Pages

การประนีประนอมยอมความในศาล

มาตรา ๑๓๘  ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น
ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้
(๑) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล
(๒) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(๓) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ
ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2560
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด..." เท่ากับให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ถอนฟ้องด้วยวิธีใดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาขอถอนฟ้องไว้เป็นหนังสือแล้ว โดยไม่ได้สั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเข้ามาอีก และมีการบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แล้ว

โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ว่าหากจำเลยคดีนี้ยอมไปสาบานตนด้วยถ้อยคำที่ตกลงกันถือว่าโจทก์คดีนี้แพ้ โจทก์ยินยอมถอนฎีกาและยินยอมจ่ายเงินจำนวน 175,000 บาท แก่จำเลย และขอแสดงเจตนาถอนฟ้องคดีอาญาที่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยขอไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษา หากจำเลยคดีนี้ไม่ไปสาบานตน จำเลยขอยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในคดีแพ่งและขอให้ศาลฎีกาพิพากษาต่อไป ทั้งขอถือเป็นการแสดงเจตนาถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญาที่ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย แต่โจทก์คดีนี้ต้องนำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาลภายในวันที่ 3 เมษายน 2558 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้นำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาล โจทก์จึงแพ้คดีตามคำท้า อันมีผลเท่ากับโจทก์แสดงเจตนาถอนฟ้องคดีนี้ตามคำท้า การขอถอนฟ้องคดีนี้แม้จะเป็นผลประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงหรือการท้ากันในคดีแพ่งก็ตาม ก็หาได้ถือว่าเป็นการท้ากันในคดีอาญานี้ไม่ ดังนั้น เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่คัดค้านการถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง กับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559
ในกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม หากคู่ความฝ่ายใดฝายหนึ่งเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวหากเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ใบแต่งทนายความจำเลยระบุข้อความเกี่ยวกับอำนาจของทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของจำเลย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ โดยมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพร้อมตราประทับของจำเลยถูกต้องตามหนังสือรับรองของจำเลย ทนายความจำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทนายความจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ต้องการตกลงกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องทนายความจำเลยกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2559
แม้สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และข้อ 3 ระบุว่า หากจำเลยขายที่ดินทั้งสองแปลงได้ภายใน 2 ปี จำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ 1,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ย หากจำเลยผิดนัด ให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีก็ตาม แต่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ว่า หากจำเลยผิดนัดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แสดงว่าคู่สัญญามิได้ประสงค์ที่จะให้มีการคิดดอกเบี้ยเมื่อมีการผิดนัด จะตีความสัญญาประนีประนอมยอมความว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดด้วยนั้น เป็นการตีความเพื่อให้จำเลยรับผิดเพิ่มขึ้นซึ่งตามสัญญามิได้กำหนดความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยไว้ ย่อมไม่ชอบด้วยหลักของการตีความ ทั้งตามสัญญาข้อ 5 มีข้อความระบุด้วยว่า โจทก์และจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีก ยิ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ได้ว่าไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ตามที่ตกลงกันเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2558
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ให้โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์กล่าวอ้างมูลหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นหลักในการฟ้องคดี หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ของกองมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของเจ้ามรดก ไม่ใช่หนี้สินส่วนตัว การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจึงต้องร่วมกันดำเนินการจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 จะแยกกันจัดการไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดี เป็นการแยกกันจัดการมรดก เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2558
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่รับใบแต่งทนายความที่มีการปลอมลายมือชื่อของจำเลยทั้งสาม มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยทั้งสาม จนกระทั่งมีคำพิพากษาตามยอม ย่อมเป็นการหลงผิดไป กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสาม อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีเช่นนี้ เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่ทำให้อำนาจของศาลที่จะสั่งตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง เปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11718/2557
โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคือ อุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไขหากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมย่อมถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่โจทก์อ้างว่าคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ความมุ่งหมายของโจทก์คือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมซึ่งต้องกระทำโดยศาลสูง โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาของศาลนั้นเองไม่ได้ แม้โจทก์จะเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9117/2557
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 146 กำหนดหลักการสำคัญในการพิจารณาและพิพากษาคดีครอบครัวไว้ว่า ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องอ้างว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์แห่งคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความเปลี่ยนแปลงไปโดยพฤติกรรมของผู้คัดค้านที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม ซึ่งผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ามิได้กระทำการดังกล่าว คงโต้แย้งเพียงว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้นอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งถึงที่สุดได้เท่านั้น จึงเป็นกรณีเกิดข้อพิพาทขึ้นใหม่นอกจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และเกิดขึ้นภายหลังมีคำพิพากษาตามยอมไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นไต่ส่วน นัดพิจารณา ตลอดจนมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ จึงไม่อาจถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาตามยอมซึ่งถึงที่สุดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456/2556
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาว่า วิธีการตรวจสอบที่ตั้งของที่ดินพิพาทของนายอำเภอเขาค้อยังมีเหตุชวนให้น่าเคลือบแคลงสงสัยถึงความโปร่งใส และน่าจะมีการฉ้อฉลเกิดขึ้นในขั้นตอนดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าการตกลงท้ากันเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (1) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ จึงไม่ก่อสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาอีก เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

เมื่อคู่ความตกลงท้ากันว่า ให้นายอำเภอเข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตรวจสอบที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามแผนที่วิวาทว่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลแคมป์สนหรือตำบลทุ่งเสมอ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หากนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบแล้วที่ดินตั้งอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยทั้งสองและยอมแพ้คดี แต่หากที่ดินตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่งสมอ จำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์และยอมแพ้คดี เมื่อนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบที่ดินของจำเลยที่ 1 (แปลงหมายเลข 2) แล้วน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตตำบลแคมป์สน ย่อมมีลักษณะที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงสมตามคำท้าของจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า แม้นายอำเภอเขาค้อจะใช้คำว่า "น่าเชื่อว่า" ก็หาใช่เป็นเพียงความเห็นที่ยังมิได้เป็นตามเงื่อนไขตามคำท้า ในอันที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดินและมีคำพิพากษาใหม่ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2556
คำว่า "ฉ้อฉล" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า จำเลยร้องไห้โอดครวญ ก้มลงกราบเท้าโจทก์ที่ 1 และพูดจาหว่านล้อมโจทก์ที่ 1 ให้ช่วยพูดขอร้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย และจำเลยจะจ่ายเงิน 5,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทน หากไม่ยอมทำตามจำเลยจะฆ่าตัวตายทันทีนั้น จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก็หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ จึงไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11462/2555
เดิมโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 70,000 บาท และรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะมีอายุครบ 25 ปี บริบูรณ์ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้วไม่ส่งอีก โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 6,500 บาท เมื่อเงินเดือนจำเลยเพิ่มขึ้นโจทก์ขอให้อายัดเพิ่มเป็นเดือนละ 8,000 บาท ต่อมาจำเลยจึงยื่นคำแถลงต่อศาลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคต่อมน้ำเหลือง ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะและมีงานทำแล้ว ขอให้งดการบังคับคดี โจทก์จำเลยจึงตกลงกันไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบตามสัญญาเดิม และเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยตามข้อตกลงใหม่จนกระทั่งบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุครบ 25 ปีแล้ว โจทก์จะอ้างว่าข้อตกลงใหม่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิม ขอให้บังคับคดีตามข้อตกลงเดิมในสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ เพราะโจทก์สมัครใจยินยอมตกลงกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูกับจำเลยในอัตราใหม่ซึ่งอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้จึงไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ไม่ใช่กรณีที่ศาลมีคำสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงค่าอุปการะเลี้ยงดูไปตามพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ให้และผู้รับก็มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645/2555
โจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยทั้งสามยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและตกลงร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามตกลงชำระหนี้โจทก์โดยนำทรัพย์จำนองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน หากผิดนัด ยินยอมให้โจทก์ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันทีเพียงประการเดียว ไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่ามีการตกลงกันให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ได้สองวิธีคือ นำทรัพย์จำนองตีราคาชำระหนี้ หรือนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ การที่สัญญาระบุว่าจำเลยทั้งสามรับว่าเป็นหนี้และตกลงร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ก็เป็นเพียงการยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้มูลหนี้เดิมระงับ โจทก์และจำเลยทั้งสามต้องผูกพันกันตามมูลหนี้ใหม่โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โจทก์หามีสิทธิเลือกบังคับคดีด้วยวิธีการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมแก่โจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7357/2553
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาตามยอม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งว่า ค่าขึ้นศาลมีเพียง 200 บาท จึงไม่คืนให้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยวางเงินค่าขึ้นอุทธรณ์เป็นเงิน 75,000 บาท ความผิดพลาดจึงเกิดเพราะความผิดหลงในข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งความผิดพลาดในเรื่องการคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยนี้เป็นคนละส่วนกับข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความซึ่งไม่มีข้อผิดพลาด แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่าค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็เป็นข้อตกลงระหว่างคู่ความในเรื่องความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างกันเท่านั้นไม่เกี่ยวกับการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาล เมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดโดยสัญญาหรือการประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นเรื่องตามป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้องตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 โดยให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 65,000 บาท แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2553
ตามคำฟ้องในคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดได้ แต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกลับระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีและให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที โดยไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดอีก ไม่ปรากฏข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองตามฟ้องเท่านั้น เมื่อโจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7232/2552
คำร้องขอออกหมายบังคับคดีของจำเลยทั้งสองระบุว่า มีบุคคลภายนอกนำเสาปูนมาปักหน้าประตูรั้วเหล็กทำให้ไม่อาจนำรถยนต์ผ่านเข้า ออกทางจำเป็นได้ ไม่ได้ระบุว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือผิดข้อตกลงที่ศาล จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา การที่บุคคลภายนอกเป็นผู้นำเสาปูนมาปักหน้าประตูรั้วเหล็กก็เป็นเรื่องที่ จำเลยทั้งสองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงยังไม่มีเหตุออกหมายบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2551
โจทก์ จำเลยทั้งสาม และจำเลยร่วมทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าคำพิพากษานั้นไม่ชอบเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเข้าข้อยกเว้นที่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ตามมาตรา 138 วรรคสอง (2) จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษานั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้วจำเลยที่ 1 จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2551
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 นำใบแต่งทนายความซึ่งไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นทนายความ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องดังกล่าว ย่อมมีผลให้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นไม่ชอบ ต้องถูกเพิกถอนเฉพาะส่วนเพื่อไม่ให้ผูกพันโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่ในตัวว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามมาตรา 131 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5784/2550
ทนายความของจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามอำนาจที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความ แม้จะไม่ได้ปรึกษากับจำเลยก่อน ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณามิใช่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ หากจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้รับความเสียหายเป็นประการใดก็ชอบที่ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของจำเลยตามกฎหมาย

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตามมาตรา 138 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมย่อมถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องโดยอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ความมุ่งหมายของจำเลยคือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ แม้จำเลยจะเพิ่งทราบเหตุหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ดังนั้น จำเลยจะมาฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยอ้างว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหาได้ไม่
คำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เป็นอำนาจของศาลที่ทำการไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควรตามมาตรา 21 (4) เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏต่อศาลโดยชัดแจ้งว่ามิได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5488/2550
โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันว่าให้เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ถ้าปรากฏว่าบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยยินยอมรื้อถอนบ้านออกไปและยอมชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์ หากบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของกรมชลประทานโจทก์จะถอนฟ้อง คู่ความตกลงกันด้วยว่าให้ถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแผนที่พิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นยุติ คำท้าดังกล่าวมีความหมายว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบ้านของจำเลยแม้เพียงบางส่วนปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ จำเลยจะต้องรื้อถอนบ้านเฉพาะส่วนที่ปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ออกไปซึ่งเท่ากับว่าจำเลยชนะคดีบางส่วนคือไม่ต้องรื้อถอนออกไปทั้งหมดทั้งหลังตามคำขอของโจทก์ เมื่อตามแผนที่พิพาทปรากฏว่าบ้านของจำเลยส่วนใหญ่ปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าตรงกับคำท้าของโจทก์และจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีไปได้เลยโดยไม่จำต้องสืบพยานคู่ความอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2550
คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมใจความว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยจะผ่อนชำระเป็นรายเดือนทุกเดือนติดต่อกัน หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบ ปรากฏต่อมาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วแต่ยังขายไม่ได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2550
จำเลยแต่งตั้งให้ทนายจำเลยมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ทนายจำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่ได้เสียเปรียบ ทนายจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ต้องการตกลงกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องทนายความของจำเลยกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งมิใช่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2550
ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้ (1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล (2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน" จำเลยฎีกาว่า นาง ด. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย และโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำยึดอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ร่วมกันแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า อาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 มีนาง ล. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ความจริงอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 เป็นกรรมสิทธิ์ของนาง พ. ทำให้การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยโจทก์เป็นผู้ซื้ออาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และพฤติการณ์ของโจทก์กับนาง ด. เป็นการฉ้อฉลจำเลย เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าการขายทอดตลาดอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ของพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการบังคับคดี หาใช่เรื่องที่โจทก์หลอกลวงให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะทำให้เห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเกิดโดยการฉ้อฉลของโจทก์แต่อย่างใดไม่ และข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมนั้นก็มิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยจึงมิได้เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ในอันที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8279/2549
โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงท้ากันโดยถือเอาการปฏิบัติตามคำท้าเป็นข้อแพ้ชนะ เมื่อปรากฏว่าฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ไปศาลตามกำหนดนัดเพื่อรับผู้พิพากษาไปนำสาบานตนตามคำท้า ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถปฏิบัติตามคำท้าได้ ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จะอ้างว่าทนายจำเลยทั้งสองกระทำการฉ้อฉลโดยจำเลยทั้งสองไม่รู้เห็นยินยอมด้วยกับข้อตกลงตามคำท้าไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสองแต่งตั้งทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง ทนายความของจำเลยทั้งสองย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ต่อหน้าศาลว่า ข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่เสียเปรียบ รวมทั้งมีอำนาจต่อรองและไม่ยอมตกลงหากเห็นว่าจำเลยทั้งสองเสียเปรียบโดยไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ อีกทั้งการตกลงรับคำท้ากับโจทก์ก็เพื่อให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว เป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสอง แม้ไม่ได้ปรึกษาหารือจำเลยทั้งสองก่อนก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของการฉ้อฉลที่จำเลยทั้งสองจะขอให้เพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2547
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไขหากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. 138 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาตามยอมก็ถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ความมุ่งหมายของจำเลยคือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมซึ่งต้องกระทำโดยศาลสูง จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาของศาลนั้นเองไม่ได้ แม้จำเลยจะเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2545
โจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือมิได้เป็นไปตามข้อตกลง โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้แก้ไขให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือเจตนารมณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสาม แต่โจทก์หาได้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่ กลับใช้สิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ซึ่งการจะขอแก้ไขข้อผิดพลาดได้จะต้องเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก เมื่อส่วนที่โจทก์ขอแก้ไขและศาลชั้นต้นไม่อนุญาตนั้นเป็นการเพิ่มความรับผิดให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดมากขึ้นกว่าเดิม จึงมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ แม้จำเลยทั้งสามจะไม่คัดค้านโจทก์ก็ไม่อาจขอแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง จะบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ แต่กรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ดังกล่าว