Pages

การสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร

มาตรา ๙๔  เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี


(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง


(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก


แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๒) แห่งมาตรา ๙๓ และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144


อ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ตามกฎหมาย อ. ย่อมมีสิทธิที่จะให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองแทน โจทก์ที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลว่าเป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94


โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่ ป. ผู้ตาย หรือกองมรดกของ ป. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 230


สิทธิของโจทก์ที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้แทนไป


การที่ ป. ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เพียงแต่ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 4 ยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาการให้ที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2561

ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี..." การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างหรือลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2560

ที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับฟังคำเบิกความโจทก์ที่ 1 ขัดแย้งกับพยานเพื่อหักล้างพยานเอกสารดังกล่าวไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 94 นั้น ในทางนำสืบไม่ปรากฏว่ามีพยานโจทก์คนใดที่เบิกความเกี่ยวกับเอกสาร มีเพียงจำเลยที่ตอบทนายโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งนำเอกสารดังกล่าวมาถามค้าน จึงไม่อาจฟังได้ว่าคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสิบเอ็ดขัดแย้งกับเอกสาร ดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วนฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยนั้น ล้วนเป็นการคัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยมาทั้งสิ้น โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงให้เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 9 ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8484 - 8485/2559

พฤติการณ์ของจำเลยที่มิได้มีการประกาศโครงการและผลตอบแทนเชิญชวนหาผู้สมัครใจลาออกให้ลูกจ้างทั้งระบบทราบ แต่ใช้วิธีกำหนดตัวบุคคลลูกจ้างเป้าหมาย คือ โจทก์ทั้งสอง ซึ่งมีเงินค่าตอบแทนการจ้างสูงให้ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไว้ล่วงหน้า มีการจัดเตรียมเอกสารใบลาออก เงินค่าตอบแทนการลาออกของโจทก์ทั้งสองไว้ก่อนจะเชิญโจทก์ทั้งสองมาเจรจาขอให้ลาออก หลังให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในใบลาออกแล้วยังแจ้งการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ทั้งสองในครั้งแรกว่าเป็นการเลิกจ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยพยายามหลีกเลี่ยงเบี่ยงเบนจัดทำหลักฐานทางเอกสารให้เป็นเรื่องของการลาออกโดยอาศัยอำนาจต่อรองของนายจ้างที่เหนือกว่า


การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างหรือลูกจ้างแสดงเจตนาลาออก ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 แม้โจทก์ทั้งสองจะรับว่าได้ลงชื่อในใบลาออกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าที่โจทก์ทั้งสองยอมลงชื่อในใบลาออกนั้นเพราะถูกจำเลยบังคับขู่เข็ญ ที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่สมัครใจลงชื่อในใบลาออก เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว


แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยประสบภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีความจำเป็นต้องลดรายจ่าย จึงมีโครงการปรับโครงสร้างองค์กรลดจำนวนลูกจ้างลง ซึ่งหากเป็นจริงก็เป็นปัญหาทางธุรกิจโดยรวมที่มีเหตุผลความจำเป็นสามารถอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หากมีการแจ้งเหตุผลความจำเป็น กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลิกจ้าง การคัดเลือกลูกจ้างที่จะให้ออกไว้แน่นอนและเป็นธรรม ประกาศให้ลูกจ้างทราบทั่วกัน และดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการดังกล่าวโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกาศแจ้งเหตุผลความจำเป็น หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกลูกจ้างให้ทราบโดยทั่วกัน ใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือกโจทก์ทั้งสองเป็นเป้าหมายในการให้ออกจากงาน นอกเหนือไปจากการที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนการจ้างสูง ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2559

การจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบและหลักฐานในการทำสัญญากันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ว่า สัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จากบทกฎหมายดังกล่าว หากคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายให้มีผลทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับกันได้ ต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางประจำหรือมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์และจำเลยเลือกรูปแบบของสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ ถือเป็นกรณีทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด โดยลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยไว้เพื่อให้คู่สัญญาฟ้องบังคับฝ่ายที่ผิดสัญญาได้ จึงเป็นกรณีที่หากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเพิ่มเติมว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่ามีถนนทางผ่านเข้าออกไปยังที่ดินพิพาทเชื่อมกับถนนสาธารณะ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่ามีข้อตกลงเรื่องถนนเชื่อมผ่านตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินมัดจำคืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15572/2558

ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แม้จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง


โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์หาเงินมาชำระค่าขึ้นศาล เป็นการทิ้งฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148


โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และฟ้องบังคับให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนก็ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง


โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายใน ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงหาใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5086/2558

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยมีเพียงว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยหรือไม่ เมื่อโจทก์นำสืบพยานบุคคลฟังได้แล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นภายในสถานที่ประกอบการหรือเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่ประกอบการไว้จากบริษัท พ. ผู้เอาประกันภัย การอ้างกรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานจึงเป็นเพียงนำสืบประกอบพยานอื่นในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิ ไม่ได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยตรง ดังนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนอ้างส่งเป็นพยาน ก็ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4626/2558

กรณีห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารหรือนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร หมายถึงกรณีที่จำต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเพื่อพิสูจน์ความจริงตามข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิที่ใช้เป็นหลักในการฟ้องคดี แต่ในคดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องอ้างสิทธิความเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกนาย ก. โดยจำเลยจดทะเบียนนิติกรรมในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกส่วนของตนซึ่งจำเลยถือครองไว้แทนคืนได้ กรณีมิใช่การใช้สิทธิฟ้องคดีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และส่วนข้ออ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แบบบันทึกการสอบสวนการโอนมรดกเป็นเอกสารมหาชนนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นเอกสารมหาชนซึ่งตามมาตรา 127 แห่ง ป.วิ.พ. ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะต้องรับฟังตามนั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้านำพยานเข้าสืบหักล้างถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยมานั้นไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2558

การที่โจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 ระหว่าง ค. กับจำเลยเป็นการตกลงกันเฉพาะค่าเสียหายในส่วนของผลไม้ที่ ค. บรรทุกไปในรถยนต์กระบะเท่านั้นไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายของตัวรถยนต์ที่ ค. เอาประกันไว้แก่โจทก์แต่อย่างใด เป็นการนำสืบว่า ค. และจำเลยมีการตกลงกันอย่างไร มิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหมาย จ.5 ที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2558

คดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าเป็นการให้ที่มีค่าตอบแทนได้ ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการให้มีค่าตอบแทน เป็นประเด็นต่อเนื่องที่รวมอยู่ในประเด็นหลักเพราะโจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนทรัพย์ที่เป็นสินสมรสที่พันเอก (พิเศษ) พ.ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ศาลจึงต้องวินิจฉัยในที่สุดว่าโจทก์เพิกถอนได้หรือไม่ การวินิจฉัยว่าเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนและตามหน้าที่ธรรมจรรยาจึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกประเด็น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558

การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558

ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้สัญญาเช่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดเวลาการเช่าแน่นอน จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557

การยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อทางราชการมิใช่แบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบให้เห็นว่าเป็นตัวแทนกันได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 อาคารที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่บนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่ยินยอมให้อาคารนั้นตั้งอยู่ อาคารดังกล่าวไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินและไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารประกอบกับโจทก์มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนจึงควรไต่สวนค้นหาความจริงให้รอบด้านว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารตามความเป็นจริงหรือมิฉะนั้น จำเลยที่ 5 ควรรอคำวินิจฉัยของศาลตามคำร้องขอของโจทก์ การที่จำเลยที่ 5 ด่วนจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16115/2557

ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีข้อความชัดแจ้งว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่โจทก์นั้นมีภาระติดพันเพียงการจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารเท่านั้น และจำเลยทั้งสองรับรองว่าที่ดินที่จะขายให้แก่โจทก์ไม่มีภาระติดพันหรือการรอนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีภาระจำยอมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเบิกความขัดแย้งกับสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ถือว่าขณะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายนั้น จำเลยทั้งสองปกปิดความจริงว่าที่ดินพิพาทที่มีการทำสัญญาจะซื้อขายรวมกับที่ดินแปลงอื่นมีภาระจำยอมติดอยู่ แต่จำเลยทั้งสองปกปิดไม่ยอมแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ถือว่าจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทมีภาระติดพันคือภาระจำยอมอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยทั้งสอง นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิในการบอกล้างนิติกรรมการทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14621/2556

การนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถทั้งสองคันแทนโจทก์ เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงระหว่างตัวการกับตัวแทน ไม่เกี่ยวกับการนำสืบเพื่อให้มีการบังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ และไม่ต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15379/2555

หนังสือสัญญาซื้อขายไม่ได้ระบุจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขาย การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยทั้งสองรวมที่ดินของ ว. และ ห. เนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ในรั้วที่ดินที่โจทก์นำชี้ด้วย และโจทก์ไม่สามารถโอนที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงตกลงกันให้หักราคาที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งเป็นของ ว. และ ห. เป็นเงิน 300,000 บาท ออกจากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท ตามสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาซื้อขายดังกล่าวว่าได้มีการตกลงในการชำระราคาที่ดินที่ซื้อขายกันอย่างไร มิได้เป็นการนำสืบหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขาย จำเลยย่อมนำสืบได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12628/2555

การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11031/2555

จำเลยให้การว่าลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจะซื้อขายไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยเป็นเอกสารปลอม คำให้การดังนี้เป็นการปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว นอกจากนั้นยังเป็นการอ้างว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์หรือไม่ เมื่อคดีฟังได้ว่าลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อขายเป็นของจำเลยแต่จำเลยไม่ได้รู้เห็นในการเขียนข้อความในหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว เท่ากับหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวไม่ถูกต้อง จำเลยไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ดังฟ้อง กรณีจึงไม่เป็นการนำสืบและรับฟังนอกประเด็นที่ให้การ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2555

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง เมื่อหนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุว่า โจทก์ทั้งสองได้ชำระราคาและจำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องฟังยุติตามนั้น การที่จำเลยทั้งสองนำพยานบุคคลมาสืบว่า ยังไม่ได้รับชำระค่าที่ดินครบถ้วน เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11760/2554

โจทก์กับ อ. ต่างลงลายมือชื่อในสัญญากู้คนละฉบับ แต่สัญญากู้ทั้งสองฉบับไม่มีข้อความแสดงว่า โจทก์กับ อ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่า สัญญากู้ทั้งสองฉบับเป็นการที่โจทก์กับ อ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลย ส่งผลให้โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับ อ. เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมพยานเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8163/2554

โจทก์และจำเลยมีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันเป็นสัญญาจะซื้อขายโดยการวางมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งมิได้กำหนดแบบไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ สัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นนับแต่เวลาที่โจทก์วางมัดจำ มิใช่เพิ่งเกิดในภายหลังเมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ฟ้องร้องกันนั้นจะต้องแสดงให้ปรากฏด้วยการนำสืบพยานเอกสาร จึงต้องห้ามนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่ได้นำมาแสดงแล้ว จึงไม่ตกอยู่ในบังคับข้อห้ามดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงจะหาสถาบันการเงินให้โจทก์กู้ยืมชำระหนี้คืนจำเลยโดยมีระยะเวลาผ่อนนาน 15 ปี ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2553

คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ จึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 653 ว่าจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ และอยู่ในบังคับของบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) กล่าวคือโจทก์จะนำสืบพยานบุคคลหรือกล่าวอ้างเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากสัญญากู้ยืมเงินหาได้ไม่ ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่าทำที่เขตกรุงเทพมหานครเป็นความเท็จ ความจริงแล้วทำที่สำนักงานของโจทก์ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตามสัญญากู้ยืมเงินในส่วนที่ระบุถึงมูลคดีที่เกิดขึ้นตามความประสงค์ของคู่สัญญา จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว


สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินคือการส่งมอบและการทำสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่โจทก์จะเบิกหรือถอนเงินจากธนาคารใดไปให้จำเลยกู้ยืมเงิน มิใช่สาระสำคัญในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด และตามคำฟ้อง โจทก์ร่วมกับจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ในธนาคารที่อยู่ในท้องที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะทำสัญญา เงินที่โจทก์โอนไปยังไม่เป็นสิทธิของจำเลยเพราะโจทก์ยังมีสิทธิเบิกถอนได้ การที่จำเลยจะรับเงินที่โจทก์ให้กู้ยืมได้จะต้องไปเบิกถอนเงินจากธนาคารดังกล่าว ธนาคารดังกล่าวจึงถือว่าเป็นที่รับมอบเงินที่กู้ยืม จึงเป็นกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในท้องที่เดียวกับที่จำเลยมีภูมิลำเนาในขณะทำสัญญาและที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินว่าเป็นที่จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4475/2551

โจทก์กับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย เป็นการตอบแทนที่จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทที่โจทก์เป็นหนี้ธนาคารอยู่ อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2) แม้หนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้ เพราะเป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่ฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2552

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เนื่องจากที่ดินพิพาทติดจำนองกับธนาคาร ถ้าโจทก์ไถ่ถอนจำนองเมื่อไรจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทันที สัญญาซื้อขายฉบับนี้จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ...หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วน แล้วจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายนี้ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อความว่าโจทก์ รับราคาดังกล่าวไปจากจำเลยเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2541 การรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่า ความจริงแล้วโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินเพียง 90,000 บาท เงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยไปชำระต่อธนาคาร พ. สาขานาโยง เพื่อชำระหนี้ที่โจทก์จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่ธนาคารไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598/2551

การที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจตามที่บรรยายในคำฟ้องจากชื่อ "นายธีรพงษ์" เป็น "นายชีระพงษ์" เป็นเพียงการขอแก้ไขชื่อกรรมการผู้มีอำนาจให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยซึ่งสามารถกระทำได้ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้อง ให้จำเลยมีโอกาสคัดค้าน และไม่ต้องส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) และมาตรา 181 (1) ส่วนกรณีที่โจทก์ขอแก้ไขชื่อ "นายธีระพงษ์" ตามที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจเป็น "นายชีระพงษ์" นั้นหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการยื่นคำฟ้อง มิใช่คำฟ้องที่โจทก์จะขอแก้ไขได้


การที่โจทก์นำสืบว่าหนังสือมอบอำนาจพิมพ์ชื่อผิดโดยอักษรตัวแรกของชื่อแทน ที่จะเป็น "ช" กลับพิมพ์เป็น "ธ" มิใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารแต่เป็นการนำสืบอธิบายความเป็นมาของหนังสือมอบอำนาจเพื่อยืนยันคำฟ้องที่แก้ไขแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4475/2551

โจทก์กับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย เป็นการตอบแทนที่จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทที่โจทก์เป็นหนี้ธนาคารอยู่ อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2) แม้หนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้ สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้ เพราะเป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่ฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2551

โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ไม่ขัด ต่อมาตรา 798 วรรคสอง


โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลย เป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ กับจำเลย จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนอง ที่ดิน กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอก ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลย รับจำนองแทนโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ศาลมิได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์ และคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำ ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2551

นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญา กู้ยืมเงินแทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2551

โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2551

นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินแทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8215/2550

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารมีเพียงแผนผังแสดงที่ตั้งอาคารพาณิชย์ที่โจทก์ ซื้อแนบท้ายสัญญาและขณะทำสัญญาไม่มีแผ่นพับโฆษณาหรือการโฆษณาเกี่ยวกับร้าน เจ๊เล้ง โจทก์นำสืบว่า การขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นการขายตามคำพรรณนา เมื่อในโครงการของจำเลยยังไม่มีการก่อสร้างร้านเจ๊เล้ง จำเลยจึงผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลในกรณีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6146/2550

จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 2,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจำเลยกู้เงินเพียง 2,000,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราตามกฎหมายรวมเป็นเงินต้นด้วย จึงระบุต้นเงินในสัญญากู้ยืมเงิน 2,500,000 บาท เป็นการนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจำนวน ดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. 94 วรรคท้าย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2550

แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. นั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550

ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้ เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลัก ฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2550

การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้ยืมเงินและได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 60,000 บาท มิใช่ 290,000 บาท แต่ที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ไม่ จำเลยจึงย่อมนำพยานบุคคลมาสืบในประเด็นดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6146/2550

จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 2,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจำเลยกู้เงินเพียง 2,000,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราตามกฎหมายรวมเป็นเงินต้นด้วย จึงระบุต้นเงินในสัญญากู้ยืมเงิน 2,500,000 บาท เป็นการนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. 94 วรรคท้าย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2550

แม้รายการในสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินพิพาทจะเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบหักล้างได้ว่าความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. นั้นจึงหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550

ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2550

การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้ยืมเงินและได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 60,000 บาท มิใช่ 290,000 บาท แต่ที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ไม่ จำเลยจึงย่อมนำพยานบุคคลมาสืบในประเด็นดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2549

เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จะนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน แก้ไขข้อความในเอกสารนั้นไม่ได้ แต่สำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงิน มิใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำพยานบุคคลมานำสืบแก้ไข เพิ่มเติมข้อความในเอกสาร และการที่โจทก์เบิกความรับว่าสำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินไม่มีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้า แม้จะเบิกความว่าตามปกติต้องมีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าอยู่ในสำเนา ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าในเอกสาร จึงมิใช่การนำสืบแก้ไข เพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ไม่เป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7389/2548

การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การแสดงเจตนาดังกล่าว อาจทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ การบอกเลิกสัญญาจ้างจึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าจำเลยบังคับให้โจทก์ทำหนังสือลาออก จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3380/2549

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้ กรอกข้อความเพื่อขอให้ผ่อนผันการจับกุม ย. ตามหมายจับของศาล และเพื่อการค้ำประกันการชำระหนี้ของ ย. ซึ่งถูก พ. ญาติโจทก์แจ้งความดำเนินคดีและพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อมาศาลพิพากษาจำคุก ย. พ. ไม่อาจเรียกเงินตามเช็คจาก ย. ได้ จึงให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ดังนี้ จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้เพราะเป็นการนำสืบถึงที่ มาของการลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมูลหนี้ ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3380/2549

คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชอบตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงตามคำให้การได้ว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อให้ผ่อนผันการจับกุม ย. ตามหมายจับของศาล และเพื่อค้ำประกันหนี้ของ ย. ที่มีต่อ พ. เพราะเป็นการนำสืบถึงที่มาของการลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ หรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้าม มิให้นำสืบไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3375/2549

หนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปกลับเขียนว่าร้อยละ 1.50 ต่อเดือน ซึ่งขัดแย้งกันเอง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน นั้นผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง จึงต้องตีความว่าข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะ ผลเท่ากับไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ย แต่ ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด


หนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้อ 2 อีกฉบับหนึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่ง ละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปที่เว้นช่องว่าไว้สำหรับกรอกกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยกลับเขียน ว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ย จึงขัดแย้งกันและเป็นที่สงสัย โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานประกอบการแปลความหมายตามเจตนาแท้จริงของการทำข้อ ตกลงเรื่องดอกเบี้ยได้ เพราะเท่ากับเป็นการนำสืบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2549

สัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ ที่โจทก์ทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ 1 นั้น ระบุว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายจึงเป็นกรณีมิได้กำหนดอัตรา ดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง จึงต้องตีความเป็นคุณแก่ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าได้มีการตกลงกันด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 5 ต่อเดือนไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) กรณีหาใช่เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้อง ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387/2549

จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่าตามสัญญาและจำเลยต้องผูกพันตาม สัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่เป็นสาระแก่คดี และตามสัญญาเช่าอาคารกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความ ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับ ผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคาร โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่า ได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2548

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้ โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไปและต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู้ และเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้มิใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2548

เดิมจำเลยมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาท กับรับผิดตามเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์จำนวน 500,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ของ ส. ต่อมามีการเจรจากันให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เฉพาะตามสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนหนี้ตามเช็คพิพาทโจทก์จะไปเรียกร้องจาก ส. เอง ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เพราะไม่ใช่สัญญาระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างผ่อนผันให้แก่กัน แต่ถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำแคชเชียร์เช็คจำนวน 1,000,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ด้วยตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คแล้ว สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทจึงระงับไป กรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีได้ การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ถือว่าเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2548

โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและได้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว จำเลยก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการนำสืบว่าสัญญาซื้อขายนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2546

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยที่ 2 มารดาเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ฝ่ายผู้จะซื้อ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายก็ตาม แต่การแสดงออกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นการเชิดให้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาและผู้ครอบครองที่ดินพิพาทออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1และที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทอันจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และการนำจำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ก็หาจำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ไม่ ทั้งการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่ เพราะเป็นแต่เพียงการนำสืบความจริงว่า จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนเข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2546

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ เมื่อตามคำสั่งและประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี แม้จะบวกค่าอัตราความเสี่ยงร้อยละ 2 ต่อปี ก็เป็นอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี มิใช่อัตราร้อยละ 16.5ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากจำเลยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น


สัญญากู้ยืมเงินมีข้อความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นโดยตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงินต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2546

จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแต่ในสารบัญจดทะเบียนระบุว่าเป็นการให้เพราะไม่ต้องการเสียภาษีมาก เท่ากับกล่าวอ้างว่าโจทก์ทำนิติกรรมยกให้อำพรางนิติกรรมซื้อขาย นิติกรรมยกให้จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 118 วรรคหนึ่ง เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น (มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่) และต้องบังคับตามนิติกรรมซื้อขายที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 118 วรรคสอง เดิม (มาตรา 155 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่) เมื่อสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารสารบัญจดทะเบียนตามสำเนาโฉนดที่ดินและตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย