผิดระเบียบที่เกิดขึ้นในกระบวนพิจารณาของศาลฎีกา กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่มีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลล่างได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2562
การปิดหมาย เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งต้องปิดหมายไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย การที่ผู้ส่งหมายเพียงแต่วางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 5 จึงไม่ชอบ กระบวนพิจารณาตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้
ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2562
ในชั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกาของโจทก์ มิได้กำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาแม้ศาลชั้นต้นระบุในรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งทนายโจทก์มาศาลว่า ...หมายแจ้งจำเลยทั้งสองแก้ฎีกา ให้โจทก์นำส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ในการนำส่งหรือวางค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการส่งหมายนัดแจ้งจำเลยทั้งสองให้แก้ฎีกาว่าให้โจทก์ดำเนินการภายในเวลาเท่าใด ซึ่งหากโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติก็จะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจำหน่ายฎีกาของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 การที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ทนายโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่เคยโทรศัพท์แจ้งให้มาดำเนินการส่งหมายแล้ว แต่โจทก์หรือทนายโจทก์ไม่ได้มาดำเนินการนั้น ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในการติดต่อโทรศัพท์ว่าทนายโจทก์แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ศาลว่าอย่างไร เหตุใดจึงไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล เนื่องจากในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและคำบังคับ โจทก์ก็เพียงแต่วางค่าธรรมเนียมในการส่งเท่านั้น ทนายโจทก์อาจเข้าใจว่าได้วางค่าธรรมเนียมในการส่งไว้ตั้งแต่วันยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้ว จึงไม่ดำเนินการนำเจ้าหน้าที่ไปส่งหมายนัดให้แก่จำเลยทั้งสองและไม่วางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นอีก ตามพฤติการณ์จะถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีอันเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 (2) หาได้ไม่ จึงยังไม่สมควรจำหน่ายฎีกาของโจทก์ด้วยเหตุทิ้งฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2561
ในชั้นร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา โจทก์ได้ส่งสำเนาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยและจำเลยได้รับเอกสารดังกล่าวแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาทั้งหมด ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้แล้วออกหมายนัดแจ้งให้จำเลยทราบกับกำหนดให้จำเลยแก้ฎีกาของโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายนัด ไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยซ้ำอีก การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยแก้ในครั้งหลังนี้อีกจึงเป็นการผิดหลง และเป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดว่าการที่โจทก์ได้ส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยไว้ดังกล่าวข้างต้น เป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ไม่จำต้องปฏิบัติซ้ำอีก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2561
แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6132/2560
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกทั้งสองฉบับ โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 19 เนื่องจากเป็นกรณีโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ไม่ถูกต้อง และในกรณีที่มีการแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีได้ โดยมิได้มีข้อจำกัดว่าจะนำเอกสารที่ได้จากการตรวจค้นและยึดเอกสาร โดยเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นเหตุในการออกหมายเรียกไม่ได้
การออกหมายเรียก ป.รัษฎากร ตาม มาตรา 19 จะต้องกระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียก ลงวันที่ 26 มีนาคม 2547 เพื่อตรวจสอบภาษีอากรสำหรับปีภาษี 2544 และปีภาษี 2545 กรณีย่อมถือว่าวันที่มีการออกหมายเรียกคือวันที่ 26 มีนาคม 2547 เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2544 ในวันที่ 28 มีนาคม 2545 และสำหรับปีภาษี 2545 ในวันที่ 31 มีนาคม 2546 การออกหมายเรียกดังกล่าวจึงได้กระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ส่วนเมื่อมีการออกหมายเรียกแล้วจะส่งให้โจทก์ได้โดยวิธีใดและถือว่าโจทก์ได้รับหมายเรียกเมื่อใด ย่อมเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง ป.รัษฎากร การส่งหมายเรียกจึงเป็นคนละกรณีกับการออกหมายเรียก ย่อมไม่อาจนำเอาวันที่มีการส่งหมายเรียกได้โดยชอบตามมาตรา 8 มาถือว่าเป็นวันที่มีการออกหมายเรียกตามมาตรา 19
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9386/2559
ชื่อสกุลที่ถูกต้องของลูกหนี้มีอยู่ในรายงานสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไปขอคัดชื่อสกุลของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ แล้วใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ผิดเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง อันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่
จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร ก. จำเลยที่ 7 เป็นพนักงานของธนาคาร ก. แต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 จึงเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวแทน
จำเลยที่ 5 เป็นทนายความของบริษัท พ. ซึ่งรับจ้างดำเนินคดีล้มละลายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรับสำนวนต่อมาจากจำเลยที่ 7 ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 7 แก้ไขคำฟ้อง จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ไปสืบพยานเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จำเลยที่ 5 อ้างตนเองเป็นพยาน ส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของตนแทนการซักถาม และส่งเอกสารซึ่งมีแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของลูกหนี้ที่ถูกต้องแล้วต่อศาล จึงเป็นการนำสืบถึงลูกหนี้ที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องแล้ว มิใช่นำสืบว่าลูกหนี้คือโจทก์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด น่าจะเกิดจากความผิดหลงที่ไปพิจารณาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของโจทก์อันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 7 ฟ้องโจทก์แต่ไม่ถอนฟ้องกลับใช้วิธีการแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว ยังไม่ถนัดที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 ประมาทเลินเล่อ
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ขณะคดีอาญายังไม่เด็ดขาด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2559
แม้จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บค่าระวางจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 รวมทั้งดำเนินการทางพิธีการศุลกากร แจ้งการมาถึงของเรือและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่จำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ตกลงร่วมกันรับขนที่ฟ้องร้องในคดีนี้เท่านั้น ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อันจะทำให้อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงดังกล่าว โดยให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยทำเป็นคำร้อง พร้อมกับคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหรือภาษาอังกฤษพร้อมคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องและวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 จัตวา
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์ก็ไม่ดำเนินการภายในกำหนดตามคำสั่งศาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยื่นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาล ย่อมเป็นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 174 (2) และมาตรา 132 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559
โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6903/2559
ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ..." การที่จำเลยส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่โจทก์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2553 กำหนดไว้ในหมวด 6 ระบบงานไปรษณีย์ การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ ข้อ 64 ว่า ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือ 64.3 เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร 64.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานหรืออาคารหลายชั้นต่าง ๆ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ของไปรษณีย์ได้นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปส่งให้แก่โจทก์ที่อาคารเลขที่ 255/6 รัชดาเพรสทีจ คอนโดมิเนียม ตรงตามที่อยู่ของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ โดยมี น. เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับไว้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 จึงถือได้ว่าได้มีการจ่ายหนังสือแจ้งการประเมินให้แก่ผู้แทนของโจทก์แล้วในวันดังกล่าว โจทก์จึงต้องยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 30 แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 เกินกำหนดเวลา 30 วัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการประเมิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2559
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 35 (7) กำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าเมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความและให้คณะกรรมการทนายความจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ อันมีผลให้ทนายความผู้นั้นขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 (4) เมื่อยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสภาทนายความได้จำหน่ายชื่อ ณ. ออกจากทะเบียนทนายความ ณ. จึงยังไม่ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 ดังนั้นกระบวนพิจารณาของศาลที่ ณ. เป็นทนายความจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ ณ. ทนายความจำเลยที่ 2 ได้โดยชอบจึงถือว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2559
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าบริการ 23 ลำดับ รวมเป็นเงิน 213,167,728.24 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ 213,167,728.23 บาท โดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับ 6 ต้นเงิน 16,391,865 บาท และอันดับที่ 21 ต้นเงิน 686,153.71 บาท ผู้ทำแผนยื่นคำร้องว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 6 และอันดับที่ 21 ทั้งเจ้าหนี้ยังต้องชำระค่าปรับให้แก่ลูกหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ผิดสัญญา กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าหนี้โดยตรง การที่ศาลล้มละลายกลางตรวจคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้นัดพิจารณาคำร้องและให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยที่มิได้มีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าหนี้ หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานเฉพาะระหว่างผู้ทำแผนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น จึงเป็นการที่มิได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องให้มีโอกาสในการที่จะโต้แย้งดูแลและดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 มาตรา 247 (เดิม) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 คดีมีเหตุอันสมควรที่จะยกคำสั่งศาลล้มละลายกลางและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเสียให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2559
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพิพาทว่าตนไม่ใช่บริวารศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องและนัดไต่สวนและเจ้าหน้าที่ศาลได้นัดไต่สวน โดยผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องเสียใหม่จากเดิมที่นัดไว้ และผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง และการแจ้งคำสั่งของศาลให้ผู้ร้องทราบนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสาร ที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์นั้น หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2559
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 วันที่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ในคดีดังกล่าวจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กล่าวคือ คำขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดพิจารณา แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว คดีดังกล่าวศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าการส่งคำบังคับมีผลในวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เมื่อมิได้ขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 30 ตุลาคม 2545 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2559
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพิพาทว่าตนไม่ใช่บริวารศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องและนัดไต่สวนและเจ้าหน้าที่ศาลได้นัดไต่สวน โดยผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องเสียใหม่จากเดิมที่นัดไว้ และผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง และการแจ้งคำสั่งของศาลให้ผู้ร้องทราบนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสาร ที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์นั้น หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2558
การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2558
จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายของพนักงานเดินหมายด้วยวิธีปิดหมาย กฎหมายกำหนดให้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มเติมออกไปอีก 15 วัน เมื่อเจ้าพนักงานส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ให้แก่จำเลยโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กรณีจึงต้องให้ระยะเวลาแก่จำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ตามที่ระบุในหมายเรียก ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบไปฝ่ายเดียว และรอฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว เท่ากับจำเลยอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 มิใช่คำร้องเพื่อขอใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี จัตวา และเบญจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17210/2557
ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ครั้งที่สองวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้การส่งครั้งแรกพนักงานไปรษณีย์จะแจ้งเหตุขัดข้องในการนำส่งว่า "ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า" แต่ก็ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรท้ายคำแถลงขอจัดส่งคำคู่ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่โจทก์นำส่งหนังสือทวงถามจริง และในการนำส่งหนังสือทวงถามครั้งที่สอง ก็ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวพันเป็นหลานสาวคือ ส. ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่รับหมายเรียกคดีล้มละลายคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทน พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือและทราบการทวงถามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16887/2557
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า ให้จำเลยวางเงินค่านำส่งตามข้อบังคับว่าด้วยการส่งคำคู่ความและเอกสารทางคดีในวันถัดไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องวางเงินค่านำส่งดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด เมื่อจำเลยไม่วางเงินค่านำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งของศาลและศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยทิ้งฎีกา ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความแล้ว คดีย่อมถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเพื่อคัดค้านคำสั่งของศาลฎีกาได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2556
โจทก์ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า ส. ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากตายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ ส. โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15518/2555
การส่งคำคู่ความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลทางโทรสารตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2550 จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลชั้นต้นมีความพร้อมที่จะรับคำคู่ความที่ส่งโดยทางโทรสาร และได้ออกประกาศแจ้งหมายเลขโทรสารของศาลชั้นต้นให้ทราบทั่วกัน มิใช่ว่าเมื่อข้อบังคับของประธานศาลฎีกาใช้บังคับแล้ว คู่ความจะส่งคำคู่ความไปยังหมายเลขโทรสารของศาลชั้นต้นได้ เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้ดำเนินการออกประกาศดังกล่าว จึงยังไม่อาจนำเรื่องการส่งคำคู่ความทางโทรสารมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ เมื่อโจทก์นำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มายื่นต่อศาลชั้นต้นหลังจากสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วโจทก์จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องของโจทก์อ้างว่าขอคัดถ่ายคำพิพากษาแต่ได้รับแจ้งว่ายังอยู่ที่งานหน้าบัลลังก์นั้น เมื่อตรวจคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เมื่อนับจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเกินกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาจากจำเลยได้อีกต่อไป โจทก์ย่อมสามารถคัดลอกผลตามคำพิพากษาดังกล่าวไปจัดทำอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องรอการคัดถ่ายอีก กรณีจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง มิใช่เหตุสุดวิสัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2555
การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในคดีมโนสาเร่ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 190 ตรี เมื่อโจทก์ขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องด้วยวิธีปิดหมาย โดยแนบแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรซึ่งมีเจ้าหน้าที่รับรองไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันฟ้อง ศาลชั้นต้นได้สั่งย่นระยะเวลาการส่งหมายด้วยการปิดหมายโดยให้มีผลทันที จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบวันนัดพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันปิดหมายแล้ว ไม่ต้องรอให้ล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2553
จำเลยย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเลขที่ 710/85 ไปที่บ้านเลขที่ 1/163 ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายตามคำแถลงของผู้ร้องขอรับชำระหนี้ จำนอง นอกจากนี้ ปรากฏว่า คดีหลักของคดีนี้ถึงที่สุดแล้วก่อนจำเลยย้ายภูมิลำเนา จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักอีกต่อไปและ ไม่อาจถือได้ว่าภูมิลำเนาในคดีหลักยังเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการดำเนินคดี นี้ของจำเลย การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องแก่ จำเลยตามภูมิลำเนาเดิมจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74(2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2550
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมได้อ่านคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับให้คู่ความฟังแล้ว จึงให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ที่หน้าสำนวน และที่หน้าสำนวนระบุข้อความของคำบังคับไว้ว่า ให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิฉะนั้นจะถูกบังคับคดีตามกฎหมาย โดยมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นลงนามในฐานะเป็นผู้ออกคำบังคับ ข้อความที่ระบุไว้ที่หน้าสำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำบังคับแล้ว เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งคำบังคับไปยังจำเลยแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องออกคำบังคับซ้ำอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2552
การส่งคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้อง ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278/1 และมาตรา 76 เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ส่งคำสั่งอายัดให้แก่ผู้ร้อง โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ในหนังสือรับรอง มีผู้รับแทนตามเอกสารท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้รับแทนนั้นมีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำสั่งอายัดให้แก่ ผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8895/2552
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แม้คำร้องของผู้ร้องจะเป็นการร้องตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งมาตรา 28 ได้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์และให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้ที่อาจ อ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาให้จำเลยแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและส่ง คำคู่ความและเอกสารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งไม่ปรากฏว่าเลขาธิการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกที่อาจมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ริบได้ ทราบ เพื่อจะได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด มิได้หมายถึงผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความในคดีและต้องขังอยู่ไม่อาจทราบประกาศ แต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8852/2551
รายงานการเดินหมายมิได้ระบุเวลาที่ส่งหมายไว้ แต่ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า การส่งหมายนั้นจะต้องส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (1) ส่วนการที่เจ้าพนักงานเดินหมายใช้สกอตเทปปิดหมายไว้ที่ประตูรั้วโดยไม่ใช้ วิธีสอดหมายไว้ระหว่างประตูกระจกและประตูเหล็กนั้น ถือว่าการใช้สกอตเทปปิดหมายเป็นวิธีการที่จะทำให้หมายยึดติดแน่นเพียงพอที่ จะทำให้จำเลยที่ 5 สามารถทราบประกาศในหมายแล้ว และการที่เจ้าพนักงานเดินหมายปิดหมายในวันอาทิตย์ซึ่งมิใช่ในวันทำการทำให้ ไม่มีผู้อยู่ในอาคารนั้น ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าการส่งหมายไม่ชอบเพราะไม่มีกฎหมายระบุว่าจะต้องส่งในวัน ทำการเท่านั้น อีกทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ก็ระบุให้การปิดหมายมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่ได้ปิดหมายไว้ ดังนั้นการส่งหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062 - 6063/2551
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 68 บัญญัติให้ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เป็นภูมิลำเนาของบริษัท โจทก์มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 162/18 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 2540 แต่โจทก์ก็อ้างมาในฎีกาว่า โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัท จึงถือว่าโจทก์ยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นการส่งที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) แล้ว ศาลชั้นต้นหาจำต้องส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้แก่กรรมการผู้จัดการของโจทก์และทนายโจทก์ด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3966/2551
โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลออกคำบังคับเพื่อให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำพิพากษา เมื่อศาลชั้นต้นออกคำบังคับจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับตามคำแถลง ของโจทก์ ดังนั้น ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่งคำบังคับ ให้แก่จำเลยทั้งสามได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6197/2550
การที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคท้าย ให้แก่เจ้าพนักงานศาล มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 288 แม้ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่ได้ไปคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ได้ไปแจ้งอายัดต่อ เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อห้ามโอนที่ดินพิพาท ก็ไม่อาจถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2550
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมได้อ่านคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับให้คู่ความฟัง แล้ว จึงให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ที่หน้าสำนวน และที่หน้าสำนวนระบุข้อความของคำบังคับไว้ว่า ให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิฉะนั้นจะถูกบังคับคดีตามกฎหมาย โดยมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นลงนามในฐานะเป็นผู้ออกคำบังคับ ข้อความที่ระบุไว้ที่หน้าสำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำบังคับแล้ว เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งคำบังคับไปยังจำเลยแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องออกคำบังคับซ้ำอีก
โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดี แม้ท้ายคำขอระบุยอดหนี้คำนวณถึงก่อนยื่นคำขอ 1 วัน ก็ไม่ถือว่าโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีผิดแผกแตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอม คำขอดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 275
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7608/2550
ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 33 บัญญัติให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกของผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด ต่อมานายทะเบียนโดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อและรายการผู้นั้นในทะเบียนบ้านกลางซึ่งนายทะเบียนบ้านกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่ปรากฏว่าก่อนหน้าที่จำเลยมีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายที่บ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ซึ่งเป็นสำนักงานเขตดุสิต ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงไม่ใช่การปิดคำคู่ความ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เป็นการส่งที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2550
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 (เดิม) (ปัจจุบัน มาตรา 199 จัตวา, 207) คำขอให้พิจารณาใหม่ ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากาษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 ด้วยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2540 ซึ่งการส่งคำบังคับมีผลใช้ได้วันที่ 22 ธันวาคม 2540 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 1 มีนาคม 2544 จึงเป็นการล่วงพ้นกำหนดเวลา 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ถูกคนร้ายยิงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2520 จนร่างกายพิการต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ตามวัดแถบภาคอีสานเป็นเวลาหลายปี จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและทราบว่าศาลออกคำบังคับแล้ว อันเป็นการอ้างเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่งคำบังคับเพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวมาในคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับตั้งแต่วันที่เท่าใด เพื่อให้ทราบว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อใด จึงไม่อาจเริ่มต้นนับกำหนด 15 วัน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นได้ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าและเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้น คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154/2550
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีปิดคำคู่ความหรือเอกสารตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 79 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏว่าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะกระทำได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 78 และศาลจะต้องมีคำสั่งอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่าให้ส่งโดยวิธีปิดคำคู่ความหรือเอกสารได้ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏชัดว่าการส่งหมายนัดโดยวิธีธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 78 ไม่สามารถจะกระทำได้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดหมายนัดเป็นกิจจะลักษณะแต่ประการใด การที่ในหมายนัดมีข้อความเป็นตรายางประทับว่าไม่มีผู้รับให้ปิดหมายนั้น ข้อความดังกล่าวอาจประทับในภายหลังจากที่ผู้พิพากษาได้ลงลายมือชื่อในหมายแล้วก็เป็นได้เมื่อเจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปส่งให้จำเลยและทนายจำเลยโดยวิธีปิดหมายดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยและทนายจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว และถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยฟังโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2549
แม้ในวันเกิดเหตุจะไม่ใช่วันนัดพิจารณาทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาและคู่ความไม่ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้นัดคู่ความให้มาศาลเพื่อเจรจากันในห้องพักของผู้ พิพากษาหัวหน้าศาล ถือได้ว่าคู่ความมาศาลและขอให้ศาลนั่งพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แม้การไกล่เกลี่ยจะได้กระทำในห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมิใช่ในห้อง พิจารณาคดีของศาล แต่ก็เพื่อความสะดวกแก่การที่คู่ความจะได้เจรจาตกลงกัน ถือว่าศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยชอบแล้ว เมื่อคู่ความอยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีของศาลและโจทก์แถลงขอถอนฟ้องด้วย วาจาในศาลนั้นเอง ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะรับคำแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาได้
ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาว่าเวลา 10 นาฬิกา คู่ความร่วมกันแถลงว่าสามารถตกลงเจรจาในเรื่องทรัพย์มรดกของ ม. ได้ข้อยุติและแบ่งกันได้แล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป ขอถอนฟ้อง อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนในคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้คู่ความไปจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมาทำยอมกันในเวลา 14 นาฬิกา ของวันนั้น แต่เมื่อในตอนบ่ายของวันนั้นไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษา ตามยอมกัน การถอนฟ้องในคดีอาญาย่อมไม่มีผล การที่ศาลชั้นต้นด่วนอนุญาตให้ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาจากสารบบ ความไปก่อน โดยไม่รอให้คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งให้เสร็จไปพร้อมกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและผิดระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์ขอให้เพิกถอนได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2548)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2549
แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ดังนั้น ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2549
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ไม่ชอบ เนื่องจากผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย ตามแถลงของโจทก์นับว่ามีเหตุที่จะต้องทำการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ แน่ชัดเสียก่อนว่า ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ ณ บ้านที่มีการส่งหมายหรือไม่เพราะหากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้อง การส่งหมายก็จะไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้ คัดค้านคำร้อง ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ทำการไต่สวนจึงเป็นการดำเนินกระบวน พิจารณาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งดังกล่าวตามาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2734/2549
ผู้ร้องเบิกความเป็นพยานในสำนวนร้องขัดทรัพย์สำนวนแรกว่า มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า สำนวนที่สองว่า มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า และจากแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวทั้งสองแห่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบ ณ บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า ถือว่าได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2549
ป. รัษฎากร มาตรา 118 ไม่ได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญา แม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์มาแต่แรกในขณะทำสัญญา แต่เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็น พยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนการที่โจทก์ได้ปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือ สัญญากู้ยืมเงินชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 แล้วหรือไม่ เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากกับการปิดอากรแสตมป์ตามปกติ
คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามมาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จ สิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้งให้ ช. เป็นทนายความ และในคำฟ้องทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์ ในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์ พอที่จะฟังได้ว่าทนายความโจทก์เป็นผู้เรียงพิมพ์คำฟ้อง ซึ่งมีอำนาจกระทำได้ จึงไม่จำต้องคืนคำฟ้องให้โจทก์ไปทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ดำเนินมาทั้งหมดจึงไม่เสียไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8143/2548
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์โดยมีคำสั่งว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์" และในวันเดียวกันโจทก์แถลงขอให้ส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ข้ามเขตศาลโดยแนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท เป็นค่าส่งหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งคำสั่งให้ทนายโจทก์ทราบว่าอัตราค่าส่งหมายให้ จำเลยที่ 1 ยังขาดค่าพาหนะอีก 100 บาท ให้นำเงินค่าพาหนะมาวางเพิ่ม โจทก์มีหน้าที่ต้องนำค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่ง ดังนั้น นอกจากโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วย ซึ่งในคดีนี้เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ข้ามเขตศาลและโจทก์ไม่ไปจัดการนำส่ง จึงต้องเสียเงินค่าพาหนะในการนำส่งให้เจ้าหน้าที่ศาลให้ครบถ้วน การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ซึ่งนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งจนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์ ไม่ได้วางเงินค่าพาหนะเพิ่มและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยัง ศาลอุทธรณ์เป็นเวลา 2 เดือนเศษ และเมื่อนับถึงวันที่นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โจทก์ก็ยังมิได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2548
คำให้การของจำเลยไม่มีลายมือชื่อจำเลยหรือทนายจำเลยผู้ยื่นคำให้การ ไม่มีลายมือชื่อทนายจำเลยผู้เรียง และไม่มีลายมือชื่อผู้พิมพ์ เป็นคำคู่ความที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 (5) การที่ทนายจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องหมายเหตุท้ายคำให้การจำเลยแผ่นแรกที่ มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว" นั้น มิใช่เป็นการลงลายมือชื่อในคำคู่ความตามความหมายของมาตรา 67 (5) ศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลยฉบับดังกล่าวโดยไม่คืนไปให้จำเลยทำมาใหม่ หรือให้จำเลยแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปโดยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนจึง ไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2548
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งหมายนัดฟังประเด็นกลับให้จำเลยที่ 2 ทราบ แต่ปิดประกาศที่หน้าศาลแทนการส่งหมายตามปกติ จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ เป็นกรณีที่อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 77 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2548
รายงานกระบวนพิจารณาเป็นเอกสารที่ศาลจดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำ ในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาล ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 ส่วนคำให้การเป็นคำคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งใน ป.วิ.พ. มาตรา 67 ว่าให้คู่ความทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลและมีรายการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้บันทึกคำแถลงของจำเลยที่ 4 ที่ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ถือไม่ได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่ 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2549
คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามมาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้งให้ ช. เป็นทนายความ และในคำฟ้องทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์ ในคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นผู้เรียงพิมพ์ พอที่จะฟังได้ว่าทนายความโจทก์เป็นผู้เรียงพิมพ์คำฟ้อง ซึ่งมีอำนาจกระทำได้ จึงไม่จำต้องคืนคำฟ้องให้โจทก์ไปทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ดำเนินมาทั้งหมดจึงไม่เสียไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2549
แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ดังนั้น ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2549
การส่งหมายให้แก่คู่ความโดยวิธีอื่นแทนการส่งหมายโดยวิธีธรรมดาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดโดยวิธีธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึงมาตรา 78 แล้ว การที่ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามทราบโดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลโดยมิได้ส่งหมายนัดให้จำเลยทั้งสามทราบโดยวิธีธรรมดาก่อนจึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 79 ทำให้การแจ้งวันนัดดังกล่าวไม่ชอบ อันมีผลทำให้กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่กระทำภายหลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653 - 655/2549
เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ปิดหมายเรียก ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และถือว่าจำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำหลักการนับระยะเวลาปิดหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง มาใช้บังคับ เจ้าพนักงานของโจทก์ปิดหมายเรียกวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 หมายเรียกกำหนดให้จำเลยไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นการให้เวลาจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 32 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2734/2549
ผู้ร้องเบิกความเป็นพยานในสำนวนร้องขัดทรัพย์สำนวนแรกว่า มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า สำนวนที่สองว่า มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า และจากแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวทั้งสองแห่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบ ณ บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า ถือว่าได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1668/2548
ในอุทธรณ์ของผู้ร้อง เจ้าพนักงานศาลได้ประทับตราซึ่งมีข้อความว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งในวันนี้ได้ ผู้ยื่นจะมารับทราบคำสั่งศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่น และทุกๆ 7 วัน หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว โดยมีลายมือชื่อทนายผู้ร้องลงชื่อรับทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องมาติดตามดูคำสั่งศาลและมารับทราบคำสั่งศาลเอง หากไม่มาถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้วตามตราที่ประทับข้อความดังกล่าว มิใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาลที่จะต้องแจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ร้องทราบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2548
การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ ดังนั้น เมื่อภรรยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องด้วยตนเอง ย่อมถือได้ว่ามีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสามมีสิทธิยื่นคำให้การได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2548
คดีนี้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยวิธีปิดหมาย เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีธรรมดาไม่สามารถกระทำได้ จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลส่งโดยวิธีอื่นแทน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 เมื่อศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยปิดประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบที่หน้าศาลตลอดมาจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวมีผลเช่นเดียวกับการปิดหมาย การนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยประกาศหน้าศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2548
ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แต่ละครั้งนั้นจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ดำเนินการขายทอดตลาดต้องแจ้งประกาศการขายให้จำเลยที่ 3 ทราบ เพื่อจำเลยที่ 3 จะได้มีโอกาสมาดูแลการขายรักษาผลประโยชน์ของตน ปรากฏว่ามีการประกาศขายทรัพย์ของจำเลยที่ 3 รวม 9 ครั้ง ทุกครั้งส่งประกาศให้จำเลยที่ 3 ที่บ้านเลขที่ 17/2 ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 3 หลังจากที่บ้านเลขที่ 17/2 ดังกล่าวถูกขายทอดตลาดไปแล้วจำเลยที่ 3 ย้ายที่อยู่ แม้จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องแจ้งการย้ายที่อยู่และที่อยู่ใหม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 67 (3) หากฝ่าฝืนมีโทษทางอาญาก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวจะทำให้จำเลยที่ 3 ยังคงมีภูมิลำเนาตามเดิมตลอดไป ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ต้องเป็นไปตามหลักใน ป.พ.พ. ว่าด้วยภูมิลำเนา เมื่อการส่งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์กระทำเมื่อจำเลยที่ 3 ย้ายถิ่นที่อยู่ไปแล้ว และจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นคนรับประกาศ และไม่ปรากฏว่าหลักจากการย้ายทะเบียนบ้านแล้วจำเลยที่ 3 ยึดถือบ้านเลขที่ 17/2 ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในเรื่องใด ดังนั้นขณะที่ปิดประกาศขายทอดตลาดทรัพย์เพื่อให้จำเลยที่ 3 ทราบ ณ บ้านเลขที่ 17/2 นั้น จำเลยที่ 3 ไม่มีภูมิลำเนา ณ บ้านดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการปิดประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ ณ สถานที่ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2548
รายงานกระบวนพิจารณาเป็นเอกสารที่ศาลจดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาล ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 ส่วนคำให้การเป็นคำคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งใน ป.วิ.พ. มาตรา 67 ว่าให้คู่ความทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลและมีรายการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้บันทึกคำแถลงของจำเลยที่ 4 ที่ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ถือไม่ได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่ 4
เมื่อจำเลยที่ 4 มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด กรณีจึงถือว่าจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 4 ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสี่จะแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง และศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องทำการสืบพยานอีกต่อไป ก็ไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องมีคำขอตามบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2548
จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2545 จำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมกับขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 ว่า "รับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์แก้ให้จำเลยนำส่งภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน" เมื่อคำแถลงของจำเลยฉบับดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า "ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2545 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว" และนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าวต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2545 ทั้งจำเลยมีหน้าที่ต้องติดตามผลการส่งหมายโดยศาลไม่จำเป็นต้องแจ้งผลการส่งหมายให้จำเลยทราบอีก แม้จำเลยจะขอให้ส่งโดยวิธีปิดหมายแต่ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการส่งหมายตามมาตรา 79 ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งโดยวิธีธรรมดาก่อนนั้นเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ส่งโดยวิธีปิดหมายอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานศาลรายงานว่าได้นำหมายไปส่งให้แก่โจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2545 แต่ส่งให้ไม่ได้ การที่จำเลยมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลา 7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2547
คดีนี้หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จึงมีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ เมื่อ ร. ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 ตามรายงานเจ้าหน้าที่และใบตอบรับในประเทศ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 อาจยื่นคำให้การได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 พฤษภาคม 2546 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การในวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 จึงเป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด 15 วัน ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเช่นนี้ หาใช่เป็นการส่งโดยวิธีอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2546
โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามด้วยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "ปิดหมายเฉพาะจำเลยที่ 1" แต่เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยวิธีปิดหมายด้วย การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 วรรคหนึ่ง กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และหลังจากนั้นต่อมาย่อมไม่มีผลตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5441/2546
การปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาลจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วันนับตั้งแต่ปิดประกาศได้ล่วงพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 วรรคสอง เมื่อปิดประกาศวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 จึงมีผลเป็นการแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ดังนั้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 แม้จำเลยไม่มาศาล หากโจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจสืบพยานโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งเลื่อนคดีไปเพื่อแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและให้ยกฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2545
ไม่มีกฎหมายกำหนดให้พนักงานเดินหมายต้องไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยในเวลาราชการจึงจะชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 แม้พนักงานเดินหมายจะมิได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในเวลาราชการก็หาทำให้ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2545
การปิดคำคู่ความหรือเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 วรรคหนึ่ง หมายถึงการนำคู่ความหรือเอกสารไปติดไว้ที่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความ ซึ่งต้องกระทำให้มีลักษณะแน่นหนา ไม่หลุดออกไปโดยง่าย ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งเพียงแต่นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายนัดสืบพยานโจทก์ไปเสียบไว้ที่เหล็กที่ใช้เป็นมือจับสำหรับปิดเปิดประตูเหล็กยืดที่บ้านจำเลยซึ่งอาจหลุดและปลิวไปได้โดยง่าย จึงไม่อาจถือว่าเป็นการปิดคำคู่ความหรือเอกสารโดยชอบตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2544
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งคำสั่งของศาลโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นอาคาร 32 ชั้นโดยผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้เช่าพื้นที่ของอาคารในชั้นที่ 19เป็นที่ทำการ ถ้าหากการส่งหนังสือดังกล่าวมีพนักงานของอาคารเป็นผู้ลงชื่อรับในใบตอบรับไว้ก่อนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2542 แล้วนำส่งให้แก่พนักงานของผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 จริงก็ต้องถือว่าเจ้าหนี้ทราบคำสั่งของศาลในวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 เพราะพนักงานของอาคารมิใช่บุคคลผู้อยู่หรือทำงานในสำนักทำการงานของผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2543
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ ให้นัดให้จำเลยนำส่งใน 3 วัน แจ้งให้มานำส่งโดยด่วน เป็นการสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ฎีกาปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้าย บัญญัติไว้ จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวที่จะต้องดำเนินคดีต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้ส่งหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยวิธีปิดหมาย การที่พนักงานเดินหมายส่งหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยวิธีปิดหมาย ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งโดยชอบ และไม่มีผลตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2543
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ ให้นัดให้จำเลยนำส่งใน 3 วัน แจ้งให้มานำส่งโดยด่วน เป็นการสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ฎีกาปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้าย บัญญัติไว้ จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวที่จะต้องดำเนินคดีต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้ส่งหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยวิธีปิดหมาย การที่พนักงานเดินหมายส่งหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยวิธีปิดหมาย ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งโดยชอบ และไม่มีผลตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2542
จำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้ คดีตั้งแต่แรกในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ ทนายความ ของจำเลยที่ 3 ก็มาศาลโดยสม่ำเสมอโดยมิได้ทอดทิ้งคดี ครั้นถึงวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลย ทนายความ ของจำเลยที่ 3 ไม่มาศาล แต่ศาลชั้นต้นก็คงให้สืบพยาน เฉพาะของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แล้วมีคำสั่งให้เลื่อนไป นัดสืบพยานจำเลยที่ 3 แต่ปรากฏว่าทนายความจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมเสียก่อนถึงวันนัด จำเลยที่ 3 และทนายความ ของจำเลยที่ 3 ต่างมีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานที่แน่นอน ดังนั้นการแจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ให้ฝ่าย จำเลยที่ 3 ทราบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งหมายนัดไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 3 หรือของทนายความของจำเลยที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นการส่ง โดยวิธีธรรมดาก่อน ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 บัญญัติไว้ ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศ แจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ไว้ที่หน้าศาล เพื่อให้จำเลยที่ 3 ทราบแทนนั้น จึงเป็นการกระทำ ที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2541
การส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร มาตรา 8 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ส่งได้ 2 วิธี คือ วิธีส่ง โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งเฉพาะวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ถ้าไม่พบ ผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับก็ได้ ส่วนการส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติว่าในกรณีที่ไม่พบผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ ดังนั้น การส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจึงอยู่ในบังคับของไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 ข้อกำหนดในไปรษณียนิเทศดังกล่าวมิได้กำหนดอายุผู้แทนของผู้รับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ไว้ ดังนั้นบุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับแม้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็เป็นผู้แทนของผู้รับได้ กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ และ 76มาอนุโลมใช้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2540
การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยสั่งให้ส่งหมายนัดตามข้อความในคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา76วรรคหนึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ปิดหมายนัดจึงชอบแล้ว ว.เป็นทนายโจทก์โดยครั้งหลังสุดว. แจ้งที่อยู่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าอยู่บ้านเลขที่49/4หมู่11ถนนสุขาภิบาล3แขวงมีนบุรีเขตมีนบุรี ฉะนั้นบ้านเลขที่ดังกล่าวจึงเป็นภูมิลำเนาของว. การที่เจ้าพนักงานเดินหมายปิดหมายไว้ณบ้านเลขที่ดังกล่าวซึ่งเป็นภูมิลำเนาของว. จึงชอบแล้วและแม้โจทก์จะมีทนายความ2คนแต่ว. ก็เป็นทนายความซึ่งโจทก์ตั้งแต่งให้ว่าคดีการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่ว.เพียงคนเดียวจึงเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา75ถือได้ว่าฝ่ายโจทก์ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2418/2537
พนักงานเดินหมายบันทึกการส่งหมายว่าไม่พบทนายจำเลย พบแต่คนในบ้านสอบถามได้ความว่าทนายจำเลยไปธุระที่กรุงเทพมหานครไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อใด จำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าบันทึกการส่งหมายดังกล่าวไม่ถูกต้อง ตามบันทึกดังกล่าวแสดงว่าทนายจำเลยยังอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 48 การที่ทนายจำเลยยังอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 48 ก็ดี การที่ทนายจำเลยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นสำนักงานแห่งใหม่ก็ดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทนายจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 48 ด้วย ฉะนั้น การปิดหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 ถือว่าจำเลยทราบวันนัดแล้ว